บทความเทิดพระเกียรติ

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

the-king-cover

แตรหลวง
หมายถึงปากแตรกว้างใหญ่กว่าแตรใดทั้งหมด แตรใหญ่แตรยักษ์ จึงต้องเรียกว่า ‘แตรหลวง’ ทรงใช้วิธีถ่ายด้วยพระองค์เอง โดยทรงตั้งกล้องคู่พระหัตถ์บนสามขา แล้วทรงใช้ปุ่มลั่นชัตเตอร์ที่ self-timer ทรงกะเวลาให้กล้องลั่นชัตเตอร์ ถ่ายภาพพระองค์เองได้อย่างพอเหมาะพอดีกับขณะที่ทรงเป่าแตรอย่างดัง

ที่เป็นศิลปะมากก็ตรงที่ทรงใช้เลนส์ตาปลา (fisheye lens) จึงทำให้เห็นปากแตรกว้างใหญ่ มองทีไรเป็นต้องรับสายตาอยู่ก่อนสิ่งอื่น ตรงปากแตรนี้แหละที่นำสายตาไปหาจุดเด่นของภาพคือ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงเป่าแตร

เส้นศิลปะอีกกลุ่มหนึ่งได้แก่ เส้นโค้งรายรอบคล้ายกรอบของภาพคือ เส้นขอบซ้ายขวา ช่วยเน้นให้ภาพเด่นมากขึ้น เครื่องอุปกรณ์ที่วางทับโน้ตเพลงก็เหมือนกัน ทุกอันต่างชี้ไปหาจุดกลาง เส้นเหล่านี้จึงเป็นเส้นเสริมให้ภาพเกิดพลังยิ่งขึ้น ภาพนี้จึงเล่าเรื่องได้แจ่มแจ้ง มีแสงสดใสในตัว ทั้งมีเสียงแตรในความนึกคิดของผู้ชมภาพ จึงเป็นภาพที่มีชีวิตน่าชื่นชมอย่างยิ่ง


dsc_8762

ในอ้อมพระกร
12 กันยายน พ.ศ. 2505 ณ สถานทูตไทย ประเทศออสเตรเลีย มีพสกนิกรชาวไทยไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นจำนวนมาก ในขณะที่มีพระราชปฏิสันถารกับบรรดาผู้ที่เฝ้าอยู่ใกล้เบื้องพระยุคลบาท ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยืนรอบข้างพระองค์แล้วจึงทรงใช้กล้องถ่ายภาพมุมกว้างแบบหนึ่งที่ใหม่และล้ำสมัยทดลองถ่ายภาพมุมแปลกๆ ไว้

วิธีที่ทรงถ่ายภาพ ได้ทรงนำกล้องมาวางหงายบนโต๊ะแล้วจึงถ่ายภาพ เพราะกล้องอยู่ใกล้พระองค์ และเลนส์ตาปลา (fish-eye lens) จึงเห็นมุมกว้างแม้กระทั่งพระหัตถ์ทั้งสอง ภาพนี้นอกจากจะเป็นมุมศิลปะนำสมัยแล้ว ยังมีความสอดคล้องต้องกับพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ทรงโอบอุ้มพสกนิกรทั้งหลายไว้ในอ้อมพระกร


dsc_8759

dsc_8798dsc_8802

แสงนุ่มนวล
พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถชุดหนึ่งที่มีแสงนุ่มนวล เป็นศิลปะที่งามซึ้งตรึงตาตรึงใจ และแสดงเอกลักษณ์ศิลปะการถ่ายภาพส่วนพระองค์ที่ทรงมีอย่างเยี่ยมยอดวิธีหนึ่ง

ทรงใช้แสงถ่ายภาพอย่างภาษาทางวิชาการว่า แสงตามสภาพ (Available light,existing light) คือวิธีที่ทรงใช้ถ่ายภาพในแสงสว่างเท่าที่มีอยู่ในแห่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงแดดหรือแสงไฟภายในพระตำหนักหรือในพระที่นั่ง จะทรงใช้แสงและเงาให้ได้ส่วนสัมพันธ์กันอย่างพอเหมาะพอดีทุกที่ไป


k3

แม่ของชาติ
สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงกอดสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารีแนบไว้กับพระอุระ ลักษณะที่ทูลกระหม่อมเล็กกำลังชุกพระอุระสมเด็จพระราชมารดาอยู่นี้ เห็นแล้วรู้สึกเป็นสุขอบอุ่นอย่างที่สุด ความสุขของลูก ความสุขของแม่ ของครอบครัว เป็นความสุขอันสุดประเสริฐ จึงเป็นการสมพระเกียรติยิ่งนักที่บรรดาพสกนิกรทั้งหลายต่างถวายพระราชสมัญญาว่า “พระแม่เจ้าของชาติ”

เป็นภาพที่มีเส้นโครงสร้าง (structure) สวย และให้อารมณ์แสดง (expression) ได้แสงเหมือนภาพชีวิตที่เรียกว่าเส้นโครงสร้าง คือเส้นนำสายตาไปหาจุดเด่นในภาพนี้ โดยเริ่มต้นที่พระพักตร์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ แล้วมองลงมาทางขวาโค้งไปทางพระพักตร์ทูลกระหม่อมเล็ก ตรงนี้เส้นจะม้วนเป็นก้นหอย (Spiral Curve) ปลายเล็กคือจุดเด่นของภาพ ภาพนี้มีดีเป็นพิเศษอยู่ตรงจุดจะเริ่มต้นที่เส้นบนหรือล่างของภาพก่อนก็ได้ทั้งนั้น และดูต่อไปให้ดูอารมณ์พระเนตรของทูลกระหม่อมเล็กฉายให้เห็นว่าทรงอบอุ่นเป็นสุข ความสุขของลูกอยู่ที่ได้อบอุ่นในอกแม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉายพระฉายาลักษณ์นี้ไว้ด้วยจะทรงบันทึกเป็นพระราชประวัติส่วนพระองค์ และเพื่อโปรดให้เป็นแบบอย่างมีความสุขของครอบครัว หากประชาชนเป็นสุข ประเทศชาติเจริญ


dsc_8800

เมื่อหน้าหนาว
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในฉลองพระองค์กันหนาวชุดสีเข้ม ทรงยืนอยู่ด้วยพระอารมณ์สดชื่นแจ่มใส ในขณะที่ทรงเป็นแบบสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงฉายาลักษณ์ ทรงใช้ห้องบนพระตำหนักจิตรลดาฯ เป็นฉากสำหรับทรงถ่ายภาพ

ทรงใช้แสงหลัก (main light) ตรงด้านหน้า วงพระพักตร์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถจึงแจ่มจรัสสดใส ทางด้านข้างทรงใช้แสงลดเงา (fill in light) เงาที่ข้างพระพักตร์จึงนุ่มนวลอย่างพอเหมาะพอดี นอกจากนี้ยังมีแสงพิเศษส่องเป็นเส้นสว่างใสที่พระเกศแล้วเลยมาที่พระหณุและพระศอ ภาษาการถ่ายภาพเรียกแสงนี้ว่า แสงส่องผม (hair light) ช่วยทำหน้าที่ให้ภาพเกิดระยะใกล้ไกล ภาพได้มิติ ไม่ทึบตัน และทำให้ได้บรรยากาศกระจ่างชัดดีขึ้นอีกด้วย

ที่ควรดูพิเศษอีกแห่งคือ ฉากหลังตรงที่เป็นสีอ่อนใสตรงกับพระอังสาตลอดแนวไปถึงพระพาหา เป็นฉากหลังได้ ลักษณะนี้ภาษาศิลปะเรียกว่า ‘ภาพมีอากาศ’ (spacing)

พระฉายาลักษณ์ ‘เมื่อหน้าหนาว’  เป็นประเภทภาพบันไดสีแก่ (low key) ภาพให้ความสุขสงบ วรรณะของภาพได้ระดับสีเข้ม ทั้งเป็นภาพที่แสดงรายละเอียดของสีขาวเทาและดำอย่างครบถ้วนถูกต้องตามศิลปะทุกประการ


dsc_8807

สงบ
แสงเงานุ่มนวลจับตากำลังพอดี เป็นภาพบันไดสีแก่ (low key) อีกภาพหนึ่ง ซึ่งได้ลักษณะที่ถูกต้องตามหลักการให้แสงแบบคลาสสิกที่เรียกว่า “lighting of Rembrandt”

พระพักตร์ได้แสงสว่างแต่พอเลือนราง ตรงแสงนั้นได้เห็นพระอารมณ์ที่ทรงแย้มพระสรวลน้อยๆ ภาพให้อารมณ์ภาพอ่อนหวานนุ่มนวล แต่หนักแน่นลึกซึ้ง ที่ฉากหลังบริเวณพื้นโดยรอบทำให้หนักเล็กน้อย พอถึงตรงกลางเว้นให้สว่างขึ้นหน่อย ลักษณะพื้นภาพแบบนี้เป็นการช่วยเน้นจุดเด่นให้ชัด เน้นให้เห็นพระอารมณ์ในภาพและเน้นให้เห็นบรรยากาศอันทึมเทาเลือนรางคล้ายกำลังประทับอยู่ในสถานที่อันวิเวก อิ่มเอิบพระราชหฤทัย … ในแดนแห่งความสงบ


dsc_8805

dsc_8773

dsc_8799

dsc_8749

dsc_8796

dsc_8750

dsc_8816

dsc_8804

dsc_8768

dsc_8772

dsc_8751


dsc_87636

dsc_8758

4 หัวใจ
เมื่อปี พ.ศ. 2515 คราวเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วันหนึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านชาวเขาบนดอยปุย ขณะที่ทรงพระดำเนินไปบนยอดเขาพักใหญ่ๆ ทรงเหลียวมา ปรากฏว่าไม่มีใครตามเสด็จได้ทัน จึงประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถอยู่ ณ บริเวณนั้น

ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายมากแล้ว ลมเย็นบนยอดเขาพัดมารวยรื่น พระอาทิตย์ทอแสงมารำไร ระหว่างที่ทอดสายพระเนตรไปรอบๆ บริเวณ ก็ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งใบร่วงโกร๋น แต่กิ่งหนึ่งยังมีใบเหลือค้างอยู่ 4 ใบ แสงแดดส่องจ้ามาตรงนั้น พอดีทอดพระเนตรแล้วเป็นที่สนพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงทรงถ่ายภาพมุมต่างๆ ไว้ได้หลายภาพ มีอยู่ภาพหนึ่งที่พระราชทานอรรถาธิบายไว้เป็นความว่า

ใบไม้กิ่งนี้มี 4 ใบ สมมติได้ว่าเป็นหัวใจของคน 4 คน

ใบไม้ 3 ใบแรก เรียงตรงเป็นแถวดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามดี เมื่อเปรียบไปก็จะคล้ายกับคนทำดีย่อมมีแต่ความเจริญก้าวหน้า ส่วนใบที่ 4 พลิกตะแคงไม่เหมือนใคร เมื่อดูไปจะคล้ายกับคนที่ประพฤติปฏิบัติออกนอกลู่นอกทางจึงต้องดิ้นรนผจญชีวิตไปด้วยความไม่แน่นอน

ใบไม้ 3 ใบที่เห็นเรียบร้อยดีนั้น ถ้าลองพิจารณากันให้ใกล้ชิดอีกที ก็จะเห็นได้ว่าแต่ละใบยังมีริ้วรอยขีดข่วนด่างพร้อยอยู่บ้าง ทั้งนี้ก็ย่อมเกิดได้จากสิ่งแวดล้อมบันดาลให้เป็นไป ซึ่งจะมากจะน้อยประการใดก็เปรียบได้ดังหัวใจคนที่มีอันต้องผันแปรไปบ้างนั้น เรื่องนี้จึงเป็นคติที่ควรคิด

ภาพนี้จะเห็นใบไม้ทั้ง 4 ใบได้ชัดเจนมาก แต่พอมองไกลไป ฉากหลังจะพบแต่ความมัวพร่า ซึ่งพอจะเปรียบได้ว่าอนาคตย่อมเป็นอนิจจัง จะเอาความเที่ยงแท้แน่นอนอะไรไม่ได้

หัวข้อสำคัญ 4 ประการจากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์นี้ เป็นพระราชอรรถาธิบายที่ทรงไว้ซึ่งคุณประโยชน์อันล้ำค่า สมควรที่จะนำมาใช้ปฏิบัติในการดำเนินชีวิตได้ดียิ่ง


dsc_8756

ยิ้มรับเสด็จ
เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวไทยอิสลาม ณ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ระหว่างทางที่ทรงพระดำเนินกลับ ผ่านชาวบ้านผู้หนึ่งในระยะใกล้ๆ แสดงความดีใจที่ได้เฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด จึงกระหยิ่มยิ้มย่องอย่างเต็มที่ การยิ้มแย้มแจ่มใสนี้เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยยิ่งนัก

ในทันทีทันใด ทรงใช้กล้องคู่พระหัตถ์เตรียมถ่ายภาพไว้ แต่เนื่องด้วยขณะนั้นเป็นเวลาใกล้ค่ำมากแล้ว ตรงที่ชาวบ้านคนนี้ยืนอยู่จึงมีแสงสว่างอันสลัว ทำให้ลำบากที่จะทรงถ่ายภาพ ด้วยเหตุนี้จึงทรงใช้วิธีพิเศษด้วยการทรงตั้งชัตเตอร์ที่ B และขณะที่ทรงกดชัตเตอร์ค้างไว้ก็โปรดให้ช่างภาพส่วนพระองค์ที่ตามเสด็จอย่างใกล้ชิด กดไฟแฟลชช่วย พอแสงแฟลชสว่างแวบก็เป็นที่เรียบร้อย ทรงได้ภาพอย่างแจ่มชัดสดใส และเป็นภาพรอยยิ้มอย่างมีชีวิตเหมือนที่เห็นอยู่นี้

อันเทคนิควิธีที่ทรงใช้ไฟแฟลชเปิดแสงนอกกล้องแบบนี้ ตามภาษาทางวิชาการว่า Open flash เป็นศิลปะการถ่ายภาพระดับสูง ซึ่งน้อยคนจะรู้จักและถ่ายทำกันได้

นอกจากรอยยิ้มอันมีชีวิตแล้ว ขอให้ดูกันให้ละเอียดต่อไปอีกว่า ชาวบ้านผู้นี้เป็นคนดำ ถ้าอยู่กับฉากหลังดำ ตัวคนก็จะจมมืด แต่บังเอิญเขาใส่เสื้อสีชมพูอ่อน ผ้าโพกศีรษะขาว พอได้แสงแฟลชจึงดูเหมือนยืนอยู่กลางแดดจ้าในฉากหลังสีดำมืด ภาพจึงดูเด่น ทั้งดำทั้งเด่นเหมือนจะมีชีวิต และเดินออกมาพูดคุยกันได้ ยิ้มยอดจริงๆ


dsc_8779

dsc_8785

dsc_8786

 

ภาพพระราชทาน
ขอบคุณ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับความอนุเคราะห์บทความ (ให้คำบรรยายโดย ศจ. พูน เกษจำรัส)
ขอบคุณ คุณ นภดล อาชาสันติสุข นิตยสารคาเมราร์ต สำหรับความอนุเคราะห์ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

นิตยสารโฟโต้อินโฟ ฉบับเดือน ธันวาคม 2549