ADVANCE PHOTO TECHNIQUES

10 เคล็ดลับเลนส์ Extreme Wide ถ่ายภาพวิว

ช่างภาพหลายคนอาจจะไม่ชอบใช้เลนส์ Extreme Wide Angle​ หรือเลนส์มุมกว้างพิเศษ เช่นเลนส์ซูม 16-35 มม. ถ่ายภาพ landscape ด้วยความที่มันเป็นเลนส์ที่ให้มุมมองของภาพที่กว้างมาก ให้ระยะความชัดลึกสูง แต่ข้อดีของเลนส์ช่วงนี้คือที่ระยะมุมกว้างสุด 16 มม. (หรือกว้างกว่า ตามแต่เลนส์ที่ใช้)​ สามารถเข้าใกล้วัตถุได้มากกว่า และยังให้ภาพในมุมมองที่แตกต่างจากเลนส์ kit และเลนส์มุมกว้างทั่วๆไปอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม สำหรับช่างภาพ หรือมือใหม่สายแลนด์ ที่ยังไม่มีความชำนาญมากพอ เรามี 10 เคล็ดลับการใช้เลนส์มุมกว้างพิเศษในการถ่ายภาพ Landscape รวบรวมไว้แล้ว ใครจะเอาไปประยุกต์ใช้กับเลนส์ที่มีอยู่ หรือเก็บไว้เป็นไอเดียถ่ายรูปช่วงไปท่องเที่ยวก้ได้ครับ

1. Observe Through the Camera : มองภาพผ่านช่องมอง

     เมื่อใช้เลนส์มุมกว้างพิเศษ ให้มองภาพผ่านช่องมองภาพหรือจอแสดงผลของกล้อง แทนการมองด้วยการใช้สายตาปรกติ เพราะจะทำให้เห็นภาพในมุมมองที่เกิดขึ้นจริง ธรรมชาติของเลนส์ประเภทนี้จะทำให้วัตถุที่ฉากหน้ามีขนาดใหญ่ และดูเหมือนอยู่ใกล้กับกล้องมากกว่าความเป็นจริง แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ฉากหลังที่ดูกว้าง วัตถุที่ฉากหลังมีขนาดเล็ก และอยู่ไกลออกไปมากกว่าความเป็นจริงเช่นกัน

2. Look for the Small Details : ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดในภาพถ่าย

     ให้ลองมองหาวัตถุขนาดเล็ก หรือเพิ่มรายละเอียดอื่นๆที่สามารถจัดเข้ามาวางให้อยู่ในบริเวณฉากหน้า ช่วยเพิ่มมิติ ช่วยเพิ่มเรื่องราว และยังสร้างความน่าสนใจให้ภาพได้มากขึ้น เช่น การถ่ายภาพภูเขา หรือ น้ำตก เมื่อใช้เลนส์มุมกว้างพิเศษภาพจะมีขนาดเล็กและไกล ขาดความน่าสนใจ ให้ลองมองหาวัตถุอื่นที่อยู่ใกล้ๆมาช่วยเติมความสมบูรณ์ให้ภาพมีความน่าสนใจมากขึ้น

3. Use Smaller Apertures : ใช้รูรับแสงแคบ

     ในกรณีที่ตำแหน่งของกล้อง หรือช่างภาพอยู่ใกล้กับวัตถุที่บริเวณฉากหน้า และต้องการโฟกัสให้มีระยะความชัดตั้งแต่วัตถุที่อยู่บริเวณฉากหน้า แนะนำให้ใช้รูรับแสงแคบที่ประมาณ f/14 – f/16 ไม่แนะนำให้ใช้รูรับแสง f/18-f/22 เพราะอาจจะทำให้คุณภาพของภาพลดลง

4. Use Focus Stacking : ใช้เทคนิค focus stacking

       การใช้เทคนิค focus stacking จะช่วยให้คุณสามารถควบคุมความชัดลึกของภาพให้อยู่ในระยะตามที่ต้องการได้ โดยการโฟกัสและถ่ายภาพในตำแหน่งที่ต่างกันของวัตถุขยับไปทีละภาพให้ได้ตามระยะทางที่ต้องการ จากนั้นจึงนำไฟล์ภาพที่ถ่ายคนละจุดโฟกัสเหล่านั้นไปรวมเป็นภาพๆเดียวด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมแต่งรูป

5. Experiment With Distances : ถ่ายภาพเดียวในระยะที่แตกต่างกัน

       เลนส์มุมกว้างพิเศษ เป็นเลนส์ที่ให้ภาพในมุมกว้างมาก การลองถ่ายภาพที่มุมเดียวกัน แต่ขยับให้มีระยะห่างจากวัตถุแตกต่างกัน หรือถ่ายภาพในมุมเดียวกันในช่วงเวลาที่ต่างกัน จะให้ภาพที่มีเรื่องราวและ อารมณ์ ความรู้สึกที่แตกต่างกันมาก

6. Get Low to the Ground : ภาพจากมุมกล้องที่วางติดพื้น

       วัตถุหรือพื้นผิว หรือสิ่งของต่างๆที่อยู่ติดกับพื้นจะมีขนาดใหญ่เมื่อเคลื่อนกล้องเข้าไปใกล้หรือวางกล้องมุมต่ำติดกับพื้น ลองถ่ายภาพในมุมนี้จะได้ภาพที่น่าสนใจขึ้น

7. Shoot at Different Heights : ถ่ายภาพจากกล้องในตำแหน่งความสูงต่างกัน

       การใช้เลนส์มุมกว้างพิเศษ หากยกกล้องขึ้นถ่ายภาพในมุมสูงที่แตกต่างกันจะให้ภาพที่มีมุมมองต่างกันมากเสมอ และยิ่งถือกล้องสูงขึ้น หรือยิ่งกดกล้องลงในมุมต่ำจะให้ฉากหน้าที่มีรายละเอียดเปลี่ยนไป

8. Find Different Perspectives : ลองหามุมมองใหม่ๆ

       จำไว้เสมอว่า เลนส์มุมกว้างพิเศษนี้ การก้ม-เงยกล้อง หรือ แพนกล้องไปมา จะให้มุมมองภาพที่เปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึงเสมอ หากถ่ายภาพในมุมที่ต้องการแล้ว ให้ลองเดินไปรอบๆเพื่อหามุมมองใหม่ๆบ้าง

9. Use Distortion to Your Advantage : ใช้ประโยชน์จากเรื่องของ Distortion

       การเกิด Distortion เป็นเรื่องปรกติของเลนส์มุมกว้าง การถ่ายภาพท้องฟ้าจะเหมือนท้องฟ้ามีสัดส่วนที่ผิดเพี้ยน และเมฆเคลื่อนที่ไปอยู่ที่จุดกลางภาพ ให้ลองใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้มาถ่ายภาพในมุมที่แตกต่าง เช่น การถ่ายภาพ landscape ที่ท้องฟ้าและพื้นดินมีสัดส่วนเท่ากันแทนการใช้หลักกฎสามส่วน หรือการวางตำแหน่งวัตถุไว้ใกล้ขอบภาพให้มีสัดส่วนที่ผิดจากความเป็นจริง

10. Pay Attention to the Corners : ให้ความสำคัญกับมุมภาพ

       มุมของภาพมีส่วนสำคัญมากโดยเฉพาะกับมุมด้านล่างทั้งสองฝั่งของภาพ ทั้งมุมซ้ายและขวา พยายามให้มีจุดหรือเส้นนำสายตาไปสู่วัตถุเด่นของภาพ

ที่มา : petapixel

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video