TRAVELS

เดินต้านแรงโน้มถ่วงของโลก สู่ลานสน ภูสอยดาว

ภูสอยดาว.. ยอดเขาสูงที่เป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดอุตรดิตถ์ และพิษณุโลก เสน่ห์ของภูสอยดาวที่หลายๆ คนดั้นด้นเดินเท้าต้านแรงโน้มถ่วงของโลกเป็นระยะทางกว่า 6.5 กิโลเมตร สู่ลานสนบนยอดเขาที่ระดับความสูง 1,633 เมตร จากระดับนํ้าทะเล เพื่อสูดอากาศอันแสนบริสุทธิ์ และชื่นชมทุ่งหงอนนาค ที่ออกดอกเบ่งบานในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน และขึ้นคลุมทั่วไปทั้งบริเวณ

ผมและทีมงาน รวมทั้งผู้ติดตาม ซึ่งครั้งนี้ค่อนข้างหนากว่าทริปอื่นๆ เพราะแต่ละคนต่างก็อยากจะไปยลโฉมดอกหงอนนาคสักครั้ง และก็เพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวเองด้วยว่า “แกร่ง” พอหรือยัง เนื่องจากเส้นทางเดินเท้ากว่า 6.5 กิโลเมตรนั้น ไร้ซึ่งความสะดวกสบายโดยสิ้นเชิง ไม่มีร้านค้าที่จะคอยบริการเครื่องดื่มและอาหาร สัมภาระต่างๆ ถ้าไม่อยากหอบหิ้วไปเองก็จะต้องให้ “ลูกหาบ” แบกขนขึ้นไปให้ และต้องเตรียมอาหารกลางวัน รวมทั้งนํ้าดื่มระหว่างเดินทางด้วย เนื่องจากใช้ระยะเวลาเดินประมาณ 4-6 ชั่วโมงเลยทีเดียว

พาหนะในการเดินทางครั้งนี้ของผมและทีมงาน ยังคงเป็นรถยนต์ Toyota New Fortuner TRD Sportivo ซึ่งสามารถ นั่งได้ 7 ที่นั่ง แต่สมาชิกของผมมีทั้งหมด 6 คน ผมจึงพับเบาะหลังอีกด้านหนึ่งลง เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการจัดเก็บกระเป๋าเดินทาง และสัมภาระข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ สำหรับการใช้ชีวิต 3 วัน 2 คืน บนภูสอยดาว แต่ถึงแม้จะมีผู้โดยสารเต็มคัน และอัดแน่นไปด้วยสัมภาระต่างๆ แต่พละกำลัง 177 แรงม้าของเครื่องยนต์ 1GD FTV ความจุ 2800 ซีซี ก็พาเราวิ่งฉิวบนเส้นทางหมายเลข 1 สายเอเชีย ก่อนที่จะขึ้นสะพานเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 11 มุ่งตรงสู่จังหวัดพิษณุโลก

toyota138_04

ออกจากจังหวัดพิษณุโลก ผมเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1296 และต่อไปยังเส้นทางหมายเลข 1143 สู่อำเภอ ชาติตระการ ถึงแม้ผิวถนนจะเป็นลาดยางทั้งหมด แต่เส้นทางก็เริ่มคดเคี้ยวมากขึ้น เนื่องด้วยเป็นเส้นทางที่วิ่งเลาะเชิงเขานั่นเอง ออกจากพิษณุโลกได้ไม่นานนัก ฝนก็เริ่มตกลงมาอย่างหนักทีเดียว ผมปรับใช้ระบบขับเคลื่อนเป็นแบบ H4 เพื่อให้ช่วยในการยึดเกาะถนนด้วยนั่นเองครับ พูดถึงระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ ผมเองชอบรูปแบบการปรับใช้แบบใหม่ของรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ เพราะสามารถบิดสวิตช์ควบคุมเข้าสู่ระบบ H4 หรือ L4 ได้เลย และยังวางตำแหน่งของสวิตช์ควบคุมให้ใช้งานได้สะดวกทีเดียว

และนอกจากระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแล้ว Toyota New Fortuner TRD Sportivo ยังมีระบบความปลอดภัยอื่นๆ ที่ออกแบบให้ใช้งานร่วมกันเพื่อความปลอดภัยสูงสุด อย่างระบบ A-TRC หรือ Active Traction Control ที่ทำงานประสานกันกับระบบ VSC หรือ Vehicle Stability Control ในการสั่งให้ปั๊มเบรก ABS ส่งแรงดันนํ้ามันที่เหมาะสมไปยังล้อที่เซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่ามีการหมุนฟรีหรือหมุนเร็วกว่าล้ออื่นๆ พร้อมๆ กับลดรอบเครื่องยนต์เพื่อลดการลื่นไถล รวมทั้งให้ตัวรถกลับมาอยู่ในภาวะการขับขี่แบบปกตินั่นเองครับ ซึ่งผมว่าเป็นระบบที่เหมาะมากสำหรับการขับขี่กลางสายฝนที่กระหนํ่าลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตาแบบนี้ครับ และสำหรับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อของ Toyota New Fortuner TRD Sportivo นั้น เลือกได้ 3 แบบคือ H2 ซึ่ง เป็นการขับเคลื่อน 2 ล้อหลังปกติ สำหรับการใช้งานปกติทั่วๆ ไป หรือใช้งานในสภาพถนนที่แห้ง และต้องการใช้ความเร็วสูง, H4 หรือการขับเคลื่อน 4 ล้อ สำหรับสภาพถนนเปียกลื่น หรือเมื่อใช้งานในเส้นทางที่ต้องการการยึดเกาะถนนมากกว่าปกติ และ L4 สำหรับเส้นทางที่ขรุขระ หลุม บ่อ หรือเส้นทางลาดชันที่ต้องการแรงบิดที่สูงกว่าปกตินั่นเองครับ

ผมและทีมงานแวะซื้อเสบียงกันที่ตลาดอำเภอชาติตระการ รวมทั้งกินมื้อเย็นกันด้วย เนื่องจากตอนนี้เริ่มมืดแล้ว และกว่าจะถึงที่ทำการอุทยานฯ ภูสอยดาว ร้านรวงต่างๆ ก็คงจะปิดกันหมดแล้ว ผมจองบ้านพักอุทยานฯ ไว้ก่อนแล้ว เพราะต้องการนอนพักผ่อนให้เต็มที่ก่อนที่จะเดินทางไกล ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ถ้าจะให้ขับรถมาถึงตอนเช้า แล้วเดินขึ้นภูเลย ผมคงสลบอยู่กลางทางเป็นแน่แท้ครับ

เส้นทางออกจากตัวอำเภอชาติตระการยังคงเป็นทางตรงๆ รถราไม่ค่อยมีให้เห็นนัก นานๆ วิ่งสวนทางมาสักคัน ผมเปิดไฟสูงเพราะต้องการความสว่างในการมองเส้นทาง แสงไฟหน้ารถแบบ B-Beam LED ผ่านเลนส์โปรเจคเตอร์สาดส่องให้ความสว่างไสวมองทางได้อย่างชัดเจนครับ วิ่งมาได้สักพัก เส้นทางเริ่มขึ้นเขาและคดเคี้ยวมากขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน รวมทั้งสายฝนที่ตกลงมาหล่อเลี้ยง ทำให้หญ้าสองข้างทางขึ้นสูง และเริ่มคลืบคลานกินพื้นที่ไหล่ทางเข้ามาในถนนมากขึ้น เมื่อบวกกับความมืดมิด ทำให้รู้สึกว่าถนนแคบลงไปมากทีเดียว ผมใช้ไฟสูงสลับกับไฟตํ่าอยู่บ่อยๆ เพราะมีเส้นทางโค้งมากมาย แต่การขับรถทางโค้งในตอนกลางคืนแบบนี้มีความสะดวกอย่างหนึ่งคือ สามารถรับรู้ถึงรถที่สวนทางมาได้ง่ายขึ้นจากแสงไฟรถที่สาดส่องมาก่อนนั่นเองครับ ต่างจากตอนกลางวันที่ไม่อาจจะรู้ล่วงหน้าว่ามีรถวิ่งสวนทางมาหรือไม่

ถึงแม้จะแปลกถิ่น ถึงแม้สองข้างทางจะมืดมิด แต่ผู้ร่วมทางของผมยังคงสนุกสนานกับเสียงเพลงจากเครื่องเล่น DVD หน้าจอ 7 นิ้ว ควบคุมแบบสัมผัส ผ่านชุดแอมพลิไฟเออร์ และลำโพง JBL ถึง 11 ตัว สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านบลูทูธ หรือต่อกับเครื่องเล่นอื่นๆ ผ่านช่อง AUX และสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องเสียงผ่านพวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่นได้ อย่างสะดวกราวกับกำลังนั่งอยู่ในห้องคาราโอเกะอะไรอย่างนั้นครับ

เช้าวันใหม่ ผมและเพื่อนรวมทางตระเตรียมอุปกรณ์และสัมภาระต่างๆ แบ่งใส่ถุงกันฝน เพื่อเตรียมขึ้นตาชั่ง เช็กนํ้าหนักของสัมภาระต่างๆ ที่จะต้องให้ลูกหาบแบกขนขึ้นไปให้เรา โดยทางอุทยานฯ คิดค่าลูกหาบกิโลกรัมละ 30 บาท ค่ามัดจำขยะ 100 บาท (นำขยะกลับลงมา ก็มารับคืนได้) และลงทะเบียนแจ้งความจำนงในการเข้าพักที่ลานสนภูสอยดาว พร้อมกับรับเบอร์ของลูกหาบที่จะขนสัมภาระของเราขึ้นไป เพื่อติดต่อขอรับสัมภาระได้จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบนภู

“110 กิโลกรัมครับ 3,300 บาท” ผมได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่แจ้งมา หลังจากที่กดเครื่องคิดเลขบวกค่าลูกหาบจากสัมภาระทั้งหมดของเรา ก็แน่ล่ะครับ ข้างบนภูไม่มีร้านค้าที่จะให้เราไปซื้อหากินได้ ฉะนั้น อาหารการกิน เครื่องดื่มต่างๆ จะต้องขนขึ้นไปเองทั้งหมด แต่สำหรับ เต็นท์ เบาะรองนอน ถุงนอน กาต้มนํ้า หรือเตาถ่าน และถ่าน สามารถเช่าได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบนภูได้ครับ สำหรับใครที่ไม่มีหรือไม่อยากนำขึ้นไปเอง

หลังจากที่จ่ายค่าสัมภาระและค่าอื่นๆ หมดแล้ว เราเดินทางเข้าสู่เส้นทางเดินขึ้นภูสอยดาว และตามธรรมเนียมก็ต้องถ่ายภาพที่นํ้าตกภูสอยดาว ซึ่งถือเป็นนํ้าตกรับแขกกันก่อนเดินขึ้นภูก่อนครับ เราเฮฮาลั้นลากันอยู่ที่นี่สักพัก ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาเดินกว่า 4-6 ชั่วโมงก็ตาม ซึ่งสาเหตุที่ต้องถ่ายภาพกันก่อนเดินขึ้น ก็เพราะหน้าตายังสดชื่น สวยงามกันอยู่นั่นเองครับ ไม่มีอะไรมาก ..ฮ่า..ฮ่า..ฮ่า…

ภูสอยดาว เป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านํ้าปาด มีพื้นที่กว่า 212,633 ไร่ ครอบคลุมท้องที่ อำเภอบ้านโคก, อำเภอห้วยมุ่น, อำเภอนํ้าปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก มียอดเขาสูงสลับซับซ้อนมากมาย และเป็นเทือกเขาที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย กับสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว โดยมียอดที่สูงที่สุดนั้น สูงถึง 2,102 เมตร จากระดับนํ้าทะเล ส่วนที่ลานสน หรือลานกางเต็นท์ที่เรากำลังจะเดินทางไปเยือนนั้น มีความสูง 1,633 เมตร จากระดับนํ้าทะเล

ในช่วงแรกๆ นั้น จะเป็นเส้นทางเดินเลียบไปตามนํ้าตกภูสอยดาว ซึ่งมีทั้งหมด 5 ชั้น มีชื่อเรียกเพราะพริ้งทีเดียว นั่นคือ ภูสอยดาว ชั้นล่างสุดหรือชั้นแรกของการเดินขึ้น ถัดไปก็เป็น สกาวเดือน, เหมือนฝัน, กรรณิการ์ และชั้นบนสุดมีชื่อว่า สุภาภรณ์ ซึ่งถ้าหากจะไปนั้นต้องเดินเลี่ยงออกจากเส้นทางเดินหลักอยู่พอสมควร

เส้นทางเดินขึ้นลานสนนั้น แบ่งออกเป็นช่วงหลักๆ อยู่ 5 ช่วง นั่นคือ เนินส่งญาติ เป็นช่วงที่ค่อนข้างสูงชัน และเผาผลาญพลังงานของผมที่สะสมมาตั้งแต่เมื่อคืนอยู่พอสมควร หลายๆ ช่วงของเนินส่งญาติจะมีบันไดเหล็กเป็นระยะช่วยให้เดินได้ง่ายขึ้น แต่ที่ไม่ง่ายก็คือ ต้องก้าวขึ้นอยู่ตลอดเวลานี่แหละครับ ..แฮ่ก ..แฮ่ก รอบๆ บริเวณ เป็นพื้นที่ของป่าไผ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ นั่นคือ “ไผ่หก” ซึ่งเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซ็นติเมตร และมีควมยาวของแต่ละปล้องประมาณ 50 เซ็นติเมตร ประโยชน์ของไผ่หกคือ นำหน่ออ่อนมาปรุงอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณของไผ่หกลดลงค่อนข้างมาก ส่วนลำต้นนั้น ใช้ทำเครื่องจักสาน ทำเสื่อ หรือทำกระดาษ

ผ่านพ้นจากเนินส่งญาติ ผมและเพื่อนร่วมทางหลายคนนั่งพักรับลมเย็นๆ ที่พัดโบกโชยมาเป็นระยะ ผมสูดอากาศแสนบริสุทธิ์เข้าไปเต็มๆ ปอดอยู่หลายครั้ง ราวกับโหยหามานาน เนินส่งญาตินี้มีความสูงจากระดับนํ้าทะเลเพียง 650 เมตร เท่านั้นเอง ยังต้องปีนขึ้นสูงไปอีกมากกว่าเท่าตัว ทางเดินต่อไปยังเนินปราบเซียนนั้น ไม่ได้สูงชันเหมือนเนินส่งญาติ แต่มีลักษณะเป็นทางเดินขึ้นเนินเขาปกติ พอให้เดินได้อย่างสบายอยู่บ้าง ซึ่งวิธีที่เหมาะสำหรับการเดินขึ้นเนินเขานั้น จะต้องก้าวเดินอย่างสม่ำเสมอ ไม่ก้าวยาวไป หรือก้าวสั้นไป และต้องเดินด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอ การเร่งเดินจะทำให้เหนื่อยมากเกินไป ส่วนนํ้าดื่ม ก็ต้องค่อยๆ จิบ หลีกเลี่ยงการดื่มครั้งละมากๆ เพราะจะทำให้จุกจนเดินไม่ไหวได้ครับ

ผมเดินผ่านจุดเชื่อมต่อมาจนถึงเนินปราบเซียน ซึ่งถือเป็นเนินที่มีความสูงชัน และเดินค่อนข้างลำบากรองจากเนินมรณะ ที่ถือเป็นสุดยอดของเนินทั้งหมดในเส้นทาง เนินปราบเซียนมีความสูงจากระดับนํ้าทะเล 780 เมตร ฝนที่ปรอยๆ ลงมาทำให้ทางเดินค่อนข้างลื่น แต่ผมเองใช้รองเท้าเดินป่าอยู่แล้ว ซึ่งพื้นรองเท้าจะมีดอกยางที่เกาะกับพื้นดินและหินได้มากกว่า จึงช่วยลดการลื่นล้มลุกคลุกโคลนไปได้เป็นอย่างดี

toyota138_02

ภาพซ้าย : นํ้าตกภูสอยดาว ชั้นเหมือนฝัน
ภาพบนขวา : ลูกหาบขนสัมภาระที่ช่วยเบาแรงนักท่องเที่ยวไปได้มากโขทีเดียว
ภาพล่างขวา : หยุดพักเหนื่อย หลังผ่านพ้นเนินส่งญาติ

ตลอดเส้นทางที่เดินขึ้นมา เราไม่พานพบกับแสงแดดเลย ซึ่งจริงๆ ก็แอบดีใจที่จะได้ไม่ร้อนเวลาเดิน รอบข้างเต็มไปด้วยหมอกขาวปกคลุมปนๆ ไปกับสายฝนที่โปรยปรายมาให้ความชุ่มฉ่ำเป็นระยะๆ เดินขึ้นสูงแค่ไหน วิวข้างทางก็ยังคงขาวโพลนอยู่เช่นเดิม เราผ่านเนินปราบเซียน เนินป่าก่อ มาจนถึงเนินเสือโคร่ง ระยะทางก็ผ่านไปแล้วกว่าครึ่งค่อนทาง พื้นที่เปียกก็ทำให้การเดินลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดินขึ้นที่เป็นดินเปียกๆ ถึงแม้ว่าจะเซาะให้เป็นร่องสำหรับวางเท้าอยู่บ้างก็ตาม เส้นทางแบบนี้ไม้เท้าเดินป่าจะช่วยพยุงตัวในการก้าวเดินได้เป็นอย่างดีทีเดียว

เราเดินทางมาจนถึงเนินสุดท้ายของเส้นทางนั่นคือ เนินมรณะ ก็ตามชื่อเรียกขานละครับ เป็นตัวบ่งบอกได้อย่างดีว่า จะโหด หรือมัน หรือฮาแค่ไหน เนินมรณะ เป็นการเดินไต่ไปตามเส้นทางเล็กๆ มุ่งสู่ยอดเขาที่มีความสูงจากระดับนํ้าทะเล 1,410 เมตร และเหลือระยะทางเพียง 1600 เมตร ก็จะถึงลานกางเต็นท์ แต่เป็นเส้นทางที่ผมหยุดชมวิวบ่อยที่สุด ทั้งๆ ที่รอบข้างก็มีแต่หมอกขาวโพลน “ก็ลมมันเย็นอ่ะ” ผมแย้งตัวเองอยู่ในใจ

toyota138_03

ภาพซ้าย : วิวเส้นทางช่วงเนินมรณะ ในวันที่ฟ้าใส
ภาพบนขวา : นักท่องเที่ยวท่ามกลางละอองฝนแะดอกหงอนนาค
ภาพล่างขวา : ทางเดินท่ามกลางป่าสนและดอกหงอนนาคหลังจากที่ปีนขึ้นมาจากเนินมรณะ

เนื่องจากทั้งละอองหมอกและนํ้าฝน ทำให้ทางเดินบางช่วงลื่นเป็นพิเศษ จนถึงกับต้องใช้สองมือช่วยพยุงตัวเองไม่ให้ไถลลงไป แต่บางช่วงก็เป็นบันไดทางเดิน บางช่วงก็เป็นดินแข็ง บางช่วงเป็นหิน ทำให้เดินได้ง่ายขึ้นสลับๆ กันไปครับ ฝนที่ตกเปาะแปะๆ ตกๆ หยุดๆ ตั้งแต่ครั้งเดินขึ้น เริ่มหนาเม็ดและดูท่าว่าจะตกแบบจริงจังมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะก่อนที่จะออกเดินมาก็เช็กสภาพอากาศแล้วว่าจะต้องเจอฝน 80% ของพื้นที่อย่างแน่นอน พลังงานที่ลดน้อยลง บวกกับความล้าของขาทั้งสอง ทำให้ผมนึกถึงโหมด L4 ของ New Fortuner TRD Sportivo ขึ้นมาทันที เพราะแค่แต่คันเร่งให้รอบเครื่องอยู่ที่ 1200-1500 รอบ แรงบิดมหาศาลก็พาตัวรถไต่ขึ้นเนินชันไปได้เป็นอย่างดี ตอนนี้ผมอยากได้แบบนั้นบ้างจัง..

toyota138_05

พ้นจากเนินมรณะ ก็เป็นทางเดินค่อนข้างราบ สลับขึ้นลง ผมเดินต่อมาอีกประมาณ 400 เมตร ก็เจอกับป้ายผู้พิชิตลานสนภูสอยดาวตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางหมอกขาว ไชโย้!! ผมตะโกนอยู่ในใจแบบเก็บอาการดีใจไม่ให้ออกนอกหน้า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาถึงพร้อมๆ กัน ก็ชักภาพกับป้ายไว้เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งได้พิสูจน์ตัวเองกับความลำบากของเส้นทาง และผ่านมาแล้วด้วยความภูมิใจ

toyota138_01

วิวลานสนบนภูสอยดาว

ผมเดินต่อไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อเช็กว่าลูกหาบเดินทางมาถึงหรือยัง คราวนี้ฝนตกลงมาแบบเป็นจริงเป็นจังเลยทีเดียว ผมนี่ไม่เชื่อพยากรณ์อากาศเลยจริงๆ ไหนบอกว่า 80% ไง …นี่มัน 100% ชัดๆ เสื้อกันฝนแทบจะเอาไม่อยู่ ขากางเกงชุ่มโชกด้วยนํ้าฝน “เบอร์ 53 ยังไม่ขึ้นมาเลยครับ” เจ้าหน้าที่แจ้งผมกลับมา รอสิครับ จะทำอะไรอย่างอื่นได้ล่ะ ผมนึกอยู่ในใจ แล้วก็เดินหาตำแหน่งที่จะกางเต็นท์ ซึ่งหลายๆ ที่นั้น ถูกจับจองจากนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว และส่วนหนึ่งก็เป็นเต็นท์ของอุทยานที่กางรอไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่จองไว้ก่อนหน้าแล้ว

ด้านหลังเต็นท์ของอุทยานยังมีที่ว่าง ผมให้น้องทีมงานที่ไปด้วยกันไปเช่าถังตักนํ้าและขันสำหรับตักนํ้าอาบ และชำระล้างภาชนะต่างๆ เพราะบนลานกางเต็นท์นี้มีห้องนํ้าไว้บริการนักท่องเที่ยว แต่..นักท่องเที่ยวจะต้องตักนํ้าจากลำธารหิ้วเข้าไปอาบเองในห้องนํ้า และห้ามนักท่องเที่ยวลงอาบนํ้าในลำธารเด็ดขาด ถ้าหากฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับ 500 บาทครับ

สัมภาระบางส่วนมาถึงแล้ว แต่บางส่วนยังมาไม่ถึง เพราะลูกหาบจะรับนํ้าหนักได้ประมาณ 40-70 กิโลกรัม ดังนั้น สัมภาระทั้งหมดจึงถูกแบ่งออกไปให้ลูกหาบคนอื่นด้วย และสัมภาระที่ผมจำเป็นต้องใช้เป็นอันดับแรกคือ ฟลายชีทกันฝน ซึ่งยังมาไม่ถึงครับ

หลังจากที่รอมากว่าครึ่งชั่วโมง ลมเริ่มแรง ฝนตกหนัก ตัวเริ่มเปียกและหนาว ผมและเพื่อนร่วมทางจึงตกลงกันว่า เช่าเต็นท์ของอุทยานเลยดีกว่า และเป็นการเช่าทั้งชุดคือ เต็นท์ แผ่นรองนอน และถุงนอน โดยเต็นท์หนึ่งหลังสามารถนอนได้ 3 คน เรามีกัน 6 คน ก็พอดีๆ สองหลังติดๆ กัน

หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้า ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย และพักผ่อนเบื้องต้นแล้ว เราก็เริ่มต้นชีวิตติดดินที่ปราศจากนํ้าประปา ปราศจากไฟฟ้า ตัดขาดจากโลกออนไลน์ และประกอบอาหารเย็นเป็นมื้อแรกของทริป ที่ถึงจะเป็นอาหารแบบง่ายๆ แต่ก็เอร็ดอร่อยไม่แพ้อาหารเหลาหรูในเมืองใหญ่เลยละครับ

เช้าวันใหม่ที่บรรยากาศไม่แตกต่างจากเย็นวันวาน นั่นคือพื้นที่รายรอบยังถูกห่มคลุมไปด้วยหมอกขาวอยู่เช่นเดิม ฝนขาดเม็ดลงไปแล้ว เราวางโปรแกรมกันว่าจะเดินออกไปยังจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกกันก่อน แล้วเดินวนอ้อมมายังหลักแบ่งเขตแดนไทย-ลาว ก่อนที่จะกลับเต็นท์ แล้วทำอาหารกลางวันทานเอาแรงกันก่อน ส่วนช่วงบ่ายก็ค่อยลงไปถ่ายภาพนํ้าตกสายทิพย์

จุดชมวิวพระอาทิตย์ตก อยู่ไม่ห่างจากป้ายผู้พิชิตลานสนมากนัก ทางเดินเป็นเส้นทางเล็กๆ ลัดเลาะริมหน้าผาไปเรื่อยๆ บริเวณนี้มีหญ้าไฟตะกาด ซึ่งเป็นพืชกินแมลงในกลุ่มของหญ้านํ้าค้างขึ้นอยู่มากมาย ต้นหญ้ามีขนาดค่อนข้างเล็ก การใช้เลนส์มาโครจะสามารถเข้าไปถ่ายภาพได้ใกล้ขึ้น และในสภาพอากาศอึมครึมของหมอกแบบนี้ การใช้แฟลชหรือการเพิ่มแสงสว่างเข้าไป จะช่วยให้ภาพมีคอนทราสต์มากขึ้น ผมเองเตรียมไฟฉายกับไฟ LED สำหรับการช่วยเพิ่มคอนทราสต์ให้กับภาพ โดยส่องเยื้องๆ จากด้านหลังย้อนกลับมาให้ภาพดูมีมิติมากขึ้น แต่ก็ต้องระวังอย่าให้แสงที่ส่องเข้ามาเกิดอาการแฟลร์เข้าไปในเลนส์ครับ นอกจากดอกหงอนนาคแล้ว ยังมีดอกไม้อื่นๆ ให้ถ่ายภาพกันอย่างมากมายด้วยเช่นกันครับ เช่น ดอกเอนอ้า หรือดอกหญ้าพื้นๆ อย่างตีนตุ๊กแกครับ เราเดินถ่ายภาพวนไปเรื่อยๆ จนถึงหลักแบ่งเขตแดนไทย-ลาว ซึ่งที่นี่ยังเป็นจุดชมวิว พระอาทิตย์ขึ้นอีกด้วย และเป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวบนภูสอยดาวที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

เราเดินวนกลับมาที่เต็นท์ และลงมือทำอาหารเที่ยง ซึ่งก็ยังคงเน้นแบบง่ายๆ ไม่เสียเวลาในการปรุงมากมายครับ อย่างผัดเส้นบะหมี่ใส่ไข่และกะหลํ่าปลี เท่านี้ก็อิ่มแปร้กันแล้วครับ หลังจากท้องตึงหนังตาก็เริ่มหย่อนตามสูตร แถมฝนก็ตกลงมาอีกรอบ ผมก็เลยบอกเพื่อนร่วมทีมว่า ทางลงนํ้าตกค่อนข้างชันและเดินลำบากแน่ๆ หากฝนตกอยู่อย่างนี้รอไปก่อนดีกว่า ระหว่างนี้ก็นอนพักผ่อนกันตามอัธยาศัย ว่าแล้วผมก็เอนหลังเป็นตัวอย่างไปก่อน อากาศเย็นๆ แบบไม่ต้องง้อเครื่องปรับอากาศกับแผ่นรองนอนนุ่มๆ และถุงนอนอุ่นๆ ช่างเอื้อให้กับการพักสายตาเป็นยิ่งนัก

บ่ายคล้อยไปมากแล้ว ซึ่งผมรับรู้ได้จากการมองนาฬิกาข้อมือ เพราะอย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า สภาพอากาศที่มีหมอกห่มคลุมอยู่ตลอด มีสายฝนสลับกันลงมาบ้าง และมีลมที่พัดโหมอยู่ตลอด ทำให้สภาพทั่วๆ ไปไม่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ยามเช้า ยามสาย หรือยามบ่ายก็ตามครับ ฝนยังตกไม่หยุด เราจึงตกลงกันว่าไม่ไปนํ้าตกแล้ว แต่ตั้งวงเวสนากันแทนจนเย็นยํ่าคํ่ามืด จึงลงมือประกอบอาหารเย็นกันอีกครั้งหนึ่ง หลังอาหารเย็นลมเริ่มพัดแรงขึ้น พร้อมๆ กับฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ขาดสาย เพื่อนร่วมทางเริ่มรํ่าร้องหาแสงสว่างจากพระอาทิตย์ในรุ่งเช้าของวันพรุ่งนี้กันบ้างแล้ว

toyota138_06

ภาพบนซ้าย : ความนิยมของนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
ภาพล่างซ้าย : ดอกไม้ในยามเช้าที่เป็นจุดขายของภูสอยดาวเฉกเช่นกับดอกหงอนนาคเช่นกันครับ

ภาพบนขวา : ดอกหงอนนาค หนึ่งในจุดสนใจให้นักท่องเที่ยวดั้นด้นขึ้นมายังยอดภูสอยดาว
ภาพล่างขวา : หลักกิโลที่แบ่งดินแดนไทยกับลาว มีข้อความสั้นๆ ติดบนป้ายว่า “พิชิตภูเดียวเที่ยวสองแผ่นดิน”

เช้าวันใหม่ หมอกยังคงคลุมหนาอยู่เช่นเดิม พร้อมๆ กับลมที่ยังคงโหมกระพือ แต่ฝนขาดสายไปแล้ว เราตกลงกันว่าจะลงไปถ่ายภาพที่นํ้าตกสายทิพย์ก่อนที่จะเดินทางลงจากลานสน เส้นทางลงนํ้าตกก็สมคำรํ่าลือครับ สูงชันทีเดียว บางช่วงมีเชือกให้ประคองตัวไต่ลงไปยังตัวนํ้าตก ฝนที่ตกลงมาตั้งแต่เมื่อคืน ทำเอาทางเดินลงแฉะและลื่นอยู่พอสมควร

นํ้าตกสายทิพย์ เป็นหนึ่งในนํ้าตกที่ซ่อนตัวอยู่บนยอดภูสอยดาว แบ่งเป็นชั้นต่างๆ 7 ชั้นลดหลั่นกันลงไป แต่ทางลงที่ค่อนข้างลื่นและชัน บวกกับจะต้องเก็บของเดินทางลงจากภูด้วย ทำให้เราถ่ายภาพกันอยู่ที่ชั้นแรกและชั้นที่สองเท่านั้นครับ ความชื้นของบรรยากาศทำให้มีมอสและตะไคร่นํ้าขึ้นคลุมเต็มอยู่ตามตัวนํ้าตก การถ่ายภาพให้นํ้าตกดูพลิ้วไหวนุ่มนวลจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าๆ อย่าง 1 วินาที หรือมากกว่า แน่นอนครับว่าขาตั้งกล้องจำเป็นมากทีเดียว รวมทั้งต้องปิดระบบป้องกันการสั่นไหวที่ตัวกล้องหรือเลนส์ เมื่อติดกล้องเข้ากับขาตั้งกล้องด้วยครับ ไม่งั้นจะได้ภาพสั่นๆ มาแทนเป็นแน่แท้ และถ้ามีฟิลเตอร์โพลาไรซ์ด้วย ก็จะช่วยตัดแสงสะท้อนตามผิวนํ้า หรือก้อนหิน ทำให้ได้ภาพที่มีสีสันที่อิ่มตัวมากขึ้นด้วยครับ

หลังจากที่ถ่ายภาพกันเสร็จสรรพตามความพอใจแล้ว เราก็กลับมาที่เต็นท์เพื่อเก็บสัมภาระต่างๆ แพ็คให้กับลูกหาบสำหรับขนกลับลงไปให้เราที่ด้านล่าง ขยะหลายๆ อย่างที่เป็นผลจากการทำอาหารการกินนั้น เราแยกประเภทไว้ตั้งแต่แรกแล้ว โดยแบ่งเป็นขยะเปียกหรือที่ย่อยสลายได้ กับขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ซึ่งขยะที่ย่อยสลายได้นั้น สามารถขุดหลุมฝังกลบในบริเวณที่จัดไว้ให้ได้ ส่วนขยะที่ย่อยสลายไม่ได้จะต้องนำกลับลงมาทิ้งที่ด้านล่าง

ฝนยังคงตกลงมาเป็นระยะๆ ในระหว่างที่เราเดินทางกลับลงมา โดยเป็นการเดินย้อนเส้นทางเดิมนั่นเองครับ แต่ขาลงจะลำบากกว่านิดหน่อยตรงที่น่องจะเกิดอาการเกร็งในขณะที่ก้าวลงเพื่อไม่ให้ลื่นนั่นเอง ดังนั้น พอลงมาถึงด้านล่างก็จะต้องนวดให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายกันด้วยครับ

toyota138_08

ภาพซ้าย : อีกหนึ่งชีวิตเล็กๆ ที่เติมสีสันให้หน้าฝน
ภาพ
ขวา : นํ้าตกภูสอยดาวอันชุ่มฉ่ำ

เรามีเวลาถ่ายภาพกันมากขึ้นในระหว่างทาง เพราะขาลงนั้นใช้เวลาเดินน้อยกว่าขาขึ้นอยู่พอสมควรทีเดียว แต่เพื่อนร่วมทางบางคนจะต้องเดินทางกลับก่อน ดังนั้น ผมจึงต้องออกมาส่งขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ ที่สถานีรถไฟในตัวเมืองอุตรดิตถ์ หลังจากที่อาบนํ้าอาบท่ากันเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องอำลาอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว พื้นล่างนั้นน่าจะไม่มีฝนมาหลายชั่วโมงแล้ว เพราะพื้นถนนเริ่มแห้งนั่นเอง ถนนยังคงว่างจากรถราที่ผ่านไปมา นานๆ ที่จะเจอกับรถสักคัน ซึ่งการจะเร่งแซงไปนั้นค่อนข้างลำบากอยู่พอสมควร เพราะส่วนใหญ่จะเป็นทางโค้งอย่างที่ผมเองได้กล่าวไปแล้วว่า ถนนแบบ
นี้ขับในตอนกลางคืนจะง่ายกว่า เพราะสามารถดูไฟของรถที่วิ่งสวนมาได้นั่นเอง

toyota138_09

ในฤดูฝนเช่นนี้ เห็ดก็เป็นสิ่งเล็กๆ ที่เรียกร้องความสนใจจากช่างภาพได้เช่นกัน

สำหรับโหมดการขับขี่ปกติของ New Fortuner TRD Sportivo จะเน้นในเรื่องของการประหยัดเป็นหลัก ดังนั้น การเร่งแซงจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แต่ถ้าหากผมต้องการการเร่งแซงที่รวดเร็วฉับไวขึ้น ผมจะเปลี่ยนโหมดขับขี่เป็นโหมด Power ซึ่งตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดีทีเดียว เครื่องยนต์เรียกรอบมาได้ค่อนข้างเร็ว เรียกว่ากดเป็นพุ่งเลยละครับ การเลือกโหมดขับขี่ก็สามารถกดเลือกจากปุ่มที่อยู่ข้างๆ ตำแหน่งของเกียร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ ใช้งานได้สะดวกทีเดียวครับ สำหรับช่วงล่างของ New Fortuner TRD Sportivo ได้รับการปรับเซ็ตมาเป็นอย่างดี ช่วยให้เกาะถนนได้หนึบ และเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจมากขึ้น รวมทั้งพวงมาลัยเองก็ตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดีครับ

toyota138_07

ส่วนในช่วงที่สามารถเพิ่มความเร็วได้บ้าง ผมเลือกใช้การปรับเกียร์เองแบบแมนนวล ทั้งจากคันเกียร์เอง และจาก Paddle Shift ที่คอพวงมาลัย เพื่อควบคุมความเร็วของรถ ซึ่งเป็นโหมดที่ทำให้สนุกกับการขับขี่ได้ดีทีเดียวครับ อีกจุดหนึ่งที่ผมชื่นชอบ นั่นคือเบาะนั่งที่ออกแบบให้โอบกระชับกับลำตัว และด้านคนขับยังปรับด้วยไฟฟ้าได้ 8 ทิศทาง ช่วยลดความเมื่อยล้าจากการขับขี่ทางไกลได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ

สำหรับจุดหมายต่อไปของผมก็คือ ดอยเสมอดาว และเสาดินนาน้อย จังหวัดน่าน ซึ่งสภาพเส้นทางไม่ได้สร้างความกังวใจให้ผมเลยแม้แต่น้อย เพราะเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของ New Fortuner TRD Sportivo นั่นเอง แต่สิ่งที่ผมกังวลคือ สภาพอากาศมากกว่า เพราะ 3 วันที่อยู่บนลานสนภูสอยดาวนั้น บอกตรงๆ ..ไม่เห็นเดือน ไม่เห็นตะวันเลยละครับ แล้วพบกันใหม่ ฉบับหน้าครับ..

เรื่อง / ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา

ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทาง : ภูสอยดาว อำเภอนํ้าปาด จังหวัดอุตรดิตถ์

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงเอเชีย AH1 มุ่งตรงสู่จังหวัดสิงห์บุรี เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 11 ที่อินทร์บุรี วิ่งตรงเข้าสู่จังหวัดพิษณุโลก จากนั้นวิ่งตามเส้นทางหมายเลข 11 และเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1246 ที่แยกบ้านแพะ และเลี้ยวขวาอีกครั้งเพื่อเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1143 ตรงสู่อำเภอชาติตระการ ผ่านตัวอำเภอให้เลี้ยวซ้ายไปยังเส้นทางหมายเลข 1237 วิ่งตามทางไปจนถึงบ้านบ่อภาค แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1268 รวมระยะทางจากจังหวัดพิษณุโลก ประมาณ 188 กิโลเมตร

จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เส้นทางหมายเลข 1047 ไปยังอำเภอนํ้าปาด จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 1239 ประมาณ 47 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1268 ประมาณ 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว รวมระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร