TRAVELS

กอดลม ห่มหมอก และบอกรัก “ดอยเสมอดาว”

ผมและเพื่อนร่วมทริปกลับลงมาจากลานสนภูสอยดาวในช่วงบ่ายเล็กน้อย หลังจากที่ไปรับสัมภาระต่างๆ แล้ว เราก็เดินทางไปยังตัวเมืองอุตรดิตถ์ เพื่อส่งเพื่อนร่วมทีมบางส่วนที่เดินทางกลับก่อน จากนั้น ผมและทีมงานที่เหลืออยู่ก็หาที่พักค้างคืนกันก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังจังหวัดน่านในวันพรุ่งนี้เช้า ซึ่งเรามีโปรแกรมที่จะไปถ่ายภาพที่เสาดินนาน้อย และดอยเสมอดาวนั่นเองครับ

ผมใช้เส้นทางหมายเลข 11 ไปจนถึงแยกเด่นชัย และเลี้ยวขวาไปยังเส้นทางหมายเลข 101 ไปจังหวัดแพร่ ก่อนที่จะมุ่งหน้าต่อไปยังอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เส้นทางถึงแม้ว่าจะเป็นถนนลาดยาง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเส้นทางวิ่งสวนกัน และตามสภาพของเส้นทางในภาคเหนือที่เต็มไปด้วยทางโค้งมากมาย กอปรกับฝนที่ตกลงมาเป็นระยะ ทำให้เราทำความเร็วมากไม่ได้นัก แต่อย่างน้อยผมยังคงอุ่นใจกับพาหนะของเรา นั่นคือรถยนต์ Toyota New Fortuner TRD Sportivo ที่ทำให้ผมมั่นใจไปกับการเดินทาง ทั้งบนเส้นทางที่เคี้ยวคดที่หาช่วงเส้นทางตรงๆ ยาวๆ ได้น้อยมากทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อผ่านอำเภอร้องกวางไปแล้ว และสภาพเส้นทางที่เปียกลื่นจากสายฝนที่พรั่งพรูลงมาอยู่ตลอด

toyota139-03

ผมยังคงชื่นชอบกับระบบช่วงล่างที่ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมดด้วยเช่นเดียวกัน โดยรู้สึกได้ถึงการยึดเกาะถนนที่ดีขึ้น และมีความนุ่มหนึบของช่วงล่างในขณะขับขี่ ทั้งในทางราบเรียบแบบถนนลาดยางหรือคอนกรีต และเส้นทางที่ขรุขระแบบถนนดิน หรือเส้นทางออฟโรด จากการออกแบบให้มีการกระจายแรงส่งไปยังล้อทั้งสี่ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงๆ หรือทางโค้งก็ตาม รวมทั้งยังมีระบบ VSC หรือ Vehicle Stability Control ซึ่งทำงานร่วมกับระบบป้องกันการลื่นไถล TRC หรือ Traction Control System ที่จะสั่งให้ปั๊มเบรก ABS ส่งแรงดันนํ้ามันที่เหมาะสมไปยังล้อที่เซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่ามีการหมุนฟรี หรือหมุนเร็วกว่าล้ออื่นๆ พร้อมๆ กับลดรอบเครื่องยนต์เพื่อให้ตัวรถกลับมาอยู่ในระบบการขับขี่ปกติในกรณีที่ขับขี่บนถนนที่เปียกลื่น เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ซึ่งผมมองว่าเป็นระบบที่เหมาะกับสภาพถนนในบ้านเรามากทีเดียวครับ

หลายๆ ครั้ง รวมทั้งในสภาพถนนที่เปียกแฉะจากสายฝนแบบนี้ ผมเลือกใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ 4H พร้อมทั้งปรับเกียร์จากตำแหน่ง D ปกติมาที่ตำแหน่ง S เพื่อใช้การเปลี่ยนเกียร์แบบแมนนวลแทน เพราะบางช่วงของเส้นทางก็ต้องการแรงบิดที่สูงมากกว่าการขับขี่ปกติ เพื่อการเร่งแซงในช่วงที่มีทางตรงที่ไม่ได้ยาวมากนักได้อย่างฉับไว ซึ่งพละกำลัง 177 แรงม้า จากเครื่องยนต์ 2800 ซีซี ก็ไม่ทำให้ผมผิดหวัง

นอกจากนี้ การเลือกปรับชิฟท์เกียร์เองแบบแมนนวล ยังช่วยให้การขับขึ้นหรือลงเขาทำได้สะดวกมากขึ้น เพราะนอกจากการตอบสนองของเครื่องยนต์ที่ส่งแรงบิดได้อย่างรวดเร็วฉับไวแล้ว การชิฟท์มาเกียร์ตํ่า ยังช่วยลดความเร็วของรถในขณะลงเขา และลดการใช้เบรกอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหากว่าเป็นเส้นทางลงเขาที่ค่อนข้างยาว หรือเส้นทางที่มีความสูงชันมากกว่าปกติ ผมจะเลือกใช้ระบบ DAC หรือ Downhill Assist Control ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการขับรถลงเขาหรือเส้นทางลาดชันสะดวกมากขึ้น โดยระบบจะ ช่วยควบคุมการเบรกของล้อทั้งสี่อย่างอิสระ ให้รถใช้ความเร็วตํ่าโดยอัตโนมัติ และผมก็เพียงแค่ควบคุมพวงมาลัยให้รถวิ่งไปยังทิศทางที่ต้องการเท่านั้นเองครับ

toyota139-14

ระหว่างการเดินทางนั้น ผมสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่เราแวะทานข้าว แวะเติมนํ้ามัน หรือแวะเข้าห้องนํ้า ตัวรถจะได้รับความสนใจอยู่พอสมควร ซึ่งก็มาจากการออกแบบตัวรถและชุดแตกแต่งพิเศษจาก TRD หรือ Toyota Racing Development ในคอนเซปต์ “Premium Sport” โดยออกแบบเส้นสายของตัวรถที่ดูสปอร์ตโฉบเฉี่ยว กระจังหน้าสี Dark Chrome ใหม่ และโคมไฟหน้าเรียวยาวดูโดดเด่น และคมเข้มมากขึ้น ไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ พร้อมไฟ Daytime Running Light และไฟตัดหมอก นอกจากนี้ไฟด้านหลังแบบ LED ยังออกแบบเป็นแนวยาวเข้าชุดกับไฟหน้าดูสวยงาม หรูหรา และเพิ่มเสน่ห์ให้กับตัวรถมากขึ้นไปอีกครับ

“ติ๊งหน่อง” เสียงเตือนจากแอพลิเคชั่นไลน์จากน้องทีมงานที่ไปด้วยกัน “เพื่อนบอกว่าน่านนํ้าท่วมนะ หลายอำเภอ ให้ระวังด้วย” ผมเองก็ติดตามข่าวอยู่ด้วยเช่นกัน แต่อำเภอเวียงสาที่เราจะต้องใช้เป็นเส้นทางผ่าน ยังไม่ใช่จุดที่นํ้าท่วมขัง ณ เวลานี้ แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังอุ่นใจกับระดับที่ตํ่าสุดของใต้ท้องรถ Toyota New Fortuner TRD Sportivo ยังสูงจากพื้นกว่า 193 มิลลิเมตรเลยทีเดียว

ผ่านตัวอำเภอเวียงสา ผมเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1026 มุ่งหน้าไปยังอำเภอนาน้อย ยังไม่พ้นตัวเมืองดีนัก รถหลายคันที่วิ่งอยู่ข้างหน้าแตะเบรกชะลอตัว “อาจจะมีอุบัติเหตหรือเปล่า” ผมคุยกับน้องทีมงาน แต่รถก็ไม่ได้หยุดนิ่งยังคงเคลื่อนตัวได้ แต่วิ่งช้าลงเท่านั้นเอง พอใกล้ๆ ผมก็ถึงบางอ้อ รถชะลอตัวเนื่องจากเกิดนํ้าท่วมขังทั้งสองข้างถนน และกินพื้นที่ของถนนเข้ามาเกินหนึ่งเลน “หวังว่าตอนขากลับยังคงมีถนนให้วิ่งอยู่นะ” ผมรำพึงอยู่ในใจ

สภาพเส้นทางจากอำเภอเวียงสามาจนถึงอำเภอนาน้อย ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นอีก ถึงแม้ว่าจะเป็นถนน 2 เลน ที่วิ่งสวนทางกันและลัดเลาะคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา แต่ก็เป็นถนนลาดยางสภาพดีทั้งสาย และรถค่อนข้างน้อยทีเดียว เราจึงทำเวลาได้ค่อนข้างดี และยังมีเวลาเหลือเฝือ จึงตกลงกันว่าไปถ่ายภาพที่เสาดินนาน้อยก่อน แล้วค่อยขึ้นไปยังดอยเสมอดาวในช่วงบ่ายแก่ๆ

เสาดินนาน้อย หรือฮ่อมจ๊อมในภาษาเหนือ เป็นปฏิมากรรมที่เกิดจากธรรมชาติล้วนๆ สภาพโดยรวมก็คล้ายๆ กับแพะเมืองผีที่จังหวัดแพร่นั่นแหละครับ และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติศรีน่านด้วย โดยนักธรณีวิทยาได้สำรวจหลักฐานทางธรณีวิทยา และพบว่า เสาดินนาน้อยนั้น มีอายุประมาณ 100,000-36,000 ปี และสัณนิษฐานว่าน่าจะเป็นทะเล และเป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคหินเก่ามาก่อนจากการค้นพบซากฟอสซิล กำไลหิน และขวานโบราณ

toyota139-11

เสาดินนาน้อย ประติมากรรมจากทางธรรมชาติ

เสาดินนาน้อยเกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวและยุบตัวของเปลือกโลกในยุคเทอร์เซียรีตอนปลาย รวมทั้งการกัดเซาะของลมและนํ้าตามธรรมชาติ โดยเสาดินบางต้นนั้น ในยุคโบราณจะไม่เรียกเสาดิน แต่จะเรียกเป็น “เด่น” แทน และมีเรื่องราวเล่าขานต่อๆ กันมาอย่างเช่น “เด่นปู่เขียว” ว่ากันว่าปู่เขียว ซึ่งคนบ้านแตไปชอบสาวหมู่บ้านเดียวกัน แต่สาวกลับไปแต่งงานกับชายอื่น ปู่เขียวเลยมานั่งตรอมใจตายอยู่ที่เสาดินแห่งนี้ หรือ “เด่นอีบด” อีบดนั้นเป็นคนบ้านแตเช่นเดียวกับปู่เขียว ได้นำควายออกมาเลี้ยงแถวๆ นี้ ตกเย็นก็ขี่ควายกลับบ้าน แต่ด้วยความที่แถวๆ นี้ มีเสืออาศัยอยู่มาก เสือกระโดดออกมากัดควาย ควายตกใจกระโจนหนี ทำให้อีบดตกจากหลังควายและโดนควายเหยียบตาย

toyota139-01

ภาพมุมกว้างทำให้เห็นวิวโดยรอบของเสาดิน

toyota139-12

ศิลปะที่เกิดจากการรังสรรค์ของธรรมชาติสวยงามเสมอ

toyota139-13

ลวดลายของแท่งดินเหมาะแก่การถ่ายรูปเป็นอย่างยิ่ง แต่ควรระมัดระวังครับ เพราะดินอาจพังลง และความสวยงามอาจหมดไป

สภาพอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ไม่เพียงทำให้ฟ้าขาวโพลนเท่านั้น แต่ยังทำให้ภาพมีคอนทราสต์ตํ่าไปด้วย ซึ่งตามจริงการถ่ายภาพในพื้นที่แบบนี้ แสงแข็งๆ อย่างแสงแดด จะช่วยให้มองเห็นลักษณะของพื้นผิวสูงตํ่าของเสาดินได้ง่ายจากแสงเงาที่ทาบทาลงมา แต่สภาพแสงอึมครึมแบบนี้ ทำให้การเน้นรูปทรงของพื้นผิวไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ปรับใช้พารามิเตอร์กล้องแบบ Landscape แล้วก็ตามครับ

ห่างจากเสาดินนาน้อยออกไปประมาณ 800 เมตร เป็นที่ตั้งของคอกเสือ ซึ่งเป็นปฏิมากรรมจากธรรมชาติเช่นเดียวกัน โดยคอกเสือนั้น เป็นบ่อที่ยุบลึกลงไปประมาณ 10 เมตร ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะและพังทลายของดิน มีเรื่องเล่าขานกันมาแต่โบราณ เช่นกันคือ ด้วยเหตุที่บริเวณนี่มีเสืออาศัยอยู่มากมาย และออกมากัดกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านอยู่เนืองๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงวางแผนต้อนเสือเข้าไปยังบ่อดิน แล้วใช้ไม้ปลายแหลมและก้อนหินขว้างปาใส่เสือจนตาย ดังนั้น เลยเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าคอกเสือนั่นเองครับ

ออกจากเสาดินนาน้อย ผมและทีมงานกลับเข้ามายังตัวอำเภอนาน้อยอีกรอบ เพื่อซื้อหาเสบียงอาหารสำหรับมื้อเย็นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ที่พักในคืนนี้ของเรา ซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะกางเต๊นท์บนลานกางเต๊นท์ที่สามารถมองวิวแนวเขาและแม่นํ้าน่านที่อยู่เบื้องหน้าได้อย่างชัดเจน “ผมแนะนำว่าอย่ากางเต๊นท์เลยครับ เมื่อคืนวานนี้พายุลมแรงพัดเต๊นท์นักท่องเที่ยวพังไปหลายสิบหลัง ไม่ได้หลับ ไม่ได้นอนกันเลยครับ” เจ้าหน้าที่ตรงประตูทางเข้าอุทยานฯ บอกมา เมื่อผมและทีมงานแจ้งความจำนงออกไป “ผมขอเข้าไปดูก่อนก็แล้วกันนะ ครับ แล้วค่อยตัดสินใจอีกที” ผมตอบกลับไป

ผมขับรถตามเส้นทางมายังจุดบริการนักท่องเที่ยว เมื่อจอดรถเสร็จสรรพ เห็นเจ้าหน้าที่กำลังฉีดนํ้าล้างเต๊นท์ที่กองเต็มอยู่ด้านหน้า “ที่เจอพายุเมื่อวานเหรอครับ” เจ้าหน้าที่ตอบกลับมา “ครับ เละเทะเลย ค้างหรือเปล่าครับ” เจ้าหน้าที่ถามผมกลับมา “ถ้าจะกางเต๊นท์ ผมแนะนำให้กางในศาลาเอนกประสงค์นั่นดีกว่า เพราะถ้ามีฝนอาจจะเจอมีนํ้าท่วมขัง เดี๋ยวจะนอนกันไม่ได้ เหมือนกลุ่มเมื่อวานนี้อีก” ผมกล่าวขอบคุณ แล้วก็เดินเข้าไปสำรวจศาลาเอนกประสงค์ พื้นศาลาที่เป็นไม้เปียกชุ่มตั้งแต่ทางเข้า แสดงว่าลมแรงจริงๆ พัดเอา สายฝนสาดเข้ามาทั่วทั้งศาลาเลยทีเดียว

ผมกดรีโมทเพื่อเปิดประตูท้ายระบบไฟฟ้า และเวลาปิดก็ยังสามารถกดปุ่มปิดที่ประตูได้เลยด้วย นอกจากนี้ยังมีไฟส่องสว่างเมื่อเปิดประตูขึ้น แถมส่องที่พื้นเป็นตัวหนังสือ TRD เก๋ไก๋ทีเดียว แต่ถึงแม้จะเป็นระบบไฟฟ้า แต่ก็มีเซ็นเซอร์ตรวจจับและหยุดเมื่อมีสิ่งกีดขวางโดยอัตโนมัติอีกด้วย ผมหยิบข้าวของและสัมภาระที่จะต้องใช้งานลงมาเตรียมไว้ ก่อนที่จะกดปุ่มปิดประตูให้ปิดลงมาเองอัตโนมัติ ซึ่งช่วยให้สะดวกกับการใช้งานมากทีเดียว เพราะไม่ต้องออกแรงเวลาที่จะปิดหลังใช้งานเสร็จแล้วด้วย

ผมและน้องทีมงานกางผ้าใบกันฝนให้เป็นแนวกันลมที่จะพัดสาดสายฝนเข้ามา ถ้าหากว่ามีฝนตกลงมา ปูผ้าใบกันนํ้าที่พื้นอีกผืนก่อนที่จะกางเต๊นท์ไว้ด้านบน ทีนี้จะมีนํ้าไหลหลากเข้ามา ก็คงจะไม่ซึมเข้ามาในเต๊นท์อย่างแน่นอน เพราะพื้นเต๊นท์เอง ผู้ผลิตเค้าก็เคลมมาว่ากันนํ้าได้ 100% อยู่แล้วครับ

toyota139-02

ภาพพาโนรามาที่เก็บมุมกว้างของหมอกในยามเช้าที่ก่อตัวขึ้นเหนือแม่น้ำน่าน

เช้าวันใหม่ที่ไร้สายฝน แต่ยังคงเต็มไปด้วยเมฆหนา ผมและทีมงานมีโปรแกรมที่จะขึ้นไปถ่ายภาพบนยอดดอยเสมอดาว แต่สภาพอากาศแบบนี้ ทำให้เราใช้ชีวิตแบบ Slow Life ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงไม่ได้รีบร้อนมากนัก และระยะห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติศรีน่านมากนัก หมอกที่ลอยมาเป็นหย่อมๆ ทำให้ผมคว้าขาตั้งกล้องและกล้อง เดินขึ้นไปยังลานกางเต๊นท์ก่อนที่จะบันทึกภาพ Timelapse เพื่อเก็บบรรยากาศที่สายหมอกเคลื่อนเข้ามากลืนกินทิวเขาและแม่นํ้าน่านให้เหลือแต่เพียงหมอกขาวโพลนเพียงอย่างเดียว

กล้องที่มีฟังก์ชั่น Timelapse สามารถบันทึกและก็รวมภาพทั้งหมดให้เป็นวิดีโอ Timelapse ได้จากตัวกล้องเลย จะสะดวกมากกว่ากล้องที่มีฟังก์ชั่น Interval Timer ที่จะเป็นการบันทึกภาพ Timelapse เก็บไว้ก่อน แล้วค่อยนำมารวมเป็นวิดีโอ Timelapse จากโปรแกรมในภายหลัง ซึ่งอาจจะดูยุ่งยากสำหรับบางคนที่ไม่ได้ชำนาญในการตกแต่งภาพมากนัก แต่ปัจจุบันก็มีแอพลิเคชั่นถ่ายวิดีโอแบบ Timelapse ได้จากสมาร์ทโฟน ก็สะดวกและสนุกกับการใช้งานไปอีกแบบเหมือนกันครับ

ตรงบริเวณที่ทำการอุทยานศรีน่านนี้ ยังเป็นที่ตั้งของจุดท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง นั่นคือ ผาชู้ ซึ่งเป็นหน้าผาสูงและเป็นที่ตั้งของเสาธงที่มีเชือกธงยาวกว่า 200 เมตรเลยทีเดียว ว่ากันว่าเวลาชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา จะต้องร้องเพลงชาติกันถึง 12 รอบกันเลยทีเดียว บนยอดผาชู้ จะเป็นจุดชมวิวได้กว้าง 360 องศา แต่การขึ้นไปด้านบนนั้น จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เสียก่อนครับ แต่กับสภาพอากาศ ณ ปัจจุบัน ทำให้เราตัดสินใจไม่ขึ้นไปครับ

toyota139-07

ยอดผาชู้ที่ตระง่านดูสวยงามเมื่อแสงกระทบลง

ผาชู้นั้น มีตำนานเล่าขานกันมาว่า เป็นตำนานรักของคนสามคน นั่นคือเจ้าจ๋วง ซึ่งเป็นเจ้าแขวงศรีษะเกษ สมรสกับเจ้าจันทร์ และอยู่กินกันมานานโดยไม่มีบุตรหรือธิดา อยู่มาวันหนึ่งเจ้าจ๋วงได้ออกประพาสป่าเพื่อล่าสัตว์ และตามสัตว์มาจนถึงหน้าผาสูง มีกระท่อมของพรานป่าที่อาศัยอยู่กับลูกสาวนามว่าเจ้าเอื้อง เมื่อเจ้าจ๋วงได้พบหน้าเจ้าเอื้อง ก็เกิดรักใคร่ชอบพอ และเพียรขอความรักจากเจ้าเอื้องอยู่เป็นเวลานาน จนเจ้าเอื้องอ่อนใจและยอมเป็นชายาอีกคน ฝ่ายเจ้าจันทร์เห็นว่าเจ้าจ๋วงออกประพาสป่าและไม่กลับมาเป็นเวลานาน จึงตัดสินใจออกตามหา และพบเจ้าจ๋วงกำลังพรอดรักกับเจ้าเอื้องอยู่บนโขดหินใหญ่ จึงได้ตัดพ้อต่อว่าและขอให้เจ้าจ๋วงเลือกว่าจะอยู่กับใคร ฝ่ายเจ้าจ๋วงไม่สามารถตัดสินใจเลือกใครคนใดคนหนึ่งได้ จึงอธิษฐานว่า ถ้าหากความรักของทั้งสามคนเป็นรักแท้อันบริสุทธิ์ ก็ขอให้ร่างกาย ของเรากลายเป็นต้นไม้อยู่คู่กับหน้าผาตลอดไป จากนั้นก็กระโดดหน้าผาลงไป เจ้าจันทร์เห็นดังนั้นก็กระโดดตามลงไปด้วย ฝ่ายเจ้าเอื้องรู้สึกสำนึกต่อบาปกรรม จึงได้กระโดดตามลงไปอีกคน และด้วยแรงอธิษฐาน เจ้าจ๋วงก็กลายร่างเป็นต้นสน หรือต้นจ๋วงในภาษาเหนือ เจ้าจันทร์ได้กลายเป็นต้นจันทร์ผา ส่วนเจ้าเอื้องก็กลายเป็นดอกเอื้อง หรือกล้วยไม้ หน้าผาแห่งนี้จึงถูกเรียกขานกันมาว่าผาชู้ตั้งแต่นั้นมานั่นเอง

toyota139-15

หลังจากที่เก็บของกันเรียบร้อยแล้ว เรามุ่งหน้าไปยังดอยเสมอดาว วิวข้างทางทำให้เราหยุดถ่ายภาพกันอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็เป็นการหยุดบนทางลาดชัน ซึ่งสำหรับการหยุดรถบนทางลาดชันตามเนินเขาหรือคอสะพานสูงๆ นั้น หลายๆ คนอาจจะหวั่นๆ ไปกับการที่รถจะไหลถอยหลังลงเนินมาตามแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่บ้าง เมื่อเวลาที่ต้องเปลี่ยนเท้าจากเบรกไปแตะคันเร่ง แต่สำหรับ Toyota New Fortuner TRD Sportivo มีระบบ HAC หรือ Hill-start Assist Control ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ผมเองใช้งานอยู่บ่อยครั้ง และมองว่า เป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขับขี่ได้เป็นอย่างดี โดยระบบจะหน่วงแรงเบรกค้างไว้ 2 วินาที ซึ่งก็นานพอที่จะยกเท้าจากแป้นเบรกเปลี่ยนมายังคันเร่ง เพื่อที่จะขับเคลื่อนรถไปข้างหน้าได้อย่างสบายๆ โดยที่ตัวรถไม่ไหลตามทางลาดชันเลยแม้แต่นิดเดียวครับ

toyota139-04

toyota139-16

ขั้นบันไดที่ทอดยาวขึ้นไปยังเนินหญ้าเพื่อชมทะเลหมอกแห่งดอยเสมอดาว

toyota139-06

จุดชมวิวดอยเสมอดาว และเบื้องหลังคือผาหัวสังห์อันงดงาม

ดอยเสมอดาว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันขึ้นมา เสพย์บรรยากาศของแนวเขาซับซ้อน พร้อมๆ กับมวลหมอกลอยระเรื่อห่มคลุมแนวเขาเป็นบริเวณกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา จากลักษณะภูมิประเทศของยอดดอยที่เป็นเนินสูง บริเวณเชิงเนินยังปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นลานกางเต๊นท์สำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

toyota139-10

ลานกางเต้นท์ริเวณดอยเสมอดาวที่แต่งแต้มสัสันด้วยเต๊นท์หลากสี

toyota139-08

แสงยามเย็นก่อนพระอาทิตย์จะลับตาและพาเอาความหนาวเย็นฉ่ำใจมาแทนไออุ่น

เสน่ห์อย่างหนึ่งของดอยเสมอดาวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนไม่ขาด นั่นคือ เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกอีกด้วย รายรอบดอยเสมอดาวนั้น เต็มไปด้วยไร่ข้าวโพดกว้างใหญ่ กินพื้นที่ภูเขาไปหลายๆ ลูก ซึ่งทั้งหมดเป็นข้าวโพดที่ปลูกสำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่ข้าวโพดสำหรับรับประทานกันทั่วไปครับ

toyota139-09

วิวจากยอดผาหัวสิงห์ในยามเย็น

ผมและน้องๆ ทีมงานเดินถ่ายภาพกันแบบสบายๆ อากาศใสขึ้น แต่ท้องฟ้ายังคงขาวโพลน ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ที่นอนอยู่ในกระเป๋ากล้องไม่มีโอกาสได้ทำงานเลยละครับ สภาพฟ้าแบบนี้ ปรับหมุนยังไงก็ไม่มีฟ้าสีฟ้าขึ้นมาได้หรอกครับ แต่ถ้าเป็นท้องฟ้าที่มีสีฟ้าอยู่บ้าง ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ก็จะช่วยให้ท้องฟ้ามีสีสันที่อิ่มตัวมากขึ้น หรือฟ้าเข้มขึ้นได้ครับ

ผมเลือกใช้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ ถ่ายภาพบรรยากาศของกระท่อมชาวไร่ที่ตั้งอยู่ตามเนินเขาต่างๆ ซึ่งบางครั้งการถ่ายภาพวิวหรือภาพ Landscape ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เลนส์ Wide หรือเลนส์มุมกว้างๆ อยู่ตลอดไป เพราะภาพที่ได้จะกว้างจนซับเจกต์ที่ต้องการไม่มีความโดดเด่นเท่าที่ควรครับ การใช้เลนส์เทเลโฟโต้เน้นไปที่ซับเจกต์หลัก แต่ยังคงถ่ายทอดบรรยากาศโดยรวมได้ จะทำให้ภาพดูน่าสนใจมากกว่า

toyota139-05

toyota139-17

ทะเลหมอกในยามเช้าที่เกิดขึ้นเหนือแม่น้ำน่านที่มองได้จากดอยเสมอดาว

เราเดินทางกลับลงจากดอยเสมอดาว และแวะทานข้าวกลางวันที่อำเภอนาน้อย ก่อนเดินทางต่อมายังอำเภอเวียงสา นํ้าที่เอ่อขังริมถนนในตอนขาไปกินพื้นที่มาจนเป็นท่วมถนนทั้งสองเลนส์ แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ไม่ได้ยาวมากนัก ผมแตะคันเร่งให้รอบเครื่องอยู่ที่ 1500 รอบ ก่อนที่จะปล่อยให้แรงบิดพารถเคลื่อนตัวผ่านช่วงนํ้าท่วมไปได้ หลังจากนั้นก็แตะเบรกยํ้าๆ หลายครั้ง เพื่อให้ผ้าเบรกที่อาจจะเปียกนํ้านั้นได้แห้งตัว เพื่อการเบรกหยุดได้อย่างมั่นใจครับ ซึ่งระบบเบรกใหม่ของ Toyota New Fortuner TRD Sportivo นั้น เป็นแบบ Disc ทั้งสี่ล้อ และระบบห้ามล้อแบบ ABS ครับ
…………….
ในฉบับหน้านั้น ผมจะพาไปเยือนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะพาไปชมถํ้าพระยานคร และทุ่งสามร้อยยอด จากนั้นจะพามาชิมนํ้าตาลสดเมืองเพชรบุรี ไปเที่ยวเขื่อนแก่งกระจาน และนํ้าตกป่าละอู ส่วนพาหนะของผมและทีมงานนั้น จะยังคงเป็นสุดหล่อ Toyota New Fortuner TRD Sportivo อยู่หรือเปล่านั้น ติดตามได้ในฉบับหน้า

สวัสดีครับ..

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทาง เสาดินนาน้อย, ดอยเสมอดาว จังหวัดน่าน

จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เส้นทางหมายเลข 11 วิ่งไปจนถึงเด่นชัย จากนั้นเลี้ยวขวาไปยังเส้นทางหมายเลข 101 วิ่งตามทางไปจนถึงอำเภอเวียงสา ขับผ่านตัวเมืองเวียงสาและเลี้ยวขวาไปยังเส้นทางหมายเลข 1026 ประมาณ 45 กิโลเมตร ถึงอำเภอนาน้อย ขับผ่านตัวอำเภอนาน้อย และเลี้ยวซ้ายไปยังเส้นทางหมายเลข 1083 (นาน้อย-ปางไฮ) ไปยังเสาดินนาน้อย ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร และดอยเสมอดาว ประมาณ 22 กิโลเมตร