การถ่ายภาพก็เหมือนกับงานอดิเรก หรือการทำงานอื่นๆ ที่ล้วนต้องมีก้าวแรก หรือเคยผ่านความผิดพลาดกันมาแล้วทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่มืออาชีพ อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านการฝึกฝนมากขึ้นหรือยิ่งมีประสบการณ์มากขึ้นเท่าไร ข้อผิดพลาดต่างๆ ก็จะลดลงตามไปด้วย ลองมาดูข้อผิดพลาด 6 ข้อที่ควรให้ความใส่ใจเมื่อจะเริ่มถ่ายภาพกันครับ

1. ไม่ศึกษาคู่มือการใช้งาน
เชื่อว่าหลายคน ก่อนที่จะซื้อกล้องมีการดูสเปกกล้องก่อนซื้อกล้องอยู่แล้ว แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณใช้งานกล้องได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่ต้องการ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องแนะนำมือใหม่หรือผู้เริ่มใช้กล้องคือ การอ่านคู่มือการทำงานของกล้องอย่างละเอียด เพื่อศึกษาว่ากล้องถ่ายภาพของคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง การไม่อ่านคู่มือ ทำให้พลาดการเรียนรู้ และอาจจะทำให้เราใช้ความสามารถของกล้องได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ช่างภาพจำนวนไม่น้อยอ่านคู่มือทุกครั้งที่เปลี่ยนกล้องรุ่นใหม่ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เข้าใจตัวกล้องอย่างถ่องแท้แล้ว ยังเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้งานที่ผิดพลาดได้ด้วย

2. ได้ภาพไม่ดีตามที่ต้องการก็โทษกล้องไว้ก่อน
ช่างภาพมือใหม่จำนวนไม่น้อยที่มักเข้าใจผิดและพูดว่า “ถ้าเรามีกล้องที่ดีและแพงกว่านี้ เราก็ถ่ายรูปที่สวยกกว่านี้ได้” ซึ่งในความเป็นจริงกล้องที่ดีกว่า แพงกว่า เพียงช่วยให้การควบคุมกล้องทำได้สะดวกขึ้น ให้ขนาดไฟล์ภาพที่ใหญ่ขึ้น มี noise น้อยลง ความเร็วในการโฟกัสเร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งมี Ai เข้ามาช่วยในการถ่ายภาพ ฯลฯ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คุณเป็นช่างภาพที่เก่งขึ้นได้ ในความเป็นจริง ภาพถ่ายที่ดีได้มาจากองค์ประกอบหลายๆ สิ่งที่ลงตัว กล้องเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยบันทึกภาพเท่านั้น การพัฒนาตัวเองเพื่อให้ถ่ายภาพดีขึ้น อยู่ที่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การหามุมมองใหม่ๆ เรียนรู้การจัดองค์ประกอบภาพ และอื่นๆ สิ่งต่างๆที่นำมาประกอบกันนี้จะช่วยทำให้ภาพถ่ายดูดี มีความน่าสนใจมากขึ้นไม่ว่าจะใช้กล้องราคาถูกหรือแพงแค่ไหนก็ตาม

3. ไม่เรียนรู้ทฤษฎีการถ่ายภาพ
การทำสิ่งใดก็ตาม หากมีประสบการ์มากขึ้น ยิ่งฝึกฝนมากขึ้น ก็จะยิ่งทำได้ดีขึ้น การถ่ายภาพก็หนีไม่พ้นคำกล่าวนี้เช่นกัน อาจจะแตกต่างกันที่การถ่ายภาพเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เมื่อเรียนรู้ศาสตร์การใช้งานกล้องก็จำเป็นต้องเรียนรู้ทฤษฎีถ่ายภาพพื้นฐานควบคู่กันไปด้วย อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ทฤษฎีขั้นสูงที่มีความยุ่งยากซับซ้อนในขณะที่คุณเพิ่งเริ่มหัดถ่ายภาพ แต่เมื่อเวลาผ่านไปและมีประสบการณ์มากขึ้นคุณอาจต้องการเรียนรู้เรื่องราวที่ลึกและมีรายละเอียดมากขึ้น อย่างไรก็ตามทุกวันนี้การหาความรู้ในโลกออนไลน์สามารถทำได้ง่ายและมีเนื้อหาให้เลือกมากมาย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สะดวกมากสำหรับมือใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay โดย : Say thanks to Peggy_Marco
4. เปรียบเทียบภาพตัวเองกับภาพคนอื่นอย่างผิดวิธี
ช่างภาพมือใหม่จำนวนมาก มักจะเปรียบเทียบภาพถ่ายของตนเองกับภาพถ่ายของช่างภาพท่านอื่น การเปรียบเทียบภาพถ่ายในกรณีแบบนี้กับช่างภาพที่คุณชื่นชอบผลงาน อาจจะทำให้ช่างภาพมือใหม่รับอิทธิพล หรือแนวการถ่ายภาพของช่างภาพท่านนั้นมาโดยไม่รู้ตัว หากเกิดกรณีนี้ขึ้นนอกจากจะเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังอาจจะส่งผลเสียต่อสไตล์การถ่ายภาพในแบบตัวคุณเองในระยะยาวด้วย ซึ่งสไตล์การถ่ายภาพของแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ภาพแต่ละภาพมีความโดดเด่น น่าสนใจ บ่งบอกถึงความเป็นตัวคุณเองที่แตกต่างจากช่างภาพท่านอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน การเปรียบเทียบหรือชื่นชมผลงานของช่างภาพท่านอื่นขอให้คำนึงถึงการนำไปต่อยอดพัฒนางานในสไตล์ของคุณเอง จะมีประโยชน์ที่สุด นอกจากนี้ การถ่ายภาพที่เป็นสไตล์ของตัวเองอาจทำให้โลกของการถ่ายภาพมีสไตล์ในการถ่ายภาพที่หลากหลายและมากขึ้นด้วย


5. การไม่คงสไตล์ความเป็นตัวเอง
ในการถ่ายภาพ สไตล์การถ่ายภาพที่สะท้อนมุมมองของช่างภาพแต่ละคน เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ถึงเอกลักษณ์และความเป็นตัวตน สามารถสร้างความแตกต่างให้กับผลงานของช่างภาพแต่ละคนและแยกแยะผลงานออกมาได้ชัดเจน ความจริงข้อนี้พิสูจน์ได้ง่ายๆ เช่น ในการถ่ายภาพงานเดียวกัน ช่างภาพแต่ละคนจะถ่ายภาพสะท้อนมุมมองที่แสดงความเป็นสไตล์ของตัวเองออกมาได้แตกต่างกันออกไป ช่างภาพที่ดีควรรักษาสไตล์การถ่ายภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไว้เป็นพื้นฐานและพัฒนาผลงานต่อไป

6. การไม่โฟกัสในสิ่งที่ตัวเองรัก
ช่างภาพมือใหม่จำนวนมากให้เหตุผลว่าชื่นชอบการถ่ายภาพเพราะถือเป็นงานอดิเรก แน่นอนว่างานอดิเรกคือการทำในสิ่งที่คุณรัก ซึ่งช่างภาพแต่ละคนก็มีความรัก ความชอบในการถ่ายภาพแต่ละประเภทที่แตกต่างกันออกไป บางคนชอบถ่ายภาพท่องเที่ยว บางคนชอบถ่ายภาพอาหาร ภาพงานแต่งงาน ภาพสัตว์ป่า ภาพกีฬา หรืออื่นๆ ไม่ว่าความชอบนั้นจะเป็นการถ่ายภาพแบบใดขอให้โฟกัสลงไปที่การถ่ายภาพนั้นๆ อย่างจริงจัง หรืออีกนัยหนึ่งการทำในสิ่งที่รัก จะทำให้คุณสามารถพัฒนาการถ่ายภาพของคุณได้เร็วขึ้นนั่นเอง


อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการแนะนำช่างภาพมือใหม่เท่านั้น หากแต่การถ่ายภาพนั้นยังต้องเรียนรู้อีกหลายองค์ประกอบ สิ่งที่ดีที่สุดเมื่อคุณมีกล้องในมือ คือการทดลอง ลองใช้ ลองผิดลองถูก เพื่อให้ได้เรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอดโลกของการถ่ายภาพของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพเพื่องานอดิเรก หรือเพื่อที่จะมุ่งสู่ความเป็นมืออาชีพก็ตาม
ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ
Leave feedback about this