Basic Knowledge Photography

มือใหม่ได้กล้องใหม่ ต้องเซ็ตอะไรบ้าง

ในหน้าฟีดของเฟซบุ๊กกลุ่มกล้องต่างๆ แบรนด์ต่างๆ มักจะมีคำถามหลายๆครั้งว่า กล้องรุ่นนั้น รุ่นนี้ ตั้งค่าแบบนั้น แบบนี้ยังไง ทำไมตั้งค่าแบบนั้นแล้ว รูปที่ได้ไม่ใช่อย่างที่ต้องการ ถ่ายรูปมาแล้ว ได้รูปไม่ชัด จะแก้ยังไง บลาๆๆๆ หลายๆคำถามก็ได้รับคำตอบ แต่หลายๆคำตอบก็ไม่ชัดเจน หรือหลายๆคำตอบแนะนำให้กลับไปเรียนรู้เรื่องกล้องของตัวเองก่อน ก็นานาจิตตังล่ะครับ ในสังคมออนไลน์ ก็มีผู้คนหลากหลายรูปแบบ คงคาดหวังอะไรแบบเต็มร้อยได้ยาก ทางที่ดีเมื่อได้กล้องหรืออุปกรณ์ใหม่มา ก็ควรที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองในเบื้องต้นก่อน อันไหนที่ไม่เข้าใจจริงๆ ก็ค้นหาในอินเทอร์เน็ต หรือค่อยไปสอบถามตามกลุ่มผู้ใช้หรือเพจกล้องรุ่นนั้นๆ 

มาดูกันว่า เมื่อได้กล้องใหม่มาแล้ว เราควรจะทำอะไรบ้าง เพื่อให้รู้จักกล้องเราให้มากที่สุด รู้ว่ากล้องเราทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ใช้งานกล้องได้เต็มประสิทธิภาพที่สุดครับ 

กล้องใหม่ ในที่นี้หมายถึงทั้งกล้องที่เพิ่งซื้อใหม่แกะกล่อง และกล้องใหม่ของใครหลายๆคนที่อาจจะซื้อมือสองมา ซึ่งเราอาจจะยังไม่รู้จักกล้องนั้นๆดีพอ อาจจะยังไม่เคยจับกล้องตัวจริง หรืออาจจะยังไม่เคยลองใช้งานอย่างจริงจัง แต่เป็นกล้องที่เราสนใจ และมีโอกาสได้เป็นเจ้าของแล้ว

เมื่อมีปัญหากับการใช้งาน เช่น การปรับตั้งค่าต่างๆ การแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น หรือไม่รู้วิธีตั้งค่างานปุ่มและแป้นต่างๆบนตัวกล้อง หลายๆคนก็ไปตั้งกระทู้ถามตามกลุ่มของผู้ใช้กล้องรุ่นนั้นๆ ซึ่งก็ไม่ผิดหรอกครับ แต่บางครั้งก็อาจจะไม่ได้คำตอบตรงตามที่ต้องการ

มาดูกันว่า เราจะช่วยเหลือตัวเองยังไงกับการปรับตั้งค่ากล้องใหม่ของเรา จะใช้งานกล้องยังไงให้คุ้มค่า หรือรู้ว่ากล้องของเราทำอะไรได้บ้าง ก่อนที่จะถามคนอื่น

อ่านคู่มือกล้อง

เป็นอีกอย่างหนึ่งที่หลายๆคนมักจะละเลยการอ่านคู่มือการใช้งานกล้อง ซึ่งในคู่มือการใช้งานกล้อง จะบอกถึงการทำงานต่างๆของกล้องถ่ายรูป การใช้งานปุ่มและแป้นต่างๆ บนตัวกล้อง อาจจะไม่ใช่การอธิบายการใช้งานแบบละเอียด แต่อย่างน้อย เราก็รู้ว่ากล้องเราทำอะไรได้บ้าง เราสามารถตั้งค่าการใช้งานแบบไหนได้บ้าง

สำหรับกล้องมือสอง อาจจะไม่มีคู่มือการใช้งานมาด้วย ก็ลองเสริชหาในอินเทอร์เน็ตดูว่าแบรนด์กล้องนั้นๆ ได้ลงไว้หรือเปล่า ถ้าไม่มีก็ต้องใช้วิธีดูรีวิวจากสำนักต่างๆหลายๆที่แทนล่ะครับ

ปรับไดออปเตอร์สายตา

อีกด่านหนึ่งที่จะทำให้มองภาพผ่านวิวไฟน์เดอร์ได้คมชัด เป็นเรื่องเล็กๆ แต่เคยเกิดปัญหากับใครหลายๆคน โดยเฉพาะที่มีความผิดปกติของสายตาเกินกว่าค่าปกติเยอะๆ 

แป้นปรับไดออปเตอร์ มักจะอยู่ข้างๆช่องมองภาพ ให้มองเข้าไปในช่องมองภาพ แล้วปรับจนตัวหนังสือที่แสดงค่าต่างๆชัดเจนครับ

เช็คคุณภาพ (Quailty)​ และขนาดภาพ (Image Size)​

กล้องใหม่ จะตั้งค่าขตาดไฟล์ JPEG และการบีบอัดคุณภาพไฟล์มาเป็นค่ามาตรฐาน ให้ดูว่าค่ามาตรฐานที่ตั้งมานี้ตรงกับความต้องการใช้งานของเราหรือไม่ หากไม่ตรงจะตั้งค่าใหม่ตามรูปแบบของการใช้งานของเราเองเลยก็ได้

มือใหม่หลายๆคน มักจะลดขนาดภาพลง เพื่อให้เมมโมรี่การ์ดที่ใช้อยู่ถ่ายรูปได้เยอะขึ้น ซึ่งไม่ขอแนะนำครับ เพราะเมื่อซื้อกล้องความละเอียดสูงมาแล้ว ก็ควรที่จะถ่ายภาพให้เต็มความละเอียดของกล้อง ถึงแม้ว่าจะบอกว่าเอามาลงโซเชียลเฉยๆก็ตาม  ไฟล์ใหญ่ เอามาลดคุณภาพลงได้ แต่ไฟล์เล็กๆจะเอามาปรับให้ใหญ่แบบไฟล์เดิม คงจะยากและไม่ได้คุณภาพเท่ากับที่ถ่ายมาแบบเต็มความละเอียดกล้องแน่ๆครับ

คัสตอมปุ่มและแป้นต่างๆ

เป็นเรื่องที่ควรทำตั้งแต่แรก เพราะจะช่วยให้เราใช้งานกล้องได้สะดวกขึ้น สามารถปรับตั้งค่าการทำงานต่างๆ ได้เร็วขึ้น เป็นคีย์ลัดที่ช่วยให้ตั้งค่าเมนูที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมนูที่จะต้องปรับเปลี่ยนบ่อยๆ ในโหมดถ่ายภาพ เช่น ไวท์บาลานซ์, ความไวแสง, เปิด-ปิดระบบกันสั่น หรือตั้งพารามิเตอร์กล้อง เป็นต้น 

สำหรับกล้องมือสอง ก็ควรจะ reset ค่ากล้องให้กลับเป็นค่ามาตรฐานเหมือนตอนเป็นของใหม่แกะกล่อง เพราะบางครั้งเจ้าของคนเดิมอาจจะปรับค่าการทำงานบางอย่างไว้ แต่เราไม่รู้นั่นล่ะครับ reset กลับไปเป็นค่ามาตรฐานแล้วค่อยมาตั้งค่าใหม่ ตามการใช้งานของเราเองครับ

เรียนรู้เรื่องถ่ายภาพเพิ่มเติม

หลังจากที่เรียนรู้เรื่องประสิทธิภาพของกล้องแล้ว ก็ควรจะเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพเพิ่มเติม ตั้งแต่ขึ้นพื้นฐานสำหรับมือใหม่จริงๆ ซึ่งมีทั้งแบบเรียนรู้ด้วยตนเองฟรี จากวิดีโอสอน Youtube หรือไปลงเรียนตามคลาสที่มีเปิดสอน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีทั้งภาคทฤษฎีและ workshop ให้ฝึกฝนไปด้วย

ออกไปถ่ายรูปบ่อยๆ

สุดท้ายก็อยู่ที่การฝึกฝนการถ่ายรูปและใช้งานกล้อง ซึ่งจะช่วยให้การปรับตั้งกล้องได้เชี่ยวชาญขึ้นจนสามารถเลื่อนนิ้วไปปรับแป้นหรือปุ่มที่ต้องการ โดยไม่ต้องละสายตาออกมามอง การออกทริปถ่ายรูป จะช่วยให้พัฒนาเรื่องถ่ายรูปได้เร็วขึ้น จากการช่วยแนะนำของโปร หรือคนที่มีประสบการณ์มากกว่า ซึ่งช่วยให้แก้ไขข้อผิดพลาดจากประสบการณ์ของเราได้ทันที ก็เหมือนกับทักษะในเรื่องอื่นๆล่ะครับ ยิ่งฝึกฝนบ่อยๆ ลงมือปฏิบัติเยอะๆ ก็ทำให้เราชำนาญขึ้น เก่งขึ้นไปด้วย

แต่ถึงแม้จะไม่ได้ออกนอกบ้านไปไหน ก็ยังใช่สิ่งของต่างๆ เช่น ของกิน, ตุ๊กตา, ขนม เอามาเป็นแบบฝึกถ่ายรูปได้ตลอดล่ะครับ ยิ่งเป็นยุคดิจิตอล ไม่ต้องกังวลเรื่องเมมโมรี่การ์ด ฝึกไปเถอะครับ อันไหนไม่สวย ก็ลบทิ้ง ถ่ายใหม่ ฝึกจนกว่าจะสวยนั่นล่ะครับ

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video