NEWS PR NEWS

10 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2568

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT คัดสรร 10 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2568 มาฝากคนไทย มีอะไรบ้างไปดูกัน

1. #ดาวอังคารใกล้โลก และ #ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์

เปิดศักราชมาด้วย 2 ปรากฏการณ์เกี่ยวกับ #ดาวอังคาร ในคืนวันที่ 12 มกราคม 2568 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ระยะห่างประมาณ 96 ล้านกิโลเมตร จากนั้นจะโคจรไปอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์วันที่ 16 มกราคม 2568 ช่วงดังกล่าวสามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน ปรากฏสว่างเป็นสีส้มแดงบนฟ้า หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นน้ำแข็งสีขาวบริเวณขั้วของดาวอังคารได้ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทุก ๆ ประมาณ 26 เดือน

วันที่ 12 – 16 มกราคม 2568 เป็นช่วงเวลาเหมาะสมในการสังเกตการณ์ดาวอังคารมากที่สุด เนื่องจากคืนวันที่ 12 มกราคม 2568 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ระยะห่างประมาณ 96 ล้านกิโลเมตร และหลังจากนั้นจะโคจรไปอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์วันที่ 16 มกราคม 2568 ช่วงดังกล่าวสามารถสังเกตดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะเห็นดาวอังคารส่องสว่างประกายสีส้มแดงบนท้องฟ้า และเมื่อสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นน้ำแข็งสีขาวที่อยู่บริเวณขั้วของดาวอังคารได้

ดาวอังคารไม่ได้เข้าใกล้โลกมากที่สุดในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์พอดี เนื่องจากวงโคจรของดาวอังคารค่อนข้างรี จึงทำให้วันที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุดนั้นเคลื่อนไปจากวันที่ดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์เล็กน้อย ซึ่งดาวอังคารจะเคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งนี้ทุก ๆ 26 เดือน

2. #ดาวศุกร์สว่างที่สุด

เกิดขึ้น 2 ครั้งในรอบปีนี้ ครั้งแรกช่วงหัวค่ำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ทางทิศตะวันตก และช่วงรุ่งเช้า วันที่ 24 เมษายน 2568 ทางทิศตะวันออก

ในปี 2568 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุด 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ช่วงหัวค่ำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 21:00 น. และ ครั้งที่ 2 ช่วงเช้ามืดวันที่ 24 เมษายน 2568 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 03:51 น. จนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ คาดว่ามีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12)

ดาวศุกร์สว่างที่สุด (The Greatest Brilliancy) คือช่วงที่ดาวศุกร์โคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม และมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ จึงปรากฏสว่างมากบนท้องฟ้า สำหรับในช่วงอื่น แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย การที่เราเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวอยู่เสมอ เนื่องจากดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ โคจรรอบดวงอาทิตย์ใกล้กว่าโลก จึงไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ เพราะจะปรากฏสว่างเต็มดวงเมื่ออยู่หลังดวงอาทิตย์ ดังนั้น คนบนโลกจึงมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวอยู่เสมอ ความหนาบางของเสี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งของวงโคจร และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด 47.8 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือในช่วงเวลาดึก ทั้งนี้ หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”

3. #ดาวเสาร์เสมือนไร้วงแหวน

ช่วงวันที่ 23 – 24 มีนาคม 2568 ดาวเสาร์จะปรากฏเสมือนไร้วงแหวน เป็นมุมมองจากโลกที่จะเห็นลักษณะนี้ทุก ๆ 15 ปี แต่ช่วงวันดังกล่าวดาวเสาร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จึงขึ้นและตกในเวลากลางวัน ส่งผลให้สังเกตการณ์ได้ยาก ผู้สนใจแนะนำชมช่วงดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปีวันที่ 21 กันยายน 2568

ช่วงวันที่ 23 – 24 มีนาคม 2568 จะเป็นช่วงที่วงแหวนดาวเสาร์มีมุมเอียงน้อยที่สุด ผู้สังเกตบนโลกจึงมองเห็นดาวเสาร์เสมือน “ไร้วงแหวน” ซึ่งมุมเอียงของวงแหวนดาวเสาร์จะเปลี่ยนแปลงไปตามการโคจรของดาวเสาร์รอบดวงอาทิตย์ หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 29.4 ปี ส่งผลให้ดาวเสาร์จะปรากฏเสมือน “ไร้วงแหวน” เมื่อมองจากโลกในทุก ๆ 15 ปี

ช่วงเวลาดังกล่าวดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กับดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่บนท้องฟ้าในช่วงเวลากลางวันและยากต่อการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก แต่ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงมุมเอียงและโครงสร้างของวงแหวนดาวเสาร์ในระนาบต่าง ๆ

นักดาราศาสตร์สามารถใช้ช่วงเวลานี้ในการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฝุ่นและอนุภาคในวงแหวนดาวเสาร์ รวมถึงการกระจายตัวของอนุภาคเหล่านี้ นอกจากนี้ ความน่าสนใจคือระนาบการเอียงที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ทำให้วงแหวนดาวเสาร์ปรากฏแตกต่างไปตามมุมมองที่มองจากโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ของการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่น่าติดตาม

4. #ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

วันที่ 21 กันยายน 2568 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) จึงมีระยะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,279 ล้านกิโลเมตร สังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งคืน และแม้ว่าช่วงดังกล่าวจะไม่ปรากฏเสมือนไร้วงแหวน แต่ระนาบวงแหวนยังคงมีมุมเอียงที่น้อย จึงจะเห็นเป็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนบาง ๆ

วันที่ 21 กันยายน 2568 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,279 ล้านกิโลเมตร หรือ 8.55 หน่วยดาราศาสตร์ ในวันดังกล่าวจะสังเกตดาวเสาร์ได้ทางทิศตะวันออกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ปรากฏสว่างเด่นชัดตลอดทั้งคืน จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป

ดาวเสาร์โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี ระยะห่างของดาวเสาร์ในช่วงใกล้โลกแต่ละครั้งจึงมีค่าไม่เท่ากัน อยู่ที่ประมาณ 8-9 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งดาวเสาร์จะใกล้โลกทุก ๆ 378 วัน นอกจากนี้ ระนาบเส้นศูนย์สูตรและวงแหวนดาวเสาร์ทำมุมเอียงกับระนาบวงโคจรของดาวเสาร์รอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ลักษณะปรากฏของวงแหวนดาวเสาร์มีมุมเอียงหันเข้าหาโลกแต่ละครั้งไม่เหมือนกันอีกด้วย

5. #จันทรุปราคาเต็มดวง

ไฮไลต์เด่นที่น่าจับตาที่สุดในปีนี้ เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงในไทยที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบสามปี (ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2565) เกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 – เช้ามืด 8 กันยายน 2568 เวลาประมาณ 22:29 น. ถึง 03:55 น. (ตามเวลาประเทศไทย) คราสเต็มดวงเวลาประมาณ 00:31 ถึง 01:53 น. ช่วงดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ นาน 1 ชั่วโมง 22 นาที ประเทศไทยมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าตลอดปรากฏการณ์

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาในปี 2568 เป็นปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” เกิดขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ 7 กันยายน 2568 เวลา 22:29 น. ถึงเช้ามืดวันที่ 8 กันยายน 2568 เวลา 03:55 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สังเกตได้หลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา ตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ ตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ สำหรับประเทศไทยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าตลอดปรากกฏการณ์ ซึ่งช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ ตั้งแต่เวลา 00:31 ถึง 01:53 น. รวมระยะเวลานาน 1 ชั่วโมง 22 นาที

ลำดับการเกิดปรากฏการณ์
– เริ่มเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว 7 กันยายน 2568 เวลา 22:29 น.
– เริ่มเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน 7 กันยายน 2568 เวลา 23:27 น.
– เริ่มเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง 8 กันยายน 2568 เวลา 00:31 น.
– กึ่งกลางคราส 8 กันยายน 2568 เวลา 01:12 น.
– สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง 8 กันยายน 2568 เวลา 01:53 น.
– สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน 8 กันยายน 2568 เวลา 02:57 น.
– สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว 8 กันยายน 2568 เวลา 03:55 น.

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง หรือช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก

6. #ดวงจันทร์เต็มดวง ใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) ตรงกับวันที่ 13 เมษายน 2568 ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กว่าปกติเล็กน้อย และปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย

ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ทำให้ทุก ๆ เดือนดวงจันทร์ผ่านตำแหน่งใกล้โลกที่สุด เรียกว่า “Perigee” และไกลโลกที่สุดเรียกว่า “Apogee” อยู่เสมอ แต่เมื่อใดก็ตามที่ดวงจันทร์เต็มดวงและอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี จะเรียกว่า “Super Full Moon” ในทางตรงกันข้าม หากดวงจันทร์เต็มดวงและอยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลโลกที่สุดในรอบปี จะเรียกว่า “Micro Full Moon”

ในปี 2568 ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี” (Micro Full Moon) ตรงกับวันที่ 13 เมษายน 2568 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 405,995 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กว่าปกติเล็กน้อย เริ่มสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:48 น. เป็นต้นไป ส่วนปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” (Super Full Moon) จะตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 356,966 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เริ่มสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณ 17:31 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกที่สุดมีความแตกต่างกับช่วงไกลโลกที่สุดเพียงร้อยละ 14 และมีความสว่างต่างกันประมาณร้อยละ 30

7. #ฝนดาวตกน่าติดตาม

ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เกิดจากโลกโคจรเข้าตัดผ่านสายธารเศษหินและฝุ่นในอวกาศที่ดาวเคราะน้อยและดาวหางทิ้งไว้ ไฮไลต์เด่นของฝนดาวตกในปี 2568 คือ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” (อัตราการตก 150 ดวงต่อชั่วโมง) คืนวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2568 ปีนีี้ไม่มีแสงจันทร์รบกวน

ฝนดาวตก (Meteor showers) เกิดจากการที่โลกโคจรตัดผ่านสายธารของเศษหินและฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ในอวกาศ เป็นเศษที่หลงเหลือจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย หรือเศษวัตถุที่ปล่อยออกมาจากดาวหาง โดยแรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเศษวัตถุเหล่านี้เข้ามา ทำให้เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ ในช่วงเวลานี้จึงเกิดดาวตกบนท้องฟ้าในอัตราที่สูงกว่าปกติ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball

“ฝนดาวตก” แตกต่างจาก “ดาวตก” ทั่วไป คือมีทิศทางจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้น ๆ นอกจากนี้ ฝนดาวตกแต่ละชุดนั้นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมของทุกปี เพราะในหนึ่งปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ โลกจะโคจรตัดผ่านสายธารเศษฝุ่นที่ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยทิ้งเอาไว้เมื่อครั้งที่โคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งสายธารเหล่านั้นคงอยู่ที่ตำแหน่งเดิมเสมอ เมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปก็จะดึงดูดเอาเศษฝุ่นเข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการเผาไหม้ ปรากฏเป็นแสงวาบให้คนบนโลกเห็นเป็นดาวตกหลายดวงที่พุ่งออกมาจากจุดเดียวกันนั่นเอง

8. #ดาวเคียงเดือน และ #ดาวเคราะห์ชุมนุม

ในปี 2568 มีปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน และดาวเคราะห์ชุมนุมให้ชมตลอดทั้งปี ได้แก่ 4 ม.ค. 68 ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์ / 18 ม.ค. 68 ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์ / 1 ก.พ. 68 ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์ / 11 เม.ย. 68 ดาวพุธเคียงดาวเสาร์ / 25 เม.ย. 68 ดวงจันทร์เคียงดาวศุกร์และดาวเสาร์ / 26 เม.ย. 68 ดวงจันทร์เคียงดาวพุธ / 29 เม.ย. 68 ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์ / 2 พ.ค. 68 ดวงจันทร์เคียงดาวพอลลักซ์และคาสเตอร์ (ปรากฏคล้ายพระจันทร์ยิ้ม) / 23 พ.ค. 68 ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์ / 24 พ.ค. 68 ดวงจันทร์เคียงดาวศุกร์ / 1 มิ.ย. 68 ดวงจันทร์เคียงดาวอังคาร / 12 ส.ค. 68 ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี

“ดาวเคียงเดือน” เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี เมื่อมองในมุมมองจากโลกจึงเห็นดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกัน

ส่วน “ดาวเคราะห์ชุมนุม” หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา หากมองด้วยตาจะเห็นดาวทั้งสองห่างกันประมาณหนึ่งนิ้วก้อย (การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย)

ติดตามชมความสวยงามของ “ดาวเคียงเดือน” และ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” ได้ตลอดทั้งปี

9. #ดวงอาทิตย์ตั้งฉากประเทศไทย

ประเทศไทยมีช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะ 2 ครั้งในรอบปี ครั้งแรกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เริ่มจากภาคใต้ไล่ขึ้นไปเรื่อย ๆ กรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 27 เมษายน 2568 และจบที่ภาคเหนือในเดือนพฤษภาคม ส่วนครั้งที่สองอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน โดยเริ่มจากภาคเหนือปลายเดือนกรกฎาคม ไล่ลงไปจนถึงกรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2568 และจบที่ภาคใต้ในช่วงเดือนกันยายน ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะ (ตั้งฉากกับประเทศไทย) จะแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ สังเกตได้จากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดีเสมือนไร้เงา

ดวงอาทิตย์ไม่ได้ผ่านจุดเหนือศีรษะพอดีในทุก ๆ วัน มีเพียง 1 – 2 วันต่อปีเท่านั้นที่ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับผู้สังเกตบนโลก ทำให้เมื่อยืนกลางแดดในช่วงเที่ยงของวันดังกล่าว จะสังเกตเห็นเงาของร่างกายทอดอยู่ใต้เท้าพอดี ไม่เฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “วันไร้เงา” ทั้งนี้วันและเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้สังเกตบนโลก และจะมีเพียงผู้สังเกตที่อยู่และติจูด ตั้งแต่ 23.5 องศาเหนือ ไปจนถึงละติจูด 23.5 องศาใต้ เท่านั้นที่จะเกิดปรากฏการณ์นี้ได้

ประเทศไทยมีช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะ 2 ครั้งในรอบปี ครั้งแรกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม โดยเริ่มจากภาคใต้ในช่วงต้นเดือนเมษายน ไล่ไปจนถึงกรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 27 เมษายน 2568 และภาคเหนือในเดือนพฤษภาคม และครั้งที่สองในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน โดยเริ่มจากภาคเหนือในปลายเดือนกรกฎาคม ไล่ไปจนถึงกรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2568 และภาคใต้ในช่วงเดือนกันยายน

10. #ฤดูกาลทางดาราศาสตร์

วันที่กำหนดฤดูกาลต่าง ๆ ของโลกในปี 2568 มีดังนี้

– วันที่ 20 มีนาคม 2568 #วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

– วันที่ 21 มิถุนายน 2568 #วันครีษมายัน (Summer Solstice) ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

– วันที่ 23 กันยายน 2568 #วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนนับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

– วันที่ 21 ธันวาคม 2568 #วันเหมายัน (Winter Solstice) ช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

ฤดูกาลบนโลกนั้น เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ช่วงเวลากลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาว ที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว และมีช่วงเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ทำให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ดังนี้

#วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม 2568 จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน เรียกว่า “วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox)” ซีกโลกเหนือเป็นฤดูใบไม้ผลิ ซีกโลกใต้เป็นฤดูใบไม้ร่วง

#วันครีษมายัน (Summer Solstice) ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2568 จะเป็นวันที่ขั้วโลกเหนือชี้เข้าหาดวงอาทิตย์ เรียกว่า “วันครีษมายัน (Summer Solstice)” กล่าวคือ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เฉียงไปทางเหนือมากที่สุดคือ 23.5 องศา ผู้ที่อยู่ซีกโลกเหนือจะอยู่ในช่วงฤดูร้อน และวันดังกล่าวเป็นวันที่มี “กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี” ในขณะที่ซีกโลกใต้จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว และเป็นวันที่ “กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี”

#วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 23 กันยายน 2568 จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีอีกครั้ง ส่งผลให้กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากันเรียกว่า “วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)” ซีกโลกเหนือเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูใบไม้ร่วง ซีกโลกใต้เปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ อีกทั้งยังเป็นวันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

#วันเหมายัน (Winter Solstice) ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม 2568 จะเป็นวันที่ขั้วโลกใต้ชี้เข้าหาดวงอาทิตย์ เรียกว่า “วันเหมายัน (Winter Solstice)” กล่าวคือ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เฉียงไปทางใต้มากที่สุด คือ -23.5 องศา ผู้ที่อยู่ซีกโลกเหนือจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว และวันดังกล่าวเป็นวันที่มี “กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี” ในขณะที่ซีกโลกใต้จะอยู่ในช่วงฤดูร้อน และเป็นวันที่ “กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี” (ตรงข้ามกับ Summer Solstice)

ที่มา / รายละเอียดเพิ่มเติม

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video