TRAVELS

ปีนหอสูงชมวิว “ศูนย์สิรินาถราชินี” ป่าชายเลนของพ่อ

ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง

“ปลูกป่า แล้วก็ต้องให้ชาวบ้านเขาได้ประโยชน์ด้วย” พระราช-ดำรัสตอนหนึ่งของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราช-กุมารี ในปี พ.ศ. 2545 มาในพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียติจำนวน 1,000,000 ไร่ ในส่วนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นพื้นที่แปลงปลูกป่า FPT ที่ 29 และ 29/3 มีพื้นที่รวม 786 ไร่ ถือกำเนิดขึ้นจากการยกเลิกสัปทานนากุ้ง ที่ส่งผลให้ระบบนิเวศถูกทำลายไปเป็นอย่างมาก ปรับให้เป็นพื้นที่ฟื้นฟูป่าชายเลน และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ 50 ปีนั่นเอง..

จากนั้นในปี 2547 ปตท. ได้พัฒนาพื้นที่ส่วนนี้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในผืนป่าชายเลนนี้ได้อย่างยั่งยืน และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานนาม ศูนย์ฯ แห่งนี้ว่า “สิรินาถราชินี” ซึ่งแปลได้ว่า ที่พึ่งอันยิ่งใหญ่ โดยมีคณะกรรมการจากส่วนต่างๆ อาทิ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น, สถาน ศึกษาและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง, กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม, กลุ่มประมง, ผู้แทนชุมชน และนักธุรกิจแขนงต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการบริหารศูนย์ฯ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง

ผมและทีมงานเดินทางจากโครงการชั่งหัวมัน ด้วยรถยนต์ Toyota Innova Crysta 2.8V AT รถครอบครัวเอนกประสงค์รุ่นล่าสุดคันเก่งคันเดิมที่มีความโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์การออกแบบที่สวยงาม และหน้าตาที่คมเข้ม จากกระจังหน้าสีดำขนาดใหญ่ พร้อมไฟหน้าเรียวยาวดูมีเสน่ห์มากทีเดียว

เส้นทางจากโครงการชั่งหัวมันไปยังศูนย์ฯ สิรินาถราชินี ในเขตพื้นที่อำเภอปราณบุรีเป็นถนนลาดยางราบเรียบ นอกจากเส้นทางหลักหรือถนนเพชรเกษมแล้ว เส้นทางรองจะเป็นถนนแบบสองเลนวิ่งสวนทางกัน ซึ่งเมื่อเจอกับรถบรรทุกหรือรถที่บรรทุกผลผลิตทางการเกษตรที่มีความเร็วตํ่า การเร่งแซงที่รวดเร็วฉับไว จะช่วยลดความเสี่ยงจากรถที่วิ่งสวนมาได้ ซึ่งพละกำลัง 174 แรงม้า และแรงบิดสูงถึง 360 นิวตัน-เมตร ที่รอบตํ่า ก็ช่วยให้การขับแซงปลอดภัยมากขึ้น และผมเองยังใช้การเปลี่ยนเกียร์แบบปรับชิฟท์เองแบบแมนนวล ช่วยให้เรียกรอบมาได้ฉับไวทันใจทีเดียว จังหวะในการโยก แซง หรือการวิ่งในทางโค้งก็ไม่มีอาการโคลงให้เห็น ยังคงนิ่งและนุ่มหนึบ รวมทั้งช่วงล่างเองก็ได้รับการปรับเซ็ตได้นุ่มและเกาะถนนหนึบดีทีเดียว

Toyota Innova Crysta 2.8V AT ออกแบบที่นั่งแถวกลางเป็นแบบ Captain Seat แยกฝั่งซ้าย-ขวา สามารถปรับเลื่อนเดินหน้าหรือถอยหลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาได้ รวมทั้งปรับเอนสำหรับการพักผ่อนเมื่อยามเดินทางไกลๆ ได้เป็นอย่างดี ตัวเบาะออกแบบให้โอบกระชับกับลำตัว เช่นเดียวกับที่นั่งด้านหน้า ช่วยให้นั่งสบายมากขึ้นด้วย ถัดไปด้านท้าย มีที่นั่งแถวที่ 3 สำหรับครอบครัวใหญ่ พร้อมเข้มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ทั้ง 2 ที่นั่ง แต่ครั้งนี้ ผมและทีมงานเดินทางไปกันเพียงไม่กี่คน จึงพับเบาะแถวที่ 3 เก็บ ซึ่งช่วยให้มีพื้นที่วางสัมภาระด้านหลังมากขึ้น การพับเก็บก็แสนง่ายดายทีเดียว โดยการดึงก้านล็อกพนักพิงขึ้น และพับพนักพิงให้แบนราบลง จากนั้นดึงสลักปลดล็อกที่ด้านหลังเบาะและยกตัวเบาะขึ้น แล้วใช้สายรัดเข้ากับตะขอที่อยู่ข้างๆ ตัวรถนั่นเอง

ถึงแม้ว่าจะถูกออกแบบให้เป็นรถครอบครัว ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีขนาดตัวถังที่ใหญ่กว่ารถเก๋งทั่วๆ ไป แต่กลับตอบสนองการขับขี่ได้อย่างคล่องตัวดีทีเดียว โดยเฉพาะพวงมาลัยพาวเวอร์ที่ช่วยผ่อนแรงเมื่อต้องขับขี่ในเมืองที่การจราจรค่อนข้างหนาแน่น หรือเมื่อเดินทางในซอยเล็กซอยน้อยต่างๆ รวมถึงการถอยเข้าจอดด้วย นอกจากนี้ยังเป็นพวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่นที่สามารถควบคุมการแสดงผลที่หน้าจอบนแผงหน้าปัทม์ รวมทั้งสามารถควบคุมเครื่องเสียงและรองรับการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ผ่าน Bluetooth สามารถรับสายเรียกเข้ามาได้อย่างไม่ต้องพะวงกับการจับถือโทรศัพท์อีกด้วย

ผมและทีมงานแวะถ่ายภาพริมทางอยู่บ่อยครั้ง เพราะเส้นทางหลายๆ ช่วง จากโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริไปยังศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนสิรินาถราชินีนั้น มีวิวที่สวยงาม รวมทั้งมีต้นดอกคูณ หรือราชพฤกษ์ ออกดอกสวยงามเต็มต้นเป็นแนวยาวอยู่ตามริมถนน ซึ่งถ้าหากรณรงค์ให้ปลูกกันเป็นจริงเป็นจัง ไม่ใช่แค่เป็นบางช่วง น่าจะได้ถนนที่เหลืองอร่ามสวยงามเป็นแนวยาวในช่วงฤดู ออกดอกแบบนี้ครับ

มาถึงสี่แยกปราณบุรี ผมเลี้ยวซ้ายตามเส้นทางหมายเลข 3168 ที่จะไปยังปากนํ้าปราณ ผ่านวงเวียนไปประมาณ 4.1 กิโลเมตร จะมีสี่แยกเล็กๆ เป็นถนนโยธาธิการ 2002 ให้เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางนี้ประมาณ 300 เมตร จะเจอทางแยกขวามือ ช่วงนี้เป็นทางโค้ง ก่อนเลี้ยวจะต้องใช้ความระมัดระวังด้วยครับ เมื่อเลี้ยวเข้าไปแล้ว จะเจอสามแยกเล็กๆ เลี้ยวไปทางซ้ายจะเจอป้ายศูนย์ จากนั้นก็ขับไปตามถนนตรงเข้าไปเลยครับ ถนนจะคดเคี้ยวและแคบเล็กน้อยพอสวนทางกันได้ แต่อาจจะมีรถบัสท่องเที่ยวเข้ามาด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรขับขี่ด้วยความเร็วมากนัก

ทางเดินเข้าสู่ด้านในของศูนย์ฯ

เมื่อเข้าไปถึงป้อมรักษาการณ์ด้านหน้า เจ้าหน้าที่จะให้บัตรสำหรับนำไปลงทะเบียนที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวก่อนที่จะเดินเท้าต่อเข้าไปยังเส้นทางศึกษาธรรม-ชาติป่าชายเลนสิรินาถราชินี ข้างๆ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจะเป็นอาคารจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวประมง รวมทั้งเครื่องมือจับสัตว์นํ้าแบบต่างๆ ด้วย

ผมและน้องๆ ทีมงาน เลือกที่จะเดินเข้าไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติกันก่อน เพราะช่วงเช้าๆ อากาศยังไม่ร้อนมากนัก แต่ก็มีลมพัดโบกโชยมาอยู่ไม่ขาด ช่วยคลายร้อนลงไปได้พอสมควรทีเดียว พื้นที่ของศูนย์ฯ แบ่งออกเป็นโซนต่างๆ 5 ส่วนด้วยกันคือ

  • ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่อาคารนิทรรศการ และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
  • ส่วนที่ 2 เป็นเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดินรอบวง จะเริ่มจากด้านไหนก่อนก็ได้เช่นกัน
  • ส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาเรียนรู้ แบ่งพื้นที่ย่อยๆ ออกเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาและวิจัย, พื้นที่สาธิตและทดลองต่างๆ, พื้นที่เรือนเพาะชำกล้าไม้ชายเลน และพื้นที่ระหว่างสำรวจเพื่อจัดสร้างเป็นจุดเรียนรู้เพิ่มเติมและใช้ประโยชน์ในด้านอื่น
  • ส่วนที่ 4 เป็นพื้นที่ที่ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ภายใต้ข้อกำหนด
  • ส่วนที่ 5 เป็นพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งจัดให้เป็นพื้นที่หลบภัยของสัตว์ต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุของสัตว์นํ้าในฤดูผสมพันธุ์ด้วย และเส้นทางเดินชมธรรมชาติยังอยู่ในส่วนของพื้นที่นี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจะต้องมีอะไรให้ชื่นชมมากกว่าต้นโกงกางเป็นแน่ ผมมั่นใจ

จุดเริ่มต้นเส้นทางเดิมชมธรรมชาติ

ผมเริ่มเดินจากทางเดินตรงป้ายศูนย์ฯ เข้าไปด้านใน สองข้างทางมีทั้งต้นโกงกาง แซมด้วยต้นปอทะเลที่หลายๆ ต้นถูกตอนกิ่ง เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่อื่นต่อไป เหนือหัวสูงขึ้นไปอีกประมาณเมตรกว่าๆ “แมงมุมใยทอง” ชักใยรอดักเหยื่ออยู่ตามปกติวิสัยของชีวิตในป่า แต่ชาวเมืองอย่างเราเห็นไม่ได้ครับ ยืนล้อมวงมะรุมมะตุ้มถ่ายภาพกันอยู่พักใหญ่กันเลยทีเดียว ผมใช้เลนส์เทเลโฟโต้ เพราะตัวแมงมุมอยู่ค่อนข้างสูง และเลนส์เทเลโฟโต้ก็ช่วยให้ผมเล่นสนุกกับโบเก้ที่ฉากหลังของแมงมุมได้ด้วย

แมงมุมใยทอง เป็นแมงมุมป่าที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ในบ้านเรามีให้พบเห็นอยู่ 4 ประเภทคือ แมงมุมใยทองท้องม่วง พบได้ตามป่าเขาทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, แมงมุมใยทองท้องดำ พบเห็นได้ในทุกภาคของประเทศ แต่จัดอยู่ในประเภทหายาก พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก, แมงมุมใยทองท้องขนาน เป็นชนิดที่พบเห็นได้บ่อยๆ ตามป่าทุกประเภท และในทุกภาคของประเทศไทย และอีกหนึ่งประเภทคือ แมงมุมใยทองลายจุด พบเห็นได้ตามป่าชื้นๆ ป่าพรุ หรือป่าชายเลน ส่วนมากจะเป็นพื้นที่ภาคกลางของประเทศ

แมงมุมใยทอง กางใยรอดักเหยื่อ

ตัวที่ผมกำลังถ่ายภาพอยู่เป็นแมงมุมใยทองท้องขนาน ที่ชักใยได้กว้างใหญ่มาก คือชักใยขวางถนนเหนือหัวผมขึ้นไป และเป็นการชักใยระหว่างต้นโกงกางสองฝั่งทางเดินที่กว้างประมาณ 2 เมตรกว่าๆ อีกด้วย แมลงตัวไหนที่หลงบินผ่านเข้ามาก็ยากที่หลุดรอดไปได้ละครับ ผมและทีมงานถ่ายภาพกันอยู่สักพักก็เดินต่อไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ผมเองเพิ่งจะรู้ว่า ที่เดินผ่านมาร่วมๆ 200 เมตรนั้น ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นเลยครับ

ด้านหน้าของผมเป็นศาลาท่านํ้า ซึ่งเป็นเรือนรับรองที่ตั้งอยู่ริมคลอง รายรอบด้วยป่าโกงกาง ด้านหน้าเป็นต้นโกงกางใบเล็ก 2 ต้น ขนาดใหญ่พอสมควร และเป็นต้นโกงกางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นต้นโกงกางที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกไว้นั่นเอง จากอาคารรับรองมีสะพานไม้ทอดยาวไปตามลำคลอง ด้านข้างมีการจัดแสดงอุปกรณ์ในการทำประมงของชาวบ้านย่านนั้น บางอย่างก็ดูคุ้นตาดี บางอย่างก็ดูแปลกใหม่สำหรับผมครับ บางอย่างก็ชวนให้สงสัยว่าจะใช้จับสัตว์นํ้าได้ยังไง ลำพังเฉพาะคำอธิบายอย่างเดียวไม่พอครับ ต้องเห็นวิธีการด้วย ..คือจริงๆ อยากจะลงไปจับด้วยนั่นเองละครับ

สะพานไม้ทอดยาวมาบรรจบกับถนนช่วงต่อจากที่ผมเดินเข้ามาในครั้งแรก ด้านซ้ายมือเป็นหอสูงที่มีชื่อเรียกว่า “หอชะคราม” ซึ่งเป็นหอชมวิวสูงประมาณตึก 6 ชั้น สามารถชมวิวได้ 360 องศา และรอบด้านของจุดชมวิวจะมีป้ายอธิบายถึงสถานที่ต่างๆ เบื้องหน้าว่ามีจุดสนใจอะไรบ้าง รวมทั้งมีภาพในอดีตก่อนที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นแบบปัจจุบันให้ชมเปรียบเทียบกันด้วย

หอชะคราม หอสูงเท่าตึก 6 ชั้น ชมวิวได้ 360 องศา  

ตามมุมต่างๆ จะมีภาพอดีตให้ดูเปรียบเทียบกับสภาพป่า ณ ปัจจุบัน  

ในวันที่ผมเดินทางมาที่นี่นั้น มีนักท่องเที่ยวค่อนข้างหนาตาทีเดียว รถบัสขนาดใหญ่วิ่งเข้าออกอยู่ถึง 4 คัน ส่วนใหญ่จะเป็น นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนที่ใช้เวลาช่วงปิดภาคเรียนมาศึกษาเรียนรู้วิถีธรรมชาติ นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มที่เลยผ่านคำว่าเยาวชนไป ค่อนข้างนานนนนนน…แบบผม เดินทางมาเที่ยวชมป่าของพ่อ แอบได้ยินคุยกันแว่วๆ มาว่า เดี๋ยวจะไปโครงการชั่งหัวมันต่ออีกด้วย ประมาณว่า จัดเที่ยวชมโครงการหลวงต่างๆ เพื่อรำลึกถึงผลงานของพ่อนั่นเองครับ

ผมดื่มด่ำกับวิวป่าโกงกางเขียวขจีอยู่นานทีเดียว อีกทั้งลมเย็นๆ ที่พัดโชยแผ่วมาแบบไม่ขาดสาย ก็ชวนให้นั่งนานขึ้นไปอีก เลยตัดสินใจเดินต่อไปตามเส้นทางชมธรรมชาติที่ยังคงอีกยาวไกลทีเดียว ริมๆ คลอง ผมสังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่งกำลังเล่นนํ้ากระเพื่อมเป็นวงอยู่ไม่ขาด เลยเปลี่ยนใช้เลนส์เทเลโฟโต้ส่องดู “ปลาตีน” นั่นเองครับ อ๊ะ!! อย่าหาว่าผมใช้คำไม่สุภาพนะครับ เค้าเรียกกันแบบนี้จริงๆ

ปลาตีน หรือชื่อสามัญคือ Mudskipper เป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามชายทะเลและป่าชายเลน มีหัวที่โตกว่าตัว และมีตาที่ปูดโปนออกมาเป็นเอกลักษณ์ และเป็นปลาที่ใช้ชีวิตอยู่บนบกได้นานกว่าปลาอื่นๆ เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษอยู่ข้างเหงือกที่เก็บความชุ่มชื้นของนํ้าไว้ได้ และจะสูดอากาศเอาออกซิเจนเข้าไปผสมกับนํ้าเพื่อหายใจทางเหงือกแบบปลาปกติ เจ่งมั๊ยละครับ

ปลาตีนตัวโต แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้

ข้อมูลจากวิกิพีเดียบอกว่าเป็นปลาในวงศ์เดียวกับปลาบู่ มิน่าละ ผมก็ว่าหน้าตาคล้ายๆ กัน เวลาอยู่บนบก เค้าจะใช้ครีบอกตะกุยพื้นให้ตัวไถลไปได้ เหมือนกับการใช้เท้าเดินนั่นเอง ตัวที่ผมเห็นนั้นมีขนาดใหญ่มากกก เกือบๆ เท่าข้อมือของผมเลยทีเดียว และที่เค้าทำนํ้ากระเพื่อมๆ อยู่ตลอด ก็เพราะไม่ได้อยู่นิ่งๆ เนื่องจากมียุง.. ครับ ยุงจริงๆ เกาะที่หน้าตาของเค้า ก็คงจะคอยดูดเลือดละครับ เค้าก็เลยต้องขยับตัวอยู่ตลอดนั่นเองครับ

ผมเดินต่อไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งจุดที่สำคัญๆ แต่ละจุดก็จะมีคำอธิบายรายละอียดให้ทราบ ตลอดทางจะได้ยินทั้งเสียงร้องของนก เสียงของปูก้ามดาบ และเสียงของกุ้งดีดขัน ดังเป๊าะๆ ระงมไปทั้งป่า แต่ยังไม่เคยเห็นตัวจริงนะครับ ส่วนใหญ่จะเห็นแต่ปูก้ามดาบและปลาตีน คราวหลังอาจจะต้องลงไปลุยโคลนแบบจริงๆ จังๆ ซะละมั๊งครับ ถึงจะได้เจอตัวกุ้งดีดขัน ซึ่งเสียงที่ดังขึ้นก็เกิดจากการที่เค้างับก้ามที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ของตัวเค้าเองครับ

ผมเดินวนมาเกือบๆ จะครบรอบ เจอประติมากรรมอยู่ชิ้นหนึ่ง รูปทรงแปลกตาแต่สวยงามดี เป็นฐานศึกษาธรรมชาติครับ ตั้งอยู่กลางป่าโกงกาง ซึ่งเรียกจุดนี้ว่า “อินฟินิตี้” เป็นหนึ่งในโครงการสร้างลานศึกษาธรรมชาติ โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น แสดงให้เห็นถึงการถ่ายทอดพลังงานจากการกินกันเป็นทอดๆ ซึ่งสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต ซึ่งจะเริ่มต้นจากผู้ผลิต นั่นก็คือพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่สังเคราะห์แสง เปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานทางชีวภาพ และถูกส่งต่อพลังงานจากสัตว์ในลำดับต่างๆ เมื่อสัตว์เหล่านั้นตายลง ก็จะถูกย่อยสลายจากจุลินทรีย์ เห็ด หรือราต่างๆ และส่งต่อมายังพันธ์ุไม้เหล่านี้ เป็นวัฏจักรของห่วงโซ่อาหารที่ไม่มีวันจบสิ้น ตราบที่ยังมี “ป่าไม้” นั่นเอง

ก่อนที่จะกลับออกจากศูนย์ฯ ผมและทีมงานเข้าไปเยี่ยมชมอาคารนิทรรศการ ที่แบ่งเป็นห้องต่างๆ ที่แสดงถึงความเป็นมาของศูนย์ และวิถีชีวิต รวมไปถึงเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ของชาวประมงในอดีต นอกจากนี้ยังแสดงพืชพรรณและสัตว์ชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ อย่างนกนานาพรรณ ซึ่งคราวหลังอาจจะได้แวะเวียนมาส่องนกแบบจริงๆ จังๆ กันสักครั้งเป็นแน่!!

ภายในอาคารแสดงนิทรรศการ

ผมและทีมงานเดินทางต่อไปยังเขากะโหลก แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของปราณบุรี และติดกับหาดปราณบุรียาวเหยียดสุดสายตานั่นเอง “เขากะโหลก” เป็นเขาหินปูนที่มีความสูงเพียง 25 เมตรเท่านั้น เป็นส่วนหนึ่งของวนอุทยานท้าวโกษา จากถนนหลักสามารถเดินลงไปที่ชายหาดได้เลย แต่..ง่ายเกินไปนะ สำหรับขาลุยอย่างพวกเรา ดังนั้นเราจึงเดินตามเส้นทางเดินป่าขึ้นไปยังยอดเขา เพื่อชมวิวมุมสูง กันก่อนที่จะเดินวนลงอีกด้านที่เป็นทางลงชายหาดพอดี เส้นทางก็ปีนป่ายกันไปตามชะง่อนหินละครับ มีเชือกที่เจ้าหน้าที่ผูกไว้สำหรับยึดเหนี่ยวเป็นช่วงๆ เส้นทางขาขึ้นระยะทาง 150 เมตร ส่วนขาลงก็เท่าๆ กันครับ 150 เมตร

เส้นทางจากยอดเขาเดินลงหาด ระยะทางประมาณ 150 เมตร เท่าๆ กับขาขึ้น

วิวจากจุดชมวิว ยอดเขากะโหลก

แนวชายหาดปราณบุรี ยาวเหยียดกว่า 10 กิโลเมตร

จุดสูงสุดบนยอดเขา สามารถชมวิวเมืองและวิวทะเลได้สบายๆ ลมเย็นๆ ทำเอาอยากจะเอนหลังพักสายตาสักหน่อย ถ้าไม่ติดว่าจะต้องเดินทางต่อไปหาที่พักละก็ คงจะรับลมเย็นข้างบนจนกว่าพระอาทิตย์จะคล้อยลงตํ่ากันแน่ๆ ละครับ เสียดายที่พระอาทิตย์เคลื่อนคล้อยเอียงไปทางหลังเขาที่เป็นแนวต้นไม้ ไม่เช่นนั้นก็จะได้มุมถ่ายพระอาทิตย์ตกที่ดีเยี่ยมมุมหนึ่งแน่นอนครับ

ผมกลับลงมาด้านล่าง และเดินถ่ายภาพริมหาดกันอีกเล็กน้อย ก่อนที่จะกลับมายัง Toyota Innova Crysta 2.8V AT ที่ จอดสงบนิ่งรออยู่แล้ว ผมก้าวขึ้นไปนั่งที่นั่งคนขับ เท้าแตะเบรก กดปุ่มสตาร์ทเครื่อง และเปิดแอร์ ระบบปรับอากาศทำงานแบบเย็นเร็ว เย็นไว เหงื่อไคลที่ไหลชุ่มโชกอยู่ตอนเดินกลับมาเหือดแห้งไปในเวลาไม่นานนัก นํ้ามัน 3/4 ถัง ที่ยังมีก่อนเดินทางมาที่นี่ เพิ่งจะลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งทริปที่ผมแวะปั๊มก็เพื่อเข้าห้องนํ้าและซื้อของกินของใช้เพียงอย่างเดียวละครับ

ก่อนมืดผมแวะไปเก็บภาพที่วัดเขากะโหลก ที่อยู่ถัดออกไปอีกเล็กน้อย โดยเฉพาะที่วิหารหลวงพ่ออุตโมนั้น ออกแบบได้โดดเด่นสวยงามทีเดียว วันนี้ดูฟ้าจะเป็นใจดีครับ สาดแสงส่องออกมาให้เก็บแสงสีได้บ้าง ก่อนจะลับลาหายไป..

แสงยามเย็นที่วัดเขากะโหลก

ทริปหน้า ผมเดินทางลงไปภาคใต้กันมั่ง ไปชมโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มนํ้าปากพนัง นครศรีธรรมราช กับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กระบี่ ส่วนจะเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นไหนนั้น ติดตามได้ในฉบับหน้าครับ..
……………………..
..สวัสดีครับ

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทางไป : “ศูนย์สิรินาถราชินี”

จากรุงเทพฯ ใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ต่อเนื่องไปยังทางหลวงหมายเลข 4 ขับมาจนถึงสี่แยกปราณบุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายตามเส้นทางหมายเลข 3168 ไปยังปากนํ้าปราณ ผ่านวงเวียนไปประมาณ 4.1 กิโลเมตร มีสี่แยกเล็กๆ ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนโยธาธิการ 2002 เข้าไปประมาณ 300 เมตร จะเจอทางแยกขวามือ เมื่อเลี้ยวเข้าไปแล้วจะเจอสามแยกเล็กๆ เลี้ยวไปทางซ้ายจะเจอป้ายศูนย์ฯ ก็ให้วิ่งตามทางเข้าไปได้เลย


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตามบทความ ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/