เคยมั๊ยครับ หลายๆครั้งที่ดูรูปภาพแล้วรู้สึกรูปมันเอียงๆ รูปมันดูหนักไปข้างหนึ่ง หรือระนาบมันดูแปลกๆ ซึ่งหลายๆครั้งที่อาการแบบนี้ ทำให้เสน่ห์ของรูปนั้นดูด้อยลงไปพอสมควร ทั้งๆที่อาจจะวัดแสงได้พอดีแล้ว ให้สีสันที่สดใสอิ่มตัวแล้ว หรือมีจุดสนใจอยู่ในภาพแล้ว
ความไม่สมดุลในภาพ หรือบาลานซ์ของภาพที่หนักไปข้างใด ข้างหนึ่งนั่นแหละครับ ที่อาจจะทำให้รูปภาพนั้นดูด้อยลงไป แต่หมายถึงการจัดองค์ประกอบที่ทำให้รูปเกิดความไม่สมดุลนะครับ ไม่ใช้เจตนาการถ่ายให้เอียง อันนั้นเป็นการจัดรูปแบบภาพอีกแบบหนึ่ง ตามความต้องการของช่างภาพครับ
ความสมดุลของภาพหมายถึง การจัดองค์ประกอบภาพให้ดู ลงตัวในเฟรมภาพ ทั้งน้ำหนักของโทนสี น้ำหนักของ Shadow-Highlight หรือน้ำหนักของซับเจคด้านซ้ายและ ด้านขวาในเฟรมภาพ การวางเฟรมภาพให้มีความสมดุล เป็นการสื่อให้เห็นถึงความพิถีพิถันในการจัดองค์ประกอบของภาพ ถึงแม้ว่าจะสามารถเอาภาพที่มีปัญหามาปรับแก้ไขในโปรแกรมตกแต่งภาพได้ แต่นั่นก็ไม่ใช้การปรับให้ภาพดูดีขึ้นทั้งหมด รวมทั้งคุณภาพของไฟล์ภาพก็จะลดลงไปเรื่อยๆตามการแก้ไขด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้ความสมดุลของสีสัน หรือ Shadow-Highlight อาจจะปรับแก้ไขได้ยาก ถ้าหากว่าเราไม่มีการคิดถึงองค์ประกอบภาพโดยรวมมาก่อน
ดังนั้น จัดเฟรมภาพให้ดี วางองค์ประกอบให้ลงตัว จัดการเรื่อง สีสันให้ถูกต้องตั้งแต่ตอนแรก ถึงจะมีการปรับแต่งแก้ไขบ้าง ก็น่าจะเป็นการทำให้รูปภาพนั้นสวยงามขึ้นไปอีกล่ะครับ ไม่ใช่การปรับแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
1. สมดุลซ้าย-ขวา
เรียกตามหลักว่าความสมมาตร หมายถึงซับเจคของเรา มีอะไรที่เหมือนๆกันทั้งสองด้าน เมื่อเราตั้งกล้องถ่ายรูปจากตรงกลางภาพ ดังนั้นก็ควรจะวางซับเจคด้านซ้ายและด้านขวา ให้อยู่ในตำแหน่งที่สมดุลกัน อยู่ในเฟรมภาพเท่าๆกัน
รูปทรงของอาคารซ้าย-ขวาที่เหมือนๆกัน ทำให้จัดองค์ประกอบภาพแบบสมดุลได้ง่ายๆ
ภาพมุมเงยของโตเกียวทาวเวอร์ ที่แบ่งซ้าย-ขวาอย่างลงตัว
2. สมดุลสี
ไม่เชิงว่าจะต้องเป็นโทนสีตรงข้ามกัน แต่หมายถึง การวางน้ำหนักสีที่มาจากซับเจกคต่างๆให้ลงตัว หรือมีปริมาณที่เท่าๆกัน มีความเข้มสีที่ใกล้เคียงกัน หรืออาจจะมีสีที่โดดเด่นขึ้นมา แต่ใช้โทนสีอ่อนกว่าและเพิ่มปริมาณให้มากขึ้น เพิ่มมาถ่วงดุลนั่นเอง
ความสดใสของสีม่วงและชมพูของภาพกราฟิตี้ที่ด้านซ้าย ถูกถ่วงน้ำหนักด้วยประตูโทนสีเหลือง ที่มีแสงส่องเข้ามาให้ดูสว่างขึ้น
แสงสีส้มแดงที่ตัวอาคารที่มีขนาดใหญ่ กับแสงส้มแดงบน อาคารที่เล็กกว่า แต่มีแสงสีบนท้องฟ้ามาช่วยถ่วงดุลด้วย และเล่นกับเงาสะท้อนน้ำเพิ่มเสน่ห์ให้ภาพได้ดี ถ้าไม่มีแสงตกที่อาคารด้านขวา ภาพจะดูหนักไปด้านซ้ายมากกว่า
3. สมดุลน้ำหนัก
ในเฟรมภาพอาจจะมีจุดเด่นสองหรือสามอย่างขึ้นไป ดังนั้น การจัดวางจุดเด่นในเฟรมภาพ ก็ควรจะถ่วงน้ำหนักกัน บน-ล่าง, ซ้าย-ขวา หรือเยื้องๆจากมุมภาพตรงข้ามกัน เป็นต้น
ถึงจะมีเสาเตี้ยๆขนาดใหญ่อยู่ข้างหน้า แต่ก็ถูกคานน้ำหนัก ด้วยเสาประตู และเสาประกอบถัดไปด้านขวาอีกสองต้น
ความโดดเด่นของอาคารที่ด้านซ้ายของภาพ อาจจะทําให้น้ำหนักของภาพเทมาด้านซ้าย แต่พื้นที่ของท้องฟ้าที่สว่างๆมุมตรงกันข้าม ก็ช่วยถ่วงดุลน้ำหนักของภาพเอาไว้ ภาพนี้รักษารายละเอียดต่างๆของภาพทั้งในโทนมืด และโทนสว่างได้ดีทีเดียว
4. สมดุลแสงเงา
การจัดความสมดุลของแสงเงา ส่วนใหญ่มักจะเป็นการถ่ายภาพขาว-ดำ เนื่องจากไม่มีสีสันเข้ามาเกี่ยวข้องนั่นเอง แต่ก็ยังคงอิงตามความรู้สึกของเราอยู่เช่นเดิม ลักษณะแบบนี้ จะเป็นคนละอารมณ์กับโทนภาพแบบ Hi-Key หรือ Low-Key แบบนั้นจะเน้นโทนสว่าง หรือโทนเข้มของภาพไปเลย แต่สมดุลแสงเงาจะเป็นการจัดองค์ประกอบให้ส่วนมืดและส่วนสว่างในเฟรมภาพมีปริมาณที่เท่าๆกัน
โทนสว่างของภาพด้านซ้าย ช่วยถ่วงดุลโทนสีเข้มๆของภาพด้านขวาเอาไว้ ภาพนี้จัดองค์ประกอบได้สัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ระหว่างภาพนางแบบด้านซ้ายบนที่เหลือบมองมายังรูปปั้นด้านล่าง
การถ่วงดุลของโทนมืดบนผนังด้านขวา กับมุมล่างซ้ายและ โทนสว่างของแสงริมผนัง กับที่ตกลงบนเตียง
เรียนรู้ และลองนำเทคนิคทั้ง 4 วิธีนี้ไปปรับ หรือประยุกต์ใช้กับแนวทางการถ่ายภาพที่ตัวเองชอบ และหาโอกาสออกไปถ่ายภาพบ่อยๆ จะช่วยให้ถ่ายภาพสวยได้แน่นอนครับ
Leave feedback about this