Basic

10 Tip to use Macro Lens in Still Life Photo

หนึ่งในเลนส์ที่นักถ่ายภาพมักใช้เมื่อถ่ายภาพ Still Life คือเลนส์มาโครด้วยคุณสมบัติในการบันทึกรายละเอียดของวัตถุซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเล่าเรื่องเมื่อถ่ายภาพ Still Life นอกจากนี้นักถ่ายภาพยังสามารถเข้าใกล้วัตถุได้เมื่อถ่ายภาพสิ่งที่มีขนาดเล็ก แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเมื่อถ่ายภาพ Still Life อาจจะไม่ได้ใช้เลนส์มาโครตามปกติที่ใช้เลนส์ลักษณะนี้ที่มักถ่ายภาพโดยเลนส์อยู่ห่างจากวัตถุไม่กี่นิ้วมากนักก็ตาม หากมีเลนส์มาโครอยู่แล้วหรือคิดจะซื้อเลนส์มาโครเพิ่มเพื่อถ่ายภาพ Still Life ต่อไปนี้คือคำแนะนำที่ควรนำไปใช้

การโฟกัสและ Focus Stacking

สิ่งแรกเกี่ยวกับการโฟกัสเมื่อถ่ายภาพ Still Life คือลืมระบบออโต้โฟกัสไปได้เลยแล้วเปลี่ยนมาโฟกัสแมนนวล เพราะจะต้องควบคุมสิ่งที่ถูกโฟกัสและไม่ถูกโฟกัส โดยการใช้ระบบ Live View รวมทั้งการทำงานเพื่อช่วยในการโฟกัสแมนนวลต่างๆ จะมีประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการขยายพื้นที่โฟกัส Peaking หรือใช้ทั้งสองการทำงานร่วมกัน การถ่ายภาพ Still Life นักถ่ายภาพจะต้องการระยะชัดที่มากจึงจำเป็นต้องการการโฟกัสที่แม่นยำด้วย ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงควรติดกล้องบนขาตั้งกล้อง รวมทั้งอาจต้องใช้รีโมตหรือการทำงานหน่วงเวลาถ่ายภาพหากจำเป็นในบางสถานการณ์

ปัญหาหนึ่งที่ควรระวังซึ่งมักเป็นสิ่งที่พบเมื่อใช้เลนส์มาโครหรือเลนส์โคลสอัพถ่ายภาพคือระยะชัดที่น้อยมากจนทำให้บางครั้งอาจไม่สามารถมีระยะชัดที่ครอบคลุมแม้วัตถุขนาดเล็กได้ โดยหากหรี่รูรับแสงเลนส์แล้วยังไม่ได้ระยะชัดที่ต้องการอาจต้องคิดถึง Focus Stacking โดยทั่วไป Focus Stacking จะทำในขั้นตอนหลังถ่ายภาพ แต่อาจมีกล้องบางรุ่นที่ใช้เทคนิค Focus Stacking ได้ในกล้อง ซึ่งในการทำภาพหลังการถ่ายภาพใน Photoshop จะเป็นการทำโดยเลือกภาพหลายๆ ภาพที่โฟกัสจุดที่แตกต่างกันในภาพมารวมกัน โดยเทคนิคนี้จะเป็นการโหลดภาพเข้าไปใน Photoshop เป็น Layer และ Masking ส่วนที่ไม่ต้องการของภาพก่อนที่จะรวม Layer ต่างๆ เข้าด้วยกัน

เปลี่ยนระยะถ่ายภาพ

สิ่งที่มักเกิดขึ้นกับผู้เริ่มถ่ายภาพ Still Life โดยใช้เลนส์มาโครคือมักจะเข้าใกล้วัตถุ แต่อย่างไรก็ตามเนื่องภาพ Still Life ที่ดีส่วนใหญ่มักเป็นภาพที่ถอยออกห่างจากวัตถุแม้จะใช้เลนส์มาโครถ่ายภาพก็ตาม ดังนั้นจึงควรใช้เลนส์มาโครในแบบใช้เลนส์เดี่ยวตัวหนึ่งถ่ายภาพ เพียงแต่ว่ามีประโยชน์มากกว่าเลนส์เดี่ยวทั่วไปเนื่องจากมีสองคุณสมบัติในเลนส์เดียว ซึ่งเมื่อถ่ายภาพ Still Life เลนส์มาโครจะช่วยให้ไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์ในขณะถ่ายภาพ เพราะหากใช้เลนส์มาโครในช่วงมาตรฐานจะทำให้สามารถเข้าใกล้วัตถุได้เมื่อต้องการนอกจากการถ่ายภาพห่างจากวัตถุเพื่อถ่ายภาพเหมือนใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวมาตรฐาน เมื่อใช้เลนส์มาโครถ่ายภาพนอกจากการถ่ายภาพในระยะใกล้หรือภาพที่ต้องการแล้ว ก่อนเก็บสิ่งต่างๆ ที่เซตเพื่อถ่ายภาพนักถ่ายภาพจึงควรถอยหลังออกมาเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ครอบคลุมและเพอร์สเปคทีฟของภาพ

อย่าใช้ในแบบเลนส์มาโครเท่านั้น

การถ่ายภาพ Still Life ไม่เหมือนกับการถ่ายภาพมาโครโดยสิ่งที่เหมือนกันเพียงอย่างเดียวคือมักใช้เลนส์ประเภทเดียวกันถ่ายภาพ เนื่องจากภาพ Still Life ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือสิ่งของต่างๆ ผู้ดูภาพต้องการเห็นมากกว่าใบผักชีบนอาหารหรือส่วนปลายของเชือกผูกรองเท้า แม้ว่าจุดด่นของเลนส์มาโครคือมีระยะโฟกัสที่ใกล้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ช่วยให้นักถ่ายภาพเข้าใกล้วัตถุได้มากขึ้น แต่เมื่อถ่ายภาพ Still Life นักถ่ายภาพควรถอยออกห่างจากวัตถุเล็กน้อยแม้ว่าจะใช้เลนส์มาโครเพื่อที่จะเห็นวัตถุได้มากขึ้น ขณะที่การถ่ายภาพในระยะใกล้มากโดยการใช้คุณสมบัติที่สามารถโฟกัสได้ใกล้ของเลนส์ควรใช้เมื่อต้องการบันทึกรายละเอียดของวัตถุสำหรับการเล่าเรื่องราวของภาพ

ใช้เลนส์ 100/105 มม. มาโครถ่ายภาพมุมเฉียง 45 องศา

เลนส์มาโครที่มีมุมรับภาพแคบกว่าอย่างเลนส์ 100 หรือ 105 มม. มาโครจะเหมาะสำหรับใช้ถ่ายภาพ Still Life ในมุมเฉียง 45 องศากับวัตถุ เพราะนอกจากจะสามารถช่วยกำจัดดิสทอร์ชั่นไปจากภาพแล้ว ยังให้รายละเอียดส่วนที่อยู่ด้านหน้ามีความคมชัดโดยที่จะค่อยๆ เบลอในส่วนที่อยู่ด้านหลัง นอกจากการถ่ายภาพในมุมเฉียง 45 องศาแล้ว เลนส์มาโครช่วงทางยาวโฟกัสนี้ยังเหมาะสำหรับการถ่ายภาพในมุมด้านบนตรงๆ เมื่อต้องการภาพที่ดูแบนด้วย เพียงแต่ว่ามุมเฉียงระหว่าง 35 ถึง 70 องศาจะให้ภาพที่ดูดีกว่า

ใช้หลายรูรับแสงถ่ายภาพ

เลนส์มาโครจะให้ระยะชัดที่น้อยมากกว่าเลนส์อื่นที่รูรับแสงเท่ากัน ซึ่งข้อดีหนึ่งคือนักถ่ายภาพสามารถเบลอฉากหลังได้มาก และคุณสมบัติในด้านระยะชัดที่น้อยนี้ของเลนส์มาโครก็ยังคงอยู่แม้เมื่อถ่ายภาพ Still Life ดังนั้นเเมื่อถ่ายภาพ Still Life นักถ่ายภาพจึงควรใช้รูรับแสงตั้งแต่ F8 อย่างน้อยเป็นต้นไปหรืออาจต้องใช้ถึง F16 เพราะหากใช้แค่รูรับแสง F4 หรือแม้แต่ F5.6 จะทำให้มีระยะชัดที่น้อยมาก  การถ่ายภาพโดยปรับรูรับแสงขนาดต่างๆ จะช่วยให้สามารถถ่ายภาพโดยที่มีความชัดของรายละเอียดในภาพที่แตกต่างกันให้เลือกมากขึ้น เพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดของวัตถุตามต้องการ โดยอาจเริ่มตั้งแต่ F4 แล้วปรับลดขนาดรูรับแสงลงเรื่อยๆ จนถึง F11 หรือ F16 โดยแม้จะใช้แฟลชซึ่งสามารถใช้การปรับเพิ่มกำลังแฟลชร่วมด้วยเพื่อหรี่รูรับแสงลง แต่ก็ควรใช้ขาตั้งกล้องร่วมด้วยเพื่อให้ตำแหน่งของกล้องไม่เปลี่ยนเมื่อถ่ายภาพแต่ละภาพ สำหรับการถ่ายภาพ Still Life โดยใช้แสงธรรมชาติขาตั้งกล้องยังเป็นสิ่งที่ช่วยรับประกันถึงความคมชัดเมื่อหรี่รูรับแสงลงมากๆ จนได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ตํ่า

ใช้เลนส์ 50 หรือ 60 มม. มาโครกับครอปเซ็นเซอร์

เนื่องจากเลนส์มาโครเป็นเลนส์ที่มีราคาแพงและมักไม่ใช่เลนส์ที่จะซื้อไว้ใช้หลายช่วงทางยาวโฟกัสหากไม่ใช่นักถ่ายภาพโปรที่เน้นการถ่ายภาพ Still Life อย่างจริงจังเป็นอาชีพ ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงมักต้องมองหาเลนส์มาโครที่เหมาะสมที่สุดเพียงตัวเดียว ซึ่งหากใช้กล้องที่มีครอปเซ็นเซอร์หรือเซ็นเซอร์ภาพขนาด APS-C หรือ Micro FourThirds เลนส์ที่เหมาะสมคือเลนส์มาโครที่มีทางยาวโฟกัสช่วง 50 หรือ 60 มม. เพราะโดยทั่วไปแล้วเลนส์ทางยาวโฟกัสช่วงนี้จะเทียบเท่ากับเลนส์ 75-90 มม. กับกล้อง APS-C หรือประมาณ 100-120 มม. กับกล้อง Micro FourThirds ซึ่งมีมุมรับภาพที่แคบเพียงพอสำหรับถ่ายภาพ Still Life ขณะที่เลนส์ที่มีมุมรับภาพแคบกว่านี้จะทำให้ถ่ายภาพได้ยากขึ้นเมื่อต้องการถ่ายทอดเรื่องราวในภาพด้วย และเลนส์ทางยาวโฟกัส 50 หรือ 60 มม. มาโครบนกล้องครอปเซ็นเซอร์ยังสามารถทำให้ฉากหลังเบลอได้เมื่อต้องการเมื่อถ่ายภาพวัตถุในมุมเฉียง 45 องศา

เลือกเลนส์ 90-105 มม. กับกล้องฟูลเฟรม

ในเมื่อเลนส์ 50-60 มม. เป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับกล้องครอปเซ็นเซอร์ เลนส์มาโครทางยาวโฟกัส 90, 100 หรือ 105 มม. จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับกล้องฟูลเฟรม เพราะนี่คือช่วงทางยาวโฟกัสที่จะทำให้มีมุมรับภาพที่ดีรวมทั้งยังได้ระยะชัดที่น้อยซึ่งจะไม่ได้จากเลนส์อื่น รวมไปถึงยังสามารถใช้ถ่ายภาพวัตถุที่มีลักษณะสูงในแนวตั้งด้วยมุมเฉียง 45 องศาได้ดีเช่นเดียวกับการบันทึกรายละเอียดของวัตถุในระยะใกล้

ถ่ายภาพอาหารแนวตั้ง

หากเพิ่มเริ่มถ่ายภาพ Still Life หรือพึ่งซื้อเลนส์มาโครมาใหม่ แต่ไม่รู้ว่าจะถ่ายภาพวัตถุอะไรดี อาหารอาจเป็นวัตถุหนึ่งที่เหมาะสมซึ่งเปิดโอกาสให้ถ่ายภาพได้หลากหลายมุม อย่างเช่นหากถ่ายภาพอาหารจากมุมบน ไม่ว่าจะใช้เลนส์มาโครทางยาวโฟกัสใดจะสามารถถ่ายภาพอาหารออกมาได้ทั้งภาพแนวตั้งและแนวนอน แต่หากถ่ายภาพอาหารด้วยเลนส์มาโครตั้งแต่ 90-105 มม. ในมุมเฉียง 45 องศาการถ่ายภาพในแนวตั้งจะให้ภาพที่ดูดีกว่าแนวนอน นอกจากนี้ยังมีอาหารหลายอย่างที่เหมาะสำหรับถ่ายภาพในมุมเฉียง 45 องศาโดยถือกล้องแนวตั้ง เช่น แฮมเบอร์เกอร์, ของหวานที่อยู่ในแก้วหรือกระปุก, เค้กบนที่ตั้งโชว์, คุ๊กกี้ที่เรียงซ้อนกัน

ใช้การทำงานลดการสั่นไหวของภาพเมื่อใช้มือถือกล้องถ่ายภาพ

โดยธรรมชาติของเลนส์มาโครที่ช่วยให้เข้าใกล้ได้มากกว่าเลนส์อื่นเมื่อถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาดเล็ก ทำให้การลดความสั่นไหวที่เกิดขึ้นกับกล้องเป็นสิ่งสำคัญ โดยเลนส์มาโครที่มีทางยาวโฟกัสในช่วงเทเลโฟโตตั้งแต่ 90 ถึง 105 มม.หลายรุ่นมาพร้อมการทำงานลดการสั่นไหวของภาพ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความนิ่งให้แก่ภาพได้ด้วยการขยับชิ้นเลนส์ภายในเพื่อชดเชยการสั่นไหวของกล้อง ดังนั้นเมื่อใช้มือถือกล้องถ่ายภาพด้วยเลนส์มาโครที่มีการทำงานนี้ก็ควรเปิดการทำงานไว้อย่างไรก็ตามหากถ่ายภาพ Still Life โดยที่กล้องอยู่บนขาตั้งกล้องเป็นหลักนักถ่ายภาพควรเปิดการทำงานลดการสั่นไหวของภาพเพราะอาจทำให้เกิดการสั่นไหวที่กล้องเล็กน้อยได้จากการทำงานของระบบลดการสั่นไหวในเลนส์

เบลอฉากหลัง

เลนส์มาโครสามารถทำงานได้ดีในการถ่ายภาพวัตถุระยะใกล้รวมไปถึงลดระยะชัดในภาพลง เพราะไม่ว่าจะถ่ายภาพในมุมใดเลนส์มาโครจะช่วยให้ลดระยะชัดลงได้แม้เมื่อใช้รูรับแสงแคบกว่า แต่นอกจากการปรับรูรับแสงแล้วหากต้องการให้ฉากหลังเบลอมากขึ้นคือระยะจากกล้องถึงวัตถุและระยะจากวัตถุถึงฉากหลัง ซึ่งทำให้นักถ่ายภาพสามารถเบลอฉากหลังได้มากขึ้นด้วยขยับกล้องให้ใกล้วัตถุมากขึ้นโดยที่ระยะจากวัตถุถึงฉากหลังยังคงเหมือนเดิม หรือขยับวัตถุให้ห่างจากฉากหลังมากขึ้นโดยที่ยังคงรักษาระยะห่างจากกล้องถึงวัตถุไว้ อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ควรทำก็คือควรถ่ายภาพหลายภาพโดยเปลี่ยนรูรับแสงเพื่อที่จะได้ภาพที่มีระยะชัดในภาพตามที่ต้องการมากที่สุด

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic