สิ่งหนึ่งที่ผู้ซื้อของทุกคนชื่นชอบคือการได้รับของคุ้มเกินราคาที่จ่ายไปหรือจ่ายน้อยกว่าที่ควรจะจ่าย ขณะที่มีคำพูดเกี่ยวกับอุปกรณ์ถ่ายภาพว่า นักถ่ายภาพจะได้รับเท่ากับที่จ่ายไป แม้ว่าอาจมีเลนส์ราคาแพงบางรุ่นที่ให้ได้น้อยกว่าที่จ่ายก็ตาม อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่านักถ่ายภาพไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีความคุ้มกว่าราคา
หากเปิดเวบไซต์ของร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพดูจะพบว่ามีเลนส์ถ่ายภาพหลายรุ่นที่มีราคาไม่สูงนักสำหรับนักถ่ายภาพที่มีงบจำกัด โดยมีมากกว่า 40 รุ่นที่ซื้อได้ในราคาหลักพันไปจนถึงหมื่นต้นๆ ซึ่งในเลนส์เหล่านี้มีเลนส์ 12 รุ่นที่มีความโดดเด่นทั้งด้านคุณภาพและราคาซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักถ่ายภาพงบจำกัดที่มองหาเลนส์ราคาไม่สูงที่มีความคุ้มค่า
หากกล้องที่ใช้คือ DSLR ที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C ของ Canon อย่าง EOS 760D หรือ 80D แล้วพบว่ามีปัญหาในการพยายามเก็บทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไว้ในเฟรม อาจถึงเวลาที่ต้องเพิ่มเลนส์ซูมมุมกว้างนี้เป็นทางเลือกไว้ในกระเป๋ากล้อง เลนส์ซูม 10-18 มม. ซึ่งเทียบเท่ากับ 16-30 มม. ที่มีนํ้าหนักเบาของ Canon นี้มาพร้อมกับหลากหลายสิ่งที่น่าประทับใจซึ่งรวมไปถึงการทำงานลดการสั่นไหวของภาพได้ถึง 4 สตอป และมอเตอร์ Stepper (STM) ที่ช่วยให้การโฟกัสเงียบไม่มีเสียงรบกวนเมื่อถ่ายวิดีโอ ด้วยนํ้าหนักที่เบาเพียง 240 กรัมทำให้ไม่รู้สึกถึงความไม่สมดุลย์หรือนํ้าหนักถ่วงที่ด้านหน้าอย่างที่เกิดเมื่อใช้เลนส์ขนาดใหญ่กับกล้อง DSLR ระดับ Entry-level นอกจากนี้นักถ่ายภาพทิวทัศน์จะต้องชื่นชอบในระบบโฟกัสที่เคลื่อนชิ้นเลนส์ภายในทำให้เมื่อโฟกัสไม่มีผลต่อการใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์หรือฟิลเตอร์ Graduated ND ที่ติดอยู่หน้าเลนส์
ตามลักษณะของเลนส์ประเภทนี้ที่เลนส์ 10-18 มม. แสดงดิสทอร์ชั่นแบบ Barrel ให้เห็นที่ช่วงกว้างสุดแต่ก็ไม่มากเกินกว่าจะรับไม่ได้ และสามารถแก้ไขได้ และอาการดิสทอร์ชั่นจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อซูมไปที่ช่วงยาวขึ้นจนแทบไม่ปรากฏที่ช่วง 18 มม. เมื่อเทียบราคากับประสิทธิภาพแล้วนี่คือเลนส์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับติดไว้กับกล้องสำหรับผู้ใช้กล้อง DSLR เซ็นเซอร์ APS-C ของ Canon ที่ชอบถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ, ภายในอาคาร หรือทิวทัศน์เมือง โดยเฉพาะเมื่อเทียบราคากับเลนส์ลักษณะเดียวกันแล้วทำให้ไม่เห็นเหตุผลที่จะไม่ซื้อเลนส์นี้ไว้ในกระเป๋ากล้องหากมองหาทางเลือกที่จะขยายมุมมองให้กว้างขึ้น
ครั้งหนึ่งเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวแบบแพนเค้กที่มีความบางมากมีชื่อเสียงไม่ดีนักในเรื่องคุณภาพทางออฟติก เนื่องจากไม่สามารถใส่เลนส์หลายชิ้นเพื่อแก้ไขความคลาดของเลนส์ได้ แต่อย่างไรก็ตามด้วยความลํ้าหน้าในการออกแบบเลนส์ไม่กี่ปีมานี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เลนส์ EF-S 24 มม. F2.8 STM ที่มีทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับ 38 มม. ซึ่งมีมุมรับภาพที่กว้างเกือบเท่าเลนส์ 35 มม. บนกล้อง DSLR APS-C ของ Canon มีขนาดที่กะทัดรัดซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นข้อจำกัดต่อการใส่การทำงานลดการสั่นไหวของภาพลงไป และไม่มีเม้าต์สำหรับฮูดเลนส์ทำให้ต้องใช้ฮูดแบบเกลียวโดยหมุนเข้าไปที่เกลียวหน้าฟิลเตอร์ขนาด 52 มม. แทน ด้วยการใช้มอเตอร์แบบ Stepper (STM) เคลื่อนการโฟกัสจึงทำให้ระบออโตโฟกัสเงียบและการโฟกัสแมนนวลเป็นแบบอีเล็กทรอนิกแทนแบบเมคานิกเหมือนเลนส์ทั่วไป หรือหมายความว่าการหมุนวงแหวนโฟกัสจะเป็นการเคลื่อมอเตอร์โฟกัสของเลนส์ด้วย
คุณภาพการผลิตของเลนส์ดีเมื่อเทียบกับราคา มีการใช้เม้าต์เลนส์โลหะที่มีความทนทานและกระบอกเลนส์ผลิตจากพลาสติกคุณภาพสูง ด้วยรูรับแสง F2.8 ทำให้สามารถเบลอฉากหลังได้พอสมควรเมื่อถ่ายภาพที่ระยะใกล้ และโบเก้ที่ได้ก็น่าประทับใจพอสมควร สำหรับผู้เริ่มถ่ายภาพนี่คือเลนส์ที่ยอดเยี่ยมในการจับคู่กับเลนส์ซูมมาตรฐานที่มากับกล้อง เนื่องจากช่วยให้สามารถใช้มือถือกล้องถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยได้โดยที่ความเร็วชัตเตอร์ไม่ตํ่านักเพื่อเลี่ยงความเบลอจากวัตถุเคลื่อนที่ ด้วยราคาที่ประหยัด ขนาดเหมาะสำหรับพกพาไปทุกที่ และประสิทธิภาพที่ดีในด้านคุณภาพของภาพ เลนส์ Canon EF-S 24 มม. F2.8 STM จึงเป็นหนึ่งในเลนส์ที่น่าเป็นเจ้าของสำหรับผู้ใช้ Canon
Lensbaby เป็นบริษัทที่ผลิตเลนส์ที่มีออฟติกสำหรับการเลือกเน้นจุดโฟกัสอย่างแท้จริง โดยเลนส์ที่มีลักษณะการทำงานพื้นฐานที่สุดคือ Spark ซึ่งใช้เลนส์เพียงชิ้นเดียวที่ไม่มีการโค๊ตติดในเบลโลว์พลาสติกที่สามารถขยับเพื่อเลื่อนพื้นที่โฟกัสเล็กๆ ได้ทั่วทั้งภาพ ขณะที่ส่วนอื่นในภาพเบลอ เลนส์มีโครงสร้างพลาสติกทั้งหมด นํ้าหนักเพียง 71 กรัม และใส่ฟิลเตอร์ขนาด 37 มม. ในการใช้งานไม่ใช่เลนส์ที่ควบคุมได้ง่ายเพราะต้องใช้การงอ, ยืด และหมุนเลนส์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการในขณะที่แนบกล้องกับตาจึงทำให้ต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับ แต่หากมีความอดทนนักถ่ายภาพจะสามารถสร้างสรรค์เอฟเฟกต์เบลอที่น่านใจในภาพได้ จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถสร้างสรรค์และมีประสบการณ์ถ่ายภาพใหม่ๆ มากขึ้นในราคาถูก โดยปัจจุบันมีเม้าต์สำหรับกล้อง DSLR ของ Canon และ Nikon ให้ใช้ด้วย
ผู้ใช้กล้อง Micro FourThirds ที่อยากมีประสบการณ์กับเลนส์ฟิชอายควรพิจารณาออฟติกที่มีราคาไม่สูงนี้ที่ให้มุมรับภาพกว้างถึง 180 องศา เลนส์นี้นอกจากไม่มีจุดสัมผัสท้ายเลนส์แล้ว การวัดแสงต้องปรับด้วยวงแหวนรูรับแสง ขณะที่การโฟกัสปรับแมนนวลด้วยวงแหวนโฟกัสที่ราบเรียบโดยมีสัญลักษณ์บอกระยะโฟกัสตั้งแต่อินฟินิตี้ถึงระยะใกล้สุด 9 ซม. แต่ไม่มีสเกล Hyperfocal เนื่องจากต้องโฟกัสแมนนวลจึงอาจทำให้ไม่เป็นทางเลือกสำหรับนักถ่ายภาพบางคน แต่ด้วยระบบช่วยการโฟกัสในกล้องรุ่นใหม่ๆ และระยะชัดที่มากซึ่งเลนส์มีให้จึงทำให้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะโฟกัสภาพให้มีความคมชัด ดังนั้นหากสามารถถ่ายภาพได้โดยไม่ต้องมีระบบออโตโฟกัสและต้องการเลนส์ฟิชอายที่มีราคาไม่สูงนัก เลนส์จาก Samyang นี้คือความคุ้มค่าที่ควรพิจารณา
เลนส์คอนเวอร์ชั่นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ใช้ X-100, X-100S และ X-100T ที่ต้องการความแตกต่างจากปกติโดยการเปลี่ยนเลนส์ 35 มม. ให้เป็น 50 มม. จากโครงสร้างออฟติกที่ใช้เลนส์ 4 ชิ้นใน 4 กลุ่ม ตัวคอนเวอร์ชั่นถูกออกแบบให้เรียบมีสไตล์เพื่อเข้ากับตัวกล้องที่ย้อนยุคได้อย่างดี และด้วยการที่ใช้โลหะทั้งหมดทำให้รู้สึกได้ถึงความแข็งแรงและทนทาน เนื่องจากตัวเลนส์กว้างออกในส่วนหน้าจึงทำให้ผู้ใช้ช่องมองภาพของกล้องมีปัญหาจากการที่ส่วนของเลนส์บังมุมขวาล่างของเฟรม ตัวคอนเวอร์ชั่น TCL-X100 มีทั้งสีดำและสีเงินให้เลือกใช้กับกล้อง Fujifilm X100, X-100S และ X100T เพื่อเป็นทางเลือกในการบันทึกภาพมุมที่แคบลง พร้อมกับที่มีเลนส์คอนเวอร์ชั่นมุมกว้าง WCL-X100 เป็นทางเลือกสำหรับเปลี่ยนเลนส์ 35 มม. ให้เป็นเลนส์ 28 มม. ที่มีมุมรับภาพกว้างขึ้น
ไม่มีเลนส์ใดที่จะบางไปกว่าเลนส์ Olympus 9 มม. ฟิชอาย F8 Body Cap อีกแล้ว โดยออฟติกที่มีความกะทัดรัดมากมีขนาดเล็กและนํ้าหนักเบามากสมกับชื่อเลนส์จึงทำให้เหมาะสำหรับการติดไว้ที่กล้องเมื่อเดินเล่นพร้อมกับสะพายกล้อง วัดความหนาแล้วมีขนาด 12.8 มม. และนํ้าหนักเพียง 30 กรัม แต่ให้มุมรับภาพที่กว้างถึง 140 องศา และจากความจริงที่ว่าไม่มีจุดสัมผัสที่เลนส์ ผู้ใช้จึงต้องปรับตั้งที่กล้องเพื่อถ่ายภาพโดยไม่ใช้เลนส์ และใช้ก้านพลาสติกเพื่อโฟกัสแมนนวล
ด้วยระยะชัดที่มากจากเลนส์ฟิชอาย 9 มม. จึงทำให้ในสถานการส่วนใหญ่นักถ่ายภาพสามารถปรับก้านโฟกัสไว้ที่อินฟินิตี้ได้ จากลักษณะของเลนส์ทำให้เป็นเลนส์ที่ใช้สนุก ไม่เปลืองพื้นที่ในกระเป๋ากล้อง และเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ใช้กล้อง Micro FourThirds ที่อยากมีประสบการณ์กับเพอร์สเปกทีฟของเลนส์ฟิชอายโดยไม่ต้องควักเงินจำนวนมาก
เลนส์ซูมช่วงมาตรฐานนี้มักจะอยู่รวมในชุดคิตกับกล้อง Micro FourThirds ของ Panasonic โดยออกมาครั้งแรกพร้อมกับกล้อง Lumix DMC-GM1 และตั้งแต่นั้นก็มักจะเห็นเลนส์รุ่นนี้มาพร้อมกล้องรุ่นอื่นๆ ของ Panasonic อย่างเช่น Lumix DMC-GX80 รวมทั้งสามารถซื้อเฉพาะเลนส์ที่มีให้เลือกระหว่างสีเงินและสีดำได้ในราคาไม่สูง ขนาดของเลนส์เป็นสิ่งที่สร้างความน่าประทับใจอย่างมากแตกต่างจากเลนส์ Lumix G X 14-42 มม. F3.5-5.6 Asph Power OIS ของ Panasonic ที่มีขนาดใหญ่กว่าและนํ้าหนักมากกว่าอย่างชัดเจน โดยชุดออฟติกที่มีขนาดเล็กกว่านี้มีนํ้าหนักเพียง 70 กรัมและยื่นมาจากเม้าต์กล้องเพียง 24 มม.เมื่อเก็บเลนส์จนสุด ทางยาวโฟกัสของเลนส์เทียบเท่ากับ 24-64 มม. ในกล้องฟูลเฟรม โดยเคลื่อนโฟกัสภายในจึงมั่นใจได้ว่าหน้าเลนส์ไม่หมุน และสามารถใช้ฟิลเตอร์ที่มีขนาด 37 มม. ได้ แม้จะให้ขอบภาพที่ซอฟต์ที่รูรับแสงกว้างสุด แต่ความคมชัดที่กลางภาพน่าประทับใจ รวมทั้งยังควบคุมความคลาดสีได้ดี
ในด้านคุณภาพการผลิต กระบอกเลนส์ทำมาจากพลาสติกแต่ก็ให้ความรู้สึกถึงคุณภาพการผลิตที่ดี อย่างไรก็ตามเลนส์ไม่มีวงแหวนโฟกัสแมนนวลทำให้ต้องพึ่งพาแต่ระบบออโตโฟกัสซึ่งค่อนข้างรวดเร็วและแม่นยำ ผู้ใช้กล้อง Panasonic ที่ต้องการเลนส์ติดกล้องสำหรับเดินถ่ายภาพที่ขนาดไม่ใหญ่และน้ำหนักเบาจะชอบเลนส์รุ่นนี้
นี่คือเลนส์ที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับผู้ใช้กล้อง Pentax ที่มองหาเลนส์ราคาไม่แพงเพราะเป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวที่มีมุมรับภาพเทียบเท่าใกล้เคียงกับเลนส์มาตรฐาน 30 มม. เลนส์สามารถโฟกัสได้ใกล้สุด 30 ซม. ในโครงสร้างประกอบด้วยเลนส์ 6 ชิ้นใน 5 กลุ่ม ใช้ไดอะแฟรม 6 ใบควบคุมรูรับแสง เลนส์ใช้ระบบออโตโฟกัสแบบเก่าคือเคลื่อนโฟกัโดยระบบออโตโฟกัสของกล้องขณะที่เลนส์ใหม่ๆ มีมอเตอร์โฟกัสในเลนส์ จึงทำให้มีข้อเสียคือเสียงที่ดังเมื่อโฟกัส
เลนส์ให้ความคมชัดที่น่าประทับใจโดยให้ความคมชัดสูงสุดที่รูรับแสง F4 สำหรับผู้ใช้กล้อง Pentax ที่ซื้อกล้อง DSLR มาพร้อมเลนส์คิต 18-55 มม. เลนส์ 35 มม. F2.4 AL ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเลนส์ตัวที่ 2 จากคุณภาพของภาพที่โดดเด่นกว่ารูปลักษณะของเลนส์
เมื่อเปิดตัวออกมาช่วงต้นปี 2015 เลนส์ Nion AF-S DX 55-200 มม. F4.5-5.6G ED VR II สร้างความน่าสนใจด้วยราคาขายที่ไม่สูง และเมื่อเวลาผ่านไปราคาของเลนส์เทเลซูมรุ่นประหยัดนี้ก็ยังลดลงอีก จึงทำให้เป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับผู้ใช้กล้อง Nikon DSLR APS-C ที่ซื้อกล้องมาพร้อมเลนส์คิต 18-55 มม. เมื่อต้องการทางยาวโฟกัสที่มากขึ้นเพื่อถ่ายภาพสิ่งที่อยู่ระยะไกลให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
เลนส์มีมอเตอร์โฟกัสในตัวและมีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพ VR II ของ Nikon ที่ช่วยให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้ตํ่ากว่าปกติ 4 สตอป นอกจากนี้เลนส์ยังสามารถล็อกตำแหน่งซูมได้ อย่างไรก็ตามเลนส์มีการโฟกัสที่ไม่เร็วมากและหน้าเลนส์หมุนเมื่อโฟกัสจึงทำให้มีปัญหาบ้างเมื่อใช้ฟิลเตอร์บางอย่างหน้าเลนส์
เลนส์มาตรฐาน 50 มม. เป็นเลนส์ยอดนิยมมาอย่างยาวนานสำหรับนักถ่ายภาพที่ชอบถ่ายภาพที่มีมุมรับภาพใกล้เคียงกับการมองของตา โดย Nikon ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลนส์ 50 มม. F1.8 ไม่ตํ่ากว่า 6 รุ่นตั้งแต่ปี 1978 กับเลนส์รุ่นใหม่ล่าสุดมีความแตกต่างกับรุ่น D ที่เป็นรุ่นก่อนหน้าเนื่องจากเป็นเลนส์รุ่น G จึงไม่มีรูรับแสงที่เลนส์ และใช้มอเตอร์ Silent Wave (SWM) ทำให้เลนส์มีการโฟกัสที่รวดเร็วและเงียบ เลนส์รองรับการใช้งานร่วมกับกล้อง DSLR ระดับ Entry-level ของ Nikon ที่ไม่มีมอเตอร์ออโตโฟกัสในตัวกล้องอย่าง D3300 และ D5500 และยังเป็นหนึ่งในเลนส์ที่มีราคาถูกที่สุดของ Nikon แต่มีคุณภาพในการผลิตที่สวนทางกับราคา เลนส์มีดิสทอร์ชั่นแบบ Barrel เล็กน้อยและพบอาการขอบภาพมืดที่รูรับแสงกว้างสุด แต่ไม่มากนักซึ่งสามารถแก้ไขได้ง่ายในขั้นตอนหลังถ่ายภาพ ไม่ว่าจะใช้กล้องฟูลเฟรมหรือ APS-C ซึ่งทำให้เลนส์มีทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับ 75 มม. เลนส์ AF-S Nikkor 50 มม. F1.8G เป็นเลนส์ที่ควรมีติดกระเป๋ากล้อง และจัดเป็นหนึ่งในเลนส์ที่ดีที่สุดที่มีราคาประหยัด
เลนส์ซูเปอร์ซูมมักถูกพิจารณาว่าเป็นเลนส์ที่เหมาะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวถ่ายภาพ และยังเป็นเลนส์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เวลาในการถ่ายภาพมากที่สุดโดยที่ไม่เสียเวลาไปกับการเปลี่ยนเลนส์ขณะกำลังถ่ายภาพ จุดเด่นของเลนส์ซูมจาก Tamron คือช่วงซูมที่กว้างเทียบเท่ากับ 28-300 มม. ในกล้องฟูลเฟรม โครงสร้างทางออฟติกประกอบด้วยเลนส์ 16 ชิ้นใน 14 กลุ่มโดยมี 1 ชิ้นเลนส์แอสเฟอริคัลและ 1 ชิ้นเลนส์กระจายแสงตํ่าเพื่อลดความคลาด ในขณะที่เลนส์ซูเปอร์ซูมอื่นมักใช้ชิ้นเลนส์พิเศษมากกว่า ซึ่งนี่คือเหตุผลที่เลนส์ของ Tamron มีราคาถูก อย่างไรก็ตามเลนส์มีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพ และใช้กลไกเคลื่อนชิ้นเลนส์ภายในเพื่อโฟกัสซึ่งทำให้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์หรือ Graduated ND ขนาด 62 มม. ที่ใช้ร่วมกับเลนส์ไม่หมุนเมื่อโฟกัส
คุณภาพของภาพดีสำหรับเลนส์ซูเปอร์ซูม มีความคมชัดสูงสุดที่ช่วงมุมกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กลางภาพแต่ภาพจะเริ่มซอฟต์ลงเมื่อซูมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบไม่ใกล้เคียงกับคำว่ารายละเอียดที่ดีที่ช่วงเทเลโฟโตมากๆ นอกจากนี้เลนส์มีดิสทอร์ชั่นแบบ Barrel อย่างชัดเจนที่ช่วงมุมกว้าง และเปลี่ยนเป็นแบบ Pincushion กับทางยาวโฟกัสที่เหลือเกือบทั้งหมด แม้เป็นเลนส์ที่มีความคุ้มราคา แต่ก็เหนือกว่าเลนส์ที่มีราคาแพงกว่าอย่างชัดเจน หากคิดจะถ่ายภาพแบบ RAW และปรับภาพเพื่อลดข้อด้อยต่างๆ จะช่วยให้ได้ภาพที่ดียกเว้นแต่ว่าจะนำภาพไปปรินต์ขนาดใหญ่ ในทางเทคนิคแล้วไม่ต้องสงสัยว่านักถ่ายภาพจะได้ภาพที่มีคุณภาพดีกว่าจากเลนส์ซูมที่มีช่วงซูมสั้นกว่า 2 ตัวที่ครอบคลุมทางยาวโฟกัสเท่ากับเลนส์นี้ แต่หากไม่ต้องการเปลี่ยนเลนส์ระหว่างถ่ายภาพก็ไม่มีทางเลือกอื่น
เป็นหนึ่งในเลนส์ขนาดกะทัดรัดของ Sigma ชุดเดียวกับเลนส์ 19 มม. F2.8 DN Art และ 30 มม. F2.8 DN Art ที่ถูกออกแบบเพื่อผู้ที่ชื่นชอบเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวไวแสงโดยมีทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับ 120 มม. กับกล้อง Micro FourThirds และ 90 มม. กับกล้อง Sony E-Mount เป็นเลนส์ในซีรี่ส์ Art ของ Sigma และใช้ระบบโฟกัสแบบ Linear ซึ่งให้ความมั่นใจในประสิทธิภาพการโฟกัส เลนส์จะมีเสียงออกมาเล็กน้อยเมื่อปิดการทำงานของกล้อง ซึ่งเป็นลักษณะของระบบออโตโฟกัสแบบนี้ซึ่งไม่ใช่อาการผิดปกติ
นํ้าหนักของเลนส์ที่เบาเพียง 190 กรัมทำให้เข้ากับขนาดของตัวกล้อง Mirrorless ที่กะทัดรัด โดยให้ความคมชัดกลางภาพอย่างเด่นชัดที่รูรับแสง F2.8 และจะให้ความคมถึงขอบภาพหรือคุณภาพสูงสุดเมื่อหรี่มาที่รูรับแสง F5.6 โครงสร้างเลนส์ใช้โลหะร่วมกับพลาสติกคุณภาพสูงทำให้รู้สึกว่าเป็นเลนส์ที่มีราคาแพงกว่าราคา ไม่มีเหตุผลที่จะมองข้ามเลนส์นี้หากเป็นผู้ใช้กล้อง Micro FourThirds หรือ Sony E-Mount ที่มองหาเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวเทเลโฟโตราคาไม่แพงสำหรับถ่ายภาพบุคคล
แปล / เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ