7 ข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นบ่อยของช่างภาพมือใหม่
แปลจาก : 7 Mistakes Beginner Photographers Make The Camera Can’t Be Blamed For โดย : Kevin Landwer-Johan
ที่มา : digital-photography-school.com
ช่างภาพมือใหม่มักมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในการถ่ายภาพ เช่น การจัดองค์ประกอบภาพ การเลือกฉากหลัง หรืออื่นๆ เป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากตัวช่างภาพเองซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และการสังเกตุในการพัฒนาให้ถ่ายภาพได้ดีขึ้น
Kevin Landwer-Johan ช่างภาพมืออาชีพ อาจารย์สอนถ่ายภาพและนักเขียนได้รวบรวมข้อผิดพลาดที่มักเกิดกับมือใหม่ไว้ 7 ข้อ
1. Poor composition ขาดองค์ประกอบภาพที่ดี
ช่างภาพมือใหม่ส่วนใหญ่มักมีข้อผิดพลาดหลักมาจากการขาดองค์ประกอบภาพที่ดี เช่น ไม่ขยับเข้าใกล้วัตถุหลัก ทำให้มีช่องว่างหรือพื้นที่ว่างในภาพมากเกินไป หรือบางครั้งหากเข้าใกล้มากเกินไปก็ทำให้ภาพดูอึดอัด หรืออาจจะตัดสัดส่วนสำคัญของวัตถุออกไป ช่างภาพมือใหม่ต้องใส่ใจกับวัตถุที่อยู่ในเฟรมภาพให้มาก ด้วยการขยับเข้าใกล้ ถอยออกห่าง ใช้เลนส์ซูม หรือลองเปลี่ยนมุมใหม่ดู
ช่างภาพมือใหม่ส่วนใหญ่ มักจะมีปัญหาเรื่องการเว้นช่องว่างบนศีรษะของภาพถ่าย portrait มากเกินไป ให้ลองขยับเข้าใกล้ตัวแบบหรือกดมุมกล้องลงอีกเล็กน้อยเพื่อลดช่องว่างนั้นลง
2. Rushing your photography รีบร้อนถ่ายภาพเกินไป
ให้เวลากับการถ่ายภาพให้มากขึ้น จะช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่ดีขึ้น การรีบร้อนเกินไป ทำให้ขาดการสังเกตุสิ่งต่างๆในเฟรมภาพ ที่อาจส่งผลให้ภาพถ่ายขาดความสมบูรณ์
ในบางครั้งโอกาสที่ได้ภาพดีอาจจะมีเพียงแค่เสี้ยววินาที แต่โอกาสแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย และไม่ใช่กับการถ่ายภาพทุกครั้ง ทุกประเภท โอกาสแบบนี้สิ่งที่ช่วยให้ได้ภาพดีคือการเตรียมตัว เตรียมกล้อง อุปกรณ์ให้พร้อม
การใช้โหมดถ่ายภาพแมนนวล ช่วยให้คุณใช้เวลากับการถ่ายภาพที่มากขึ้นได้ เพราะต้องใช้ความคิดในการตั้งค่าต่างๆของกล้องก่อนการถ่ายภาพ ใช้เวลากับการถ่ายภาพให้มากขึ้น ใช้ความคิดก่อนกดชัตเตอร์ ช่วยพัฒนาการถ่ายภาพให้ดีขึ้นได้
3. Distracting backgrounds ฉากหลังรบกวนวัตถุหลักในภาพ
ฉากหลังที่รบกวนวัตถุหลักก็ยังเป็นอีกปัญหาใหญ่ของมือใหม่ที่พบเจอได้เสมอ ช่างภาพส่วนใหญ่อาจจะมัวให้ความสนใจกับวัตถุหลัก จนลืมดูและไม่ได้ระวังฉากหลัง กว่าจะรู้ตัวก็ตอนที่ถ่ายรูปเสร็จและกลับมานั่งดูรูปภาพนั้นอีกครั้ง การหลีกเลี่ยงฉากหลังที่รกสามารถทำได้โดย
- ใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมากขึ้น
- เปลี่ยน หรือย้ายวัตถุหลัก ไปถ่ายที่อื่น
- เปลี่ยนมุมหรือลองถ่ายภาพในมุมอื่น
- ใช้รูรับแสงกว้างเพื่อเบลอฉากหลัง
เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงขึ้น จะช่วยลดหรือบีบฉากหลังให้น้อยลง ลองใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงขึ้นและถอยหลังออกไปให้ห่างจากวัตถุ จและลองสังเกตุฉากหลังที่แตกต่างจากการใช้เลนส์ที่ระยะกว้างกว่า
การย้ายตำแหน่งของวัตถุ หรือ ตำแหน่งกล้อง จะเปลี่ยนแปลงฉากหลังที่ปรากฎในภาพ ส่วนการใช้รูรับแสงกว้างจะช่วยเบลอฉากหลังที่ไม่น่าสนใจออกไปได้ ช่วยเน้นให้วัตถุหลักเด่น ทำได้โดยการใช้รูรับแสงกว้าง หรือใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูง หรือโฟกัสใกล้ที่วัตถุมากๆ
4. Not looking for alternative angles ไม่ลองเปลี่ยนมุมใหม่ๆ
การถ่ายภาพมุมมองแรกที่เห็นหรือจากความคิดแรกทุกครั้ง อาจจะไม่ใช่ภาพที่ดีที่สุดเสมอไป และความคิดนี้มักเกิดกับช่างภาพมือใหม่อยู่เสมอๆเช่นกัน
ลองมองไปรอบๆ เปลี่ยนตำแหน่งกล้อง หรือลองก้มหรือเงยกล้อง เอียงกล้อง เปลี่ยนจากมุมเดิมๆ การพยายามมองหามุมมองใหม่ๆนี้มักจะช่วยสร้างภาพที่น่าสนใจมากขึ้นได้เสมอ
ถ่ายภาพทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เมื่อไม่มั่นใจว่าแบบไหนจะเหมาะสมกว่ากัน
ในการถ่ายภาพทุกครั้ง แนะนำให้ถ่ายมากกว่าหนึ่งหรือสองเฟรม โดยลองมองวัตถุหลักจากมุมที่แตกต่างกัน อาจจะใช้เลนส์ prime เป็นตัวช่วยบังคับให้ต้องเดินหามุม แทนการใช้เลนส์ซูมที่อาจจะทำให้เรายืนอยู่ในที่เดิมๆ
5. Not giving people enough direction ไม่สั่งให้ตัวแบบโพสต์ท่าถ่ายภาพ
สิ่งที่ช่างภาพมือใหม่มักละเลย หรือไม่กล้า อาจจะเพราะด้วยความที่ขาดประสบการณ์ ความกลัว ที่จะสั่งให้แบบที่ถ่ายโพสต์ท่าตามที่ต้องการ เป็นข้อผิดพลาดที่ใหญ่มาก เพราะแบบไม่สามารถที่จะโพสต์ท่าได้เองให้เหมาะกับประเภทงานหรือรูปแบบของภาพที่ช่างภาพต้องการได้ สิ่งที่ช่างภาพควรทำคือ การพูดคุยแนะนำและบอกให้แบบโพสต์ท่าทางตามที่เราต้องการ พูดคุยถึงสไตล์ภาพที่เราต้องการ เพื่อให้ได้ภาพที่ออกมาดีที่สุด
ในการถ่ายภาพทั่วๆไป การพูดคุยสื่อสารกับบุคคลที่จะอยู่ในเฟรมภาพ ช่วยลดความตรึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ ช่วยให้ภาพบุคคลที่อยู่ในภาพดูเป็นธรรมชาติ การพูดคุยง่ายๆอาจเริ่มต้นที่การแนะนำตัว พูดถึงการถ่ายภาพ และเปิดภาพถ่ายในกล้องให้ดู เพื่อให้คนเหล่านั้นเข้าใจและให้ความร่วมมือในการถ่ายภาพ
6. Failing to relate to your subject, whatever you are photographing ไม่สามารถอธิบายลักษณะงานถ่ายภาพให้ตัวแบบเข้าใจได้
การถ่ายภาพบุคตล สิ่งสำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างช่างภาพกับตัวแบบ และอธิบายลักษณะการทำงาน การถ่ายภาพ รูปแบบการทำงานและลักษณะของภาพถ่ายที่ต้องการ การเตรียมความพร้อมของกล้อง อุปกรณ์เป็นสิ่งจำเป็น แต่หากปราศจากการให้ความสำคัญหรือการสื่อสารที่ดีกับตัวแบบ ก็ไม่สามารถได้ภาพถ่ายที่ดีได้เช่นกัน
อย่าลืมว่าความสำคัญของการถ่ายภาพบุคคลคืออารมณ์ความรู้สึกที่สื่อออกมาของตัวแบบ หากช่างภาพ ทีมงาน มีความสัมพันธ์ที่ดี และอธิบายลักษณะงานให้ตัวแบบทราบได้ดีก็มั่นใจได้ว่าจะได้ภาพถ่ายที่ดีแน่นอน
การถ่ายภาพวัตถุอื่นๆก็เช่นกัน ความ ใส่ใจ และใช้ความคิดต่อวัตถุที่ต้องการถ่ายก็ช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่ดีเช่นกัน
7. Being fearful to take photos กลัวการไปถ่ายภาพ
เป็นความกลัวที่เกิดจากความคิดในใจของช่างภาพมือใหม่ที่มักจะกลัวไปเอง หรือคิดไปเอง จนทำให้เรากลัวที่จะออกไปถ่ายรูป ส่วนใหญ่ที่พบมักจะเป็นการกลัวผู้คนที่เราต้องการถ่ายรูป หรืออาจจะมีรูปของคนๆนั้นติดเข้ามาในเฟรมภาพ ช่างภาพมือใหม่มักกลัวอาอัปกิริยาที่อาจเกิดขึ้นหลังการพูดคุยเพื่อขอถ่ายรูป กลัวว่าจะถูกปฏิเสธ กลัวถูกต่อต้านด้วยกิริยาที่ไม่ดี อย่าปล่อยให้โอกาสการได้ภาพถ่ายดีๆหลุดไปกับความกลัวเหล่านี้
ความผิดพลาดกับมือใหม่ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้ด้วยการออกไปฝึกฝนบ่อยๆ เมื่อถ่ายภาพแล้วกลับมานั่งดูภาพที่ตัวเองถ่ายเพื่อศึกษาหาจุดดีจุดด้อยและนำไปพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นได้ในอนาคต