Basic Knowledge Photo Techniques Photography

5 เหตุผลที่ต้องปรับชดเชยแสง

คงจะมีหลายๆ ครั้งที่กดชัตเตอร์แล้ว ไม่ได้ภาพตามที่ต้องการ ภาพติดอันเดอร์ ทั้งๆ ที่แสงก็สว่างมากมาย หรือถ่ายเจ้าเหมียวดำ แต่กลายเป็นเหมียวเทาๆ ซะงั้น ปัญหาก็อยู่ที่กล้องวัดแสงผิดพลาดเนื่องจากปัจจัยหลายๆ อย่าง มาดูกันว่าสถานการณ์แบบไหน ที่จะต้องปรับชดเชยแสง

ก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ กล้องจะทำการคำนวณค่าแสงก่อนทุกครั้ง จากการที่เราแตะชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งนั่นจะเป็นการเริ่มต้นทำงานของกล้องถ่ายภาพ ทั้งการปรับโฟกัส และการวัดแสง โดยกล้องจะอ่านค่าแสงจากการที่แสงตกกระทบกับซับเจคต์แล้วสะท้อนเข้ามาในกล้อง การคำนวณจะขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่ผู้ผลิตป้อนข้อมูลเอาไว้ ซึ่งกล้องก็ไม่รู้หรอกว่าเรากำลังถ่ายภาพอะไรอยู่ กล้องรู้แค่ว่าซับเจคต์ที่เราถ่ายภาพนั้น มีการสะท้อนแสงกลับมาที่กล้องมากน้อยแค่ไหน แล้วกล้องก็จะปรับค่าวัดแสงตามที่คำนวณได้ ซึ่งแน่นอนครับ ก็มีทั้งตรงและผิดเพี้ยนไปตามโทนสีของซับเจคต์ ซึ่งเราก็จะได้ภาพที่สว่างไปบ้าง มืดไปบ้างนั่นเอง และเป็นที่มาของเหตุผลที่เราจำเป็นจะต้องปรับชดเชยแสง

การปรับชดเชยแสง จะใช้กับโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติ หรือโหมดถ่ายภาพที่กล้องจะปรับตั้งค่าใดค่าหนึ่งให้เรา เช่นโหมด P ที่กล้องจะปรับตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ และรูรับแสงให้อัตโนมัติ หรือโหมด A ที่เราตั้งค่ารูรับแสงเอง ส่วนกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้อัตโนมัติ เป็นต้น แต่สำหรับโหมด M ช่างภาพปรับตั้งค่าต่างๆ เองทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องใช้การชดเชยแสง เพราะสามารถปรับตั้งค่ากล้องให้มืดหรือสว่างได้ตามที่ต้องการอยู่แล้ว

1. ต้องการให้ภาพสว่างขึ้น

โดยทั่วไปมักจะเป็นการถ่ายภาพบุคคล หรือถ่ายภาพสาวๆ ที่ต้องการให้ภาพดูใสเคลียร์ขึ้น ให้ใบหน้าดูสว่างขึ้น โดยปกติก็มักจะปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย เช่น 1/3 หรือ 2/3 สตอปเท่านั้น เพื่อไม่ให้ภาพรวมๆ ดูโอวอร์จนเกินไป

ชดเชยแสงไปทางบวก (+) เพื่อให้ภาพสว่างขึ้น
ชดเชยแสงไปทางบวก (+) เพื่อให้ภาพสว่างขึ้น

2. ซับเจคต์มีโทนสว่าง

โทนสีขาว หรือโทนสว่างจะมีการสะท้อนแสงที่รุนแรงกว่าโทนเข้ม ยิ่งเมื่อโดยแสงแดดกระทบด้วย ดังนั้นจึงทำให้กล้องวัดแสงผิดพลาด ภาพที่ออกมาจะดูมืดกว่าความเป็นจริง ดังนั้น เราจะต้องปรับชดเชยแสงไปทางบวก (+) ให้ให้กล้องปรับค่ารับแสงให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้ภาพที่สว่างตามความเป็นจริง การปรับชดเชยจะขึ้นอยู่กับสภาพแสงด้วย เช่น ชุดเจ้าสาวสีขาว ไม่มีแดด อาจจะชดเชยเพิ่มเพียง 1 สตอป แต่ถ้าอยู่กลางแดด อาจจะต้องชดเชยถึง 2 หรือ 3 สตอป เป็นต้น

ชดเชยแสงไปทางบวก (+) เพื่อให้ภาพสว่างขึ้น

3. ซับเจคต์มีโทนมืด โทนสีเข้ม

โทนเข้ม หรือโทนมืด จะมีการสะท้อนแสงที่น้อยกว่าปกติ และทำให้กล้องวัดแสงผิดพลาดด้วยเช่นกัน เราจะได้ภาพที่สว่างมากกว่าปกติ หรือโอเวอร์จนเกินไปจนโทนสีดำกลายเป็นสีเทา จำเป็นที่จะต้องปรับชดเชยแสงด้วยเช่นกัน โดยให้ปรับชดเชยแสงไปทางลบ (-) เพื่อให้ได้โทนสีดำ กลับมาเป็นสีดำตามจริง

ชดเชยแสงไปทางลบ (-) เพื่อให้สีเข้มดำตามจริง

4. ถ่ายภาพย้อนแสง

แหล่งกำเนิดแสง เช่น หลอดไฟ หรือดวงอาทิตย์ที่อยู่ด้านหลังตัวแบบ รวมไปถึงตัวแบบอยู่ในร่มเงา แต่มีฉากหลังสว่างจ้าอยู่กลางแดด จะเป็นสิ่งที่ทำให้กล้องคำนวณค่าแสงผิดพลาด ทำให้ตัวแบบออกมามืดดำ หรือติดอันเดอร์ รวมไปถึงพื้นที่รอบๆ ตัวแบบด้วยเช่นกัน เราจึงต้องปรับชดเชยแสงไปทางบวก เพื่อให้กล้องรับแสงเพิ่มขึ้น ส่วนฉากหลังจะสว่างมากขึ้น ก็ต้องปล่อยไปตามความเป็นจริง เพราะเน้นความสว่างที่ตัวแบบเป็นหลัก ซึ่งถ้าต้องการรายละเอียดของฉากหลังด้วย จะต้องใช้แฟลชเปิดเงาที่ตัวแบบแทน

ชดเชยแสงไปทางบวก (+) เพื่อให้ภาพสว่างขึ้น

ถ่ายย้อนแสง จะทำให้ได้แสง Rim Light ที่ตัวแบบด้วย และต้องชดเชยไปทางบวก (+) เล็กน้อย เพื่อให้ภาพดูใสสว่างขึ้น

5. แสงตกลงที่ตัวแบบเฉพาะบางส่วนของภาพ

อาจจะเป็นแสงแบบ Spot Light หรือแสงที่ลอดช่องหน้าต่าง หรือลอดช่องแตกของผนังออกมา เป็นต้น ซึ่งจะตกลงที่ตัวแบบเฉพาะจุด หรือบางส่วน เช่น ใบหน้า หรือเฉพาะลำตัว และส่วนอื่นๆ จะเข้มดำ หรือมืด ซึ่งกล้องจะคำนวณค่าแสงผิดพลาดด้วย ทำให้ได้ภาพที่ส่วนเงาจะสว่างขึ้น และส่วนที่แสงตกลงมาจะโอเวอร์จนรายละเอียดอาจจะหายไปได้ ดังนั้นจึงต้องปรับชดเชยแสงไปทางลบ (-) ซึ่งสภาพแสงลักษณะนี้ อาจจะชดเชยเพียง 1 หรือ 2 สตอป ก็เพียงพอที่จะรักษารายละเอียดของส่วนสว่างไว้ได้

ชดเชยแสงมาทางลบ (-) เล็กน้อย เพื่อรักษารายละเอียดจุดที่แสงตกลงกระทบ

การปรับชดเชยแสง อาจจะระบุตายตัวไม่ได้ว่าจะต้องชดเชยแสงกี่สตอป เพราะแต่ละบรรยากาศ แต่ละซับเจคต์นั้น มีสภาพแสงที่แตกต่างกันไป ตามฤดู ตามภูมิประเทศ ตามสภาพอากาศ ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้อ่านค่าได้ง่ายขึ้นคือ ฝึกฝนบ่อยๆ แล้วจำค่าไว้ว่า สภาพแบบนี้ ต้องชดเชยแสงไปบวก หรือลบเท่าไหร่ ในครั้งต่อไป จะช่วยให้เราประเมินค่าแสงได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ กล้องดิจิตอล โดยเฉพาะกล้อง Mirrorless ที่แสดงผลการวัดแสงได้ตามจริง ฉะนั้น เราสามารถแก้ไขความผิดพลาดได้ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่กดชัตเตอร์ถ่ายภาพด้วยซ้ำไปครับ

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video