การออกทริปถ่ายภาพแต่ละครั้ง ทุกคนก็คาดหวังว่าจะได้สภาพแสงดีๆ ฟ้าใสๆ เพื่อจะได้ภาพที่มีสีสันอิ่มตัวตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องปรับแต่งอะไรมากมายนัก แต่การถ่ายภาพในแสงธรรมชาติ ที่ต้องพึ่งพาสภาพฝนฟ้าอากาศ เป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่เราไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องถ่ายภาพในช่วงฤดูฝน ที่ฟ้ามักจะอึมครึม ขมุกขมัวอยู่ตลอด แต่ก็ไม่ใช่ว่าสภาพอากาศแบบนี้ จะทำให้เราถ่ายภาพอะไรไม่ได้เลย หรือพาลทำหมดหวังกับภาพที่หวังไปซะทั้งหมด ยังพอมีวิธีที่จะทำให้ได้ภาพที่ดูดีขึ้น ถึงจะไม่แจ่มเท่าๆ กับตอนฟ้าใส อากาศดีๆ แต่ก็ยังดีกว่าถ่ายภาพอะไรไม่ได้เลยนะครับ มาดูวิธีแก้มีปัญหา เมื่อเจอกับสภาพอากาศไม่เป็นใจครับ
หาฉากหน้ามาปิดฟ้าไว้หน่อย
สำหรับคอแลนด์สเคป ถ้าต้องเจอกับฟ้าขาวๆ ล่ะก็ ไม่สนุกแน่ๆ วิธีแก้คือ หาฉากหน้ามาช่วยบังฟ้าขาวๆ ไว้หน่อย จะสร้างเป็นกรอบภาพ หรือใช้กิ่งไม้ ใบไม้มาปิดๆ ไว้ก็ได้เช่นกัน จริงๆ แล้ว การใช้ฉากหน้าแบบนี้ ใช้ได้ทั้งอากาศดี และไม่ดีนะครับ อากาศดี เราก็สร้างฉากหน้าได้ เพื่อทำให้ภาพดูมีมิติมากขึ้น ดูมีระยะใกล้-ไกล ทำให้ภาพดูไม่แบนอีกด้วย ส่วนเวลาอากาศไม่ดี เราก็เอาฉากหน้านั้น เราเอามาบังในส่วนที่เป็นท้องฟ้า ไม่ให้มีสีขาวๆ ฟุ้งๆ มากจนเกินไปครับ
มองมุมต่ำดูบ้าง
มองมุมต่ำ ไม่ใช่ให้เปลี่ยนไปถ่ายภาพมาโคร หรือถ่ายมด ถ่ายแมลงกันนะครับ แต่ให้มองแอ่งน้ำขังหลังฝนตก ที่จะช่วยให้เราสร้างสรรค์มุมภาพพิเศษๆ เพิ่มเติมได้ด้วย การกดกล้องลงต่ำ ก็เพื่อลดพื้นที่ด้านบนที่อาจจะเป็นฟ้าขาวๆ ไปนั่นแหละครับ เวลาวางองค์ประกอบ จะเลือกเอาทั้งเงาสะท้อน ทั้งซับเจคต์อยู่ในเฟรมเดียวกัน หรือจะเอาเฉพาะเงาสะท้อนก็ได้เช่นกันครับ
ก็ดีนะ ได้แสงนุ่มๆ มาแทน
แสงซอฟท์ๆ นุ่มๆ เหมาะสำหรับถ่ายภาพบุคคล เพราะจะให้คอนทราสต์ที่ไม่แรงมาก การไล่โทนระหว่างส่วนมืด และส่วนสว่างไม่แตกต่างกันมาก หรือจัดจ้านมากนัก ดีกว่าแสงแดดแข็งๆ ที่เงาค่อนข้างชัดเจน ต้องหลบแดด ต้องใช้รีเฟลกซ์ลดเงากันอุตลุด ถ้าหากว่าเจอกับอากาศที่ไม่เป็นใจแบบนี้ จะเปลี่ยนเป็นทริปถ่ายภาพบุคคลแทนภาพวิวทิวทัศน์จะดีกว่านะครับ หาใครไม่ได้ ก็คนรู้ใจนี่แหละ เป็นแบบที่ดีเยี่ยมทีเดียวครับ
ให้คอนทราสต์เพิ่มอีกนิด
บางครั้ง เวลาที่ถ่ายภาพในสภาพอากาศขมุกขมัว มีหมอกบางๆ ก็จะช่วยสร้างมิติของภาพให้ดูมีความลึกได้เช่นกัน แต่หมอกฟุ้งๆ ก็จะทำให้ได้ภาพที่ดูไม่สดใส สีสันไม่อิ่มตัวมากนัก วิธีแก้ก็ให้ปรับพารามิเตอร์ของกล้อง ที่มีชื่อเรียกขานกันหลายอย่าง เช่น Picture Style ของแคนนอน, Picture Control ของนิคอน, Film Simulator ของฟูจิฟิล์ม, Creative Style ของโซนี่ และกล้องอื่นๆ ที่ไม่ได้เอ่ยถึง ให้เป็น Landscape ซึ่งปกติแล้ว Landscape จะเน้นโทนสีเขียว และสีฟ้าให้สดใสขึ้น รวมทั้งเพิ่มคอนทราสต์ให้จัดขึ้นด้วย ต่างจากการเร่งสีแบบ Vivid ที่กล้องจะปรับเพิ่มคอนทราสต์ด้วยเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน กล้องก็เร่งสีทุกๆ สีให้สดใสขึ้นจนบางครั้งจัดจ้านเกินไป ดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่ก็เป็นความชอบของแต่ละบุคคลนะครับ จะใช้ Standard แล้วเพิ่มคอนทราสต์เองทีหลังก็ไม่ว่ากันครับ
เปลี่ยนมาถ่ายขาว-ดำดีกว่า
สุดท้าย ถ้าหากว่าทนไม่ไหวกับสีตุ่นๆ ของภาพ ก็เลี่ยงการถ่ายภาพสี ไปถ่ายภาพขาว-ดำแทน โดยกล้องบางยี่ห้อ สามารถปรับเลือกฟิลเตอร์สี ที่มีให้เลือกอย่างน้อย 4 สี อาทิ สีส้ม, สีแดง, สีเขียว หรือสีเหลือง เพื่อเพิ่มน้ำหนักของโทนภาพให้แตกต่างกันมากขึ้น ไม่ใช่เป็นขาวตุ่นๆ กับเทาทึมๆ เพียงอย่างเดียว โดยถ้าหากว่าเลือกฟิลเตอร์สีใดๆ โทนสีนั้นๆ ในภาพ จะสว่างใสขึ้น และโทนสีที่เป็นสีตรงข้ามกันจะทึบลง ทำให้มีความแตกต่างของโทนขาวและดำในภาพมากขึ้น ทำให้ภาพดูมีน้ำหนัก มีมิติ ดูไม่แบนด้วยครับ ถ้าหากว่า ยังเสียดายสีอยู่ไม่อยากได้ขาว-ดำทั้งหมด ก็ถ่ายเป็น RAW+JPEG ไว้ก่อน เพราะไฟล์ RAW ยังสามารถโปรเซสให้เป็นภาพสีได้เช่นเดิมครับ
เลือกถ่ายช่วง Twilight กันเถอะ
ถ้าไม่อยากออกไปตะลอนๆ ท่ามกลางฟ้าตุ่นๆ ให้เมื่อยน่อง ก็รอช่วงก่อนหมดวัน หรือช่วงระหว่างพระอาทิตย์ตก ซึ่งในวันที่อากาศตุ่นๆ ฟ้าครึ้มๆ อาจจะไม่เห็นว่าพระอาทิตย์จะลับลาไปตอนไหน คงต้องใช้วิธีเช็กกับนาฬิกา หรือแอพลิเคชั่นดูเวลาพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกกันล่ะครับ แต่เอาจริงเข้า ช่วง 6 โมงเย็นก็น่าจะต้องเข้าจุดที่ตั้งใจถ่ายภาพไว้กันแล้วล่ะครับ เพราะจะได้ดูมุม และตั้งกล้องรอแสง Twilight กันนั่นเอง ซึ่งช่วงนี้ จะได้ทั้งสีของท้องฟ้าที่แปรเปลี่ยนเป็นโทนสีฟ้า และแสงจากไฟถนน รวมทั้งไฟบ้านเรือนที่ส่องสว่างออกมาครับ และเมื่อใช้เอฟแคบๆ ก็จะได้ประกายแฉกที่เกิดจากดวงไฟอีกด้วย แต่จะได้แฉกมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเลนส์ที่ใช้ล่ะครับ อ้อออ!! อย่าลืมขาตั้งกล้องกับสายลั่นชัตเตอร์กันนะครับ
Tips เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการถ่ายภาพเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ตามที่เขียนไปทั้งหมด เพราะสภาพ “อากาศที่ไม่เป็นใจ” ก็ย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ หรือช่วงเวลาอยู่แล้ว และอีกอย่างหนึ่งนั้นคือ ความชื่นชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก็เอาตามที่ชอบของแต่ละท่านดีกว่านะครับ
…ขอให้มีความสุข และสนุกกับการถ่ายภาพนะครับ…
ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line ID : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : www.fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine
IG : fotoinfoplus
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจทริคดีๆสำหรับการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่