BASIC PHOTO TECHNIQUES

Essential “Flash” Features ข้อควรรู้ ถ้าอยากมีแฟลชดีๆใช้สักตัว

แม้ว่ากล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ในปัจจุบันแทบทุกรุ่นยกเว้นกล้องระดับโปรจะมีแฟลชในตัวกล้องมาให้ใช้ซึ่งเป็นประโยชน์ในหลายสถานการณ์ถ่ายภาพ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากแฟลชในตัวกล้องอาจไม่ค่อยน่าประทับใจนัก เพราะไม่เพียงแค่ให้แสงที่แข็งเท่านั้น แต่แสงแฟลชยังมาจากกล้องโดยตรงซึ่งเป็นข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ภาพ แฟลชซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับติดบนฮอทชูของกล้องจึงเป็นทางเลือกในการให้แสงซึ่งช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถให้แสงในภาพอย่างนักถ่ายภาพระดับโปรได้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่แฟลชจะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ชิ้นแรกๆ ที่นักถ่ายภาพจำนวนมากซื้อหลังจากกล้องและเลนส์ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เริ่มถ่ายภาพหรือผู้ที่ถ่ายภาพนานแล้วแต่ยังไม่มีแฟลชใช้และคิดว่าจะลงทุนกับแฟลชภายนอกสักตัวเพื่อเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพให้มากขึ้น มีบางสิ่งเกี่ยวกับแฟลชที่ควรพิจารณาในเลือกซื้อ

ไกด์นัมเบอร์


ไกด์นัมเบอร์ของแฟลชซึ่งมักจะเขียนว่า GN เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงกำลังของแฟลชหรือความแรงของแสงแฟลช ซึ่งจะแสดงระยะในหน่วยเมตรที่นักถ่ายภาพสามารถบันทึกภาพวัตถุได้อย่างถูกต้องกับรูรับแสง F1 และความไวแสง ISO 100 โดยสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับไกด์นัมเบอร์คือเป็นการวัดด้วยมาตรส่วน Logarithmic คือ หากแฟลชตัวหนึ่งมีไกด์นัมเบอร์ 2 เท่าของแฟลชอีกตัวจะให้แสงที่แรงกว่า 4 เท่า โดยทั่วไปแฟลชในตัวกล้องจะมีไกด์นัใเบอร์ประมาณ 10 ขณะที่แฟลชภายนอกที่เหมาะสำหรับการใช้งานจะมีไกด์นัมเบอร์ประมาณ 40-60 อย่างไรก็ตามอาจมีผู้ผลิตแฟลชบางรายที่สร้างความคลุมเครือแก่นักถ่ายภาพด้วยการใช้หน่วยระยะทางเป็นฟุตแทนเมตรและความไวแสงที่สูงกว่า ISO 100 แทนค่าปกติที่ใช้กันในการระบุไกด์นัมเบอร์ ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังหรือไกด์นัมเบอร์ของแฟลชจริงๆ ดังนั้นเมื่อจะซื้อแฟลชจึงควรระวังสิ่งนี้และพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับแฟลชอย่างละเอียด และที่สำคัญคือควรเลือกแฟลชที่มีไกด์นัมเบอร์มากกว่า 35

เบ๊าซ์แฟลช


แฟลชภายนอกตัวกล้องส่วนใหญ่จะสามารถปรับหัวแฟลชเงยขึ้นได้ซึ่งทำให้นักถ่ายภาพสามารถเบ๊าซ์แสงขึ้นไปที่เพดานเพื่อให้สะท้อนไปยังวัตถุได้ ซึ่งโดยทั่วไปการเบ๊าซ์แสงจะให้แสงที่แบนกว่าแสงจากแฟลชโดยตรงซึ่งเป็นผลมาจากการที่แหล่งแสงมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้เงาบนวัตถุจางลง รวมทั้งแสงที่มาจากด้านบนยังมีลักษณะเหมือนกับแสงจากดวงอาทิตย์ในธรรมชาติตอนกลางวัน นอกจากนี้แฟลชหลายรุ่นยังสามารถปรับหมุนหัวแฟลชไปด้านข้างเพื่อเบ๊าซ์แสงกับผนังหรือกำแพงได้ด้วย

ระยะเวลาที่ชาร์จพลังงาน


เมื่อถ่ายภาพโดยที่แฟลชให้แสงเต็มกำลังหรือเกือบเต็มความแรง แฟลชบางรุ่นอาจจะต้องใช้เวลาหลายวินาทีเพื่อชาร์จพลังงานสำหรับการให้แสงครั้งต่อไป ขณะที่แฟลชบางรุ่นใช้เวลาชาร์จพลังงานใหม่น้อยกว่าวินาที ดังนั้นหากต้องถ่ายภาพในสถานการณ์ที่ต้องการความรวดเร็ว เช่น งานแต่งงาน หรืองานพิธีต่างๆ ระยะเวลาในการชาร์จพลังงานที่รวดเร็วของแฟลชจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงควรตรวจสอบคุณสมบัติของแฟลชในด้านนี้ก่อนซื้อด้วย

การซูมแสงแฟลช


แฟลชรุ่นดีๆ ส่วนใหญ่หลอดแฟลชจะสามารถเลื่อนถอยหลังหรือไปข้างหน้าได้ภายในหัวแฟลชเพื่อปรับมุมของแสง เช่น หากถ่ายภาพวัตถุที่อยู่ไกลออกไป มุมกระจายแสงของแฟลชจะแคบลงเพื่อให้แสงแฟลชเน้นไปที่วัตถุมากขึ้น แฟลชที่สามารถซูมแสงแฟลชได้มักจะสามารถปรับได้ในช่วง 24-105 มม. และมักจะมีการปรับซูมแสงแฟลชอัตโนมัติตามทางยาวโฟกัสของเลนส์เมื่อใช้งานในโหมด TTL  ทำให้เมื่อถ่ายภาพที่ช่วงทางยาวโฟกัส 50 มม. ของเลนส์แฟลชจะมีการปรับมุมกระจายแสงเพื่อให้ความมั่นใจว่าไม่มีแสงแฟลชสูญเสียไปกับพื้นที่ที่มากกว่ามุมรับภาพของเลนส์ นอกจากนี้นักถ่ายภาพบางคนอาจใช้การทำงานซูมแสงแฟลชเพื่อสร้างสรรค์ภาพโดยถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง แต่ปรับการซูมแฟลชแบบแมนนวลให้มีมุมกระจายแสงที่แคบเพื่อให้แสงในลักษณะสปอตไลต์

แฟลชที่มีราคาประหยัดบางรุ่นไม่มีการทำงานวัดแสงแฟลช TTL ซึ่งหมายความว่ากำลังหรือความแรงของแสงแฟลชที่ยิงออกไปจะถูกควบคุมโดยมือของนักถ่ายภาพไม่ใช่ด้วยกล้อง

การทำงานแยกแฟลชไร้สาย


แฟลชส่วนใหญ่ไม่สามารถยิงแสงแฟลชเมื่อแยกแฟลชออกจากกล้องได้หากไม่ใช้สายซิงก์หรืออุปกรณ์แยกแฟลชไร้สาย แต่แฟลชบางรุ่นมีการทำงานควบคุมแฟลชไร้สายในตัวซึ่งจะช่วยให้สามารถสั่งให้แฟลชยิงแสงเมื่อแยกจากกล้องได้ ซึ่งการทำงานนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากเมื่อถ่ายภาพพอร์เทรตเพราะช่วยให้สามารถใช้แฟลชในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้แฟลชบางรุ่นยังสามารถยิงแสงแฟลชในโหมด Slave ได้ซึ่งหมายความว่าแฟลชมีเซ็นเซอร์ในตัวที่ทำให้แฟลชยิงแสงออกไปเมื่อตรวจจับว่ามีแฟลชอื่นยิงแสงออกมา

ใช้แฟลชอย่างไรไม่ให้วัตถุสว่างเกินไป


แฟลชเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญของนักถ่ายภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแสงน้อย แต่อย่างไรกก็ตามนักถ่ายภาพ อาจพบว่าการใช้แฟลชเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหามากกว่าเป็นการช่วยให้เกิดภาพที่ดีหากภาพที่ออกมาดูโอเวอร์เกินไป วิธีการแก้ปัญหานี้อย่างแรกที่นักถ่ายภาพสามารถทำได้ง่ายๆ คือการถอยออกห่างจากวัตถุมากขึ้นเพื่อเพิ่มระยะการเดินทางของแสงแฟลชมากขึ้นเพื่อไม่ให้แสงแฟลชแรงเกินไป และใช้การซูมเลนส์เพื่อให้ได้ภาพที่มีองค์ประกอบเหมือนกับก่อนที่ถอยออกมา นอกจากนี้อาจใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับช่วยกระจายแสงแฟลชซึ่งจะช่วยให้แสงมีความนุ่มขึ้นและลดความสว่างที่จ้าของแฟลช โดยมีทั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับใช้กับแฟลชในตัวกล้องและแฟลชภายนอก แต่หากไม่ต้องการเสียเงินไปกับอุปกรณ์เสริมเพื่อใช้ร่วมกับแฟลชที่ติดบนฮอทชูกล้อง ก็ยังมีวิธีการหันหัวแฟลชขึ้นด้านบนเพื่อเบ๊าซ์แฟลชกับเพดานซึ่งจะช่วยให้แสงแฟลชนุ่มนวลขึ้นและภาพดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่ควรจำไว้ว่าแสงแฟลชจะนำเอาสีของเพดานที่เบ๊าซ์เข้ามาในภาพด้วย รวมทั้งในสถานที่ที่มีเพดานสูงมากเช่นห้องประชุมขนาดใหญ่การเบ๊าซ์แฟลชก็จะไม่ได้ผล

แปล / เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic