SPECIAL ARTICLE

เข้าใกล้สิ่งที่ถ่าย.. เมื่อใช้เลนส์มุมกว้าง.. เพื่อมุมที่แตกต่าง..

องศาการรับภาพของเลนส์มุมกว้าง จะทำให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจเก็บภาพอย่างที่ใจต้องการได้ แต่เมื่อได้ภาพมาแล้วมักจะรู้สึกว่า “ไม่สวยอย่างที่ตาเห็น” โดยเฉพาะมือใหม่ที่ได้เลนส์มาแล้วยังใช้ไม่คุ้นเคย มักจะสนุกกับการเก็บทุกอย่างเข้ามาในช็อตเดียว มุมที่กว้างมากๆ บันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าได้ง่าย แต่การจัดวางหลายสิ่งหลายอย่างให้ภาพดูน่าสนใจนั้นไม่ง่าย ยิ่งถ้ายืนเก็บภาพในระยะไกลโดยไม่ดึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด เข้ามาเป็นจุดเด่น ภาพโดยรวมก็จะดูเวิ้งว้างขาดความน่าสนใจเพราะภาพถ่ายจะมีมิติน้อย ต่างจากการมองด้วยสายตาที่มีประสาทสัมผัสของสมอง ทำให้รับรู้กลิ่นอายของบรรยากาศที่อยู่ตรงหน้าได้มากกว่าในหลายๆ ด้าน ความละเอียดในการแยกแยะ สี แสง การเคลื่อนไหว ความลึก ระยะความใกล้ไกลของสิ่งของและสถานที่

สิ่งสำคัญอีกอย่างของการบันทึกภาพด้วยเลนส์มุมกว้างคือ เปอร์สเปคทีฟของเลนส์จะทำให้ทุกอย่างเล็กและดูไกลกว่าความเป็นจริง วิธีแก้สำหรับการใช้เลนส์มุมกว้างคือ ต้องมองหาจุดสนใจในภาพแล้วเข้าใกล้สิ่งที่เราต้องการนำเสนอให้มากที่สุด แทนที่จะยืนถ่ายจากระยะปกติ ในระดับสายตา เมื่อเข้าใกล้เปอร์สเปคทีฟของเลนส์จะทำให้ได้มุมที่แตกต่าง ภาพดูมีมิติ มีระยะความลึก หรือบางกรณีช่วยลดทอนสิ่งกีดขวาง ที่เราไม่ต้องการได้ด้วย

ภาพดอกไม้โดยทั่วไปสามารถเก็บภาพได้หลากหลาย เลือกเก็บภาพเน้นๆ หน้าชัดหลังเบลอแบบมาโคร หรือถ้าดอกไม้มีลักษณะขึ้นรวมกันมากๆ จะเก็บภาพเป็นทุ่งด้วยการใช้เลนส์ช่วงเทเลฯ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการนำเสนอ แต่ถ้าจะเก็บภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง แนะนำว่าไม่ควรยืนเก็บภาพด้วยระดับสายตาปกติ ภาพตัวอย่างจะเห็นถึงความต่างของภาพที่เข้าไปโฟกัสในระยะใกล้ ทำให้ดอกไม้ดูโดดเด่นท่ามกลางธรรมาชาติที่เป็นหุบเขาสูง ภาพนี้ถ้าดูภาพร้อยเปอร์เซนต์การควบคุมช่วงความชัดทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพแสงน้อยแล้วไม่สามารถเปิดรูรับแสงแคบๆ ได้ เพราะถ่ายโดยไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง เป็นการปีนขึ้นไปเก็บภาพบนไหล่ทาง ซึ่งตอนแรกคิดจะปีนขึ้นไปดูเล่นๆ จึงไม่ได้หยิบขาตั้งกล้องติดขึ้นไปด้วย เมื่อไม่มีขาตั้งจึงเลือกขนาดรูรับแสงแคบมากไม่ได้ เพราะจะได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ค่อนข้างตํ่าเกินไป ซึ่งการเลือกช่วงความความชัดให้ครอบคลุมนี้ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับการนำเสนอมากกว่า บางคนอาจจะต้องการให้ฉากหลังเบลอ เพื่อไม่ให้ส่วนอื่นรบกวนจุดสนใจในภาพด้วยซํ้า ซึ่งถ้ามองในแง่บวก ถือว่าเป็นข้อดีสำหรับคนที่ไม่ชอบใช้ขาตั้งกล้องอีกต่างหาก..


วิวทิวทัศน์ นํ้าตก ดอกไม้ ทะเลทราย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เมื่อมองหาจุดเด่นที่จะนำมาเสนอให้ภาพมีเรื่องราวได้แล้ว ถ้าต้องการถ่ายทอดด้วยเลนส์มุมกว้างให้เข้าไปใกล้ๆ สิ่งนั้น (ถ้าทำได้) การเข้าไปโฟกัสใกล้ๆ สิ่งที่นำเสนอจะดูแรงและมีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น สายนํ้า เมื่อนำเลนส์มุมกว้างไปจ่อเก็บภาพใกล้ๆ นํ้า ภาพจะดู “แรง” เหมือนนํ้าพุ่งเฉียดเข้ามาใกล้มาก ทรายที่มีริ้วลอนก็เช่นกัน เส้นสายที่เกิดขึ้นในภาพจะรู้สึกพุ่งแรงกว่าการยืนเก็บภาพระดับสายตา ดอกไม้เล็กๆ ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน ถ้าเข้าไปโฟกัสใกล้สิ่งเหล่านั้น จะดูมีพลังและให้ความรู้สึกเหมือนใหญ่กว่าปกติ เพราะเลนส์มุมกว้างสามารถเก็บวิวทิวทัศน์โดยรอบเข้ามาในมุมภาพได้ค่อนข้างมาก โดยส่วนอื่นๆ จะถูกผลักให้ไกลและเล็กกว่าความเป็นจริงด้วยเปอร์สเปคทีฟของเลนส์ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเปรียบเทียบทำให้สิ่งที่เราเข้าไปโฟกัสใกล้ๆ ใหญ่ขึ้นอัตโนมัติ

ภาพนํ้าตกโดยทั่วไป การเก็บภาพให้เห็นสายนํ้าพลิ้วๆ ก็มักจะได้ภาพสวยงามแล้ว แต่ถ้าสามารถใช้เลนส์มุมกว้างเข้าไปเก็บภาพระยะใกล้ๆ ได้ ภาพก็จะแปลกตาไปกว่าเดิม ทิศทางของสายนํ้า จังหวะของสายนํ้าจะทำให้ภาพที่ได้ไม่ซํ้ากับภาพทั่วไป แม้จะถ่ายภาพในเวลาเดียวกันก็ตาม ซึ่งลักษณะนํ้าตกที่จะเก็บภาพแบบนี้ได้ควรเป็นนํ้าตกที่มีความลาดชันน้อยๆ นํ้าไม่ไหลแรงมาก นํ้าตกบนลานหินจะเก็บภาพลักษณะนี้ได้ค่อนข้างง่าย ถ้าเก็บภาพในระยะไกลจะเห็นนํ้าไหลผ่านลานหินกว้างๆ แต่ถ้าสามารถเข้าใกล้ หามุมที่ฉากหน้าเห็นการไหลของนํ้าเป็นสายๆ ปริมาณนํ้าไม่ต้องมาก (ถ้านํ้าเป็นก้อนใหญ่ไหลรวมกันทีละมากๆ จะถ่ายให้เห็นนํ้าเป็นเส้นพลิ้วค่อนข้างยาก) ใช้ความเร็วให้สัมพันธ์กับความเร็วของสายนํ้าในแบบที่ต้องการ โดยเลือกใช้ความเร็วตํ่า แต่ไม่ต้องตํ่ามาก เพราะตํ่าไปสายนํ้าจะฟุ้งเกิน สำหรับการถ่ายนํ้าตกให้เป็นสายควรเลือกช่วงเวลาที่แดดอ่อนๆ ถ้าไม่ได้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าตามที่ต้องการก็รอช่วงเวลาที่มีเมฆมาบังดวงอาทิตย์หรือช่วงเช้าเย็นที่ไม่มีแดด ควรใช้ PL ตัดแสงสะท้อนตามโขดหินเพื่อภาพดูมีสีสันอิ่มตัวขึ้น..


การเข้าใกล้เพื่อให้ได้มุมที่แตกต่างนั้นมีข้อจำกัดและข้อควรระวังอยู่พอสมควร ซึ่งถ้าเป็นมือใหม่ เรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ ช่วงความชัด การเข้าไปโฟกัสใกล้วัตถุที่ถ่ายมาก ช่วงความชัดจะน้อย ยิ่งเข้าใกล้มากช่วงความชัดก็น้อยลงมาก ถึงแม้จะใช้ขนาดรูรับแสงแคบแล้ว บางครั้งช่วงความชัดก็ยังไม่ได้ตามที่ต้องการ การเลือกจุดโฟกัสจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพในลักษณะนี้

ลักษณะของช่วงความชัดคือ จากจุดที่เราโฟกัส จะมีช่วงความชัดเกิดด้านหน้า 1 ส่วน ด้านหลัง 2 ส่วน เมื่อเปิดรูรับแสงแคบลง ช่วงความชัดจะกินพื้นที่ไปด้านหน้าเพิ่มขึ้น ถ้าเพิ่มที่ด้านหน้า 2 ส่วน ด้านหลังก็จะครอบคลุมไป 4 ส่วน อันตราส่วนจะเกินเป็นเท่าตัวประมาณนี้ ซึ่งในที่นี้ยกตัวอย่างให้เข้าใจได้แบบคร่าวๆ (ถ้าสนใจเรื่องช่วงความชัดแบบละเอียดแนะนำให้ศึกษาเพิ่ม) การเข้าใกล้วัตถุที่ถ่ายมากๆ ทำให้ภาพที่ได้มีช่วงความชัดบางกว่าปกติ ดังนั้น การเลือกจุดโฟกัสที่กลางภาพ ช่วงความชัดอาจไม่ครอบคลุม เดิมอาจจะถ่ายด้วย f/8 โฟกัสกลางภาพอาจจะมีช่วงความชัดครอบคลุมทั้งภาพ แต่ถ้าเข้าใกล้มากๆ ต้องเปลี่ยนจุดโฟกัสค่อนมาด้านหน้า ใช้ขนาดรูรับแสงแคบขึ้นกว่าเดิม และก็กดปุ่มเช็คช่วงความชัดช่วย ดูว่าช่วงความชัดครอบคลุมด้านหน้าและด้านหลังได้อย่างที่ต้องการหรือไม่

ภาพวัดโบราณสถานที่ที่เราเลือกซุ้มประตู-หน้าต่างของสถานที่นั้นๆ ให้เป็นกรอบภาพ ถ้าเรายืนในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งแล้ว เห็นสิ่งที่เราต้องการเก็บภาพล้นกรอบตามภาพตัวอย่าง ให้ลองเดินเข้าไปใกล้กรอบภาพนั้นลองมองภาพผ่านเลนส์มุมกว้างดูใหม่จะเห็นถึงความต่างระหว่างการยืนเก็บภาพในระยะใกล้และระยะไกล ตามภาพตัวอย่างที่นำมาฝาก อีกภาพเป็นตัวอย่างของการใช้กรอบภาพที่ถ่ายโดยใช้เลนส์มุมกว้างเช่นกัน โดยเข้าไปยืนเก็บภาพใกล้ๆ ซุ้มประตูนั้น โบราณสถานหลายแห่งมีลักษณะเปิดโล่ง ถ้ายืนเก็บภาพในมุมปกติ แสงสวยทิศทางได้ก็ได้ภาพสวยงาม แต่ถ้าต้องการได้มุมที่แตกต่าง ลองเดินเข้าไปใกล้ๆ ซุ้มประตู-หน้าต่างบริเวณนั้นดู ระยะการยืนเก็บภาพนั้นมีตัวแปรหลายอย่าง ขนาดช่วงเลนส์มุมกว้างที่ไม่เท่ากัน ขนาดของกรอบภาพ ขนาดของวัตถุที่เราต้องการให้อยู่ในกรอบภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลกับภาพลักษณะนี้มาก สำหรับมือใหม่อาจจะหามุมพอดีไม่ค่อยเจอ แนะนำให้เริ่มจากการยืนใกล้กรอบนั้นก่อนแล้วค่อยๆ ถอยหลังออกมา เมื่อเจอมุมที่พอดีแล้วลองเปรียบเทียบเดินเข้าเดินออกจากจุดนั้น จะเห็นความต่างค่อนข้างชัดเจน ซึ่งกรอบภาพนี้บางครั้งก็ไม่ได้ใช้ได้กับทุกสถานที่ เนื่องจากวัดวังโบราณสถานบางแห่งมีพื้นที่แคบมาก ถ้าลองหามุมเดินเข้า เดินออกตามวิธีที่แนะนำแล้วไม่ได้มุมที่พอดี แสดงว่าระยะห่างสิ่งที่อยู่ในกรอบกับกรอบภาพไม่สัมพันธ์กัน..

ข้อควรระวังอีกหนึ่งอย่างสำหรับการถ่ายภาพลักษณะนี้คือ เมื่อกำหนดรูรับแสงแคบให้ช่วงความชัดครอบคลุมแล้ว ส่วนใหญ่ความไวชัตเตอร์จะค่อนข้างตํ่า จึงแนะนำให้ถ่ายภาพด้วยการใช้ขาตั้งกล้อง..

วิวทิวทัศน์ทะเลทราย โดยลักษณะของสถานที่แล้วจะกว้างใหญ่ เรียบและค่อนข้างโล่ง การยืนเก็บภาพในระดับสายตาปกติด้วยเลนส์มุมกว้างภาพจะดูเวิ้งว้างเพิ่มขึ้นอีก ถ้าต้องการถ่ายทอดภาพด้วยเลนส์มุมกว้างก็ต้องเริ่มจากมองหาสิ่งที่ดูน่าสนใจก่อน เน้นให้โดดเด่นขึ้นมาด้วยการเข้าไปโฟกัสในระยะใกล้ๆ สำหรับภาพนี้เลือกริ้วลอนทรายที่มีแสงเงาสวยๆ เป็นจุดเด่นที่ทำให้ภาพดูน่าสนใจ จัดวางมุมโดยเลือกต้นไม้เล็กๆ ที่ยืนต้นโดดเดี่ยว ให้อยู่ในตำแหน่งปลายเนินทรายเป็นตัวเปรียบเทียบให้รับรู้ถึงความรู้สึกว่าเนินทรายนี้กว้างใหญ่ทอดตัวไปสุดที่ปลายฟ้า ซึ่งสถานที่จริงไม่ค่อยสวยงามนักถ้ามองด้วยตา มีรอยเท้าคน อูฐ รอยล้อรถ ค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นเนินทรายที่อยู่ใกล้ที่พัก ถ้ายืนมองด้วยระดับสายตาปกติเลยต้นไม้เล็กๆ นั้นไปจะเห็นอาคารที่พักเป็นหลังๆ ซึ่งดูแล้วไม่เข้ากับมุมที่ต้องการนำเสนอ แต่การก้มตํ่าลงไปโฟกัสจนเกือบติดผืนทราย สิ่งเหล่านั้นจึงถูกซ่อนไว้หลังเนิน ซึ่งในทางกลับกันสิ่งที่ได้จากการเข้าไปโฟกัสใกล้ๆ ได้ริ้วลอนทรายดูสวยงามมีมิติมากขึ้น ถึงแม้จะมีรอยเท้าอยู่จำนวนมากก็ตาม..


เรื่อง/ภาพ : ฤทัยรัตน์  พวงแก้ว

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจดูเทคนิค How To ที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/leaning-by-doing