BASIC PHOTO TECHNIQUES

10 ระบบแฟลช คุณรู้จักมันดีหรือยัง

ระบบการทำงานในแฟลชรุ่นใหญ่และรุ่นกลางของแฟลชแต่ละยี่ห้อในปัจจุบันไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ลองมาดูกันเลยว่า 10 ระบบในแฟลชมีอะไรบ้าง

ระบบนี้แฟลชจะฉายแสงด้วยกำลังที่ตามค่าที่ผู้ใช้ตั้ง ซึ่งโดยมากแล้วจะปรับได้ตั้งแต่เต็มกำลัง 1/1 จนถึง 1/128 การปรับลดกำลังลงเท่าตัวเช่นจาก 1/1 เป็น 1/2 ค่าแสงแฟลชจะเปลี่ยน 1 สตอป โดยเมื่อใช้แฟลชเฉพาะกิจกับกล้องยี่ห้อใดก็ตาม บนหน้าจอ LCD ของแฟลชจะแสดงระยะทำงานของแฟลช (สัมพันธ์กับ ISO และรูรับแสงที่ใช้) เช่น ถ้าแสดงที่ 4 เมตร คุณก็ต้องวางซับเจกต์ไว้ห่างจากกล้อง 4 เมตร แสงจึงจะพอดี ใกล้กว่าไม่ได้ ไกลกว่าไม่ได้ หากซับเจกต์ไม่ได้อยู่ที่ระยะ 4 เมตร คุณต้องปรับลดหรือเพิ่มกำลังแฟลชจนมาร์คแสดงระยะบนหน้าจอ ตรงกับระยะห่างซับเจกต์ (ถ้าไม่ปรับกำลังแฟลชก็ต้องปรับ ISO หรือรูรับแสงแทน) การใช้แฟลชในระบบ M จึงค่อนข้างช้าและยุ่งมาก แต่ข้อดีคือ ถ้าซับเจกต์ไม่ได้เปลี่ยนระยะบ่อยๆ ระบบแฟลชในโหมด M จะควบคุมความสว่างได้แน่นอน เที่ยงตรง โดยไม่ต้องพะวงเรื่องสีของซับเจกต์ ที่มักจะทำให้ต้องชดเชยแสงแฟลชบ่อยๆ เมื่อใช้โหมด TTL


เมื่อกดปุ่ม Mode บนแฟลชจะพบกับคำว่า TTL ระบบนี้จะปรับกำลังการฉายแสงแฟลชให้อัตโนมัติ โดยกล้องจะวิเคราะห์จากการปล่อยแสงทดสอบ (Preflash) กำลังอ่อนออกไปก่อน แล้วเมื่อแสงแฟลชสะท้อนผ่านเลนส์เข้าไปยังเซ็นเซอร์รับภาพ กล้องจะวิเคราะห์ค่าแสงจากปริมาณแสง จากรูรับแสงที่ใช้และจากระยะห่างระหว่างกล้องกับซับเจกต์ (ส่งข้อมูลมาจากเลนส์) แล้วจึงสั่งการให้ปล่อยแสงแฟลชจริงไปพร้อมๆ กับการทำงานของชัตเตอร์ เป็นระบบวัดแสงแฟลชผ่านเลนส์ จึงมีความแม่นยำสูงและใช้งานคล่องตัวรวดเร็ว เพราะไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนรูรับแสง เปลี่ยนระยะห่างระหว่างกล้องกับซับเจกต์ กล้องจะสั่งการให้แฟลชปรับกำลังการฉายแสงให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ และแม้จะใส่ฟิลเตอร์ CPL ฟิลเตอร์ ND กำลังแฟลชก็จะปรับชดเชยให้อัตโนมัติ ระบบ TTL จึงเป็นระบบหลักที่ช่างภาพส่วนใหญ่ใช้ทำงาน แต่การใช้ระบบ TTL แฟลชก็จะคล้ายการวัดแสงด้วยแสงธรรมชาติ คือ หากซับเจกต์มีสีขาว สีโทนสว่างหรือโทนเข้ม มักจะทำให้แฟลชฉายแสงผิดพลาด สว่างหรือมืดเกินไป ต้องใช้ระบบชดเชยแสงแฟลชเพื่อแก้ไขเสมอ


ระบบนี้ออกแบบให้แฟลชฉายแสงต่อเนื่องอัตโนมัติด้วยความถี่ตามที่คุณปรับตั้ง ใช้เพื่อสร้างเอฟเฟกต์ ภาพซับเจกต์ซ้อนหลายๆ ครั้งในเฟรมเดียวกัน เช่น ภาพคนกำลังเคลื่อนที่ เห็นตัวคนเป็นสเตปๆ ในภาพเดียว การใช้โหมด MULTI นั้น ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้จะต้องสัมพันธ์กับค่าการปรับตั้ง ซึ่งจะมีอยู่ 2ค่าด้วยกัน คือ จำนวนครั้งของแฟลช และ ความถี่ (ความเร็ว) ในการฉายแสง (หน่วยเป็น HZ) จำนวนครั้งจะตั้งได้ตั้งแต่ 1-100 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับกำลังแฟลชที่ปรับตั้งด้วย ถ้าใช้แฟลชแรง เช่น 1/2, 1/4 หรือ 1/8 จำนวนครั้งของแฟลชก็จะน้อย แต่ถ้าลดกำลังแฟลชเป็น 1/64 หรือ 1/128 ก็จะฉายแสงต่อเนื่องได้ถึง 100 ครั้ง) ส่วนความถี่คือ ความเร็วในการฉายแสงต่อเนื่อง (ปรับได้ 1-100 Hz หรือ 1-200 Hz ) 1Hz คือ 1 วินาทีฉายแสง 1 ครั้ง 100Hz คือฉายแสง 100 ครั้งภายใน 1 วินาที เป็นต้น ในการใช้ระบบนี้จึงควรตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับค่าที่ตั้ง เช่น ถ้ายิงแฟลช 20 ครั้ง ด้วยความถี่ 10 Hz เท่ากับว่า ต้องใช้เวลา 2 วินาทีจึงจะยิงแฟลชได้ครบ 20 ครั้ง ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์จะต้องใช้ที่ 2 วินาที (หรือมากกว่า) ถ้าใช้น้อยกว่า 2 วินาทีจะได้แฟลชไม่ครบ 20 ครั้ง สิ่งสำคัญคือ จะต้องดูหน้าจอแฟลชด้วยว่า ระยะทำงานของแฟลชอยู่ที่เท่าใด คุณจะต้องวางซับเจกต์ห่างจากกล้องตามนั้น (ถ้าระยะไม่พอต้องเพิ่ม ISO) การใช้ระบบนี้ฉากหลังจะต้องมืดครับ ไม่เช่นนั้นภาพจะซ้อนทับกันมั่วไปหมด


โดยปกติแล้วเมื่อใช้แฟลชเฉพาะกิจกับกล้อง ความเร็วชัตเตอร์จะปรับได้สูงสุดเท่ากับ Sync Speed เช่น กล้องที่สัมพันธ์กับแฟลชสูงสุดที่ 1/250 วินาที ก็จะไม่สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์สูงกว่า 1/250 วินาทีได้ (เพื่อป้องกันแถบดำบนภาพจากแสงแฟลชตกกระทบไม่ทั่วทั้งภาพ) ระบบสัมพันธ์แฟลชกับความเร็วชัตเตอร์สูง (HSS) จะช่วยให้คุณสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงกว่า Sync Speed ได้โดยไม่มีปัญหาแถบดำบนภาพ โดยจะสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้สูงสุดเท่าที่กล้องของคุณมี ประโยชน์คือคุณจะสามารถฟิลแฟลชกับแสงธรรมชาติได้โดยใช้รูรับแสงกว้าง เช่น f/1.4, f/2 หรือ f/2.8 เพื่อเบลอฉากหลังได้ เพราะถ้าไม่ใช้ระบบนี้ หากแสงแรงการฟิลแฟลชอาจต้องใช้รูรับแสงถึง f/8 หรือ f/11 ทำให้ไม่สามารถเบลอฉากหลังได้ แต่การใช้ระบบ HSS จะทำให้กำลังแฟลชลดลง คือ ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น 1 สตอป กำลังแฟลชก็จะลดลง 1 สตอปเช่นกัน ดังนั้นการใช้กับแสงแดดแรงๆ แฟลชควรมีขนาดใหญ่ ไกด์นัมเบอร์สูง เพื่อให้มีกำลังสูงพอที่จะฟิลได้ เพราะที่ความเร็วชัตเตอร์ 1/8000 วินาทีกับ f/2.8 แฟลชอาจมีระยะทำงานไม่ถึง 2 เมตร


โดยปกติแล้ว ระบบแฟลชจะทำงานร่วมกับกล้องในแบบสัมพันธ์กับม่านชุดแรก โดยเมื่อคุณกดปุ่มลั่นชัตเตอร์ แฟลชจะฉายแสงทันทีที่ม่านชัตเตอร์ชุดแรกเคลื่อนที่ไปจนสุดขอบบน แสงแฟลชจะกระทบกับเซ็นเซอร์รับภาพเต็มเฟรม จากนั้นม่านชัตเตอร์ชุดสองจะเคลื่อนลงมาปิด เมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำถ่ายภาพเคลื่อนไหวด้วยแฟลช เช่น ถ่ายภาพแทงลูกสนุกเกอร์ หากใช้ระบบสัมพันธ์แฟลชกับม่านชุดแรก สแฟลชจะฉายแสงทันทีที่ชัตเตอร์ทำงาน ลูกสนุกจะอยู่ส่วนท้ายของการเคลื่อนที่ ระบบแฟลชสัมพันธ์กับม่านชุดที่สอง จะทำงานโดยแฟลชจะยังไม่ฉายแสงทันทีที่ม่านชุดแรกเคลื่อนไปถึงขอบบน แต่จะฉายแสงทันทีที่ม่านชุดที่สองเริ่มเคลื่อนมาปิด ดังนั้นกล้องจะบันทึกแสงจากไฟฉายเป็นทางในขณะที่เด็กเด่นก่อน แล้วจึงฉายแฟลชไปที่เด็กในจังหวะสุดท้าย ภาพที่ได้จะดูสมจริงเพราะเด็กอยู่ส่วนหน้าสุดของการเคลื่อนที่ ระบบนี้สามารถเปิดใช้งานตลอดเวลาได้เลยครับ


การแยกแฟลชออกจากกล้องโดยไม่ใช้สายนั้น ทำได้ 3 รูปแบบ คือ ระบบ save แบบตาแมว (ใช้เซ็นเซอร์รับแสงแฟลชที่ด้านหน้าแฟลช) ระบบออพติคัล (ใช้อินฟราเรดในการส่งสัญญาณ) ระบบคลื่นวิทยุ (Radio Slove) แต่ในปัจจุบันจะนิยมใช้เฉพาะระบบคลื่นวิทยุเพราะทำงานได้ไกล ทำงานแน่นอนทุกครั้งแม้มีวัตถุต่างๆ บังแฟลชอยู่ และใช้กลางแดดจ้าก็ทำงาน ก่อนหน้านี้ระบบนี้จะทำงานกับทริคเกอร์ที่ต้องใช้คู่กันทั้งตัวส่งและตัวรับ แต่ปัจจุบันแฟลชหลายๆ รุ่นได้ฝังตัวส่งละตัวรับสัญญาณไว้ในแฟลชเลย จึงสามารถแยกแฟลชไร้สายระบบคลื่นวิทยุโดยไม่ต้องมีทริคเกอร์ เพียงแต่ต้องมีแฟลช 2 ตัวขึ้นไป แต่การใช้ทริคเกอร์ก็ยังเป็นสิ่งที่สะดวก เพราะมีขนาดเล็ก คอนโทรลง่าย และเรามักจะไม่ได้ใช้แฟลชที่ติดตัวกล้องฉายแสงเมื่อแยกแฟลช ในการแยกแฟลชจะมี 2 ค่าที่คุณต้องเซ็ท คือ CH (Channel) และ Group โดยต้องตั้งแชนเนลที่ตัวส่งกับแฟลชแยกให้ตรงกัน เช่น ใช้แฟลชทั้งหมด 4 ตัว ในการถ่าย ก็ต้องตั้งแฟลชเป็นแชนเนลเดียวกันทั้งหมด (มักจะปรับเลือกได้ 3 ถึง 6 แชนเนล) การที่ต้องมีหลายแชนเนลก็เพราะ หากใช้งานกันหลายคน ด้วยแฟลชยี่ห้อเดียวกัน สัญญาณจะได้ไม่รบกวนกัน โดยตั้งคนละช่องสัญญาณ ส่วน Group คือ ภายในแชนเนลนั้น ถ้าคุณใช้แฟลชตัวรับแยกออกจากกล้อง 2 ตัวขึ้นไป คุณสามารถตั้งให้แฟลชแต่ละตัวยิงแสงด้วยกำลังไม่เท่ากัน เพื่อควบคุมแสงในแต่ละจุดให้ได้ตามที่ต้องการ เช่น Group A ใช้แฟลช TTL 0.0EV , Group B ใช้แฟลช TTL -0.7EV , Group C ใช้แฟลช Manual 1/8 เป็นตั้น หากค่าแสงบนภาพออกมาไม่ได้ตามต้องการ เราไม่ต้องเสียเวลาไปปรับที่แฟลชแยก สามารถปรับจากทริคเกอร์หรือแฟลชตัวส่งได้ทันที จึงทำงานได้สะดวก


โดยปกติแล้วเมื่อเราใช้โหมด P หรือ A ในการถ่ายภาพ หากใช้แฟลช กล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ไปยังตำแหน่งที่สัมพันธ์กับแฟลช เช่น 1/200 หรือ 1/250 วินาที โดยอัตโนมัติ ทำให้ภาพที่ได้ฉากหลังมักจะมืด ไม่มีรายละเอียด สว่างเฉพาะใบหน้าตัวแบบของเรา ระบบ Slow Sync ออกแบบมาให้กล้องไม่ปรับความเร็วชัตเตอร์ไปที่ 1/200 หรือ 1/250 แต่จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ตามที่กล้องวัดแสงได้ แล้วฟิลแฟลชเพื่อให้ตัวแบบมีรายละเอียด ผลที่ได้คือ ภาพจะมีรายละเอียดทั้งตัวแบบและฉากหลัง ภาพจึงดูน่าสนใจกว่า มีมิติกว่า แต่สิ่งที่ต้องระวังมี 2 เรื่อง คือ ต้องถือกล้องให้นิ่ง เพราะถ้ากล้องสั่น ฉากหลังจะเบลอ ส่วนที่ตัวแบบ หากได้รับเฉพาะแสงแฟลช ตัวแบบจะยิงคมชัดปกติ แต่ถ้ามีแสงอื่นๆตกที่ตัวแบบด้วย บนภาพตัวแบบจะมีทั้งส่วนชัดและเบลอ เรื่องที่สองคือ ตัวแบบควรอยู่ในที่ๆ มืดกว่าฉากหลัง เพราะถ้าตัวแบบได้รับแสงเท่าๆ กับ ฉากหลังอยู่แล้ว การฟิลแฟลชเข้าไปจะทำให้ตัวแบบโอเวอร์ ระบบ Slow Sync มักจะต้องตั้งจากในเมนูแฟลชของกล้องนะครับ ไม่มีในเมนูที่ตัวแฟลช


ในการใช้แฟลช ผู้ใช้ส่วนใหญ่มักจะไม่ปรับซูมหัวแฟลชด้วยตัวเอง โดยจะตั้งเป็น A Zoom ปรับซูมหัวแฟลชอัตโนมัติตามทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ แฟลชจะปรับซูมให้ตรงกับเลนส์เพื่อให้ การกระจายแสงแฟลชครอบคลุมทั้งภาพ และเมื่อใช้เลนส์ช่วงเทเลแฟลชก็จะมีระยะทำงานไกลขึ้น แต่ในการใช้งานจริงเราสามารถใช้ระบบปรับซูมหัวแฟลชแบบแมนนวล (M Zoom) เพื่อควบคุมการกระจายแสงให้กว้างหรือแคบตามความต้องการ เราสามารถปรับซูมหัวแฟลชไปที่ 100-135 มม. เพื่อให้แสงแฟลชบีบเป็นมุมแคบๆ เพื่อส่งไปยังซับเจกต์หลักให้โดดเด่นกว่าส่วนอื่นๆในภาพ โดยแสงแฟลชจะไม่ตกกระทบทั้งภาพ


เมื่อใช้แฟลชในระบบ TTL หากแสงแฟลชในภาพสว่างหรือมืดเกินไป คุณจะต้องปรับชดเชยแสงแฟลชที่ตัวแฟลช (หรือที่เมนูชดเชยแสงแฟลชที่กล้อง) เท่านั้น ไม่สามารถปรับชดเชยแสงที่ตัวกล้องได้ เพราะกล้องจะไปปรับค่าแสงธรรมชาติด้วย อาจทำให้ค่าแสงโดยรวมในภาพผิดพลาดไปหมดทั้งแสงธรรมชาติและแฟลช การปรับชดเชยแสงแฟลชนั้น ให้ปรับไปทางค่าลบเมื่อต้องการลดกำลังแฟลชให้น้อยลงไม่ให้แสงแฟลชโอเวอร์ และปรับไปทางค่าบวกเมื่อต้องการให้แสงแฟลชในภาพสว่างขึ้น(หากชดเชยบวกเต็มที่แล้วแสงแฟลชในภาพไม่สว่างขึ้นแสดงว่าแฟลชยิงแสงไปเต็มกำลังแล้วยังไม่พอ) หากที่ตัวกล้องมีเมนูแยกการชดเชยแสงธรรมชาติกับการชดเชยแสงแฟลช แนะนำให้ปรับแยกเลยครับ เมื่อคุณชดเชยแสงธรรมชาติ จะไม่ให้ไปกระทบกับค่าแสงแฟลชในภาพ


เมื่อใช้แฟลชเฉพาะกิจ (ทำงานสัมพันธ์กับกล้อง) บนจอ LCD จะแสดงช่วงระยะทำงานของแฟลชให้ทราบ เช่น เปิด f/4 แฟลชจะทำงานตั้งแต่0.7-6.0 เมตร (TTL) เป็นต้น แสดงว่าหากถ่ายที่ระยะใกล้กว่า 0.7 เมตร ภาพอาจโอเวอร์ แต่ถ้าไกลกว่า 6.0 เมตร ภาพจะอันเดอร์แน่นอน ดังนั้นจึงต้องใช้ในช่วง 0.7-6.0 เมตรเท่านั้น ส่วนโหมดแฟลช M นั้น บนหน้าจอ LCD จะแสดงจุดเดียว เช่น เปิด f/5.6 ด้วยกำลังแฟลช 1/4 ต้องถ่ายที่ระยะ 4 เมตร คุณก็ต้องวางซับเจกต์ห่าง 4 เมตร เท่านั้น หากซับเจกต์ห่าง 3 เมตร คุณก็ต้องลดกำลังแฟลช ลงจนมาร์คแสดงค่าอยู่ที่ 3 เมตร เช่นเดียวกับการใช้แฟลชในโหมด High speed sync หรือ MULTI จะต้องดูค่าระยะทางที่สเกลบนจอ LCD ของแฟลชเสมอ และพึงระลึกไว้เสมอว่า แฟลชจะแสดงระยะทางตามไกด์นัมเบอร์ของแฟลช ซึ่งจริงๆ แล้วมักไม่เต็มตามสเปค ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ไกลเกินค่าที่แสดงไว้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะโหมดแฟลช M ควรเผื่อระยะห่างของตัวแบบให้ใกล้กว่าระยะที่แสดงบนหน้าจอ LCD ของแฟลชเล็กน้อย

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic