พลันที่คณะผู้จัดทำนิตยสาร FOTOINFO สรุปร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่า ‘เรา’ จะเดินทางสู่ทั่วทุกภูมิภาคเพื่อเสาะหา ‘คำพูด’ และ ‘ภาพถ่าย’ จาก 80 ดวงใจแห่งทวยไทยทั่วราษฎร์ที่มีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทองค์เหนือหัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนม- พรรษา ๘๐ พรรษา
‘เรา’ ทุกคนตระหนักในใจดีว่านี่คือภารกิจอันยิ่งใหญ่อีกครั้งที่จะต้องร่วมมือลงแรงถ่ายทอดแนวความคิดนั้นออกมาให้เป็นรูปธรรมอย่างสมบูรณ์และตั้งใจที่สุด แม้หนทางข้างหน้าอาจพบอุปสรรค ปัญหาและความเหน็ดเหนื่อย
พลันที่คณะผู้จัดทำนิตยสาร FOTOINFO เดินทางกลับจากภารกิจครั้งนี้ ‘เรา’ กลับพบว่า อุปสรรค ปัญหา และความเหน็ดเหนื่อยที่ได้พบระหว่างรอนแรมทางไปบนผืนแผ่นดินไทยนั้น มิอาจเทียบเทียมได้แม้เสี้ยวธุลีดินใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่องค์เหนือหัวทรงพบและเผชิญด้วยพระองค์เอง ถ้อยบันทึกจากห้วงแห่งความทรงจำของทั้งข้าราชบริพาร ข้าราชการ นักธุรกิจ พ่อค้า-แม่ค้า ประชาชน แม้กระทั่งพสกนิกรผู้ยากไร้ ยิ่งทำให้ ‘เรา’ สำเหนียกเข้าไปในเบื้องลึกแห่งหัวใจว่า..
หากโลกนี้จักมีมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่เทียบเทียมฟ้า น้ำพระทัยมากพ้นกว่ามหาสมุทร พระอัจฉริยภาพรอบด้านเกินกว่ามนุษย์ปุถุชน และติดดินเป็นที่สุดแล้วไซร้ จะมีก็แต่มหาบุรุษผู้ถูกประชาชนเรียกว่า ‘ในหลวง’ เท่านั้น
‘คำพูด’ และ ‘ภาพถ่าย’ ในบทความพิเศษเรื่อง ‘80 ดวงใจ จากทั่วแผ่นดินไทยถึงพ่อ’ แม้นไม่ครอบคลุมรอบด้านถ้วนทุกสาขาอาชีพและสถานที่ แต่กระนั้น ‘เรา’ ก็มั่นใจว่านี่คือเสียงอันแจ่มชัดอย่างยิ่งจากประชาชนที่จะสะท้อนไปถึง ‘ในหลวง’ ของพวกเขา
– ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
– ที่ปรึกษากรรมาธิการรัฐสภาเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
– กรรมการพิจารณาหลักสูตรมาตรฐานการศึกษาทบวงมหาวิทยาลัย
– รองประธานกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย
– กรรมการบริหารสภามุสลิมโลก
ความรู้สึกของคนทั่วๆ ไปเมื่อกล่าวถึงในหลวงก็คือ พระเจ้าแผ่นดิน คำว่าพระเจ้าแผ่นดินในอดีตสมัยสุโขทัยจนกระทั่งยุคปัจจุบัน ความรู้สึกของคนไทยเหมือนสมมุติเทพ เป็นผู้ที่มีบุญพระบารมีและก็เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ส่วนใหญ่ประชาชนคนที่นับถือศาสนาพุทธจะบูชาพระองค์ท่านเหมือนว่าเป็นเทพองค์หนึ่ง สำหรับความรู้สึกก็มีความรู้สึกว่าพระองค์ท่านเป็นที่พึ่ง เป็นที่รักใคร่ เป็นศูนย์รวมของชนทุกชั้นจากการปฏิบัติตนของพระองค์ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า พระองค์นั้นไม่มีการแบ่งแยกในเรื่องของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกศาสนา ฉะนั้นความผูกพันธ์กับในหลวงเป็นความรู้สึกตั้งแต่เกิด เป็นความรู้สึกที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็เหมือนกับคนไทยทั่วๆ ไป เพียงแต่ว่าเนื่องจากคนชาวมุสลิมไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดพระองค์ท่าน ก็เลยไม่ค่อยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเหมือนคนทั่วๆ ไป ทุกคนมีความรู้สึกรักพระเจ้าอยู่หัวมีความรู้สึกผูกพันแต่จะไม่แสดงออก เพราะคนไทยพุทธมีวัฒนธรรมต่างจากคนไทยมุสลิมนิดหนึ่งคือ คนพุทธจะมีวัฒนธรรมกราบได้ แต่คนมุสลิมกราบไม่ได้ ด้วยลักษณะของศาสนาไม่อนุมัติเด็ดขาดในการกราบวัตถุก็เลยดูท่าจะแข็งไปหน่อย นี่ก็คือเป็นสิ่งที่เป็นความต่าง แต่ถามจิตใจ ก็ไม่ต่างกัน
ในหลวงทรงมีความเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจมากๆ อย่างเช่นที่ตำบลท่าทรายที่เพชรบุรี พระองค์ท่านก็ไปช่วยคล้ายๆ เป็นโครงการพระราชดำริที่เยอะแยะไม่รู้ว่ากี่โครงการ ในกลุ่มมุสลิมนี่พระองค์ท่านเองเป็นผู้ดำริให้มีการแปลคัมภีร์กุรอ่านเป็นภาษาไทย นี่เป็นความคิดของพระองค์ ถึงแม้ว่าพระองค์จะนับถือศาสนาพุทธก็แล้วแต่ ฉะนั้นพระองค์ก็เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกของทุกๆ ศาสนา
การที่พระองค์ท่านให้แปลคัมภีร์กุรอ่านเป็นภาษาไทยก็เพื่อให้คนไทยได้เข้าใจได้รู้ 80% คนจะไม่เข้าใจ ผมหมายถึงสมัยเมื่อครั้งอดีต ฉะนั้นเพื่อประโยชน์สุขของชาวมุสลิมชาวสยามโดยทั่วไปได้รู้ ทรงมีเจตนาดีเพื่อจะได้นำหลักการต่างๆ ไปปฏิบัติให้ถูกต้อง แม้ว่ามุสลิมเข้าใจหลักการดีอยู่แล้ว แต่รายละเอียดซึ่งเป็นเรื่องของสังคม เรื่องการเมือง เรื่องของวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องมีใครแปลมาในสมัยก่อน พระองค์ท่านก็ให้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ในการแปลทีหลังก็เลยเป็นที่จดจำของชาวไทยมุสลิมทั้งประเทศมาโดยตลอด สมัยนั้นผมไม่รู้ว่าทำไมมุสลิมไม่แปลเอง ผมเข้าใจว่าศักยภาพตรงนั้นเมื่อ 60-70 ปีที่แล้วคงจะไม่ถึง พระองค์ท่านก็มีสายตายาวไกล เพราะเห็นว่าวิธีที่ทำให้มุสลิมนับถือ แค่นั้นคงไม่พอพระองค์คงจะให้เข้าใจลึกซึ้งในศาสนาที่ตนเองนับถืออยู่และเป็นประโยชน์สูงสุด ในแง่ศาสนา พระองค์ก็สนับสนุนอยู่แล้ว สนับสนุนเรื่องของศาสนามาโดยตลอด แต่ละปีพระองค์ท่านก็จะพระราชทานรางวัลแก่บรรดาแก่มุสลิมดีเด่นทั่วประเทศ
คนมุสลิมละหมาดก็เพื่อขอให้พระองค์หาย มุสลิมส่วนใหญ่ก็มีความเป็นห่วงในพระองค์ท่าน ขณะที่พระองค์ท่านป่วย ผมในฐานะประธานมุสลิมแห่งประเทศไทยก็ได้ทำอาหารไปหลายครั้ง ไปแจกให้กับคนที่ไปเฝ้าในหลวง อยากแสดงออกว่าเรารักในหลวงเหมือนคนอื่นทั่วๆ ไป ก็จะมีสมาคม องค์กรของมุสลิม มุสลิมชาวไทย ประธานองค์การสตรีมุสลิม มูลนิธิศูนย์กลางมุสลิมแห่งประเทศไทย เรามีความห่วงใยในพระองค์ท่าน ผมว่าแง่ของความรู้สึกไม่ต่างกัน แต่พิธีกรรมแตกต่างกัน เพราะคนมุสลิมจะไม่ไปบนบานอะไรทั้งสิ้น เราจะใช้วิธีละหมาด ซึ่งนี่ถือว่าเป็นหลักการของมุสลิมและใช้อยู่เป็นประจำ ก็อยากให้พระองค์ท่านมีพลานามัยที่สมบูรณ์ ให้พระองค์ท่านเป็นมิ่งขวัญของชาวไทยไปตลอดชั่วกาลนาน
พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เกิดวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1930 ที่หมู่บ้านวัดนักบุญเปโตร สามพราน นครปฐม
เหตุการณ์สำคัญในชีวิต วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1973 ได้รับการอภิเษกเป็นพระอัครสังฆราช แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ สืบตำแหน่งต่อจากพระอัครสังฆราชยอแซฟ ยวง นิตโย
วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1982 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงมีพระสมณสาสน์แจ้งเป็นการภายในให้ทราบว่า จะทรงแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของพระคาร์ดินัลแห่งพระศาสนจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983
วันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1983 มีประกาศอย่างเป็นทางการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะพระคาร์ดินัล นับเป็นพระคาร์ดินัลไทยองค์แรก
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 พิธีสถาปนาสมณศักดิ์พระคาร์ดินัลท่ามกลางคณะพระคาร์ดินัล คณะทูตานุทูต และคริสตศาสนึกชน
วันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1984 ฉลองหิรัญสมโภชครบรอบ 25 ปี แห่งการบวชเป็นพระสงฆ์
“ในหลวง” คือ องค์พระประมุขของชาติ องค์เอกอัคศาสนูปถัมภก ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ องค์ที่พึ่งและความหวังของปวงชน
สิ่งที่อยากทำเพื่อ “ในหลวง” คือ ส่งเสริมและสนับสนุนให้สังคมไทยปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท มีเมตตาธรรม ร่วมสร้างสามัคคีธรรม ร่วม ใจสร้างและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ภายใต้ พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภาพ “ในหลวง” ที่อยู่ในความทรงจำคือ ภาพที่เสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม
ภาพประวัติศาสตร์โอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 เสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ณ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2527
พระราชดำรัสของ “ในหลวง” ที่ประทับใจคือ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระอัจฉริยภาพอันเป็นเอกลักษณ์พิเศษสุดของ “ในหลวง” คือพลานุภาพแห่งความรักประดุจ “พ่อหลวง” ตัวจริง ชัดเจน ที่ทรงอุทิศแด่ประเทศชาติและพสกนิกรทั้งหลาย ซึ่งคุณประโยชน์นานัปการ ซึ่งได้รับการสรรเสริญยกย่องอย่างสูง และได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวางทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก
“ขอให้โลกนี้มีธรรมเป็นมารดา”
เกือบสามทศวรรษภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ แม่ชีศันสนีย์ยังคงมีปณิธานมุ่งมั่นในการสร้างคนให้มีความสุขในวิถีแห่งธรรม ใน ‘เสถียรธรรมสถาน’ สถานปฎิบัติธรรม ชุมชนแห่งการเรียนรู้ สืบเนื่องสานต่อมาเป็น “สาวิกา สิกขาลัย” การศึกษาเพื่อส่งเสริมการบรรลุธรรม
ถ้าแม่นึกถึงพระองค์ท่าน แม่จะรู้สึกอบอุ่น และมองท่านเหมือนเป็นแสงแห่งปัญญา ท่านเป็นผู้ที่ครองพระราชหฤทัยของพระองค์โดยธรรม พระองค์ก็ครองแผ่นดินโดยธรรม ในฐานะที่เป็นพสกนิกรชาวไทย ท่านเป็นครูและครองใจเราโดยธรรม เพื่อที่จะทำให้ความตั้งใจของพระองค์ที่จะทรงงานอย่างหนักใน 60 ปี โดยตั้งปณิธานแรกว่า ‘เราจะครองแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน’
เราได้เป็นหนึ่งในมหาชนที่มีความสุข เพราะการครองใจของเราโดยธรรม แม่จึงมองว่าท่านเป็นแสงแห่งปัญญา เป็นแสงของรุ่งอรุณที่จะทำให้เรามองเห็นอะไรชัดเจน รุ่งอรุณของชีวิตเป็นดังกัลยาณมิตร พระองค์ท่านเป็นกัลยาณมิตรของพสกนิกรชาวไทย ทำให้มีความสุขให้เห็นอยู่ตลอดเวลา เวลาที่เรามีกัลยาณมิตร มีพระองค์เป็นเหมือนรุ่งอรุณในทุกเช้า เราลืมตาขึ้นมาดูโลกอย่างมีโยนิโสมนสิการ เราจะทำให้แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินที่มีมหาชนที่มีความสุขได้อย่างที่พระองค์ตั้งใจจริงๆ มันขึ้นอยู่กับพวกเราด้วย
ถ้าถามว่า แม่จะทำอะไรเพื่อพระองค์ท่าน แม่ก็จะใช้ชีวิตอย่างคนที่มีธรรม พระองค์ครองใจของพระองค์โดยธรรม ครองแผ่นดินโดยธรรม ถ้าเรามองพระองค์ท่าน เราก็ครองใจของเราโดยธรรม แล้วเราก็จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีชีวิตเป็นคนไทยที่ไม่หนักแผ่นดินและใช้ชีวิตอย่างสงบเย็น รับใช้ผู้อื่นและสังคม พระองค์ท่านเหมือนโพธิสัตว์ ทำงานอย่างตัวตนเล็กแต่งานใหญ่ แม่คงมองท่านเป็นครูอย่างนี้
เวลาที่นึกถึงพระองค์ท่าน แม่จะนึกถึงการปฏิบัติของพระองค์ท่านกับสมเด็จย่า แม่คิดว่าสิ่งนี้คนไทยต้องดูและต้องกระทำตาม พระองค์ท่าน มีความกตัญญูต่อพระราชชนก พระชนนีของพระองค์มาก แม้กระทั่งรูปสุดท้าย ที่พระองค์ท่านออกจากโรงพยาบาล ท่านไปกราบพ่อ กราบแม่ท่าน ท่านยกมือขึ้นกดชัตเตอร์รูปแม่ท่าน ท่านดูแลสมเด็จพระพี่นางเธอในฐานะของน้อง เป็นความทรงจำที่ดีของเรา คือเราเห็นแล้วเราเป็นสุข นึกทีไรก็เป็นสุขและต้องทำตาม
การปฏิบัติธรรมของพระองค์ท่านไม่ได้แยกออกจากวิถีชีวิตประจำวัน การปฏิบัติธรรมของพระองค์ท่านอยู่ในวิถีแห่งการทรงงาน งานคือการปฏิบัติธรรม พระองค์ท่านทรงทำอย่างนี้ให้เราเห็นมาตลอด
พระราชดำรัสที่แม่ประทับใจคือ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”
พระครูวามเทพมุนี หัวหน้าคณะพราหมณ์ประจำสำนักพระราชวัง ท่านเป็นผู้ประกอบพิธีทางพราหมณ์ให้ทางสำนักพระราชวัง
ในหลวงมีความหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง หมายถึงความดี หมายถึงสมมติเทพ หมายถึงพระมหากษัตริย์ คือผู้ที่ปฏิบัติดีเพื่อประชาชน สิ่งที่เราเห็นอิริยาบถที่พระองค์ทรงปฏิบัติทุกกรณีเราจะปีติ ผมมองภาพท่านเหมือนสมมติเทพ คือความดีเสมือนเทพเจ้า พระเจ้าอยู่หัวได้ปฏิบัติพระองค์เดินตามรอยของพระผู้เป็นเจ้าทุกพระองค์ ไม่ว่าจะพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม และเดินตามรอยพระพุทธเจ้า พระองค์ปฏิบัติไปในกระแสเดียวกับธรรมะ เมื่อเราเห็นท่านเราก็จะเห็นแต่ความดีปรากฏอยู่ในพระเนตร พระวรกาย เราจะมีปีติเมื่อได้เห็นพระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าหน้าที่ใดก็ตาม
เมื่อเราเห็นแล้วเราจะรู้สึกว่า ความดีที่เราปฏิบัติคงจะเทียบท่านไม่ได้ คงได้แค่ธุลีพระบาทของท่าน และเป็นกำลังใจที่เราจะปฏิบัติกายและใจของเราให้มีความอดทน มีความขยันหมั่นเพียร มีความรู้ ศึกษาให้ถึงแก่นรากของวิชานั้นๆ พระองค์เป็นตัวอย่างและเป็นความประทับใจที่เห็นและดำเนินรอยตามและปฏิบัติอยู่ นั่นคือการสร้างความดีให้ยิ่งขึ้นไป
อิริยาบถทุกครั้งที่เห็น ท่านจะมีแววพระเนตรและยกมือขึ้นโบก ประทับใจมากที่สุดคือเมื่อปีที่แล้ว ท่านประทับอยู่ในสีหบัญชรแล้วทรงโบกพระหัตถ์ ประทับใจมากว่าเป็นเหมือนกับความดีสูงสุด ที่แผ่มายังพสกนิกร และมีการโบกมือเล็กน้อยให้รู้ว่าให้ทำความดีต่อไป ยิ่งขึ้นไป ตรงนั้นเราเกิดความปีติมากที่สุด และภาพนี้อยู่ในใจเราตลอดตั้งแต่ทรงเริ่มครองราชย์ และทรงเยี่ยมประชาชนก็จะทรงโบกพระหัตถ์เหมือนอย่างวันนั้นทุกประการ เพียงแต่ว่าวันนั้นเรารู้สึกถึงความดีของท่านมหาศาลและมีความปีติประทับใจจนทุกวันนี้
ส่วนของเราอยู่ในด้านศาสนา อัจฉริยภาพของท่าน ท่านเป็นนักปรัชญา ท่านมีปรัชญาที่ลึก เราไม่ได้มองเฉพาะภาพเดียวที่ท่านรับสั่ง แต่ลึกไปถึงสิ่งต่างๆ ได้ เราจะได้ข้อคิดอยู่ตลอดเวลา เมื่อนำพระราชดำรัสไม่ว่ามุมใดมา ก็จะมีแนวคิดของปรัชญาอยู่ในนั้นเสมอ
สิ่งที่ท่านรับสั่งแล้วผมรู้สึกประทับใจมากก็คือ เรื่องของการปฏิบัติ การเรียน การศึกษาหาความรู้ อย่างน้อยเท่าที่เราได้รู้สึกถึงก็คือ ต้องคิดก่อนพูด คิดก่อนทำ และทำแล้วจึงพูด เราก็รู้สึกว่าเป็นการปิดทองหลังพระอย่างสมบูรณ์ คือเราไม่ต้องไปประกาศก่อน คิดให้รอบคอบ ศึกษาให้ดี ลงมือทำ แล้วจึงประกาศ
เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของประเทศไทย (ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2549) จากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูป การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549
“สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ เราไม่เหมือนชนชาติอื่น เราไม่เหมือนประเทศอื่นตรงที่เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพวกเราทุกคน ช่วงเวลาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คงไม่มีอะไรที่ผมจะต้องพูดเพิ่มเติมถึงความจงรักภักดี ความปลาบปลื้มปีติของคนไทยที่ได้มีโอกาสเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากโรงพยาบาลศิริราช นั่นเป็นสิ่งที่เราคงไม่ต้องพูดกันมากว่า ในส่วนนี้เราจะสามารถที่จะสร้างเสริมความจงรักภักดี เทิดทูนและปฏิบัติตนเพื่อที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจและความสามัคคีอย่างยั่งยืนภายในชาติได้อย่างไร ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ ในปีนี้เป็นปีมหามงคลอย่างที่ทุกท่านได้ทราบดีอยู่แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา จึงขอเรียนว่าในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ก่อนที่จะถึงวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ขอให้ทุกท่านได้ช่วยกันจัดงาน อำนวยการและชักชวนให้พี่น้องคนไทยได้มีโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการถวายพระพรชัยมงคล ในห้วงวันเวลาที่กล่าวไว้แล้วนั้นได้อย่างมากที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ นั่นเป็นเรื่องที่ถือได้ ว่าจะเป็นจุดศูนย์รวมของความสามัคคี เป็นจุดศูนย์รวมของความจงรักภักดีของพวกเราทุกคน”
(คำปาฐกถาพิเศษของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เรื่องรวมพลังไทย มิติใหม่ความมั่นคง ในการประชุมชี้แจงนโยบายความมั่นคง แห่งชาติ พ.ศ. 2550 – 2554 ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2550 เวลา 13.30 น.)
เริ่มทำงานในสายงานการตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบภายในฯ ในหลายหน่วยงาน และรับราชการใน สตง. มาอย่างต่อเนื่อง อยู่ในตำแหน่ง เช่น รองผู้อำนวยการ สตง. กรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในเรื่องความเที่ยงตรงและเที่ยงธรรม ไม่เกรงกลัวอำนาจฝ่ายการเมือง
ดิฉันชอบที่จะขานพระนามพระองค์ท่านว่า ‘พระเจ้าอยู่หัว’ มากกว่า ‘ในหลวง’ นะคะ เพราะคำว่า ‘พระเจ้าอยู่หัว’ มันซาบซึ้ง แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยว่า เรามีพระเจ้าที่อยู่บนหัวของพวกเราทุกคน ได้แต่งกลอนเองติดไว้ที่หน้าประตู ทุกๆ วันที่ 5 ธันวา จะเอามาติดเป็นผ้าเหลือง ติดไว้ว่า “เทิดทูนองค์ราชะ มีธรรมะพสกนิยม ทรงช่วยผู้ทุกข์ระทม จากโคลนตมความยากเข็ญ สตง.ตามรอยพระบาท แม้เหนื่อยยากสู้บำเพ็ญ ประโยชน์สร้างร่มเย็น เพื่อทรงเห็นความชอบธรรม”
ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่แต่งและนำไปติดข้างรั้ว ปรากฏว่ามีคุณยายคนหนึ่งมายืนจด บังเอิญลงมาจากรถพอดีเลยถามว่า “คุณยายมาจดอะไรหรือคะ” คุณยายบอกว่า “โอ้ย กลอนนี้ฉันชอบ พูดถึงในหลวงที่ดีมากเลย” ดิฉันก็ “อ๋อ พระเจ้าอยู่หัว” ยายก็ว่า “นั่นแหละ พระเจ้าอยู่หัวของหนู ในหลวงของฉัน” เพราะฉะนั้นคำว่าในหลวงจะบ่งบอกความผูกพัน ความซาบซึ้ง ความเป็นคนไทย
รูปของพระองค์ท่านที่ชอบมากๆ มีอยู่หลายภาพ ภาพหนึ่งคือภาพที่ท่านทรงห้อยพระศอเป็นกล้องถ่ายรูป ซึ่งคงจะหนักมากและมีแผนที่ และเหมือนท่านกำลัง คุกเข่าลงบนดินที่มีรอยแตกและท่านกำลังชี้ คงกำลังพระราชทานคำอธิบายให้ใครก็ตาม อาจจะเป็นอธิบดีกรมชลประทานก็ได้ว่า ‘ดูสิ ทำไมดินมันถึงแตกอย่างนี้ ชาวบ้านคงจะเดือดร้อน’ อันนั้นเป็นภาพที่หลับตาก็เห็นเลยนะคะ
อีกรูปที่ชอบมากเลย คือได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านวันที่มีการฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี แล้วท่านก็ทรงออกมาเยี่ยมพสกนิกร ณ สีหบัญชร และมีทะเลสีเหลืองเต็มลานไปหมดเลย ภาพนี้ท่านกำลังโบกพระหัตถ์และมีสมเด็จพระเทพฯ ชะโงกออกมาถ่ายรูป ภาพนั้นชอบมากๆ เลย
ต่อมาเป็นรูปที่ผู้จัดการเอามาลงที่มีคนใส่สีเหลืองเต็มไปตลอดลานพระรูปฯ ไปจนถึงสะพานมัฆวาน แล้วจะมีผู้หญิงคนหนึ่งนุ่งผ้าถุงใส่เสื้อยืดสีเหลืองกำลังปาดน้ำตา อันนั้นก็จะอยู่ในความทรงจำอยู่เรื่อย ประทับใจจนทุกวันนี้ เชื่อไหมว่า ไม่ว่าจะขับรถไปประชุมที่ไหนก็ตามก็จะหาเรื่องขับรถวนไปแถวๆ นั้นเพื่อจะนึกย้อนภาพที่หน้าพระรูปนั้น
ตอนนี้ก็สั่งรูปไปแล้วจะเอามาติดที่ชั้น 8 ของตึก เพื่อคนที่วิ่งบนทางด่วนผ่านไปมาจะได้เห็นรูปที่พระองค์ท่านโบกพระหัตถ์และมีสมเด็จพระเทพฯ กำลังถ่ายรูปอยู่ เราก็จินตนาการว่าคนที่อยู่บนทางด่วนจะต้องเห็นเหมือนกับว่า ‘สมเด็จพระเทพฯ กำลังถ่ายรูปเธออยู่นะ ระวังตัวหน่อย อย่าขี้โกงนะ’
พระราชดำรัสที่จดจำได้คือ อันหนึ่งที่ท่านพระราชทานให้ สตง. ตอนนี้ก็ติดอยู่ตรงหน้าลิฟท์ คือ “เงินของแผ่นดิน คือเงินของประชาชนคนไทยทั้งชาติ” เพราะฉะนั้นโดยหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินก็ต้องบอกตัวเองอยู่เรื่อยว่า ‘ต้องดูแลให้ดีนะ ยัยจารุวรรณ อย่าให้เงินของแผ่นดินหายนะ’
อีกตอนหนึ่งที่ชอบมาก ท่านพระราชทานพระบรมราโชวาทที่ไหนที่หนึ่งบอกว่า “เราจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีไม่ได้ แต่เราต้องช่วยกันดูแลอย่าให้คนไม่ดีมาปกครองบ้านเมือง และพยายามส่งเสริมคนดีให้มีโอกาส” นี่ล่ะค่ะ เราก็เลยพยายามส่งเสริมคนดี
สิ่งที่พระองค์ท่านตรัสออกมาหรือให้โอวาทบางทียังสงสัยว่าท่านคิดได้อย่างไร จะรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นพระเจ้าอยู่หัวแย้มพระสรวล อมยิ้มนิดๆ ตาที่มองคือ ตาของเทพโดยแท้ เป็นตาที่ แผ่เมตตาให้ความคุ้มครอง ให้ความดูแลทุกอย่าง
ที่ประทับใจที่สุดคือ พระอัจฉริยภาพของท่านที่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกร เช่นคำว่า ‘แกล้งดิน’ ซึ่งท่านหมายความว่า ดินมันนิสัยไม่ดี ทำให้เราปลูกพืชไร่ไม่ได้ผล ก็เอาอีกอย่างที่ต่อต้านมันแต่อย่างนุ่มนวล ก็ใส่ดินขาวลงไปเพื่อกลับปฏิกิริยาทางเคมี และกลับทำให้ดินนั้นมีประโยชน์ต่อเกษตรกร อีกคำหนึ่งที่ชอบคือ ‘แก้มลิง’ ดูสิทำไมใครๆ คิดไม่ได้ ต้องให้พระเจ้าอยู่หัวลงมาเอง ประทับใจมาก พอมีแก้มลิงน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ มากี่ปีแล้ว ลิงชอบอมไว้ที่สองกระพุ้งแก้ม ก็เลยมีแก้มลิงเพื่อจะอมน้ำไว้ก่อนแล้วค่อยๆ ปล่อยออก
พระองค์ท่านอยู่อย่างพอเพียงจริงๆ ไม่ใช่แต่สอนคนอื่น พระองค์ท่านก็ทำตนพอเพียง ยาสีพระทนต์ก็บีบและเอาด้ามแปรงสีฟันกระทุ้งจนไม่เหลือเลย รองพระบาทของพระองค์ท่านก็ซ่อมแล้วซ่อมอีก เราก็อัญเชิญภาพเหล่านี้มาติดเป็นปกรายงานประจำปีของ สตง. ยังคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวชาติไหนก็ไม่เหมือนชาติไทย
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ (21 ธันวาคม 2497 -) รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ที่ออกความเห็นด้านนิติเวชในคดีต่างๆ ที่เที่ยงตรง จนมีผู้เรียกร้องให้คุณหญิงเข้าไปพิสูจน์ความจริง
ในหลวงในความหมายของหมอนี่มี 2 มิติ มิติแรกคือ มิติแห่งเบื้องหลังคือทรงเป็นผู้ครองแผ่นดิน เป็นผู้ดูแลรักษาแผ่นดินไทยจนกระทั่งเรายังมีแผ่นดินไทยอยู่จนทุกวันนี้ หมายความว่าท่านสืบทอดมาจากบรรพบุรุษคือ พระมหากษัตริย์ในอดีต ในมุมของหมอ สถาบันพระมหากษัตริย์สำคัญสำหรับประเทศไทยเพราะว่าเป็นสถาบันที่หลายๆ ครั้งในอดีตรักษาแผ่นดินมาได้ ในมิติที่สองคือตัวของพระองค์ท่าน คำว่าในหลวงในมิติที่สองของหมอมีความสำคัญมาก คือ พระองค์ท่านเป็นกษัตริย์แห่งกษัตริย์ ในความหมายของเราคือ เราเกิดมาในโลกยุควัตถุนิยม แต่เรากลับได้ผู้นำประเทศหรือพระมหากษัตริย์ที่คิดถึงประชาชนตลอดเวลา นอกจากนี้ท่านยังมีเรื่องธรรมะคือ เรื่องทศพิธราชธรรม เป็นสิ่งที่เราภูมิใจ เป็นความปีติที่ได้เกิดมาเป็นพสกนิกร
อย่างที่บอกว่าเราเองไม่ได้มองที่ตัวพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้นหมอก็ จะไม่ค่อยเกิดความคิดว่าต้องถวายเงินพระองค์ท่านหรือต้องทำงานใกล้ชิดพระองค์ท่าน แต่การทำงานให้พระองค์ท่านนี่คือ ทำอะไรก็ได้ที่เหมือนกับตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ท่าน พระองค์ท่านมีอะไรบ้าง ก็สองอย่างคือ หนึ่งรักแผ่นดิน แผ่นดินที่ว่านี่ไม่ใช่มีเฉพาะแผ่นดินนะ มีคนที่อยู่ในแผ่นดิน กับสองก็คือ รักษาธรรม เพราะฉะนั้นหน้าที่ของหมอที่จะทำเพื่อในหลวงก็คือ ทำตามพระองค์ท่านให้ได้มากที่สุดทั้งสองเรื่อง
ในส่วนแรกที่เป็นเรื่องรักแผ่นดินนี่ หมอมีความสุขกับการรับราชการและมีความสุขกับการเป็นหมอนิติเวช ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราถือว่ามันเป็นการช่วยในเรื่องของความยุติธรรม ถามว่ามันจะทำอะไรได้บ้าง ก็คือมันจะทำให้แผ่นดินสงบสุข มีความมั่นคง หมอไม่เคยเชื่อว่าเศรษฐกิจเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติรอด หมอเชื่อว่าการรักษาความถูกต้องนี่จำเป็น เราก็มองว่าเราอยากทำเพื่อในหลวง ในส่วนนี้คือ แบ่งเบาภารกิจ สองคือหมออยากจะรักษาธรรม การรักษาธรรมที่ว่านี่คือ ทำตัวอย่างในการรักษาธรรมและช่วยกระตุ้นคนอื่นในการรักษาธรรม ซึ่งการรักษาธรรมที่ว่านี่ก็คือทุกๆ อย่างเลยนะคะ คือ กาย วาจา ใจ ก็คือเป็นสองส่วนที่อยากทำให้ในหลวง เป็นสิ่งที่ตั้งใจมาโดยตลอด
มีอยู่รูปหนึ่งที่เก็บเอาไว้ในกระเป๋าสตางค์ตลอดเวลาตั้งแต่เรียนจบหมอใหม่ๆ นั่นคือเป็นพระอิริยาบถที่ทรงประทับอยู่ข้างล้อรถยนต์และท่านกำลังกางแผนที่กำลังจะแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือการเกษตรอะไรทำนองนี้ คือมันสื่อความหมายเยอะมากเลย ในรูปนี้จะมีประชาชน ข้าราชการอยู่ข้างพระองค์ท่าน เราก็มองเลยว่าการเกิดเป็นพระองค์ท่านนี่ไม่ใช่สบายนะ พระองค์ท่านเป็นตัวอย่างของผู้ที่ควรสบาย แต่กลับนึกถึงส่วนรวมตลอดเวลา และสองพระองค์ท่านเห็นการณ์ไกล คือท่านไม่ชอบให้เกิดปัญหาซ้ำซาก ท่านมองอะไรเห็นก่อนเกิดปัญหา สิ่งเหล่านี้คนไทยไม่ค่อยมี คนไทยมักจะเกิดปัญหาแล้วค่อยแก้ เราก็จะชอบภาพนี้ ภาพที่พระองค์ท่านมองทุกอย่างให้เห็นก่อนแล้วค่อยกำหนดแผนงาน ก็เลยมีภาพนี้ไว้ในใจตลอดเวลาว่า เวลาที่เราทำงานแล้วเราเหนื่อยเราท้อ เราก็จะมองภาพนี้ว่า เหมือนกับเราอยู่ลิบๆ ได้มองพระองค์ท่านทำงานแบบนี้ แล้วเราก็ทำงานแบบเดียวกัน
พระราชดำรัสที่จำได้ก็คือ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” อันเดียวเลย อันอื่นก็ชอบทุกครั้ง แต่กรณีนี้เป็นกรณีที่สอนหรือทำให้เราต้องหนักแน่นมาก เพราะเป็นเรื่องยากที่สุด การครองตนโดยการรักษาธรรมเป็นเรื่องยากสำหรับมนุษย์ และเป็นเรื่องยากสำหรับมนุษย์ในยุคปัจจุบัน
จะเห็นว่าท่านมีพระอัจฉริภาพมาก ไม่ว่าจะสาขาใด การแพทย์ เกษตร หรืออะไรก็ตาม ชอบที่พระองค์ท่านเห็นการณ์ไกล คือก่อนที่จะเกิดปัญหาพระองค์ท่านเห็นแล้ว ท่านจะมีวิสัยทัศน์คือ มองเห็นได้กว้างมากและครบหมดเลย ทำให้สามารถวางแผนได้ ส่วนพระราชอัจฉริยภาพอันที่สองที่อยากจะขอแถมก็คือ พระองค์ท่านทรงมีอารมณ์ขัน คือเป็นอะไรที่ไม่ง่ายนัก การมีอารมณ์ขันก็ทำให้ดูเบา ดูคลายทันที
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพชรบุรี
ความเห็นของผม ในหลวงก็คือ เทพเจ้า เป็นเทพเจ้าหรือพระเจ้าที่มี ตัวตน โดยปกติเทพเจ้าจะไม่มี จะอยู่ในวิมานอากาศ แต่นี่สัมผัสได้ ที่เปรียบเทียบท่านเป็นเทพเจ้า เพราะท่านมีความรู้ มีความเข้าใจ สามารถมองสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ออกทุกอย่าง เหมือนว่านั่งทางในแต่ไม่ใช่การนั่งทางใน เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นได้อยู่ใกล้ชิดในหลวงมากขึ้นก็รู้ว่าท่านไปดู ไปเห็น ไปศึกษามาก็โดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ชาวบ้านเขาบอกในหลวงท่านรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ชาวบ้านเปรียบเทียบเหมือนท่านเป็นเทพเจ้ารู้เองเห็นเอง แต่เรานี่พอไปดู ในหลวงไม่ใช่รู้เองเห็นเองหรอก ท่านไปศึกษาผู้คน ชีวิต จิตใจ ต้องไปคุยกับเขาแล้วใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์กลับมาทดลองที่สวนจิตรฯ
สิ่งที่อยากทำเพื่อในหลวงก็คงเหมือนคนไทยคนอื่นๆ คือทำความดีเพื่อถวายท่าน ความดีคืออะไร คือชีวิตความเป็นอยู่ให้เศรษฐกิจพอเพียงหรือเป็นอยู่อย่างพอเพียง นี่เรื่องเล็กที่สุดนะที่ทุกคนทำได้ ท่านคงสบายใจล่ะ เหมือนที่ท่านบอกให้เราทำดี เราก็ต้องทำ โดยจริงๆ เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง และเป็นผลดีต่อส่วนรวมไง ถ้าเราทำดีตรงนี้นะ สังคมก็จะดี ครอบครัวดีสังคมก็ดี เป็นข้าราชการก็เป็นข้าราชการที่ดี เราทำความดี ท่านก็ถือว่าเราเอาความคิดในหลวงไปเผยแพร่ต่อชาวบ้านด้วย เราเป็นข้าราชการ เราไปสนองงานท่าน เราอยู่ในฐานะไหนเราก็เอาไปบอกประชาชน เพราะในหลวงท่านเป้าหมายก็ คือประชาชน การกินดีอยู่ดีของประชาชน เราก็พยายามทำเต็มที่
เพราะเราเป็นข้าราชการต่างจังหวัด ไปไหนก็ต้องตามเสด็จ แล้วท่าน ก็จะชอบคุยกับคน ส่วนใหญ่ท่านจะขับรถเองส่วนพระองค์ อยู่ๆ ก็เสด็จไป ขับรถไปเจออะไรที่น่าสนใจก็จอดแวะ เราเป็นเจ้าหน้าที่ก็ต้องวิ่งตามไปเพื่อจะฟังว่าท่านรับสั่งอะไรเราจะได้ไปประสานงานต่อ ก็เป็นอิริยาบถที่พูดง่ายๆ ว่า ‘ทรงงาน’ นั่นแหละ อิริยาบถส่วนใหญ่ที่เห็นก็ทรงงาน ฉลองพระองค์แบบชาวบ้านใส่เสื้อเชิ้ตธรรมดา สะพายกล้องแล้วก็มีวิทยุติดที่เอว แต่ไม่ลืมที่จะพกดินสอ แผนที่ จำได้ติดตาเลยนะเวลาที่ท่านทรงงานและพูดคุยกับชาวบ้าน
พระราชดำรัสที่ชอบก็เยอะนะ แต่เอานี้ละกัน ที่ว่าให้คนดีปกครองบ้านเมืองนั่นแหละ
‘เศรษฐกิจพอเพียง’ คือความจริงท่านตรัสว่า เศรษฐกิจนี่ไม่ใช่เป็นเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เศรษฐกิจในความหมายของท่าน สังคมต้อง มีจิตใจที่พอดีด้วย ต้องมีศีลธรรมอยู่ในใจ มีความพอเพียงอยู่กับตัวเอง เศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถทำให้แต่ละครอบครัว อยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ และสังคมไทยก็จะพึ่งตนเองได้
สำหรับผมมีของ 3 อย่างเกี่ยวกับในหลวงที่ต้องดูทุกวัน หนึ่งคือรูปภาพในหลวงที่โต๊ะทำงานและบนหัวนอน สอง คือพระพุทธรูปพระ ภปร. ที่ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเททองหล่อที่วัดบวรนิเวศ ซึ่งก็บูชาและสวดมนต์ทุกวัน อย่างที่สามคือหนังสือ ‘ทำเป็นธรรม’ เป็นบันทึกพระราชกรณียกิจ ของในหลวงตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ทุกวัน ตรงนี้ทำให้ชาวบ้านรู้ ได้เลยว่าในหลวงทรงทำอะไรบ้างในแต่ละวัน เป็นหนังสือที่ดีมาก
สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางด้านครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และศึกษาปริญญาโทอุตสาหกรรมศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นโคโลราโด รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา หลังจากกลับมาได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลงานหนังสือ “พรรณไม้สะสม – ของ สุรัตน์ วัณโณ” เป็นหนังสือที่รวบรวมพรรณไม้มากกว่า 400 ชนิด
มันอธิบายยาก ท่านเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับคนไทยและชาวโลก ในทุกๆ ด้านที่ท่านทำก็เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกทั้งนั้น คนไทยเกิดมาโชคดีที่มีท่าน สำหรับตัวผม ท่านเป็นยิ่งกว่าพ่อแม่ ยิ่งเหนือกว่าความรู้สึกใดๆ สมมติว่าใครสักคนจะทำอะไรท่าน ผมพร้อมเลยที่จะรับแทนท่านทุกอย่าง เรียกว่าทุกคนในประเทศไทยยอมตายแทนท่านได้
ที่ภูมิใจและประทับใจที่สุดคือ ได้ไปถวายงานท่าน คือการสร้างรางรถเล็กๆ เดิมเป็นรางสังกะสีสำหรับบังคับวิทยุ พอรถวิ่งมันก็ดังและก็อยู่ติดทะเลมันก็จะเป็นสนิม ท่านก็เลยดำริว่าจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้นกว่าเก่า ก็ปรึกษากันว่าจะทำเป็นไฟเบอร์ดีไหม แต่ไฟเบอร์นี่ก็ทำยากและแพงด้วย ท่านก็เลยปรึกษากับอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทางด้านวิศวกร ผมก็เอาตัวอย่างมาดู และเสนอทางมหาวิทยาลัยว่าควรจะหุ้มด้วยไฟเบอร์เสียงจะได้เบาขึ้นและไม่เป็นสนิม ท่านก็บอกว่าทำอะไรให้ดีที่สุดและประหยัดที่สุด ไม่อยากให้ใช้จ่ายเยอะ ผมก็เลยคิดว่าถ้าหุ้มไฟเบอร์เราก็ไม่ต้องสร้างใหม่ มันมีอยู่แล้วแค่มาหุ้ม ลองทำให้ท่านดูอันหนึ่ง ท่านทรงโปรดก็เลยทำต่อ ที่ทำ ไฟเบอร์กลาสเป็นราง และมีเป็นรถบังคับวิทยุเหมือนที่เด็กเล่น แต่ท่านไปติดกระต่ายให้มันดูตื่นเต้น ท่านก็ทรงประทับกดรีโมทให้คุณทองแดงวิ่ง ตัวอื่นก็พลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วยก็ได้วิ่งออกกำลัง เพราะว่าท่านมีสุนัขทรงเลี้ยงหลายตัวมาก ก็จะมีการให้วิ่งและว่ายน้ำออกกำลัง ผมว่าท่านได้เพื่อนที่ดี ทำให้จิตใจท่านสบายขึ้น มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง
พอท่านทดสอบให้คุณทองแดงวิ่ง เป็นที่พอพระทัยแล้ว ท่านก็ขึ้นตำหนัก ทรงโปรดให้เราได้เข้าไปนั่งกันเต็มเลย ท่านก็ทรงคุยตลอดเวลา สนุกสนานมาก แล้วคุณทองแดงก็คอยเฝ้าตลอดนะ คุณทองแดงก็มาเลียหน้า แต่ไม่มีกลิ่นสุนัขเลยนะ เขาดูแลอย่างดี ท่านก็บอกว่า ‘ใครยังไม่โดนเลียอีก นี่เขามาขอบคุณพวกคุณที่มาทำให้’ ตลอดการเข้าเฝ้ารู้สึกตัวลอย เหมือนความฝัน ไม่รู้สึกเมื่อยเลยสักนิดแม้ต้องนั่งพับเพียบนานสองชั่วโมง
ที่ประทับใจมากๆ คือความเป็นอยู่ของท่านไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา คือจะอยู่ในความประหยัดทั้งหมด ไม่มากเกินไป คือความพอเพียง ก็พยายามปฏิบัติตามพระราชดำรัสของท่านตลอดมา ทำให้เรามีอะไรดีเหมือนทุกวันนี้ ก็ดีใจที่มีพระมหากษัตริย์องค์นี้ในช่วงชีวิตเรา ทั้งชาติเราก็โตมากับท่าน เราก็ภูมิใจมาก
ที่ชอบมากที่สุดคือ ท่านพยายามให้คนไทยสร้างสีเขียว ช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในหลวงและพระราชินีก็ปฏิบัติอย่างนี้มาตลอดชีวิตท่าน ทั้งการบำบัดน้ำก็ใช้จากการเกษตร ใช้จากพืช ปลูกป่าให้ต้นน้ำลำธาร ช่วยชาวนาให้มีฝนมีฟ้า ก็เกี่ยวกับเกษตรทั้งนั้น ผมก็ไม่ใช่เกษตรกรแต่ก็ได้ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต พูดได้เลยว่าที่เป็นชีวิตผมขึ้นมาก็มาจากพระมหากษัตริย์ เพราะว่าผมก็ไม่ใช่คนมั่งมีมาก่อน ก็ใช้อย่างประหยัด ตามพระราชดำรัส สร้างเนื้อสร้างตัวมา ทั้งประหยัดและมานะอดทน เชื่อฟัง คำสอนของท่าน
ตอนได้ทราบข่าวว่าในหลวงเข้าโรงพยาบาลนี่ หัวใจมันแว๊บเลย เคยคิดว่าเมืองไทยนี่ถ้าขาดท่านเมื่อไหร่ต้องกลียุคแน่ๆ ก็ได้แต่ภาวนาให้ท่านหายเร็วๆ ก็ดีใจที่ท่านหาย ดีใจมาก
เรียกว่าผมทำอะไรให้ท่านได้ทุกอย่าง อย่างงานนี้เขาให้คิดเงิน โห แค่ได้ทำก็เป็นบุญวาสนาแล้ว โอกาสที่จะได้ทำมันยาก คือได้มีโอกาสรับใช้ท่านบ้าง เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากๆ ภูมิใจที่สุดในชีวิตที่ได้เกิดมา
ศาสตราจารย์ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ชาวไทย ที่มีผลงานวิจัยดีเยี่ยมด้านปักษีวิทยา นิเวศวิทยาสัตว์ป่า และปรสิตวิทยา เป็นผู้ที่มุ่งมั่นทำวิจัยระยะยาว เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ทำกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ในการอนุรักษ์นกเงือกและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มแข็ง จนได้รับการขนานนามว่า “มารดาแห่งนกเงือก” จนได้เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลผู้ทรงเกียรติด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก พร้อมกันถึง 2 รางวัล เมื่อปี พ.ศ. 2549
ในหลวงคือ วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในทุกด้าน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ทรงมีทศพิธราชธรรม ทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนโดยทั่วหน้า โดยเฉพาะถิ่นทุรกันดาร ทรงเป็นพ่อสอนให้ลูกๆทำความดี มีความสามัคคี ทรงเป็นตัวอย่างของพ่อที่ทำงานหนักมาโดยตลอดเพื่อความสุขของลูกๆ ทรงเป็นนักปราชญ์และครู ทรงสอนให้รู้จักคิด ดำเนินชีวิตแบบพอเพียง
สิ่งที่อยากทำเพื่อในหลวงคือ ทำความดี จะดำเนินตามรอยเบื้องยุคคลบาท และทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ภาพที่ประทับใจที่สุดคือ ภาพคุณยายที่พนมมือรอเฝ้ารับเสด็จในหลวง ในมือมีดอกบัวอยู่ และในหลวงท่านได้ก้มลงทรงมีพระปฏิสันถารกับคุณยาย เป็นอิริยาบถของในหลวงที่ประทับใจมากที่สุด
พระราชดำรัสของในหลวงที่จดจำขึ้นใจคือ “……ขอให้ทุกท่านซึ่งมี หน้าที่แต่ละท่านพยายามใช้สติปัญญาและกำลังให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม …….”
พระอัจริยภาพของในหลวงที่ประทับใจมากที่สุดนอกจากด้านการจัดการน้ำ อาทิเช่น โครงการ ฝนหลวง โครงการแก้มลิงแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือแนว พระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง