ในช่วงนี้ก็จะมีเทศกาลที่มีการจุดพลุ หรือดอกไม้ไฟ อยู่หลายที่ และผมเชื่อว่านักถ่ายภาพหลายๆ ท่านสนใจอยากที่จะถ่ายภาพพลุ ผมมี 6 เทคนิคในการเซ็ทอัพกล้อง เซ็ทอัพอุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพพลุ เพื่อให้คุณถ่ายภาพพลุได้อย่างมั่นใจแล้วก็ได้ภาพสวยงามครับ
ภาพจาก : Surprising_Shots (Pixabay)
1. ใช้ขาตั้งกล้อง
ในการถ่ายภาพพลุเราต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เช่น 2 วินาที 4 วิ 8 วิ หรืออาจต่ำถึง 15 วินาที แน่นอนครับว่าความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำขนาดนั้นเราไม่สามารถถือกล้องด้วยมือเปล่าได้ ภาพของเราเบลอแน่นอน เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใช้ขาตั้งกล้อง และขาตั้งที่ใช้ก็ควรจะมีความมั่นคงแข็งแรง ขาตั้งที่มีขนาดเล็กและมีน้ำหนักเบามักจะสร้างปัญหาในการใช้งานเมื่อถ่ายภาพพลุเสมอ อย่างแรกเลยคือ เมื่อกางขาตั้งกล้องโดยยืดจนสุด บางท่านยืดแกนกลางขึ้นไปด้วยจนสุด ความมั่นคงของขาตั้งไม่เพียงพอนะครับ ขาตั้งแนะนำว่าควรจะมีความสูงอย่างน้อย 140 เซนติเมตร เมื่อไม่ยืดแกนกลางนะครับ ซึ่งในการใช้งานแนะนำว่าไม่ควรยืดแกนกลางขึ้นเลยนะครับ
ไม่ควรยืดแกนขาตั้งให้สูงขึ้น ภาพจาก : fancycrave1 (Pixabay)
2. ใช้ชัตเตอร์ B
ในการถ่ายพลุเราต้องใช้ความเร็วขัตเตอร์ที่ต่ำมาก ดังนั้นแนะนำว่าใช้ชัตเตอร์ B ดีที่สุดครับ เพราะว่าเราสามารถเลือกจังหวะที่จะลั่นชัตเตอร์ได้ แล้วก็เลือกจังหวะที่จะปลดชัตเตอร์ได้ ซึ่งมีความสำคัญมากในการถ่ายภาพพลุครับ เพราะว่าถ้าเราตั้งสปิดฟิกไว้เช่น 2 วินาที 4 วิ หรือ 8 วิ จังหวะที่ชัตเตอร์ปิดบางทีมันยังไม่ได้อย่างที่เราต้องการ พลุยังแตกตัวไม่เต็มดอก ซึ่งจะทำให้ความสวยงามลดลง ชัตเตอร์ B จะทำให้เราควบคุมจังหวะที่จะปิดชัตเตอร์ได้ครับ และเมื่อใช้ชัตเตอร์ B สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ควรจะมีสายลั่นชัตเตอร์ครับ เพราะสายลั่นชัตเตอร์จะทำให้เราสามารถเลือกจังหวะในการกดชัตเตอร์และปลดชัตเตอร์ได้ตามที่เราต้องการครับ ซึ่งจะทำให้เราถ่ายภาพได้สะดวกขึ้น แต่ถ้าเราไม่มีสายลั่นชัตเตอร์เราก็สามารถควบคุมผ่านแอปได้ครับ ซึ่งในกล้องหลายๆ รุ่นในปัจจุบันก็สามารถสั่งงานควบคุมชัตเตอร์ B ผ่านแอปได้ แต่ข้อเสียก็คือความไม่เสถียรครับ มีโอกาสที่แอปที่ใช้ควบคุมจะหลุดครับ ไม่ว่าจะเป็นบลูธูท หรือ Wi-Fi ก็ตามครับ ซึ่งมันจะทำให้เราต้องมาเชื่อมต่ออยู่บ่อยๆ อาจจะไม่สะดวกนัก
3. ปิดระบบกันสั่น
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวในกล้องเป็นระบบที่ช่วยให้เราถ่ายภาพได้คมชัด เมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แต่ไม่ใช้สำหรับภาพพลุนะครับ เพราะภาพพลุเราตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องซึ่งกล้องมันนิ่งสนิทอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีความจำเป็นที่จะเปิดระบบกันสั่นไว้ การเปิดระบบกันสั่นไว้จะสร้างปัญหาให้ซะมากกว่า เพราะว่าในขณะที่เราใช้ชัตเตอร์ B ระบบกันสั่นอาจจะทำงานในจังหวะนี้ได้ ซึ่งจะทำให้แทนที่เราจะได้ภาพพลุเป็นเส้นคม ภาพเส้นของพลุอาจจะเป็นเส้นขยุกขยุยไม่คมชัดก็เป็นได้ครับ
4. ปิดระบบลดสัญญาณรบกวน
ระบบลดสัญญาณรบกวนเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมีประโยชน์ตรงที่เมื่อเวลาเราใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมากๆ มันจะช่วยทำให้ภาพของเราไม่เกิดนอยส์ครับ แต่ปัญหาในการถ่ายภาพพลุก็คือ ระบบนี้มันจะใช้เวลาในการประมวลผลหลังจากปลดชัตเตอร์แล้วใกล้เคียงกับเวลาที่ใช้บันทึก ดังนั้นถ้าคุณถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ 8 วินาที คุณก็ต้องรอให้มันประมวลผลอีกเกือบๆ 8 วินาที ซึ่งมันจะสร้างปัญหาในการถ่ายภาพพลุมาก เพราะว่าแทนที่เราจะถ่ายต่อได้ เราต้องรอมันประมวลผลก่อนครับ เสียทั้งจังหวะเสียทั้งอารมณ์ เพราะฉะนั้นปิดระบบนี้ครับ
5. ใช้ ISO ต่ำ
ในการถ่ายภาพพลุแม้เราจะใช้งานในสภาพแสงน้อยด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ความไวแสงสูงครับ เพราะเราต้องการความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำๆ เพื่อเก็บภาพพลุอยู่แล้ว สิ่งที่ควบคุมปริมาณแสงจะอยู่ที่รูรับแสง ดังนั้นเราใช้ ISO เพียงแค่ 100 หรือ 200 ก็เพียงพอแล้วครับ ข้อดีคือเราจะได้ภาพคุณภาพเต็มที่
6. ถ่าย Raw ไฟล์
ในการถ่ายภาพพลุไฟล์ Jpeg จะสร้างปัญหาเสมอ เพราะว่าภาพพลุช็อตนั้นๆ บางทีพลุขึ้นมาสองชุดความสว่างไม่เท่ากัน พลุสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน ความสว่างอาจจะไม่สูงมาก แต่พลุที่แตกตามมาอาจจะเป็นสีเหลืองที่มีความสว่างแตกต่างกัน 2 – 3 สตอป เราก็จะเสียภาพในส่วนที่เป็นพลุที่สว่างกว่าไป ไม่สามารถดึงรายละเอียดให้กลับมาได้ สีสันเลยดูซีดไป แต่ถ้าเป็น Raw ไฟล์เราสามารถดึงพลุที่มันโอเวอร์ไปประมาณ 2 สตอปให้กลับมาได้ หรือดึงสีของพลุที่อันเดอร์ไปให้สว่างขึ้นได้ เราก็จะได้สีสันของพลุที่สวยกว่าเมื่อถ่ายด้วย Raw ไฟล์ครับ การปรับจะทำได้ยืดหยุ่นกว่าเสมอ
Leave feedback about this