ADVANCE PHOTO TECHNIQUES

10 เทคนิคการเซ็ทอัพกล้องถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชั่น

การถ่ายภาพกีฬา หรือ ภาพแนวแอคชั่น เป็นการถ่ายภาพที่ช่างภาพต้องมีความชำนาญค่อนข้างสูง เพราะตัวแบบจะมีการเคลื่อนที่เร็วตลอดเวลา และไม่มีทิศทางที่แน่นอน เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของช่างภาพ การตัดสินใจผิดหรือข้อผิดพลาดเพียงเล็กๆน้อยๆหมายถึงการพลาดโอกาสเก็บภาพดีๆที่ไม่สามารถกลับไปถ่ายใหม่ได้อีก ไปพบกับเทคนิคการเตรียมต้ว การตั้งค่ากล้องที่จะช่วยให้สามารถถ่ายภาพสวยๆ เก็บทุกชอตของจังหวะดีๆได้เหมือนมืออาชีพ

1. ปรับระบบโฟกัสไปที่ AF-C

ในการถ่ายภาพกีฬา ภาพแอคชั่น ที่ซับเจคเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่ง เปลี่ยนระยะห่างจากกล้องตลอด เราไม่สามารถใช้ระบบโฟกัสแบบ AF-S (ONE SHOT ในกล้องแคนนอน) ได้ เพราะเมื่อกล้องโฟกัสได้ กว่าที่คุณจะกดปุ่มลั่นชัตเตอร์ ซับเจคจะไม่อยู่ที่ตำแหน่งเดิมแล้ว ภาพจะหลุดโฟกัสแน่นอน ดังนั้นจะต้องปรับระบบโฟกัสเป็น AF-C เท่านั้น (AI SERVO กล้องแคนนอน) เพื่อให้กล้องโฟกัสติดตามซับเจคต่อเนื่อง ภาพจะอยู่ในโฟกัสเมื่อลั่นชัตเตอร์

2. เลือกพื้นที่โฟกัสแบบโซน (Zone AF)

การใช้โฟกัสแบบกว้าง (Wide Area) กล้องมีโอกาสจะโฟกัสผิดตำแหน่งได้ง่าย เพราะพื้นที่การหาโฟกัสกว้างเกินไป ในขณะที่การใช้โฟกัสแบบจุดเดียว (Single Point AF) พื้นที่โฟกัสก็จะเล็กเกินไป ทำให้การติดตามภาพโดยรักษาตำแหน่งกรอบโฟกัสให้อยู่ที่ซับเจคตลอดทำได้ยากมาก โอกาสที่โฟกัสจะหลุดจึงมีมากเช่นกัน การใช้แบบโซนจึงเหมาะกว่า เพราะเจาะจงพื้นที่การโฟกัสได้ แต่ยังกว้างพอที่จะติดตามซับเจคได้แม่นยำต่อเนื่อง

3. ตั้งตำแหน่งการทำงานหลักของจุดโฟกัสใน Zone AF

ในกล้องระดับโปรและเซมิโปรหลายรุ่น ผู้ใช้จะสามารถเลือกตำแหน่งจุดโฟกัสหลักภายใน Zone AF ได้ ว่าจะให้ทำงานที่จุดกลางก่อนหรือวัตถุที่อยู่ใกล้ก่อน (เลือกจากจุดโฟกัสบริเวณวัตถุที่อยู่ใกล้) หากเลือกจุดกลางก่อน กล้องจะพยายามใช้จุดกลางของ Zone AF ทำงานก่อน หากหาโฟกัสไม่ได้จึงจะใช้จุดข้างเคียง แนะนำให้เลือกที่จุดกลางครับ เพราะเมื่อเราเคลื่อนกล้องตาม เรามักจะวางซับเจคไว้กลางพื้นที่โซน กล้องจะหาโฟกัสได้แม่นยำกว่า

4. ตั้ง Release/Focus Priorty ของ AF-C ที่ Release

ฟังก์ชั่นนี้จะเป็นตัวสั่งการทำงานของโหมด AF-S และ AF-C ว่าจะให้กล้องลั่นชัตเตอร์ได้ตลอดเวลา หรือจะต้องโฟกัสให้ได้ก่อนจึงจะบันทึกภาพได้ แนะนำว่าในโหมด AF-C จะต้องไปที่ Release เท่านั้น เพื่อให้กดชัตเตอร์ได้แม้ภาพจะยังไม่อยู่ในโฟกัส มิเช่นนั้นชัตเตอร์จะไม่ทำงาน (ได้ภาพเบลอหลุดโฟกัสเล็กน้อยดีกว่าไม่ได้ภาพเลย) การถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชั่นนั้น ทุกครั้งที่กดปุ่มลั่นชัตเตอร์ กล้องต้องบันทึกทุกช็อต (ไม่ต้องรอให้โฟกัสได้ก่อน ชัตเตอร์จึงจะทำงาน)

5. ตั้ง AF Track Sensitivity ให้เหมาะกับรูปแบบแอคชั่น

ฟังก์ชั่นนี้จะมีอยู่ในกล้องระดับเซมิโปรและโปร (รุ่นเล็กมักจะไม่มี) ใช้เพื่อตั้งระดับการตอบสนองของโฟกัสเมื่อมีวัตถุเคลื่อนมาบังซับเจคหลัก กล้องมักจะตั้งมาที่ค่ากลางๆ คือระดับ 3 (จาก 5 ระดับ) หากต้องการให้กล้องล็อกที่ซับเจคหลัก ไม่เปลี่ยนไปโฟกัสวัตถุที่บัง ให้ตั้งการตอบสนองช้า กล้องจะ Lock on ที่ซับเจคหลัก จนวัตถุนั้นเคลื่อนผ่านไปโฟกัสจะไม่หลุด แต่ถ้าเป็นภาพแอคชั่นที่เราอาจเปลี่ยนซับเจคตลอดเวลา แนะนำให้ตั้งที่ตอบสนองเร็วๆ

6. ตั้ง Speed Tracking ที่ Fast

สำหรับกล้องที่มีฟังก์ชั่น Speed Tracking เลือกความเร็วในการโฟกัสได้ ให้ตั้งที่ FAST เพื่อให้กล้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนความเร็วของวัตถุอย่างฉับพลันได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับการถ่ายภาพแอคชั่นที่ซับเจคเคลื่อนที่เปลี่ยนทิศทาง เปลี่ยนความเร็วตลอด

7. ตั้งระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง (Drive)​ ที่ความเร็วสูงสุด

ในการถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชั่น ควรตั้งระบบ Drive ไปที่ต่อเนื่องความเร็วสูงสุด เพื่อให้สามารถลั่นชัตเตอร์ต่อเนื่องได้ด้วยความเร็วสูง โดยกล้องยังโฟกัสติดตามซับเจคอยู่ตลอด โอกาสได้ภาพที่มีแอคชั่นดีๆ จะมีมากกว่าการถ่ายแบบทีละภาพ (Single) ยิ่งกล้องที่ถ่ายต่อเนื่องได้เร็วก็จะมีโอกาสได้จังหวะที่ดีมากขึ้น

8. ปิดระบบแสดงภาพหลังบันทึก (Auto Review)​

การเปิดระบบแสดงภาพหลังบันทึก กล้องจะแสดงภาพบนหน้าจอ LCD (และในช่องมองภาพ EVF ของกล้องมิเรอร์เลส) ทุกครั้งที่ลั่นชัตเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รบกวนการมองภาพและการเคลื่อนกล้องติดตามซับเจคอย่างมาก รวมทั้งจะลดประสิทธิภาพในการ Tracking ของระบบโฟกัส ดังนั้นแนะนำให้ปิดการแสดงภาพหลังบันทึกเสมอ

9. เลือกใช้เลนส์ที่โฟกัสเร็ว

เลนส์แต่ละรุ่น ประสิทธิภาพในการโฟกัสจะไม่เหมือนกัน เลนส์รุ่นเก่าๆ มักจะใช้ระบบโฟกัสที่ต้องขับเคลื่อนชุดเลนส์ขนาดใหญ่ และมักใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพต่ำ จึงโฟกัสช้า ตอบสนองช้า ทำให้กล้องหาโฟกัสไม่ทัน เลนส์รุ่นใหม่ๆ จะมีความเร็วในการโฟกัสสูงกว่า(เป็นส่วนใหญ่) ด้วยการออกแบบชุดโฟกัสที่เล็กและเบา กินกำลังมอเตอร์น้อย ซึ่งแม้แต่เลนส์ซูมราคาประหยัดหลายๆ รุ่นก็โฟกัสได้เร็วเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชั่น

10. ล็อกช่วงโฟกัสที่เลนส์

เลนส์เทเลโฟโต้หรือเทเลซูมระดับโปร มักจะมีสวิซท์ล็อกช่วงโฟกัสได้ 2 ช่วง คือ Full และ Limit เช่น Full (ตั้งแต่อินฟินิตี้ถึงใกล้สุด) Limit (เช่น ตั้งแต่ 5 เมตรถึงอินฟินิตี้) เราควร Limit ให้เลนส์ทำงานเฉพาะช่วงที่เราใช้งาน ถ้าคุณไม่ได้ถ่ายซับเจคใกล้กว่า 5 เมตร การล็อกช่วงโฟกัสจะทำให้เลนส์โฟกัสได้เร็วขึ้น เพราะรอบหมุนของวงแหวนโฟกัสจะแคบลงกว่าปกติเกินเท่าตัว เมื่อโฟกัสหลุด มันจะแทรคกลับมาจะซับเจคได้เร็วขึ้น

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video