SCOOPS TRAVELS

Vigan : Plan A

เวลาผมจะเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน หลายท่านอาจจะพอทราบกันบ้างแล้วว่าผมมักจะเดินทางกับเพื่อนคู่หูคนเดิมคนเดียว ที่ไปไหนต่อไหนมาด้วยกันร่วมสิบปิ ยี่สิบกว่าประเทศเข้าให้แล้ว

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ผมกับเพื่อนคนนี้เดินทางด้วยกันได้เป็นระยะเวลานาน ผมคิดว่าเป็นเพราะเราแบ่งกันเลือกว่าใครชอบหรือสนใจสถานที่ไหนในประเทศนั้นๆ เป็นพิเศษ ประมาณผมเลือกครึ่ง คุณเลือกอีกครึ่ง แล้วก็เอาแผนที่ประเทศนั้นๆ มากางดู ว่าส่วนที่แต่ละคนชอบมันอยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อวางแผนการเดินทางคร่าวๆ ให้ครอบคลุมไม่วกไปวนมา หากมีที่ไหน ไกลออกไปโดดๆ หรือต้องมีค่าใช้จ่ายพิเศษเพิ่มเติมอีก (เป็นต้นว่า ต้องนั่งเครื่องภายใน ต้องจ้างคนนำทาง ฯลฯ) เราก็อาจจะตัดมันออกไป แล้วหาตัวเลือกรองๆ ลงไปมาแทน

และที่สำคัญเราค่อนข้างเคารพสิทธิ์ในการเลือกของแต่ละคนครับ อย่างจุดที่ผมชอบแต่เพื่อนอาจจะไม่ติดใจอะไร แต่เขาก็จะตามผมมาโดยไม่บ่น หรือบางเมืองที่เพื่อนอยากแวะไป ทว่าผมกลับเฉยๆ ผมก็สามารถตามเขาไป แล้วไปหาอะไรถ่ายภาพเอาดาบหน้าได้เช่นกัน

อย่างเมือง “วีแกน” (Vigan) นี่ผมไม่ได้รู้ข้อมูลอะไรมาก่อนสักนิด แต่เพื่อนทำการบ้านมาตั้งแต่ก่อนเดินทางแล้ว ว่ามันเป็นเมืองมรดกโลกแห่งหนึ่ง ด้วยมีสถาปัตยกรรมโคโลเนียลแบบเฉพาะตัวที่ยังรักษาไว้เป็นอย่างดี ซึ่งมันคือบ้านเรือนที่มีการผสมผสานหลายสไตล์เข้าด้วยกัน โดยมี สเปน เป็นหลัก ผสมด้วยโปรตุเกส และจีน (อาจจะมีฮอลันดาด้วยอีกหน่อย)

vig-02

“ Vigan Cathedral” โบสถ์แห่งเมืองเมืองวีแกนหันหน้าออกทิศตะวันตก (และเท่าที่สังเกตจากเมืองอื่นๆ ส่วนใหญ่โบสถ์ในศาสนาคริสต์ส่วนมากจะหันหน้าทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกันครับ) ผมจึงเลือกเวลาเดินไปชมและถ่ายภาพในยามบ่าย ซึ่งเป็นทิศทางตามแสง ทำให้ได้มุมโพลาไรซ์พอดิบพอดี ได้ฟ้าเป็นสีน้ำเงินเข้มตัดกับโบสถ์สีขาวเหลืองอย่างงดงาม โดยไม่ต้องพึ่งพาฟิลเตอร์โพลาไรซ์เลยแม้แต่น้อย  อุปสรรคสำคัญที่เจอคือ ปริมาณนักท่องเที่ยวทั้งคนต่างชาติและคนท้องถิ่นเองจำนวนมาก ที่เดินเข้าๆ ออกๆ เพื่อชมภายในโบสถ์เกือบตลอดเวลา ซึ่งชั่วโมงนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่ต้องการให้มีในภาพ ผมจึงต้องยืนตากแดดอดทนรอฉกฉวยจังหวะเวลาอันแสนสั้น(ที่จะปลอดคนในเฟรมภาพ)ให้ทันการณ์  ซึ่งก็แน่นอนว่าผมจัดการเรื่องวัดแสงชดเชยแสงให้พอเหมาะพอดีไว้เรียบร้อย เหลือเพียงการกดชัตเตอร์ให้ทันในช่วงเวลาที่รอคอยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  EOS 5D MK II, LENS TS-E 24  MM. F/3.5L II, 1/800 Sec. F/8, ISO 200

หลายท่านอาจคุ้นๆ ชื่อ “วีแกน” จากบอลพรีเมียร์ลีคของอังกฤษ ซึ่งมันเป็นคนละเมืองกับที่ผมจะไปในคราวนี้ครับ “วีแกน” ที่เพื่อนผมเสนอชื่อมานี้อยู่ในประเทศฟิลิปินส์ เป็นเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ห่างจากกรุงมะนิลาประมาณ 400 กิโลเมตร นั่งรถโดยสารประจำทางไปก็ราวๆ 8-12 ชั่วโมง

เลือกรถออกจากมะนิลาเที่ยวเย็นๆ ค่ำๆ ก็จะไปเช้าที่โน่นพอดีครับ ประหยัดเวลาและค่าที่พักได้อีกหนึ่งคืน หลังจากเปิด LP. (Lonely Planet) เพื่อดูราคาที่พักแล้ว เพื่อนผมก็เริ่มทำหน้าที่ค้นหาที่พักสำหรับ 3 วัน 2 คืน ส่วนผมก็นั่งเฝ้ากระเป๋ารออยู่ที่ท่ารถก่อน

เกือบชั่วโมงผ่านไป เพื่อนกลับมาพาผมเดินแบกเป้ออกไปนอกตัวเมืองเล็กน้อย เพื่อเข้าพักในเกสท์เฮาส์สองชั้น ที่ดูเงียบสงบดี และที่สำคัญที่สุด อะแฮ่ม! ราคาครับ มันถูกกว่าโรงแรมในใจกลางเมืองเก่าหลายเท่าตัวอยู่

เขตเมืองเก่าวีแกน ขนาดไม่กว้างขวางอะไรมากนักครับราวๆ 1-2 ตารางกิโลเมตรเห็นจะได้  เรียกว่าต่อให้เดินชมกันแบบจริงๆ จังๆ เดินทุกซอกทุกมุม เพียงไม่ถึงครึ่งวันก็น่าจะเที่ยวชมได้หมด ส่วนที่พักของเราก็ห่างจากย่านเมืองเก่าไม่ถึงกิโลเมตรด้วยซ้ำ จึงไม่เป็นปัญหาอะไรกับเราเลย ในการต้องเดินเพิ่มขึ้นอีกหน่อย ประหยัดตังค์เอาไว้หาของอร่อยๆ กิน ดีกว่าเป็นไหนๆ

ไฮไลท์หลักๆ ของเมืองเก่าวีแกน ก็มีโบสถ์สองสามหลัง กับตึกเก่าย่านใจกลางเมืองบนถนน Crisologo ซึ่งยังอนุรักษ์ถนนปูหินไว้เป็นพิเศษ พร้อมมีรถม้าบริการนั่งชมเมืองด้วย ให้บรรยากาศอวลไออดีตกาลได้ดีทีเดียวครับ (ถ้าร้านขายของที่ระลึกจะน้อยกว่านี้สักหน่อย)

vig-01

“Crisologo Street” นี่คือย่านใจกลางเมืองเก่าของวีแกนครับ ถนนปูหินรับกับตึกโคโลเนียลเป็นอย่างดี หามุมถ่ายภาพโดยเอารถม้าเป็นฉากหน้า เสริมบรรยากาศในภาพอีกหน่อย  ก็ได้ภาพเปิดเรื่องสำหรับการเขียนบทความเชิงท่องเที่ยวได้แล้ว ถ้าไม่คิดอะไรมากเดินถ่ายภาพอยู่แถวๆ นี้ก็เพียงพอครับ แต่โดยส่วนตัวผมกลับรู้สึกว่ามันดูไม่ “เก่า” จริง ก็เลยต้องเดินออกนอกลู่นอกทางไปตามถนนสายรอง เพื่อหามุมอันเป็นที่ชอบๆ โดยส่วนตัวเก็บไว้บ้าง EOS 5D MK II, LENS TS-E 24  MM. F/3.5L II, 1/25 Sec. F/8, ISO 100

แม้จะเป็นเมืองที่ไม่ได้มีข้อมูลในหัวมาก่อน ทว่าเป้าหมายสำหรับการถ่ายภาพนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นแนวสถาปัตยกรรมเน้นๆ อีกทั้งพื้นที่โดยรวมก็ไม่ได้กว้างใหญ่อะไรนัก แถมยังมีผังเมืองเป็นบล๊อกสี่เหลี่ยมเดินง่ายไม่มีหลง เวลาก็มีแบบเหลือๆ ชิล ชิล แผนสำหรับการถ่ายภาพจึงไม่ต้องคิดอะไรให้มากความครับ

เก็บอาคารหลักๆ ให้ครบ จากนั้นเดินสุ่มไปแบบตามใจตีน เจอบ้านหรืออาคารหลังไหนที่น่าสนใจก็เก็บไปเรื่อย ซึ่งก็รวมถึง ประตู หน้าต่าง ระเบียง กันสาด ฯลฯ หากมีหลังไหนที่ติดใจมากๆ ผมจะจำทิศทางไว้เป็นพิเศษ เพื่อเดินกลับมาถ่ายอีกทีในเวลาที่จะได้ทิศทางหรือลักษณะของแสงที่สวยงามขึ้นกว่าเมื่อแรกเห็น

ส่วนการถ่ายภาพผู้คน ตลอดการเดินทางครั้งนี้ผมไม่ค่อยจะสนใจเท่าไร ทั้งๆ ที่ชาวฟิลิปินส์โนทั้งหลาย ยิ้มแย้มแจ่มใสใจดีไม่ใช่น้อย เหตุเพราะมองหน้าเขาทีไร ให้นึกเป็นคนไทยไปทุกครั้ง หน้าตาเรากับเขานี่ไปในแนวทางเดียวกันจริงๆ นะครับ แถมแต่งตัวเสื้อยืดกางเกงยีนส์ เหมือนๆ กับคนไทยอีกต่างหาก ไม่ได้มีชุดประจำชาติอะไรเด่นเป็นพิเศษเลย มันก็เลยทำให้ผมไม่นึกอยากถ่ายภาพผู้คนไปโดยอัตโนมัตินั่นเองครับ

และถึงแม้เพื่อนของผมจะเป็นคนปักหมุดเลือกหมายมาที่เมืองนี้เอง แต่เขาก็เลือกการเป็นคุณชายตื่นสาย เดินชมสบายๆ ประสานักท่องเที่ยวทั่วไป ส่วนผมยังคงตั้งใจและสนุกกับการถ่ายภาพอยู่เหมือนเดิมครับ จึงต้องตื่นเช้าหน่อย เพราะบ้านเก่าๆ กับแสงสีทองในยามเช้านี่มัน “เข้ากั๊นนน..เข้ากัน” เหมือน กิ่งทองใบหยก ห่อหมกใบยอ ยังไงยังงั้น

สายๆ จึงกลับมาเจอกับเพื่อนที่ห้องแล้วออกไปหามื้อเช้ากิน และเดินเที่ยวด้วยกันอีกที ไปแยกกันตัวใครตัวมันอีกครั้งก็บ่ายๆ เย็นๆ ที่ผมจะเดินไปหาทำเล รอเวลาสำหรับการถ่ายภาพในช่วงโพล้เพล้ มืดค่ำฟ้าดำสนิทแล้วก็เดินไปเจอกันที่จุดนัดพบ

vig-03

“…..” นอกเหนือไปจากการมองและถ่ายภาพแบบกว้างๆ ของงานสถาปัตยกรรมแต่ละหลังแล้ว ผมยังชอบมองและถ่ายภาพแบบเจาะเฉพาะส่วนที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน ซึ่งมันอาจจะเป็นบานประตู หน้าต่าง เก๋ๆ ลวดลายประดับผนัง ลายฉลุเชิงชาย ฝ้าเพดาน  ลวดลายของเหล็กดัด กระทั่งรอยร้าวผุกร่อนบนผนังปูน ผนังสีที่ลอกร่อนขึ้นรา หรือบางทีเป็นผนังเรียบๆ แต่มีเงาสวยๆ ทาบทับ ฯลฯ หรือพูดง่ายๆ คืออะไรที่เห็นว่ามันสวยถูกใจ ผมถ่ายภาพเก็บไว้หมดล่ะครับ ซึ่งมันทำให้ผมสามารถสนุกสนานกับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมได้ตลอดเวลา ถ้าไปเจออาคารที่มีรายละเอียดเยอะๆ อย่างโบสถ์หรือวัดไทยอะไรแนวนั้น ผมก็ขลุกอยู่ได้ทั้งวันตั้งแต่เช้ายันเย็นโดยไม่ต้องอกไปไหนเลยก็ยังได้ครับ EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/250 Sec. F/8, ISO 100

เรื่องเดินถ่ายภาพคนเดียวในยามเช้าหรือช่วงโพล้เพล้ นี่ต้องพิจราณากันเป็นเมืองๆ ไปนะครับ มันใช้ไม่ได้กับทุกสถานที่บนโลกใบนี้อย่างแน่นอน เพราะบางเมืองในบางประเทศถือเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะถูกปล้นชิงวิ่งราวไม่ใช่น้อย แถมอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทว่าสำหรับเมืองวีแกนในฟิลิปินส์นี้ ผมรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะเดินถ่ายภาพคนเดียวได้แบบไม่ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลัง แต่ก็ยังคงไว้ด้วยระแวดระวังเสมอ เพราะประสบการณ์มันสอนว่า “มิจฉาชีพมีแทบทุกที่ในโลก” ล่ะครับ

แม้ย่านถนนปูหินกลางเมืองเก่าจะเป็นไฮไลท์ ทว่าอาคาร “เก่า” สองฝากฝั่งหลายหลังก็ทำนุบำรุงจนดู “ใหม่” เกินไปหน่อยสำหรับผม และส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นร้านรวงขายอาหารและของที่ระลึกดังว่า ผมจึงไม่ได้เน้นการถ่ายภาพในบริเวณนั้นสักเท่าไร มันเหมาะกับนักท่องเที่ยวที่เดินชมมากกว่านักถ่ายภาพครับ

จริงๆ ผมก็ถ่ายภาพไว้หมดนั่นล่ะครับ เพราะบริเวณนั้นมันคือจุดขายของเมือง เวลาเขียนบทความแนวท่องเที่ยว ยังไงก็ต้องมีภาพส่วนหลักสำคัญๆ ของเมืองนั้นๆ ประกอบด้วยแน่นอน แต่เมื่อได้ภาพมาจำนวนหนึ่งแล้ว ผมก็ใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดไปกับการถ่ายภาพในแบบที่ผมชอบ

vig-04

“The other side of Vigan” เขตเมืองเก่าของวีแกน ไม่ได้กว้างใหญ่อะไรมากมาย แถมเดินง่ายไม่สับสน เพราะวางผังเมืองเป็นเหมือนตารางหมากรุก ประกอบกับนิสัยชอบเดินซอกแซกของผมเอง ผมจึงใช้เวลาเดินชมและถ่ายภาพเมืองไปแทบจะทุกซอกทุกมุมก็ว่าได้ โดยส่วนตัวผมชอบเมืองในมุมเล็กๆ ที่เงียบสงบเช่นนี้ มากกว่าส่วนที่เป็นไฮไลท์ เป็นจุดขายสำหรับการท่องเที่ยว แน่นอนว่าส่วนนั้นเขาบูรณะปรับปรุงไว้จนสวยงามเรียบร้อยแล้ว แต่ความรู้สึกลึกๆ ของผมดันชอบไปมองว่าเขาจัดฉาก และมันดูไม่เป็นชีวิตจริงเอาซะเลย ประสาวัยรุ่นก็ต้องบอกว่ามัน เฟค! ซึ่งว่ากันตามตรงในอีกแง่มุมหนึ่งมันก็ถูกแล้วที่ต้องทำอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นจะดึงดูดให้คนมาเที่ยวได้อย่างไรกัน?  อันนี้ผมเข้าใจดีครับ ทั้งยังไม่ต่อต้านคัดค้านอะไรสักนิด ผมเองก็ต้องไปถ่ายภาพตามจุดสำคัญๆ นั้นไว้ด้วยเหมือนกันเพื่อเอาไว้ใช้ประกอบงานเขียน เป็นเหมือนงานภาคบังคับอยู่กลายๆ เมื่อเก็บงานเสร็จแล้ว หลังจากนั้นคือการถ่ายภาพตามใจตัวเองล้วนๆมุมเล็กๆ ของเมืองที่อาจไม่มีอะไรน่าสนใจสำหรับการท่องเที่ยวอย่างนี้ ทว่าสำหรับผม มันคือ “ของจริง” ที่มีคุณค่าและน่าถ่ายภาพมากกว่าเป็นไหนๆ และที่สำคัญคือมักไม่ค่อยมีใครมาเกะกะกวนใจ ไม่ต้องหลบหลีก ไม่ต้องเสียเวลารอให้คนว่างๆ เพราะมันว่างตลอดเวลาอยู่แล้ว…555 EOS 5D MK II, LENS TS-E 24  MM. F/3.5L II, 1/50 Sec. F/8, ISO 50

ก็คือการเลือกดุ่มเดินตามถนนสายรองอื่นๆ ที่เงียบลงมาหน่อย ซึ่งอาคารบ้านเรือนเก่ามีร่องรอยชำรุดทรุดโทรมจริงๆ ผนังปูนผุกร่อน สีสันกระดำกระด่าง ประตูหน้าต่างโย้เย้ มีชาวบ้านชาวช่องใช้ชีวิตตามวิถีจริงๆ ให้เห็น ซึ่งบางท่านอาจจะมองเห็นว่ามันไม่สวยไม่ชอบอะไรแบบนี้ ก็ไม่แปลกหรอกครับ คนที่แปลกมันน่าจะเป็นผมมากกว่า ของที่เขาซ่อมแซมตกแต่งแล้วให้ดูสวยงามดีๆ ดันไม่ชอบซะยังงั้น!

vig-05

“Good morning Vigan ” สำหรับคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเป็นชีวิตจิตใจ หนึ่งช่วงเวลาที่พลาดไม่ได้คือ ช่วงที่ดวงอาทิตย์เพิ่งจะโผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมาใหม่ๆ เพราะช่วงเวลานี้แสงมักจะเป็นสีทองอบอุ่น ให้แสงเงาที่สวยงาม คอนทราสก็ไม่จัดจ้านแข็งกระด้างจนเกินไป ปัญหาส่วนตัวของผมเองสำหรับการถ่ายภาพในโมงยามเช่นนี้ คือมันยากที่จะเอาชนะความขี้เกียจ แล้วลุกขึ้นจากที่นอนเพื่อออกไปถ่ายภาพยังจุดที่หมายตาไว้ให้ทันเวลา มันอาจจะไม่ถึงกับเช้ามากเหมือนการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ก็จริง แต่ความขี้เกียจมันก็ไม่มีเหตุผลหรอก จริงไหมครับ? หากตั้งใจจะถ่ายภาพในยามเช้าอย่างนี้ ผมมักจะเตรียมตัวเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้เรียบร้อยตั้งแต่ก่อนเข้านอนโน่นเลยครับ ตื่นปุ๊ปเปลี่ยนเสื้อผ้า เอาน้ำลูบหน้าหน่อยก็ออกไปถ่ายภาพได้ทันที (บางทีก็ไปทั้งชุดนอนนั่นล่ะครับ ถ้าจุดนั้นไม่ไกลจากที่พัก) ภาพนี้ผมตั้งใจตั้งขารอถ่ายภาพในจังหวะที่มีรถราวิ่งผ่านไปมานิดหน่อย เพราะส่วนล่างของภาพนั้นดูโล่งเกินไป แต่จะให้รถหรือคนชัดเกินไปก็ไม่ดีอีก เพราะมันอาจจะแย่งความเด่นแย่งสายตาจากบ้านหลังที่จะถ่ายนี้ได้ ผมจึงต้องใช้ความไวชัตเตอร์ไม่ให้สูงเกินไปเพื่อให้ผู้คน รถรา ดูเบลอๆ นิดๆ แล้วก็ยังต้องเลือกถ่ายรถและคนที่มีสีเรียบๆ ไม่โดดเด้งจนเกินไปอีกด้วยครับ EOS 5D MK II, LENS TS-E 24  MM. F/3.5L II, 1/40 Sec. F/8, ISO 50

การถ่ายภาพที่มีแนวสถาปัตยกรรมเป็นหลักแบบนี้ พระเอกของงานก็ต้องยกให้กับเลนส์ TS-E 24 mm. F/3.5L II อย่างไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ครับ ผมใช้มันเป็นตัวหลักติดกล้องเกือบตลอดเวลา ราวๆ 80% ของภาพทั้งหมดน่าจะได้  มีเปลี่ยนใช้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้อยู่บ้าง ก็ตอนที่จะถ่ายครอปหน้าต่าง หรือลวดลายที่น่าสนใจ และถ้าเป็นไปได้ผมก็พยายามจะใช้ขาตั้งกล้องควบคู่กันไปด้วยเสมอ เพื่อคุณภาพสูงสุด และเพื่อให้ง่ายกับการจัดองค์ประกอบภาพครับ

ที่ผมใช้เลนส์ Tilt&Shift ก็เพราะอยากได้ภาพสถาปัตยกรรมที่มันดูตรงๆ ไม่เอียงเอน การใช้ขาตั้งกล้องจึงช่วยทำให้ผมได้ภาพที่ตรงเป๊ะอย่างต้องการจริงๆ แต่มันก็ไม่ทุกครั้งนะครับ หลายภาพผมก็ไม่ได้ใช้ด้วยเหตุผลบางอย่าง โดยเฉพาะเมื่อต้องการให้มีคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภาพ

ภาพในลักษณะนี้ ถ้าตั้งขาถ่ายภาพทิ้งไว้ ผมพบว่าหลายครั้งบางคนจะพยายามเดินเลี่ยงหลบตามมารยาทครับ เขาจะเดินอ้อมหลังกล้องไปเลยถ้าทำได้  หรืออาจชะงักหยุดเดินไปเฉยๆ ก็มี หรือไม่ก็จะเดินแบบเกร็งๆ ไม่เป็นธรรมชาติ กระทั่งเปลี่ยนเป็นวิ่งผ่านไปเร็วๆ ก็เคยเจอมาแล้ว และบางทีเราเองก็ต้องขยับกล้องตามคนแล้วจัดองค์ประกอบภาพใหม่แบบเร่งด่วน ซึ่งถ้าใช้ขาตั้งกล้องมันก็จะไม่ทันการครับ

ส่วนเลนส์ EF 17-40 mm. F/4L ก็ยังติดกระเป๋าไปด้วยครับ แต่ไม่ได้นำออกมาใช้เลยสักครั้ง โชคดีที่ช่วง 24 mm. มันกว้างเพียงพอ รวมทั้งพอจะมีที่ทางให้ถอยหลังได้บ้าง เมื่อเจออาคารขนาดใหญ่อย่างโบสถ์ หรือตึก 3-4 ชั้น (แต่ในบางทริป บางสถานที่ แค่ 24 mm. ยังไงก็ไม่พอครับ ก็ต้องเอา 17-40 mm. มาใช้ และก็ต้องยอมๆ ให้ตึกมันเอียงๆ โล้ๆ ไปบ้าง ดีกว่าไม่ได้ถ่ายภาพอะไรกลับมาเลยแน่นอนครับ)

เป็นเมืองเล็กๆ ที่ถ่ายภาพแบบไม่ได้คาดหวังอะไรไว้สูง ทุกอย่างจึงเป็นไปตามแผนไม่มีอะไรผิดพลาดครับ

“ชีวิตไม่ยาก ถ้าตั้งโจทย์ง่าย”

คุณหนุ่มเมืองจันท์เคยเขียนไว้อย่างนั้น (จริงๆ คือเป็นชื่อพ๊อกเก็ตบุ๊คเล่มหนึ่งของเขาเลยครับ) และมันก็ทำให้ผมสนุกกับการใช้ชีวิตได้ง่ายๆ รวมไปถึงการถ่ายภาพก็ด้วยเช่นกัน

vig-06

“Good evening Vigan” ช่วงเวลาโพล้เพล้พลบค่ำเข้าใต้เข้าไฟ คือนาทีทองของจริงสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่มีแสงไฟเป็นองค์ประกอบสำคัญ ด้วยเหตุนี้ผมจึงเลือกเดินกลับเข้ามารอถ่ายภาพในบริเวณถนนปูหินใจกลางเมืองเก่า เพราะเป็นจุดที่เมืองเปิดไฟสว่างไสวที่สุด เหมาะกับการถ่ายภาพมากกว่ามุมเล็กๆ ที่เงียบงันและมืดมิดเกินไป สิ่งสำคัญคือต้องหาทำเลให้ได้ล่วงหน้าก่อนฟ้าจะมืดดำ จากนั้นถ้าไม่อยากเสียเวลาทำไฟล์นานๆ ในภายหลัง ก็ต้องตั้งกล้องรอเวลาที่ความสว่างของท้องฟ้าจะลดลงมาจนพอดีกับความสว่างของแสงไฟในตัวเมืองหรืออาคารหลังนั้นๆ แล้วช่วงเวลาที่แสงมันจะพอดีแบบเป๊ะๆ นี้มันก็เกิดขึ้นไม่นานหรอกครับ เอาจริงๆ ก็นาทีสองนาทีเท่านั้น แม้ว่าช่วงก่อนหน้า หรือหลังจะยังถ่ายภาพได้อยู่ แต่ก็จะต้องมีการทำไฟล์เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ ซึ่งคุณผู้อ่านท่านใดชอบก็ทำไปเถิดครับ แต่ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่ทำแน่ๆ ผมชอบใช้เวลาให้หมดไปกับการอยู่หลังกล้อง มากกว่าการนั่งจมจ่อมอยู่หน้าจอคอมพ์ฯ และผมรับความจริงได้ว่ามันไม่มีก็คือไม่มี ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ผมยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบในภาพของผมเองได้ครับ ด้วยเหตุนี้การถ่ายภาพในเมืองวีแกนจึงถือว่าเป็น Plan A ทำได้สำเร็จเสร็จสมตามเป้าหมายทุกประการ เพราะโจทย์ของผมในครั้งนี้มันค่อนข้างง่ายนั่นเองครับ
อย่างภาพนี้ จริงๆ ผมอยากได้เส้นไฟหน้า-ไฟท้ายของรถมากกว่านี้ แต่ในจังหวะเวลานั้น ก็ไม่ค่อยจะมีรถวิ่งผ่านเลย ผมก็รอและถ่ายภาพไปเรื่อยๆ นะครับ แต่กว่าจะได้ไฟรถอย่างที่ต้องการ ฟ้าก็มืดดำเกินไปซะแล้ว ไอ้ที่จะให้ผมมาตัดต่อซ้อนเลเยอร์ในภายหลังนี่ไม่มีทางซะล่ะครับ มันไม่ใช่ตัวผมเลยจริงๆ ยกเว้นว่าเป็นลูกค้าจ้างมาให้ถ่ายผมก็อาจจะต้องใช้การซ้อนเลเยอร์เข้ามาช่วย เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบจริงๆ สำหรับส่งงาน แต่ผมก็จะไม่ทำเองอยู่ดีนั่นล่ะครับ ไปจ้างเพื่อนที่เป็นเซียน PS. เขาทำให้แทน เพราะมันดูเนียนตากว่าพวก PS. ระดับ งูๆ ปลาๆ อย่างผมทำเองเยอะครับ EOS 5D MK II, LENS TS-E 24  MM. F/3.5L II, 10 Sec. F/11, ISO 50

คำว่า “โพลาไรซ์” นั้นไม่ได้หมายถึงฟิลเตอร์เพียงอย่างเดียวนะครับ แต่มันหมายถึงมุมที่จะได้ท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงินเข้มโดยธรรมชาติอยู่แล้วโดยอาจไม่จำเป็นจะต้องใช้ฟิลเตอร์เข้ามาช่วย แน่นอนว่าหากใช้ “ฟิลเตอร์โพลาไรซ์” หรือ PL ช่วยมันก็จะทำให้ฟ้าเข้มขึ้นได้อีก แต่ความไวชัตเตอร์ก็จะหายไป 2 สต๊อปด้วยเช่นกัน และการรีดคุณภาพจากชิ้นเลนส์ล้วนๆ ยังไงก็น่าจะดีกว่าการเอาอะไรไปบังหน้าเลนส์ไว้ แม้จะเป็นฟิลเตอร์แพงระยับระดับไหนมันก็ต้องลดทอนคุณภาพของเลนส์ลงไปบ้างไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

การหามุมโพลาไรซ์ทำได้ง่ายๆ ด้วยการกางนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ให้เป็นมุมฉาก ยืนหันหลังให้ดวงอาทิตย์ หันปลายนิ้วโป้งไปที่ดวงอาทิตย์ตรงๆ ทิศทางองศาที่ปลายนิ้วชี้พุ่งไปก็คือตำแหน่งของท้องฟ้าที่จะได้เป็นมุมโพลาไรซ์แบบพอดิบพอดี

ถ้าเป็นการถ่ายสถาปัตยกรรมที่ส่วนบนของภาพเหนือตัวอาคารหลังนั้นๆ เป็นท้องฟ้า ช่วงเวลาที่จะได้มุมโพลาไรซ์ก็มักจะอยู่แถวๆ 7-9 นาฬิกาในตอนเช้า และ 15-17 นาฬิกาในตอนบ่ายนั่นเองครับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้ทั้งทิศทางแสงและได้มุมโพลาไรซ์ไปด้วยพร้อมๆ กัน

เรื่อง / ภาพ : จิรชนม์ ฉ่ำแสง


  • บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับการวางแผนถ่ายภาพเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา โดยเอาประสบการณ์การถ่ายภาพของผู้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันสู่กันฟัง โดยเอาความชอบของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง หากแนวทางการถ่ายภาพจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัยไว้ด้วยครับ และจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสถานที่สักเท่าไร แต่อยากเน้นเรื่องวิธีการคิดและวางแผนสำหรับการถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานที่อื่นๆ ได้
    Plan A หมายถึง การถ่ายภาพที่สามารถทำได้ตามแผนทุกอย่างที่วางไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
    Plan B หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคบางประการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันบ้าง อย่างเช่น เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ หาที่พักในจุดใกล้เคียงไม่ได้ ฯลฯ
    Plan C หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคค่อนข้างมาก สิ่งที่คาดหวังไว้ ไม่เป็นอย่างที่คิด จนถึงขั้นต้องทำให้เปลี่ยนแผนไปเลย อย่างเช่น เจอกับการปิดซ่อมแซมสถานที่ เจอการเดินขบวนประท้วง เจอน้ำท่วมฉับพลัน หรือสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย หรืออาจหมายถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหายหรือสูญหาย ฯลฯ