ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง
“พระเจ้าอยู่หัวเป็นนํ้า ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อนํ้า ..พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บนํ้า ฉันจะสร้างป่า…”
พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ บ้านถํ้าติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร วันที่ 20 ธันวาคม 2525 นั่นเป็นคำพูดที่สื่อได้ชัดเจนถึงปณิธานของทั้งสองพระองค์ ที่มุ่งหวังให้ราษฎรได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากป่าและนํ้า ถือเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งต่างๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต การประกอบสัมมาชีพ และสามารถต่อยอดสำหรับกิจการต่างๆ อีกมากมายนั่นเอง
สายพระเนตรของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงเล็งเห็นว่า หากประชาชนขาดแหล่งนํ้าที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของทั้งพืชและสัตว์ ผลที่ตามมาคือ ประชาชนจะละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ไปทำงานยังถิ่นอื่นๆ ปล่อยให้หมู่บ้านกลายเป็นที่พักพิงของเด็กๆ และผู้เฒ่าผู้แก่นั่นเอง พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดการแหล่งนํ้าต่างๆ มากมายทั่วประเทศ และโครงการชลประทาน อ่างเก็บนํ้า “บึงโขงหลง” จึงได้รับการพัฒนาขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระองค์ด้วยเช่นกัน
บึงโขงหลง เกิดขึ้นจากคลองและลำธารหลายๆ สาย ไหลลงมารวมกันจนเป็นบึงนํ้าจืดขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 8,062 ไร่ มีความยาวถึง 13 กิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร จุดที่ลึกมากที่สุดลึกถึง 6 เมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง โดยบึงโขงหลงเป็นแหล่งนํ้าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นพื้นที่ที่มีนกนํ้าและสัตว์นํ้าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าบึงโขงหลงจะเป็นพื้นที่ชุ่มนํ้าและมีนํ้าอยู่ไม่ขาด แต่ปริมาณนํ้าจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละปีอีกด้วย ในบางปีนํ้าสะสมอาจจะลดปริมาณลงจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นในปี 2520 ในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้างเป็นฝายนํ้าล้นเพื่อกักเก็บนํ้าไว้ใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2523 และจากที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจบริเวณโดยรอบบึงโขงหลงนั้น พบว่ามีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากทีเดียว โดยพบนกที่อาศัยอยู่บริเวณนี้อย่างน้อย 29 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มนกเป็ดและนกชายนํ้า 27 ขนิด และเป็นนกประจำถิ่น 3 ชนิด เป็นนกอพยพ 26 ชนิด มีนกที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธ์ุคือ นกกระสาแดง มีนกที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกคุกคามคือ เป็ดคับแค และนกกระแตหัวเทา มีปลาที่ได้รับการสำรวจและบันทึกแล้ว 25 ชนิด มีประเภทปลาเศรษฐกิจอยู่ 8 ชนิด ได้แก่ ปลากระสูบจุด, ปลาตะโกก, ปลาสร้อยขาว, ปลาสร้อยนกเขา, ปลาแขยง, ปลากดเหลือง, ปลานิล และปลาช่อน เป็นต้นครับ โดยหลังจากที่กรมป่าไม้ได้เข้ามาสำรวจแล้ว จึงจัดตั้งให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มนํ้าโลก ลำดับที่ 1098 ในปี 2544
การประมงขนาดเล็กก็ยังเป็นส่วนสำคัญของชุมชนรอบๆ บึง
เรือพายหลายลำที่จอดริมฝั่งบึงโขงหลงเพื่อรอออกไปหาปลา
นอกจากความโดดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติแล้ว บึงโขงหลงยังมีเรื่องเล่าเป็นตำนานเล่าขานกันมาเกี่ยวกับพญานาค โดยตำนานนั้นมีอยู่ว่า ในอดีตนั้น พื้นที่บริเวณบึงโขงหลงไม่ได้มีสภาพเป็นแหล่งนํ้าแต่อย่างใด แต่เป็นเมืองที่มีชื่อว่า “รัต-พานคร” มีเจ้าเมืองผู้ปกครองนครคือ พระอือลือราชา มีมเหสีชื่อนางแก้วกัลยา ทั้งสองพระองค์มีพระธิดาชื่อ พระนางเขียวคำ ซึ่งต่อมาภายหลังได้อภิเษกกับพระเจ้าสามพันตา และมีพระโอรสชื่อเจ้าชายฟ้าฮุ่งตามตำนานนั้นเล่าว่า เจ้าชายฟ้าฮุ่ง เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ และเป็นชายหนุ่มรูปงาม เจ้าชายฟ้าฮุ่งได้อภิเษกสมรสกับ นาครินทรานี ซึ่งเป็นพระธิดาของพระยานาคราชแห่งเมืองบาดาล ซึ่งจำแลงแปลงกายเป็นมนุษย์ และมีการจัดงานอภิเษกสมรสอย่างใหญ่โตมโหฬาร ฉลองกันถึง 7 วัน 7 คืน ทั้งเมืองรัตพานครและเมืองบาดาล เพื่อให้สมกับการแต่งงานอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธไมตรีระหว่างพระยานาคกับพระเจ้าอือลือด้วย และพระยานาคราชได้มอบเครื่องราชกุฎภัณฑ์ ซึ่งเป็นของมีค่าประจำตระกูลให้กับพระเจ้าอือลือในโอกาสนี้ด้วย พร้อมกับฝากฝังลูกสาวของตนให้เมืองรัตพานครดูแล โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่า นางคือลูกของพญานาคแห่งเมืองบาดาล เจ้าชายฟ้าฮุ่งกับเจ้าหญิงนาครินทรานี อยู่กินร่วมกันมา 3 ปี ก็ไม่สามารถที่จะมีผู้สืบสายโลหิตได้ เนื่องจากธาตุมนุษย์กับนาคเข้ากันไม่ได้นั่นเอง ทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจกับทั้งสองเป็นอันมาก ต่อมาทำให้เจ้าหญิงนาครินทรานีได้ล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนางกลับกลายร่างเป็นนาคตามเดิม
ข่าวนี้แพร่สะพัดไปทั่วกรุงรัตพานคร ถึงแม้ว่าพระนางจะร่ายมนต์ให้กลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้งก็ตาม เมื่อทราบความจริงว่าเจ้าหญิงนาครินทรานีเป็นนาค พระเจ้าอือลือราชา และประชาชนชาวรัตพานคร ต่างก็ไม่พอใจอย่างมาก จึงได้แจ้งให้พระยานาคราชมารับลูกสาวกลับคืน พร้อมขับไล่นางนาครินทรานีกลับคืนสู่เมืองบาดาลโดยไม่ใยดี แม้กระทั้งการจะไปส่งด้วยนํ้าใจก็ไม่มี ไม่เหมือนเมื่อครั้งที่นางมาในพิธีอภิเษกสมรส ซึ่งทำให้พระยานาคราชโกรธกริ้วกับการกระทำของชาวเมืองรัตพานครที่ได้กระทำต่อลูกสาวของตน แต่ก่อนกลับสู่เมืองบาดาล พระยานาคราชได้ขอเครื่องราชกุฎภัณฑ์ที่มอบให้เมื่อครั้งงานแต่งงานคืน แต่พระเจ้าอือลือราชาไม่สามารถคืนได้ เนื่องจากได้นำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่นแล้ว ทำให้พระยานาคราชโกรธมากขึ้นเป็นทวีคูณ จึงได้ประกาศว่า จะกลับมาพร้อมกับไพร่พลเพื่อถล่มเมืองรัตพานครให้สิ้นสภาพ ภายหลังจากพระยานาคราชกลับสู่เมืองบาดาลแล้ว ในคืนวันเดียวกันนั้นเอง ไพร่พลแห่งเมืองบาดาลของพระยานาคราชได้ยกมาถล่มเมืองรัตพานครจนราบคาบเป็นหน้ากลอง ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์ของนาคได้ จนทำให้พื้นดินที่เคยเป็นเมืองรัตพานครในอดีตล่มถล่มลงกลายเป็นผืนนํ้าอันกว้างใหญ่นั่นเอง ส่วนพระเจ้าอือลือราชาไม่ได้สิ้นพระชนม์ไปกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น เพราะถูกพญานาคจับตัวไปแล้วสาปให้เป็นนาคเฝ้าอยู่ที่บึงแห่งนี้จนกว่าจะมีเมืองเกิดขึ้นใหม่ จึงจะล้างคำสาปนี้ได้ ซึ่งความเชื่อในเรื่องของพญานาคนี้ ยังคงมีมาจวบจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเชื่อกันว่าพญานาคอือลือ หรือที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “ปู่อือลือ นาคราช” เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองผืนนํ้าแห่งนี้ ซึ่งเมื่อชาวบ้านจะออกไปจับปลาในบึง ก็จะขอพรให้แคล้วคลาดจากอันตรายต่างๆ นั่นเอง
ผมและทีมงานเดินทางไปยังโครงการชลประทานอ่างเก็บนํ้าบึงโขงหลงด้วยรถยนต์ Toyota Innova Crysta 2.8V AT โดยเริ่มต้นจากศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม อำเภอเจริญศิลป์นั่นเอง เส้นทางไปยังอำเภอบึงโขงหลงเป็นถนนลาดยางตลอดทั้งสาย แต่ก็มีบางช่วงที่เริ่มจะผุพังเป็นหลุมเป็นบ่อ แต่ช่วงล่างก็ยังดูดซับแรงสะเทือนได้ค่อนข้างดี ผมและทีมงานยังคงนั่งกันแบบสบายๆ โดยถึงแม้ว่าตัวรถจะ ถูกออกแบบให้เป็นรถครอบครัว ซึ่งมีขนาดตัวถังที่ดูโอ่โถงและใหญ่กว่ารถเก๋งทั่วๆ ไป แต่กลับตอบสนองการขับขี่ได้อย่างคล่องตัวดีทีเดียว โดยเฉพาะพวงมาลัยพาวเวอร์ที่ช่วยผ่อนแรงเมื่อต้องหักหลบหลุมตามถนน รวมทั้งเมื่อต้องขับขี่ในเมืองที่การจราจรค่อนข้างหนาแน่น หรือเมื่อเดินทางตามตรอกซอกซอยต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้พวงมาลัยยังเป็นแบบมัลติฟังก์ชั่น ซึ่งสามารถควบคุมการแสดงผลที่หน้าจอบนแผงหน้าปัทม์ รวมทั้งสามารถควบคุมเครื่องเสียงที่รองรับการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ผ่าน Bluetooth สามารถโทรออกหรือรับสายเรียกเข้าได้อย่างไม่ต้องพะวงกับการจับถือโทรศัพท์อีกด้วย
สำหรับการขับขี่บนถนนแบบสองเลนวิ่งสวนทางกันตามต่างจังหวัดนั้น อาจจะต้องพบเจอกับรถบรรทุกสินค้า และรถที่บรรทุกผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งมักจะมีความเร็วตํ่า ดังนั้นการเร่งแซงที่รวดเร็วฉับไว จะช่วยลดความเสี่ยงจากรถยนต์ที่วิ่งสวนมาได้ ซึ่งพละกำลัง 174 แรงม้า พร้อมแรงบิดที่สูงถึง 360 นิวตัน-เมตร ในรอบตํ่า ก็ช่วยให้การเร่งแซงรวดเร็วฉับไวและปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ ระบบเกียร์ยังถูกออกแบบให้สามารถเปลี่ยนเกียร์ด้วยการปรับชิฟท์เองแบบแมนนวล ซึ่งผมเองใช้งานอยู่บ่อยๆ ในกรณีแบบนี้ หรือเมื่อต้องขับขี่ขึ้นเนินสูงชัน ช่วยให้เรียกรอบมาได้ฉับไวทันใจทีเดียวครับ
การออกแบบภายในห้องโดยสารของ Toyota Innova Crysta 2.8V AT ที่ผมชอบอย่างหนึ่งคือ การออกแบบที่นั่งแถวกลางเป็นแบบ Captain Seat แยกฝั่งซ้าย-ขวา สามารถปรับเลื่อนเดินหน้าหรือถอยหลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาได้ รวมทั้งปรับเอนสำหรับการพักผ่อนเมื่อยามเดินทางไกลๆ ได้เป็นอย่างดี และตัวเบาะก็ออกแบบให้โอบกระชับกับลำตัว เช่นเดียวกับที่นั่งด้านหน้า ช่วยให้นั่งสบายมากขึ้นด้วย ในยามที่ผมสลับสับเปลี่ยนให้น้องทีมงานช่วยขับ ผมก็มักจะไปเอนหลังที่เบาะแถวกลางนี่แหละครับ สบายตัวดี สำหรับครอบครัวใหญ่ หรือเมื่อมีผู้โดยสารไปด้วยกันหลายๆ คน ถัดจากเบาะแถวกลางก็ยังมีที่นั่งแถวที่ 3 แบบ 2 ที่นั่ง รองรับสำหรับสมาชิกร่วมทางที่เพิ่มขึ้นครับ แต่ครั้งนี้ ผมและทีมงานเดินทางไปกันเพียงไม่กี่คน จึงไม่ได้ใช้เบาะแถวที่ 3 ซึ่งเมื่อพับเก็บ ก็ช่วยให้มีพื้นที่วางสัมภาระด้านหลังมากขึ้นด้วยนั่นเอง
ในครั้งแรกที่ไปถึง ผมขับรถวนไปตามถนนสายเล็กๆ เลาะริมบึง มีชาวบ้านออกมาพักผ่อนล้างรถที่ฝายนํ้าล้น สายนํ้าใสแจ๋ว และคาดว่าน่าจะเย็นฉ่ำอยู่เหมือนกัน ทำให้หวนคิดไปถึงวัยเด็กที่ชอบมากระโดดเล่นนํ้าที่ฝายนํ้าล้นแบบเดียวกัน ..เฮ้ออออ!! กลายเป็น สว. แล้วซิเรา
เสียงนกร้องเซ็งแซ่จนอยากจะตามหาตัวให้เจอ แต่ในครั้งนี้ ผมและทีมงานไม่ได้ติดเลนส์ยาวๆ มาเลย ความคิดในการเฝ้ารอส่องหานกนํ้าชนิดต่างๆ จึงเป็นอันพับไป แต่หิ้วกล้องมากางขาตั้งรอแสงช่วงพระอาทิตย์ตกที่ริมบึง ซึ่งทางอำเภอบึงโขงหลงได้มีการจัดสร้างเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้มาพักผ่อน และออกกำลังกายกันด้วย
สถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เป็นที่นิยมของชุมชนรอบๆ บึงโขงหลง
เครื่องเล่นทางน้ำที่สร้างสีสันในฤดูท่องเที่ยวของบึงโขงหลง
ผมเล็งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ตอนขับรถผ่านไปแล้วว่า ริมชายนํ้าที่มีหญ้าขึ้นสูงพอสมควรนั้น มีทั้งเรือที่ไม่ได้ใช้งานของชาวบ้าน และเรือที่ใช้งานไม่ได้แล้วจอดสงบนิ่งรออยู่ ถือเป็นฉากหน้าที่ดีเยี่ยมทีเดียว ดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยตํ่าไปพร้อมๆ กับแสงแดดที่แผดจ้าเมื่อช่วงกลางวัน ก็ค่อยๆ อ่อนแรงลงทุกขณะเช่นเดียวกัน
ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงหน้าฝน แต่เมฆก็ไม่ได้หนามากจนเกินไป “คงจะมีแสงกระจายออกมาบ้างละน่าาา” ผมคิดในใจ การคาดเดาสภาพอากาศช่วงหน้าฝน เป็นอะไรที่ค่อนข้างเดายากอยู่เหมือนกันครับ บางครั้งดูว่าเมฆไม่มากมาย แต่อยู่ๆ ก็ลอยกันเข้ามาหนาทึบก็มี หรือบางครั้งดูฟ้าใสๆ แต่พอใกล้ๆ ช่วงพระอาทิย์ตก เมฆชั้นล่างหนาแน่นมากจนแสงไม่สามารถทะลุออกมาก็เป็นได้เช่นกันครับ
วิวในยามเย็นที่สวยงามที่ถ่ายจากสวนสาธารณะบึงโขงหลง
การเก็บแสงเย็นๆ แบบนี้ ผมจะใช้ไวท์บาลานซ์แบบแสงอาทิตย์ หรือ Daylight เพราะต้องการเก็บแสงสีที่สาดกระจายออกมาให้ได้ทั้งหมดนั่นเอง เนื่องจากไวท์-บาลานซ์แบบแสงอาทิตย์จะไม่ตัดแสงสีใดๆ ออกไป นอกจากนี้ ยังสามารถปรับชิฟท์เพิ่มความอิ่มตัวให้สีสันของภาพได้ง่ายๆ อีกด้วยครับ เราถ่ายภาพกันอยู่จนมืด จนแสงสุดท้ายค่อยจางหายไป ระหว่างนั้นก็มีน้องหมาแวะเวียนมาทักทายและเป็นนายแบบให้เราด้วย อาจจะเป็นน้องหมาที่มีบ้านอยู่แถวๆ นั้นนั่นแหละครับ เพราะดูทรงแล้วไม่ใช่หมาจรจัดแน่นอน หลังจากที่เก็บอุปกรณ์และสัมภาระต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เราก็ไปหาร้านฝากท้องสำหรับมื้อเย็น ซึ่งก็เป็นร้านที่อยู่ริมบึงที่เราเล็งเอาไว้ตั้งแต่ช่วงเย็นนั่นเอง แน่นอนครับ หนึ่งในเมนูก็ต้องเป็นต้มยำปลา เพราะมาถึงแหล่งนํ้าใหญ่แบบนี้ มีเมนูปลาอร่อยๆ อยู่แล้วละครับ
สถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เป็นที่นิยมของชุมชนรอบๆ บึงโขงหลง
เช้าวันใหม่ เรามีแผนที่จะไปเยี่ยมชมหาดคำสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตในฤดูร้อน เพราะระดับนํ้าจะลดลงจนเห็นเป็นแนวหาดทรายยาวเหยียด และเต็มไปด้วยร้านรวงต่างๆ รวมทั้งเครื่องเล่นทางนํ้าอย่างเรือถีบสีสันสวยงาม เรือกล้วย และห่วงยางรถยนต์ นอกจากนี้ ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ริมนํ้าก็ใช้สำหรับผูกชิงช้าเอาไว้แกว่งไกวรับลมเย็นได้อีกด้วย และเนื่องจากชายหาดค่อนข้างยาว ดังนั้นจึงกินพื้นที่ไปหลายหมู่บ้าน และทางลงหาดก็เป็นพื้นที่ว่างๆ ตามหมู่บ้านนั่นเองครับ แต่จุดใหญ่ๆ นั้น จะอยู่ที่บ้านคำสมบูรณ์ แนวชายหาดทั้งหมดจึงถูกเรียกเป็นหาดคำสมบูรณ์ไปโดยปริยาย เสียดายที่เราต้องไปเยือนในช่วงหน้าฝน ร้านรวงต่างๆ ปิดกันเงียบเชียบ มีเพียงร้านอาหารบางช่วงของชายหาดที่เปิดบริการในวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้นครับ
จากชายหาดคำสมบูรณ์ เราเดินทางต่อไปยัง “นํ้าตกถํ้าพระ” ซึ่งเป็นนํ้าตกที่ไหลลงมาตามลานหินที่กว้างใหญ่ จนถูกขนานนาม ว่าเป็นสวนนํ้าธรรมชาติ เพราะนักท่องเที่ยวสามารถเล่นนํ้าได้ในหลายๆ จุดของนํ้าตก และเล่นลื่นไถลแบบสไลเดอร์ไปตามร่องนํ้าที่ไหลเซาะเป็นช่องตามลานหินนั่นเอง การเดินทางเข้าไปยังตัวนํ้าตกนั้น จะต้องใช้เรือเหล็กติดเครื่องยนต์ที่ชาวบ้านร่วมมือกันจัดทำเป็นกลุ่มสำหรับบริการนักท่องเที่ยว มีให้เลือกใช้บริการได้ 2 ท่า เลือกใช้บริการท่าไหนก็ได้ ค่าบริการคนละ 30 บาท สำหรับผู้ใหญ่ และเด็กคนละ 20 บาท ไปเรือท่าไหน ก็กลับเรือท่านั้นครับ
ท่าเรือสำหรับร่องขึ้นไปชมความงามของน้ำตกถ้ำพระครับ
เรือนักท่องเที่ยวที่ขึ้นลงน้ำตกถ้ำพระอย่างไม่ขาดสายเลยทีเดียว
มุมกว้างๆ ของน้ำตกถ้ำพระที่สวยงาม แม้ในยามที่น้ำน้อย ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นลานหินกว้าง ทำให้ดูสวยงามอีกแบบครับ
นํ้าตกถ้ำพระ ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าภูวัว หลังจากที่นั่งเรือเข้ามาแล้ว จะต้องเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 400 เมตร ก็จะเจอกับลานหินกว้างใหญ่ ด้านล่างสุดจะเป็นแอ่งนํ้าธรรมชาติที่ไหลลงมาจากตัวนํ้าตก เดินเลยขึ้นไปอีกเล็กน้อย จะเป็นแอ่งนํ้าที่กั้นเพื่อกักเก็บนํ้าเอาไว้ใช้ ด้านบนชั้นที่สาม ถือเป็นไฮไลท์ เพราะเป็นส่วนที่มีความกว้างถึง 100 เมตร และสูงประมาณ 50 เมตร ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชอบมาเล่นนํ้ากัน
“ตอนนี้ฝนขาดช่วงครับ นํ้าเลยน้อยไปหน่อย” เจ้าหน้าที่ที่ดูแลนักท่องเที่ยวแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับนํ้าตก “ถ้าฝนชุกกว่านี้ นํ้าเต็มเลยละครับ” “แต่ก็มีนักท่องเที่ยวมากันเยอะนี่ครับ” ผมเอ่ยขึ้น “ครับ โดยเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ นักท่องเที่ยวเยอะมากครับ” เจ้าหน้าที่บอกมา ซึ่งก็เป็นเครื่องการันตีถึงความนิยมของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีครับ ซึ่งจะว่าไปแล้ว นํ้าตกและสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬ มีอยู่หลายที่ด้วยกัน ซึ่งผม ทีมงาน และรถยนต์โตโยต้าเคยพาไปเยือนมาแล้วในฉบับก่อนหน้านี้ อย่างวัดภูทอก หรือนํ้าตก 7 สี นั่นเองครับ
ผมตั้งกล้องอยู่ท่ามกลางแดดเปรี้ยงๆ บนลานหิน ถ้าจะถามว่าร้อนมั๊ย…ตอบได้เลยว่า “ไหม้ครับ” การถ่ายภาพให้สายนํ้าตกแลดูพลิ้วไหวดูนุ่มนวลนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้ความเร็วชัตเตร์ตํ่าๆ สักประมาณ 1 วินาที หรือนานกว่านั้น ซึ่งความยากของการถ่ายทำของผมและทีมงาน ณ ตอนนี้คือ ไม่สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ตํ่าได้ตามที่ต้องการนั่นเอง เนื่องจากแสงแดดที่แผดจ้าลงมา ทำให้เมื่อผมใช้ ฟิลเตอร์ C-PL แล้ว ปรับความไวแสงตํ่าสุดแล้ว ปรับรูรับแสงแคบสุดแล้ว ก็ยังได้ความเร็วชัตเตอร์ 1/25-1/30 วินาทีอยู่เลยครับ สายนํ้าย่อมไม่พลิ้วไหวได้ตามที่ต้องการอย่างแน่นอน จากมุมมองกว้างๆ ของเลนส์ 14 มม. ที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก ผมเลยต้องเปลี่ยนเลนส์ใหม่ เพราะถึงแม้ว่าจะพกฟิลเตอร์ ND1000 แบบแผ่นไปด้วย แต่ก็ไม่สามารถใช้กับเลนส์มุมกว้างนั้นได้จากขนาดหน้าเลนส์ที่ใหญ่โตนั่นเอง ผมเปลี่ยนมาใช้เลนส์ 24 มม. และขยับปรับหามุมมองใหม่แทนจุดเดิม
น้ำตกถ้ำพระที่เป็นลานหินกว้าง และมีน้ำไหลเซาะเป็นทางทำให้เป็นสไลเดอร์ธรรมชาติที่เป็นที่นิยมเล่นของนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาเพื่อเล่นน้ำครับ
ข้อดีของ ND1000 คือ ช่วยลดแสงที่จะเข้าไปยังเซ็นเซอร์ภาพได้ถึง 10 สตอป ทำให้ผมไม่จำเป็นต้องใช้รูรับแสงแคบสุด ที่ช่างภาพหลายๆ คนจะรู้ว่าคุณภาพของภาพที่รูรับแสงแคบสุดของเลนส์จะไม่ค่อยดีนัก แต่ข้อด้อยคือ ไม่สามารถตัดแสงสะท้อนที่พื้นผิวได้เหมือนกับฟิลเตอร์ C-PL แต่ไม่มีทางเลือกครับ ความสำคัญของภาพที่ต้องการคือ สายนํ้าที่พลิ้วไหว ส่วนแสงสะท้อนนั้น ก็ต้องขยับหามุมที่มีผลกระทบกับภาพให้น้อยที่สุดละครับ
เราถ่ายภาพกันอยู่จนถึงบ่ายนิดๆ เสียงท้องที่ร้องครวญครางบอกมาว่า คงจะถึงเวลาที่ต้องเดินทางกลับกันแล้ว “จะกลับแล้วใช่มั๊ยครับ เดี๋ยวผม ว. เรียกเรือให้” เสียงเจ้าหน้าที่ถามเมื่อเราเดินกลับมาที่ชั้นแรก เราเดินกลับมาที่ท่าเรืออีกครั้ง เรือลำเดิมจอดรออยู่แล้ว หลังจากกลับถึงท่าเรือ เราก็ปรี่ไปยังร้านส้มตำ-ไก่ย่าง ตามคติ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ก่อนจะกลับมายังตัวอำเภอบึงโขงหลงอีกครั้ง
เครื่องปรับอากาศที่เย็นฉ่ำของ Toyota Innova Crysta 2.8V AT ทำเอาอยากจะเอนหลังพักสายตาอยู่ตรงนั้นเลยทีเดียว ผมชำเลืองดูเกจ์นํ้ามันหลังจากที่นึกขึ้นได้ว่า ยังไม่ได้เติมนํ้ามันอีกเลยตั้งแต่เติมครั้งล่าสุดที่อุดรธานี “ยังมีอีกตั้งครึ่งถัง” ผมรำพึงในใจ แล้วก็ออกตัวเดินทางกลับมายังบึงโขงหลงอีกครั้ง ก็ถือว่าเชื่อใจในความประหยัดได้ดีทีเดียวครับ
สำหรับทริปต่อไป เราจะไปเยือนโครงการหลวงแม่ลาน้อย และโครงการพระราชดำริปางตอง ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งจะเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นใดนั้น ติดตามกันได้ในฉบับหน้าครับ
..สวัสดีครับ…..
เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
การเดินทางไป : อ่างเก็บนํ้า “บึงโขงหลง”
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าไปยังจังหวัดสระบุรี จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 2 ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดขอนแก่น ไปยังจังหวัดอุดรธานี จากนั้นใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง และออกไปยังเส้นทางหมายเลข 22 หรือถนนนิตโย ผ่านอำเภอหนองหาน ไปจนถึงอำเภอสว่างแดนดิน จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปยังเส้นทางหมายเลข 2280 ไปยังอำเภอเจริญศิลป์ ขับผ่านตัวอำเภอเจริญศิลป์ ไปจนถึงบ้านหนองแวง และเลี้ยวซ้ายเข้าไปเส้นทางหมายเลข 222 ไปยังอำเภอคำตากล้า ขับผ่านตัวอำเภอไปจะเจอกับสามแยก ให้เลี้ยวขวาไปยังถนนหมายเลข 2026 ไปยังอำเภอบึงโขงหลง ระยะทางจากจุดนี้ไปถึงบึงโขงหลงประมาณ 31 กิโลเมตร
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
ติดตามบทความ ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/