ชื่อ จีรศักดิ์ จำปาเทศ ครับ งานผมปัจจุบันที่ทำอยู่ คือ งานรีทัช Retouch หรืองานตกแต่งภาพเพื่อใช้ในการโฆษณาของสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งหลักๆ แล้วผมจะรับงานจากเอเจนซี่บริษัทโฆษณาเป็นหลัก และงานอีกส่วนนึง คือ เมื่อมีเวลาว่าง ก็จะเปิด Workshop สอนช่างภาพและคนที่สนใจเรื่องการถ่ายภาพ+แต่งภาพ งานนี้จริงๆ แล้วมันมันเกิดขึ้นยังไง ผมเองก็งงๆ น่ะครับ แต่ก็ทำมาเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาที่สะดวก และมีเวลาว่างมากพอ ก็…เผลอแผล็บเดียวจะ 10 ปีกว่าแล้วที่สอนคนมา
จากจุดเริ่มต้นของครูที่เรียนจิตรกรรมมาแล้วมาสู่การถ่ายภาพได้อย่างไร ในช่วงที่ทำงานบริษัทโฆษณาครูเริ่มถ่ายภาพหรือยัง
การถ่ายภาพมันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเตรียมงาน ของคนที่เรียนวาดรูปคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากรอยู่แล้วครับ เช่น ในขั้นตอนเตรียมงาน (หลังจากเรียนพื้นฐานศิลปะ ปี 1 มาแล้วเริ่มเข้าสู่ปี 2-3-4 และ 5) เราต้องหาข้อมูล,สเก็ตช์งาน,เก็บข้อมูลก่อนการเขียนลงเฟรมจริง อันนี้ต้องออกไปหาถ่ายรูปจากสถานที่จริงมาไว้ก่อนอยู่แล้ว แล้วค่อยมาเรียบเรียง สเก็ตช์ความคิดจนตกผลึกได้เป็นภาพจากสถานที่จริง แล้วค่อยมาเป็นภาพสเก็ตช์ไฟนอล ก่อนที่จะเขียนลงเฟรมจริงๆ ซึ่งงานของผมไม่ได้เป็นงานเขียนจากความเป็นจริง เช่น ภาพแลนเสคป,ภาพคน หรือ หุ่นนิ่ง ฯลฯ ที่สามารถเอาเฟรมไปตั้งสถานที่จริงแล้วเขียนภาพตามที่ตาเห็น แต่เป็นการเขียนจากสิ่งที่เราคิดขึ้นมาเอง คือ คิดขึ้นมาใหม่จากสิ่งที่มีอยู่จริงแต่เอามาจัดการรูปลักษณ์และองค์ประกอบใหม่ ไม่ใช่งานแนว Abstract แต่เป็นงานแนวกึ่ง Realistic คือมีอยู่จริง แต่เราจัดสรรค์ที่อยู่ใหม่ จัดการองค์ประกอบใหม่ ซึ่งก็ต้องมีข้อมูลจริงๆ เป็นเครื่องมืออ้างอิง ไม่ใช่การเขียนภาพ แบบนั่งคิดขึ้นเองทั้งหมดครับ เพราะฉะนั้นการถ่ายภาพเลยกลายเป็นกระบวนการในการเตรียมงาน ออกไปหาข้อมูล ถ่ายภาพเก็บข้อมูลตามสถานที่ต่างๆ โดยมากก็จะเป็นวัด และสถานที่ตามโบราณสถานที่สำคัญๆ สมัยเรียนไม่ค่อยมีเงินก็ใช้กล้องถูกๆ ก่อน ถ่ายพอได้รูปเอามาดูเป็นไกด์ไอเดียในการทำงานสเก็ตช์ ตอนนั้นผมเริ่มจากใช้กล้องป๊อกแป๊ก โกดักขุนแผน ซึ่งเป็นกล้องที่ถ่ายง่ายๆ แบบไม่ต้องคิดอะไร แค่ยกขึ้นมองแล้วกดชัตเตอร์เลย แล้วก็ค่อยๆ ขยับไปตามงบประมาณที่เริ่มมีมากขึ้นตามวัยครับ เริ่มตั้งแต่ Pentax K1000 Nikon FM2 Nikon FE2 Nikon F4 จนเรียนจบเริ่มทำงาน ตอนนั้นกำลังเข้าสู่ยุคกล้องดิจิตอลแล้ว ก็เริ่มจาก Canon EOS300D Canon EOS 10D Canon EOS 20D,Canon EOS5D เป็นลำดับ จนถึงปัจจุบันนี้ก็ใช้อยู่ 2 ตัว คือ Canon EOS5D กับ Sony A7R ครับ
ช่วงที่ทำงานโฆษณา ผมถ่ายภาพมานานแล้วครับ แต่ช่วงนั้นจะเป็นการถ่ายเป็นงานอดิเรกซะส่วนใหญ่ คือ พอถ่ายรูปมานานเข้าตั้งแต่ตอนเรียน มันก็เลยกลายเป็นสิ่งที่เรารักไปโดยไม่รู้ตัว เหมือนมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้วเวลาไปไหน ก็จะมีกล้องติดตัวไปตลอด ตอนนั้นกล้องดิจิตอลคอมแพคเริ่มมีแล้ว ก็ซื้อตัวเล็กๆ เอาไว้ติดตัวเวลาไปเที่ยวครับ จนเริ่มมาทำงานรีทัช มันก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานไปโดยปริยาย ที่แยกไม่ออก ทั้งต้องไปดูช่างภาพถ่ายในสตูดิโอ ตั้งแต่เช้ายันดึก บางทีก็ยันสว่างก็มีบ่อยๆ และบางครั้งก็ต้องถ่ายซ่อมเอง ในบางอย่างที่ลูกค้าหรือทางอาร์ตได ลืมถ่ายมาให้เราใช้ประกอบในงานนั้นๆ ครับ
ทำไมครูต้องจึงสนใจการปรับแต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop ในช่วงทำงานบริษัทโฆษณา
ผมเริ่มจับโปรแกรม Photoshop ตั้งแต่เวอร์ชั่น 1.5 (ตอนนี้เป็นเวอร์ชั่น CC 2019) จริงๆ ต้องบอกว่า เริ่มแรกผมถูกบริษัทที่ทำงานที่แรกบังคับให้เรียน ตอนนั้นบอกเลยว่า ไม่ชอบมากๆ แต่ก็ต้องไปเรียน บริษัทจ้างคนมาสอนที่ออฟฟิศ ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ (คือจริงๆ ไม่สนใจ) แต่พอหลังจากนั้น ย้ายที่ทำงานมาหลายบริษัท โปรแกรม Photoshop พัฒนาเป็นเวอร์ชั่น 2.5 แล้ว ผมเริ่มสังเกตเห็นว่าโปรแกรมมันมีเครื่องมือสำหรับเขียนรูปให้ครบเลย ทั้งพู่กัน สี ปากกา แอร์บรัช ไม้บรรทัด ยางลบ ฯลฯ เรียกว่าอุปกรณ์ที่เราต้องไปซื้อหามาแพงๆ (อุปกรณ์เขียนรูปมีราคาแพงมาก) มันมีอยู่ในนั้นครบเลย ผมก็เลยเริ่มสนใจมันจริงๆ จังๆ ผมจับโปรแกรม Photoshop เพราะจะเอามันมาเขียนรูป ซึ่งจริงๆ ก็เคยใช้โปรแกรม Corel Painter (เป็นโปรแกรมที่ใช้วาดรูปโดยเฉพาะเลย) ในช่วงแรกๆ แต่กลับรู้สึกชอบการทำงานของโปรแกรม Photoshop มากกว่า และตอนนั้นเริ่มสนใจงานรีทัชภาพถ่ายในงานโฆษณาเป็นพิเศษ และ Photoshop มันตอบสนองการแต่งรูปมากกว่าก็เลยไม่ค่อยได้ใช้ Corel Painter แต่กลับใช้โปรแกรม Photoshop เป็นหลัก ทั้งตกแต่งภาพ รีทัช และวาดรูป ผมเป็นคนแรกในบริษัทโฆษณาที่ทำงานอยู่ตอนนั้น ที่จู่ๆ ก็เอาคอมพิวเตอร์มาเขียนรูป เคยมีพี่ที่สนิทกันในบริษัทพูดกับผมเล่นขำๆ ว่าคอมพิวเตอร์เค้าเอาไว้ทำงานกราฟฟิคนะโว๊ย ไม่ใช่เอามาเขียนรูป แต่ผมก็หัวเราะแล้วบอกว่าก็ผมจะเอามันมาเขียนรูป จะเป็นไรไป
ในช่วงแรกๆ ครูต้องชอบถ่ายภาพแนวไหนเป็นพิเศษ
คือมันสืบเนื่องมาจาก เราถ่ายภาพแรกๆ เพื่อเอามาเป็นข้อมูลในการเขียนรูป พอเราเรียนจบเริ่มทำงาน เริ่มมีเงินซื้อกล้องดีๆ ใช้ ก็เริ่มถ่ายทุกอย่างที่เห็นและสะดุดตา ถูกใจ แต่ส่วนมากจะถ่ายแนววิถีชีวิตผู้คนที่เราพบเห็น Street และ Landscape เป็นหลัก พอร์เทรตนี่มาถ่ายเยอะตอนที่ออกมาเปิดบริษัทตนเอง และทำงานรีทัชแล้วครับ
ระหว่างการถ่ายภาพกับการรีทัช ครูให้ความสำคัญเรื่องไหนมากกว่ากัน เพราะอะไร
จริงๆ แล้วมันสำคัญทั้งคู่นะ ไม่มีอะไรสำคัญน้อยกว่ากัน แต่มันทำหน้าที่เสริมซึ่งกันและกัน ถ้าถ่ายภาพมาไม่ดี คือต้นทุนที่ได้ภาพมามันไม่ดี เอามาแต่งให้เหนื่อยแค่ไหน มันก็ได้ภาพไม่ดี และถ้าภาพถ่ายนั้นๆ ถ่ายมาดีมาก แต่ไม่แต่งเลย หรือแต่งไม่ดี ก็กลายเป็นภาพที่ไม่น่าสนใจ เป็นภาพที่ดูพื้นๆ ไม่สะดุดตาที่จะให้คนสนใจได้ น่าเสียดายโอกาสของภาพนั้นๆ ที่จะปังได้มากกว่านี้ก็หลุดหายไป
ผมเคยคุยกับช่างภาพระดับโลกคนนึง ขออนุญาติไม่เอ่ยนาม เพราะเป็นการคุยกันส่วนตัวครับไม่ได้เป็นทางการ ผมถามเค้าว่า “ผลงานคุณ ฝีมือการถ่ายภาพของคุณดีมากๆ และมีชื่อเสียงระดับโลกขนาดนี้แล้ว ทำไมยังต้องแต่งภาพอีก”(เค้ามีทีมงานโพรเซสภาพให้เค้าเป็นทีมซัพพอร์ตเค้าโดยตรงเลย) เค้าตอบมาสั้นๆ น่าคิดมาก และสรุปได้ใจความทุกอย่างได้แจ่มชัดที่สุดว่า “ถ้าคุณถ่ายภาพเพื่อความสุข เป็นงานอดิเรก คุณไม่ต้องทำอะไรหรอก เพราะคุณได้ความสุขจากการออกไปถ่ายภาพมาแล้ว ได้เที่ยว ได้สนุกสนานพูดคุยกับเพื่อน ได้อวดอุปกรณ์กัน ได้แบ่งปันเรื่องราวกับเพื่อนๆ เผลอๆ กลับมาถึงบ้านคุณยังไม่เปิดดูรูปที่คุณถ่ายมาซะด้วยซํ้า …แต่ถ้างานที่คุณทำมันเป็น Commercial เป็นการพาณิชย์ มันคือการแข่งขัน การตลาดคือการแข่งขัน …คุณไม่ทำคุณแพ้แล้ว..” จริงที่สุดและได้ใจความที่สุดครับ
คนที่เก่งเรื่องรีทัชเมื่อถ่ายภาพจะมีวิธีการถ่ายและมุมมองในการถ่ายภาพที่แตกต่างจากช่างภาพทั่วๆ ไปหรือไม่
มันเป็นข้อได้เปรียบแต่ก็ไม่ทุกคนหรอกครับ มันจะเห็นโพรเซสกระบวนการของขั้นตอนที่จะทำให้ภาพนี้น่าสนใจยังไงได้อีกมากกว่าครับ และด้วยความได้เปรียบที่เรียนมาทางศิลปะทำให้เราจับจุดได้ง่ายว่า จะเล่าเรื่องยังไง จะจัดองค์ประกอบภาพยังไงให้น่าสนใจ จะวางภาพยังไงให้เตะตา และดึงดูดสายตาคนที่เห็นได้อยู่หมัด อันนี้เป็นแค่ข้อได้เปรียบ ที่เรามีต้นทุนตรงนี้
แต่..ทักษะการถ่ายภาพยังไงก็ต้องเริ่มต้นเหมือนๆ กับทุกคนครับ เริ่มตั้งแต่ ฝึกการวัดแสง ตั้งค่า F/Speed/ISO ทำความรู้จักกล้องในมือให้มากที่สุดและคุ้นเคยกับมันให้มากที่สุด เพราะหลักการถ่ายภาพ เทคนิคการถ่ายภาพมันเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างเป็นกฏที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่มันแปลกนิดนึงตรงที่ผล output ของมันกลับต้องการความเป็น “ศิลปะ Artistic” ผมเลยคิดและบอกกับตนเองว่า ก็แค่เรียนรู้ “พู่กันด้ามใหม่ ใช้มันให้คุ้นเคยซะ” แม้กระทั่งตอนที่มาเริ่มใช้และเรียนรู้คอมพิวเตอร์ รวมถึงโปรแกรมต่างๆ ด้วยก็เช่นกัน ผมก็คิดแค่ว่า ฝึกให้คุ้นเคยกับพู่กันด้ามใหม่ซะ
ครูมองเห็นภาพสุดท้ายที่ต้องการก่อนถ่ายภาพเสมอหรือไม่
มันจะฟังดูโอเวอร์มั๊ย ถ้าบอกว่า “ใช่ครับ” แต่ก็ไม่ทุกภาพหรอกนะ แต่ก็ประมาณ70-90% ที่ผมกดชัตเตอร์ถ่ายมา จะคิดไว้ในหัวแล้วว่า มันจะจบลงที่ตรงไหนแบบไหน แต่ก็แน่นอน ตอนที่เรามาทำการแต่งภาพจริงๆ ไอเดียอาจจะเปลี่ยนแปลงไปมากบ้างน้อยบ้าง แต่มันก็จะมีจุดเริ่มต้นมาจากไอเดีย ตอนที่เรากดชัตเตอร์ถ่ายภาพนี้ไว้แล้วครับ
ผู้ที่จะทำงานด้านรีทัชภาพได้ดีควรมีความรู้พื้นฐานด้านศิลปะด้วยหรือไม่
ตามความเห็นผมนะ มันเป็นแค่ข้อได้เปรียบอย่างนึงที่เราจะเห็นและรู้สึกได้ลึกและละเอียดกว่า คนอื่นที่ไม่มีพื้นฐานตรงนี้ มันเป็นเซ้นต์ที่ถูกฝึกฝนมานาน ทำให้เราเข้าใจงาน มองงานออก ตีโจทย์แตก และขยายความต้องการของลูกค้าได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่ไม่ได้เรียนศิลปะมา ทำงานรีทัชไม่ได้นะครับ ผมยืนยันว่า ทุกอย่างมันเรียนรู้และฝึกฝนเพิ่มเติมได้ แม้แต่ความเข้าใจเรื่องศิลปะเท่าที่ประสบการณ์ผมผ่านมา ทั้งจากที่ได้เคยรู้จักสัมผัสผู้คนมา และรวมทั้งคนที่ผมได้เคยสอนไป หลายร้อยหลายพันคน เรื่องนี้ “ศิลปะ” ฝึกฝน เรียนรู้ได้ และแถมที่เจอมาบางคนมีเซนส์ที่พิเศษมากกกว่าคนที่เรียนศิลปะมาจริงๆ ซะอีกก็มีครับ อย่ากลัว อย่าท้อครับสำหรับคนที่รักและสนใจงานรีทัชจริงจัง อย่ากลัวคำว่า “ไม่มีพรสวรรค์” เพราะสิ่งที่ต้องมีจริงๆ แล้ว คือ “พรขยัน” สำคัญที่สุดครับ
และมีอีกเรื่องนึง ที่ผมมักจะพบเจอบ่อยๆ ในสายงานนี้ คือ บางครั้งทางเอเจนซี่ส่งดราฟไอเดีย เป็นเลย์เอาท์มาให้ดู เพื่อคิดราคางาน จนถึงลงมือทำงานหลังจากราคางานผ่านความเห็นชอบและเซ็นอนุมัติมาแล้ว ด้วยความสามารถของ คอมพิวเตอร์และโปรแกรมในปัจจุบัน งานเลย์เอาท์ดราฟไอเดียนั้นสวยมากๆ จนแทบจะเป็นงานไฟนอลฟินิชได้เลย ปัญหาของคนทำงานรีทัชคือ จะต้องคิดให้ออกว่า ทำยังไงให้ภาพไฟนอลที่จะจบออกไปเป็นผลงานโฆษณาที่พิมพ์ออกสื่อต่างๆ นั้น ต้องสวยกว่างานดราฟไอเดียเลย์เอาท์ให้ได้ ถ้าสวยด้อยกว่า หรือไม่ดีเท่าเลย์เอาท์นี่ เท่ากับจบชีวิตเลย เพราะฉะนั้นการมีพื้นฐานศิลปะช่วยได้เยอะเลยครับเรื่องนี้ มันทำให้เราเข้าใจและมองปัญหาออก และคิดออกด้วยว่าจะทำยังไงให้ภาพนี้ตอนจบ มันต้องสวยกว่าและโดดเด่นกว่าเลย์เอาท์นี่ได้ยังไง
DDP ( Digital Darkroom Photography ) ที่ครูต้องเปิดอบรมเป็นหลักสูตรอะไรบ้างครับ
จริงๆ แล้วหลักสูตรนี้ผมเปิดสอนเป็นการส่วนตัว คือสอนไพรเวทให้แก่คนที่จริงจัง ทั้งต้องการเอาไปทำมาหากินเป็นอาชีพ และคนที่ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก แต่เอาจริงเอาจังทุ่มเท ไม่เหยาะแหยะ แต่ช่วงหลังๆ นี่มีคนรู้ข่าวนี้เยอะบอกกันปากต่อปาก มันเลยเริ่มจะไม่เป็นไพรเวทซะงั้น
DDP ( Digital Darkroom Photography ) มีหลักสูตรเดียวครับ ไม่มีหลักสูตรอื่น และไม่ได้แยกเป็นคอร์สๆ แบบที่คนอื่นทำกัน เรียกว่าเรียนรู้กันเต็มพิกัดที่คุณจะต้องรู้และเข้าใจ ทำได้ ทำเป็นใน “ศิลปะ ความงดงาม ของภาพถ่าย” ในความเป็น Photography ไม่ใช่แบบ Retoucher แม้ปัจจุบัน การรีทัชในถ่ายภาพแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการทำงานของช่างภาพก็ตาม มันก็จะเข้ามาเป็นส่วนเสริมให้งานสมบูรณ์เท่านั้น ไม่ใช่ประเด็นหลัก การสอนจะเน้นให้ฝึกฝนปฏิบัติ จนกว่าจะเกิดทักษะและความเข้าใจ อย่างลึกซึ้งในสัญชาติญาณของตนเอง พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ สอนให้รู้จักตนเอง รสนิยมของตนเอง และแนวทางของตนเองเป็นหลักใหญ่ โดยมี DDP.Workflow เป็นแกนกลางที่สำคัญให้ทุกคนทำตามได้ มีหลักการยึดโยงความคิด เพราะเป้าหมายที่สำคัญ คือ ทำยังไงให้ทุกคนเข้าถึงความสวยงามของศิลปะภาพถ่ายของตนเองให้ได้ เน้นว่า “ของตนเอง” ซึ่งผมให้คำจำกัดความไว้ว่า “Beauty of Art“ ซึ่งนั่นคือต้นเหตุ ของการเกิดขึ้นของสิ่งที่คนเรียกกันว่า “Signature Style”
เพราะฉะนั้นคนที่เรียน DDP.ไปแล้ว ต้องฝึกหนักมากในเบื้องต้นระยะเวลาประมาณ 2-4 เดือน เป็นอย่างตํ่า ใครที่เรียนแล้วไม่ฝึกฝน ก็จะไม่เกิดผลอะไร ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นกับงานตนเอง
ในการทำภาพนอกจากคอมพิวเตอร์แล้ว ครูต้องให้ความสำคัญกับจอมอนิเตอร์มากน้อยเพียงใด
อันนี้สำคัญมากเลยครับ ถ้าเปรียบให้เข้าใจง่ายๆ นึกภาพออกได้ ก็เหมือนกับการทำอาหาร ต่อให้เรามีฝีมือดีแค่ไหน ถ้าได้วัตถุดิบที่ไม่ดีจะเน่าเสียแล้ว เอามาทำให้สุดฝีมือยังไงก็ได้อาหารที่ไม่อร่อย การตกแต่งภาพ รีทัชภาพ ถึงแม้เราจะมีฝีมือดีแค่ไหน เก่งกาจแค่ไหน เครื่องคอมฯแรงยังไง แต่ถ้าจอภาพแสดงผลผิดเพี้ยน ไม่ตรงตามความเป็นจริงที่ถูกต้อง ในงานพิมพ์ก็จบเห่ครับ งานจะฟ้องตอนพิมพ์ให้เห็นว่ามันเละเพี้ยนไปคนละทิศละทางมากแค่ไหน และสิ่งที่ตามมาคือความเสียหายของลูกค้าซึ่งมันมีมูลค่ามากมาย ที่เราอาจจะรับผิดชอบไม่ไหวก็เป็นได้ และเครดิตที่เราสร้างมาก็พังลงในตรงนั้น
ปัจจุบันใช้จอมอนิเตอร์สำหรับแต่งภาพรุ่นไหนอยู่ครับ
ปัจจุบันผมใช้จอมอนิเตอร์ของ Ben Q รุ่น SW320 ขนาด 32 นิ้ว เป็นหลักครับในการแสดงงานที่รีทัช เป็นจอแต่งภาพที่ให้สีเที่ยงตรง รายละเอียดดีมาก และมีจอ Mac เก่า อีกตัวขนาด 27 นิ้ว วางคู่กัน ใช้เป็นตัวโชว์กล่องเครื่องมือของโปรแกรม เพื่อที่เวลาทำงาน และเวลาลูกค้ามาดูงานหน้าจอ ภาพงานจะได้ไม่โดนแย่งพื้นที่ในการแสดงผลของภาพผลงานให้รกตาครับ
จอมอนิเตอร์สำหรับแต่งภาพต่างกับจอทั่วไปและมีผลกับการทำไฟล์ภาพอย่างไรบ้างครับ
คือ…ถ้าเราไม่ได้ทำงาน ซีเรียส จริงจังกับผลงาน Final output เช่นไม่ได้เอาไปพิมพ์ ไม่ได้ส่งโรงพิมพ์ ไม่ได้เอาไปจัดแสดงผลงาน ไม่ได้ต้องการเน้นความถูกต้องเที่ยงตรงของทั้งสีและค่าความเข้มจาง ของแสง+เงาในภาพ เราใช้เครื่องคอมฯ เพื่อสันทนาการ เช่น พิมพ์งานเอกสาร ดูหนัง ฟังเพลงเล่นเกมส์ ก็ใช้จอแบบทั่วๆ ไปราคาถูกๆ ได้ครับ แต่ถ้านอกเหนือจากที่ผมกล่าวมาแล้วนี้ โดยเฉพาะคนที่ทำงานสายอาชีพ ทั้งคนที่ทำงานสิ่งพิมพ์ ทุกสายงาน Graphic design, Retoucher, Photographer ทุกสายงาน และอื่นๆ แนะนำว่าควรจะลงทุนกับจอมอนิเตอร์ที่ควบคุมผล Final output ได้ดีๆ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะสร้างความเสียหายตอนที่งานออกไปแล้วได้ครับ
ช่วยฝากคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจในการถ่ายภาพและการปรับแต่งภาพว่าอยากจะเก่งเรื่องการทำภาพควรเริ่มอย่างไร และควรทำอะไรบ้าง
ในเรื่องการถ่ายภาพนี้ ผมขอเน้นว่าควรจะฝึกฝนทักษะการถ่ายภาพเบื้องต้นให้คล่องและชำนาญมาสักระดับหนึ่งก่อน และหลังจากเริ่มมีความเข้าใจระดับนึงแล้ว ควรเปิดสมองเรียนรู้เรื่องการใช้โปรแกรมแต่งภาพมาช่วยเป็นส่วนเสริม มาช่วยแก้ไข ในส่วนที่เกิดความผิดพลาดตอนถ่ายภาพ หรือบางอย่างที่ควบคุมตอนถ่ายภาพไม่ได้ หรือทำตอนถ่ายภาพนั้นไม่ทันทั้ง 2 ส่วนนี้ทำไปพร้อมๆ กันได้ เพราะว่าการถ่ายภาพและการใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ เข้ามาช่วยเสริมภาพถ่ายให้สวยงามสมบูรณ์นั้น มันเป็นโปรเซสขั้นตอนของ System Photography โดยเฉพาะในยุคดิจิตอล หลายๆ คนปฏิเสธการเรียนรู้เรื่องการแต่งภาพด้วยโปรแกรม แม้ฝึกฝนมานานเรื่องการถ่ายภาพจนเก่งเชี่ยวชาญระดับหนึ่ง สุดท้ายก็สู้การแข่งขันในตลาดฝีมือยุคนี้ไม่ได้ เพราะความดึงดูดใจในผลงานมันไม่มี ความสะดุดตา เชื้อเชิญให้ลูกค้าตัดสินใจจ้างงานได้ หลายๆ คนสุดท้ายต้องเลิกลา หายไปจากวงการน่าเสียดายบุคลากรที่มีฝีมือดีๆ แบบนี้มากครับ
สุดท้ายนี้ผมขอเน้นยํ้าว่า “การถ่ายภาพและการแต่งภาพ เป็น System Photography ที่เป็นส่วนสำคัญ ช่วยให้เรามองเห็นและสามารถกำหนด Final output ได้ตั้งแต่ตอนกดชัตเตอร์จริงแท้แน่นอนครับ” แต่ต้องฝึกฝนจนขั้นตอนทั้งการถ่ายภาพและการแต่งภาพนั้นมี Workflow ที่ชำนาญจนเราเชื่อมโยงความคิดในกระบวนการต่างๆ นั้นเป็นอันเดียวกันให้ได้
รู้จักกับจอเแต่งภาพ BenQ SW Series เพิ่มเติมได้ที่ : http://bit.ly/2OodTXz
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
ขอบคุณครับ
ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่