บทความเทิดพระเกียรติ

แสงแห่งศรัทธา หนึ่งภาพพระราชาในดวงใจ

หากภาพๆ หนึ่งสามารถบอกเรื่องราวได้มากกว่าคำพูดพันคำ ภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงงานต่างๆ คงจะบอกเรื่องราวได้นับหมื่น นับแสนคำ เพราะพระราชกรณียกิจของพระองค์ล้วนแต่ทำเพื่อพสกนิกรและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ

ภาพๆ หนึ่งจากช่างภาพทั้ง 6 ท่าน ต่อไปนี้ บันทึกมาจากความตั้งใจและความจงรักภักดี และทุกภาพล้วนมีความทรงจำที่ยังติดตรึงใจของช่างภาพมิรู้คลาย เชื่อว่าช่างภาพทุกท่าน เมื่อมีโอกาสได้บันทึกภาพ พระราชาของเรา เขาจะตั้งใจอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุดเท่าที่มีโอกาส และภาพๆ นั้นคือสิ่งล้ำค่าในชีวิตการเป็นช่างภาพ

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ


1

พระผู้สถิตย์ในใจนักถ่ายภาพ

จากการที่ในหลวงทรงกล้องตั้งแต่ยังทรงเป็นพระอนุชา ทรงตามฉายพระเชษฐาคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อนันทมหิดล ตลอดมานั้น ผมในฐานะพสกนิกรเมื่อยังเด็กได้พบเห็นภาพจากหนังสือ จากทีวี ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผมที่อยากเป็นคนถ่ายภาพ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท อยากบันทึกภาพที่พบเห็นเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพราะเป็นเครื่องมือที่สามารถ “หยุดกาลเวลา” เอาไว้ได้ด้วยเศษเสี้ยวของวินาที

ในหลวงของพวกเรานั้น ทรงมีพระราชหฤทัยปรารถนาที่จะทรงบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ด้วยกล้องถ่ายภาพคู่พระทัยเสมอ เคยทรงอธิบายถึงเรื่องนี้ปรากฏในบทความของ JOHN STANTON แห่งนิตยสารชื่อดัง LIFE ไว้ว่า

คนทั่วๆ ไปยังเข้าใจผิดอยู่ในกรณีกษัตริย์จะทรงมาเป็นช่างถ่ายภาพสมัครเล่น…ในหลวงท่านทรงมีเทคนิคพิเศษต่างๆ ที่จะได้ภาพอย่างงดงามเสมอ

จากการรวบรวมบทความต่างๆ ทั้งนิตยสารรายเดือน ทั้งในหนังสือพิมพ์รายวัน เกี่ยวกับการทรงกล้องของในหลวงนั้นมีมากมายที่ให้ทั้งความรู้ แนวคิด ศิลปะ อารมณ์ขัน อ่านคราใดก็ทำให้ชุ่มชื่นใจมิรู้ลืมเลย นับเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของการเป็นคนถ่ายภาพ

ภาพแห่งความประทับใจที่ผมได้เริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพจากตัวเองเมื่อวัยเด็กมัธยมนั้นคือความชอบ ต่อมาเมื่อเรียนจบเป็นคนทำงานได้สนใจใฝ่รู้มากขึ้น นายฝรั่งที่ผมทำงานด้วยจึงส่งเข้าเรียนการถ่ายภาพครบทุกขบวนการที่บริษัท โกดัก ฟาร์อีส เมื่อ พ.ศ. 2512

จากนั้นมาชีวิตแห่งการถ่ายภาพก็โลดแล่นโจนทะยานที่ใฝ่ฝันอยากถ่ายภาพให้ได้ดีตลอดเวลา เข้าอบรมหาความรู้อย่างไม่กลัวเหนื่อย ใครเก่ง ใครดี ใครสอนไปหา เช่น อ.เชาว์ จงมั่นคง, อ.จิตต์ จงมั่นคง, อ.พูน เกษจำรัส, อ.ไพบูลย์ มุสิกโปดก ฯลฯ

สิ่งหนึ่งที่ผมจะพยายามก็คือการได้คอยเฝ้าการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงที่วัดพระแก้ว เพื่อปรารถนาที่จะถ่ายภาพในหลวงเอาไว้ในใจด้วยฝีมือตัวเอง หลายครั้งที่ถ่ายไม่ค่อยได้เพราะไปล่าช้า คนมาก จะได้อยู่ใกล้ๆ ด้านหน้าหรือแถวหลังสัก 2-3 แถวก็ยังดีเพื่อได้ภาพที่เหมาะสมกล้องและเลนส์ที่มีอยู่ขณะนั้น

ต่อมาคือเปลี่ยนจากกล้องเลนส์เดี่ยว SINGLE LENS REFLEX (SLR)  มาเป็นกล้อง TWIN LENS REFLEX (TLR) เพราะยกสูงได้ เอียงหรือตะแคงได้ เป็นความพยายามอย่างหนึ่งเท่าที่จะทำได้

ภาพถ่ายภาพนี้เป็นหนึ่งในจำนวน 12 ภาพที่ผมถูกใจมาก ชอบมาก เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเทพฯ ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ เสด็จพระราชดำเนินอย่างพร้อมกัน ผมใช้กล้องโรลไลเฟล็กซ์ทวินเลนส์ ฟิล์ม 120 ที่มีขนาด 6×6 ซ.ม. ASA (ISO) 100 วันนั้นไม่มีแสงแดด เวลาสักบ่าย 4 โมงเย็น ใช้ช่องรับแสงกว้างด้วยเอฟ 5.6 ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที

ภาพที่ผมพยายามที่จะจัดองค์ประกอบให้สมบูรณ์ด้วยการเห็นปราสาทด้านซ้ายมีสมดุลกับเจดีย์ด้านขวาฝูงชน ช่างภาพที่รายล้อมและมหาดเล็กรักษาพระองค์ที่เรียงแถวเป็นเรื่องราวบอกเล่าจากภาพได้อย่างดี ลำดับสูงต่ำลาดของขั้นบันไดเสริมให้ภาพมีความหมายในเชิงศิลปะเข้าสู่มุมภาพได้อย่างพอดี

ผมจำได้ว่าวันที่ 3 ของเดือนสำคัญที่มีการเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีสำคัญทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยพระบรมมหาราชวัง

ผมเฝ้ารอตั้งแต่บ่าย 2 โมง แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้อยู่ด้านหน้าเพราะบางท่านมาจับจองกันตั้งแต่เที่ยงวัน นี่คือความรัก ความศรัทธาที่ประชาชนมีให้กับในหลวงของเราอย่างแท้จริง

12 ภาพที่เลือกถ่ายอย่างตั้งใจตามลำดับจนหมดม้วน รุ่งขึ้นไปล้างฟิล์มที่โกดัก สั่งขยายภาพขนาด 3 1/2 x3 1/2 นิ้ว ตามแบบฉบับดั้งเดิมของโกดัก ราคาภาพละ 5.50 บาท ราคาในสมัยนั้น พ.ศ. 2520 นับว่าแพงทีเดียว เพราะข้าวแกงจานละ 3 บาทเท่านั้น

ภาพชุดนี้เก็บไว้อย่างดีพร้อมฟิล์ม เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของชีวิตคนถ่ายภาพเล็กๆ เช่นผม ที่มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดชั่วของชีวิตนี้

ภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2520 โดยนายสงคราม โพธิ์วิไล

ขอพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม
ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยความจงรักภักดีอย่างที่สุด
นายสงคราม  โพธิ์วิไล


1

ครั้งหนึ่งในชีวิตของผู้ที่หลงใหลการถ่ายภาพ ผมเชื่อว่าต้องการที่จะถ่ายภาพ “พระเจ้าอยู่หัว” ด้วยกล้องของตนเองและด้วยการลั่นชัตเตอร์เองสักครั้ง

ผมเองมีโอกาสที่จะได้ถ่ายภาพ พระองค์ท่านเพียง 3-4 ครั้ง ตั้งแต่ผันตัวเองมาทำงานด้านการถ่ายภาพโดยเป็นฟรีแลนซ์ในระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ทำงานด้านถ่ายภาพ

สำหรับภาพนี้ ผมเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพในงานสวนสนามครั้งนี้ เนื่องจากไม่ใช่สื่อมวลชน  เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ความพยายามมากหน่อยในการที่จะถ่ายภาพให้ได้ โดยผมเองไปชมงานสวนสนามมา 2 ปีและก็ดูแล้วว่ามุมที่ดีที่สุดอยู่ตรงบริเวณด้านข้างสวนอัมพรบริเวณด้านแยก จปร.จะเป็นจุดที่ถ่ายภาพดีที่สุด

แต่ก็อีกครับเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงทำให้การถ่ายภาพค่อนข้างลำบากเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลซึ่งมีหน้าที่ถวายความปลอดภัยนั้นจะเข้มงวดมากสำหรับกล้องที่ไม่ตรวจคือไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพได้

วันนั้นผมเดินทางไปถึงช่วงเวลาประมาณ 15.00 น.และขบวนสวนสนามเริ่มเข้าสู่บริเวณพิธีลานพระรูปทรงม้า ผมเดินถ่ายภาพอยู่ด้านนอกจนถึงเวลาประมาณ 17.40 น. ซึ่งเป็นเวลาใกล้เสด็จแล้วผมจึงไปหามุมเพื่อจะทำการถ่ายภาพ และก็ได้ภาพมาดังที่เห็นครับ

อุปกรณ์ที่เตรียมไปสำหรับถ่ายภาพคือ บันไดขนาดเล็ก โมโนพ็อด กล้อง NIKON D100 เลนส์ 300 mm. f/4 ถ่ายเมื่อ 2 ธ.ค. 2549
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
นาย สุรัตน์  ประสงค์พงษ์ชัย


1

กับความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตของการเป็นช่างภาพงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของสำนักพระราชวัง และเป็นช่างภาพถ่ายภาพงานสำคัญของประเทศและระดับชาติมาโดยตลอด เช่น ช่างภาพ ประชุมธนาคารโลก ปี 1991, ช่างภาพบันทึกภาพผู้นำเอเปค 2003, รวมถึงได้รับเกียรติเป็นคณะทำงานบันทึกภาพเหตุการณ์งานพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปี 2539 และช่างภาพบันทึกภาพ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ปี 2551 ของสำนักพระราชวัง, ช่างภาพและหัวหน้าคณะทำงานบันทึกภาพงาน ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 2539, จัดทำหนังสืองานสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของกองบัญชาการทหารสูงสุด ปี2539, และเกียรติสูงสุดในชีวิตการถ่ายภาพ คือได้รับเกียรติจากสำนักพระราชวังให้เป็น ช่างภาพถวายงานถ่ายภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี  สำนักพระราชวัง ตั้งแต่วันที่ 8, 9, 10, 12, 13, 14 ประจำปี 2549 ที่ผ่านมา

ในวันที่ 10 มิถุนายน 2539 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ในการพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่สำนักพระราชวัง และภาพนี้เป็นอีกภาพหนึ่งที่ผมตั้งใจถ่ายภาพมากโดยอาศัยเทคนิคในการถ่ายภาพและทุกครั้งที่ผมถ่ายภาพจะอาศัยประสบการณ์ในด้านการถ่ายภาพ  โดยใช้กล้อง NIKON D200 เลนส์ 18-200 มม. ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที รูรับแสง f/11 เพราะต้องการภาพถ่ายที่ชัดลึกและต้องการเก็บรายละเอียดของภาพให้มากที่สุด ส่วนความไวแสงผมเลือกใช้ ISO 800 และใช้ไฟ FLASH ตั้งที่ TTL ถ่ายภาพเพื่อต้องการเก็บรายละเอีอดของงานพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง

นาย วิทยา รัตนพรสุข นายกสมาคมถ่ายภาพสยามคัลเลอร์สไลด์ และศิลปินนักถ่ายภาพไทยปี 2548


1

ผมได้มีโอกาสรับใช้พระองค์ท่าน ก็เพราะเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์จึงได้มีโอกาสตามเสด็จฯไปถ่ายภาพงานพระราชพิธีต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 จนถึง พ.ศ. 2536

ครั้งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ตามเสด็จฯไปบันทึกภาพงานพระราชพิธีเปิดเขื่อนเชี่ยวหลานหรือเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีเปิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทรงเสด็จทอดพระเนตรกระบวนการทำงานเป็นเวลานานพอสมควร โดยมีช่างภาพจากส่วนกลางและช่างภาพท้องถิ่นฉายภาพพระองค์อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่พระองค์ทรงเสด็จประทับในพลับพลา บรรดาช่างภาพก็อยู่ห่างจากพระองค์ประมาณ 3–5 เมตร โดยประมาณ ในช่วงนั้นหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ยังใช้ฟิล์มขาว-ดำอยู่ และขณะที่พระองค์ทรงประทับพักผ่อนพระอิริยาบถเพื่อรอพิธีการต่อไป พระองค์ได้ทรงตรัสกับช่างภาพที่รอฉายพระบรมรูปอยู่ว่า “ฟิล์มเรายังต้องสั่งมาจากต่างประเทศ ใช้กันให้ประหยัดหน่อย ถ่ายในสิ่งที่จำเป็น พวกเธอถ่ายภาพฉันเยอะแล้ว ฉันถ่ายพวกเธอบ้าง” แล้วพระองค์ก็ทรงถ่ายภาพช่างภาพที่ตามเสด็จกลุ่มนั้น ซึ่งมีผมรวมอยู่ด้วย

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นความทรงจำที่ประทับใจผมมาจนถึงทุกวันนี้ พระองค์ทรงสอนให้รู้จักประหยัด มุมหนึ่งในอาชีพของช่างภาพ พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถและสอนลูกทุกคนในทุกอาชีพให้รู้จักประหยัด รู้จักพอเพียง ใช้ในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น เมื่อก่อนผมใช้ฟิล์มเปลืองมากเพราะว่าเบิกบริษัทได้ หลังจากที่ฟังพระราชดำรัสของพระองค์แล้ว ผมก็ใช้ฟิล์มน้อยลง ได้ดูภาพที่เป็นหัวใจของงานแต่ละงานแล้วจึงถ่าย พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมคิดงานก่อนถ่ายภาพทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องถ่ายเยอะ แต่ทุกภาพต้องใช้ประโยชน์ได้

จนถึงวันนี้ผมเปิดสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณา และได้มีโอกาสรู้จักกับ อาจารย์สยาม เอี่ยมพิชัยฤทธิ์ และคุณวิทยา รัตนพรสุข นายกสมาคมสยามคัลเลอร์สไลด์ และได้ร่วมงานถ่ายภาพในงานสำคัญด้วยกันหลายครั้ง เช่น งาน APEC และงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปถ่ายภาพให้กับทางสำนักพระราชวัง ผมได้ทราบกำหนดการในงานพิธีฯ และได้วางแผนไว้ว่าภาพที่จำเป็นต้องถ่ายให้ได้นั้นก็คือ ภาพที่พระองค์ทรงออกมหาสมาคม เพื่อพบประชาชน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ผมได้ใช้กล้อง Nikon D200 และเลนส์ 300 มม. เตรียมถ่ายภาพ ในขณะที่พระองค์ทรงเสด็จออกมหาสมาคม และทรงประทับยืนโบกพระหัตถ์ให้ประชาชนครั้งแรก ผมยังถ่ายไม่ถนัดนักเพราะถูกข้าราชบริพารที่ชะเง้ออยากเห็นพระองค์ชัดๆ เบียดเอา ตอนนั้นผมเองก็คิดว่ายังได้ภาพไม่ดี เพราะด้วยกล้องดิจิตอลกับเลนส์ 300 ที่ยาวเกือบ 1 ฟุต และโดนเบียดอีก คงได้ภาพไม่คมชัดนัก จากนั้นผมสังเกตเห็นพระองค์ทรงตรัสบางอย่าง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเสด็จออกมาประทับยืนข้างๆ จากนั้นพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์อีกครั้ง คราวนี้ผมปักหลักได้ที่มั่นคงแล้ว และพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ถึง 3 ครั้ง ผมถ่ายไปจนการ์ดเต็ม ผมเห็นประชาชนร้องไห้ปลื้มปีติกันทุกคน ผมเองก็น้ำตาไหลและคิดเอาเองว่าพระองค์ทรงเป็นช่างภาพจึงทรงทราบดีว่าถ้าพระองค์โบกพระหัตถ์หลายครั้งช่างภาพจะได้มีโอกาสถ่ายภาพมากขึ้น

ในที่สุดผมก็ได้ภาพที่ทั้งสองพระองค์ประทับคู่ โดยพระองค์ทรงประทับยืนโบกพระหัตถ์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงประทับยืนน้ำพระเนตรคลออยู่ข้างๆ

นาย ปรัชญา วุฒิธำรง


1

ในช่วงชีวิตของคนเราได้ทำงานในสิ่งที่ตนรักก็นับว่าชีวิตนั้นประสบความสำเร็จและเป็นสุขอย่างยิ่ง  ผมใช้ความรู้ที่ได้รับมาตั้งแต่วัยเยาว์ จากห้องภาพศิลป์ธรรมชาติ อ.สามชุก สุพรรณบุรี เติบโตมาในแวดวงการถ่ายภาพ จนถึงปัจจุบันในตำแหน่งที่ปรึกษาการถ่ายภาพของบริษัท นิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด

ผมไม่เคยคิดว่า ผมเองจะได้รับใช้และถวายงานเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเลย เมื่อปี 2523 ผมก็ได้รับโอกาสจากสำนักพระราชวัง แจ้งให้ไปถวายงานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสทรงบรรยายประกอบการฉายสไลด์ เรื่อง “เวลาเป็นของมีค่า” “แม่เล่าให้ฟัง”  และอีกหลายๆ เรื่อง หลังจากนั้นผมก็ได้มีโอกาสถวายงานในฐานะช่างภาพตามเสด็จทั้งในและต่างประเทศ เป็นเวลาเกือบ 30 ปี นับเป็นเกียรติและเป็นความปลื้มปิติอย่างยิ่งต่อตนเองและครอบครัว และผมได้ถวายงานสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ เป็นครั้งสุดท้ายในงานพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพ ณ ทุ่งพระเมรุ เมื่อวันที่ 15–19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ถือเป็นสิริมงคลอย่างสูงสุดที่ผมได้รับเกียรติ ให้มีโอกาสถวายงานร่วมกับสำนักพระราชวัง โดยเป็นหนึ่งในช่างภาพบันทึกเหตุการณ์พระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ตั้งแต่เริ่มต้นพระราชพิธีจนสิ้นสุด

วันที่ 9 มิถุนายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ ออกสีหบัญชร พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ให้กับประชาชนจำนวนมากมายสุดลูกหูลูกตา ที่มารอเฝ้าฯ อยู่หน้าบริเวณลานพระบรมอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ทอดยาวไปถึงถนนราชดำเนิน  ประชาชนเหล่านั้นต่างเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องตลอดเวลาไม่ขาดสาย ผมไม่รู้สึกตัวเลยว่า น้ำตาไหลอาบแก้มตั้งแต่เมื่อไร ผมไม่รีรอที่จะกดชัตเตอร์ กล้องคู่ใจ Nikon D200 พร้อมเลนส์ซูม 18-200 มม. บันทึกภาพนิ่งของพระองค์ท่านด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความสุขและจงรักภักดีเป็นที่สุดพร้อมน้ำตาแห่งความปลาบปลื้ม และผมก็ได้ภาพประทับใจมากๆ หลายภาพทีเดียว

ในวันนั้น ไม่ใช่ผมเพียงคนเดียวที่ซาบซึ้งจนน้ำตาไหล ยังมีประชาชนอีกมากมายที่รู้สึกเช่นเดียวกัน ต่างก็น้ำตาไหลด้วยความปลื้มปิติและยินดีอย่างสูงสุดที่พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของเราชาวไทยทุกคน

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
นาย สยาม เอี่ยมพิชัยฤทธิ์


 

1

ในปี 2535 ผมมีโอกาสได้ถ่ายภาพในหลวงเป็นครั้งแรกที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นภาพประทับใจที่ยังจำได้ดีจนถึงวันนี้ การเสด็จหัวหินในครั้งนั้น พระองค์ท่านทรงเรือใบร่วมกับนักเล่นเรือ ผมใช้กล้องติดฟิล์มสไลด์ และใช้เลนส์ 300 มม. f/2.8 ในการถ่ายภาพ กล้องติดอยู่บนขาตั้งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดในขณะนั้น เพราะถ้าผมต้องถือกล้องด้วยมือ ภาพคงจะเบลอทั้งหมดแน่ๆ เพราะจำได้ดีว่า ตื่นเต้นจนมือสั่นไปหมด

พระอิริยาบถของพระองค์ท่านยังตรึงตาถึงปัจจุบัน เป็นโอกาสที่ผมคงหาไม่ได้อีกแล้วในชีวิตนี้ เพราะได้บันทึกภาพพระองค์ท่านในระยะใกล้มาก เพียงแต่ว่าฟิล์มสไลด์ชุดนั้น ทางออฟฟิศของนิตยสารที่ผมทำอยู่ในขณะนั้น ส่งให้กับเจ้าของสถานที่ ที่รับเสด็จพระองค์ท่าน ไปทั้งหมด ผมไม่ได้ทำสำเนาไว้แม้แต่ภาพเดียว

นอกเหนือจากการเสด็จทรงเรือใบในครั้งนั้น ผมก็คงจะเหมือนกับนักถ่ายภาพท่านอื่นๆ คือ จะมีโอกาสได้บันทึกภาพก็ต่อเมื่อมีงานพระราชพิธี เช่น การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ในวันที่ 2 ธันวาคมของทุกปี และการเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งในช่วงปี 2536-2539 พระองค์ท่านเสด็จทุกครั้ง และผมก็มาบันทึกภาพทุกครั้งเช่นกัน

ภาพนี้บันทึกในปี 2536 โดยใช้กล้อง 35 มม. ติดฟิล์มสไลด์ ISO 50 ผมใช้เลนส์ 300 มม. f/2.8 ก่อนขบวนเรือจะผ่านมา สภาพแสงครึ้มๆ เหมือนฝนจะตก แต่เมื่อขบวนเรือผ่านมาถึงด้านหน้ากรมอู่ทหารเรือ ท้องฟ้าเปิด ทำให้ฟิล์ม ISO 50 ที่อยู่ในกล้องได้ค่าการเปิดรับแสงพอ ผมกดชัตเตอร์บันทึกภาพไปก่อนหน้าภาพนี้ 4-5 ภาพ และจังหวะหนึ่ง พระองค์ท่านหันพระพักตร์มาทางกล้อง ผมจึงกดชัตเตอร์ติดต่อกันอีกประมาณ 10 ภาพ และก็ได้ภาพที่ประทับใจคือภาพนี้ นี่คือภาพที่ล้ำค่าสำหรับผม
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นาย อิสระ เสมือนโพธิ์
บรรณาธิการนิตยสาร FOTOINFO


นิตยสารโฟโต้อินโฟ ฉบับเดือน ธันวาคม 2551