กล้องดิจิตอลในปัจจุบันจะมีฟังก์ชั่นสำหรับการใช้งานต่างๆ มากมายอยู่ในตัวทั้งแบบอัตโนมัติและแบบที่สามารถปรับตั้งด้วยตัวเองได้ช่างภาพมืออาชีพอาจจะได้ใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ และปรับเปลี่ยนการตั้งค่าอยู่บ่อยๆ แต่ช่างภาพมือใหม่อาจจะตั้งค่าโหมดง่ายๆ จนมีคำพูดแซวกันเล่นๆว่าซื้อกล้องหลักหมื่นแต่ใช้งานหลักพัน
มาดูกันว่ามีฟังก์ชั่นอะไรในกล้องดิจิตอล ที่ช่างภาพมือใหม่หลายๆ คน ไม่รู้จัก ไม่เคยใช้งานกันบ้าง
ฟิลเตอร์ถ่ายขาวดำ
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบภาพขาวดำ ซึ่งมีพารามิเตอร์ขาวดำให้ใช้งานอยู่แล้ว แต่หลายๆ คนจะยังไม่รู้ว่า พารามิเตอร์แบบขาวดำ ยังมีฟิลเตอร์สีสำหรับปรับโทนของภาพขาวดำให้ได้ตามที่ต้องการ เช่น ปรับความเปรียบต่างของโทนให้มากขึ้น ปรับเพิ่ม หรือเน้นโทนสว่างของซับเจคต์ที่มีสีต่างๆ ในภาพได้เพิ่มเติม เช่น ถ่ายภาพวิวต้นไม้เขียวๆ ถ้าใช้อยากให้โทนสีเขียวสว่างขึ้น ก็ใช้ฟิลเตอร์สีเขียว ถ้าอยากให้สีเขียวเข้มลง ก็ใช้ฟิลเตอร์สีแดง หรือถ้าถ่ายภาพคน อยากให้ผิวสว่างขึ้น ก็ใช้ฟิลเตอร์สีเหลือง หรือส้ม เป็นต้นครับ
การปรับตั้งต่างๆ เมื่อใช้เสร็จ ก็ต้องปรับกลับมาที่ค่าเดิม หรือค่าที่เป็น 0 เพราะไม่อย่างนั้น ภาพอื่นๆ ก็จะถูกใช้ฟิลเตอร์สีนั้นๆ อยู่ตลอดเวลานั่นเองครับ
หลังจากเลือกเมนูถ่ายภาพขาวดำแล้ว ก็ให้เข้าไปปรับตั้งค่าย่อย ซึ่งจะเห็นว่าเลือกปรับได้อีกหลายอย่าง รวมทั้งเลือกใช้ฟิลเตอร์ด้วยเช่นเดียวกัน
ถ่ายด้วยโหมดขาวดำปกติก็จะได้ภาพที่คอนทราสต์ไม่สูงมากนัก
ใช้ฟิลเตอร์สีเหลือง (Yellow) ส่วนที่เป็นโทนสีฟ้าหรือน้ำเงินจะเข้มมากกว่าปกติ
ใช้ฟิลเตอร์สีแดง (Red) ออพเจคต์ที่เป็นสีเขียวก็จะเข้มลงส่วนที่มีโทนสีแดงจะดูสว่างขึ้น
โหมด USER (U)
หลายๆ คนอาจจะเคย หรือไม่เคยสังเกตว่าบนแป้นปรับโหมดถ่ายภาพของกล้องหลายๆ รุ่น จะมีตัวอักษร U หรือ C ปรากฏอยู่ ซึ่งอาจจะเป็น U1, U2, U3 หรือ C1, C2, C3 หรือบางยี่ห้ออาจจะใช้เป็นตัวเลขอย่างเดียว โหมดนี้ มาจากคำว่า User หรือ Custom ซึ่งเป็นโหมดที่ให้ผู้ใช้ หรือช่างภาพ ปรับตั้งค่ากล้องที่ตัวเองใช้บ่อยๆ และไม่ค่อยได้เปลี่ยนค่ากล้องอะไรอย่างอื่น นอกจากความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง หรือ ISO เท่านั้น
โหมด User หรือ Custom นี้ ช่างภาพอาจจะตั้งค่า U1 หรือ C1 ให้เป็นโหมดสำหรับถ่ายภาพบุคคล ที่ช่างภาพตั้งค่าพารามิเตอร์ หรือรูปแบบภาพที่เหมาะสมสำหรับถ่ายภาพบุคคลไว้แล้ว, U2 หรือ C2 อาจจะตั้งค่าไว้สำหรับถ่ายกีฬา ที่ถูกเซ็ตสปีดชัตเตอร์ และเลือกพารามิเตอร์ที่เหมาะสมไว้แล้ว และ U3 หรือ C3 อาจจะตั้งค่าสำหรับถ่ายในสตูดิโอ ที่มีการจัดไฟไฟ และตั้งไว้บาลานซ์ที่ถูกต้องกับไฟที่ใช้ไว้แล้ว เป็นต้น
เมื่อต้องถ่ายภาพแบบไหน ก็เพียงแค่ปรับไปที่โหมดนั้นๆ ได้เลย โดยไม่ต้องมาปรับตั้งค่ากล้องอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก ช่วยให้ใช้งานกล้องได้รวดเร็วมากขึ้น ไม่ต้องมาคอยปรับใหม่ทั้งหมด หรือช่างภาพสามารถเลือกเซ็ตค่ากล้องที่เหมาะสมและบันทึกสำหรับตัวเองไว้ได้ด้วย ในกรณีที่อาจจะมีผู้ที่ใช้กล้องนั้นหลายๆ คน เป็นต้น
ตั้งค่าการถ่ายภาพที่ต้องการบันทึก จากนั้น ให้เข้าไปที่เมนูตั้งค่า User Setting บันทึกในตำแหน่งที่ต้องการ
พอหมุนแป้นปรับโหมดถ่ายภาพไปที่ U1 หรือ U2 กล้องจะโชว์โหมดถ่ายภาพและการตั้งค่าต่างๆ ที่ถูกปรับตั้งไว้ทั้งหมด
ปรับพารามิเตอร์เอง
พารามิเตอร์เป็นคำกลางๆ ซึ่งมีคำเฉพาะของแต่ละแบรนด์ เช่น Picture Style ของแคนนอน Picture Control ของนิคอน เป็นต้น พารามิเตอร์ของกล้อง จะเป็นตัวที่ช่วยปรับรูปแบบ หรือโทนของภาพตามที่ช่างภาพต้องการ จะมีค่ามาตรฐานที่คล้ายๆ กัน เช่น Standard เป็นค่ากลางๆ ที่ใช้ถ่ายภาพทั่วๆ ไป
Landscape ปรับเพิ่มคอนทราสต์ ปรับเพิ่มสีเขียว สีฟ้าให้สดใสกว่าปกติ สำหรับถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ หรือ Vivid ปรับเพิ่มสีสันทั้งหมดให้อิ่มตัวมากขึ้น เป็นต้น สำหรับการถ่ายภาพปกติแล้ว การเลือกใช้ค่าพารามิเตอร์มาตรฐานที่มีอยู่ ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานแล้ว แต่ก็ยังมีค่าพารามิเตอร์ที่กล้อง ให้ผู้ใช้ปรับตั้งค่าเพิ่มเติมเองได้ ซึ่งสามารถปรับเพิ่มหรือลดความคมชัดของภาพ ปรับเพิ่มหรือลดคอนทราสต์ของภาพ รวมทั้งปรับเพิ่มหรือลดความอิ่มตัวของสีตามที่ต้องการได้ทั้งหมด จะเลือกปรับตั้งจากค่ามาตรฐาน หรือจากตำแหน่ง Custom ก็ได้ ซึ่งถ้าจะให้แนะนำ ก็ควรปรับตั้งจากตำแหน่ง Custom จะดีกว่า ส่วนค่ามาตรฐาน ก็เอาไว้ให้ใช้งานปกติ ที่ไม่ต้องการปรับอะไรครับ
หลายๆ คนที่ชอบโทนภาพแปลกๆ หรืออยากมีโทนภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ก็สามารถปรับค่าคอนทราสต์ ปรับความอิ่มสี และปรับโทนสีตามที่ต้องการได้
Leave feedback about this