ช่วงหลายปีมานี้แอดมินได้เข้าสู่โลกของการถ่ายภาพนกอย่างค่อนข้างจริงจังมาก และได้เรียนรู้จากพี่ๆ ช่างภาพจากหลากหลายแหล่งก็ว่าได้ครับ และ 8 ข้อต่อไปนี้ เป็นคำแนะนำที่แอดมินเก็บรวบรวมมาฝากช่างภาพสายนกมือใหม่ลองพิจารณาศึกษาดูครับ เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่ครับ มีอะไรบ้าง ไปดูกันครับ…
1. เลือกช่วงเวลาสถานที่
การเลือกช่วงเวลา ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ เช้า กลางวัน เย็น เท่านั้น แต่ยังหมายถึง เวลาในรอบปีของพฤติกรรมของนกด้วย เช่น ฤดูนกอพยพในฤดูหนาว หรือ บางตัวก็อพยพเข้ามาในฤดูฝนด้วย การเลือกเวลาจึงสำคัญ หากมีตัวที่เราหมายปองที่จะถ่ายอยู่แล้ว เช่น นกตระกูลนกจับแมลงที่อพยพเข้ามา ทั้งอพยพผ่าน และอพยพเข้ามาอาศัยในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะพบเจอได้เฉพาะฤดูนี้เท่านั้น หรือ อย่างเช่น นกแต้วแล้วก็มักจะเข้ามาในช่วงฤดูฝนเพื่อมาอาศัยและทำรังว่างไข่ ก่อนที่จะฟัก เลี้ยงลูก แล้วพาลูกอพยพกลับ ในส่วนของสถานที่นั้น ต้องหาข้อมูลว่าเคยพบนกตัวไหนที่ใดบ้าง เพื่อที่จะได้ไปยังสถานที่ที่ถูกต้อง หรือติดตามข่าวสารจากเพจ หรือเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ก็จะดีมากครับ
นกแต้วแล้วธรรมดาที่อพยพเข้ามาเพื่อทำรังวางไข่ในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยในช่วงนี้ชุดขนจะสีสดเพื่อจับคู่
ช่วงเวลาจับคู่ทำรังวางไข่ก็มีกิจกรรมให้ถ่ายมากมายครับเช่นพฤติกรรมการป้อนเป็นต้น
2. เลือกอุปกรณ์ (หลักและเสริม)
จริงๆ แล้ว อุปกรณ์ยุคใหม่ๆ มีความสามารถมากขึ้น เช่น การจับโฟกัสที่ตา การติดตามวัตถุ ความเร็วในการบันทึกภาพ เรียกได้ว่ากล้องแทบจะจัดการแทนมนุษย์ได้เลย แต่ในกล้องรุ่นเก่าๆ ต้องอาศัยความสามารถของคนเข้าไปด้วยจึงจะได้ภาพตามต้องการ ในสองกรณีนี้ก็แล้วแต่คนชอบครับ หากเป็นการถ่ายภาพนกที่มีแอคชั่น การเลือกอุปกรณ์ที่ทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำมักจะเป็นตัวเลือกที่ดี ทั้งสำหรับมือเก่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับมือใหม่ครับ ในส่วนของอุกรณ์เสริมนั้น เราสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับความต้องการของเราได้ ไม่ว่าจะเป็น ชนิดของขาตั้งกล้อง (Gimbal head, Video head Ball head) เลือกตามถนัดครับ ถ้าถ่ายวิดีโอด้วย หัว Video head ก็จะเหมาะสมมากกว่าชนิดอื่นครับ ในส่วนของเลนส์นั้น ผมแนะนำให้ใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสที่มีอัตราขยายสูงไว้ก่อนก็จะดีมากครับ เพราะบางครั้งเราก็อยากได้ภาพนกตัวใหญ่ๆ เห็นดีเทลมากหน่อย เห็นเส้นขน รายละเอียด ชัดเจนครับ และถ้าหากเป็นไปได้ ก็ควรเป็นเลนส์ที่มี f กว้างก็จะดีครับ โดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบการถ่ายภาพนกป่า เพราะแสงจะน้อยมากครับ
3. รู้พฤติกรรม
หากเรารู้พฤติกรรมของนกแต่ละชนิดแล้วนั้น มันจะทำให้เรามีโอกาสได้ภาพที่ดีมากขึ้น โดยทั่วไปแล้ว นกแต่ละชนิดก็อาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกัน เช่น ท่าทางการบิน พฤติกรรมการหาอาหาร พฤติกรรมการจับคู่ทำรังวางไข่ หากเรารู้พฤติกรรมเหล่านี้ เราจะรู้ว่าควรจะเตรียม และกดชัตเตอร์ตอนไหน และสามารถพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมที่จะได้ภาพได้ดีที่สุด
เมื่อเรารู้เวลาและสถานที่ที่นกใช้ประจำจึงทำให้เราไปถูกที่ถูกเวลาและได้ภาพครับ
หากเรารู้พฤติกรรมการจับคู่เราก็สามารถที่จะถ่ายช่วงเวลาที่สำคัญๆได้
4. โฟกัสตรงจุด
ในที่นี้หมายถึงทั้งการโฟกัสแม่นยำ ตรงจุดที่ต้องการที่จะให้ชัดและควรจะต้องตรงจุดเด่นของนกชนิดนั้นๆ ด้วย ทั้งเพื่อความสวยงาม และเพื่อความชัดเจนในการบ่งบอกชนิดด้วย เช่น นกจับแมลงจุกดำ ในตัวผู้จะเห็นจุกดำที่หัวชัดเจนกว่าตัวเมีย เพราะฉะนั้น การถ่ายให้เห็นจุกดำจึงเป็นการถ่ายที่เสริมความสมบูรณ์ของภาพถ่ายให้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจากการได้แอคชั้นหรือองค์ประกอบภาพแล้ว สิ่งนี้ถือว่าเป็นข้อที่ควรให้ความสำคัญด้วยครับ
นกจับแมลงจุกดำเพศผู้จะมีจุดสีดำบนหัวซึ่งเป็นจุดเด่นและที่มาของชื่อครับ
นกจาบคาเคราแดงซึ่งพอเห็นแล้วก็อาจจะสามารถเดาชื่อได้เลยครับ
5. ชัตเตอร์สปีดที่เพียงพอ
แน่นอนว่าชัตเตอร์สปีดที่เพียงพอนั้นสามารถหยุดความเคลื่อนไหวได้ และทำให้เราได้ภาพแอคชั่นที่เราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาในเวลาที่นกเคลื่อนไหวได้ แต่ในบางกรณี การใช้ชัตเตอร์ที่สูงเกินไปอาจทำให้เราต้องเสียอย่างอื่นไปบ้าง เช่น การต้องดัน ISO ให้สูงขึ้น ภาพที่ได้อาจจะมี Noise เพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย นอกจากการใช้ชัตเตอร์สปีดที่สูงๆ ในการถ่ายภาพแอคชั่นแล้ว การลองใช้ชัตเตอร์สปีดต่ำก็อาจทำให้ภาพดูมี Movement ขึ้นมาได้ และอาจทำให้ได้ภาพที่สวยและแปลกใหม่ได้เช่นกัน
ใช้ชัตเตอร์สปีดสูงเพื่อหยุดแอคชั่นของปีกให้ได้แม้สภาพแสงจะน้อยการต้องการหยุดปีกนกก็จำเป็นต้องใช้ความเร็วให้เหมาะสมและใช้การชุดเชยแสงช่วยครับ
นอกจากการใช้ชัตเตอร์สปีดสูงกับการบินแล้วแม้นกอยู่นิ่งก็ยังมีพฤติกรรมที่จำเป็นต้องใช้ชัตเตอร์สปีดสูงเช่นกัน
6. เลือกพื้นหลังหากเลือกได้
นกที่เราถ่ายจะเด่นหรือไม่เด่น นอกจากสีสันแล้ว ฉากหลังก็สามารถทำให้นกดูเด่นขึ้นมาได้ หากฉากหลังโล่ง ไม่รกจนรบกวนตัวนกมากเกินไป หากเราถ่ายนกด้วยการนั่งบังไพร การมองหาพื้นหลังที่โล่ง มันมีแสงสว่างมากเกิน หรือมีสีสันที่ไม่กลืนไปกับสีของตัวนกจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ (ถ้าเราสามารถเลือกจุดตั้งบังไพรได้) หรือแม้แต่การเดินถ่ายเราก็ควรพิจารณาฉากหลังในการถ่ายภาพด้วย หรือในบางกรณี การใช้เลนส์ที่มี F กว้าง (ชัดตื้น) ก็สามารถช่วยให้ฉากหลังละลายได้ด้วยคุณสมบัติของเลนส์ หรือ การถ่ายภาพโดยให้ตัวนกห่างจากพื้นหลังก็พอช่วยทำให้ฉากหลังละลายได้เช่นกัน
ภาพนกที่ทิ้งห่างจากพื้นหลังแล้วเปิด F กว้างสุดก็ช่วยให้ฉากหลังละลายและทำให้นกเด่นขึ้นได้ครับ
7. ครีเอทภาพแปลกใหม่อย่างน่าสนใจ
ในข้อนี้ไม่มีกฎตายตัว การสร้างสรรภาพถ่ายสามารถทำได้ตามที่ต้องการ และสามารถนำคุณสมบัติของอุปกรณ์ถ่ายภาพมาช่วยสร้างสรรได้ เช่น การใช้ชัตเตอร์สปีดที่ต่างกันในพฤติกรรมของนกในรูปแบบเดียวกัน การเลือกวาง Composition ก็สามารถนำมาครีเอทได้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งการถ่ายภาพให้เห็น Habitat (สภาพแวดล้อมถิ่นที่อยู่อาศัย) เพื่อให้ภาพนั้นครบสมบูรณ์หากนำภาพไปใช้ในงานวิชาการก็ได้เช่นกัน
ลองใช้ชัตเตอร์สปีดต่ำในการถ่ายภาพนกที่กำลังเคลื่อนไหวดูบ้าง
8. การปรับแต่งภาพ
ในข้อนี้ ไม่สามารถลงความเห็นได้ว่าการตกแต่งภาพนั้นถูกหรือผิดครับ ขึ้นอยู่กับคนชอบ ทั้งช่างภาพเอง ผู้ที่สร้างสรรภาพ หรือผู้เสพภาพถ่ายครับ แต่ก็ควรพิจารณาบริบทของการนำไปใช้ด้วย เช่น การนำภาพที่ไม่มีการตกแต่งเพิ่มเติมจนเกินความเป็นจริงไปใช้กับงานวิชาการหรืองานสารคดีเป็นต้น
ภาพนี้ตกแต่งภาพให้ความสดใสของสีเขียวดรอปลงเพื่อให้ภาพดูเข้มขึ้นครับ
สุดท้ายนี้ แอดมินอยากทิ้งท้ายแค่ว่า ขอให้ทุกคนถ่ายภาพอย่างสนุก มีความสุข เคารพต่อผู้อื่นที่ใช้สังคม (ถ่ายภาพนก) เดียวกัน เคารพต่อธรรมชาติ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของธรรมชาติ ไม่ใช่อยากจะได้ภาพจนละเลยแก่นสำคัญคือการรักษาซับเจคท์ที่เราจะถ่ายต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบนะครับ
Leave feedback about this