บทความเทิดพระเกียรติ

สัมภาษณ์ : น้อม พงศ์กัญจนานุกูร

nom-2

น้อม พงศ์กัญจนานุกูร
หัวหน้าส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ กองงานส่วนพระองค์ ช่างผู้ถวายงานด้านการถ่ายภาพแด่องค์พระเจ้าแผ่นดินด้วยจิตจงรักตลอดห้วง 40 ปี

หากจะถามถึงคุณสมบัติข้าราชบริพารผู้ทำหน้าที่ถวายในงาน “ส่วนช่างภาพส่วนพระองค์” หลายคนคงอดที่จะคาดเดาไม่ได้ว่าหนึ่งประดาคุณสมบัตินั้นควรจะเป็นผู้มีชาติตระกูล จบการศึกษาขั้นสูง หรืออาจไพล่คิดไปถึงขั้นว่าบุคคลนั้นควรจะร่ำเรียนด้านการถ่ายภาพมาจากเมืองนอกเมืองนาเสียด้วยซ้ำ เพื่อที่จะได้รู้แจ้งเห็นจริงในภาระอันใหญ่หลวงที่ต้องทั้งรับผิดและชอบ

หากแต่ใครจะคาดคิดว่าเด็กชายชนบทย่านป่าหวาย จังหวัดลพบุรีคนหนึ่งจะสามารถก้าวฝ่าปัญหาด้วยอุตสาหะจิตอันยิ่งใหญ่ จนสามารถเป็นที่วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้บุรุษผู้นี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ได้จนจวบกระทั่งปัจจุบัน แม้จะล่วงพ้นวัยเกษียณมาแล้ว

40 ปี แห่งการรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท มิอาจทำให้ชายผู้นี้ทะยานอยากจนลืมรากเหง้าแห่งตน เฉกเช่นเดียวกับความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องการ ‘การทำความดี’ และ ‘การตั้งใจทำงาน’ อย่างสุดกำลังเพื่อสนองพระเดชพระคุณแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมกับที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สำหรับชายสามัญชนธรรมดาผู้หนึ่ง

nom-3
‘น้อม พงศ์กัญจนานุกูร’ คือบุรุษที่เรากำลังเกริ่นกล่าวถึง….

“ผมเป็นเด็กชนบทครับ เดิมอยู่ที่ ‘บ้านโคกรำพาน’ แถวๆ หน่วยสงครามพิเศษป่าหวาย สมัยก่อนย่านนั้นมีแต่ต้นไม้และท้องไร่ท้องนาเต็มไปหมด มันเลยทำให้เรากลายเป็นคนรักธรรมชาติมาตั้งแต่ครั้งนั้น” ‘คุณน้อม เปิดฉากชีวิตบทแรกของเขาให้ฟัง ด้วยความที่ผมชอบการถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็กเขาจึงมักหาทางไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ ปราสาทราชวังเก่า อันเป็นจุดท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ จนหาโอกาสจับกล้องถ่ายภาพได้เป็นครั้งแรกในที่สุด

“พอช่วงมัธยม 1 ผมก็ชวนเพื่อนไปเช่ากล้องถ่ายภาพจากร้านที่มาเปิดอยู่แถวๆ วังเก่า จำได้ว่าตอนนั้นบอกเขาว่าจะขอเช่ากล้องไปถ่ายสนุกๆ เขาคิดค่าเช่าเราหนึ่งบาท (ประมาณ 50 ปีที่แล้ว) หลังจากนั้นผมก็แวะเวียนไปขอเช่าอีกหลายครั้งจนคุ้นเคยกัน แต่ถ้าวันไหนไม่มีเงินจริงๆ ก็เอ่ยปากขอเขาตรงๆ เลย จนประมาณมัธยม 4 ผมถึงเก็บเงินซื้อกล้องเป็นของตัวเองตัวหนึ่ง ยี่ห้อ Mamiya เป็นกล้องแบบยืดหดได้ กล้องมือสองตอนนั้นขายกันราคาประมาณสองร้อยกว่าบาท เวลาไปเที่ยวกับเพื่อนอย่างพัทยาหรือบางแสนเราก็ติดกล้องไปด้วย ถ่ายเพื่อนๆ บ้าง ถ่ายวิวทิวทัศน์อย่างที่ชอบบ้าง ก็สนุกดีครับ”

หลังจบมัธยม 6 ติด ‘คุณน้อม’ ติดตามมารดาเข้ามาอยู่แถวๆ ย่านจุฬา และได้เข้าเรียนด้านก่อสร้างที่อุเทนถวาย (สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย) อยู่ประมาณ 2 ปี จึงเริ่มรู้ตัวว่าไม่ได้ชอบด้านนี้สักเท่าไหร่

“คิดในใจมันอยากออกไปถ่ายรูปมากกว่า พอดีมีเพื่อนเคยเรียนอยู่ที่อุเทนฯ ด้วยกันแล้วเขาลาออกไปตั้งแต่ตอนปี 1 แล้วไปเรียนถ่ายภาพที่เทคนิคกรุงเทพ (สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ) เขากลับมาเล่าให้ฟังว่าไปเรียนถ่ายภาพแล้วมันสนุกดี ผมก็เลยตัดสินใจยอมเสียเวลา 2 ปีที่เรียนมา แล้วไปเริ่มต้นใหม่ที่เทคนิคกรุงเทพฯ โดยตอนที่เข้าไปเป็นนักเรียนถ่ายภาพ ผมเป็นรุ่นที่ 6 ของแผนกนี้”

โลกใบใหม่ของ ‘คุณน้อม’ เต็มไปด้วยความสนุกสนานสมกับความตั้งใจตั้งแต่ครั้งเด็ก เขาใช้โอกาสที่ไขว่คว้ามาได้นี้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพอย่างจริงจัง ซึ่งบางครั้งอาจได้เปรียบกว่าช่างภาพรุ่นเดียวกันเสียด้วยซ้ำ เพราะเขาได้นำพื้นฐานด้านก่อสร้างที่เรียนมาก่อนหน้านี้อย่างเรื่องมุมมอง และ Perspective เข้ามาใช้ได้อย่างกลมกลืน

“ในรุ่นนั้นมีกันประมาณกี่คนครับ” เราเอ่ยถามนักเรียนถ่ายภาพรุ่น 6 คู่สนทนา

ทั้งรุ่นมีอยู่  50 คน มีห้องเดียว เรียนรวมกันหมดเลยครับ แต่พอถึงตอนปี 3 เหลืออยู่แค่ 11 คน บางคนเกรดไม่ถึงบ้าง บางคนเรียนแล้วไม่ชอบก็ทยอยออก จนทั้งห้องเหลือกันอยู่แค่นี้ ผมเรียนภาพนิ่ง จนถึงขั้น ปวส. 3 ก็ต่อด้านภาพยนตร์อีกเลย 2 ปี”

“ช่วงที่เรียนถ่ายภาพ ‘คุณน้อม’ มีโอกาสสร้างผลงานตามแนวทางที่ตัวเองถนัด หรือส่งงานเข้าประกวดตามที่ต่างๆ บ้างไหมครับ”

“ส่งประกวดก็มีบ้าง ได้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ แต่เราก็ไม่ได้ไปซีเรียสจริงจังกับตรงนั้นมากนัก เพราะพูดจริงๆ คือฐานะทางบ้านของเรามันก็ไม่ได้ดีอะไรมากมาย ผมว่าคนที่ตั้งใจจะเอาดีทางด้านถ่ายภาพมันต้องมีทุนบ้างเหมือนกันนะครับ เพราะทุกอย่างมันมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าฟิล์ม ค่ากระดาษ ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์โน่นนี่ ซึ่งก็เป็นจำนวนพอสมควรเหมือนกันนะ กว่าจะเรียนจบ 5 ปี” เขาร่ายความจริงซึ่งผู้ที่เคยผ่านชีวิตการเป็นนักเรียนถ่ายภาพมาบ้างคงไม่อาจปฏิเสธความจริงข้อนี้

ก่อนจบการศึกษา นักเรียนภาพยนตร์ทุกคนต้องออกไปเรียนรู้และสัมผัสการทำงานจริงในกองถ่ายภาพยนตร์ต่างๆ และนั่นนับเป็นต้นทางสำหรับจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญที่แม้ตัวเขาเองก็อาจยังมองไม่เห็นเค้าลางนั้นด้วยซ้ำ

“คือตอนปี 4 เราต้องเรียนทฤษฎีเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์อย่างหนัก พอขึ้นปีห้า เราจึงได้ออกไปฝึกงานจริงในกองถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งแต่ละคนก็จะแยกย้ายกันอยู่ที่โน่นที่นี่กันคนละเทอม ผมได้ไปอยู่กองถ่ายกับคุณมารุต ณ บางช้าง (ผู้กำกับภาพยนตร์) จำได้ว่าตอนนั้นกำลังถ่ายหนังเรื่อง ‘ตะวันหลั่งเลือด’ มีสมบัติกับเพชราเป็นคู่พระคู่นาง ผมก็ไปอยู่ช่วยงานเขาเกือบ 3 เดือน หลังจากนั้นเทอมที่ 2 ผมก็ได้เข้ามาช่วยงานในโรงถ่าย พอดีท่านอาจารย์รัตน์ เปสตันยี (ผู้กำกับภาพยนตร์) เห็นแวว ก็เลยเอ่ยปากชวนผมให้ไปช่วยงานที่กองถ่ายของแกในช่วงกลางคืนหรือในวันที่หยุดเรียน ที่นั่นผมได้เรียนรู้การทำงานเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่รับโทรศัพท์ไปยันผู้ช่วยกล้องเลย”

หลังจากเรียนจบ ‘คุณน้อม’ ยังช่วยงานอาจารย์รัตน์อีกพักหนึ่งก่อนที่เพื่อนฝูงร่วมรุ่นซึ่งทำงานอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยจะชวนให้เขาลองเข้าไปทำงานในตำแหน่ง ‘เจ้าหน้าที่อบรมการถ่ายภาพ’ คอยจัดอบรมให้กับช่างภาพที่ประจำอยู่ตามที่ว่าการอำเภอต่างๆ ทั่วประเทศ

“ก็เป็นช่วงที่สนุกดีครับ ครั้งแรกผมได้ไปประจำอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ หน้าที่หลักๆ ก็คือการฝึกอบรมและตรวจงานที่เจ้าหน้าที่เขาพรินท์ออกมาว่าภาพสวยไหม ภาพมืดหรือสว่างเกินไปไหม ผมทำได้อยู่ 3 เดือน ผู้บังคับบัญชาเห็นว่างานของเราออกมาโดดเด่นกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาคเดียวกัน ก็เลยย้ายให้ไปอยู่ในจังหวัดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะย้ายเข้ามาประจำอยู่ที่กองบัตรประชาชน (กรุงเทพฯ) รับผิดชอบเรื่องฟิล์ม กล้องถ่ายภาพ น้ำยา และพัสดุต่างๆ ที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพ คอยแก้ปัญหาให้กับช่างภาพทั่วประเทศ อย่างจังหวัดนี้แจ้งมาว่าสีไม่สวย ภาพมืด เราก็ขอฟิล์มของเขามาดูแล้วสอบถามถึงสภาพการทำงานว่าเป็นอย่างไร จากนั้นนำมาวิเคราะห์แล้วให้คำแนะนำไปตามลักษณะปัญหา”

“ปัญหาส่วนใหญ่ในสมัยนั้นมีอะไรบ้างครับ” เราสงสัย…

“ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องความเข้าใจครับ เพราะเจ้าหน้าที่พวกนั้นเขาไม่ได้เรียนมาโดยตรงอย่างเรา ปัญหาส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องปริมาณแล้วไม่พอดี เขายังไม่เข้าใจว่าแสงมีส่วนสำคัญกับการถ่ายภาพอย่างไร บางคนก็เปิดช่องรับแสงกว้างเสียจนภาพมันโอเวอร์หรือแคบจนภาพมืดเกินไป ซึ่งปัญหามันอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้าไปทำการอบรมให้ ซึ่งคนที่มาอบรมอาจจะมีจำนวนมากเกินไปทำให้เขาไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ หรือไม่กล้าสอบถามในสิ่งที่ยังสงสัยอยู่ อย่างตอนอบรมเราบอกเขาไปว่า ควรใช้ช่องรับแสงเท่านี้ ความเร็วชัตเตอร์เท่านี้นะ พอไปอยู่ในสถานการณ์ที่ทำงานจริงๆ สภาพแสงอาจมืดกว่า ซึ่งถ้าเขาเข้าใจเรื่องแสงตั้งแต่ต้นเขาอาจใช้วิธีลดความเร็วชัตเตอร์ลงเพื่อให้ฟิล์มรับแสงได้มากขึ้น แต่พอเขาไม่เข้าใจ เราเคยสั่งให้เปิดเท่าไร เขาก็เปิดเท่านั้น ปัญหามันเลยเกิดอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมภาพถึงมืดไป-สว่างไป”

หลังจากทำงานต่ออีก 6 เดือน เค้าลางจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญของ ‘คุณน้อม’ ก็ปรากฏเด่นชัดขึ้น เมื่อทางสำนักพระราชวังต้องการคนเพื่อเข้าไปทำหน้าที่.. เปลี่ยนงานไหม มีงานตำรวจกับงานในวังจะเลือกอย่างไหน ถ้าอยากเป็นตำรวจก็ไปอยู่ที่กองพิสูจน์หลักฐาน จริงๆ แล้วอาชีพตำรวจที่ผมเคยคิดอยากจะเป็นตั้งแต่ตอนเรียนจบใหม่ๆ แล้วนะ แต่มาคิดได้ว่าเราไม่ได้เรียนสายตรงอย่างพวกนายร้อยโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้ามันคงมีน้อยกว่า ซึ่งถ้าตอนนั้นตัดสินจะไป ก็คงได้ไปอยู่ตามกองพิสูจน์หลักฐาน ค่อยถ่ายภาพหลักฐานต่างๆ ทางคดีอะไรพวกนั้น”

nom-5

“ทำไมท่านอาจารย์พูนท่านถึงได้โทรหา ‘คุณน้อม’ ครับ” เราถามคำถามสำคัญที่ทุกคนอยากรู้..

“ผมเป็นลูกศิษย์ของแกมาตั้งแต่ตอนเรียนที่เทคนิคกรุงเทพฯ แล้ว เป็นคู่รักคูแค้นกับแกเลยแหละ (หัวเราะ) อาจารย์แกโทรมาบอกว่ามีงานในวังคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องการช่างภาพที่มีความรู้เรื่องการถ่ายภาพโดยตรง แล้วตอนนั้นมีรุ่นพี่ของผมคนหนึ่งเขาทำหน้าที่นั้นอยู่ก่อนแล้วและเขากำลังจะลาออก ‘คุณอาณัติ บุคนาค’ ซึ่งเป็นหัวหน้าช่างภาพส่วนพระองค์ (คนแรก) ในขณะนั้นก็เลยโทรหาอาจารย์พูนว่าช่วยจัดการหาเด็กที่มีความสามารถพอควรและเหมาะสมที่จะเข้าไปทำหน้าที่นี้อยู่ในวังให้ที อาจารย์แกก็เลยกรุณาโทรหาผม ได้ฟังครั้งแรกนั้นผมบอกอาจารย์ไปว่าผมก็สนใจอยากเข้าไปอยู่เหมือนกันนะครับ แต่ผมไม่กล้า และไม่เป็นเรื่องในรั้วในวังเลยสักอย่าง อาจารย์แกก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก อย่าง ‘น้อม’ น่ะทำได้อยู่แล้ว ไม่ต้องกลัว ถ้าสนใจก็ให้มาหาและเอาจดหมายฝากจากแกไป”

“ถ้ามองย้อนกลับไปจากตอนนี้ คิดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้อาจารย์พูนเลือก ‘คุณน้อม’ ครับ”

“ท่านก็คงพิจารณาจากหลายๆ คนนะครับไม่ใช่ผมคนเดียว แต่คงเห็นแววตั้งแต่เรียนหนังสือ คือจริงๆ แล้วผมเป็นคนรั้น ขี้เกียจหน่ะก็พูดเถอะ ส่งงานแกบ้างไม่ส่งบ้าง แต่ผมมั่นใจว่างานของผมที่ส่งทุกครั้งมันออกมาดีนะ ได้เกรด A อยู่เรื่อย แต่พอทำงานแล้วก็ไม่เป็นอย่างนั้นแล้วครับ มีความรับผิดชอบมากขึ้น ตอนที่อาจารย์พูนโทรไปปรึกษาเรื่องนี้กับอาจารย์รัตน์ อาจารย์แกยังกรุณาชมว่าผมทำงานดีมีความรับผิดชอบ

“ก่อนเข้าไปทำงานต้องมีการสอบเข้าเหมือนหน่วยงานอื่นๆ หรือเปล่าครับ”

“ไม่มีนะ ไปถึงผมก็เข้าไปหาคุณอาณัติ ท่านก็ถามโน่นถามนี่ และก็ดูท่วงทีของผมแล้วก็บอกว่าให้ทำงานได้เลย แต่ผมก็ขอผลัดแกก่อนนะ ตอนนั้นยังไม่อยากเข้าไปทำเลย คือใจมันยังไม่พร้อมหน่ะครับ มันเร็วเกินไป เรื่องงานผมคิดว่าผมทำได้นะ แต่เรื่องที่จะต้องไปถวายงานกับพระองค์ท่านรู้สึกว่ายังประหม่ายังกลัวอยู่ เราเป็นคนข้างนอกธรรมดาที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย มันเหมือนเริ่มจากศูนย์ แล้วอยู่ๆ จะเข้าไปอยู่ในวังเลยก็ต้องขอทำใจก่อน ขอศึกษาสิ่งต่างๆ ที่เราควรจะต้องรู้ก่อนสักหนึ่งเดือน”
    งานในหน้าที่ส่วนช่างภาพฯ ช่วงแรกไม่ได้สร้างความหนักใจให้เขามากนักเพราะเป็นงานที่คุ้นเคยและอยู่ในความสามารถอยู่แล้ว อย่างงานในห้องมืด งานล้าง อัดขยายภาพ นอกจากนั้นก็เป็นงานฉายพระรูปของทูลกระหม่อมพระองค์ต่างๆ บ้าง

“มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือถวายงานครั้งแรกช่วงไหนครับ”

“เดือนธันวาคม ปี 2508 หลังจากที่ผมเข้าไปทำงานแล้ว 3 เดือน ตอนนั้นจะมีการฉายพระรูปหมู่ของทุกพระองค์ในวันสวนสนาม ผมก็ไปทำหน้าที่ตามปกติกับคุณอาณัติ นั่นเป็นโอกาสที่ได้เข้าเฝ้าทุกพระองค์เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นผมก็ทำงานในห้องมืดอยู่ได้ปีเศษก็รู้สึกว่าเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ยังไม่ค่อยสะดวกนัก ส่วนใหญ่มีไว้เพื่อทำ Contact print อย่างเดียว เพราะก่อนหน้านี้ช่างภาพอีกท่านเขาแพ้น้ำยาเลยเข้าห้องมืดไม่ได้ ตอนนั้นงานสำคัญๆ จึงนำไปให้ที่ ‘ห้องภาพจิตต์ จงมั่งคง’ เป็นผู้ล้างอัด รวมถึงงานฝีพระหัตถ์ทรงถ่ายด้วย แต่ผมเป็นคนที่ชอบทำงานในห้องมืด”

“แล้วมีโอกาสแสดงฝีมือด้านการล้างอัดภาพในห้องมืดในตอนไหนครับ” เราเริ่มสนใจและสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะกำลังก่อตัวขึ้น

“รู้สึกว่าจะเป็นช่วงงานกาชาด คือเมื่อก่อนส่วนช่างภาพฯ จะต้องเป็นผู้เลือกภาพเพื่อที่จะนำไปจำหน่ายในงานกาชาด ซึ่งก็จะเป็นพระบรมมฉายาลักษณ์ของแต่ละพระองค์ที่ทำเป็นโปสการ์ดบ้าง อัดขยาย 5×7  บ้าง  8×10  บ้าง ซึ่งก็มักจะขายดีทุกๆ ปี ตอนหลังผมเข้าไปก็เลยเสนอว่าเราน่าจะลองทำเองดูบ้างจากที่เมื่อก่อนเคยส่งให้แต่ที่ ‘ห้องภาพจิตต์ จงมั่งคง’ อย่างเดียว เพราะเมื่อก่อนตอนอยู่มหาดไทยผมก็เคยล้างภาพครั้งละเป็นร้อยๆ ใบอยู่แล้ว เนื่องจากงานที่นั่นมันเยอะมาก มีรูปเป็นหมื่นที่ต้องอัดล้าง เลยคิดว่ามันก็ไม่น่าจะใช่เรื่องยากอะไร ผมใช้วิธีพรินท์ภาพใส่กล่องไว้ กล่องละร้อยรูป จากนั้นก็หาคนมาประจำตามถาดน้ำยาต่างๆ คนนี้อยู่ Fix คนนี้อยู่ Develop แล้วก็บอกวิธีทำให้เขาโดยให้ทำการล้างครั้งละ 50 ภาพ เพื่อความรวดเร็ว ตอนนั้นคืนๆ หนึ่งเราช่วยกันอดขยายได้ถึง 5,000-6,000 ใบเลยนะ

“ใช้อุปกรณ์เดิมเท่าที่มีอยู่แค่นั้นหรือครับ”

“ใช่ แต่ผมก็หาอุปกรณ์อื่นๆ ที่น่าจะใช้การได้มาประยุกต์ด้วยนะ เพื่อให้มันล้างได้คราวละมากๆ อย่างกะละมังซักผ้านั่นผมก็เอามาแทนถาดน้ำยา ให้คนทำใส่ถุงมือเอาภาพแกว่งๆ เข้าประเดี๋ยวก็ใช้ได้เหมือนกัน อาทิตย์หนึ่งทำได้เป็นหมื่นๆ รูป”

นั่นอาจนับเป็นเหตุการณ์เล็กๆ สำหรับใครบางคน หากแต่สำหรับงานในส่วนงานช่างภาพฯ เหตุการณ์เล็กที่ว่าครั้งนั้นได้ส่งผลให้มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น

“หลังจากนั้นผู้ใหญ่ก็เห็นว่างานพวกนี้เราสามารถทำเองได้ก็เลยมีการปรับปรุงห้องมืดครั้งใหญ่เพื่อให้ได้มาตรฐาน ผมเลยเสนอให้จัดหาอุปกรณ์บางชิ้นใหม่ อย่างเครื่องอัดขยายภาพขาว-ดำที่มีคุณภาพดีขึ้น หลังจากทำไปได้อีกสักพักจึงไดทูลขอพระบรมราชานุญาตซื้อเครื่องอัดขยายภาพสีมาอีก 1 เครื่อง เพราะเราเห็นว่าบางทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นท่านทรงถ่ายรูปส่วนพระองค์มา เราก็ไม่อยากให้ภาพฝีพระหัตถ์เล็ดลอดออกไปให้บุคคลภายนอกเห็น ก็เลยคิดกันว่าทางส่วนช่างภาพฯ น่าจะเป็นผู้ทำถวายเองจะดีกว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2512 ส่วนช่างภาพฯ ก็เลยเป็นผู้ทำการล้างอัดภาพถวายเป็นส่วนใหญ่
nom-4

“คุณน้อม.. มีโอกาสตามเสด็จเพื่อถ่ายภาพพระราชกรณียกิจตั้งแต่ช่วงไหนครับ”

“ประมาณปี พ.ศ. 2509 ครับ เพราะเริ่มมีโครงการพระราชดำริในการช่วยเหลือเกษตรกรด้านต่างๆ ที่แรกรู้สึกจะเป็นโครงการ ‘หุบกะพง’ เป็นโครงการจัดพื้นที่ให้ราษฎรมีที่ทำมาหากิน จากนั้น พ.ศ. 2510 จึงไปเริ่มโครงการที่เชียงใหม่ โดยให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นแล้วหันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทน นับจากนั้นก็มีโอกาสตามเสด็จไปถ่ายพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านตลอดมา..

“ภาพที่ถ่ายไว้ตอนตามเสด็จไปตามที่ต่างๆ ต้องนำถวายทุกครั้งหรือไม่ครับ”

“ไม่ครับ แล้วแต่บางงานที่พระองค์ท่านจะทรงเลือกทอดพระเนตรเท่านั้นเอง งานส่วนใหญ่ส่วนช่างภาพฯ จะเป็นผู้รักษาเก็บไว้ ซึ่งก็จะมีการจดบันทึกและทำรหัสเอาไว้ ว่าถ่ายเมื่อวัน เดือน ปี อะไร อย่างพระราชกรณียกิจไหนที่เราเป็นผู้ไปถ่ายและเห็นว่าควรเผยแพร่เราก็จะทำการจดบันทึกตามรหัสของฟิล์มเราไว้ และให้เจ้าหน้าที่สารบัญเป็นผู้จัดเตรียมเพื่อรอพระราชทานแก่บรรดาสื่อมวลชนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพพระองค์ท่านกำลังทรงพระราชทานสิ่งของต่างๆ แก่ราษฎร หรือทรงปลูกต้นไม้เป็นต้น”

“เวลาทรงงาน พระองค์ท่านเคยมีรับสั่งบ้างไหมว่าให้ถ่ายลักษณะนั้น ลักษณะนี้”

“ทรงมีรับสั่งบ้างเหมือนกันว่าให้ถ่ายสถานที่ใกล้เคียงบริเวณที่เสด็จไว้ด้วย หรือถ่ายแขกที่ตามเสด็จว่ามีใครบ้าง อย่าถ่ายมุ่งแต่พระองค์ท่านเพียงอย่างเดียว ให้ถ่ายเหตุการณ์ทั่วๆ ไปประกอบไว้ด้วย”

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงใช้กล้องประเภทไหนบ้างครับ”

“เริ่มแรกพระองค์ท่านทรงใช้กล้อง Contax แล้วก็ทรงเปลี่ยนมาใช้กล้อง Canon เพราะน้ำหนักเบา โดยเฉพาะรุ่นหลังๆ อย่างตระกูล EOS แต่จริงๆ แล้วพระองค์ท่านก็ทรงมีเกือบทุกยี่ห้อนั่นแหละครับ  มีคนนำมาถวายท่านเยอะ และที่ทรงซื้อเองก็มี”

“อย่างในกรณีกล้องมีปัญหาหรือทรงสังสัยเรื่องการถ่ายภาพ พระองค์ท่านทรงหาข้อมูลหรือความกระจ่างนั้นอย่างไร..”

“เรื่องกล้องส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหานะครับ บางโอกาสก็ทรงถามผมบ้างและจากผู้รู้ท่านอื่นบ้าง พระองค์ท่านไม่ได้ทรงคิดว่าเป็นกษัตริย์และจะตรัสถามใครไม่ได้”

“ปกติพระองค์ท่านไม่ได้ทรงถ่ายภาพพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์อย่างเดียวใช่ไหมครับ เพราะเคยเห็นภาพฝีพระหัตถ์ในลักษณะอื่นๆ อยู่บ้างเหมือนกัน”

“ครับ อย่างเวลาทรงสำราญ พระองค์ท่านก็จะถ่ายภาพสนุกๆ ถ่ายภาพที่จะต้องใช้เทคนิคพลิกแพลงบ้าง หรือถ่ายรูปขบขันด้วยเลนส์ 18 มม. บ้าง อย่างแตร หรือทรงถ่ายหน้าคนอูมๆ น่ากลัวๆ บ้าง ซึ่งภาพฝีพระหัตถ์ทรงถ่ายพวกนั้น ทางส่วนช่างภาพฯ จะเป็นผู้ล้างอัดถวาย และเก็บรักษาฟิล์มนั้นไว้ในแฟ้มส่วนพระองค์”

ปัจจุบันหน่วยงานส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ขึ้นอยู่กับกองงานส่วนพระองค์ มีเจ้าหน้าที่ถวายงานในส่วนนี้ 18 ท่าน โดยได้มีการจัดแยกเจ้าหน้าที่ช่างภาพไว้เพื่อตามเสด็จในแต่ละพระองค์ เพื่อให้ทุกคนมีความรับผิดชอบมากและลดความผิดพลาดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดย ‘คุณน้อม’ ยังรับหน้าที่ตามเสด็จถ่ายพระราชกรณียกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ว่าปัจจุบัน ‘คุณน้อม’ จะเกษียณแล้วแต่ก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ต่ออายุราชการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้ต่อไป

“อาจเป็นโบนัสกระมังครับ เพราะได้ทำงานถวายพระองค์ท่านมาอย่างยาวนาน พระองค์ก็เลยยังทรงพระเมตตาให้ทำงานถวายต่อไป ปัจจุบันผมยังรับผิดชอบงานตามปกติ ยังต้องเซ็นหนังสืออยู่เหมือนเดิม อายุราชการก็ต่อเนื่อง ยังเป็นราชการอยู่ 100% หากทำผิดพลาดก็มีสิทธิ์ไล่ออกเหมือนกัน แล้วบำเหน็จบำนาญที่สะสมมา 40 ปี ก็สูญเหมือนกัน”

“ตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่มีโอกาสเข้ามาทำงานถวายในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ มีความประทับใจอะไรบ้างครับ”

“ผมรู้สึกประทับใจตลอดเวลาเลยนะที่ชีวิตนี้มีโอกกาสได้ทำงานถวายพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด ประทับใจในทุกเรื่องที่ได้ทำจริงๆ มีความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง อย่างเมื่อตอนปี พ.ศ. 2527 ที่ทรงเปิดห้องแล็บส่วนพระองค์ที่สถานีวิทยุ อส. ผมก็ได้มีโอกาสได้เข้าไปถวายคำแนะนำพระองค์ท่าน ทำหน้าที่ดูแลเครื่องมือส่วนพระองค์ เนื่องจากช่วงนั้นพระองค์ท่านทรงต้องการศึกษาด้านการถ่ายภาพอย่างจริงจัง เพื่อให้รู้ขั้นตอนวิธีการอย่างถ่องแท้”

“ช่วงนั้นพระองค์ท่านทรงเสด็จมาที่ห้องแล็บส่วนพระองค์บ่อยแค่ไหนครับ”

“เกือบทุกวันนะครับ ในช่วง 2 ปีนั้น ตั้งแต่สองทุ่มถึงประมาณสี่ทุ่ม ใน 2 ปีนั้น ผมไม่ได้ไปไหนเลย ถวายงานพระองค์ท่านทุกเย็น ยกเว้นเย็นวันศุกร์กับวันที่ท่านทรงดนตรี วันปกติทั่วไปหนึ่งทุ่มผมก็ต้องมาเซ็ทเครื่องมือเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดทั่วไปรอถวาย”

“คุณน้อม.. เคยคิดบ้างไหมครับว่า ตัวเองมีโอกาสมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร”

“เรื่องนั้นผมคิดอยู่เสมอ เวลาที่ได้พักผ่อนอยู่ตามลำพัง”

“แล้วคำตอบนั้นมันคืออะไรครับ”

“ผมคิดว่าเพราะจากการที่เราทำดีและมีความตั้งใจในการทำงานหน้าที่อย่างซื้อสัตย์สุจริตตอด 40 ปี ที่ผ่านมานั่นแหละครับ ถึงได้ส่งผลมาถึงทุกวันนี้ เพราะโอกาสที่จะมีตำแหน่งสูงขึ้นในหน้าที่นี้ เป็นตำแหน่งที่ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานลงว่าเรามีความเหมาะสมหรือมีความพร้อมหรือเปล่า มีความสามารถเพียงพอไหม มันอยู่ตรงจุดนั้นด้วย เพราะเราเป็นคนธรรมดาจากบ้านนอก แต่โชคดีที่ว่าพระองค์ท่านทรงเป็นนักถ่ายภาพด้วย เราจึงมีโอกาสได้ถวายงานอย่างใกล้ชิด ท่านรับสั่งอะไรก็ทำได้ ท่านให้ทำอะไรเราก็ทำถวายได้เกือบทุกเรื่อง”

“เคยมีงานชิ้นยากๆ ที่พระองค์ถ่ายทรงรับสั่งให้ทำถวายบ้างไหมครับ”

“มีอยู่หลายชิ้นครับ อาทิ รูปครอปส่วนภาพกองเพลิง ‘ไฟสุมขอน’  คือสมัยก่อนพระองค์ท่านเสด็จแปรพระราชฐานที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศรู้สึกว่าจะเป็นดอยหมู ตอนนั้นอากาศกลางคืนมันหนาว พวกข้าราชบริพารมหาดเล็กก็เอาฟืนมาเผาเพื่อผิงไฟกัน พระองค์ท่านทรงสะพายกล้องแล้วก็ทรงถ่ายกองเพลิงนั้นไว้ คือตอนนั้นพระองค์ท่านจะทรงถ่ายด้วยเลนส์นอร์มอล ภาพที่ได้ก็เลยอาจหลวมไปบ้าง ผมก็ทำการอัดภาพนั่นเต็มส่วนถวายไป พระองค์ท่านทรงขีดครอปส่วนกลับมาให้ว่าให้ขยายประมาณ 1 ใน 4 ส่วน มันก็ครึ่งของครึ่งเฟรมนะครับแล้วต้องขยาย ผมต้องตั้งเครื่องขยายสูงขึ้นไปถึงเพดานห้องเลย แล้วเป็นภาพสีเสียด้วย เราต้องต่อโต๊ะขึ้นไป มันทำงานลำบากมาก ถ้าขยายเต็มเฟรมภาพนั้นมันต้องใหญ่เกือบ 50 นิ้ว แต่เราทำได้เพียง 24 นิ้ว สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องอัดขยายสีสมบูรณ์แบบก็ต้องพยายามดัดแปลงหาวิธีแก้ไขให้ได้”

“จำนวนฟิล์มนับตั้งแต่ที่เริ่มมีส่วนช่างภาพส่วนพระองค์นี้ขึ้นมาเยอะขนาดไหนครับ”

“เมื่อก่อนนี้จะค่อนข้างเยอะนะครับ ปีละประมาณ 3,000 ม้วน แต่ ปัจจุบันนี้ลดลงมาเหลืออยู่ปีละ 1,600 ม้วน อันนี้เป็นตัวเลขรวมของทุกพระองค์นะครับ และเป็นฟิล์ม 135 มม. ห้องที่ใช้เก็บก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร เพราะส่วนมากเราเน้นเก็บฟิล์มไม่ค่อยได้เก็บภาพ ภาพพรินท์ส่วนใหญ่จะจัดถวายเลย หรือไม่ก็พระราชทานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ร้องขอมา”

“ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านยังทรงกล้องอยู่บ้างหรือเปล่าครับ”

“พระองค์ท่านก็ยังทรงถ่ายอยู่นะครับ แต่จะเป็นภาพประเภทธรรมชาติ พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก บางทีเป็นภาพก้อนเมฆบ้าง พระจันทร์บ้าง อย่างช่วงนี้ทรงประทับอยู่ที่หัวหิน พระองค์ท่านก็จะทรงถ่ายท้องฟ้ายามเย็นสีแดงๆ ลักษณะนั้น แต่พระองค์ท่านทรงถ่ายเกือบทุกแนวนะครับ แนวชีวิตก็มี แนวแคนดิดก็มี ภาพธรรมชาติก็มี ในระยะหลังพระองค์ท่านทรงใช้กล้องดิจิทัลบ่อยขึ้นเพราะว่ามีความสะดวกกว่า มีน้ำหนักเบา และสามารถถ่ายได้ครั้งละมากๆ เวลาท่านทรงพระสำราญก็จะทรงกล้องถ่ายนกบ้าง ถ่ายสุนัขบ้าง ถ่ายนักวิ่งในเวลาตอนเย็นๆ แต่ถ้างานสำคัญๆ พระองค์ท่านก็จะทรงใช้ฟิล์ม”

“ อย่างภาพที่ทรงฉลองพระองค์เต็มพระยศนั่นทางส่วนช่างภาพฯ เป็นผู้ถ่ายด้วยหรือเปล่าครับ”

“ครับ ผมเป็นคนจัดการเองทุกอย่าง โดยปกติจะถ่ายทุกวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระองค์ท่านจะทรงฉายพระรูปทุกปี และเป็นหน้าที่ของเราที่ถึงเวลาก็จะต้องเตรียมงานรอถวายไว้เลย โดยพระองค์ท่านจะทรงระบุสถานที่เอาไว้ว่าปีนี้จะทรงฉายพระรูปตรงนั้นตรงนี้ อย่างปกติทุกวันที่ 5  พระองค์ท่านจะทรงเสด็จฉายพระรูปประมาณ 11 โมงครึ่ง  ผมก็ไปถึงประมาณ 9 โมงครึ่ง ไปเตรียมงานล่วงหน้าประมาณ 2 ชม.”

“เรื่องการจัดท่าทางก่อนฉายพระรูปหรือการวางพระองค์ว่าควรหันพระพักตร์ไปทางทิศไหนหรือวางพระหัตถ์ไว้ตรงไหนนั้น คุณน้อมเป็นผู้ถวายคำแนะนำด้วยหรือเปล่าครับ

“อ๋อ ไม่หรอกครับ พระองค์ท่านจะทรงโพสต์ให้เราเองว่าควรจะวางพระองค์อย่างไร พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วสมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านทรงเข้าพระทัย แต่ถ้าเป็นการฉายพระรูปหมู่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านจะทรงช่วยด้วยว่าพระองค์ไหนควรจะประทับอยู่ตรงไหน แต่ถ้าก่อนฉายพระรูปเรายังเห็นว่าทรงประทับห่างกันเราก็สามารถทูลประทานชิดกันได้”

“ไม่ทราบว่า ‘คุณน้อม’ ใช้เวลากี่ปีครับกว่าจะสามารถใช้คำราชาศัพท์จนคล่อง”

“ประมาณ 3 ปีครับ แต่บางครั้งมีพลั้งเผลอไปบ้าง ก็ต้องพยายามแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะการถวายงานต้องใช้คำราชาศัพท์เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระองค์ท่านทุกครั้ง”

“เคยได้ยิน ‘อาจารย์จิตต์ จงมั่นคง’ เล่าให้ฟังว่าเวลาที่พระบาทสมเด็จเพราะเจ้าอยู่หัวทรงกล้อง พระองค์ท่านมักจะถ่ายภาพเพียงแค่ครั้งเดียวหรือช็อตเดียว จะไม่ค่อยทรงถ่ายภาพเดียวกันซ้ำๆ หลายช็อตอย่างนักถ่ายภาพทั่วไป”

“ใช่ครับ  อย่างบางครั้งเวลาฉายพระรูปพระองค์ท่าน ผมเผลอไปกดซ้ำภาพเดียว 2 ครั้ง  หากพระองค์ท่านทรงได้ยินจะทรงยกพระหัตถ์แล้วหยอกเราว่า ไม่เอา ให้ถ่ายเพียง แค่ 1 ครั้ง ไม่ต้องถ่ายเผื่อ แม้แต่ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านเอง ก็จะทรงถ่ายเพียงครั้งเดียวเช่นกัน จะไม่ทรงถ่ายซ้ำ เหมือนอย่างนักถ่ายภาพทั่วไป”

“ปกติอุปกรณ์ถ่ายภาพส่วนพระองค์ต่างๆ พระองค์ท่านทรงเป็นผู้ตรวจเช็คดูแลเองหรือเปล่าครับ”

“ ทรงดูแลด้วยพระองค์เองครับ นอกจากกล้องไหนถึงเวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่ ท่านก็จะทรงประทานลงมาให้เราดำเนินการครับ ดังนั้นเวลาตามเสด็จที่ไหนผมก็ต้องเตรียมแบตเตอรี่สำรองเอาไว้เสมอ และต้องเช็คก่อนว่าวันนี้ท่านจะทรงกล้องดิจิทัลหรือกล้องฟิล์ม เราจะได้เตรียมแบตเตอรี่ถูก”

“ตลอดเวลาที่ได้ถวายงานแก่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงเคยพระราชทานข้อคิดหรือให้คำแนะนำแก่ ‘คุณน้อม’ หรือช่างภาพในส่วนงานช่างภาพฯ บ้างไหมครับ”

“มีครับ พระองค์ท่านทรงแนะนำเราว่า อย่าอยู่เฉยๆ พยายามศึกษาหาความรู้จากตำราหลายๆ ภาษา หลายๆ แหล่งนำมารวมกัน อย่างของอังกฤษบ้าง ฝรั่งเศสบ้าง ไทยบ้าง ถ้าแนวทางวิธีการมันตรงกันแสดงว่าวิธีการนั้นใช้ได้”

“ถึงตอนนี้ ‘คุณน้อม’ คิดที่จะเกษียณตัวเองเพื่อพักผ่อนจริงๆ จังๆ สักเมื่อไหร่ครับ”

“เคยคิดอยู่เหมือนกันนะว่า อยากจะไปท่องเที่ยวบ้าง ไปพักผ่อนบ้าง ที่ผ่านมาเวลาไปดูงานกับหมู่คณะมันยังไม่รู้สึกอิ่ม ไม่เหมือนกับการไปตามลำพัง แต่ดูแล้วคิดว่าคงยังไม่ใช่ตอนนี้ อาจเป็นเพราะยังไม่มีคนที่จะขึ้นมาแทนในหน้าที่นี้ เพราะเราถวายงานพระองค์ท่านมาถึง 40 ปี เข้ามาถวายงานตั้งแต่สมัยแรกๆ ไปลุยกับพระองค์ท่านทุกที่ ตามเสด็จไปทั่วหัวระแหง จึงอาจเป็นความเคยชิน ไม่ทราบว่าพระองค์ท่านทรงชินหน้าผมด้วยหรือเปล่า อันนี้ไม่ทราบนะ แต่นั่นเป็นกำลังใจ เป็นความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดไม่ได้ และทำให้เรารู้สึกมีแรงทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทต่อไป”

“ในช่วง 20-30 ปี ตอนที่คุณน้อมตามเสด็จพระองค์ท่านไป ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ มีถิ่นทุรกันดารต่างๆ ที่ต้องขึ้นเขาลงห้วยเหน็ดเหนื่อย พระองค์เคยรับสั่งอะไรกับ ‘คุณน้อม’ บ้างไหมครับ”

“บางครั้งเวลาที่พระองค์ท่านทรงเสด็จผ่านขณะเรากำลังถวายงานอยู่ พระองค์ท่านทรงสรวลแล้วตรัสถามว่าเป็นอย่างไรบ้างวันนี้ หิวแย่แล้ว บ่าย 3 โมงแล้ว ยังไม่ได้กินข้าวกันเลยใช่ไหม ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นความปลาบปลื้มที่พระองค์ท่านทรงห่วงใยข้าราชบริพารทุกคนที่ตามเสด็จ”

“จากประสบการณ์กว่า 40 ปี ในการทำงานถ่ายภาพ ‘คุณน้อม’ มีคำแนะนำสำหรับนักถ่ายภาพรุ่นใหม่อย่างไรบ้างไหมครับ”

“ที่สำคัญเลยคือ อย่าไปคิดว่าตนเองเก่งแล้ว บางภาพมันอาจจะฟลุ๊คก็ได้ การถ่ายภาพให้ได้ดีต้องมีพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพ อย่างเรื่องมุมมองหรือการสร้างเรื่องราวให้กับภาพถ่าย แต่ผมก็ยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่เขาเก่งๆ กันเร็วนะครับ ผมถึงไม่ดูถูกคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ก็ไม่ควรดูถูกคนรุ่นเก่าด้วยเช่นกัน..”

nom-6
ห้วงเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงในการสนทนากับชายสามัญชนธรรมดาผู้ซึ่งชะตาลิขิตให้เขามีโอกาสเข้าไปถวายงานและรับใช้ใกล้ชิดองค์เหนือหัวมหาชีวิตของคนไทยทั้งปวง ประโยคสนทนาที่พรั่งพรูออกจากความทรงจำในการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทตลอดห้วง 40 ปีที่ผ่านมา นับเป็นเพียงเศษเสี้ยวแห่งความปลาบปลื้มปีติหาที่สุดมิได้ของชายผู้เป็นช่างภาพสามัญชนธรรมดาผู้หนึ่ง ชายผู้ใช้สมองและสองตาของเขาบันทึกเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์เผยแพร่สู่สายตาพสกนิกรทั่วผืนแผ่นดินไทยไปชั่วนิรันดร์

 

นิตยสารโฟโต้อินโฟ ฉบับเดือนธันวาคม 2548