เมื่อจะซื้อเลนส์มือสอง สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เราควรจะตรวจเช็คสภาพของเลนส์ครับ หลายๆ ท่านซื้อของจากออนไลน์ก็ตกลงกันด้วยวาจากับผู้ขาย ตรวจเช็คสภาพกันด้วยการพูดคุย อย่างการเครมว่าเลนส์ใส ไร้รา ฝ้า ไม่มีปัญหาเรื่องโฟกัส สภาพสวยนางฟ้า ซึ่ง มีความเสี่ยงมากครับ เมื่อส่งมาถึงเราแล้วมีปัญหาภายหลัง ซึ่งอาจทำให้เคลียส์ปัญหากันยากครับ แนะนำว่า ถ้าจะซื้อเลนส์มือสอง ควรจะตรวจสอบสภาพด้วยตัวเองเสมอครับ นัดเจอ ดูสภาพจากของจริง พอใจกับสินค้าแล้วค่อยทำการซื้อขายจะดีกว่าครับ
ผมมี 5 วิธีในการตรวจสอบเลนส์มือสอง ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ยาก แต่จะทำให้คุณมีโอกาสได้เลนส์มือสองที่ค่อนข้างจะปลอดภัย และไม่มีปัญหา มีวิธีตรวจสอบกันอย่างไรบ้างไปดูกันครับ
1. ตรวจสอบสภาพภายนอก
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในการซื้อเลนส์มือสองครับ เมื่อเราเห็นเลนส์ที่เราจะซื้อแล้ว อย่าลืมดูสภาพภายนอกให้ละเอียดเลยครับ ด้วยการดูที่ด้านหน้าก่อนนะครับ อย่างจุดที่เป็นเกลียวที่ใส่ฟิลเตอร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่อาจจะมีการกระทบกระแทกได้ง่ายและมากที่สุด ดูว่ามีร่องรอยกระทบกระแทกหรือไม่ เกลียวมีการบุบหรือยุบตรงไหนหรือป่าว หรือถ้ามีฟิลเตอร์สวมมาให้ด้วย ต้องไปดูที่ร่องรอยที่ฟิลเตอร์ด้วยครับ และลองหมุนฟิลเตอร์ออกด้วยครับ แล้วดูว่าเกลียวยังหมุนได้ปรกติหรือไม่ มีตรงไหมหมุนแล้วฝืดๆ ขัดๆ หรือป่าว ถ้ามีอาการดังกล่าว ฟิวเตอร์อาจจะถูกเปลี่ยนเป็นตัวใหม่มา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังครับ
ตรวจสอบที่ของหน้าเลนส์ ฟิลเตอร์หน้าเลนส์ เพราะโดยส่วนมากบริเวณนี้เป็นส่วนที่มีโอกาสที่จะกระทบหรือกระแทกได้มากที่สุด
หมุนวงแหวนซูมและวงแหวนโฟกัสเพื่อสังเกตความผิดปรกติ เช่น ฝืด มีเสียง หรือสะดุดหรือไม่
จากนั้นให้ดูที่ตัวกระบอกเลนส์ครับ ลองหมุนซูมดูครับว่ายังลื่นไหลดีหรือป่าว ดูว่ากระบอกหลวมคอน หรือมีเสียงผิดปรกติหรือไม่ และดูที่ยางหุ้มวงแหวนโฟกัสและวงแหวนซูมว่าบวม ขาด หรือป่าว ซึ่งมันจะเป็นตัวบ่งบอกว่ามันผ่านการใช้งานมามากน้อยแค่ไหนนั่นเอง จากนั้นก็ตรวจสภาพโดยรอบ
ให้ดูที่แปลนเมาท์ ขั้วคอนแท็กท์ รวมไปถึงสกรูด้วยว่าเคยถูกถอดออกหรือไม่
สกรูที่ไม่ถูกถอด และพลาสติกหุ้มคอนแท็กท์ที่ยังสมบูรณ์
แล้วไปดูที่ส่วนท้าย ลองเปิดดูที่ฝาท้ายเลนส์ อย่างแรกเลยคือดูที่แปลนเมาท์ก่อนเลยครับ ดูว่ามีการสึกหลอมากน้อยแค่ไหน เลนส์ถ้าผ่านการใช้งานมาหนักๆ เรามองด้วยตาเปล่าอาจจะเห็นเป็นทองเหลืองบริเวณแปลนเมาท์เลย หลังจากนั้นก็ตรวจสอบหัวสกรูแต่ละตัวครับว่า สกรูมีร่อยรอยการถอด หรือ เยินหรือไม่ แล้วก็มาดูที่คอนแท็กท์ที่เป็นขั้วสัมผัสครับว่าปรกติหรือไม่ มีร่อยรอยการแตกหักของตัวพลาสติกหรือป่าว
2. เช็คชิ้นเลนส์ หน้าและหลัง
ทำไมต้องตรวจสองชิ้นนี้ก่อน เพราะว่าสองชิ้นนี้เป็นชิ้นที่มีโอกาสกระทบกระแทก มีรอยขูดขีดมากที่สุด วิธีก็คือ เราใช่ไฟฉากจากสมาร์ทโฟนครับ แล้วเอามาฉายไปที่ผิดเลนส์ด้านหน้า ขยับเลนส์เอียง และขยับไฟฉายส่องดูตามจุดต่างๆ และต้องปรับเอียงมุมของไฟฉายด้วยครับ แล้วดูครับว่า มันมีร่องรอยของการขูดขีดที่หน้าเลนส์หรือไม่ ซึ่งถ้าเลนส์เคยขูดขีดหรือกระทบกระแทกมา มันจะเห็นเลยครับเมื่อเอาไฟฉายไล่สองดู และทำแบบนี้ทั้งเลนส์ชิ้นหน้าและชิ้นหลังครับ
ใช้ไฟฉายจากสมาร์ทโฟนส่องดูชิ้นเลนส์ทั้งหน้าและหลัง โดยการขยับไฟฉายและเลนส์ให้ได้องศาที่สามารถมองเห็นได้ทั่วทุกจุด
ในชิ้นหลังให้ซูมให้ชิ้นเลนส์เข้ามาใกล้ที่สุด แล้วใช้ไฟฉายส่อง ไล่มุม ขยับองศาของไฟฉากกับชิ้นเลนส์ดูให้ละเอียดทุกจุดครับ ซึ่งเลนส์ชิ้นหลังสำคัญมากๆ ซึ่งถ้ามีรอยขูดขีดหนักที่เลนส์ชิ้นหลัง มันจะมีผลกับภาพ ซึ่งต่างจากรอยขูดขีดเล็กๆ น้อยๆ บนชิ้นหน้า ซึ่งจะไม่ค่อยมีผลกับภาพเท่าไหร่ แต่มันจะมีผลตอนคุณเอาไปขายต่อ และมีผลทางจิตใจ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีรอยจะดีที่สุด
ตัวอย่างการเกิดราบนชิ้นเลนส์
3. ตรวจสอบฝ้าและรา
ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ หลังจากตรวจเลนส์ชิ้นหน้าชิ้นหลังแล้ว เราต้องสองแสงผ่านชิ้นเลนส์เพื่อตรวจสอบว่าชิ้นเลนส์ใสไหม มีฝ้าหรือมีราหรือป่าว ซึ่งเลนส์บางตัว เช่น เลนส์โซนี่ เมื่อคุณถอดออกมาจากกล้องแล้ว คุณไม่สามารถตรวจสอบด้วยการฉายแสงผ่านได้ เพราะว่าเลนส์มันจะหรี่รูรับแสงที่แคบสุด วิธีการแก้ก็คือ เอาเลนส์ใส่เข้ากับบอดี้ก่อน พอใส่เสร็จก็เปิดสวิชกล้อง แล้วปรับค่า F ของเลนส์ไปที่รูรับแสงกว้างสุด พอปรับเสร็จ ไม่ต้องปิดสวิชกล้องครับ ให้ถอดเลนส์ออกเลย เลนส์มันจะเปิดรูรับแสงกว้างสุดไว้
วิธีการเปิด F กว้างสุดของเลนส์โซนี่ โดยการประกอบเลนส์เข้ากับตัวกล้อง ปรับ F ไปที่ F กว้างสุดของเลนส์ แล้วยังไม่ต้องปิดสวิชกล้อง ให้ถอดเลนส์ออกจากตัวกล้องได้เลย รูรับแสงของเลนส์จะเปิดค้างไว้ที่ F กว้างสุดของเลนส์
พอเราเปิดรูรับแสงกว้างสุดแล้ว ก็ใช้แสงไฟฉายส่องผ่านชิ้นเลนส์ด้านหน้าก่อน เราก็มองจากชิ้นเลนส์ด้านหลัง พอเห็นแสงสองผ่าน เราก็ขยับเลนส์เอียงเพื่อให้แสงไฟฉายสองผ่านทุกองศา แล้วเรามองเข้าไปดู ซึ่งชิ้นเลนส์ทุกชิ้นจะต้องใส ซึ่ง มันอาจจะมีฝุ่นบ้าง แต่ไม่ต้องกังวลมากครับ แต่ชิ้นเลนส์ต้องใส แต่ถ้าขึ้นเป็นผิวขุ่นๆ ฝ้าๆ นั่นแสดงว่าเลนส์เป็นฝ้าครับ หรือถ้ามองเข้าไปแล้วเห็นเป็นเส้นฝอยๆ คล้ายรากผักชี นั่นแสดงว่าเลนส์เริ่มมีราแล้ว
ส่องไฟฉายจากสมาร์ทโฟนเข้าไปที่หน้าเลนส์ ให้แสงทะลุผ่านไปยังชิ้นเลนส์ด้านท้ายแล้วดูว่ามีฝ้าหรือราหรือไม่
พอส่องด้านหน้าเสร็จก็พลิกไปส่องจากด้านหลังดูครับ พอส่องจากด้านหลังก็ให้ทำเหมือนกันคือขยับเอียงไฟฉากหรือเลนส์ไปมาเพื่อให้แสงส่องไปทั่วทุกจุดของชิ้นเลนส์ แล้วมองผ่านชิ้นเลนส์ ซึ่งชิ้นเลนส์จะต้องใสทุกชิ้นเหมือนกันครับ มีฝุ่นบ้างไม่เป็นไร แต่ต้องไม่มีฝ้าไม่มีรา จุดนี้สำคัญมากครับ
4. เช็คโฟกัส Infinity
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเลยครับ ถ้าเป็นเลนส์ Dsl-r ใช้กับกล้อง Dsl-r คุณจะต้องเช็คให้ละเอียดทั้งระยะ Infinity ทั้งระยะทั่วไปด้วย แต่ถ้าเป็นเลนส์ของกล้อง Mirrorless เราไม่สามารถเช็คที่ระยะปรกติได้ครับ เพราะว่ามันไม่มีสเกลโฟกัสอยู่บนกระบอกเลนส์ครับ สิ่งที่เราทำได้คือเช็คระยะ Infinity ว่าตรงไหม วิธีการคือ ซูมเลนส์มาที่ช่วงสั้นก่อน แล้วเปิดรู้รับแสงให้กว้างสุด แล้วเล็งไปที่วัตถุที่อยู่ไกลมากๆ เช่น ตึกหรือต้นไม้ที่อยู่ไกลๆ ที่ใกล้เคียงกับระดับ Infinity เลยครับ แล้วให้กล้องโฟกัสที่จุดนั้น เลือกจุดโฟกัสเป็นจุดเล็ก พอมันโฟกัสได้ก็กดถ่าย พอถ่ายเสร็จก็เปิดภาพแล้วซูมภาพดู ดูบริเวณที่เราโฟกัสที่ตึกหรือต้นไม้ที่มันอยู่ในระยะ Infinity ดูว่ามันชัดหรือป่าว
ซูมและโฟกัสไปที่วัตถุที่อยู่ระยะไกลที่ใกล้เคียงระยะ Infinity แล้วโฟกัสจุดนั้น แล้วถ่ายภาพด้วย F กว้างสุดของเลนส์ตัวนั้นๆ
Play ภาพแล้วซูมเข้าไปดูที่จุดที่เราโฟกัส ถ้าชัดแสดงว่าเลนส์ยังใช้ได้ดี แต่ถ้าไม่ชัดแสดงว่าเลนส์ค่อนข้างใช้งานมามากแล้ว
ทำแบบนี้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นที่ 16mm, 20mm, 24mm, 28mm, หรือที่ 35mm ทำทุกช่วงกับ F กว้างสุด ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่าบางครั้งเลนส์ที่ใช้ไปนานๆ มันจะมีปัญหาเรื่องโฟกัสไม่ถึง Infinity มันจะมีปัญหาว่า ถ้าคุณถ่ายที่ระยะ Infinity เช่น คุณเอาเลนส์ไปถ่าย ดาว ถ่ายทางช้างเผือก แล้วเราต้องเปิด F2.8 แล้วปรากฎว่ามันโฟกัสไกลสุดแล้ว แต่ถึงแค่ 20 เมตร 25 เมตร ภาพดาวหรือภาพทางช้างเผือกของคุณมันจะไม่ชัดเลย ซึ่งไม่ได้เลยครับ เราต้องตรวจสอบเรื่องนี้ให้ละเอียดหน่อย เพื่อที่เราจะได้ไม่เสียดาย และเสียเวลาส่งให้ศูนย์ซ่อมภายหลังครับ
5. เช็ค Centering ของเลนส์
Centering คืออะไร? Centering คือ เลนส์เมื่อเราถ่ายวัตถุที่เป็นระนาบแบน เช่น กล้องเราขนานกับวัตถุ เช่นผนังที่ติดภาพ หรือติดอะไรอยู่ (ที่สามารถจับโฟกัสได้) ถ้าเราถ่ายโดยที่กล้องเราขนานกับผนัง เมื่อเรากดชัตเตอร์ถ่ายด้วย F กว้าง หรือ F แคบ ก็ตาม วัตถุที่อยู่ทางด้านซ้ายและขวาจะต้องชัดเท่ากัน เพราะว่ามันเป็นระนาบที่ขนานกับกล้อง แต่เลนส์ที่ใช้นานก็อาจจะมีปัญหาเรื่องนี้ได้ครับ คือ กระบอกเลนส์มันผ่านการใช้งานมากๆ มันอาจจะเกิดการคอนของพวกชุดบูท หรือกระบอกตัวโครงสร้างภายใน ทำให้ Centering ของเลนส์มันไม่กึ่งกลางเหมือนเดิม แกนเลนส์มันจะเอียง พอมันเอียงแล้วมันจะกลายเป็นว่าพอเราโฟกัสมาด้านนี้ชัดด้านนั้นอาจจะเบลอ พอโฟกัสกลางชัดขอบอาจจะเบลอ ซึ่งจะทำให้ภาพเรามีปัญหาครับ ดังนั้นเราควรเช็คเรื่องนี้ด้วย
ลองโฟกัสไปที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งของผนังแล้วกดถ่าย แล้ว Play ภาพ แล้วเลือนดูทั้งภาพ ซ้าย กลาง ขวา ดู ถ้าหากชัดแค่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งแสดงว่า Centering ไม่ได้อยู่กึ่งกลางของเลนส์
วิธีการเช็คก็คือ หาผนังก็ได้ครับ แล้วเราเลื่อนกล้องให้ขนานกับผนังนั้นๆ แล้วเราก็เล็งไปที่ผนัง เปิดรูรับแสงกว้างเลยก็ได้ครับ แล้วโฟกัสที่จุดใดจุดหนึ่งก็ได้ กดถ่าย แล้วมา Play ภาพ ขยายภาพดู แล้วเลื่อนดูซ้ายขวา แล้วดูว่า พอเราโฟกัสตรงกลางชัด ซีกขวาและซ้ายชัดด้วยหรือป่าว หรือพอโฟกัสด้ายซ้าย ด้านขวาชัดด้วยหรือป่าว ซึ่งถ้าเราดูภาพแล้วปรากฎว่า โฟกัสตรงกลางชัด ขอบขวาเบลอ ขอบซ้ายไม่เบลอ นั่นแสดงว่า Centering ของเลนส์มีปัญหาก็ไม่ควรจะซื้อครับ
และท้ายสุดแนะนำว่าเลนส์มือสองที่เราจะซื้อแนะนำให้ซื้อเลนส์ประกันศูนย์ครับ ถ้าเป็นเลนส์ประกันร้านหรือเป็นเลนส์หิ้วจากต่างประเทศมา ถ้ามันมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบโฟกัส ระบบมอเตอร์ หรืออะไรก็ตาม แล้วคุณต้องส่งซ่อมภายหลังคุณจะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าปรกติเยอะมากครับ เพราะฉะนั้น ไหนๆ จะซื้อเลนส์มือสองแล้ว เลือกเลนส์ประกันศูนย์ดีกว่า และถ้าจะให้ดีก็ควรเลือกเลนส์ที่ยังเหลือประกันอยู่ อย่างน้อยเหลือเดือนสองเดือนก็ยังดีกว่าประกันหมดครับ ดูให้ดี เพื่อที่เราจะได้เลนส์ที่ถูกใจและได้ประสิทธิภาพตามที่ต้องการครับ
Leave feedback about this