เวลาเห็นแสงสะท้อนจากน้ำเมื่อใด มักจะทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น วูบวาบ วิ้ง..วิ้ง สนุกสนานไปกับเอฟเฟคของแสงที่ปรากฏทุกครั้ง และทุกครั้งก็จะพยายามเก็บความรู้สึกนี้ ไว้ในเมโมรี่ส่วนตัวเสมอ สำหรับนักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์ถ่ายภาพมานาน คงหามุมแบบนี้ได้ไม่ยากแต่มือใหม่ ที่กำลังเริ่มจับกล้อง เพิ่งหัดถ่ายภาพ อาจไม่รู้จะหามุมเอฟเฟคลักษณะนี้ ได้จากส่วนไหนในธรรมชาติอันกว้างใหญ่
ภาพบนสุด : เห็ดแชมเปญ ด้วยแสงธรรมชาติกับเอฟเฟคของน้ำที่สะท้อนกับดวงอาทิตย์ หลังฝนตกใหม่ๆ ได้แสงเอฟเฟคค่อนข้างแรง เนื่องจากเป็นจังหวะที่ ดวงอาทิตย์ หลุดออกจากเมฆฝนพอดี จัดคอมโพสต์ยังไม่ค่อยลงตัวนัก แต่เห็นเอฟเฟควิ้งๆ กำลังเปล่งประกายได้ที่ จึงรีบกดชัตเตอร์เก็บไว้ก่อนเปรียบเทียบมุมเดียวกัน แต่ช่วงเวลาต่างกันเล็กน้อย
ภาพบน : ภาพแรกดวงอาทิตย์กำลังซ่อนตัวกลับไปหลังเมฆฝน ภาพถัดมา รอจังหวะดวงอาทิตย์หลุดออกมาจากเมฆฝนอีกครั้ง เนื่องจากเห็ดมีก้านค่อนข้างตรง ถ้าวางมุมภาพแบบตรงๆ ภาพก็จะดูแข็ง จึงขยับมุมจัดคอมโพสต์ให้เอียงเล็กน้อย ขณะกำลังจัดคอมโพสต์ยังเห็นแสงวิ้งๆอยู่ แต่พอล็อกคอมโพสต์ได้ กำลังจะกดชัตเตอร์แดดก็หายวับไป ภาพแรกจึงเห็นเอฟเฟคเป็นเงารางๆ แต่ก็ยังไม่ถอดใจง่ายๆ รอและรอ ซึ่งก็ถึอว่าฟ้าท่านเห็นใจ สาดแสงลงมาให้อีกครั้ง
หลายครั้งที่ออกทริปพาน้องๆ ไปถ่ายภาพ จะได้ยินน้องที่เริ่มหัดถ่ายภาพ พูดอยู่บ่อยๆว่า “ พี่..หนูอยากถ่ายแสง วิ้ง!..วิ้ง! “ เวลาได้ยินมักจะแอบอมยิ้มเพราะนึกถึงตัวเอง…อารมณ์เดียวกับพี่เมื่อสมัย เริ่มหัดจับกล้องใหม่ๆเลย น้องจ๋าาา!!!
โดยหลักการแล้วแสงเอฟเฟคนี้ ถ้าสภาพธรรมชาติไม่อำนวย ก็สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่ที่จะกล่าวถึงนี้เป็นการถ่ายจากธรรมชาติ ซึ่งเหมาะสำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่ทั่วไป ไม่ต้องมีเทคนิคหรือใช้อุปกรณ์เสริมยุ่งยากมากมาย สำคัญคือหามุมแบบนี้ให้เจอ รู้ว่าเมื่อใดที่จะมีจังหวะมุมแสงเอฟเฟคลักษณะนี้
ความสมบูรณ์ของผืนป่าที่อุดมไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด เห็ดสีสันสดใส ดอกไม้ลานหิน หาชมได้ไม่ยากในช่วงฤดูฝน แต่สำหรับการเก็บภาพ อาจจะต้องทิ้งระยะ รอให้พืชพรรณเหล่านี้ งอกงามได้สักระยะหนึ่งก่อน ปล่อยให้ฝนลงต่อเนื่องประมาณเดือนสองเดือน จึงจะเหมาะกับการเก็บภาพ สำหรับเห็ดป่าสีสวยงามแปลกตา มักจะขึ้นอยู่ตามขอนไม้ผุๆ หาชมได้ตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ หรือบริเวณทางเดินไปน้ำตกต่างๆ อาทิเช่น น้ำตกเจ็ดคต น้ำตกเขาชะเมา น้ำตกคลองปลาก้าง น้ำตกปางสีดา หรือที่เขาใหญ่ก็มีให้ชมได้ในหลายๆ จุด
สำหรับการเก็บภาพเห็ดให้ดูโปร่งใสมีมิติ ด้วยแสงธรรมชาติ เริ่มแรกต้องหามุม เลือกซับเจคที่โดนแสงแบบรำไร แสงที่ผ่านพุ่มไม้ลงมาเหมาะกับการถ่ายลักษณะนี้ มากกว่าแสงแดดตรงๆ แรงๆ หลังจากได้ซับเจคที่ถูกใจแล้ว ให้สังเกตแสงที่ถ้วยเห็ดก่อนเก็บภาพ มุมที่ทำให้เห็ดดูโปร่งแสงมากสุดก็คือมุมย้อนแสง (ช่วงเวลาที่ถ่ายง่าย คือ เช้าหรือบ่ายที่แสงเฉียงเล็กน้อย สังเกตดวงอาทิตย์จะอยู่ด้านตรงข้าม กับตำแหน่งที่เราเก็บภาพ) อาจจะเบี่ยงขวาหรือซ้ายบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพแสงในช่วงเวลานั้น ว่ามุมไหนจะได้ภาพสวยกว่ากัน ได้เห็ดโปร่งแสงแล้ว ฉากหลังวิ้งๆ ล่ะ ได้มาจากไหน..? เนื่องจากเป็นการถ่ายด้วยแสงธรรมชาติ แสงวิ้งๆ จึงมาจากธรรมชาติเช่นกัน
แสงเอฟเฟควิ้งๆ นี้ ภาษาทางการถ่ายภาพเรียกว่า โบเก้ แต่ขออนุญาตเรียกตามน้องๆ ที่ชื่นชอบนะคะ วิ้งๆ ที่ว่านี้เกิดจากการเอาท์โฟกัส ของแสง เช่นแสงสะท้อนของน้ำ แสงของดวงไฟ เทียน ไฟฉาย หรือแม้แต่ช่องว่าง ระหว่างใบไม้กับท้องฟ้า ก็สามารถทำให้เกิดเอฟเฟคนี้ได้ แต่ที่จะกล่าวนี้จะหมายถึง เอฟเฟควิ้งๆ จากน้ำ เพราะซับเจคที่ถ่ายเป็นเห็ดป่า โดยธรรมาชาติจะขึ้นอยู่ต่ำ ที่สำคัญคือมีรูปทรงคล้ายถ้วยแชมเปญ จึงต้องถ่ายกดมุมกด ลงพื้นเล็กน้อย เพื่อให้เห็นขอบปากด้านบน
เอฟเฟคแสงสะท้อนจากน้ำผสมผสานแต้มสีกับดอกไม้บนลานหิน โฟกัสที่กลางภาพ ปล่อยให้ด้านหน้าและหลังเอาท์โฟกัส ด้วยการเปิดช่องรับแสงกว้างสุด บวกกับการซูมไปใช้ทางยาวสูงสุดของเลนส์ที่ถ่ายขณะนั้น ได้ภาพตามที่ต้องการนำเสนอพอดี ในทางกลับกันเนื่องจากมุมที่จะเก็บภาพนี้ มีก้านดอกไม้ที่ดูรกๆ ปะปนกับต้นหญ้าที่อยู่ในระนาบใกล้เคียงกัน และไม่สามารถหาดอกไม้เด่นๆ ที่แยกตัวทิ้งระยะห่างในมุมนี้ได้ ซึ่งถ้าถ่ายให้ชัดทั้งหมด ภาพจะดูรกระเกะระกะ ที่สำคัญไปจะกวนเอฟเฟควิ้งๆ ที่ต้องการนำเสนอ
หลังฝนตกใหม่ๆ ใบไม้จะมีน้ำเคลือบอยู่ที่ผิว ดังนั้นการจะได้แสงนี้โดยธรรมชาติ ก็อาจพึ่งโชคชะตาหรือดวงเล็กน้อย เนื่องจากสิ่งที่เราต้องการเก็บภาพ หาได้จากธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ดังนั้นช่วงเวลาที่เราถ่ายภาพก็มีโอกาสเจอฝน แต่บางคนไม่ชอบฝนหรือเห็นฝนตั้งเค้ามา ก็เก็บกล้องกลับบ้าน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะพลาดโอกาสงามๆ ของธรรมชาติในช่วงหลังฝนตก
สิ่งสำคัญต้องทำใจรับสภาพความเปียกชื้น เวลาเจอฝนจะได้ไม่หงุดหงิด อารมณ์เสีย เตรียมรับมือ โดยการจัดอุปกรณ์ป้องกันฝนให้พร้อม ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ถ้าฝนตกแบบยืดเยื้อก็ต้องตัดใจ แต่ถ้าเจอฝนแบบตกๆ หยุดๆ แล้วมีแดดออกนั่นคือโอกาส ที่จะได้ถ่ายแสงวิ้งๆ กับซับเจคที่เราหมายตาไว้ หลังฝนตกต้นไม้ใบหญ้าจะชุ่มไปด้วยน้ำ เมื่อแดดออกก็จะเห็นประกายสะท้อนจากหยดน้ำ ส่วนใหญ่เอฟเฟคนี้มักจะอยู่ในมุมย้อนแสง ซึ่งเป็นมุมเดียวกับการถ่ายเห็ดให้โปร่งแสงที่เราเล็งไว้ อาจจะต้องขยับมุมเล็กน้อย เพื่อให้ตรงกับเอฟเฟคที่สะท้อนมาบ้าง การวางกล้องสำหรับถ่ายภาพก็สำคัญ ควรวางกล้องในมุมค่อนข้างต่ำ ถ้าหาซับเจคที่ขึ้นตามขอนไม้ใหญ่ที่สูงจากพื้นดินได้ ก็มีโอกาสเลือกมุมหรือฉากหลังได้มากขึ้น
เปรียบเทียบระยะ ถ้าเลือกมุมที่ซับเจคทิ้งระยะห่างกันได้มากๆ ก็จะเห็นเอฟเฟควิ้งๆ ได้ชัดเจนขึ้น กับอีกภาพที่หยดน้ำอยู่ในระนาบใกล้เคียงกัน ภาพที่ได้ก็จะเห็นเอฟเฟคบ้างแต่ไม่ค่อยชัดเจน
กรณีที่ไม่เจอสภาพธรรมชาติอำนวยตามที่กล่าว ก็สามารถเพิ่มโอกาส โดยการเลียนแบบแสงธรรมชาตินี้ได้ภายใต้หลักการเดียวกัน ด้วยการใช้แสงจากแฟลช ไฟฉาย หรืออุปกรณ์กำเนิดแสงอื่นๆ บวกกับการใช้สเปรย์พ่นน้ำสร้างมันขึ้นมา แต่การใช้อุปกรณ์เสริมจะมีรายละเอียด เรื่องการควบคุมอุปกรณ์ซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น สำหรับมือใหม่แนะนำให้ลองฝึกถ่ายแบบธรรมชาติดูก่อน ถ้าเข้าใจหลักการ และมีความชำนาญเรื่องแสงมากพอ ค่อยหาอุปกรณ์เสริมมาเล่นเพิ่มเติมภายหลัง
เอฟเฟควิ้งๆ กับดอกไม้บนลานหิน มุมแสงแบบนี้สามารถหาได้ไม่ยากในธรรมชาติ เนื่องจากดอกไม้ลานหินจะงอกงามจากความชื้นแฉะ ของน้ำที่ขังอยู่ในช่วงฤดูฝน ดังนั้นช่วงเวลาที่เราเก็บภาพ ตามลานหินมักจะยังมีน้ำตกค้างอยู่ การเก็บภาพให้ได้แสงลักษณะนี้ ควรเป็นช่วงเวลา เช้าหรือเย็น ที่แสงมีลักษณะเฉียง จึงจะเห็นเอฟเฟคนี้ชัดเจน ทิศทางในการเก็บภาพ ต้องอยู่ในตำแหน่งที่ย้อนแสงเช่นกัน ถ้าต้องการเก็บภาพ โดยเน้นแสงเอฟเฟค แนะนำให้ถ่ายด้วยเลนส์ช่วงทางยาวโฟกัสสูงๆ เปิดช่องรับแสงกว้าง เพื่อให้กิ่งก้านของดอกไม้ที่ดูรกระเกะระกะเอาท์โฟกัส ดอกไม้ที่เล็กก็จะเบลอเป็นสีๆ ผสมกับแสงวิ้งๆ ได้อารมณ์แนวชวนฝัน หรือจะเลือกโฟกัสดอกไม้ที่เด่นๆ ดอกเดียว ภาพที่ได้ก็จะคล้ายกับการถ่ายเห็ดกับแสงวิ้งๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความชอบและการนำเสนอ
หยดน้ำกับเอฟเฟคจากหยดน้ำ ภาพลักษณะนี้หาได้จากธรรมชาติหลังฝนตกเช่นกัน เพียงแต่ต้องเป็นคนช่างสังเกตและต้องใจเย็น ค่อยๆ หามุมแสงดีๆ ก่อนที่จะปักหลักตั้งขา เพราะถ้าไม่เลือกมุมให้ดี แค่ขยับขาตั้งกล้องเพียงเล็กน้อย หยดน้ำก็จะหายวับไปกับตา ถ้าสามารถเลือกมุม ที่หยดน้ำทิ้งระยะห่างกันมากๆ ได้ ก็จะเห็นเอฟเฟค ชัดเจนขึ้น เทียบกับอีกภาพที่หยดน้ำอยู่ในระนาบใกล้เคียงกัน จะเห็นเอฟเฟคจากหยดน้ำ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การถ่ายภาพแบบอาศัยแสงธรรมชาติ ถ้าเข้าใจธรรมชาติ และปรากฎการณ์ที่จะเกิดในแต่ละช่วงเวลานั้นแล้ว ถ้าเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ วิเคราะห์แสงเลือกมุมได้เร็ว โอกาสที่ผ่านเข้ามาก็จะไม่ผ่านพ้นไปโดยเปล่าประโยชน์
เรื่อง / ภาพ : ฤทัยรัตน์ พวงแก้ว