นักพูด, นักบรรยายชื่อดัง, เป็นสื่อมวลชนที่มีรายการหลายรายการเป็นที่รู้จักกัน ดี และมีผลงานในวงการบันเทิงเป็นครั้งคราว รับรางวัลกิตติคุณสังข์เงิน บุคคล ดีเด่นด้านวิชาการของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และนักวิชาการด้านการตลาดชั้นแนวหน้าของประเทศ ปัจจุบันเป็น ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
ความหมายของคำว่าในหลวงกว้างมาก ถ้าซึ้งที่สุดก็ต้องเป็นพ่อของแผ่นดิน และโดยพระนามของพระองค์ท่านนั้นก็คือ พลังของแผ่นดิน คำว่าเป็นพ่อของแผ่นดินนั้นก็แปลว่าท่านเป็นผู้ปกปักษ์รักษาดูแลเอาใจใส่ให้พวกเราอยู่เย็นเป็นสุข ส่วนคำว่าพลังของแผ่นดินนั้นก็แปลว่าแผ่นดินไทยเราอยู่ได้ก็เพราะมีพลังของพระองค์ท่าน ที่เป็นเหมือนกับกาว เหมือนกับซีเมนต์ ที่จะผนึกพลังของพวกเราทั้งหลายเข้าไว้ด้วยกัน เพราะหลายๆ ครั้งที่เกิดปัญหาขึ้นมาในประเทศ เมื่อพระองค์เห็นว่ามันถึงวิกฤติแล้ว กระแสพระราชดำรัสของพระองค์ทุกๆ ครั้งจะเป็นเหมือนพลังที่ช่วยให้เราพ้นวิกฤติพ้นทุกพ้นภัยได้ นอกจากนั้นแล้วเวลาที่ไม่มีวิกฤติใดๆ การทรงงานของพระองค์ก็เป็นเหมือนพลัง อย่างเช่นเป็นพลังในการแก้ปัญหาน้ำ เป็นพลังในการแก้ปัญหาป่า เป็นพลังที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าชีวิตที่อยู่ในเมืองไทยเหมือนเป็นชีวิตของคนที่โชคดี ถ้าเราดูจากเพลงพ่อของแผ่นดินจะมีคำพูดว่าคนไทยโชคดี และจะมีคำพูดที่ว่า “ไทยเป็นไทยจนวันนี้เพราะองค์ภูมิพลที่คุ้มครองไทย” เพราะฉะนั้น เชื่อว่าพระราชจริยวัตรกับพระนามของพระองค์ไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน
การจะทำอะไรเพื่อในหลวงนั้น ที่จริงแล้วไม่มีคำอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าคำว่า ‘ทำดีเพื่อในหลวง’ เพราะว่าจริงๆ แล้วเมื่อเราได้เกิดมาเป็นพสกนิกรของเมืองไทยและโชคดีที่มีในหลวง เราก็อยากทำให้เราเองเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของประเทศไทย ส่วนหนึ่งคือ เพื่อความผาสุขของตัวเราเอง อีกส่วนหนึ่งก็คือ การทำตนให้มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อแผ่นดิน ซึ่งแผ่นดินนี้ก็เป็นของพระองค์ท่าน ที่เราใช้คำว่า ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ เพราะฉะนั้นคำว่า ‘ทำดีเพื่อในหลวง’ เป็นคำ ที่กระชับ กะทัดรัด และความหมายลึกซึ้งมาก เพราะคำว่าทำดีก็หมายความว่าเราทำในสิ่งที่เราสามารถบอกเล่าให้คนอื่นฟังได้ด้วยความภาคภูมิใจ หมายความว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีส่วนเสริมสร้างทำให้สังคมที่เราอยู่ดีขึ้น มันเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยของเรามีศักยภาพที่จะโลดแล่นอยู่บนเวทีโลกาภิวัฒน์ได้อย่างสง่างาม ดังนั้น เวลาถ้าใครถามว่าจะทำอะไรเพื่อในหลวงนี่ ตอบสั้นๆ ว่า ’ทำดี’ แล้วเราก็นิยามความดีว่า ‘ดี’ คือสิ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนา ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ก่อให้เกิดการเสริมสร้างศักยภาพ ก่อให้เกิดการที่ประเทศไทยเรา มีศักดิ์ศรี มีความสง่างามบนเวทีโลก
เราเคยทำหนังในแง่ของการถวายพระพรเมื่อครั้งที่ทำงานให้กับบริษัทบุญรอด แล้วเราก็ไปหาภาพที่พระองค์ทรงเมตตาเยาวชน และเด็กคนนั้นเป็นเด็กพิการ หลายคนคงจะเคยเห็นที่พระองค์ทรงประทับยืนอยู่กับเด็กพิการ
อย่างไรก็ตามหลายๆ ครั้งที่ได้ดูหนังที่เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีก็จะถามตัวเองทุกครั้งว่า ทำไมคนทำหนังสรรเสริญพระบารมีชอบนำเสนอภาพของพระองค์ท่านกับผู้ยากไร้และชนชั้นล่างเท่านั้น ที่จริงแล้วพระองค์เป็นคนของคนทั้งประเทศ เราอยากจะเห็นพระองค์ในทุกอิริยาบถ คือเห็นพระองค์ทรงลุยอยู่กับการงานในพื้นที่กันดาร เห็นทรงอยู่ใกล้ชิดกับพสกนิกรผู้ยากไร้ แต่ก็อยากเห็นพระองค์ในห้องทรงงานวิทยาศาสตร์ อยากเห็นพระองค์เสด็จไปในงานหรือในสิ่งที่พัฒนาแล้วบ้าง ภาพเหล่านั้นเราอยากให้พระองค์มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ทราบว่าทำไมเราถึงชอบเสนอกันด้านเดียว อันนี้เป็นอะไรที่ติดค้างอยู่ในใจเสมอ มันทำให้ไม่สบายใจในแง่ที่ว่าถ้าต่างชาติเขาเห็น เขาจะรู้สึกว่าในหลวงของเราเป็นขวัญใจของคนจนคนยากเท่านั้นหรือ ทำไมเรา ไม่ให้พระองค์ทรงอยู่ในสภาพที่หลากหลาย ทำไมพวกเราจึงชอบวางพระองค์ท่านให้อยู่กับสภาพความยากจนแร้นแค้นอย่างเดียวตรงนั้น ถ้าในแง่ของการที่เราพยายามจะบอกว่าพระองค์ใส่ใจประชาชนผู้แร้นแค้นอย่างมาก เชื่อว่าข้อความนี้มันถึงพวกเรามานานแล้ว อย่าลืมว่าปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุคโลกา-ภิวัฒน์ แล้วก็มีผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาในประเทศ เขาน่าจะได้เห็นว่าพระองค์เป็นที่ชื่นชมของคนอีกระดับหนึ่งด้วย ไม่อย่างนั้นเรากลัวว่าคนจะตั้งข้อสงสัยว่า สถาบันเราอยู่เพราะมีคนยากไร้ยังชื่นชม แล้วบรรดาคนที่มีสตางค์แล้ว เจริญแล้ว มีการศึกษาดีแล้วไปไหนกัน หรือคนเหล่านี้กำลังจะปฏิเสธราชวงศ์หรือเปล่า แต่ก็ยังดีใจนะที่เราเกิดทะเลเหลืองขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ในปีฉลองครบรอบการครองสิริราชสมบัติ คนที่อยู่ตรงนั้นเป็นคนทุกระดับชั้น ทุกสถานะ เพราะจะเห็นได้ว่าในวันนั้นคนส่วนใหญ่อยากจะใส่เสื้อเหลือง มีความพยายามวิ่งหากัน ก่อนถึงวันนั้นเราก็ไปหาซื้อเสื้อเหลืองให้กับพนักงานที่บริษัท ปรากฏว่าวิ่งเข้าไปในตึกช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ที่คนชั้นกลางขึ้นไปมาช้อป ก็รุมกันอยู่ที่ร้านเสื้อเหลือง ซึ่งภาพแบบนี้ทำให้เราประทับใจว่าพระองค์อยู่ในใจของพวกเราทุกระดับชั้น
อันนี้เป็นข้อคิดของเรานะ อยากจะฝากคนที่นำเสนอภาพของพระองค์ อยากให้พระองค์ได้อยู่ในทุกระดับ ไม่อย่างนั้นเราในฐานะของนักสื่อสารเกรงการตีความของคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจ กลัวจะหาว่าสถาบันของเราอยู่กับคนยากคนจน ผู้ยากไร้เท่านั้น เราไม่กล้าเสนอภาพของพระองค์ท่านกับปัญญาชน หรือไม่มีภาพของพระองค์ท่านกับปัญญาชน เราไม่ได้เสนอภาพท่านกับความเจริญรุ่งเรืองหรือคนเจริญรุ่งเรือง แล้วกับพระองค์ผูกพันกันน้อยไปหรือเปล่า ถ้าต่างชาติที่ไม่เข้าใจตั้งคำถามเหล่านี้ล่ะ มันจะเกิดความเข้าใจผิดอะไรบ้างไหม เพราะฉะนั้นคิดว่าอย่าทำอะไรที่ไปข้างใดข้างหนึ่ง ให้พระองค์เป็นพ่อของแผ่นดินสำหรับคนทุกระดับชั้น ในแง่ของสติปัญญา ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่งคั่ง อยากให้คนทั้งโลกตระหนักว่าคนไทยไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ความเจริญระดับไหนก็ยังคงจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน
พระราชดำรัสที่ประทับใจก็คือ เราต้องช่วยกันให้คนดีได้มาเป็นผู้ปกครอง คือจริงๆ แล้วถ้าพวกเราปล่อยให้คนไม่ดีได้ปกครอง ไม่ว่าคนนั้นจะเก่งเลิศเลอปานใดก็คงสร้างปัญหาให้ประเทศชาติได้ เพราะฉะนั้นพระราชดำรัสนี้ติดตาตรึงใจมาตลอดเวลาว่า เราต้องให้คนดีได้เป็นผู้ปกครอง ดูแลประเทศ อันที่สองที่จำได้คือ อย่าให้ผลประโยชน์ส่วนน้อยของเรามาเป็นอุปสรรคที่จะขัดขวางผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของประเทศชาติ
พระอัจฉริยภาพที่เราประทับใจคือ เรื่องน้ำ เพราะไม่ว่าจะเป็นกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องเขื่อน เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เรื่องแก้มลิงก็ชัดเจน จะเห็นได้ว่าพระองค์มีพระอัจฉริยภาพในเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก เพราะว่ากระแสพระราชดำรัสพระราช ดำริเกี่ยวกับการจัดการน้ำ เพื่อให้เรามีน้ำกินน้ำใช้อย่างอุดมสมบูรณ์และไม่ก่อให้เกิดอุทกภัยนั้น เราได้เห็นเป็นประจักษ์หลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ปากพนัง ที่นครนายก ที่ป่าสัก หรือเรื่องแก้มลิงที่บริเวณชานเมืองของกรุงเทพฯ เราก็ได้เห็นแล้ว
คำว่า ‘ในหลวง’ นี้ลึกซึ้งกว่าพ่ออีก บางทีสูงกว่าพ่อตั้งเยอะ เพราะว่าท่านมีความกรุณาต่อคนทุกชั้น ไม่ว่ารวยหรือจน ท่านก็เห็นเป็นลูกหลาน เป็นญาติกัน แสดงว่าท่านไม่ถือองค์ ไปทักทายทุกคนได้โดยที่ไม่เคอะเขินอะไร ท่านเห็นใจคนจนมากที่สุด เพราะคนจนบางคนที่มาเข้าเฝ้าก็แต่งตัวไม่เรียบร้อย ท่านก็เห็นใจ ท่านมีพระเมตตาต่อทุกคนเสมอ เป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก เพราะฉะนั้น ผมว่าไม่ใช่พ่อของแผ่นดินแล้ว ท่านเป็นปู่ของแผ่นดิน มากกว่าพ่ออีก
ตอนเข้าเฝ้า ‘ในหลวง’ นะครับ ท่านมีรับสั่งว่าพวกที่ถ่ายรูปทั่วๆ ไปไม่ประหยัดฟิล์ม ธรรมดาฟิล์มจะถ่ายได้ 36 รูป แต่ท่านถ่ายได้ 38 รูป คือประหยัดฟิล์ม เพื่อให้ฟิล์มใช้ได้มากที่สุด และในการถ่ายภาพท่านจะถ่ายเพียงภาพเดียว ถ่ายมุมไหนก็ถ่ายภาพเดียว ไม่เหมือนช่างภาพอื่นๆ ที่ถ่ายท่าเดียวตั้งหลายภาพ แต่ท่านถ่ายภาพเดียวได้ภาพเดียว ท่านเสด็จไปไหน เห็นอะไรก็เข้าไปถ่ายใกล้ๆ ไม่ได้ เสด็จไปไหนตามสะดวกไม่ได้ เพราะท่านเป็น ‘ในหลวง’ ไม่ใช่ช่างภาพ ท่านต้องอยู่ประจำที่เดียว ภาพไหนที่สำคัญท่านก็บันทึกไว้ เสร็จแล้วก็ส่งฟิล์มมาให้ผมล้าง ผมก็คล้ายๆ รู้ใจท่านว่าควรจะตัดส่วนไหนของภาพ ตัวเอกของภาพนั้นคือตรงนี้ ท่านส่งมาผมก็พยายามตัดส่วนให้ เหมือนเป็นจินตนาการของท่าน ผมก็จะตัดส่วนให้เกือบๆ ทุกภาพที่ท่านไปเยี่ยมราษฎร
พระอิริยาบถของท่านที่ผมประทับใจคือ พอถ่ายภาพแล้วท่านจะยิ้มแย้ม คือว่าภาพนี้ถ่ายได้ดีแล้ว ก็ยิ้มกับผู้ที่ถูกถ่ายทุกครั้งไป คือในระหว่างเสด็จราชดำเนินสมัยผมรับราชการท่านชอบเสด็จไปทั่วโลก ถ้าภาพไหนท่านถ่ายแล้วใช้ได้ สวย ท่านก็จะยิ้มแย้ม รู้สึกพอใจ ทุกครั้งที่เสด็จไปไหนก็จะเห็นท่านยิ้ม
พระอัจฉริยภาพของ ‘ในหลวง’ ที่ผมประทับใจก็เป็นเรื่องการถ่ายภาพครับ พระองค์ท่านเป็นผู้มีสายพระเนตรเฉียบคม และใช้การถ่ายภาพเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ท่านถ่ายภาพในทุกที่ที่เสด็จ ภาพเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการทำโครงการต่างๆ ตามพระราชดำริ
‘ในหลวง’ สำหรับผมเป็นศูนย์รวมน้ำใจของคนไทยทั่วประเทศ เวลาคนไทยมีปัญหาอะไรขึ้นมา ก็จะยึดเอาพระราชดำรัสของ ‘ในหลวง’ ที่ได้ตรัสไว้ว่า ให้มีความรู้รักสามัคคี หรือให้ช่วยกันทำให้สังคมอยู่ไปได้ด้วยดี คือเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทุกประเทศ
เวลาท่านเสด็จไปไหนท่านจะทรงกล้องเพื่อถ่ายภาพ บันทึกภาพเก็บไว้ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมประทับใจ ตั้งแต่ที่ผมอยู่วงการถ่ายภาพมา 40-50 ปี ก็เห็นพระองค์จะทรงถือกล้องเพื่อถ่ายภาพ ท่านหายประชวรมาใหม่ๆ ก็ยังทรงกล้อง เป็นภาพที่ประทับใจมาก
‘ในหลวง’ เป็นนักถ่ายภาพที่มีฝีมือเยี่ยม จะเห็นว่าภาพฝีพระหัตถ์แต่ละภาพมีความสวยงามมาก จัดท่าทางออกมาได้งามมาก แสงก็ดี องค์ประกอบก็ดี ทุกส่วนถือว่าเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุด ควรจะนำมาเป็นแบบอย่างให้กับนักถ่ายภาพรุ่นหลังๆ
เท่าที่ทราบนะ ทางสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ ‘ในหลวง’ ก็เคยเข้าเฝ้าในหลวงบ่อยๆ ในหลวงก็ทรงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการถ่ายภาพ เกี่ยวกับการตั้งสมาคม ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการถ่ายภาพอย่างมาก ซึ่งพระองค์ก็ทรงให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพ มาตลอด
ผมตั้งใจจะทำตามพระราชดำริของ ‘ในหลวง’ ที่ได้ให้ไว้ และพระราชดำรัสต่างๆ ที่ ‘ในหลวง’ ได้ตรัสเพื่อนำมาดำรงชีวิต นำมาถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ได้รับทราบกัน อย่างเช่น การรู้รักสามัคคี ในการบริหารสมาคม บริหารบริษัทก็มักจะนำมาใช้ และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เราก็เอาที่ ‘ในหลวง’ ตรัสมาช่วยให้ชีวิตเราอยู่ดีขึ้น
20 กว่าปี ในการถ่ายทอดความรู้ด้านการถ่ายภาพ ให้นักศึกษาและคนทั่วไป ทุกวันนี้ท่านยังคงแน่วแน่ในความตั้งใจที่จะสร้างนักถ่ายภาพที่มีคุณภาพทั้งเรื่องเทคนิค และการทำประโยชน์ให้สังคม
ตั้งแต่เกิดมาเราก็เห็นในหลวง ผมก็พยายามไปสืบคำว่า ในหลวง คำว่า ‘ในหลวง’ คือคนที่อยู่ในวัง คำว่า ‘หลวง’ คือของปวงชน เพราะฉะนั้นคำว่า ‘ในหลวง’ คือสิ่งที่มาจากข้างใน มาจากใจกลาง เป็นสิ่งที่ทุกคนรัก คำว่าในหลวงจึงยิ่งใหญ่เพราะว่าเป็นของที่มาจากใจและเป็นของทุกคน แต่ว่าจริงๆ ใจผมไม่อยากใช้ว่าในหลวง แต่อยากใช้ว่า ‘นายหลวง’ เป็นนายของทุกคน ข้าราชบริพารหรือข้าราชการทำงานของหลวง เมื่อเป็นนายหลวงก็คือนายของหลวงอีกที จริงๆ ใจผมชอบเรียกว่า ‘พ่อหลวง’ คือเป็นพ่อของทุกๆ คน เพราะมันมีลำดับชั้นมาว่าพ่อใหญ่สุด ก็คือสิ่งที่ครอบคลุมประเทศ ผมภูมิใจที่จะใช้พ่อหลวง แต่เมื่อเรามาอยู่ยุคนี้ก็ใช้ตามเขานั่นคือ ‘ในหลวง’ แต่จริงๆ คือคำว่า ‘นายหลวง’
ทุกวันนี้คำที่นิยมที่สุดก็คือ ทำดีเพื่อในหลวง ผมมีโอกาสดีได้เข้าเฝ้าท่านหลายครั้ง และผมได้ซึมซับความคิดท่านเยอะมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำได้ ณ เวลานี้ก็คือว่า ผมจะเผยแพร่การถ่ายภาพออกไปสู่ผู้คนเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุดเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ ในหลวงทรงทราบว่าการถ่ายภาพคือ การบันทึกประวัติศาสตร์ โครงการใดๆ ที่ท่านทำจะถ่ายภาพเก็บไว้หมด เราก็อยากจะทำสิ่งนี้ถวายท่าน คือเผยแพร่พระเกียรติคุณ พระอัจฉริยภาพของท่านในการถ่ายภาพ และเผยแพร่ความดีงามในเชิงศิลปะที่ท่านมีอยู่กับวงการภาพ เพราะจากที่ผมเคยเข้าเฝ้าท่านหลายครั้ง ท่านรับสั่งว่า “ไปบอกพวกเราด้วย” ผมยังกราบบังคมทูลว่า “ทำไมใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงใช้ว่า พวกเรา” พระองค์ก็ทรงพระสรวลและตรัสว่า “เราคนถ่ายภาพด้วยกัน เราพวกเดียวกัน” โห ผมขนลุกเลย เป็นความซาบซึ้งอย่างยิ่ง
ภาพที่ผมเคยใช้เขียนเป็นบทความและประทับใจมากคือ ภาพที่ทรงน้อมพระวรกายลงมาหาผู้หญิงแก่คนหนึ่งที่กำลังถือดอกบัวอยู่ ภาพนั้นเป็นภาพที่ผมเห็นแล้วน้ำตาไหลทุกครั้ง ผมว่าภาพนั้นเป็นภาพที่จากสูงสุดโน้มลงมาหาคนๆ หนึ่ง ภาพนั้นประทับใจมาก เป็นภาพที่ผมรู้สึกเป็นความงดงามทางด้านจิตใจมาตลอดเลยว่า พระเจ้าแผ่นดินของเรานี่สามารถจะน้อมพระวรกายของพระองค์ลงมาสู่ที่ต่ำได้โดยไม่ถือพระองค์เลย และสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็กคือการที่ทรงยิ้มและคุกเข่าลงทักทายกับชาวบ้าน
พระราชดำรัสที่ประทับใจจะมี 2 ลักษณะ ถ้าโดยทั่วไปก็ “เราจะครอง แผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แต่นั่นเป็นด้านรัฐศาสตร์ด้านการปกครอง แต่ถ้าเป็นในแง่ของการถ่ายภาพ หลายครั้งที่ได้เข้าเฝ้า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงรับสั่งคำที่ผมพูดไปเมื่อกี้คือ “ไปบอกพวกเราด้วย” คือคนถ่ายภาพ คือพวกเดียวกัน
สำหรับพระอัจฉริยภาพที่ประทับใจ เราเป็นคนถ่ายภาพก็ต้องการถ่ายภาพแหละครับ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมเข้าเฝ้า คือที่ท่านถ่ายสมเด็จมาแล้วมีแต่พระนาสิกกับพระกรรณ ผมเป็นคนชอบถามก็ถามว่า ทำไมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉายสมเด็จแค่ครึ่งเดียว ท่านก็ทรงรับสั่งว่า “ถ้าฉันเล่าให้ฟังแล้วอย่าไปบอกใครนะ ฉันอายเขา” คือท่านเป็นกันเองมาก แล้วก็ที่ผมประทับใจคือว่า ตอนนั้นท่านใช้ฟิล์ม แล้วฟิล์มจะหมดม้วนก็เลยใส่ฟิล์มม้วนใหม่ กดไปได้ครั้งเดียวมั้ง ท่านคงลืม แล้วท่านก็ถ่ายภาพสมเด็จซึ่งสวยมาก เสร็จแล้วถ่ายเหลือครึ่งเดียว ท่านมาครอป โอ้โห..ภาพนั้นสวยมาก นี่คือพระอัจฉริยภาพโดยแท้เลย ผมยังบอกว่าท่านนี่ปรีชาจริงๆ แล้วสมัยก่อนนั้น ล้างฟิล์มเองขยายภาพเองที่ในวัง ตอนหลังที่ผมได้ไปเข้าเฝ้าแล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ประทับใจ
สิ่งที่ผมประทับใจท่านอีกอย่างหนึ่งก็คือ คราวหนึ่งที่ผมไปญี่ปุ่นแล้วได้ไปอ่านบทความหนึ่งเรื่องแฟลชว่าทำให้เสียสายตากับเด็กในระยะใกล้ ก็อยากถามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสักครั้งว่าท่านทราบเรื่องนี้ไหม พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่า “ฉันรู้มา 40 ปีแล้ว” ผมก็ถามท่านว่า “ใต้ฝ่าละอองฯ ทรงทราบได้อย่างไร” ท่านตรัสว่า “ตอนฉันถ่ายเจ้าฟ้าชายตอนเด็กๆ สะดุ้ง ฉันรู้เลยว่าแฟลชอันตราย” โดยที่ท่านไม่เคยรู้นะ แต่ท่านใช้พระปรีชาอันชาญฉลาดของท่านรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ดี อีกเรื่องที่ผมจำได้แม่นคือ ถ่ายภาพครั้งหนึ่ง 7 บาท คือตอนนั้น รับสั่งถามว่า “ชัตเตอร์ของคุณดังอย่างไร” ของอาจารย์พูนดังอย่างนี้ ของอาจารย์จิตต์ดังอย่างนี้ ทุกคนก็ดังไม่เหมือนกัน ก็ว่าของพระองค์ท่านดังอย่างไร ท่านก็รับสั่งว่า “ของฉันต้องฟังดีๆ ดังเช็ดเบิดๆ” เราก็ว่า คืออะไรไม่เข้าใจ ท่านก็ตรัสว่า “ฟังดีๆ สิ” “เจ็ดบาทๆ” คือทุกครั้งที่กด ชัตเตอร์เสียเงิน 7 บาท แต่ไม่ได้ห้ามทุกคนถ่ายภาพแต่ให้ทุกคนรู้ว่า หนึ่งครั้งที่กด ชัตเตอร์นั้นเป็นเงิน 7 บาท อันนี้ก็คือเศรษฐกิจพอเพียง มีหลายเรื่องที่ท่านรับสั่งแล้วประทับใจ ประทับใจทุกอย่าง และอยากจะพูดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นมีคำถามและมีคำตอบที่ดีเสมอ เป็นคำตอบที่ให้แง่คิดและเป็นสิริมงคลกับชีวิตผมมากเลย
เป็นผู้หนึ่งของผู้ชำนาญการเรื่อง Digital Image ที่มีไม่มากนัก ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการสรรค์สร้างภาพดิจิตอลในเมืองไทยเท่านั้นแต่ยังเป็นผู้หนึ่งที่มีฝีมือในการถ่ายภาพและสร้างสรรค์ภาพดิจิตอลในระดับนานาชาติอีกด้วย
ในหลวง เป็นจุดสูงสุดในชีวิตของพี่ เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์เป็นเหมือนผู้ให้…ผู้ให้ที่ปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถทำให้ประชาชนของพระองค์มีความสุขได้พระองค์ก็จะให้ และทรงเป็นแบบอย่างในชีวิตของพี่ เพราะว่าในด้านศิลปะ พระองค์ก็ทรงเป็นอัครศิลปินในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี ด้านศิลปกรรม ด้านถ่ายภาพ ด้านเกษตรกรรม แต่สำหรับพี่เกี่ยวข้องอยู่สองเรื่องคือ ด้านจิตรกรรมและด้าน Photo
สิ่งที่อยากจะทำเพื่อในหลวงเลยก็คือว่า…เราก็คงเกี่ยวข้องกับเรื่องหลักๆ ที่มีอยู่ คือเรื่องการถ่ายภาพ คือรับใช้สนองเบื้องพระยุคลบาท และอีกเรื่องคือ เรื่องอนุรักษ์ภาพเก่า พี่จะถนัดในเรื่อง Re-touch ตกแต่งภาพ ซึ่งบางทีเราเห็นภาพอะไรโบราณ หรือภาพในสมัยเก่าๆ ที่ชำรุดทรุดโทรม ก็จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเราจะถนัดตรงนี้ก็อยากจะทำ ถ้าในแง่เกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวนะครับ อันอื่นก็จะเป็นความคิดแบบมุมกว้าง คือช่วยเหลือผู้คน และเอาความรู้ของเราไปเผยแพร่ให้กับเด็กรุ่นใหม่หรือคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ คราวที่แล้วก็ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท คือเรื่องถ่ายรูป 60 ปี ที่เป็นภาพทางชลมารคและในงานพระราชพิธี เป็นหนึ่งในหลายๆ คน และอันที่สองก็คือ ได้ถ่ายภาพชุดในหลวง พระเจ้าอยู่หัวในดวงใจ ภาพเล่าเรื่องพระเจ้าอยู่หัวในดวงใจ ซึ่งต้องการที่จะบอกกล่าวกับคนประเทศนี้ว่า ความรู้สึกในใจที่เราไม่ค่อยได้ยินกัน ไม่ค่อยได้ฟังกันมานานแล้ว อยากจะถ่ายทอดว่า แค่รูปของพระองค์ก็มีแรงบันดาลใจให้กับชีวิตของผู้คน เป็นแนวคิด เป็นเครื่องเตือนจิต เพราะการที่แต่ละคนมีรูปพระองค์อยู่ในบ้านก็ได้แนวคิดเหล่านี้ไปโดยทางอ้อมและทางตรง
ถ้าในสายงานพี่ก็คงเป็นเรื่องทรงกล้อง เราจะเห็นประจำ ถ้าเป็นในโบราณอดีต ก็คือ ภาพหนึ่งที่พระองค์มีเหงื่อหรือเสโทหยด อันนี้ก็เป็นภาพที่เราจำได้เสมอ ที่ทรงงานแล้วมีเหงื่อหยด และโดยส่วนตัวพี่จะมีอีกภาพหนึ่ง คือ ภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีนครินทร์ยืนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นรูปจากปกหนังสือเก่า จะไม่ค่อยเห็นกันที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
พระราชดำรัสที่จดจำได้ขึ้นใจอันดับแรกคือ ความเพียรในเรื่องพระมหาชนก เพราะว่ามนุษย์เราจะสำเร็จได้ต้องมี ความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรทุกอย่างก็จะล้มเหลว
และอีกเรื่องคือเรื่องความพอดี พอดีก็คือว่า ใช้ชีวิตให้พอดีกับสิ่งที่ ตัวเองมีทุกด้าน พระองค์ทรงเป็นอัครศิลปิน เป็นที่สุดของบุคคลตัวอย่าง เพราะว่าจะเห็นว่าพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถเกือบทุกด้าน สมัยที่พระองค์ทรงพระเยาว์ เรื่องการถ่ายภาพควบคู่กับการกีฬา จะเห็นพระองค์ทรงได้รับรางวัลแข่งซีเกมส์ หรือเอเชี่ยนเกมส์ พี่จำไม่ได้ ท่านทรงเรือใบ จริงๆ พระองค์..ที่พี่คิดนะ..เหมือนเป็นปรัชญาที่สอนผู้คน ทำให้ทุกสายอาชีพมี Idol ของตัวเอง อย่างถ้าเราเป็นนักกีฬาก็มีพระองค์เป็นที่ตั้ง เราเป็นช่างภาพก็มีพระองค์เป็นที่ตั้ง ใครเล่นดนตรีก็มีพระองค์เป็นที่ตั้ง ด้านการเกษตรก็คือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ พระองค์ก็ทรงเรื่องของการเกษตรได้อย่างมีพระปรีชาสามารถที่สุด
คอลัมน์นิสต์และช่างภาพแนวสารคดีที่เคยผ่านงานมาแล้วทั้งเป็นโปรดิวเซอร์รายการสารคดีทางทีวีและงานถ่ายภาพนิตยสารอีกหลายๆ เล่ม ปัจจุบันเป็นนักเขียนและช่างภาพให้นิตยสาร Nature Explorer
สำหรับผม ในหลวงคือบุคคลที่ผมระลึกถึงเมื่อผมต้องประสบกับปัญหาต่างๆ นานา ว่าท่านเป็นบุคคลที่ทำงานหนักโดยไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคนานาที่จะทำให้ประชาชนของท่านพ้นจากความทุกข์ยาก เมื่อระลึกถึงท่านผมก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาภาระอะไรที่ผมจะต้องท้อถอยอีกแล้ว
ผมคิดว่าเมื่อใดที่ผมมีโอกาสทำอะไรเพื่อท่านผมก็จะทำอย่างเต็มความสามารถที่สุดโดยไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น
ความทรงจำเมื่อวัยเด็กเมื่อ 40 ปีก่อน เหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวในขณะนั้นผมจำอะไรไม่ได้ แต่ครั้งนั้นผมจำวันที่ผมได้เข้าเฝ้าท่าน ท่านเสด็จมาที่จังหวัดสุรินทร์ ผมกับน้องสาวและคุณยายไปรอเฝ้ารับท่านตั้งแต่ 8 โมงเช้า เพื่อให้ได้ที่ที่ดีที่สุดที่จะได้เข้าเฝ้าท่าน ผู้คนประชาชนไปรอรับท่านเนืองแน่นไปหมด ดอกไม้สดที่คุณยายเตรียมไปแต่เช้าก็เริ่มเหี่ยวเฉา ท่านเสด็จมาถึงตอนประมาณบ่าย 2 โมง ยายของผมออกจากแผงกั้นออกไป ก้มลงกราบท่าน ท่านก็ก้มพระวรกายลงมารับ ดอกไม้ที่เหี่ยวเฉาจากมือ ของหญิงชราผู้เป็นยายของผม เป็นภาพที่ผมจำได้ในวัยเด็กที่ไม่เคยลืมเลือน
พระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ผมจำได้ขึ้นใจคือ ท่านตรัสให้เป็น ผู้ใช้จ่ายอย่างพอเพียง และผมก็นำมาปฏิบัติกับครอบครัว ทำให้เรามีความสุขกันมากขึ้น พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านที่ผมประทับใจคือ ท่านเป็นนักพัฒนา นักคิดค้นที่ไม่หยุดนิ่ง ท่านทำน้ำมันราคาถูกให้เราได้ใช้ ทำฝนเทียม ทำโครงการเก็บกักน้ำ ซึ่งแต่ละอย่างก็ล้วนแล้วแต่เพื่อประชาชนของพระองค์ท่าน
-วิทยาศาสตร์บัณฑิต เคมีเกียรตินิยม มหาวิทยาลัยมหิดล เกษตรธรรมชาติประยุกต์
-บริษัท สุวัฒน์ กรีนโปรดักส์ จำกัด ผู้คิดค้นฮอร์โมนไข่เร่งดอก, ฮอร์โมนไข่เพื่อสุขภาพ
-ก่อตั้งโรงเรียนชาวนาศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย, โรงเรียนชาวนาสวนส้มพวงฉัตร อ.เมือง จ.ชัยนาท และ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
-ริเริ่มโครงการ วิจัยการปลูกข้าว “ใส่ปุ๋ยครั้งเดียวรอเกี่ยวร้อยถัง”
-วิทยากรรับเชิญบรรยายปรับแนวคิดในการดำรงชีวิตตามหลัก เศรษฐกิจพอเพียง
-ผู้ดำเนินรายการ “เพื่อนเกษตร” สถานีวิทยุกรมอุตุนิยมวิทยา บางนา คลื่น เอเอ็ม 1287 กิโลเฮิร์ซ
ประเทศไทยเราเป็นประเทศทำการเกษตร ผมได้ฟังเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคิดทำเรื่องฝนหลวงมาตั้งแต่ผมเพิ่งเกิดได้ไม่กี่ปี ช่วงประมาณปี 2490 ขณะที่ท่านเสด็จไปทางภาคอีสาน ก็เห็นเมฆผ่านไปแต่ไม่มีฝน ท่านก็คิดว่าทำอย่างไรให้เมฆเปลี่ยนเป็นฝนเพื่อให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรมีน้ำใช้ประกอบอาชีพ เพราะเรื่องของการมีชีวิตโดยเฉพาะในประเทศเราที่เป็นประเทศเกษตรกรรม ถ้าขาดน้ำอย่างเดียวทุกอย่างจบหมด เพราะฉะนั้นพระองค์ก็ทรงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เมฆแวะที่บ้านเรา และกลายเป็นฝน ท่านก็ศึกษามา ที่ผมประทับใจก็คือว่า จนถึงวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่าฝนตกได้อย่างไร มีคนกี่คนที่รู้ว่า เมฆลอยมาแบบไหนแล้วฝนจะตก แบบไหนจะไม่ตก แต่พระองค์ทรงสร้างบรรยากาศเพื่อให้เมฆเปลี่ยนเป็นฝน นี่ถือว่าเป็นพระอัจฉริยภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ผมว่าไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยนะ ทั่วโลกเลย เปลี่ยนเมฆมาเป็นฝนนี่ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะทำได้ง่ายนะ พูดกันง่ายๆ อย่างที่พระองค์ท่านเคยพูดว่า บางทีท่านก็ส่งนางเมฆขลาไปคุยกับรามอสูร แปลว่าศาสตร์นี้ลึกล้ำมาก ในฐานะที่ผมเรียนมาทางเคมี นี่เป็นความอัศจรรย์มาก ประทับใจมาก และก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อพสกนิกรที่มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร จะเห็นว่าปัญหาภัยแล้งนี่เราแก้ด้วยฝนหลวงมาตลอดเลย
ในหลวงน่าจะเป็นจิตวิญญาณของการเกษตรเลยก็ได้ เป็นสัญลักษณ์ของการเกษตรกรรมเลย จะเห็นว่าเวลาพระองค์ท่านเสด็จไปที่ไหนจะเน้นเรื่องการเกษตร แม้กระทั่งวันที่ 4 ปีที่แล้ว ที่ท่านบอกว่า ‘ที่ไหนมีน้ำให้ปลูกข้าว’ แสดงว่าท่านรู้อนาคตว่าต่อไปข้าวจะแพงกว่าทองคำ ท่านเคยพูดว่า ‘ถึงจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีน้ำมันใช้ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีข้าวเราอยู่ไม่ได้’
ปัญหาที่เราเข้าไปสัมผัสกับเกษตรกรก็คือว่า ทำไมแม้แต่ในที่ที่มีการบริหารจัดการเรื่องน้ำในเขตชลประทานมันน่าจะมีความพร้อมมูล แต่ทำไม พี่น้องเกษตรกรที่ทำนากลับยากจน ก็เลยต้องเข้าไปดู ช่วยแก้ปัญหาว่า ในแหล่งที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ทำอย่างไรเขาถึงจะไม่มีหนี้ นี่คือสิ่งที่ตั้งใจจะทำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และก็ตั้งใจทำมาหลายปีแล้วด้วย เพราะเห็นพระองค์ท่านทรงลำบากพระวรกายมาก ภาพที่ผมประทับใจมาก คือไม่ได้ไปว่าเขานะ แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เวลาไปตรวจงาน เหมือนพระองค์ท่านไหม พกกล้องไป สมุด แผนที่ วิทยุ จดบันทึกรายละเอียด คือท่านได้ศึกษาถึงข้อมูลในพื้นที่จริงๆ แต่พวกข้าราชการที่สนองพระเดชพระคุณส่วนใหญ่ ข้าราชการ ซึ่งก็คือข้าของในหลวงกลับไปแบบน้ำหอมหอมฉึ่ง มันคนละแบบกันเลย หลายเรื่องที่เราฟังแล้วก็ทำตามและเจริญรอยตามพระองค์คือ เข้าไปแก้ปัญหาในพื้นที่จริงๆ ไม่ใช่แค่มานั่งประชุมกันในกระทรวง
อย่างเศรษฐกิจพอเพียงนี่หลักการของท่านก็คือว่า จะทำอย่างไรเพื่อบริหารปัจจัยที่เรามีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เวลาเราไปลงพื้นที่จะดูว่าเขามีอะไรและจัดการใช้ตรงนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อพวกเขาได้อย่างไร ทำให้สามารถลดต้นทุนได้ และเขาก็จะมีโอกาสเห็นแสงสว่างในการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีหนี้ ไม่มีหนี้ก็เป็นความสุขแล้ว มีกินมีอยู่ก็มีความสุขแล้ว ไม่ต้องรวย เขาเรียกว่าพอเพียง เราก็ทำงานสนองพระคุณท่านในฐานะเราอยู่ในผืนแผ่นดินไทย
เหตุการณ์อะไรที่มันจะเกิดขึ้นกระทบต่อพสกนิกรส่วนใหญ่ของประเทศ ท่านจะมาระงับเหตุนั้นเสมอ ทำให้เราพ้นจากภัยพิบัติ แม้แต่เหตุการณ์ที่กำลังรบกระทบกัน ทุกวันนี้ทุกคนก็รู้ว่าไม่ใช่เพียงภัยธรรมชาติอย่างเดียว แต่เป็นภัยอีกภัยหนึ่งคือ สงครามแย่งชิงทรัพยากรหรือเราเรียกว่าสงครามเศรษฐกิจ มีการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยมากในประเทศที่มีเงินเยอะ ก็มาเบียดเบียนประเทศที่ยากจน สุดท้ายความเดือดร้อนก็เกิดขึ้น ท่านก็บอกว่า เราไม่ต้องไปสู้รบกับเขาหรอก เราไม่ต้องเป็นเสือหรอก เราอยู่อย่างพอเพียงของเราก็จะไม่เดือดร้อน เราเป็นคนไทยเราก็ต้องอ่านให้ออกว่าพระองค์ท่านทำเป็นตัวอย่าง เป็นแบบฉบับของความดีที่ควรเดินตาม ไม่ใช่พ่ออย่างเดียว แต่เป็นตัวอย่างที่พวกเราควรจะเดินตามว่าพระองค์ท่านใช้ชีวิตแบบไหน ก็เราควรจะรู้ว่าทรัพยากรเป็นของหามายาก และมีวันสิ้นเปลืองไป ทำอย่างไรที่จะใช้ให้คุ้มค่าที่สุด
คำว่า ‘ในหลวง’ ที่เราใช้กันทุกวันนี้มาจากคำดั้งเดิมว่า ‘นายหลวง’ เป็นคำโบราณ คนไทยเมื่อก่อนอย่างชาวนาจะเรียกพระเจ้าแผ่นดินก็เรียกไม่เป็น จะเรียกพระมหากษัตริย์ก็เรียกไม่ถูก อะไรที่เป็นราชาศัพท์ ก็เรียกว่า ‘นายๆ’ ‘นายหลวง’ คือ ‘หลวง’ คืออะไรที่เกี่ยวกับราชการ คือ ‘นายหลวง’ จึงกลายเป็นกษัตริย์ผู้คุ้มครองประชาชนทั้งหลาย เพราะคนสมัยโบราณจะบอกว่า กษัตริย์เปรียบเสมือนตัวแทนเทวดาจากสวรรค์ส่งมาเพื่อปกครอง ฉะนั้นคนโบราณจะถือว่า ‘นายหลวง’ หรือ ‘ในหลวง’ คือผู้มาคุ้มครองดูแลรักษา ในประเทศจีนเองก็ยังให้ความรู้สึกนั้นว่า กษัตริย์เป็นตัวแทนสวรรค์โดยมาในรูปของมังกร มาเพื่อปกป้อง มาเพื่อความผาสุกของประชาชน
พอมาถึงความหมายของ ‘ในหลวง’ ที่แท้จริงของเรานี่คือ กษัตริย์ที่จะคุ้มครองประชาชนให้มีความเจริญรุ่งเรืองให้มีความสงบสุขมีทศพิธราชธรรม 10 ประการ ท่านก็ทรงมีทศพิธราชธรรมสมบูรณ์มาก ไม่ว่าจะเรื่องของการทำทาน การประพฤติศีล ท่านก็อยู่ในศีลที่บริสุทธิ์มาก ภาวนา ท่านก็ปฏิบัติธรรมศึกษาพระธรรม ในเรื่องของขันติ ท่านก็มีความอดทนอดกลั้น อดทนต่อปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งอดทนต่อสภาพร่างกายของพระองค์ท่านเอง ที่ไม่ว่าท่านจะเหนื่อยยากแค่ไหนสถานที่จะต้องตรากตรำท่านก็ไปเพื่อให้ประชาชนมีความสุข ท่านมีวิริยะลาภะคือมีความพากเพียรสูงมาก ท่านมีปัทสทิคือความผ่อนคลาย ท่านรู้จักว่าเมื่อไหร่ทำอะไรแล้วท่านจะปล่อยวางได้บ้าง แต่ที่เห็นพระองค์ทำอยู่ตลอดเวลา แล้วมีองค์คุณธรรมอยู่ข้อหนึ่งที่พระองค์ใช้มาตลอดและไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือคำว่า ‘ความเพียร หลักพุทธศาสนาที่พระองค์ใช้ก็คือปะทานะ 4 คือ ความเพียร 4 ประการ คือ สิ่งที่ไม่ดีท่านไม่ทำเลย สิ่งที่ไม่ดีที่ยังไม่เกิดท่านก็ป้องกัน สอนให้ประชาชนอย่าทำ และสิ่งที่เป็นความเพียรที่ดีที่ยังไม่เกิดขึ้น ท่านก็สอนให้ประชาชนหมั่นสร้างมันขึ้นมา และความเพียรที่ดีอยู่แล้วท่านก็ให้เรารักษาไว้ นี่คือตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งท่านก็ปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาเพราะท่านก็เป็นศาสนิกชนด้วย แต่ว่าท่านไม่เคยเบียดเบียนหรือแบ่งแยกศาสนาอื่นเลย ศาสนาคริสต์หรืออิสลามเข้ามาพระองค์ท่านก็ทรงต้อนรับ ท่านให้ความเอาใจใส่และส่งเสริม ท่านก็ทรงได้เข้าร่วมในพิธีกรรมต่างๆ โดยไม่ได้เห็นเป็นเรื่องเหลวไหล
สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจที่พระองค์ท่านบอกว่า ประเพณีเป็นรากเหง้า มันเป็นแกนของวิถีชีวิต เพราะฉะนั้นประเพณีที่ดีก็รักษาไว้ เพราะถ้าประเทศใดไม่มีประเพณี มันก็เหมือนประเทศนั้นไม่มีโครงกระดูกสันหลัง ประเทศนั้นไม่สามารถจะรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ไม่สามารถมีตำนานของตัวเอง และไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองจะเป็นใคร ท่านจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้
พระราชดำรัสของท่านทุกประโยคที่ท่านพูดออกมา มันล้วนเป็นความซาบซึ้งใจ สิ่งที่ผมเห็นว่าพระองค์ท่านให้เราไว้ก็คือว่า ท่านบอกว่า การสร้างความดีต้องทำตลอดเวลา ความชั่วแม้เพียงนิดก็ไม่พึงจะทำ สิ่งที่พระองค์ท่านพูดไว้แล้วเราน่าจะไปคิดก็คือ ท่านบอกว่า ‘ความดีเหมือนน้ำใสที่เราต้องใส่ถ้วยไว้ ใส่ไปเรื่อยๆ ให้ถ้วยมันเต็ม เพื่อเติมจิตใจเราให้เต็ม แต่ความชั่วแม้เพียงนิดเดียว เปรียบเสมือนหยดสีเพียงนิดเดียวที่หยดลงไปปุ๊บ ถ้วยน้ำใสก็เสียเลย’ ตรงนี้นี่คนไทยเราต้องคิด ไม่ใช่คิดแต่ว่าความดีทำเมื่อไหร่ก็ได้ บางคนโกงชาติมาตลอดและหวังว่าทำความดีทีเดียวแล้วคนจะยกย่อง สังคมไทยเราเป็น การจะเอาคนมาปกครอง คงไม่สามารถเอาคนดีมาให้ทั้งหมด เพราะมันก็เหมือนถ้วยน้ำคือมันผสมกัน แต่อย่างน้อยก็ขอให้ถ้วยมันใสหน่อยละกัน แต่ว่าทุกวันนี้ก็ยังมีคนเลวๆ เยอะ ประเทศพระองค์ท่านเป็นเหมือนพระโพธิสิ่งที่พระองค์พูดเป็นสัจธรรม
ถ้าในความประทับใจเป็นครั้งแรกก็คือ พระอัจฉริยภาพในด้านดนตรี แต่พอผมผ่านกาลเวลามาจนถึงทุกวันนี้ผมบอกได้ว่าพระองค์ท่านมีพระอัจฉริยภาพในทุกด้าน แต่ผมมองว่าอัจฉริยภาพของท่านไม่ได้เกิดจากการที่ท่านเป็นอัจฉริยะบุคคลอย่างเดียว แต่สิ่งที่ท่านมีเหนือกว่าการเป็นอัจฉริยะบุคคลของท่านคือความใฝ่รู้ หรือผมก็จะใช้คำว่าความเพียรอีกนั่นแหละ คือพระองค์ท่านอยากจะทรงทราบในสิ่งใด ก็จะทรงศึกษาอย่างลึกซึ้งลงไป แต่อะไรเป็นเหตุให้ท่านต้องใฝ่รู้อย่างนั้น ความทุกข์ของพระองค์ที่ทำให้ท่านต้องใฝ่รู้ ท่านทุกข์เพราะอะไร เพราะประชาชนเดือดร้อน ท่านจึงต้องค้นหาวิธีอะไรก็ได้ที่ทำให้ประชาชนของพระองค์พ้นทุกข์ จากสิ่งนี้เองที่ทำให้พระองค์ต้องมีความพากเพียร จากความพากเพียรนี้ทำให้พระองค์ทรงเป็นผู้มีอัจฉริภาพในด้านต่างๆ ผมก็เลยไม่รู้จะบอกว่าอัจฉริภาพของพระองค์คืออะไร แต่จะบอกว่าพระองค์ทรงเป็นอัจฉริยะที่มีความเพียรอย่างยิ่งยวดผสมอยู่ เพราะฉะนั้นพระองค์จะทำอะไรก็ได้ในโลก แม้กระทั่งกีฬาซึ่งพระองค์ก็พิสูจน์แล้วว่าท่านเป็นยอดนักกีฬา ท่านเป็นนักประพันธ์ เป็นยอดศิลปิน เหมือนกับเพลงที่บอกว่าท่านเป็นอัครศิลปิน นั่นถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนเลย
ถามว่าในหลวงมีความหมายอย่างไรสำหรับผม คำถามนี้ยากพอๆ กับถามว่า ดวงอาทิตย์สว่างเพียงไร แม้เราจะเห็นดวงอาทิตย์ทุกวัน เราก็อธิบายไม่ได้ว่าสว่างแค่ไหน ไม่รู้จะเทียบกับอะไร รู้เพียงแต่ว่า ไม่เคยเห็นแสงอะไรที่สว่างเท่านี้
สิ่งที่อยากทำเพื่อในหลวงคือ อยากทำให้คนไทยมีสติปัญญา หิริโอตตัปปะ และสามัญสำนึก สูงเท่าเทียมกันในระดับที่รู้เรื่องใดควร เรื่องใดมิควร
ภาพในหลวงในอิริยาบถที่จดจำได้ไม่มีวันลืมมีหลายภาพครับ แต่ที่ในใจนึกออกตอนนี้และอธิบายได้ง่ายมีสองภาพ คือภาพในมุมใกล้ขณะทรงงานและมีพระเสโทหยดหนึ่งอยู่ที่ปลายพระนาสิก กับภาพที่ทรงประทับนั่งราบกับพื้นสะพานไม้ข้ามคลองเก่าๆ โดยที่พระปฤษฎางค์พิงอยู่กับรถพระที่นั่งจี๊ป ทรงงานแผนที่อยู่และกำลังมีพระราชปฏิสันถารกับชาวบ้านไปพร้อมกัน
พระราชดำรัสของในหลวงที่จดจำขึ้นใจคือ พอเพียงนั้น มีของหรูหราก็ได้
พระอัจฉริยภาพของในหลวงที่ประทับใจ ผมไม่สามารถเลือกด้านใดด้านหนึ่ง แต่ที่ทำให้ผมและคนไทยทั้งมวลซาบซึ้งประทับใจ น่าจะเป็นพระเมตตาเป็นเบื้องต้นที่สุด พระอัจฉริยภาพในการแผ่พระเมตตาถึงคนไทยอย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ที่สุด
เนื้อเพลง รูปที่มีทุกบ้าน
ร้องโดย เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์
แต่งโดย นิติพงษ์ ห่อนาค
เนื่องในวโรกาสปีมหามงคลปีที่ 80
ของพระชนมายุในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ตั้งแต่เล็กยังเคยได้ถามแม่ว่า บนข้างฝาบ้านเรานั้นติดรูปใคร
ที่แม่คอยบูชาประจำก่อนนอนทุกคืนจะต้องไหว้
แม่ตอบว่าให้กราบรูปนั้นทุกวัน ท่านเป็นเทวดาที่มีลมหายใจ
ที่เรายังพอมีกินอย่างวันนี้ ท่านดูแลคนไทยมานานเหลือเกิน ให้จำไว้
เป็นรูปที่มีทุกบ้าน จะรวยหรือจนหรือว่าจะใกล้ไกล
เป็นรูปที่มีทุกบ้าน ด้วยความรัก ด้วยภักดี ด้วยจิตใจ
เติบโตมากี่สิบปีที่ผ่าน ภาพที่เห็นคือท่านทำงานทุกวัน
เมื่อไรเราทำอะไรที่เกิดท้อ แค่มองดูรูปบนข้างฝาจะได้กำลังใจ จากรูปนั้น
เป็นรูปที่มีทุกบ้าน จะรวยหรือจนหรือว่าจะใกล้ไกล
เป็นรูปที่มีทุกบ้าน ด้วยความรัก ด้วยภักดี ด้วยจิตใจ
จะขอตามรอยของพ่อ ท่องคำว่าเพียงและพอจากหัวใจ
เป็นลูกที่ดีของพ่อ ด้วยความรัก ด้วยภักดี
จะขอตามรอยของพ่อ ท่องคำว่าเพียงและพอจากหัวใจ
เป็นลูกที่ดีของพ่อ ด้วยความรัก ด้วยภักดี
จะขอตามรอยของพ่อ ท่องคำว่าเพียงและพอจากหัวใจ
เป็นลูกที่ดีของพ่อ ด้วยความรัก ด้วยภักดี ด้วยความรัก ด้วยภักดี ตลอดไป
ในหลวงท่าน คือจุดศูนย์รวมของคนไทยทั้งชาติ คือ คนไทยทั้งแผ่นดินต่างตระหนักและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้พระราชทานให้กับพสกนิกรทั้งแผ่นดิน ทั้งในทางตรงผ่านทางพระราชกรณียกิจนานับประการ และในทางอ้อมผ่านทางพระราชจริยวัตรอันงดงาม เรียบง่าย อย่างพอเพียง ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานให้กับคนไทยล้วนแล้วแต่ทรงแสดงให้เห็นถึงวิถีการใช้ชีวิตแบบไทย โดยยึดหลักความพอเพียงเป็นสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันคนไทยล้วนให้ความสำคัญกับวัตถุมากเกินไป จนมองข้ามความพอเพียงในการใช้ชีวิตที่แท้จริง หากเราพิจารณาให้ดีถึงจุดนี้ ก็จะยิ่งเห็นถึงความสำคัญในแนวทางที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ และยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า “ในหลวง” ทรงมีความสำคัญต่อคนไทยมากเพียงไร
สิ่งที่เราอยากทำเพื่อในหลวงมากที่สุด คือ อยากแสดงให้ท่านได้เห็นว่าเราคนไทยสมัครสมานสามัคคีกัน รักประเทศชาติ รักแผ่นดินถิ่นกำเนิด และจงรักภักดี ศรัทธาในพระองค์ท่านมากเพียงไร เพราะพวกเราตระหนักดีถึงน้ำพระทัยอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ที่ทรงมอบให้แก่คนไทยทุกคน ดุจเดียวกับที่พ่อทำทุกสิ่งก็เพื่อความสุขของลูก ดังนั้น ความสามัคคีของลูกทุกคนในชาติ ก็คือสิ่งที่ตอบแทนพระคุณที่พ่อ มอบให้ต่อลูกนั่นเอง
หนึ่งในภาพที่คนไทยรักที่สุด อันได้แก่ ภาพพระองค์ท่านทรงงานอย่างหนักจนพระเสโทไหลอาบพระปรางค์และพระหนุของพระองค์ ซึ่งภาพนี้ได้มอบแรงบันดาลใจและกำลังใจอันยิ่งใหญ่ให้กับคนไทยทุกคน ให้ต่อสู้กับชีวิต อย่าได้ย่อท้อแม้จะต้องประสบกับความยากลำบาก ก็ขอให้ใช้ความเพียรและสติปัญญานำพาตนไปสู่จุดหมายให้จงได้ อีกทั้งเหตุผลที่เรียบง่ายกว่านั้น ที่ใครหลายๆ คนใช้สร้างกำลังใจให้แก่ตนนั่นคือ ท่านเป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่ก็ยังทรงกระทำพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เอง แล้วเราผู้ได้ชื่อเป็นพสกนิกรใต้พระบรมโพธิสมภารในพระองค์เล่า ทำไมจะไม่ประพฤติตนด้วยความเพียร เฉกเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติเป็นเยี่ยงอย่างแก่เรา
“เราหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่า บ้าเลือด เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมุติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง”
นี่เป็นพระราชดำรัสที่พระองค์ใช้เตือนสติคนในชาติ ให้รู้รักสามัคคีกัน อย่ามองเพียงเหตุผลในมุมของตนเพียงฝ่ายเดียว แต่ให้มองประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง เพราะชาติมิได้เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด หากแต่เป็นของพวกเราทุกคน ถ้าคนในชาติไม่รักกันสามัคคีกัน เอาแต่ทะเลาะเบาะแว้งเลือกที่รักมักที่ชัง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ประเทศชาติก็จะถึงคราวล่มสลาย ไม่มีอะไรเหลือไว้ให้แก่ผู้ใด จะมีก็แต่เพียงเศษซากปรักหักพังที่มิได้ก่อประโยชน์อันใดต่อใครได้ ในทางกลับกัน ถ้าชนในชาติมีแต่ความสามัคคี รักใคร่ปรองดอง ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน ชาติก็จะเป็นปึกแผ่นมั่นคง และจะวัฒนาสถาพรต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งก็คือ สุดยอดปรารถนาของเราทุกคน
พระอัจฉริยภาพทางด้านการถ่ายภาพคือ สิ่งที่ผมประทับใจหากเรามองเพียงผิวเผินก็จะเห็นได้ว่าการถ่ายภาพเป็นการทำกิจกรรมตามความต้องการเพียงส่วนตน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของเราได้ทรงแสดงให้เห็นว่า งานอดิเรกส่วนพระองค์นั้นกลับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศของเราตลอดมา ดังที่เราได้เห็นจนเจนตากับภาพพระองค์ทรงกล้องถ่ายภาพเอาไว้ที่พระศอไม่เคยขาด ควบคู่ไปกับแผนที่และสมุดบันทึกส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้อุปกรณ์ธรรมดา มาเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยเหล่าพสกนิกรของพระองค์ให้พ้นทุกข์จากความแร้นแค้นทุรกันดาร จากภัยธรรมชาติ หลายต่อหลายครั้งที่เราได้เห็นพระองค์ทรงใช้ภาพถ่ายที่พระองค์ทรงถ่ายด้วยพระองค์เองมาประกอบกับข้อมูลที่พระองค์ทรงซักถามจากประชาชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดถูกต้อง สมดั่งที่ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสต่อช่างภาพส่วนพระองค์ ความว่า “การถ่ายภาพนั้น นำมาซึ่งความสุขของผู้ถ่ายภาพ หากถ้าเราได้แบ่งปันความสุขนี้สู่ผู้อื่นด้วยการถ่ายภาพเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อผู้อื่นได้แล้ว ก็จะเป็นความสุขสู่ผู้ถ่ายภาพมากกว่าเป็นเท่าทวี”