หลังจากที่ผมได้แนะนำเรื่องเซ็ทอัพกล้องและเซ็ทอัพอุปกรณ์ไปใน EP ที่แล้วนะครับ ใน EP นี้เราจะมาแนะนำเรื่องเทคนิคการถ่ายภาพพลุ ถ่ายดอกไม้ไฟ เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามนะครับ
1. เลือกมุมที่ดี
ในการถ่ายภาพพลุ มุมถ่ายภาพมีความสำคัญอย่างมากนะครับ การแสดงพลุในปัจจุบันจะจัดแสดงต่อหน้าผู้ชมที่อยู่ด้านหน้าเป็นหลัก มีการคำนวนตำแหน่งพลุ คำนวณจังหวะการจุดไว้เป็นอย่างดีแล้ว พลุจะดูสวยที่สุดเมื่อถ่ายภาพจากด้านหน้า หรือจากด้านหลังในมุมตรงก็ได้ แต่ถ้าเราไปอยู่ในตำแหนงด้านข้างหรือเยื้องๆ ไป พลุจะซ้อนทับกันมั่วไปหมด ไม่เห็นรูปทรงตามที่ผู้จัดตั้งใจจะนำเสนอ เพราะฉะนั้นแนะนำว่าควรเลือกมุมที่อยู่ด้านหน้าของจุดที่แสดงพลุครับ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พลุจะไม่ซ้อนทับกัน แล้วก็เห็นพลุได้สวยที่สุดเสมอ
2. โฟกัสให้ชัวร์
ในการถ่ายภาพพลุ การโฟกัสให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ เพราะว่าเราถ่ายภาพในที่ที่มืดมาก ซึ่งกล้องอาจจะโฟกัสผิดพลาดได้ ถ้าคุณใช้ระบบ Auto focus แนะนำว่า ให้มองหาจุดที่อยู่ในระยะไกลที่มีรายละเอียดและมีแสงพอที่กล้องจะโฟกัสได้ ย้ายจุดโฟกัสไปที่ตำแหน่งนั้น แล้วก็แตะชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งให้กล้องโฟกัส เมื่อกล้องโฟกัสได้แล้วก็แตะค้างไว้รอพลุจุดขึ้นมาแล้วค่อยกดลั่นชัตเตอร์ เราก็จะได้ภาพที่คมชัดแน่นอนนะครับ หรือถ้าไม่ใช้ระบบออโต้โฟกัสแต่จะใช้ระบบแมนนวลโฟกัสก็แนะนำว่าให้หาวัตถุที่อยู่ในระยะไกล เช่น ตึกหรืออาคารนั่นแหละครับ โฟกัสแมนนวลไว้ ซูมขึ้นมาดู ปรับโฟกัสให้ชัดที่สุด หลังจากนั้นก็ไม่ต้องไปยุ่งกับวงแหวนโฟกัสนะครับ ถ่ายอย่างเดียว แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ มือของเราอย่าไปโดนวงแหวนโฟกัส ถ้ามันเคลื่อนไปโดยที่เราไม่รู้ตัวแล้วจะกลายเป็นว่าภาพของเราเบลอได้ครับ
3. เลือก F Stop ให้เหมาะสม
ในการถ่ายภาพพลุ ความเร็วชัตเตอร์ไม่ได้มีผลต่อความสว่างหรือสีสันของพลุครับ สิ่งที่มีผลต่อความสว่างและสีสันของพลุคือ รูรับแสง เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องเลือกรูรับแสงให้เหมาะสม ถ้าเราใช้ ISO 100 F Stop ที่แนะนำให้ใช้ก็คือ F11 ครับ ซึ่งมันจะพอดีกับความสว่างของพลุที่เป็นสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วง ประมาณนี้ครับ แต่ถ้าเป็นพลุที่มีความสว่างน้อย เช่น พลุสีเหลืองที่เป็นเส้นบางๆ สีแบบนั้นอาจจะอยู่ที่ F5.6 พลุที่สว่างที่สุดก็จะเป็นพลุสีเหลืองเส้นหนาใหญ่ๆ พวกนั้นก็จะอยู่ที่ ประมาณ F16 หรือ อาจจะไปถึง F22 แน่นอนครับว่าในระหว่างที่ชัตเตอร์ลั่นไปแล้วคุณไม่สามารถเปลี่ยน F Stop ได้แล้ว (สำหรับเลนส์ออโต้โฟกัส) เพราะฉะนั้นเลือก F ที่เหมาะสมและเป็นค่ากลางไว้ก่อนซึ่งก็คือ F11 ครับ ส่วนพลุอันไหนมืดไปหรือสว่างไป ถ้าเราถ่ายด้วย Raw ไฟล์ เราค่อยมาดึงมาปรับที่ตำแหน่งนั้นได้ครับ
4. อย่าโลภ
ในการถ่ายภาพพลุ นักถ่ายภาพมือใหม่มักจะต้องการภาพพลุที่ดูอลังการ มีหลายๆ ลูกหลายๆ สีอยู่ในเฟรมเดียวกัน ก็เลยใช้เวลาในการถ่ายภาพนานเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พลุซ้อนทับกันมั่วไปหมด นอกจากจะซ้อนทับกันมั่วแล้วยังจะทำให้ภาพโอเวอร์ไปด้วย แม้จะถ่ายด้วย Raw ไฟล์บางทีเราก็ไม่สามารถดึงพลุที่โอเวอร์ให้กลับมาเป็นภาพสีปกติได้ หรือแม้จะดึงกลับมาได้ รูปทรงของพลุก็จะไม่สวยแล้ว เพราะซ้อนทับกันมากเกินไป ดังนั้น การถ่ายภาพพลุ ควรเลือกจำนวนของพลุ เลือกจังหวะและเวลาให้ดีครับ ถ้าพลุอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ซ้ำกัน เราก็อาจจะได้จำนวนพลุมากหน่อย 2 ชุด 3 ชุด แล้วค่อยเปิดชัตเตอร์ แต่ถ้าพลุยิงอยู่ในตำแหน่งเดิมตลอด เราก็ไม่ควรถ่ายด้วยเวลานานเกินไป เพราะจุดนั้นมันจะโอเวอร์ครับ เราต้องเลือกให้ดี
5. กดชัตเตอร์และปลดชัตเตอร์ในจังหวะที่เหมาะสม
ในการถ่ายภาพพลุ จังหวะในการกดชัตเตอร์ จัหวะในการปลดชัตเตอร์มีความสำคัญมากครับ ควรจะกดชัตเตอร์ในจังหวะที่พลุยังไม่แตก อย่ากดชัตเตอร์ในจังหวะที่พลุแตกไปแล้วและกำลังโรยตัวอยู่ เพราะคุณจะได้เส้นพลุแค่ส่วนหาง ได้ไม่เต็มดอก ซึ่งมันจะไม่สวยครับ เช่นเดียวกันกับจังหวะการปลดชัตเตอร์ ควรจะรอให้พลุแตกจนหมดดอกแล้วค่อยปลดชัตเตอร์ครับ ซึ่งทำให้ได้พลุที่มีเส้นสายสมบูรณ์ตั้งแต่แกนในจนถึงปลายหางด้านนอกครับ ซึ่งจุดนี้จะทำให้ภาพของเราสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
6. ไม่เปลี่ยนขนาดภาพบ่อยๆ
ข้อดีตรงที่ว่า บางทีพลุของเราที่ถ่ายๆ ไปแต่ละเฟรมมันอาจจะไม่สมบูรณ์ซะทีเดียว พลุอาจจะจุดเป็นแผงสวย แต่ว่าบางมุมของภาพอาจจะขาดไป ดูโล่งไป เราก็สามารถเติมพลุเข้ามาในส่วนนี้ได้จากภาพในเฟรมอื่นๆ ซึ่งถ้าตำแหน่งของกล้องไม่เปลี่ยน ขนาดภาพเท่าเดิม เราก็สามารถเมิร์สรวมภาพอื่นเข้าไปกับภาพที่เราต้องการได้สะดวกกว่า โดยส่วนอื่นของภาพ เช่น ส่วนล่างของภาพที่เป็นอาคารบ้านเรือนก็จะคมชัดปกติครับ การรวมภาพจะทำได้ง่ายกว่า
และนี่ก็คือ 6 เทคนิคการถ่ายภาพพลุที่เชื่อว่าจะช่วยให้เราถ่ายภาพพลุกันได้สวยงามมากขึ้นครับ
Leave feedback about this