สำหรับผู้ที่ใช้เลนส์มือหมุน หรือเลนส์แมนนวลโฟกัส คงจะคุ้นเคยกับตัวเลขและสเกลต่างๆบนเลนส์กันบ้างแล้ว ซึ่งตัวเลขและสเกลต่างๆนั้น ใช้ประโยชน์ในการคำนวณระยะชัดลึก เมื่อถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ หรือ Landscape เพื่อคุมระยะชัดลึกให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีวิธีการคำนวณอย่างไรนั้น ไปดูกันครับ
ในยุคที่กล้อง Mirrorless ได้รับความนิยมจากช่างภาพทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่น รวมไปถึงผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพทั่วๆไป จากฟังก์ชั่นการทำงานที่พัฒนาประสิทธิภาพไปสูงมาก ทั้งจากขนาดที่กะทัดรัด ใช้งานสะดวก และใช้เลนส์ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ค่ายเดียวกัน เลนส์ต่างค่าย เลนส์กล้องค่ายอื่น รวมไปถึงเลนส์มือหมุน ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคฟิล์มด้วย
และสำหรับใครที่ถ่ายภาพมาตั้งแต่ยุคฟิล์ม โดยเฉพาะยุคเลนส์แมนนวลโฟกัส หรือเลนส์มือหมุนที่เรียกกันติดปากอยู่ ณ ตอนนี้ คงจะต้องคุ้นเคยกับตัวเลข และสเกลขีดสีต่างๆที่อยู่บนตัวเลนส์ ซึ่งตัวเลขหรือสเกลต่างๆเหล่านี้ แทบจะไม่มีปรากฎอยู่บนตัวเลนส์ออโตโฟกัสรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะเลนส์ราคาประหยัด รวมทั้งเลนส์ซูมด้วยเช่นกัน ซึ่งช่างภาพในยุคฟิล์มดูภาพที่ถ่ายแล้วไม่ได้ทันที ต้องรอล้างออกมาก่อน ดังนั้นก่อนที่จะถ่ายภาพแต่ละช็อต จึงต้องใช้ความคิด ความรอบคอบเป็นอย่างดีก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ โดยเฉพาะช่างภาพมืออาชีพ เพราะหวังผลในแต่ละเฟรมที่กดชัตเตอร์มากกว่าช่างภาพมือสมัครเล่น หรือผู้ที่ชื่นชอบในการถ่ายภาพทั่วๆ ไป
จะเห็นว่ากล้องฟิล์มรุ่นใหม่ๆบางรุ่น จะมีปุ่มสำหรับเช็คระยะชัดลึกมาให้ด้วยในตัวกล้อง แต่กล้องระบบแมนนวลส่วนมากจะไม่มีปุ่มนี้ ดังนั้นสเกลและตัวเลขต่างๆ บนเลนส์ จึงมีความสำคัญต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ หรือภาพ Landscape
สำหรับช่างภาพในยุคดิจิตอลที่ใช้เลนส์มือหมุนกับกล้องของตัวเอง สามารถดูภาพที่ถ่ายได้เลย และสามารถปรับแก้ไขได้ทันที ถ้าหากว่าเกิดข้อผิดพลาด เช่น คุมระยะชัดลึกไม่พอ เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้สเกลและตัวเลขบนเลนส์ จะช่วยลดความผิดพลาด หรือลดระยะเวลาถ่ายภาพลงไปได้ด้วย
ตัวเลขและสเกลบนเลนส์มือหมุนจะมีอยู่ 3 กลุ่มหลักๆ คือ
1. ระยะโฟกัสของเลนส์
2. ช่วงระยะชัดลึก ดูได้จากตัวเลขรูรับแสงที่ใช้ จากซ้ายไปถึงขวา ว่าครอบคลุมระยะชัดตั้งแต่กี่เมตร ถึงกี่เมตร
3. รูรับแสง
สำหรับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ปกตินั้น เรามักจะโฟกัสไปที่ระยะไกลสุด หรืออินฟินิตี้กันเลย ตามภาพตัวอย่างจะเห็นว่า ใช้รูรับแสงที่ f/8 เมื่อโฟกัสไปที่ระยะอินฟินิตี้ ระยะที่ครอบคลุมได้จะอยู่ที่หนึ่งเมตรกว่าๆ ไปจนถึงอินฟินิตี้
ยังคงใช้รูรับแสง f/8 เท่าเดิม แต่ปรับเลื่อนระยะโฟกัสให้ตำแหน่งอินฟินิตี้ไปอยู่ที่เลข 8 ด้านขวามือ
จะเห็นว่าระยะชัดลึกเปลี่ยนไป โดยครอบคลุมได้ตั้งแต่ประมาณสองฟุต หรือ 60 เซนติเมตร (ดูจากเลข 8 ด้านซ้าย) ไปจนถึงระยะอินฟินิตี้ (เลข 8 ด้านขวา) ซึ่งช่วยให้เก็บฉากหน้าในระยะใกล้ๆ ได้เป็นอย่างดีทีเดียว และถ้าหากต้องการระยะชัดลึกที่ครอบคลุมมากกว่านี้ ก็ให้หรี่รูรับแสงลงเป็น f/11 และเลื่อนตำแหน่งอินฟินิตี้ ไปยังตัวเลขรูรับแสงด้านขวามือ ซึ่งจะได้ระยะชัดลึกที่ครอบคลุมด้านหน้าได้มากขึ้นนั่นเอง
วิธีการแบบนี้ จะช่วยให้เราสามารถควบคุมระยะชัดลึกได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้รูรับแสงแคบมากๆ หรือแคบสุด เสมอไป ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่า เมื่อใช้รูรับแสงแคบมากๆ หรือแคบสุดนั้น จะเกิดการเลี้ยวเบนของแสง หรือ Diffraction ที่ทำให้ความคมชัดของภาพลดลงนั่นเอง และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเลนส์ออโตโฟกัสที่มีสเกลระยะชัดลึกบนเลนส์ได้ด้วยเช่นกัน
ถ้าหากมีฉากหน้าที่อยู่ใกล้มากๆ จะต้องใช้วิธีการปรับโฟกัสแบบนี้ เพื่อควบคุมระยะชัดลึกให้ครอบคลุมมาถึงด้านหน้าที่อยู่ใกล้ๆ กับกล้องนั่นเอง
การโฟกัสไปที่ตำแหน่งอินฟินิตี้ปกติ ระยะชัดลึกจะครอบคลุมไม่ถึงฉากหน้าที่อยู่ใกล้ๆ กับกล้อง ซึ่งบางครั้งจะต้องปรับรูรับแสงไปแคบสุด ซึ่งทำให้คุณภาพและความคมชัดของภาพลดลง จากอาการเลี้ยวเบนของแสง หรือ Diffraction นั่นเอง
การปรับระยะโฟกัสแบบนี้ จะช่วยให้ได้ภาพที่ชัดลึดสูงสุด โดยไม่จำเป็นต้องปรับรูรับแสงแคบมากๆ หรือแคบเกินไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฉากหน้าในเฟรมภาพด้วย
Leave feedback about this