สุ้มเสียงการสนทนากันระหว่างนักวิจัยกับทีมงานถ่ายทำวีดีโอในรถตู้ขณะที่กำลังเดินทางไปถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้ง ซึ่งผมรับหน้าที่ในการถ่ายภาพนิ่ง ทำให้ได้ยินชื่อของ “สบู่ดำ” เป็นครั้งแรกเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๔๙ ประเด็นที่พวกเขากำลังสนทนากันนั้นกล่าวถึงพืชที่กำลังอยู่ในกระแสสร้างความฮือฮาในวงการเกษตร เพื่อนำเอามาใช้ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ชื่อของสบู่ดำทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงเนื้อหาในวิชาวิทยาศาสตร์สมัยที่เรียนในระดับมัธยมต้น จำได้ดีว่าเรามีการคิดค้นวิจัยในการใช้พืชอย่าง มันสำปะหลัง อ้อย ในการผลิตแอทานอล (Ethanol) เพื่อในการผลิตแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันปาล์มในการผลิตไบโอดีเซล แต่ครั้งนั้นน้ำมันยังมีราคาอยู่เพียงลิตรสิบบาท เด็กนักเรียนอย่างผมก็ได้แต่เรียนและจดจำ มาระลึกถึงคุณค่าอีกทีก็ตอนที่น้ำมันมีราคากว่าสามสิบบาท และชื่อของสบู่ดำที่ได้ยินเมื่อสักครู่ก็จุดประกายความหวังเล็กๆ ที่เรากำลังจะแก้ไขปัญหาเรื่องพลังงานได้ในประเทศของเรา นับจากนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่าสี่ปีแล้ว ที่ผมมีโอกาสในการถ่ายภาพประกอบงานวิจัยเกี่ยวกับสบู่ดำมาโดยตลอด ได้ออกพื้นที่ร่วมไปกับนักวิจัยจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้ซึมซับรับเอาข้อมูลในด้านต่างๆ มาโดยปริยาย
ต้นกล้าสบู่สำหรับแจกจ่ายให้เกษตรกรในกลุ่มสหกรณ์การเกษตร อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ที่มีการจัดการได้ผลเป็นอย่างดี
พระวิสัยทัศน์กับพลังงานทดแทน
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าประเทศไทยอาจประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมันและปัญหาพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ ทรงมีพระราชดำรัสให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ศึกษาถึงการนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอล) โดยการนำแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้นี้มาผสมกับน้ำมันเบนซินได้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง “น้ำมันแก๊สโซฮอล์” (Gasohol) หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “แก๊สโซฮอล์”
…เราทำแล้วก็หมายความว่า เราไม่เดือดร้อน เมื่อเราอายุ ๑๑๘ ถ้าอย่างไรเราก็ใช้น้ำมันปาล์มของเราเองคนอื่นอาจจะไม่ได้ คนอื่นอาจจะไม่มี แต่ว่าเรามี เพราะเราขวนขวายหาวิธีที่จะทำเชื้อเพลิงทดแทนได้ ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทน เราก็เดือดร้อน เราก็เป็นห่วง แต่เราไม่ต้องเป็นห่วง ถ้าคนอื่นเขาไม่ทำ เขาอาจจะไม่มีน้ำมันไบโอดีเซลใช้ แต่ว่าเรามี เราคือข้าพเจ้าทำเอง…” พระบรมราโชวาท เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ ที่ได้พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
ตัวอย่างน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดสบู่ดำ
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ได้สะท้อนพระวิสัยทัศน์กว้างไกลด้านของพลังงานทดแทนที่มีมากว่า ๓๐ ปี ณ วันนี้ไม่มีใครปฏิเสธความสำเร็จของโครงการน้ำมันไบโอดีเซลที่มีผลช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเป็นมูลค่ามหาศาล แม้จะเป็นเพียงบางส่วน แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และแผนการรับมือในอนาคต ด้วยพระบารมีเมื่อพระองค์ท่านเล็งเห็นเรื่องราวที่เป็นประโยชน์และมีพระราชดำริขึ้นหน่วยงานต่างๆ จะเข้าร่วมมือกันพยายามศึกษาขับเคลื่อน พระองค์ท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกคน และโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทนก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการพระราชดำริที่ทรงริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบให้นำไปพัฒนาถ่ายทอดสู่ประชาชน
สบู่ดำกับงานวิจัย
หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักสบู่ดำและคุ้ยเคยกับมันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน เสียมากกว่า และยิ่งไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าไรนั่นยิ่งเป็นการแสดงถึงสายพระเนตรที่กว้างไกลเฉียบแหลมมากขึ้นเท่านั้น “สบู่ดำ” เป็นพืชต่างถิ่น ที่ถูกนำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกส ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายราว ๓๐๐ ปีที่ผ่านที่แล้ว เพื่อนำมาบีบน้ำมันสำหรับทำสบู่ ในประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยเรื่องของไบโอดีเซลจากสบู่ดำกันมาตลอดช่วงเวลากว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา แม้จะสะดุดหยุดชะงักไปบ้างเพราะยังไม่เห็นถึงความสำคัญในยามที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในภาวะที่รับมือไหว ถึงแม้จะยอมรับกันแล้วว่าสบู่ดำสามารถนำมาเป็นไบโอดีเซลได้ก็ตาม จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ราคาน้ำมันเริ่มขยับตัวสูงขึ้นโครงการวิจัยเกี่ยวกับสบู่ดำจึงถูกจับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง
ซ้าย : ผลสบู่ดำที่แห้งพร้อมกะเทาะเปลือก / ขวา : เมล็ดสบู่ดำที่กะเทาะเปลือกแล้ว
เมื่อคุณพิมพ์คำว่า “สบู่ดำ” ลงไปในเวปไซต์สืบค้นข้อมูลอย่าง Google ก็จะพบว่ามีข้อมูลเรื่องสบู่ดำอยู่มากมายมหาศาล และถ้าเปลี่ยนคำที่ใช้ในการค้นหาเป็นภาษาอังกฤษ ที่มีความหมายเกี่ยวกับสบู่ดำไม่ว่าจะเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ (Jatropha curcas Linn.) หรือชื่อสามัญ (Physic Nut) ก็จะพบว่ามีข้อมูลมากมายยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ ปัจจุบันสบู่ดำถูกพูดถึงในวงกว้างระดับโลก หลายประเทศให้ความสำคัญเกี่ยวกับการวิจัยเป็นอย่างมาก และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำที่มีข้อมูลการวิจัยรุดหน้าไปมาก ไบโอดีเซล (Biodiesel) ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปราวร้อยกว่าปี “รูดอลฟ์ ดีเซล” (Rudolf C. Diesel : 1858 – 1913) วิศวกรชาวเยอรมันได้นำมา ทดลองใช้ในเครื่องยนต์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.1893 น้ำมันไบโอดีเซลถูกเป็นผลสำเร็จครั้งแรกของโลก โดยการทดลองได้นำเครื่องยนต์ลูกสูบเดี่ยวที่ทำจากเหล็กยาว 3 เมตร ซึ่งมีล้อเฟืองติดอยู่ที่ฐาน จนกระทั่งในปี 1912 รูดอล์ฟ ดีเซลเคยกล่าวสุนทรพจน์ไว้ว่า “การใช้น้ำมันจากพืชผักสำหรับเครื่องยนต์ อาจจะดูไม่มีความสำคัญในวันนี้ แต่เมื่อน้ำมันชนิดนี้คิดค้นขึ้นมาแล้ว และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม น้ำมันตัวนี้แหละที่จะมีความสำคัญไม่แพ้น้ำมันที่มาจากถ่านหินที่เป็นที่นิยมอยู่ในเวลานี้”
บน : ตัวอย่างผลสบู่ดำที่สุกแก่ไม่พร้อมกันเป็นปัญหาค่าแรงในการเก็บเกี่ยวสูง
ล่าง : มวนหลังแข็ง แมลงศัตรูที่สำคัญแต่คงไม่ร้ายเท่ากับกลุ่มบุคคลที่หากินโดยการเอารัดเอาเปรียบบนความไม่รู้ของเกษตรกร
โครงการวิจัยเกี่ยวกับสบู่ดำนั้นมีหลายหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการคิดค้นวิจัยในแง่มุมต่างๆ มาโดยตลอด เป็นการระดมความรู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สบู่ดำถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในทุกแง่มุมและคุ้มค่ากับการนำมาใช้งานจริง โครงการวิจัย KU Bio-diesel ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงเรียนสบู่ดำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำการวิจัยเรื่องสบู่ดำมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นอกเหนือไปจากนั้นและยังมีหน่วยงานของรัฐ เอกชนอีกจำนวนมากที่ให้การสนับสนุน โครงการวิจัยเหล่านี้ส่งผลดีที่ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้เกี่ยวกับการเสาะหาพลังงานทดแทนในภาพใหญ่ของโครงการเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องดีๆ ภาพที่สวยงามที่เป็นผลพวงของงานวิจัยเหล่านี้เกิดขึ้นมากมายอีกด้วย
สบู่ดำ ยังคงเป็นโครงการที่อยู่ในระหว่างการวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น และศึกษาใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นๆ นอกเหนือไปจากเมล็ดที่นำมาบีบคั้นเอาน้ำมันในการผลิตไบโอดีเซล เรามาทำความรู้จักกับสบู่ดำกันให้มากยิ่งขึ้น สบู่ดำเป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curcas Linn. อยู่ในวงศ์เปล้า วงศ์เดียวกับยางพารา ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ เติบโตอยู่ตามท้องไร่ท้องนาเมืองไทยมาช้านานแล้วเพราะถูกนำเข้ามาโดยชาวโปรตุเกสในสมัยอยุธยา ปัจจุบันสบู่ดำมีปลูกอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ภาคเหนือเรียกว่า มะหุ่งฮั้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มะเยา หรือสีหลอด ภาคใต้เรียกว่า มาเคาะ และยังแพร่หลายไปสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียอีกด้วย ซึ่งแต่ละที่ก็จะเรียกชื่อต่างกัน ชาวมาลายูเรียกว่า Dutch castor oil ตามประวัติศาสตร์ที่สมัยนั้นฮอลันดาเข้าครอบครองมาลายู ส่วนที่เกาะชวานั้นรู้จักกันในชื่อของ Chinese castor oil คำว่า oil นี่เองที่ทำให้เห็นว่า สบู่ดำในยุคนั้นปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำมันในเมล็ด
ลุงบุญมีกับความภาคภูมิใจกับแปลงสบู่ดำในจังหวัดกำแพงเพชร ที่กระตือรือร้นในการให้ความรู้กับเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน
สบู่ดำเป็นไม้ผลยืนต้นเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง มีความสูง 2-7 เมตร อายุเฉลี่ยราว 40 ปี เจริญเติบโตง่าย ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย ลำต้นและยอดคล้ายละหุ่ง แต่ไม่มีขน ใบคล้ายใบฝ้าย แต่หนากว่า เป็นไม้เนื้ออ่อนไม่มีแก่น หักง่าย ในเนื้อไม้เมื่อหักจะมียางสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนๆ คล้ายน้ำนมไหลซึมออกมา ออกดอกเป็นช่อ ผลกลมรีเล็กน้อย ออกสีเขียวอ่อนเมื่อยังดิบ จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนเป็นสีดำเมื่อผลแก่ โดยส่วนมากจะมี 3 พู แต่ละพูจะห่อหุ้มเมล็ดไว้ หากแกะเปลือกนอกสีดำนี้ออกจึงจะเห็นเนื้อในสีขาว สำหรับอายุของผลสบู่ดำนั้น นับตั้งแต่ออกดอกถึงผลแก่ ตกราวๆ 60 – 90 วัน เมล็ดสบู่ดำมีปริมาณน้ำมันร้อยละ 35 ของน้ำหนักเมล็ด น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดสบู่ดำ สามารถใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลกับเครื่องจักรกลทางการเกษตรได้อย่างดี ส่วนลำต้น ผล และเมล็ดจะมีกรด hydrocyanic และมีสารพิษ curcin ในเมล็ด สบู่ดำสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและการปักชำ
ซ้าย : นักวิจัยแสดงตัวอย่างผลสบู่ดำที่พร้อมเก็บในแปลงทดลอง
ขวาบน : สบู่ดำที่ปลูกแซมในสวนยางพาราขนาดเล็กเพื่อช่วยป้องกันลมและนำผลสบู่ดำมาใช้เป็นปุ๋ย
ขวาล่าง : สบู่ดำที่ปลูกกั้นเป็นแนวรั้ว แบบดั้งเดิมของชาวบ้าน
จากผลการศึกษาของเหล่านักวิจัย ยังพบว่านอกจากจะนำน้ำมันสบู่ดำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว สบู่ดำยังเป็นพืชที่สามารถนำส่วนต่างๆมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น กิ่งและลำต้น ที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ผลิตกระดาษ น้ำส้มควันไม้ และแผ่นไม้ประกอบ ใบของสบู่ดำสามารถนำไปใช้เลี้ยงไหมอีรี่ หรือผลิตสารสกัดที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เปลือกผลสบู่ดำสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นวัสดุเพาะเห็ดฟาง หรือทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ ส่วนกากสบู่ดำสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ปุ๋ยชีวภาพ และนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ด้วยความที่มีโปรตีนและแร่ธาตุบางอย่างสูง แต่ต้องทำลายความเป็นพิษของสบู่ดำเสียก่อน
แปลงปลูกสบู่ดำตามโครงการพระราชดำริ ที่ค่ายทหารเรือสัตหีบ
สบู่ดำในพื้นที่ 1 ไร่นั้น สามารถให้ผลผลิตที่สกัดเป็นน้ำมันได้เฉลี่ยประมาณ 100 ลิตร/ปี และที่กล่าว่าน้ำมันที่สกัดได้นั้น มีความเหมาะสมในการนำมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงแทนน้ำมันดีเซล ก็เนื่องด้วยคุณสมบัติในการวัดคุณภาพการจุดติดไฟ ซึ่งน้ำมันสบู่ดำมีค่าซีเทนอยู่ที่ 38 ส่วน นับว่าใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลที่มีค่าซีเทนอยู่ระหว่าง 40 – 55 ส่วน อีกทั้งยังมีค่าความร้อนที่ใกล้เคียงกันอีกด้วย และคุณสมบัติพิเศษคือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน เป็นสารประกอบที่สำคัญของน้ำมันดีเซล ในทำนองเดียวกันกับสบู่ดำที่ประกอบด้วยกรดไขมันที่เป็นไฮโดรคาร์บอนซึ่งเป็นโซ่ตรงและยาวเหมือนกัน น้ำมันดิบจากสบู่ดำจึงสามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์รอบต่ำได้เลยโดยไม่ต้องเพิ่มส่วนผสมอื่น เช่น รถไถนาหรือเครื่องสูบน้ำ และเครื่องยนต์ทั้งหลายที่ใช้งานเกี่ยวกับด้านเกษตรกรรม แต่หากนำมาใช้กับเครื่องยนต์หมุนเร็ว ไขจากสบู่ดำ จะทำให้เครื่องยนต์หนืด ก็อาจทำให้เครื่องรวนได้ ในอนาคตจึงต้องศึกษาและพัฒนาวิธีที่จะทำให้ลดความหนืดลงกันต่อไป ด้วยคุณสมบัติของน้ำมันสบู่ดำนั้น กล่าวได้ว่าเป็นน้ำมันจากพืชที่มีคุณภาพดีที่สุดในการนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล
สบู่ดำกับชุมชน
ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเห็นการใช้ประโยชน์จากสบู่ดำของชาวบ้าน มองเห็นการรวมตัว ร่วมกันคิดร่วมกันทำ บ้างประสบความสำเร็จ บ้างโดดเดี่ยว แต่อย่างน้อยสบู่ดำก็เป็นแรงดึงดูดให้มีการรวมตัว จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เป็นรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน เริ่มจากความพยายามดูแลตัวเองอย่างมั่นคงพอเพียงในชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินการของชาวบ้านที่ในหลวงท่านทรงแนะนำส่งเสริมมาโดยตลอด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพลังงานทดแทนจากสบู่ดำ บ้านทับมา จ.ระยอง เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการศึกษาและใช้งานผลผลิตจากสบู่ดำจนครบวงจร ศึกษาใช้งานผลผลิตจากสบู่ในทุกส่วน มีปั๊มน้ำมันจากสบู่ดำ เป็นการรวมตัวในระดับชุมชนที่น่าศึกษาเป็นแบบอย่าง สหกรณ์การเกษตรเวียงสา จำกัด จังหวัดน่าน เป็นอีกหนึ่งกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ระดับท้องถิ่นที่มีการสนับสนุนรวมกลุ่มกันอย่างเป็นรูปธรรม
นายวิฑูรย์ ใจผ่อง หนึ่งในทีมงานนักวิจัยที่ทุ่มเทวิจัยและให้ความรู้แก่เกษตรกรผ่านโรงเรียนสบู่ดำมาโดยตลอด
โครงการปลูกสบู่ดำและการทำไบโอดีเซลที่เด่นชัดในประเทศไทย และถูกกล่าวถึงเป็นอย่างกว้างขวางคือที่ วัดพยัคฆาราม (วัดเสือ) อ.ศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ริเริ่มโดยหลวงพ่อสันต์ ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ทำการเปิดโครงการ “ไบโอดีเซลชุมชนต้นแบบ” ขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อให้เป็นชุมชนนำร่องของโครงการเผยแพร่การผลิตและใช้ไบโอดีเซล ในระยะแรกนั้นหลวงพ่อสันต์เป็นผู้ออกทุนให้ชาวบ้านโดยรอบพื้นที่วัดและชุมชนใกล้เคียง ในการนำต้นกล้าสบู่ดำไปปลูก และเมื่อได้ผลผลิต ทางวัดก็จะเป็นผู้รับซื้อทั้งหมด จนถึงวันนี้สามารถส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกได้แล้วถึง ๕ ล้านต้น ในพื้นที่ ป่าจังหวัดสุพรรณบุรี รวมไปถึง อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ทางวัดจะนำสบู่ดำที่รับซื้อมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อใช้ภายในวัด และถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรในชุมชน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ที่ตั้งขึ้น โดยพระลูกวัดที่มีความรู้ด้านช่างกล มาให้คำแนะนำ โดยนำเสนอกระบวนการผลิต สาธิตเทคโนโลยีเครื่องหีบสบู่ดำ แนะนำวัตถุดิบและการบริหารจัดการ ล้วนเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร เพราะน้ำมันสบู่ดำและไบโอดีเซลที่ผลิตได้
สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรกลเกษตรได้ทันที ช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา ชาวไร่อ้อย ได้อย่างมาก ไม่เพียงผลิตไบโอดีเซลเท่านั้น ทางวัดยังมีลู่ทางในการนำสบู่ดำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมากที่สุด ด้วยวิธีการต่างๆ อีก เช่น กากพืชน้ำมันมาทำเป็นปุ๋ยหรือเชื้อเพลิงแข็ง กลีเซอรีนมาทำเป็นสบู่ นอกจากนี้ยังหันไปพัฒนาต่อยอดความรู้ด้านๆ อื่นเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าจากแรงลม การผลิตฮอร์โมนหัวปลีกล้วย การผลิตปุ๋ยชีวภาพ แก๊สชีวภาพ ปุ๋ยจากกฐินหรือปุ๋ยอัดเม็ด เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในชุมชนได้มากขึ้น จนทุกวันนี้วัดพยัคฆารามได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิชาการแหล่งสำคัญ สำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนใจในการผลิตไบโอดีเซล
ซ้าย : นักศึกษาสาธิตการใช้เครื่องคั้นน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำ / ขวา : นักวิจัยสาธิตการใช้เครื่องหีบเมล็ดสบู่ดำ ขนาดเล็กที่ใช้ในครัวเรือน
กองทัพเรือคืออีกหนึ่งหน่วยงานที่คนส่วนใหญ่ได้ทราบข่าวกันไปแล้วในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการคลองลัดโพธิ์ด้วยเรือพระที่นั่งซึ่งใช้นำมันไบโอดีเซล ในความเป็นจริงแล้วกองทัพทุกเหล่าทัพต่างให้ความสำคัญและสนองนโยบายเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด ผมได้เห็นแปลงปลูกสบู่ดำที่ค่ายทหารที่อำเภอสัตหีบของกองทัพเรือและกองบินที่กำแพงแสน ของกองทัพอากาศ และในปีนี้ดูเหมือนว่าจะมีความตั้งใจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ได้ดำเนินโครงการวิจัยตามแนวพระราชดำริ โครงการวิจัยการผลิตน้ำมัน Biofuel จากพืชสบู่ดำในลักษณะพึ่งพาตนเอง เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี ๒๕๕๔ โดยมีเป้าหมายจะผลิตน้ำมัน Biofuel จากพืชสบู่ดำ จำนวน ๘๔,๐๐๐ ลิตร ภายใน ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ รวมทั้งโครงการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนด้านอื่นๆ น้ำมัน Biofuel จากพืชสบู่ดำ สามารถนำมาใช้กับรถยนต์และยานยนต์ของกองทัพเรือ ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล หากได้รับการวิจัยเพิ่มเติมจะทำให้น้ำมัน Biofuel จากพืชสบู่ดำ มีคุณภาพดียิ่งขึ้นและใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลของกองทัพเรือได้ทุกประเภท ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานของ กองทัพเรือ รวมทั้งเป็นการพึ่งพาตนเองอย่างถาวร แต่เนื่องจากปัจจุบันโครงการวิจัยดังกล่าวต้องขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์การผลิตจากวัดพยัคฆารามในการผลิตน้ำมัน Biofuel เพื่อการวิจัย การดำเนินการอาจจะไม่สะดวกเพราะวัดพยัคฆาราม มีอุปกรณ์เพียง ๑ เครื่อง และต้องใช้งานในส่วนของทางวัดเองอีกทั้งหากเกิดการขัดข้องหรือชำรุด การดำเนินการวิจัยอาจจะไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้กองทัพเรือมีอุปกรณ์ผลิตน้ำมัน Biofuel จากพืชสบู่ดำได้เอง สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือจึงจัดหาอุปกรณ์ในการผลิตน้ำมัน Biofuel จากพืชสบู่ดำ และสร้างโรงเก็บอุปกรณ์ชั่วคราวเพื่อผลิตน้ำมัน Biofuel จากพืชสบู่ดำสำหรับใช้ในการวิจัยและทดลองใช้กับยานยนต์ของกองทัพเรือต่อไป หน่วยงานเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่สนองพระราชดำริเรื่องพลังงานทดแทน
อุปสรรคสบู่ดำ
แม้ว่าสบู่ดำเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย ไม่ต้องการความเอาใจใส่ดูแลมากนักเมื่อเทียบกับพืชอื่น และปลูกได้แทบทุกพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ แต่ด้วยความที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่เป็นที่นิยมนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบค่าแรง และราคาน้ำมันในตลาดโลก การรณรงค์ให้ประชาชนปลูกสบู่ดำ จึงควรรอบคอบพิจารณาให้ครบวงจรของสบู่ดำ ตั้งแต่เกษตรกรสู่ผู้ใช้งาน มีการวิเคราะห์ทางธุรกิจให้ชัดเจน ศึกษาผลตอบแทนทางการผลิต ทั้งต้นทุนการผลิต ผลผลิตต่อไร่ ราคาขายคุ้มทุน ราคาเมล็ดสบู่ดำที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่ลงทุนปลูกอย่างละเอียด เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจกับพืชชนิดอื่นก่อนการตัดสินใจ รวมทั้งต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตที่ให้ผลผลิตสูงกว่า รวมทั้งกำหนดตลาดในการรองรับ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกตามนโยบายแล้วสุดท้ายหาตลาดรองรับไม่ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะต้องไถทำลายทิ้งอย่างกรณีของเกษตรกรปลูกสบู่ดำจากจังหวัดชลบุรีและเพชรบูรณ์
ปัจจัยที่ทำให้การผลิตสบู่ดำเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากค่าแรงงานของไทยค่อนข้างสูง และสบู่ดำเป็นพืชที่ต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวเท่านั้น และสบู่ดำจะให้น้ำมันไบโอดีเซลราว 100 ลิตรต่อไร่ต่อปี ในขณะที่ปาล์มน้ำมันจะได้ถึง 600 ลิตรต่อไร่ต่อปี อย่างไรก็ตามงานวิจัยสบู่ดำเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านพัฒนาพันธุ์ การแปรรูปและการสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นการรองรับสถานการณ์น้ำมันในอนาคต แม้ว่าการปลูกในเชิงพาณิชย์จะยังไม่คุ้มทุน แต่การปลูกแบบรั้ว ในพื้นที่แบบหัวไร่ปลายนา เพื่อนำไว้ใช้เองก็เป็นแนวทางที่เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ รวมทั้งยังสามารถปลูกประกอบกับพืชอื่น เช่น ยางพาราขณะที่ยางพารามีขนาดเล็กยังไม่ให้ผลผลิต เพราะสบู่ดำช่วยป้องกันลมและผลที่สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยได้ดี ดังจะเห็นได้ในพื้นที่ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง
เครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำที่ใช้งานในการเกษตร เป็นกลุ่มเป้าหมายที่สามารถใช้น้ำมันจากสบู่ดำได้ดี
ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริงและนักวิจัยสาขาต่างๆ พยายามวิจัยหาวิธีการสร้างผลผลิตให้เพิ่มมากขึ้น หรือใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นๆ ให้เพิ่มมากขึ้น ให้คุ้มค่ากับการลงทุน การวิจัยเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายและคงไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้ย่อท้อ แต่สิ่งที่น่าหดหู่จากการที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสพูดคุยกับชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อของความหวัง ที่อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีเกษตรกรในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคอีสานจำนวนมากถูกหลอกให้ซื้อต้นพันธุ์สบู่ดำ หลอกให้ทำสัญญาว่าจะรับซื้อเสียค่าทำสัญญาไปบ้างก็มี อ้างว่าเป็นพันธุ์จากต่างประเทศ ทั้งๆ บริษัท หรือกลุ่มคนเหล่านั้นยังมาขอรับต้นพันธุ์ไปจากหน่วยงานที่วิจัยต่างๆ แล้วนำไปหลอกขายหากินกับเกษตรกรซึ่งเป็นชาวบ้านระดับรากหญ้า เป็นเรื่องน่าละอายและเป็นจุดด่างพร้อยที่เข้ามาแทะเล็มความตั้งใจดีๆ ของทุกคน ซ้ำยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความแตกต่างในการเข้าถึงข้อมูลชาวบ้านและการติดต่อสื่อสารกันของผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องที่ปล่อยให้เหลือบไรทางสังคมเช่นนี้เข้าแทรกแซงได้
ทิศทางสบู่ดำ ตามสายพระเนตร
ณ วันนี้ เรามีความรู้มากพอที่จะนำสบู่ดำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนแบบพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งเป็นไปตามพระอัจฉริยะภาพ ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์ยาวไกล พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมแรงกายแรงใจที่ทำให้ทุกภาคส่วนตั้งใจคิดค้นวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โครงการวิจัยสบู่ดำยังคงดำเนินต่อไปตามสายพระเนตรของพระองค์ สบู่ดำเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของโครงการอีกนับร้อยนับพันที่เรายังไม่รู้จัก และผมเองก็อาจจะยังคงไม่รู้จักหากไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม สิ่งที่เราได้มานอกเหนือจากการศึกษาวิจัยเรื่องสบู่ดำ คือการให้โอกาสในการศึกษาได้ผลิตนักวิจัยรุ่นใหม่ และความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ได้ชุมชนที่ร่วมมือกัน ได้ผู้นำชุมชนที่ตั้งใจสละเวลาถ่ายทอดความรู้ ได้คิดและตระหนักถึงการพัฒนาในแบบพึ่งพาตนเองแบบยั่งยืน และอีกหลากหลายแง่มุมที่เป็นเรื่องดีๆ เป็นรายละเอียดที่เกิดขึ้นที่เราไม่อาจมองข้ามไปได้ และสิ่งเหล่านี้ต่างหากคือหัวใจของโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ต้องการกระจายไปอย่างทั่วถึงในทุกส่วน เพราะทั้งหมดก็เพื่อประชาชนของพระองค์ทั้งนั้น
ขอขอบพระคุณ
โครงการ KU Bio-diesel มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โรงเรียนสบู่ดำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
รศ.ดร. สาวิตรี มาไลยพันธุ์
นางสาวชามา อินซอน
นายวิฑูรย์ ใจผ่อง
เรื่องและภาพ : บัณฑูร พานแก้ว
นิตยสารโฟโต้อินโฟ ฉบับเดือน ธันวาคม 2553