SPECIAL ARTICLE

เก็บภาพท่ามกลางสภาพอากาศหม่นหมอง

เมื่อตัดสินใจหอบหิ้วอุปกรณ์ออกไปเก็บภาพในช่วงฤดูฝนแล้ว โอกาสที่จะเจอ สภาพฟ้าหม่น ฝนพรำ เมฆหมอกคุกรุ่น กำแพงหมอกหนาทึบจนบางครั้งมองไม่เห็น ความสวยงาม ถ้าเจอเหตุการณ์เหล่านี้อย่าเพิ่งหมดกำลังใจในการเก็บภาพ ลองค่อยๆสังเกตสภาพอากาศที่ว่านี้ แล้วนำเทคนิคเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ ไปประยุกต์ใช้ดู เผื่อท่านจะสนุกสนานกับการเก็บภาพมากขึ้น

ในเขตพื้นที่สูงๆ มีโอกาสเจอสถานการณ์ลักษณะนี้ได้ง่าย ภาพตัวอย่างเป็นทุ่งดอกไม้  ซึ่งอยู่ในพี้นที่ความสูงประมาณ 2,000-3,000 เมตร ทุกปีดอกไม้จะบานสะพรั่ง สลับสีสันสวยงามในช่วงฤดูฝน จึงเป็นเหตุให้ต้องออกไปเก็บภาพในช่วงนี้ หนึ่งเหตุการณ์ที่เจอ แน่นอนคือ สายฝนโปรยปราย และหลังฝนหยุดก็จะมีเมฆหมอก ฟุ้งกระจาย แต่เนื่องจาก เป็นพี้นที่เปิดโล่ง จากประสบการณ์ที่ไปในหลายๆ ครั้งจะพบว่า เมื่อมีลมพัด พื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีเมฆหมอกหนาก็จะค่อยๆ จางลง บางครั้งมีแค่หมอกบางๆ หรือบางที เปิดโล่งเห็นยอดเขาสวยงาม

การถ่ายภาพท่ามกลางสภาพอากาศที่มีตัวแปรลักษณะนี้ ต้องยอมรับว่า อาจจะต้องอาศัยโชคพอสมควร แต่ระหว่างที่รอโชคชะตา ฟ้าเปิดแล้วเก็บภาพ ภายใต้แสงดีๆนั้น ให้ลองปรับเปลี่ยนวิธีการถ่ายมาบันทึกภาพในมุมที่แคบลงก่อน  นำเสนอเฉพาะส่วนเน้นๆ ภาพจะออกมาดูน่าสนใจมากกว่าภาพมุมกว้างๆ  เหตุก็เพราะการมองด้วยตาเปล่า ประสาทสัมผัสจะทำให้รับรู้ถึงมิติอื่นผสมผสาน กับสายตาที่เห็นการเคลื่อนที่ของสายหมอก การพริ้วไหวของมวลดอกไม้ที่สล้บสี อากาศที่สดชื่นจากความหนาวเย็น โดยรวมจะรู้สึกสวยงามสุดลูกหูลูกตา ถึงแม้เวลานั้นมีกำแพงหมอกหนาทึบก็ตาม แต่เมื่อเก็บภาพแล้วก็จะเห็นริ้วดอกไม้ กับท้องฟ้าขาวๆ เท่านั้น ต่างกับความรู้สึก ลักษณะนี้แนะนำให้เลือกมุมที่ดอกไม้สวยๆ ถ่ายด้วยเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ เน้นสีสันของดอกไม้ จะหาจุดสนใจเป็น กลุ่มดอกไม้สีสวยๆ หรือถ้ามีซับเจคเป็นคน ก้อนหิน ต้นไม้

p002

ทุ่งดอกไม้ในสายหมอก : เมื่อเก็บภาพมุมกว้าง แล้วขาดมิติแสงเงา เนื่องจากเมฆหมอกรวมตัวเป็นกำแพงทึบ ปิดบังแสงจากดวงอาทิตย์ ระหว่างที่รอแสงจึงเปลี่ยนมานำเสนอ เรื่องราวในมุมที่แคบลง ด้วยการเลือกให้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ หาจุดสนใจที่อยู่ในช่วงเลนส์ที่ใช้ ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ 70-200 mm. ได้ดอกไม้กลุ่มเล็กๆ เป็นฉากหน้า ปล่อยให้เอาท์เบลอเพื่อสร้างมิติเล็กน้อย สำหรับการถ่ายภาพในลักษณะมีฉากหน้า ถ้าต้องการให้ดอกไม้เอาท์เบลอมาก ก็เข้าใกล้ฉากหน้ามากๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการและการวางองค์ประกอบภาพ สำหรับภาพนี้ต้องการให้เห็นคนยืนเก็บภาพ ท่ามกลางดอกไม้ ฉากหลังเป็นเหลี่ยมเขา โดยเก็บสัดส่วนของกำแพงหมอกหนาทึบเข้ามาในภาพเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ได้บรรยากาศ ทุ่งดอกไม้ในสายหมอก (การเข้าใกล้มากฉากหน้ามากๆ จะทำให้ คอมโพสต์เปลี่ยน ดั้งนี้จึงต้องพิจารณาเองว่า ได้ภาพในแบบที่ต้องการนำเสนอหรือไม่)

p001

ทุ่งดอกไม้กับกำแพงหมอก : ภาพมุมกว้างของทุ่งดอกไม้ ที่มีฉากหลังเป็นภูเขา ซึ่งโดยรวมดูไม่น่าสนใจ เนื่องจากสภาพอากาศขมุกขมัว เมฆหมอกเป็นกำแพงหนาทึบ ปิดบังส่วนที่เป็นยอดเขาและท้องฟ้า

รูปทรงเด่นๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจุดที่ยืนอยู่ว่าจะหาสิ่งใด มานำเสนอเรื่องราว แล้วภาพดูน่าสนใจ การถ่ายด้วยช่วงเลนส์เทเลฯ ถ่ายได้หลายแบบ มุมกดจากที่สูง หรือถ้าไม่มีมุมสูงให้ยืน ถ่ายจากระดับปกติก็ได้เลือกช่องรับแสงกว้าง เพิ่มมิติด้วยการ มีฉากหน้าฉากหลัง สถานที่กว้างๆ มีโอกาสปั้นแต่งมุมได้ง่าย เพราะสามารถเลือกระยะการยืนใกล้ไกลได้ค่อนข้างง่าย ทุ่งดอกไม้กว้างๆ สามารถหาฉากหน้าได้ไม่ยาก การถ่ายด้วยเลนส์โฟโต้ ให้มีดอกไม้เป็นฉากหน้าก็คือการเข้าไปใกล้ กลุ่มดอกไม้ที่เลือก ดอกไม้ส่วนนั้นก็จะดูเอาท์เบลอ มีระยะความลึกเกิดขึ้นในภาพ จะให้เบลอมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของเรา โ้ดยการเลือกใช้ขนาดช่องรับแสงให้เหมาะสม  นอกจากนำเสนอมุมที่เป็นดอกไม้แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่จะนำเสนอง่ายๆ สำหรับสถานที่ลักษณะนี้ก็คือ ความสวยงามแปลกตาของยอดเขาสูง  ถ้าสภาพโดยรวมยังไม่อำนวยให้เราเก็บภาพ ก็ต้องเก็บภาพแยกส่วนไว้ก่อน เมื่อได้ภาพสองส่วนเราก็ยังสามารถนำภาพมาประกอบเล่าเรื่อง ทุ่งดอกไม้ท่ามกลาง ยอดเขาหิมะได้ ยอดเขาสูงเก็บภาพอาจจะไม่ยาก เพียงแค่ต้องคอยสังเกต สภาพโดยรอบเป็นระยะ บางคนไปสถานที่แปลกใหม่ พอเห็นฟ้าครึ้มเมฆหมอกหนา ก็ถอดใจไม่สนใจใยดีสิ่งรอบข้าง ทำให้พลาดจังหวะที่จะเห็นได้ง่ายๆ สำหรับสภาพ อากาศที่แปรปรวนแบบนี้ ต้องมีความพร้อมในการเก็บภาพ บางคนอาจจะใช้ช่วงเลนส์ที่ไม่ครอบคลุมจากมุมกว้างถึงช่วงเทเลโฟโต้ บางครั้งแค่วางกระเป๋าเปลี่ยนเลนส์ก็หันมาเก็บภาพไม่ทันแล้ว ถ้าช่วงเลนส์ไม่ครอบคลุม แนะนำให้ใช้กล้องสองตัว สำหรับเลนส์สองช่วง จะมีความสะดวกรวดเร็วในการเก็บภาพมากกว่า แถมยังไม่ต้องเสี่ยงกับละอองน้ำและความชื้นขณะเปลี่ยนเลนส์ไปมาด้วย

p003

ยอดเขาสูงที่ซ่อนตัวอยู่หลังกำแพงเมฆหมอกหนาทึบ : สำหรับสถานที่ซึ่งมีสภาพอากาศแปรปรวน ความพร้อมในการเก็บภาพเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากอุปกรณ์แล้วก็ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกต โดยเฉพาะเมื่อเจอเมฆหมอกหนาทึบ หลังกำแพงนั้นอาจมีธรรมชาติที่สวยงามซ่อนอยู่ 

สภาพสายหมอกฟุ้งๆ ตามจุดชมวิวในเมืองไทย แม้จะมีความสูงไม่มาก ก็มีโอกาสพบได้บ่อยเช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นป่าดงดิบ เมื่อมีความชื้นสูง หลังฝนตกใหม่ๆ ไอหมอกจะระอุลอยขึ้นด้านบนเหนือยอดไม้เป็นจำนวนมาก และเมื่อรวมตัวกันมากๆเข้า สภาพอากาศโดยรวมก็จะหมองหม่นขมุกขมัว การเก็บภาพมุมกว้าง ก็จะได้ภาพที่ให้ความรู้สึกเดิม คือไม่สวยเหมือนที่ตาเห็น ซึ่งถ้าเจอสถานการณ์ ที่สายหมอกมีการเคลื่อนที่เร็วพอประมาณ แนะนำให้เก็บภาพ เน้นเรื่องราวการเคลื่อนไหวของสายหมอก โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ไปเลย

p005

p004

สายหมอกพาให้สภาพอากาศโดยรวมหม่นหมอง ขมุกขมัว : จุดชมวิวมุมกว้าง ซึ่งปกติจะเห็นพระอาทิตย์หลังเหลี่ยมเขา  แต่เนื่องจากมีไอหมอกปริมาณมาก  จึงมองเห็นแค่ทิวเขากับยอดไม้ใกล้ๆ เท่านั้น

การจะใช้ความเร็ว ชัตเตอร์ต่ำได้นั้น ก็เพราะสภาพโดยรวมขมุกขมัว หรือช่วงเวลาพระอาิทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า ความเร็วชัตเตอร์ก็จะต่ำไปโดยปริยาย ตัวแปรที่จะทำให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำนอกจากสภาพแสงเวลานั้น ก็ยังมีเรื่องการปรับที่ตัวกล้องด้วย ขั้นแรกก็ควรปรับ ISO ต่ำสุดเท่าที่กล้องทำได้ เปิดช่องรับแสงแคบ ถ้าความเร็วชัตเตอร์ยังไม่ต่ำพอตามความต้องการ ฟิลเตอร์ CPL หรือ ฟิลเตอร์ ND  ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย การเก็บภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ท่ามกลางสภาพอากาศหม่นหมอง ให้ได้ภาพดูสวยงามน่าสนใจนั้น ใช้ได้ดีกับภาพท้องฟ้าที่มีเมฆฝนเป็นกลุ่มก้อนดำๆแล้วมีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ซึ่งสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนหาจังหวะเก็บภาพได้ไม่ยาก ภาพลักษณะนี้ ถ้าอยู่ในมุมสูงแล้วได้บรรยากาศเมืองช่วงเย็นที่มีแสงไฟระยิบระยับ ประกอบด้วยภาพก็จะดูสวยงามยิ่งขึ้น

p007

จุดชมวิวมุมสูงเก็บภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ปกติ : ถ้าสภาพอากาศขมุกขมัว เก็บภาพด้วยความเร็วปกติ ภาพก็จะออกมาน่าสนใจน้อยกว่า การเก็บภาพด้วยความเร็วต่ำๆ

p006

จุดชมวิวมุมสูงเก็บภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ : สำหรับจุดชมวิวบริเวณนี้ ตามโปรแกรมตั้งใจแวะไปเก็บภาพพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า แต่บังเอิญไปตรงจังหวะช่วงที่ฝนกำลังจะตก เมฆเต็มท้องฟ้า รอฟ้าเปิดแต่ก็ไม่มีวี่แวว เวลาผ่านไปสักระยะไฟเมืองก็สว่างไสวมากขึ้น หลังจากเก็บภาพตัวเมืองที่น่าสนใจ เน้นเฉพาะบางมุมไปแล้ว จึงเริ่มมาสนใจภาพมุมกว้าง เนื่องจากสังเกตเห็นเมฆ มีลักษณะลอยตามลมเคลื่อนที่เร็วพอสมควร จึงเลือกเก็บภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เก็บท้องฟ้าในมุมที่กว้างกว่าเดิม ไฟด้านล่างก็เริ่มมีสันสัน สว่างไม่มึดทึบ เหมาะกับการเก็บภาพในมุมกว้างๆ ได้ ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่ความสว่างของท้องฟ้า กับเมืองมีค่าความสว่างใกล้เคียงกัน จึงค่อนข้างง่ายสำหรับการถ่าย ปรับ ISO ต่ำสุด เลือกช่องรับแสงแคบสุด แต่ความเร็วชัตเตอร์ยังไม่ได้ต่ำตามที่ต้องการ จึงต้องใช้ฟิลเตอร์ CPL ช่วยลดแสงเพิ่ม สำหรับความเร็วที่ใช้เก็บภาพนี้ 1 นาที ซึ่งได้ภาพที่ดูน่าสนใจกว่าภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วปกติก่อนหน้านั้น

 

เรื่อง/ภาพ : ฤทัยรัตน์  พวงแก้ว