นอกจากการถ่ายภาพแฟชั่นแล้ว ดูเหมือนว่าภาพ Still Life จะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมากที่สุดซึ่งจริงๆ แล้วไม่น้อยไปกว่าภาพแฟชั่นด้วยซํ้า เพราะไม่ว่าในนิตยสาร แคตาล็อก หรือเวบไซต์ล้วนแต่ต้องการภาพสินค้า รวมทั้งยังมีประโยชน์อีกหลายด้านในการถ่ายภาพ Still Life ที่ถูกมองข้าม
ในอดีตการถ่ายภาพ Still Life อาจต้องใช้ทั้งเงินและความอดทนมาก แต่ปัจจุบันทั้งด้วยอุปกรณ์ถ่ายภาพต่างๆ ที่มีราคาถูกลงรวมทั้งยังสามารถดูผลลัพธ์จากกล้องดิจิตอลได้ทันทีจึงทำให้การถ่ายภาพ Still Life มีความสะดวกและถูกขึ้นมาก อย่างไรก็ตามจริงๆ แล้วในการถ่ายภาพ Still Life นักถ่ายภาพไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการใช้สตูดิโอ แต่สามารถเริ่มทำได้ง่ายๆ ภายในพื้นที่ที่บ้านเช่นการจัดพื้นสำหรับถ่ายภาพโดยวางโต๊ะไว้ใกล้หน้าต่างพร้อมกับใช้ฉากหลังง่ายๆ และโคมไฟ
สิ่งที่ทำให้การถ่ายภาพ Still Life แตกต่างจากภาพทิวทัศน์หรือภาพบุคคลตรงที่ภาพเหล่านี้มีวัตถุในการถ่ายภาพเช่นภูเขาหรือนางแบบซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่หรือแต่ละคนและช่วงเวลา แต่ความแตกต่างของวัตถุในภาพ Still Life จะชึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ของนักถ่ายภาพ โดยที่นักถ่ายภาพเป็นผู้คุมทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด และต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการเริ่มต้นฝึกถ่ายภาพ Still Life
เลือกวัตถุถ่ายภาพ
วัตถุที่ถ่ายภาพจะขึ้นอยู่กับตัวนักถ่ายภาพเอง ซึ่งสามารถลองหาดูในบ้านได้ว่ามีสิ่งของง่ายๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถนำมาใช้เริ่มถ่ายภาพได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรคิดถึงวัตถุอย่างดอกไม้หรือผลไม้เนื่องจากเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ถ่ายภาพสิ่งเหล่านี้ แต่ควรลองคิดถึงสิ่งที่แตกต่างออกไปโดยที่เป็นสิ่งที่มีความสนใจ โดยควรหลีกเลี่ยงวัตถุที่มีลักษณะหรือพื้นผิวสะท้อนแสงอย่างกระจกหรือโลหะในการเริ่มต้นถ่ายภาพ เพราะเป็นสิ่งที่ยากในการจัดแสงเมื่อสามารถหาวัตถุได้และลองถ่ายภาพที่มีวัตถุนั้นเดี่ยวๆ แล้ว ควรลองนำสิ่งอื่นเข้ามาใส่ไว้ในภาพด้วย โดยอาจเลือกวัตถุที่มีรูปทรง สี พื้นผิวที่แตกต่างกันแล้วดูถึงผลลัพธ์ที่ออกมาว่าสามารถจัดการในภาพนั้นได้อย่างไร
เลือกเลนส์
แม้ว่าโดยทั่วไปในการถ่ายภาพ Still Life ของนักถ่ายภาพระดับโปรที่ถ่ายภาพเพื่อโฆษณาหรือเพื่อธุรกิจต่างๆ จะเลือกใช้เลนส์ทิลต์แอนด์ชิฟต์หรือเลนส์มาโคร แต่สำหรับการเริ่มต้นฝึกถ่ายภาพ Still Life เลนส์ทางยาวโฟกัสหนึ่งที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นคือเลนส์เดี่ยวทางยาวโฟกัสมาตรฐานอย่าง 50 มม. สำหรับกล้องฟูลเฟรมหรือประมาณ 35 มม. และ 25 มม. สำหรับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C และ FourThirds แม้ว่า จริงๆ แล้วเลนส์มาตรฐานจะถูกจัดเป็นเลนส์มุมกว้างสำหรับการถ่ายภาพ Still Life เพราะหากถ่ายภาพโดยมีสิ่งของเพียงหนึ่งหรือสองชิ้นในภาพ หรือสิ่งของที่มีขนาดเล็กจะทำให้มีพื้นที่และฉากหลังในภาพมาก แต่นักถ่ายภาพก็จะสามารถลดพื้นที่ว่างในภาพลงได้ด้วยการขยับเข้าใกล้วัตถุให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามหากไม่มีเลนส์เดี่ยวช่วงทางยาวโฟกัสมาตรฐานและยังไม่อยากลงทุนในส่วนนี้ช่วงฝึกถ่ายภาพ เลนส์ซูมมาตรฐานช่วงมุมกว้างถึงเทเลที่นักถ่ายภาพมักมีกันอยู่แล้วก็เป็นทางเลือกที่ดี รวมทั้งยังให้ความยืดหยุ่นมากขึ้นในการจัดภาพ แม้ว่าความคมชัดจะสู้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวไม่ได้ก็ตาม
แสงธรรมชาติ
นอกจากการหาวัตถุง่ายๆ ใกล้ ตัวแล้ว อีกสิ่งที่ช่วยให้สามารถเริ่มต้นถ่ายภาพ Still Life ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องลงทุนมากคือการใช้แสงธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามควรมีการเลือกใช้แสงธรรมชาติอย่างเหมาะสม วิธีง่ายๆ ในการใช้แสงธรรมชาติจากหน้าต่างควรปิดไฟทุกดวงในห้อง จากนั้นวางโต๊ะสำหรับถ่ายภาพและวัตถุโดยให้แสงด้านหนึ่งของวัตถุแล้วถ่ายภาพจากด้านหน้าวัตถุ อย่างไรก็ตามผลที่ได้จากการใช้แสงธรรมชาติจะขึ้นอยู่กับขนาดของห้องรวมทั้งพื้นผิวของห้อง โดยหากห้องมีขนาดไม่ใหญ่ ผนังและเพดานห้องมีสีขาวแสงที่ผ่านหน้าต่างเข้ามาส่วนใหญ่ก็จะถูกเบ๊าซ์จากรอบๆ ห้องและให้แสงแก่วัตถุในด้านที่ไม่ได้หันเข้าหาหน้าต่าง แต่หากห้องมีขนาดใหญ่หรือผนังและเพดานมีสีเข้มก็จะทำให้เกิดเงากับวัตถุในด้านตรงข้ามกับหน้าต่างมากขึ้น
วัตถุที่ถ่ายภาพ Still Life บางอย่างอาจดูดีเมื่อมีคอนทราสต์สูงระหว่างส่วนสว่างหรือไฮไลต์กับส่วนมืดหรือส่วนเงา แต่หากมีคอนทราสต์มากเกินไปนักถ่ายภาพก็สามารถเพิ่มความสว่างให้กับส่วนเงาได้ด้วย Reflector ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการติดกระดาษสีขาวกับหนังสือแล้ววางไว้ใกล้ๆ ส่วนที่เป็นเงาของวัตถุ เพื่อให้แสงจากหน้าต่างสะท้อนกระดาษสีขาวเข้าสู่เงาของวัตถุ โดยที่ใช้ระยะระหว่างกระดาษขาวกับวัตถุเพื่อควบคุมการสะท้อนแสงไปที่เงาเมื่อถ่ายภาพโดยใช้แสงธรรมชาติ การใช้โต๊ะขนาดเล็กเพื่อจัดวางสิ่งของสำหรับถ่ายภาพ Still Life จะทำให้นักถ่ายภาพสามารถขยับโต๊ะเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันของแสงได้ โดยควรลองหมุนโต๊ะไปรอบๆ ในพื้นที่ที่แสงตกนอกจากการที่ให้แสงเข้าที่ด้านหน้าของวัตถุ รวมทั้งควรลองขยับตำแหน่งของวัตถุบนโต๊ะเพื่อดูผลลัพธ์ที่ได้จากแสง
ไวต์บาลานช์
นอกจากสีของแสงจะเปลี่ยนไปตามแหล่งแสงที่ใช้ถ่ายภาพ อย่างเช่นแสงจากดวงอาทิตย์ แสงจากแฟลช หรือแสงจากโคมไฟ เมื่อใช้แสงธรรมชาติถ่ายภาพสีของแสงยังเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาแต่ละช่วงของวันด้วย อย่างเช่นสีของแสงจะมีโทนอุ่นในช่วงเช้าและเย็นใกล้ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ขณะที่ในช่วงกลางวันแสงจะมีโทนที่เย็นกว่าหรืออมสีฟ้า รวมไปถึงในวันที่มีเมฆมาก หรือในพื้นที่ร่วมของวันที่มีแสงแดดจัดด้วยที่แสงจะอมโทนสีฟ้า ซึ่งสีของแสงเหล่านี้เปลี่ยนไปตามอุณหภูมิแสง ซึ่งตาของคนมักจะไม่ค่อยรับรู้ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องสีของแสงเนื่องจากมีการปรับตามการเปลี่ยนแปลงอัตโนมัติ
เมื่อถ่ายภาพ Still Light โดยใช้แสงธรรมชาติโดยทั่วไปการทำงานปรับไวต์บาลานช์อัตโนมัติของกล้องมักสามารถรับมือได้ดี แต่หากวัตถุที่เต็มไปด้วยสีสันแล้วต้องการความมั่นใจว่าสีของวัตถุจะออกมามีความถูกต้องในภาพหรือใกล้เคียงที่สุด การปรับไวต์บาลานช์แมนนวลหรือคัสตอมไวต์บาลานช์จะเป็นทางเลือกที่ดี ซึ่งวิธีการปรับไวต์บาลานช์แมนนวลในกล้องจากแต่ละผู้ผลิตจะมีความแตกต่างกันไป แต่มักจะมีหลักการณ์ที่เหมือนกันคือปรับจากวัตถุสีขาวในสภาพแสงเดียวกับวัตถุที่ถ่ายภาพ นอกจากการปรับไวต์บาลานช์ในขณะถ่ายภาพภาพแล้ว เมื่อถ่ายภาพแบบ RAW นักถ่ายภาพจะสามารถปรับแก้ไขไวต์บาลานช์ในขั้นตอนปรับภาพภายหลังได้อีกครั้ง
ใช้แสงและจัดแสงง่ายๆ
ในการฝึกถ่ายภาพ Still Light นักถ่ายภาพไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ให้แสงราคาแพง และหากไม่อยากลงทุนไปกับแฟลชหรือไฟในช่วงเริ่มต้นก็สามารถลองใช้แสงที่มีอยู่แล้วคือแสงจากดวงอาทิตย์ได้ อย่างไรก็ตามควรจำไว้ว่านักถ่ายภาพจำเป็นต้องควบคุมทุกสิ่งในการถ่ายภาพ ดังนั้นจึงควรหาพื้นที่ที่สามารถกันแสงจากธรรมชาติได้อย่างห้องหรือพื้นที่ในบ้านที่มีผ้าม่านเพื่อช่วยในการควบคุมแสงที่มีผลต่อวัตถุ นอกจากนี้โคมไฟตั้งโต๊ะก็สามารถใช้เป็นแหล่งแสงสำหรับถ่ายภาพได้หากใช้อย่างเหมาะสม โดยควรลองวางตำแหน่งของโคมไฟไว้หลายๆ จุดเมื่อถ่ายภาพ ไม่ใช้แสงในลักษณะเฉพาะที่มาจากด้านหน้าวัตถุเท่านั้น เพราะแสงจากด้านข้างหรือแม้แต่แสงจากด้านหลังวัตถุก็สามารถสร้างความน่าสนใจให้แก่ภาพได้จากทั้งเงาและความลึกของภาพ ดังนั้นหากถ่ายภาพในห้องที่มีหน้าต่างก็ควรใช้สิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์โดยจัดให้แสงธรรมชาติเข้าสู่ด้านหนึ่งเพื่อให้แสงแก่วัตถุ แล้วใช้โคมไฟหรือ Reflector เพื่อเพิ่มแสงในอีกด้าน
ใช้ขาตั้งกล้องแล้วเปลี่ยนมุมถ่ายภาพ
แม้ว่าการใช้ขาตั้งกล้อง และรีโมตหรือระบบหน่วงเวลาถ่ายภาพหรือไม่เมื่อถ่ายภาพ Still Life จะขึ้นอยู่กับแสงที่ใช้ถ่ายภาพ แต่การใช้ขาตั้งกล้องจะช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถสังเกตและทำงานกับวัตถุที่ถ่ายภาพได้ดีขึ้น นอกเหนือไปจากการที่ทำให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้นานขึ้นเพื่อหรี่รูรับแสงลงสำหรับการมีระยะชัดในภาพที่มากขึ้นหากต้องการอย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ควรคิดถึงเสมอก็คือ แม้จะใช้ขาตั้งกล้องเพื่อให้กล้องมีความนิ่งขณะถ่ายภาพ แต่อย่าให้ความนิ่งเป็นข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ โดยการถ่ายภาพด้วยกล้องที่อยู่ในตำแหน่งเดิมตลอดทุกภาพ แต่ควรถ่ายภาพโดยการเปลี่ยนมุมและความสูงของกล้องด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้มีแต่คอลเลกชั่นภาพที่ถ่ายจากมุมเดียวกันโดยอาจมีความแตกต่างกันด้วยการซูม เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งนี้จึงควรเปลี่ยนมุมถ่ายภาพโดยลองถ่ายภาพจากทั้งมุมที่กล้องมีความสูงในระดับเดียวกับวัตถุ รวมทั้งจากมุมที่สูงกว่าวัตถุในระดับต่างๆ โดยสิ่งหนึ่งต้องระวังเมื่อขยับมุมถ่ายภาพคือตัวนักถ่ายภาพจะต้องไม่บังแสงที่เข้าสู่วัตถุ
เลือกฉากหลังที่เหมาะสม
การใช้ฉากหลังที่เหมาะกับวัตถุเป็นสิ่งสำคัญต่อความน่าสนใจของภาพ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือเลือกฉากหลังที่ดูดีและเรียบง่าย ซึ่งจะไม่ดึงความสนใจจากวัตถุ โดยกำแพงที่มีสีเรียบๆ รวมทั้งกระดาษขาวหรือกระดาษสีขนาดใหญ่มักเป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับใช้ถ่ายภาพ
นอกจากนี้ควรคิดถึงการเลือกฉากหลังที่มีความแตกต่างจากวัตถุ โดยหากมองหาสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติก็จะพบว่ามีวัตถุมากมายสำหรับใช้เป็นฉากหลัง ที่มีโทนสีตรงกันข้ามกับวัตถุ นอกจากนี้หากวัตถุที่ถ่ายภาพมีขนาดเล็กก็ไม่จำเป็นต้องมีฉากหลังที่ใหญ่หรือสามารถนำวัตถุไปวางบนพื้นผิวที่ต้องการถ่ายภาพได้เลย นอกจากนี้กำมะหยี่สีดำยังเป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับใช้เป็นฉากหลัง เนื่องจากมีลักษณะที่ดูดซับแสงและทำให้ดูเป็นพื้นผิวที่ดำสนิท
พัฒนาประสบการณ์
สิ่งสำคัญในการเริ่มถ่ายภาพ Still Life คือการฝึก โดยการลองตั้งกล้อง และฉากหลังใกล้ๆ กับหน้าต่างในจุดที่มีแสงเหมาะสำหรับถ่ายภาพ และเมื่อลองถ่ายภาพในลักษณะพื้นฐานแล้ว ควรลองเพิ่มการสร้างสรรค์ หาประสบการณ์ด้วยการเปลี่ยนมุมของกล้อง ตำแหน่งและมุมของแสง รวมทั้งการใช้แหล่งแสงต่างๆ เช่นโคมไฟ นอกจากนี้นักถ่ายภาพยังสามารเพิ่มการสร้างสรรค์ภาพด้วยการใช้รูรับแสงได้ อย่างเช่นการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวและรูรับแสงกว้าง F1.8 ถ้ามีเพื่อให้ได้ระยะชัดที่น้อย
องค์ประกอบภาพ
เช่นเดียวกับการถ่ายภาพอื่นๆ ที่องค์ประกอบภาพก็เป็นสิ่งสำคัญในการถ่ายภาพ Still Life ในการทำให้ภาพดูน่าสนใจและมีความแตกต่างจากภาพอื่น แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ควรคิดเมื่อจัดองค์ประกอบภาพคือกฏสามส่วน ว่าจะช่วยให้ภาพที่ถ่ายนั้นมีองค์ประกอบภาพที่ดูดีได้อย่างไร นอกจากนี้ควรจัดองค์ประกอบภาพโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความสับสนในภาพระหว่างวัตถุกับฉากหลัง นอกจากนี้เช่นเดียวกับที่ควรถ่ายภาพในหลายๆ มุม ที่ควรจัดองค์ประกอบภาพโดยวางวัตถุในตำแหน่งต่างๆ ของภาพด้วย รวมไปถึงควรลองวางวัตถุในตำแหน่งนอกกรอบคำแนะนำในการจัดองค์ประกอบภาพด้วยมีสิ่งที่ควรคิดเมื่อจัดองค์ประกอบภาพคือ อะไรคือเส้นนำสายตาในภาพ ควรให้ภาพมีพื้นที่ว่างมากหรือใส่สิ่งของเข้าไปในพื้นที่ว่าง เลือกสิ่งที่อยู่ในภาพบอกเรื่องราวอะไรหรือไม่ สิ่งที่ใส่เพิ่มเข้ามาเพื่ออะไร รวมไปถึงควรถ่ายภาพวัตถุนั้นเพียงอย่างเดียวหรือใส่สิ่งอื่นเข้าไปในภาพด้วย
หาแรงบันดาลใจ
หากรู้สึกติดขัดหรือตันในเรื่องแสง องค์ประกอบภาพ หรือรูปแบบของภาพ สิ่งที่ควรทำคือหาแรงบันดาลใจ ซึ่งแหล่งที่ดีคือภาพวาด Still Life ที่ยอดเยี่ยมในอดีตซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่สามารถค้นหาได้ทางอินเตอร์เน็ตด้วยการศึกษาภาพวาดเหล่านี้จะช่วยให้นักถ่ายภาพคิดถึงรูปแบบ โทนสีและสีต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อภาพร่วมกัน และคิดว่าจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้กับภาพถ่ายเพื่อสร้างรูปแบบและความน่าสนใจได้อย่างไร
ให้เวลากับการถ่ายภาพ
สิ่งหนึ่งเกี่ยวกับการถ่ายภาพ Still Life ที่แตกต่างกับการถ่ายภาพอื่นๆ คือนักถ่ายภาพสามารถใช้เวลากับการถ่ายภาพและวัตถุได้มากเท่าที่ต้องการ ไม่เหมือนการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่แสงจะไม่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วในบางช่วงเวลา หรือการถ่ายภาพพอร์เทรตที่วัตถุสำหรับถ่ายภาพ Still Life ไม่รู้สึกเบื่อกับการอยู่นิ่งให้ถ่ายภาพเป็นเวลานาน ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงควรใช้ประโยชน์ในด้านนี้เพื่อจัดวัตถุ แสง ฉากหลัง และกล้อง โดยถ่ายภาพแล้วขยับสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ เพิ่มบางสิ่ง หรือนำบางสิ่งออกไปจากภาพ และเมื่อรู้สึกว่าสิ่งที่ออกมาดูไม่น่าพอใจนักถ่ายภาพก็สามารถที่จะทิ้งสิ่งต่างๆ ที่จัดไว้เพื่อไปพักแล้วกลับมาถ่ายภาพด้วยความคิดใหม่ได้ นอกจากนี้ข้อดีของการถ่ายภาพ Still Life คือนักถ่ายภาพจะไม่มีข้อแก้ตัวในเรื่องความคมชัดหรือความสะอาดของภาพ ดังนั้นจึงควรใช้เวลาเพื่อการจัดแสงและโฟกัสที่ถูกต้อง โดยหากจริงจังกับการถ่ายภาพ Still Life หรือชอบการถ่ายภาพลักษระนี้มากขึ้น เลนส์มาโครเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพลักษณะนี้ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องถ่ายภาพในระยะใกล้มากๆ หรือมีอัตราขยายสูงเสมอไป
ปรับภาพหลังถ่าย
การทำงานกับภาพหลังการถ่ายภาพไม่ควรเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ แต่ควรเป็นสิ่งที่สนุก และแม้จะมีแอ็คชั่นใน Photoshop จำนวนมากให้ใช้เพื่อประหยัดเวลา แต่จะได้ประโยชน์มากกว่าด้วยการปรับจากแอ็คชั่นเพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ
ระยะชัดในภาพ
สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการปรับตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพ Still Light คือระยะชัด หรือพื้นที่ของวัตถุปรากฏความชัด เนื่องจากลักษณะโดยธรรมชาติของเลนส์จะโฟกัสวัตถุให้มีความคมชัดได้เพียงระนาบเดียวในภาพ จึงส่งผลให้มีพื้นที่เดียวในภาพที่ถูกโฟกัสชัด โดยที่ความชัดของพื้นที่ด้านหน้าและด้านหลังระนาบโฟกัสจะลดลง เนื่องจากพ้นระยะโฟกัสแม้ว่าตาของคนจะยังคงเห็นว่ามีความชัดอยู่ก็ตาม โดยพื้นที่ที่ปรากฏว่ามีความชัดในภาพจะเรียกว่าระยะชัด Depth of Field จะเปลี่ยนไปตามปัจจัยอย่างระยะห่างจากกล้องถึงวัตถุ และขนาดรูรับแสงที่ใช้ โดยหากถ่ายภาพในระยะที่ใกล้มากระยะชัดจะลดลง หรือเมื่อหรี่รูรับแสงลงมากๆ อย่าง F16 หรือ F22 ระยะชัดในภาพจะมากขึ้นขณะที่การเปิดรูรับแสงกว้างอย่าง F2.8 จะทำให้มีระยะชัดที่น้อย
สำหรับการถ่ายภาพ Still Life ซึ่งมักจะต้องถ่ายภาพในระยะใกล้กับวัตถุ สิ่งที่ตามมาคือระยะชัดที่น้อยในภาพโดยอาจจำกัดอยู่เพียงพื้นที่เล็กๆ ด้านหน้าและหลังจุดโฟกัสเท่านั้น โดยนักถ่ายภาพสามารถใช้ประโยชน์จากระยะชัดที่น้อยเพื่อสร้างสรรค์ภาพได้เช่นการวางสิ่งของที่ไม่ต้องการให้มีความชัดในภาพเหลื่อมจากวัตถุหลักหรืออยู่ในระยะที่แตกต่างจากกล้องกับวัตถุหลักในภาพโดยใช้รูรับแสงกว้างถ่ายภาพ ขณะเดียวกันก็สามารถเลือกใช้รูรับแสงแคบถ่ายภาพเดียวกันนั้นเพื่อให้มีระยะชัดมากขึ้นในภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่มีความหลากหลายหรือมีความแตกต่างกันในภาพเดียวกันได้
วิธีหนึ่งที่สะดวกในการถ่ายภาพควบคุมระยะชัดเมื่อถ่ายภาพ Still Life เมื่อใช้แสงะรรมชาติคือการใช้โหมดปรับรูรับแสงล่วงหน้า AV หรือ A เพราะจะช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถปรับรูรับแสงให้กว้างหรือแคบเพื่อควบคุมระยะชัดได้สะดวก
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
? ขอบคุณครับ
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic