BASIC PHOTO TECHNIQUES

6 ข้อผิดพลาดของการใช้ขาตั้งกล้อง

ขาตั้งกล้องเป็นอุปกรณ์เสริมที่สำคัญที่จะช่วยให้ได้ภาพหลายๆ รูปแบบโดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ อย่างการถ่ายรูปน้ำตกถ่ายไฟวิ่งเป็นสายหรือการถ่ายภาพพลุ

ซึ่งแน่นอนว่าการถือกล้องถ่ายรูปด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ นั้น โอกาสที่จะได้ภาพที่คมชัดค่อนข้างน้อยมาก หรืออาจจะเบลอทุกรูปเลยก็ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ขาตั้งกล้อง และช่างภาพหลายๆ คน ก็มีขาตั้งกล้องหลายๆ ขนาด ตามการใช้งาน แต่การใช้ขาตั้งกล้องของช่างภาพบางคน ยังใช้ผิดวิธีอยู่ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่มีปัญหาอะไร ยังคงได้ภาพที่คมชัดอยู่ แต่บางครั้ง บางสถานการณ์ อาจจะได้ภาพเบลอๆ มาแทน โดยเฉพาะเมื่อต้องเอาไปใช้งาน Out Door ซึ่งทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ

ขาตั้งกล้อง เป็นตัวที่ช่วยให้ได้ภาพที่คมชัด เมื่อต้องถ่ายภาพในที่แสงน้อยๆ หรือเมื่อต้องถ่ายภาพที่ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ซึ่งควรจะใช้งานร่วมกับสายลั่นชัตเตอร์ หรือรีโมทคอนโทรล เพื่อลดการสั่นไหวจากการสัมผัสตัวกล้องในขณะถ่ายภาพด้วย แต่หลายๆ คน ก็ใช้ขาตั้งกล้องผิดวิธี ถึงแม้ว่าบางครั้งจะได้ภาพที่คมชัดเหมือนกันก็ตาม และก็อาจจะเกิดความเสี่ยงจากการใช้งาน หรืออาจจะได้ผลไม่เต็มตามที่ต้องการ หรืออาจจะเกิดอาการสั่นไหวได้ด้วยเช่นกัน

มาดูกันว่า แบบไหนที่เรายังใช้งานแบบผิดวิธีกันอยู่ หรือแบบไหนที่เรายังใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการออกแบบขาตั้งกล้องด้วยเช่นกันครับ

1. ยืดแกนกลางขาตั้งกล้องขึ้นมาก่อน

แกนกลางของขาตั้งกล้อง ควรจะเป็นตัวสุดท้ายที่จะยืดขึ้น เมื่อต้องการตั้งให้กล้องสูงขึ้น และไม่ควรยืดแกนกลางขึ้นมาใช้งาน ทั้งๆ ที่ยังยืดท่อนขาไม่หมดทุกท่อน

เพราะการล็อกส่วนปลายของแกนกลางนั้น อาจจะทำให้กล้องสั่นได้ โดยเฉพาะกล้องที่มีน้ำหนักมาก และใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ

2. เลือกใช้ท่อนปลายขาตั้งกล้องก่อน

ถ้าจะเลือกกางขาตั้งแค่เพียงบางส่วน ไม่ควรเลือกกางท่อนปลายก่อน เพราะเป็นท่อนที่มีขนาดเล็กที่สุด และมีความแข็งแรงน้อยที่สุดของขาตั้งกล้อง

ดังนั้นควรปรับจากท่อนที่มีความหนามากที่สุดก่อนเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าตั้งกล้องได้นิ่งมากที่สุด

3. ตั้งขาตั้งกล้องเอียงบนพื้นที่ไม่ราบเรียบเสมอกัน

ถึงแม้ว่าจะใช้งานขาตั้งกล้องบนเนินที่ไม่ราบเรียบเท่าๆ กัน แต่ก็ต้องกางขาตั้งกล้องให้อยู่ในแนวระนาบให้มากที่สุด โดยลดความสูงของท่อนขาด้านที่อยู่บนเนินที่สูงที่สุด ให้กล้องอยู่ในแนวระนาบมากที่สุด

ขาตั้งกล้องหลายๆ ยี่ห้อจะมีระดับน้ำติดมาด้วย ช่วยให้เช็กระนาบของกล้องได้ง่ายขึ้น

4. วางตำแหน่งสามขาไม่ถูก

เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ใช้งานผิดๆ กันอยู่มากมาย โดยกางสามขาแล้ว ให้ขาด้านใดด้านหนึ่ง หันเข้าหาช่างภาพ แล้วก็ยืนคร่อมขาตั้งกล้องท่อนนั้น ซึ่งอาจจะเกิดการสะดุด หรือเตะขาตั้งท่อนนั้นโดยไม่ตั้งใจได้ เมื่อต้องเข้าไปมองวิวไฟน์เดอร์ เพราะบางครั้ง เราก็ไม่ได้ยืนนิ่งๆ ในขณะถ่ายภาพ

ดังนั้น ถ้าไม่ติดขัดอะไร (เช่น ตั้งกล้องชิดกำแพง) ก็ควรจะหันขาตั้งกล้องข้างใดข้างหนึ่ง กางออกไปด้านหน้า (ตามแนวเลนส์) ส่วนสองข้างก็จะกางออกไปด้านซ้ายและขวาของตัวเรา ทำให้มองวิวไฟน์เดอร์เพื่อจัดองค์ประกอบ หรือปรับตั้งกล้องได้อย่างสะดวก

5. หัวขาตั้งกล้องหลวม

หัวขาตั้งกล้องที่ติดกับขาตั้งกล้อง อาจจะคลายหลวมได้ในขณะเดินทาง หรือทิ้งเอาไว้ในรถ หรือเมื่อต้องการปรับหมุนกล้อง โดยที่ยังคลายตัวล็อกไม่หลวมพอ ดังนั้นต้องคอยเช็กอยู่บ่อยๆ และขันให้แน่นทุกครั้ง

แกนขาตั้งกล้องบางรุ่นจะมีสกรูสำหรับล็อกหัวขาตั้งกล้องให้ติดแน่นกับขาตั้งกล้อง ซึ่งควรขันให้แน่นก่อนนำไปใช้งาน

6. สกรูล็อกท่อนขาตั้งทั้งสามขาหลวม

ที่คอขาตั้งกล้อง จะมีสกรูล็อกท่อนขาทั้งสามท่อนให้แน่น เวลากางออกก็จะคงอยู่ตามระยะที่กาง ไม่หุบกลับเข้ามา เมื่อต้องขยับย้ายหรือเปลี่ยนตำแหน่งวางขาตั้งกล้อง ซึ่งถ้าไม่ขันให้แน่น แกนขาตั้งกล้องก็จะหุบกลับเข้ามา ทำให้ยุ่งยากกับการใช้งานพอสมควร

อีกจุดหนึ่งคือ ตัวล็อกขาตั้งกล้องแบบคลิปล็อก ที่อาจจะคลายออกได้เช่นกัน ถึงแม้จะดูว่าล็อกแล้ว แต่เมื่อตั้งกล้องและเลนส์ที่มีน้ำหนักมาก ช่วงท่อนขาตั้งกล้องอาจจะค่อยๆหดลง ทำให้กล้องล้มได้

ดังนั้น ต้องหมุนให้แน่นทุกครั้ง ก่อนติดกล้องเข้ากับขาตั้งกล้อง และพกไขควงหกเหลี่ยมติดกระเป๋ากล้องไว้ด้วย

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video