สำหรับการใช้งานระดับอาชีพและสำหรับช่างภาพระดับจริงจัง เลนส์ 70-200 มม. F/2.8 นับว่าเป็นเลนส์ยอดนิยม ด้วยความคล่องตัวในการทำงาน ด้วยความสว่างระดับ F2.8 ที่ทำให้ทำให้ใช้งานได้ดีในสภาพแสงน้อย เบลอฉากหลังได้ดี และคุณภาพที่ใกล้เคียงเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวเข้าไปทุกที
ซิกม่าผลิตเลนส์ 70-200 มม f/2.8 ออกมาหลายรุ่น ก็นับว่าได้รับความนิยมพอควรแต่ยังไม่มีรุ่นใดที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ทั้งด้านคุณภาพ การออกแบบ และการใช้งาน มืออาชีพและช่างภาพระดับจริงจังยังให้ความเชื่อมั่นกับเลนส์ 70-200 มม. f/2.8 ของค่ายกล้องมากกว่า หลังจากซิกม่าปล่อยเลนส์ซีรีส์ ART ออกมาหลายรุ่น และได้การยอมรับจากมืออาชีพอย่างมาก นักถ่ายภาพหลายคนจึงรอว่าเมื่อไรซิกม่าจะปล่อยเลนส์ 70-200 มม. f/2.8 ใหม่ในซีรีส์ ART ออกมา เพราะหวังว่าจะได้ใช้เลนส์ดีในราคาถูกลงกว่าเลนส์ค่าย สัก 30-40% และซิกม่าก็ได้เปิดตัวเลนส์เทเลซูมเกรดโปร 70-200 มม. f/2.8 เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาด้วยการออกแบบใหม่หมด ทั้งออพติคและภายนอก เพื่อให้เป็นเลนส์ระดับโปรอย่างแท้จริง ไม่เป็นรองเลนส์จากค่ายกล้องในทุกๆ ด้าน เพียงแต่มันไม่ได้อยู่ในซีรีส์ A (ART) แต่อยู่ในซีรีส์ S (SPORT) ซึ่งเป็นซีรีส์ที่อยู่ในระดับเดียวกัน แต่เน้นความเร็วของระบบออโตโฟกัส เพื่อรองรับการใช้งานทุกรูปแบบรวมทั้งการถ่ายภาพกีฬา
การออกแบบ
ต้องบอกว่านี้คือเลนส์ที่ออกแบบได้สวยและลงตัวมากรุ่นหนึ่ง โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เคยชอบการออกแบบของซิกม่ากับเลนส์ 70-200 มม. f//2.8 ในทุกเวอร์ชั่น แต่รุ่นนี้แตกต่างครับ ออกแบบได้น่าประทับใจ ตัวเลนส์มีขนาดใหญ่และหนักที่สุดในบรรดาเลนส์ช่วงเดียวกัน ด้วยขนาดเลนส์ 94.2 x 202.9 มม. ขนาดฟิลเตอร์ 82 มม. และมีนํ้าหนักถึง 1,805 กรัม ซึ่งนับว่าหนักมาก (นํ้าหนักเฉลี่ยของเลนส์ซูมช่วงนี้คือ 1,400–1,500 กรัม) แต่ก็นั่นแหละครับ มันก็มาพร้อมโครงสร้างที่แข็งแรงระดับโปร รองรับการใช้งานหนักของมืออาชีพได้ดีเป็นพิเศษ ผมลองปรับหมุนวงแหวนซูม พบว่าดูมั่นคงแน่นหนามาก ระบบกลไกยอดเยี่ยม ปรับได้ราบเรียบนุ่มนวลอย่างยิ่ง ที่ชอบมากคือวงแหวานซูมทำเป็นสโลปสองชั้น ส่วนหน้าจะขยายขนาดขึ้นมาอีกเล็กน้อย โดยวงแหวานซูมจะขยายออก รวมทั้งส่วนของยางหุ้มวงแหวนด้วย ทำให้การจับและปรับซูมทำได้ถนัด แต่วงแหวนซูมจะวางอยู่ส่วนหน้าของกระบอกเลนส์เช่นเดียวกับเลนส์อิสระส่วนใหญ่ ต่างจากเลนส์ 70-200 มม. F/2.8 ของผู้ผลิตกล้องที่วางไว้ส่วนกลางกระบอก (ปรับได้ถนัดกว่า สมดุลกว่า)
การปรับซูมเป็นแบบเลื่อนเฉพาะกลุ่มเลนส์ภายใน (Internal Zoom) กระบอกจะไม่ยืดออก ความยาวเลนส์ไม่เปลี่ยน วงแหวนซูมมีขนาดใหญ่ กว้าง 64 มม. ส่วนที่หุ้มยางกว้าง 43 มม. ใช้ยางหุ้มลายเส้นนูนที่เกาะนิ้วและดูสวยงามถัดจากวงแหวนซูม จะคั่นด้วยกระบอกเลนส์ส่วนกลางที่วางปุ่มควบคุม 3 ปุ่ม ใช้เพื่อควบคุมระบบออโตโฟกัสของเลนส์ ตามการปรับตั้ง วางอยู่ในตำแหน่งที่ดี กดใช้งานสะดวก
วงแหวนโฟกัสวางอยู่ส่วนกลางของกระบอก มีขนาดค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับเลนส์ของผู้ผลิตกล้อง สามารถปรับโฟกัสแมนนวลได้ตลอดเวลา การปรับโฟกัสราบเรียบ นุ่มนวล และมีช่วงหมุนกว้างถึง 160 องศา จึงปรับโฟกัสแมนนวลได้ละเอียด ส่วนระบบออโตโฟกัสทำงานด้วยมอเตอร์ HSM (Hyper Sonic Motor) พลังสูง ที่ปรับปรุงอัลกอริธึมในการขับเคลื่อนใหม่ จึงโฟกัสได้รวดเร็ว ตอบสนองต่อการโฟกัสต่อเนื่องได้ดี ระบบโฟกัสเป็นแบบเลื่อนกลุ่มเลนส์ภายในกลุ่มใหญ่ส่วนหน้า จึงไม่เกิดปัญหาเรื่องการสูญเสียทางยาวโฟกัสเมื่อถ่ายระยะใกล้ โดยสามารถปรับโฟกัสใกล้สุดได้ที่ระยะ 1.2 เมตร ให้อัตราขยาย 1:4.8 ระยะโฟกัสจะแสดงภายในช่องพลาสติกใส แสดงค่าเมตรและฟุตเป็นสีขาวทั้งคู่ วงแหวนโฟกัสกว้าง 28 มม. โดยส่วนที่หุ้มยางกว้าง 22 มม. ใข้ยางหุ้มลายเส้นนูนแนวตรงเหมือนยางหุ้มวงแหวนซูม ปรับได้เกาะนิ้ว และดูสวย
ถัดจากทำงาน 4 ระบบด้วยกัน คือระบบ Focus (ปรับออโตโฟกัส ,ปรับ MO (Manual Override) โฟกัสแมนนวลได้ตลอดเวลา และ MF ปรับโฟกัสแมนนวล) ถัดลงมาเป็นสวิตช์ล็อกช่วงโฟกัส ระหว่าง FULL (1.2 เมตรถึงอินฟินิตี้) และ 3 เมตรถึงอินฟินิตี้ ระบบกันสั่นปรับได้ 2 โหมด คือ 1. สำหรับการใช้งานทั่วไป และโหมด 2. สำหรับการแพนกล้อง ระบบกันสั่นของเลนส์รุ่นนี้เคลมว่าใช้อัลกอริธึมใหม่ ลดการสั่นไหวได้ 4 สตอป สวิตช์ล่างสุด CUSTOM ปรับเลือกการทำงานได้ 2 รูปแบบคือ C1 และ C2 หรือปิด
คอลลาร์ของเลนส์รุ่นนี้ถอดออกไม่ได้นะครับ ทำมาแน่นหนาแข็งแรงอย่างยิ่ง ปรับได้นุ่มนวลและมีคลิ๊กเมื่อปรับ 90 องศา ทำให้การปรับกล้องแนวนอน แนวตั้ง ทำได้เร็วและเที่ยงตรง สวิตช์ล็อกก็แข็งแรงและล็อกได้แน่นมาก เพลทของคอลลาร์เป็นแบบรองรับการใช้ร่วมกับบอลเฮดที่ใช้ระบบเพลท Arca จึงสามารถสวมเข้ากับบอลเฮดได้ได้โดยตรง รวดเร็วและสะดวกอย่างยิ่ง การถอดเพลทออกจากคอลลาร์จะต้องใช้ประแจหกเหลี่ยม เพราะยึดด้วยสกรูถึง 4 จุด เพื่อความมั่นคง จึงถอดลำบากสักหน่อย
โครงสร้างของกระบอกเลนส์แข็งแกร่งสุดยอดด้วยกระบอกเลนส์ส่วนกลางและส่วนท้ายที่ผลิตจากแมกนีเซียมอัลลอยทั้งชุด ในขณะที่ส่วนหน้าจะเป็นวัสดุผสมที่เบาแต่แข็งแรง เลนส์มีการซีลรอบตัวเพื่อป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า ทั้งวงแหวนซูม วงแหวนโฟกัส สวิตช์ต่างๆ ปุ่ม และแปลนเมาท์
ออพติคระดับเยี่ยมยอด ซิกม่าออกแบบเลนส์รุ่นนี้ โดยไร้การประนีประนอมในทุกๆจุด เพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุดเท่าที่จะทำได้จากเลนส์เทเลซูม โดยมีการใช้ชิ้นเลนส์พิเศษมากมาย ใช้ชิ้นเลนส์ FLD ที่มีการกระจายแสงตํ่ามาก (ใช้คำว่า F แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็น Fluorite) ถึง 9 ชิ้น และชิ้นเลนส์ SLD อีก 1 ชิ้น จากโครงสร้างชิ้นเลนส์ทั้งหมด 24 ชิ้น 22 กลุ่ม ระบบโค้ทผิวเลนส์แบบหลายชั้น เพื่อควบคุมแฟลร์ให้น้อยที่สุด เลนส์ชิ้นหน้าและท้าย เคลือบผิวแบบ oil repellent เพื่อป้องกันคราบและหยดนํ้าเกาะติด ทำให้เช็ดทำความสะอาดง่าย การเคลือบกันแสงสะท้อนภายในกระบอกทำได้ดีมาก งานการผลิตประณีตอย่างยิ่ง ชิ้นเลนส์ดูใส แสงสะท้อนภายในน้อยมาก เลนส์รุ่นนี้ใช้ไดอะแฟรม 11 ใบ ให้รูปทรงกลมเป็นพิเศษจึงให้โบเก้ที่สวยและเนียนเป็นธรรมชาติ
สำหรับเมาท์แคนนอน ซิกม่าแจ้งว่ารองรับการทำงานร่วมกับระบบ Lens Aberration Correction ของกล้องแคนนอน ในการปรับแก้อาการขอบมืด ความคลาดสีและดิสทอร์ชันอัตโนมัติ และกับเมาท์นิคอนจะใช้ไดอะเฟรมแบบ Electromagnetic ที่ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า เช่นเดียวกับเลนส์รุ่นใหม่ๆ ของนิคอน
ผลการใช้งาน
กล้อง Sony A7R III เลนส์ Sigma 70-200mm f/2.8 DG OS HSM Sport ; 1/500 Sec f/8, Mode : M, WB : Auto, ISO 100
นี่คือเลนส์ซูมของซิกม่าที่ผมชอบมากที่สุดในการออกแบบ มันดูโปร สวย และงานการผลิตดีมาก ขนาดเลนส์ใหญ่และหนักครับแต่บาลานซ์ดีมากกับกล้อง DSLR ของแคนนอนอย่าง EOS 5D Mark IV หรือ EOS 6D Mark II แต่ถ้านำมาใช้กับกล้องโซนี่ตระกูล A7 ผ่านอแดปเตอร์ การจับถือและควบคุมจะลำบากอยู่บ้าง นํ้าหนักจะถ่วงด้านหน้ามากๆ ทำให้ต้องเกร็งมือมากกว่าปกติ การปรับซูมทำได้ราบเรียบดีมาก กลไกดีกว่าเลนส์ช่วงนี้ส่วนใหญ่ ระบบโฟกัสทำงานได้เร็วและเงียบ การวิ่งเข้าจุดชัดราบเรียบ แน่นอน แต่กับกล้องที่ใช้อยู่จะต้องปรับจูนโฟกัสที่กล้องเล็กน้อย (ผมไม่ได้ลองจูนด้วย Dock ของซิกม่า) การโฟกัสติดตามวัตถุทำได้ดีน่าพอใจ การออกตัวของชุดโฟกัสเร็วตอบสนองต่อเนื่องดี
ผมลองใช้เลนส์รุ่นนี้กับบอดี้ SONY A7R III โดยใช้ร่วมกับอแดปเตอร์ SIGMA MC 11 ที่อัพเดทเฟิร์มแวร์ล่าสุดแล้ว พบว่าการโฟกัสทำได้ค่อนข้างดี เร็ว และแม่นยำใช้ได้ จะมีปัญหาบ้างกับวัตถุที่มีคอนเทรส์ตํ่าและในสภาพแสงน้อย กล้องอาจโฟกัสหลุดบ้าง หรือเมื่อใช้พื้นที่โฟกัสแบบจุดเดียวขนาดเล็กก็อาจมีปัญหาบ้าง เลนส์รุ่นนี้สามารถใช้ร่วมกับ Eye AF ของ A7R III ได้ การทำงานนับว่าโอเคครับยังไม่จิกแน่นเหมือนเลนส์โซนี่ แต่ก็รับได้
กล้อง Sony A7R III เลนส์ Sigma 70-200mm f/2.8 DG OS HSM Sport ; 1/100 Sec f/2.8, Mode : M, WB : Auto, ISO 1000
ความคมชัดของเลนส์รุ่นนี้หายห่วงครับ ไม่ต้องเทียบกับรุ่นเดิมให้เสียเวลา ดีกว่าทุกด้าน ดีกว่ามาก มันให้ภาพคมกริบทุกช่วงซูม โดยเฉพาะที่ช่วง 200 มม. ซึ่งเป็นจุดอ่อนของเลนส์หลายรุ่น แต่กับ SIGMA 70-200 mm. f/2.8 DG OS HSM Sport ภาพยังคมกริบอยู่ และคมมากแม้เปิดรูรับแสง f/2.8 ซึ่งจุดนี้สำคัญมากนะครับ เพราะผมเชื่อว่าช่างภาพที่ใช้เลนส์ 70-200 มม. f/2.8 มักจะใช้งานที่ช่วง 135-200 มม. มากกว่าช่วง 70-120 มม. และมักจะเปิด f/2.8 กว่าครึ่งนึงของภาพที่ถ่าย ดังนั้นภาพที่ได้จากเลนส์รุ่นนี้จึงน่าตรงความต้องการของมืออาชีพ เพราะที่ f/2.8 ตั้งแต่ช่วง 70 มม. 100 มม. 135 มม. จนถึง 200 มม. ความคมชัดของภาพแทบไม่ลดลงแม้แต่น้อย กลางภาพคมกริบ ขอบภาพดี รายละเอียดของผิว เส้นผม ชัดเจน โดยจะยอดเยี่ยมที่ f/4 และ f/5.6
ความใสของภาพคือสิ่งที่น่าประทับใจอีกเรื่อง ด้วยการโค้ทผิวที่ดีมากและการเคลือบภายในทีดีทำให้ภาพที่ได้มีความใส เคลียร์ ความอิ่มสีสูง เมื่อถ่ายภาพย้อนแสงสีก็ยังมาเต็ม แสงฟุ้งนับว่าน้อยกว่าเลนส์ 70-200 มม. f/2.8 ส่วนใหญ่ การใช้ในสภาพแสงน้อย แสงชมุกขมัว ก็ยังให้สีอิ่มตัวน่าพอใจ
กล้อง Sony A7R III เลนส์ Sigma 70-200mm f/2.8 DG OS HSM Sport ; 1/125 Sec f/2.8, Mode : M, WB : Auto, ISO 800
สีเหลื่อมของเลนส์รุ่นนี้นับว่าน้อยมาก ภาพจึงดูใสสะอาด รายละเอียดดีและที่น่าสนใจคือมี LoCA ค่อนข้างน้อย กับภาพบุคคลจึงได้ส่วนนอกระยะชัดบริเวณเส้นผมที่ไม่เห็นสีเขียวเหลื่อมออกมา ภาพจึงดูสะอาด ดิสทอร์ชันของเลนส์ปรากฏเล็กน้อยแบบโค้งออกที่ช่วง 70 มม. และโค้งเข้าเล็กน้อยที่ช่วง 135-200 มม. แต่ไม่มากจนเป็นผลเสียต่อภาพ
อาการของภาพมืดปรากฏที่ f/2.8 ค่อนข้างชัด แสงตกขอบภาพน้อยกว่ากลางภาพราวๆ 2 สตอป แต่จะลดลงชัดเจนที่ f/4 และแทบไม่ปรากฏที่ f/5.6
กล้อง Sony A7R III เลนส์ Sigma 70-200mm f/2.8 DG OS HSM Sport ; 1/1600 Sec f/4, Mode : M, WB : Auto, ISO 200
ในการใช้งานต้องบอกว่านี้คือเลนส์ที่ผมชอบรุ่นหนึ่ง เมื่อใช้กับกล้อง DSLR เพราะระบบกลไกดีมาก ควบคุมได้ดี โฟกัสเร็ว ระบบกันสั่นดี (ลดการสั่นไหวในสภาพการใช้งานจริงได้ 2.5–3 สตอป ) แต่ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าหนักนะครับ หากคุณไม่คุ้นชินกับเลนส์หนักๆ แขนอาจจะล้าได้หากต้องใช้ต่อเนื่องนานๆ โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับบอดี้ระดับโปร หรือเซมิโปร+กริป นํ้าหนักจะปาเข้าไปกว่า 3 กิโลกรัม แต่ถ้าคุณคุ้นเคยกับนํ้าหนักขนาดนี้ ก็จะพบว่ามันเป็นเลนส์ที่ใช้สนุกมาก ส่วนการใช้กับกล้องมิเรอร์เลสนั้น ก็ต้องบอกไว้ก่อนเลยครับว่า ภาพน่าประทับใจแต่หนักและจับถือลำบากสักหน่อย บอดี้ต้องติดกริปแนวตั้งจึงจะโอเคขึ้น ไม่เช่นนั้นจะปวดมือในเวลาไม่นาน
ความเห็น
กล้อง Sony A7R III เลนส์ Sigma 70-200mm f/2.8 DG OS HSM Sport ; 1/250 Sec f/4.5, Mode : M, WB : Auto, ISO 200
กับราคาขาย 50,900 บาท ต้องนับว่า คุ้มค่า คุ้มราคา อย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่ได้คือ คุณภาพในระดับเดียวกับเลนส์ 70-200 มม. f/2.8 รุ่นล่าสุดของผู้ผลิตกล้อง แต่จ่ายน้อยกว่ากันกว่าสามหมื่นบาท เป็นเลนส์ระดับแนะนำได้เต็มปากเต็มคำครับว่าน่าใช้ (หากไม่เกี่ยงนํ้าหนัก) ขณะนี้ผลิตออกมาสองเมาท์คือ Canon EF และ Nikon F
ขอบคุณ บริษัท ชีร์โร่ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์เลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ : www.shriromarketing.co.th
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
ขอบคุณครับ
ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews