พลังและประสิทธิภาพของกล้อง MIRRORLESS ที่ไร้การประณีประนอม
ต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ ฟูจิฟิล์มได้พัฒนากล้องในอนุกรม X Series ไปอย่างมากตั้งแต่การเปิดตัวของ X-E2 และ X-T1 ในปี 2013 และ 2014 ฟูจิฟิล์มได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกล้องฟอร์แมต APS–C ว่า สามารถทำได้เกือบจะเทียบเท่ากล้องฟูลเฟรม แต่โดดเด่นด้วยขนาดที่เล็กกว่า เบากว่า ทั้งกล้องและเลนส์ โดยฟูจิฟิล์มได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเลนส์เป็นพิเศษ เพื่อให้ได้คุณภาพที่เยี่ยมยอดตามการพัฒนาของกล้องและเซ็นเซอร์รับภาพรุ่นใหม่ๆ
ในช่วง 3-4 ปีก่อน กล้องมิเรอร์เลสของฟูจิฟิล์มแม้จะโดดเด่นด้านคุณภาพ แต่ระบบออโตโฟกัสยังถูกติติงว่าไม่เร็วเท่าใดนักและการแทรคกิ้งก็ยังทำได้แค่พอใช้ เช่นเดียวกับระบบวิดีโอที่ไม่โดดเด่น เหมือนเป็นฟังก์ชั่นแถมมากับกล้อง เพราะผู้ที่ใช้กล้อง X-Series ก็มักจะเน้นคุณภาพของภาพนิ่งมากกว่า แต่ด้วยความต้องการพัฒนาให้กล้อง FUJIFILM สามารถตอบสนองการใช้งานได้ทุกรูปแบบ ทำให้ทีมวิศวกรและผู้ออกแบบต้องทำงานอย่างหนักในการพัฒนากล้องรุ่นใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงในทุกๆด้าน ซึ่งมันคือที่มาของกล้องมิเรอร์เลสใหม่ภายใต้ชื่อ FUJIFILM X-T2
จุดเด่นของ Fujifilm X-T2
- การออกแบบภายนอกปรับได้ถนัดมือกว่าเดิม
- คุณภาพที่พัฒนาขึ้นไปอีกระดับ X-Tran CMOS III
- หน่วยประมวลผลชั้นยอด X-Processor Pro
- เร็วอย่างที่มืออาชีพต้องการ
- ระบบออโตโฟกัสอันยอดเยี่ยม
- ช่องมองภาพที่สมบูรณ์แบบ
- ระบบวิดีโอ 4K คุณภาพสูง
- แข็งแกร่ง ทนทาน
- เพิ่มพลังด้วย Vertical Power Booster Grip
- ระบบการทำงานครบ
การออกแบบภายนอก
รูปลักษณ์ภายนอกไม่แตกต่างจาก X-T1 มากนัก ตัวกล้องมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย ความเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้อยู่ที่ส่วนบนของตัวกล้องโดยแป้นปรับต่างๆ แม้จะจัดวางเหมือนเดิม แต่ X-T2 ออกแบบให้แป้นทุกอันสูงขึ้นเพื่อให้ปรับได้ถนัดมือกว่าเดิม ทั้งแป้นปรับความเร็วชัตเตอร์ แป้นปรับความไวแสง (ISO) แป้นชดเชยแสง การควบคุมจึงทำได้ง่ายขึ้น และที่ดีมากคือ การออกแบบระบบล็อกแป้นปรับความเร็วชัตเตอร์และแป้นปรับความไวแสงโดยใช้ปุ่มตรงกลางแป้น หากไม่กดปุ่มนี้จะสามารถปรับหมุนแป้นได้รอบตัวโดยไม่มีการล็อกที่ตำแหน่งใด ทำให้ปรับได้รวดเร็ว หากต้องการล็อกที่ตำแหน่งใดก็เพียงกดปุ่มตรงกลางลงไปยังตำแหน่งล็อกเท่านั้น ใช้งานง่าย เร็ว และคล่องตัวมาก ส่วนฐานของแป้นปรับความเร็วชัตเตอร์เป็นระบบชดเชยแสง ปรับโดยก้านโยกข้างหน้า ส่วนฐานของแป้นปรับความไวแสงเป็นสวิทช์ปรับเลือกระบบ Drive แบบทีละภาพ (S) ต่อเนื่องความเร็วตํ่า(CL) และต่อเนื่องความเร็วสูง(CH) นอกจากนั้นยังใช้ปรับระบบถ่ายภาพซ้อน ระบบถ่ายคร่อมอัตโนมัติ Advanced Filter ระบบพาโนราม่าและระบบบันทึกวิดีโอ โดยเฉพาะระบบวิดีโอนั้นจะต้องปรับมาที่ตำแหน่งนี้แล้วใช้ปุ่มลั่นชัตเตอร์ในการบันทึกและหยุดบันทึก ไม่มีปุ่ม REC ของวิดีโอบนตัวกล้อง
แป้นควบคุมด้านหน้าและด้านหลังยังอยู่ในตำแหน่งเดิม ปรับได้สะดวก แป้นด้านหลังสามารถกดลงไปเพื่อเลือกฟังก์ชั่นในการปรับตั้งได้ และเช่นเดียวกับ X-Pro2 โดยกล้องรุ่นนี้เพิ่มจอยสติ๊กที่ด้านหลังตัวกล้องเพื่อใช้ในการย้ายจุดโฟกัส สามารถย้ายได้ 8 ทิศทางโดยไม่ต้องปลดล็อกใดๆ และหากต้องการใช้กล้องแสดงพื้นที่โฟกัสก็เพียงกดจอยสติ๊กลงไป กล้องจะแสดงกรอบสี่เหลี่ยมสีเขียว พร้อมจุดโฟกัสอื่นๆ (สีขาว) ที่สามารถปรับเลือกได้ โดยผู้ใช้สามารถขยายหรือย่อพื้นที่โฟกัสในโหมดจุดเดียว และโหมดโซนได้ตามต้องการว่าจะใช้พื้นที่เล็กหรือใหญ่ในการให้ระบบออโตโฟกัสทำงาน
ปุ่ม 4 ทิศทางสามารถเซ็ทให้ทำงานตามระบบที่ผู้ใช้ต้องการได้ โดยค่าที่เซ็ทมาจากโรงงานคือด้านบนปรับเลือกพื้นที่โฟกัส ปุ่มซ้ายปรับ Film Simulation ปุ่มขวาปรับระบบ White Balance ปุ่มล่างปรับเลือกโหมด Normal กับโหมด Boost (สำหรับการแสดงภาพ 50 และ 100 fps ในช่องมอง)
ที่เปลี่ยนไปจาก X-T1 อย่างชัดเจนคือจอ LCD ที่ออกแบบใหม่ นอกจากจะพับขึ้นลงได้แล้วยังสามารถง้างด้านซ้ายกางออกได้ (โดยกดปุ่มปลดล๊อกก่อน) จึงทำให้สามารถถ่ายภาพมุมสูง มุมตํ่าที่เป็นภาพแนวตั้งได้สะดวก มองภาพได้ชัดเจน จอ LCD มีขนาด 3.0 นิ้ว ความละเอียด 1.04 ล้านจุด
ช่องใส่การ์ดออกแบบเป็นแบบช่องคู่โดยใช้การ์ด SD สามารถบันทึกต่อเนื่องจากการ์ด 1 ไปการ์ด 2 ได้ บันทึกแบบ Back-up ลงทั้ง 2 การ์ดได้ หรือบันทึกแยกไฟล์ JPEG กับไฟล์ RAW คนละการ์ดได้
โดยรวมแล้ว X-T2 เป็นกล้องที่ออกแบบภายนอกได้ดีมากรุ่นหนึ่ง ซึ่งน่าจะถูกใจมืออาชีพหรือนักถ่ายภาพระดับจริงจัง เพราะใช้แป้นที่เป็นระบบกลไกหลายจุด ใช้งานคล่องตัว และเห็นการปรับตั้งระบบสําคัญๆ จากบนตัวกล้องเลย โดยไม่จำเป็นต้องเปิดสวิทช์ก่อน การจัดวางปุ่มปรับต่างๆ ก็นับว่าทำได้ดี
คุณภาพที่พัฒนาขึ้นไปอีกระดับ
X-T2 เปลี่ยนมาใช้เซ็นเซอร์รับภาพใหม่ X-Tran CMOS III ขนาด APS-C ที่มีความละเอียดสูงถึง 24.3 ล้านพิกเซล ซึ่งเป็นความละเอียดที่มืออาชีพและนักถ่ายภาพระดับจริงจังต้องการ โดยไม่มีการใช้ฟิลเตอร์ Optical low pass เพื่อให้สามารถถ่ายทอดรายละเอียดได้สูงเป็นพิเศษ เซ็นเซอร์รุ่นนี้ออกแบบให้ถ่ายโอนข้อมูลได้รวดเร็ว ทำให้ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องของกล้องทำได้สูงขึ้น การแสดงภาพ Live View ที่เร็วขึ้นของกล้องช่วยให้ประสิทธิภาพในการแทรคกิ้งของระบบโฟกัสเร็วขึ้น และยังรองรับการบันทึกวีดีโอคุณภาพสูงระดับ 4K และแม้จะมีความละเอียดสูงขึ้นจากเดิม แต่ X-T2 ยังคงควบคุมสัญญาณรบกวนได้ดีเยี่ยม ให้ภาพที่ใสเคลียร์ สัญญาณรบกวนตํ่าแม้ใช้ความไวแสงสูง
หน่วยประมวลผลชั้นยอด
X-T2 เปลี่ยนหน่วยประมวลผลมาเป็น X-Processor Pro ซึ่งมีความเร็วในการประมวลผลสูงกว่าเดิมถึง 4 เท่า และด้วยการเพิ่มหน่วยความจำภายในและเพิ่มกำลังของวงจร ทำให้กล้องสามารถประมวลผลภาพได้เร็ว ให้ภาพที่มีคุณภาพสูง การตอบสนองฉับไวยิ่งขึ้น ลดเวลาการทำงานในระหว่างช็อตต่อช็อตลง ลด Time – Lag ของชัตเตอร์และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของระบบ AF Tracking ได้สูงกว่าเดิมมาก แสดงภาพ Live View ได้เร็วขึ้นทำให้กล้องมีเวลาในการประมวลผลจากภาพ Live View มากขึ้น
เร็วอย่างที่มืออาชีพต้องการ
X-T2 มีความเร็วในการทำงานสูงมากในทุกๆ ด้าน โดยมีความเร็วในการเปิดเครื่องจนพร้อมบันทึกเพียง 0.3 วินาที ช่วงเวลาระหว่างภาพ 0.17 วินาที Time–Lag ของชัตเตอร์ 0.045 วินาที ความเร็วในการแสดงภาพของช่องมอง EVF 100 fps ความเร็วของระบบโฟกัส 0.06 วินาที และความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุดที่ 8 ภาพ / วินาที ( 11 ภาพ / วินาที เมื่อใช้ร่วมกับแบตเตอร์รี่กริปในโหมด Boost ) และเมื่อใช้ชัตเตอร์แบบอิเล็กทรอนิกส์จะมีความเร็วสูงถึง 14 ภาพ / วินาที จะเห็นได้ว่าความเร็วของ X-T2 นั้นสูงมากในทุกๆ ด้าน รองรับการใช้งานได้ทุกรูปแบบ รวมทั้งการถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชั่นต่างๆ
Fujifilm X-T2 เลนส์ XF100-400mmF4.5-5.6 R LM OIS WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/1250 วินาที f/5.6, WB:Daylight, ISO800, ระบบโฟกัส AF-C (SET 6 CUSTOM) 11fps
ระบบออโตโฟกัสอันยอดเยี่ยม
ฟูจิฟิล์มพัฒนาระบบออโตโฟกัสได้อย่างน่าประหลาดใจ เพียง 2-3 ปีจากจุดที่เคยถูกติติง กล้องรุ่นใหม่ๆ ได้แก้ไขและพัฒนาจนระบบออโตโฟกัสมีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก และสำหรับ X-T2 ต้องบอกว่ามันได้ก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ก้าวข้ามกล้องมิเรอร์เลสทั่วไปได้อย่างน่าประทับใจ ด้วยระบบออโตโฟกัสที่ทำงานได้ดีในทุกรูปแบบ รวมทั้งการถ่ายภาพแอคชั่นที่ทำได้ในระดับเดียวกับกล้อง DSLR ระดับเซมิโปรจนถึงระดับโปร ด้วยการใช้เซ็นเซอร์รับภาพที่ติดตั้งระบบเฟสดีเทคชั่นบนเซ็นเซอร์ โดยมีจุดโฟกัสทั้งหมด 325 จุด เป็นจุดโฟกัสของระบบเฟสดีเทคชั่น 169 จุด พื้นที่ของระบบเฟสดีเทคชั่นขยายเพิ่ม 230% จากรุ่น X-T1 ทำให้ประสิทธิภาพในการแทรคกิ้งทำได้ดีกว่า โดยทำงานในสภาพแสงน้อยได้ถึง -3EV
ระบบออโตโฟกัสทำงานได้น่าประทับใจจริงๆ ครับ ภาพชุดนี้บันทึกโดยใช้ระบบโฟกัสต่อเนื่อง AF-C แบบ SET 6 CUSTOM โดยผมตั้งการตอบสนองของระบบ Tracking ที่ตำแหน่ง 3 และตั้งความเร็ว Tracking ที่ Auto ภาพนี้ใช้กับเลนส์รุ่นเก่าอย่าง XF 55-200mm f/3.5-4.8R LM OIS การโฟกัสยังเข้าทุกภาพจากทั้งหมด 9 ภาพที่บันทึก กล้อง Fujifilm X-T2 เลนส์ XF 55-200mm f/3.5-4.8R LM OIS โหมด M ชัตเตอร์ 1/1250 วินาที f/5, WB : Auto, ISO1000, ระบบโฟกัส AF-C (SET 6 CUSTOM) 11fps
ด้วยการพัฒนาเซ็นเซอร์รับภาพใหม่ที่ถ่ายโอนข้อมูลได้รวดเร็ว แสดงภาพ Live View ได้รวดเร็ว ลดเวลาการหายไปของภาพในช่วงรอยต่อของแต่ละเฟรมประกอบกับหน่วยประมวลผล X-Processor Pro ที่ประมวลข้อมูลเร็วขึ้น 4 เท่า กับอัลกอริธึมใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ X-T2 มีประสิทธิภาพในการโฟกัสติดตามวัตถุ ( AF Tracking ) สูงกว่าเดิมอย่างมาก ตอบสนองได้รวดเร็ว แทรคกิ้งได้รวดเร็วและแม่นยำ รองรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่รวดเร็วเช่น ภาพกีฬา ภาพแอคชั่นของสัตว์ป่า นก ได้อย่างดีเยี่ยม โดย X-T2 ได้เพิ่มฟังก์ชั่น AF-C CUSTOM SETTINGS เพื่อให้ผู้ใช้เลือกรูปแบบของภาพเคลื่อนไหวให้เหมาะกับการทำงานของระบบโฟกัสติดตามวัตถุเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด โดยจะมีการปรับตั้งสำเร็จรูปจากกล้องมาให้เลือกใช้ 5 SET และปรับตั้งเองได้ใน SET 6 CUSTOM โดยค่าที่ผู้ใช้สามารถปรับตั้งเองใน SET 6 คือ
- Tracking Sensitivity จะเป็นการสั่งการให้ระบบโฟกัสตอบสนองกับซับเจกต์ใหม่ที่เข้ามาอยู่ในจุดโฟกัสเร็วหรือช้า โดยสามารถตั้งได้ 5 ระดับ จาก 0-4 ที่ตำแหน่ง 0 กล้องจะเปลี่ยนการโฟกัสไปที่ซับเจกต์ใหม่ทันที หากซับเจกต์ใหม่เคลื่อนเข้ามาบังซับเจกต์หลัก ที่ตำแหน่ง 1 ไปจนถึง 4 การแทรคโฟกัสเข้าหาซับเจกต์ใหม่จะช้าลง โดยที่ตำแหน่ง 4 กล้องจะยังคงล็อกโฟกัสอยู่ที่ซับเจกต์หลักชั่วขณะจึงจะโฟกัสไปยังซับเจกต์ใหม่ ผู้ใช้ต้องเลือกให้เหมาะกับรูปแบบของภาพที่ถ่าย การเลือกผิดพลาดอาจทำให้กล้องโฟกัสผิดตำแหน่งได้
- Speed Tracking Sensitivity เป็นการปรับรูปแบบการโฟกัสติดตามวัตถุของกล้องให้เหมาะสมกับความเร็วในการเคลื่อนที่ของซับเจกต์ หากซับเจกต์มีความเร็วในการเคลื่อนที่คงที่ควรปรับที่ตำแหน่ง 0 แต่ถ้าซับเจกต์มีการเปลี่ยนความเร็วอยู่เรื่อยๆ ควรปรับที่ 2 เพื่อให้ระบบโฟกัสคาคะเนโฟกัสล่วงหน้าได้แม่นยำขึ้น
- Zone Area Switching การปรับตั้งนี้จะมีผลเมื่อผู้ใช้เลือกพื้นที่โฟกัสที่ตำแหน่ง Zone AF โดยจะปรับตั้งได้ 3 แบบคือ CENTER เพื่อให้กล้องเน้นการโฟกัสที่ตำแหน่งกลางของโซนเป็นหลัก AUTO กล้องจะแทรคตามซับเจกต์แรกที่คุณโฟกัสด้วยจุดโฟกัสภายในโซนนั้น และ FRONT เพื่อให้ระบบโฟกัสเลือกการโฟกัสที่ส่วนหน้าสุดภายในโซนเมื่อซับเจกต์หลักเคลื่อนออกไปนอกพื้นที่โฟกัส
การเลือก SET 6 CUSTOM ผู้ใช้จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องการตั้ง 3 ค่านี้ เพราะหากปรับตั้งผิดพลาดไม่ตรงกับรูปแบบการเคลื่อนไหวของซับเจกต์ อาจไม่ได้ผลดีอย่างที่ต้องการ ดังนั้น X-T2 จะมี SET 1 ถึง SET 5 ให้เลือกใช้โดยไม่ต้องปรับอะไรเลยเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานของช่างภาพที่เซ็ทอัพไม่เป็น โดยดูลักษณะภาพที่เหมาะสมจากภาพบนหน้าจอได้เลย
- SET 1 เป็นการถ่ายภาพเคลื่อนไหวทั่วไปเหมาะกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่มีความเร็วคงที่ ไม่มีอะไรเคลื่อนมาบังซับเจกต์บ่อยๆ เช่น การถ่ายภาพวิ่งแข่ง (ตามภาพที่แสดงบนหน้าจอ)
- SET 2 เหมาะกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่ซับเจกต์อาจหลุดออกนอกพื้นที่โฟกัสบ้างหรือมีวัตถุอื่นเคลื่อนเข้ามาบังซับเจกต์หลักชั่วขณะบ้าง กล้องจะล๊อกที่ซับเจกต์หลักโดยไม่โฟกัสที่วัตถุอื่นทันทีเช่น การถ่ายภาพแอคชั่นของสัตว์ หรือเด็กกำลังวิ่งเล่น
- SET 3 ให้ผลดีกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่ซับเจกต์เปลี่ยนความเร็วอยู่ตลอดเวลาเหมาะกับเลนส์ที่ใช้มอเตอร์แบบลิเนียร์ในการโฟกัสติดตามวัตถุเช่น การถ่ายภาพรถแข่ง
- SET 4 เหมาะกับการถ่ายภาพแอคชั่นที่ซับเจกต์อาจหายไปจากเฟรมแล้วปรากฏในช่องมองอย่างฉับพลันเมื่อเคลื่อนกล้องตามทัน กล้องจะโฟกัสที่ซับเจกต์ด้านหน้าอย่างรวดเร็ว
- SET 5 เหมาะกับการถ่ายภาพกีฬาหรือภาพเคลื่อนไหวที่ซับเจกต์เปลี่ยนความเร็วตลอดหรือเปลี่ยนทิศทางบ่อย ทำให้เข้าและออกในพื้นที่โฟกัสอยู่ตลอด เช่นการถ่ายภาพกีฬาเทนนิสเป็นต้น
ภาพชุดนี้เป็นการถ่ายซับเจกต์ที่เคลื่อนเข้า หากล้องในแนวทแยง ผมเริ่มบันทึกตั้งแต่เจ็ตสกียังอยู่ในระยะไกล แล้วแทรคตามตลอด เมื่อเข้ามาถึงเฟรมล่างซ้ายก็มีการเลี้ยวเปลี่ยนทิศทางและตีวงย้อนกลับ กล้องรุ่นนี้ยังสามารถ Lock-on ที่ซับเจกต์ได้อย่างแม่นยำ น่าพอใจ จากภาพทั้งหมดในชุดนี้ 21 ภาพ มีภาพหลุดโฟกัส (ไปที่นํ้า) เพียง 2 ภาพ ที่เหลือโฟกัสเข้าทั้งหมด กล้อง Fujifilm X-T2 เลนส์ XF100-400mmF4.5-5.6 R LM OIS WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/1250 วินาที f/5.6, WB : Auto, ISO800, ระบบโฟกัส AF-C (SET 3) ความเร็ว 11 ภาพ / วินาที
เลือกพรีเซ็ทให้เหมาะสมก็จะได้ภาพที่ดีไม่ยาก เพียงแค่เคลื่อนกล้องตามซับเจกต์ให้ทันและกดชัตเตอร์ในจังหวะที่เหมาะสม นอกจากนั้น X-T2 ยังมีระบบ Eye Detection AF โดยกล้องจะเลือกจุดโฟกัสที่ตาของตัวแบบให้ทันทีที่ตรวจจับใบหน้าบุคคลได้ จึงโฟกัสได้อย่างแม่นยำเมื่อถ่ายภาพพอร์เทรตด้วยความชัดลึกน้อย ผู้ใช้สามารถเลือกตาซ้ายหรือตาขวาได้ หรือจะเลือกให้กล้องโฟกัสจากด้านที่อยู่ใกล้กับกล้องก็ได้ ส่วนระบบ MF ยังใช้งานได้สะดวกคล่องตัวเช่นเดิม โดยเลือกรูปแบบการโฟกัสได้ 3 แบบคือ มาตรฐาน (ขยายภาพแล้วปรับโฟกัส ) Digital Split Image (ปรับรอยต่อของเส้นในภาพที่แยกออกให้ตรง) และ Focus Peak Highlight (แสดงสีในส่วนที่อยู่ในระยะโฟกัส)
ช่องมองภาพที่สมบูรณ์แบบ
X-T2 ออกแบบช่องมองภาพ EVF ให้ช่างภาพสามารถมองภาพได้สบายตา เห็นภาพชัดเจน รายละเอียดสูง ขนาดภาพใหญ่ โดยมีความละเอียดสูงถึง 2.36 ล้านจุด มีอัตราขยายถึง 0.77x มุมมองภาพแนวนอน 31 องศา มีความล่าช้าในการแสดงภาพน้อยมากเพียง 0.005 วินาที มีความสว่างสูงกว่าเดิม 2 เท่า แก้ปัญหาเรื่อง Moiré และเรื่องความผิดเพี้ยนของสี ทำให้การมองภาพทำได้ใกล้เคียงช่องมองออพติคัล แต่ให้ผลดีกว่าเพราะสามารถแสดงค่าแสง สีสัน เอฟเฟ็กต์ต่างๆ ได้ตรงกับภาพจริงก่อนบันทึก ความโดดเด่นของช่องมองภาพ EVF ในกล้องรุ่นนี้อยู่ตรงที่สามารถปรับความเร็วในการแสดงภาพจากโหมดมาตรฐานที่ 60 fps ขึ้นให้เป็น
100 fps ในโหมด Boost ทำให้การแสดงภาพเคลื่อนไหวทำได้ราบเรียบนุ่มนวล ไม่กระตุก และด้วยการลดช่วงเวลาที่หายไปของภาพในช่องมอง (Blackout Time) ลงกว่ารุ่นเดิมเกือบ 3 เท่าตัว ทำให้กล้องแสดงภาพในช่องมองได้ต่อเนื่องกว่า การเคลื่อนกล้องติดตามภาพทำได้ง่ายกว่า เมื่อถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็ว 8 ภาพ / วินาที หรือ 11 ภาพต่อ / วินาที นอกจากนั้นยังสามารถแสดงภาพเต็มพื้นที่จอในโหมด FULL และเมื่อถ่ายภาพแนวตั้งกล้องสามารถพลิกข้อมูลถ่ายภาพมาแสดงแนวตั้งได้ และในโหมด Dual จะสามารถแสดงภาพแบบคู่ได้โดยขยายจุดโฟกัส ขึ้นมาไว้ด้านข้าง เพื่อให้ตรวจสอบความชัดได้เมื่อปรับโฟกัสแบบแมนนวลด้วยการขยายภาพ ใช้ Digital Split Image หรือใช้ Focus Peak Highlight โดยยังคงมองภาพหลักได้ชัดเจน
ระบบวิดีโอ 4K คุณภาพสูง
X-T2 เป็นกล้องมิเรอร์เลสรุ่นแรกจากฟูจิฟิล์มที่พัฒนาจนถึงคุณภาพระดับ 4K (30P,25P,24P) โดยมี bit rate สูงถึง 100 Mbps ให้รายละเอียดเยี่ยมยอด โดยแทบไม่มี moire สามารถบันทึกวิดีโอระดับ 4K ในตัว แต่ถ้าต้องการคุณภาพสูงยังสามารถ ต่อกับเครื่องบันทึกภายนอกผ่านพอร์ต HDMI ในฟอร์แมต 4:2:2 ไร้การบีบอัดให้คุณภาพสูง และยังมีฟังก์ชั่น F-Log ที่จะขยายไดนามิคเรนจ์ให้กว้างกว่าปกติ จึงเก็บรายละเอียดได้ดีทั้งส่วนสว่างและส่วนมืด นอกจากนั้นยังสามารถใช้ร่วมกับ Film Simulation ต่างๆ ได้ ทำให้สามารถสร้างสรรค์งานให้ได้โทนสีตามต้องการโดยแทบไม่ต้องพึ่งพาโพสต์โพรดักชั่นในภายหลัง
แข็งแกร่ง ทนทาน
X-T2 ออกแบบให้ทนทานต่อการใช้งานแบบสมบุกสมบัน ด้วยการใช้โครงสร้างภายนอกทั้งตัวที่ผลิตออกจากแมกนิเซียมอัลลอย มีการซีลรอบตัวกล้องถึง 63 จุด เพื่อป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า จึงใช้งานได้ทุกสภาพอากาศ (เมื่อใช้กับเลนส์รหัส WR ) สามารถใช้งานในอุณหภูมิตํ่าถึง –10 องศา ชัตเตอร์มีความเร็วสูงสุด 1/ 8000 วินาที สัมพันธ์กับแฟลชที่ 1/250 วินาที ใช้งานได้นานถึง 150,000 ครั้ง และยังมีชัตเตอร์แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเร็วชัตเตอร์สูงถึง 1/32000 วินาที
เพิ่มพลังด้วย Vertical Power Booster Grip
อุปกรณ์เสริมสำหรับ X-T2 ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อการจับถือแนวตั้งที่ดีเท่านั้น แต่ยังเพิ่มพลังและความเร็วให้ X-T2 อีกด้วย โดยในกริปจะสามารถบรรจุแบตเตอรีลิเธียมได้อีก 2 ก้อน (รวมกับตัวกล้องเป็น 3 ก้อน) ทำให้สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ถึง 1000 ภาพ โดยจะแสดงกำลังแบตเตอรีบนหน้าจอ LCD ทั้ง 3 ก้อน ที่ตัวกริปจะมีสวิทซ์ปรับเลือกโหมด Normal และ Boost หากปรับไปที่ Boost กริปจะจ่ายไฟให้ตัวกล้องมากขึ้นเพื่อเร่งความเร็วของการทำงานต่างๆ ให้สูงขึ้น โดยเพิ่มความเร็วของการถ่ายภาพต่อเนื่องจาก 8 ภาพ / วินาทีเป็น 11 ภาพ / วินาที เพิ่มความเร็วระบบ AF จาก 0.08 วินาทีเป็น 0.06 วินาที ลดเวลาระหว่างภาพจาก 0.19 วินาทีเป็น 0.17 วินาที ลด Time lag จาก 0.5 วินาที เป็น 0.045 วินาที ลดเวลาการหายไปของภาพ (Blackout time) โดยจะใช้พลังงานจากตัวกล้องก่อน จากนั้นจะไล่ลงมาเป็นแบตเตอรีด้านขวาและซ้ายตามลำดับ จาก 130 msec เป็น 114 msecดังนั้นหากต้องการให้ X-T2 ทรงพลังเต็มพิกัด จึงควรใช้ร่วมกับกริปแนวตั้งรุ่น VPB – X-T2 นี้ด้วย
ระบบการทำงานครบ
X-T2 มาพร้อมระบบการทำงานครบครันในระดับที่มืออาชีพต้องการ ทั้งระบบถ่ายภาพซ้อน ระบบถ่ายภาพคร่อม ระบบพาโนราม่า Advanced Filter ระบบชดเชยแสงที่ปรับได้ถึง +- 5EV ฟังก์ชั่น Wi–Fi สำหรับการแชร์ภาพที่รวดเร็ว
ผลการใช้งาน
ผมได้รับกล้องรุ่นนี้มาพร้อมเลนส์ XF 10-24mm. f/4 OIS, XF 90mm.f/2R WR, XF 100-400mm. f/4.5-5.6R LM OIS WR โดยได้ทดสอบระบบออโต้โฟกัสกับเลนส์ XF 100-400mm. ทดสอบความคมชัดการถ่ายทอดรายละเอียดกับเลนส์ XF90mm.f/2 ซึ่งเป็นเลนส์ที่ดีที่สุดของ FUJINON (ในความเห็นส่วนตัว) การเปลี่ยนแปลงจาก X-T1 มาเป็น X-T2 นั้น สิ่งที่เปลี่ยนน้อยที่สุดคือรูปลักษณ์ภายนอก แต่ในส่วนของเทคโนโลยี ฟังก์ชั่น ระบบออโตโฟกัสและความเร็วนั้น กล้องรุ่นนี้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก มากจนต้องกล่าวว่า หากกำลังจะตัดสินใจกับกล้องมิเรอร์เลสสักตัวที่ใช้งานได้ทุกรูปแบบ ขยับจาก X-T1 มาเป็น X-T2 เถอะครับ แม้ราคาขายตอนนี้จะแตกต่างกันพอควร แต่มันจะตอบแทนด้วยความสนุก คุณภาพความประทับใจ จนคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ที่คุณจ่ายไป อย่างแรกคือระบบออโตโฟกัส X-T2 คือกล้องที่สามารถถ่ายมอเตอร์สปอร์ต กีฬาเอ็กซ์สตรีม กีฬาทั่วไป และภาพแอ็คชั่นได้ทุกรูปแบบ ประสิทธิภาพในการโฟกัสติดตามวัตถุทำได้ดีจนไม่น่าเชื่อว่านี่คือกล้องมิเรอร์เลส กล้องที่ผมไม่เคยเชื่อมั่นในเรื่อง AF Tracking
Fujifilm X-T2 เลนส์ XF100-400mmF4.5-5.6 R LM OIS WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/1000 วินาที f/5.6, WB : Auto, ISO3200, AF-C SET 6 CUSTOM, ความเร็ว 11 ภาพ / วินาที
จากการถ่ายภาพกีฬาทางนํ้าทั้งเวคบอร์ด เจ็ตสกี พบว่าการโฟกัสติดตามซับเจกต์ในโหมด AF-C (Zone AF) ทำได้น่าประทับใจมาก ผมปรับตั้งระบบ AF-C Custom setting ที่ set 3 พบว่าทำงานได้น่าพอใจมาก แต่ได้ลองปรับตั้งระบบ set 6 โดยปรับการตอบสนองของระบบแทรคกิ้งไว้ที่ตำแหน่ง 3 ให้กล้อง Lock on ที่ซับเจกต์หลักนานหน่อย ปรับความเร็วในการแทรคกิ้งที่ Auto และการเลือกตำแหน่งโฟกัสใน Zone AF ที่ Auto ก็พบว่าได้ผลน่าพอใจมากเช่นกัน โดยปรับขนาดของ Zone AF ที่ 3×3 สำหรับสภาพฉากที่มีวัตถุอื่นๆ ในภาพเยอะ เพื่อให้กล้องโฟกัสเจาะจงที่ซับเจกต์มากขึ้น แต่ถ้าเป็นกีทางน้ำ เช่น เจ็ตสกี ผมจะใช้พื้นที่ขนาด 5×5 ซึ่งจะช่วยให้การเคลื่อนกล้องตามซับเจกต์ทำได้ง่าย ไม่หลุดออกนอกกรอบพื้นที่ Zone
Fujifilm X-T2 เลนส์ XF 100-400mm F4.5-5.6 R LM OIS WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/2000 วินาที f/5.6 , WB : Auto, ISO 500, AF-C SET 3, ความเร็ว 11 ภาพ / วินาที
ในการทำงานกล้องจะแสดงจุดโฟกัสที่ใช้งานด้วยกรอบสีเขียวในพื้นที่ Zone สลับไปมาตามตำแหน่งการโฟกัส แสดง 1 กรอบบ้าง 2 กรอบบ้าง บางครั้งอาจแสดงพร้อมกันถึง 8-9 กรอบ การแสดงจุดโฟกัส ที่ใช้งานอยู่ของโหมด AF-C ทำให้เรามั่นใจได้ว่าขณะที่กำลังติดตามภาพอยู่นั้น ระบบโฟกัสยังแทรคกิ้งอยู่ หากเคลื่อนกล้องตามซับเจกต์มาตั้งแต่ระยะไกล กล้องจะล็อกโฟกัสตามได้ตลอด สามารถลั่นชัตเตอร์ได้ตลอดเวลา โดยกล้องมีความเร็วสูงสุด 8 ภาพ / วินาที แต่ถ้าใช้กริปแนวตั้งในโหมด Boost จะเพิ่มความเร็วได้ถึง 11 ภาพ/วินาที และถ้าใช้ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิคส์จะมีความเร็วสูงสุดถึง 14 ภาพ/วินาที แต่ในการใช้งานผมจะใช้ชัตเตอร์แมคคานิคเป็นหลัก เพราะหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องดิสทอร์ชันของชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์เมื่อถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนไหวเร็วๆ ส่วนการโฟกัสแบบฉับพลันคือ ยกกล้องขึ้นถ่ายทันที ซับเจกต์จะเบลอภาพแรก เกือบชัดในภาพที่สอง และเข้าโฟกัสในภาพที่สาม หลังจากนั้นกล้องจะโฟกัสตามซับเจกต์ได้ตลอด ซึ่งนับว่าให้ผลน่าประทับใจมากครับ ทำได้เกือบเท่ากล้อง DSLR ระดับโปรเลยทีเดียว
ในการใช้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวผมจะไม่ใช้พื้นที่โฟกัสแบบ Wide Tracking และ Single Point ใช้ในโหมด Zone จะให้ผลดีกว่า ทั้งประสิทธิภาพและความแม่นยำ การเคลื่อนกล้องติดตามซับเจกต์ทำได้ดีกว่ารุ่นเดิมอย่างมากครับ ด้วย Blackout Time ที่น้อยกว่าเดิมเกือบ 3 เท่า ทำให้กล้องแสดงภาพได้ต่อเนื่องราบลื่นกว่า การตามภาพจึงไม่เป็นปัญหาเหมือนเดิม แม้ว่าจะยังเทียบกับกล้อง DSLR ระดับโปร (ช่องมองออพติคัล) ไม่ได้ แต่ความแตกต่างน้อยลงมาก และมาพร้อมข้อดีคือ การแสดงค่าแสงจริงให้เห็นจากในช่องมอง แสดงสีสันที่แท้จริงให้เห็นก่อนบันทึก ทำให้เมื่อลั่นชัตเตอร์จะตัดปัญหาเรื่องโอเวอร์อันเดอร์ สีผิดเพี้ยนไปได้เลย
Fujifilm X-T2 เลนส์ XF 90mm F2 R LM WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/160 วินาที f/5.6, ISO400
ในสภาพแสงน้อย การโฟกัสทำได้แม่นยำ เพียงแต่ความเร็วจะลดลงอย่างสังเกตได้กับเลนส์ไวแสงอย่าง XF 90mm. f/2 ไม่ใช่ปัญหา แต่กับ XF 100-400mm. f/4.5-5.6 จะเห็นความแตกต่าง โดยเฉพาะเมื่อซูมออกไปที่ช่วง 400มม. สรุปโดยรวมเรื่องประสิทธิภาพระบบออโตโฟกัส คือทำได้ดีมาก โดยเฉพาะกับเลนส์ XF50-140mm. f/2.8R LM OIS WR และ XF100-400mm.f/4.5-5.6R LM OIS WR
ในส่วนของคุณภาพไฟล์ทำได้เหมือนกับ X-Pro2 ทุกประการ รายละเอียดดีมากเมื่อดูภาพด้วยอัตราขยาย 100% ในคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะเมื่อใช้เลนส์ XF 90mm.f/2 จะเห็นได้ชัดว่า รายละเอียดที่ได้สูงขึ้นไปจาก X-T1 อีกเล็กน้อย แสดงศักยภาพของเลนส์ได้ดีขึ้นไปอีกระดับ ด้วยความละเอียด 24 ล้านพิกเซลกับเลนส์ชั้นดี มันสามารถให้ความคมชัดเทียบเคียงกล้องฟูลเฟรมความละเอียด 24 ล้านพิกเซลได้เลยครับ ผมแทบไม่เห็น
ความแตกต่างในเรื่องการถ่ายทอดรายละเอียด ภาพที่ได้จาก X-T2 จึงสามารถขยายเป็นภาพขนาด 20×30 นิ้ว หรือ 30×40 นิ้วได้สบายๆ รองรับการทำงานของมืออาชีพได้พียงพอทั้งภาพพอร์เทรตในสตูดิโอ งานเวดดิ้ง พรีเวดดิ้ง ภาพงานพิธีต่างๆ รวมทั้งภาพแฟชั่นและแลนด์สเคป
การถ่ายทอดสียังเป็นจุดเด่นของฟูจิฟิล์ม ให้ภาพไฟล์ JPEG ที่มีสีสันสดใส ไม่แห้ง ดูสดชื่นและคอนทราสต์ดี โดยไม่จำเป็นต้องปรับ Curve หรือ Level เพิ่มเติม ก็พร้อมสำหรับการนำไปใช้งานได้ทันที สัญญาณรบกวนของ X-T2 ทำได้ดีมาก เมื่อพิจารณาจากขนาดของเซ็นเซอร์รองรับภาพ APS-C ที่ ISO 200-800 ภาพมีรายละเอียดสูง สัญญาณรบกวนตํ่ามาก ภาพจึงดูสะอาดตาทั้งในส่วนสว่างและส่วนมืด ที่ ISO 1600 จะเริ่มเห็น
สัญญาณรบกวนในส่วนมืด แต่ส่วนสว่างภาพยังใสเคลียร์ดี รายละเอียดของภาพจะลดลงเล็กน้อยแต่ยังให้ผลน่าประทับใจ ที่ ISO 3200 ภาพยังมีสัญญาณรบกวนตํ่า รายละเอียดลงจาก ISO 1600 อีกเล็กน้อย แต่ก็ยังให้ผลที่น่าพอใจมาก เหนือชั้นกว่ากล้องขนาด APS-C ส่วนใหญ่ และเป็นรองกล้องขนาดฟูลเฟรมความละเอียดเดียวกันเพียงเล็กน้อย ที่ ISO 6400 สัญญาณรบกวนปรากฏชัด รายละเอียดจะลดลงอย่างชัดเจนจากการทำงานของระบบ Noise Reduction แนะนำว่าที่ความไวแสงสูง ควรปรับฟังก์ชั่น NR ไปที่ -2 เพื่อรักษารายละเอียดไว้ แม้จะมีสัญญาณรบกวนมากขึ้นอีกหน่อยก็ตาม แต่ภาพจะดูดีกว่า
Fujifilm X-T2 เลนส์ XF100-400mmF4.5-5.6 R LM OIS WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/125 วินาที f/5.6, ISO800
ความเร็วในการทำงานน่าประทับใจมากครับ มีกล้องมิเรอร์เลสน้อยรุ่นมากที่จะตอบสนองได้เร็วขนาดนี้ โดยเฉพาะเวลาในการเปิดกล้องจนพร้อมถ่ายที่ทำได้น่าประทับใจ การตอบสนองของปุ่มปรับ การตอบสนองของช่องมองภาพที่เร็วและมองภาพสบายตาแม้แพนกล้อง
นี่คือกล้องมิเรอร์เลสที่ใช้งานสนุกมาก ให้ฟีลลิ่งดีสำหรับการใช้งานจริงจัง การควบคุมกล้องทำได้ง่าย คล่องตัว จอยสติ๊กทำให้การย้ายจุดโฟกัสทำได้เร็วกว่าเดิมมาก ในส่วนของระบบวิดีโอนั้น ให้ผลที่เหนือกว่าเดิมอย่างมาก ไม่เฉพาะไฟล์ 4K นะครับ แค่บันทึกด้วยฟอร์แมต Full HD ก็เห็นความแตกต่างแล้ว ภาพมีรายละเอียดดีขึ้นและปรับเฟรมเรทได้ถึง 50P ทำให้การเคลื่อนไหวนุ่มนวลกว่าและสามารถทำ Slow Motion ระดับ 2X ได้ การโฟกัสในภาควิดีโอก็ทำได้ดี
ความเห็น
ซ้าย : โฟกัสที่เร็วมากทำให้ถ่ายภาพแคนดิดได้ง่าย Fujifilm X-T2 เลนส์ XF100-400mmF4.5-5.6 R LM OIS WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/250 วินาที f/5.6, ISO640
ขวา : Fujifilm X-T2 เลนส์ XF90mmF2 R LM WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/250 วินาที f/2, ISO1600
FUJIFILM X-T2 เป็นกล้องมิเรอร์เลสที่น่าสนใจมากที่สุดรุ่นหนึ่งในขณะนี้ ด้วยคุณภาพไฟล์ที่ดีมาก ด้วยประสิทธิภาพของระบบออโตโฟกัสและการออกแบบช่องมองภาพที่ดีเยี่ยมในการถ่ายภาพแอคชั่น เป็นกล้องที่ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ รองรับการทำงานตั้งแต่มืออาชีพ ระดับจริงจัง ไปจนถึงมือสมัครเล่นสำหรับผู้ที่ใช้ X-T1 อยู่ และอยากรู้ว่าคุ้มหรือไม่ที่จะเปลี่ยน ก็คงต้องตอบว่า หากคุณอยากได้ภาพที่มีรายละเอียดสูงขึ้น ถ่ายแอคชั่นได้ดีขึ้น ถ่ายวิดีโอได้ดีมาก ใช้สนุกขึ้นก็คุ้มค่าที่จะเปลี่ยน เป็นกล้องที่อยู่ในระดับแนะนำเป็นพิเศษเลยครับ
เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์
ขอบคุณ : บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.fujifilm.co.th