OTHER REVIEWS

Reviews : Laowa 10-18mm F4.5-5.6 FE

จุดเด่นของ Laowa 10-18mm F4.5-5.6 FE

  • มุมรับภาพ 102-130 องศา
  • ฟิลเตอร์ 37 มม. (ท้ายเลนส์)
  • โฟกัสใกล้สุด 15 เซนติเมตร
  • ปรับโฟกัสแบบแมนนวล
  • ขนาดเล็ก กะทัดรัด
  • โครงสร้างแข็งแรง
  • เม้าท์เลนส์ FE-mount สำหรับกล้อง Sony

ผมเองชื่นชอบเลนส์มุมกว้างที่เป็นแบบ Ultra Wide เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะชอบในมุมมองที่กว้างมากๆ ถึงแม้ว่าจะแลกมาด้วยความบิดๆ เบี้ยวๆ บ้างก็ตาม แต่นั่นถือว่าเป็นเสน่ห์ของเลนส์ประเภทนี้ล่ะครับ ยิ่งถ้าหากว่ากว้างแล้วยังถ่ายภาพได้ใกล้ๆ ด้วย ยิ่งจะทำให้มุมมองดูแปลกตา และใช้งานได้สนุกมากขึ้นไปอีกครับ

และ Laowa ก็ได้ออกเลนส์แบบ Ultra Wide รุ่นใหม่ที่เป็นเลนส์ซูม จากเดิมที่มีเฉพาะเลนส์มุมกว้างที่เป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวอย่าง 12mm F2.8 ที่ออกแบบให้ใช้งานกับกล้องฟูลเฟรมหรือ 9mm F2.8 สำหรับกล้อง APS-C ซึ่งให้ความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้นนั่นเองครับ และความโดดเด่นแบบนี้ ก็ไม่พลาดที่จะขอยืมมาลองใช้งานดูล่ะครับ ที่ผ่านๆ มา ผมเองมีโอกาสได้ลองใช้งานเลนส์ Laowa อยู่หลายๆ รุ่น หนึ่งในความประทับใจหลังจากได้สัมผัสเลยคือ วัสดุที่ใช้ และความแน่นหนาในการประกอบตัวเลนส์ ไม่มีอาการโยกคลอนให้เห็นครับ ซึ่งรวมไปถึงเลนส์ตัวนี้ด้วยเช่นกัน วงแหวนปรับควบคุมต่างๆ มีความหนืดกำลังดี ปรับได้ง่าย ทั้งวงแหวนโฟกัสและวงแหวนปรับซูมเลนส์

ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของเลนส์ Laowa 10-18mm คือ มีขนาดเล็ก กะทัดรัด พกพาสะดวก ถึงจะมีมุมมองกว้างถึงระยะ 10 มม.แต่หน้าเลนส์ก็มีขนาดที่กำลังดี ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนเลนส์กล้องฟูลเฟรมอื่นๆ ที่มีมุมมองใกล้เคียงกัน เนื่องด้วยมีขนาดรูรับแสงกว้างสุดที่ไม่ได้กว้างมากนักนั่นเอง แต่ก็ได้ข้อดีกลับมาคือ ให้ความคมชัดมากขึ้นถึงแม้ว่าจะถ่ายภาพที่ขนาดรูรับแสงกว้างสุดก็ตาม

ถึงแม้ว่าด้านหน้าเลนส์จะไม่ได้ใหญ่มากนักแต่ก็ไม่ได้ออกแบบให้ใช้งานกับฟิลเตอร์ทั่วๆ ไปได้ เนื่องด้วยมุมรับภาพที่กว้างมากนั่นเอง แต่ Laowa ก็ออกแบบด้านท้ายเลนส์ให้สามารถใส่ฟิลเตอร์ขนาด 37 มม. ได้ และเปรียบเสมือนเป็นตัวป้องกันเลนส์ชิ้นท้าย ที่ขยับเข้าออก เมื่อปรับซูมเลนส์ไปด้วยในตัวนั่นเอง

สามารถเลือกปรับรูรับแสงแบบมีเสียงคลิ๊ก หรือเลือกปรับแบบลื่นไหลไม่มีเสียง สำหรับการบันทึกวิดีโอได้

รูรับแสงกว้างสุดจะปรับเปลี่ยนไปตามช่วงซูม ที่ช่างภาพจะเรียกกันว่าซูมไหลนั่นแหละครับ ซึ่งเลนส์ตัวนี้จะมีการปรับหรี่รูรับแสงแตกต่างจากเลนส์อื่นๆ ทั่วๆ ไป ที่มักจะมีรูรับแสงกว้างสุดที่ระยะซูมกว้างสุด และหรี่แคบลงเมื่อซูมเลนส์ที่ระยะแคบลง แต่เลนส์ Laowa 10-18mm จะมีการปรับเปลี่ยนที่แตกต่าง โดยเป็นการขยับของชิ้นเลนส์ส่วนหน้า และส่วนหลัง ภายในกระบอกเลนส์ นั่นคือที่ระยะ 10 มม. ช่วงเลนส์จะขยับห่างจากกันมากที่สุด รูรับแสงจะถูกปรับไปเป็น f/5.6 ส่วนที่ระยะ 18 มม. ชิ้นเลนส์ส่วนหน้าและส่วนหลัง จะขยับเข้าใกล้กันมากกว่า รูรับแสงจะถูกปรับกว้างสุด นั่นคือ F4.5 ครับ ซึ่งถ้าหากว่าหยิบเลนส์มาส่องดูกลีบรูรับแสง จะเห็นว่า พอซูมที่ระยะ 18 มม. รูรับแสงจะเปิดกว้างเต็มกระบอก เห็นเป็นรูกลมๆ แต่พอหมุนซูมไปที่ระยะ 10 มม. กลีบรูรับแสงจะขยับออกมา เห็นเป็น 5 กลีบชัดเจนครับ

ส่วนความคมชัดถือว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยมล่ะครับ ที่รูรับแสงกว้างสุดขอบๆ ภาพจะดูฟุ้งๆ อยู่บ้าง เพราะมุมรับภาพกว้างมากนั่นเอง แต่กลางภาพชัดกริบครับ

ซ้าย : ท้ายเลนส์ FE-mount ไม่มีขั้วเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าใดๆ ระหว่างตัวเลนส์กับตัวกล้อง
ขวา : กลีบรูรับแสง 5 กลับ เห็นเหลี่ยมชัดเจน และให้แฉกไฟ 10 แฉก

สำหรับการใช้งานในสภาพแสงปกติ หรือใช้ขาตั้งกล้องที่สามารถหรี่รูรับแสงให้แคบลงได้ ตั้งแต่ f/5.6 เป็นต้นไป จะดึงเอาประสิทธิภาพของตัวเลนส์ออกมาได้เป็นอย่างดีครับ นอกจากนี้วงแหวนปรับรูรับแสงยังออกแบบให้มีสวิทช์ให้สามารถเลือกปรับแบบมีคลิ๊กตามช่องรูรับแสง หรือจะเลือกปรับแบบหมุนฟรี สำหรับการบันทึกวิดีโอ เพื่อลดเสียงที่จะมารบกวนการบันทึกได้ ซึ่งสะดวกกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ครับ

มุมมองที่กว้างมากๆ ช่วยให้สร้างสรรค์มุมมองภาพได้หลายแบบ Sony A7 II เลนส์ Laowa 10-18mm F4.5-5.6 FE โหมด M ชัตเตอร์ 1/250 วินาที f/8, ISO100, WB:Auto, Zoom 18mm

ความคมชัด สีสัน และคอนทราสต์ดีเยี่ยม Sony A7 II เลนส์ Laowa 10-18mm F4.5-5.6 FE โหมด M ชัตเตอร์ 1/160 วินาที f/8, ISO100, WB:Auto, Zoom 10mm

ระบบโฟกัสเป็นแบบปรับหมุนเอง วงแหวนโฟกัสค่อนข้างใหญ่ พร้อมเซาะร่องให้จับได้ถนัดมือดี ความหนืดของวงแหวนกำลังดีเช่นกัน ไม่หนืดจนต้องใช้กำลังเยอะ หรือไม่ลื่นจนปรับโฟกัสยาก มีช่วงโฟกัสสั้นตามสไตล์ของเลนส์มุมกว้าง โดยปรับใกล้สุด 15 เซนติเมตร ไปจนถึงระยะ 1 เมตร จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงอินฟินิตี้ ทำให้ควบคุมระยะชัดลึกได้ง่ายขึ้นนั่นเอง และที่ระยะใกล้สุดผมก็สามารถสร้างสรรค์มุมภาพพิเศษๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วยครับ

มุมมองกว้างๆ สำหรับช่างภาพ Landscape Sony A7 II เลนส์ Laowa 10-18mm F4.5-5.6 FE โหมด M ชัตเตอร์ 1/60 วินาที f/11, ISO100, WB:Daylight (shift), Zoom 10mm

ชิ้นเลนส์ด้านหน้าโค้ทผิวเลนส์แบบ Frog Eye Coating ทำได้ดีเช่นกัน ตลอดการใช้งานนั้นอาการแฟลร์แทบจะไม่มีให้เห็น ส่วน Ghost หรือภาพหลอนนั้น มีให้เห็นได้ ตอนที่ผมถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งเป็นการถ่ายภาพย้อนแสงตรงๆ ด้วยนั่นเอง แต่ภาพหลอนที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ใหญ่จนรบกวนภาพแต่อย่างใดครับ

ระยะโฟกัสที่ใกล้มาก และมุมรับภาพกว้างๆ ช่วยให้สร้างสรรค์มุมมองที่แสดงฉากหลังได้มากขึ้น และทิ้งฉากหลังให้เบลอได้พอสมควร Sony A7 II เลนส์ Laowa 10-18mm F4.5-5.6 FE โหมด M ชัตเตอร์ 1/125 วินาที f/5.6, ISO400, WB:Daylight, Zoom 10mm

ถึงจะมีมุมมองกว้างถึง 10 มม. แต่ก็มี Distortion น้อยมาก สังเกตได้จากเส้นขอบด้านบน ยังคงเป็นเส้นตรง ไม้โค้งเหมือนเลนส์มุมกว้างมากๆ แบบอื่น Sony A7 II เลนส์ Laowa 10-18mm F4.5-5.6 FE โหมด M ชัตเตอร์ 1/40 วินาที f/5.6, ISO100, WB:Auto, Zoom 10mm

ไฟล์ภาพที่ได้จากเลนส์ Laowa 10-18mm ให้ความคมชัดและถ่ายทอดรายละเอียดได้เป็นอย่างดี ให้สีสันที่อิ่มตัว และคอนทราสต์ที่ดีเยี่ยม แต่อาการ Vignette จะดูเยอะไปบ้างที่ 10 มม. เมื่อใช้รูรับแสงกว้างๆ แต่จะดีขึ้น เมื่อหรี่รูรับแสงลงไปที่ f/8 หรือมากกว่า ส่วน Distortion ที่ถือเป็นจุดเด่นของเลนส์ Laowa หลายๆ รุ่น ที่มีการปรับแก้ไขอาการบิดเบี้ยวได้เป็นอย่างดี สำหรับเลนส์ตัวนี้ก็เช่นกันครับ มีความเบี้ยวน้อยมาก เมื่อเทียบกับมุมรับภาพที่ได้ โดยเฉพาะเมื่อถ่ายภาพที่วางกล้องได้แนวระนาบพอดี ไม่ก้ม ไม่เงย จะเห็นว่าเส้นสายแนวตั้งตามขอบภาพจะยังดูเป็นเส้นตรงอยู่นั่นเองครับ

สรุปผลการใช้งาน

เป็นเลนส์ที่ออกแบบสำหรับนักถ่ายดาวและทางช้างเผือกด้วยเช่นกัน Sony A7 II เลนส์ Laowa 10-18mm F4.5-5.6 FE โหมด M ชัตเตอร์ 135 วินาที f/5.6, ISO1600, WB:4000k, Zoom 10mm

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม หรือชื่นชอบมุมภาพกว้างๆ ก็น่าจะถูกใจกับเลนส์ตัวนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากตอบสนองการใช้งานได้หลายๆ อย่าง ทั้งมุมมองภาพที่กว้างสะใจ และปรับซูมได้ด้วย ตัวเลนส์มีขนาดเล็ก กะทัดรัด พกพาสะดวก จะติบ้างก็ตรงที่น่าจะมีระบบไฟฟ้าเชื่อมการทำงานของกล้องกับตัวเลนส์ ให้สามารถบันทึก exif file เพื่อเช็ก ระยะซูมและข้อมูลการตั้งค่าต่างๆ รวมทั้งการเลือกใช้งานกับระบบป้องกันการสั่นไหว เมื่อต้องใช้งานแบบ Handheld ด้วยครับ

 

ขอบคุณ บริษัท คาเมร่า เมคเกอร์ จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์เลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ : www.cameramaker.co.th

เรื่อง / ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews