ว่ากันว่า ความสุขของนักถ่ายนก คือการได้เก็บภาพนกที่หายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นกอพยพที่นานทีปีหนจะได้มีโอกาสได้พบเจอสักที เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาส ก็จงเก็บมันไว้ เหมือนกันครั้งนี้
สวัสดีแฟนเพจ และเว็บไซต์ Fotoinfo.online ทุกท่านครับ ไม่ได้เจอกันนานเลย หลังจากที่แอดยุ่งๆ กับงานอีเวนท์ที่มีเข้ามาแทบจะทุกสัปดาห์ วันนี้แอดก็เลยถือโอกาสโดดงานอีเวนท์สักงาน เพื่อมาตามเก็บภาพนกอพยพที่ว่ากันว่า หนึ่งปีจะมีโอกาสได้เจอกันสักครั้ง และเป็นสักครั้งที่สั้นเอาเรื่องเลยทีเดียว ซึ่งว่ากันว่าไม่ถึงสองสัปดาห์ก็ว่าได้ครับ ซึ่งช่างภาพสายนกหลายๆ ท่านก็น่าจะพอทราบดีว่าช่วงนี้นกอพยพตัวไหนกำลังดังและเป็นที่กล่าวถึงอยู่ ใช่ครับ นกแซวสวรรค์หางดำ หรือ นกแซวสวรรค์หางดำ Japanese Paradise flycatcher นั่นเอง
นกแซวสวรรค์หางดำ Japanese Paradise flycatcher ขอบคุณภาพจาก : Rachan Mamuang
นกแซวสวรรค์หางดำ Japanese Paradise flycatcher ขอบคุณภาพจาก : Rachan Mamuang
ผมได้รับการชวนจากพี่ที่รักและเคารพท่านหนึ่ง ที่ได้รู้จักกันในแวดวงถ่ายนกเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งในทริปนี้พี่แกอาสาเป็นเจ้าภาพพาไปครับ ผมขับรถไปฝากไว้ที่บ้านพี่แก แล้วพี่แกก็พาผมไปอีกสักสองสามชั่วโมง เอาตรงๆ ตอนที่นั่งรถไปผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “เกาะกวาง” มันอยู่ส่วนไหนของทะเลอ่าวไทย ผมยังเข้าใจด้วยซ้ำว่ามันน่าจะอยู่ในจังหวัดระยอง น่าจะแถวๆ เกาะมันใน เกาะมันนอก ที่มีชื่อเสียงเรื่องอพยพละมั้ง (อันนี้ผมไม่ได้หาข้อมูลก่อนไปจริงๆ ครับ ฮ่าๆๆ)
ระหว่างทางเราแวะเติมนู่นนี่นั่นตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็นข้าวสำหรับนำขึ้นไปกินบนเกาะ กาแฟ น้ำดื่ม สเปรย์กันยุง หรืออะไรที่เราคิดว่าจำเป็นที่จะใช้ดำรงชีพบนนั้นหนึ่งวันตั้งแต่เช้ายันค่ำหละครับ เพราะเนื่องจากบนเกาะนั้นไม่มีอะไรเลย พี่ที่เป็นคนขับเรือพาขึ้นไปแล้วพี่เขาก็ต้องไปทำงานต่อ เรียกได้ว่าพาไปปล่อยเกาะก็ว่าได้ครับ ฮ่าๆๆๆๆ
พอเราไปถึงจุดลงเรือ ซึ่งท่าเรือจะอยู่หลังองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเปริด (อบต. เกาะเปริด) อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี พี่ที่พาไปได้โทรไปถามข้อมูลต่างๆ เพื่อความชัวร์กับพี่บอย (Chukeat Bunwattanachot) ซึ่งเป็นพี่ที่บริหารจัดการการดูนกบนเกาะกวางอยู่ และเป็นแอดมินดูแลกลุ่ม “Chanthaburi Birds” ด้วยครับ (ท่านใดสนใจสามารถโทรจองหรือสอบถามรายละเอียดได้ตามเบอร์นี้เลยครับ 0896118222) หลังจากนั้นเราก็เจอกับพี่ปอม พี่คนที่จะขับเรือพาเราขึ้นเกาะนั่นเอง ไม่รอช้า เราเก็บข้าวของ อุปกรณ์ถ่ายภาพลงเรือกันเร็วมาก แม้ทางลงจะต้องใช้เทคนิคการปีนนิดๆ หน่อยๆ เกาะเถอะ ฮ่าาา พอเรือแล่นออก ผมรู้สึกได้เลยว่า มันเหมือนกับการออกเดินทางเพื่อการถ่ายทำสารคดีเหมือนที่เคยดูในทีวี ที่ชาวพื้นเมืองในปาปัวนิวกินีพานักวิจัยขึ้นเกาะเพื่อสำรวจสัตว์ชนิดใหม่ของโลกยังไงยังงั้น ผิดกันก็เพียงแต่ว่าทริปของผมเป็นเพียงการขึ้นไปบันทึกสิ่งที่ถูกค้นพบไว้แล้วแค่นั้นเอง (แต่จะได้บันทึกหรือป่าวนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ ฮ่าๆ)
ชายหาดหนึ่งเดียวที่สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนเงียบๆ แบบสโลว์ไลฟ์ได้เลยครับ ขอบคุณภาพจาก : Tayniti Suksaard
ช่องทะลุกลุ่มหินที่เป็นเหมือนแลนด์มาร์คของที่นี่ ซึ่งเป็นที่รองรับนักท่องเที่ยวประจำ ขอบคุณภาพจาก : Tayniti Suksaard
เรือแล่นมาได้สักเกือบๆ สิบนาทีก็มาถึงชายหาดเล็กๆ ซึ่งเป็นเพียงหาดเดียวบนเกาะนี้ และมีแลนด์มาร์คเป็นรูทะลุกลุ่มก้อนหินที่พี่ปอมเล่าว่า จุดนี้เรียกนักท่องเที่ยวได้ดีนักแล พี่ปอมนำเรือเลยหาดทรายนั้นไปเล็กน้อยก็นำเรือเข้าเทียบท่า พร้อมจัดแจงผูกเรือแล้วพาเราลงไปยังหมาย ซึ่งเป็นบ่อที่เรียกว่าบ่อล่างที่อยู่ไม่ห่างจากจุดเทียบเรือมากนัก บนเกาะกวางจะมีบ่อด้วยกัน 3 บ่อครับ ซึ่งแต่ละบ่อจะอยู่ห่างกันเป็นระยะๆ และอยู่ในระดับความสูงที่ต่างกัน ซึ่งบ่อที่ 1 จะอยู่ต่ำสุด บ่อที่สองต้องเดินขึ้นไปอีกเล็กน้อย และบ่อที่ 3 จะอยู่บนสุด พี่ปอมเล่าว่า ถ้าหากลูกค้ามาน้อยๆ จะให้ขึ้นบ่อบนก่อน แล้วจะปิดบ่อล่างและบ่อกลางไว้ เพื่อให้นกไปรวมตัวกันที่บ่อบนครับ ซึ่งบ่อบนเป็นบ่อที่มีโอกาสได้เจอนกได้หลายหลายชนิดที่สุด ดังนั้น ผมกับพี่อีกคนจึงถูกพี่ปอมพาเราเดินไต่ขึ้นไปบ่อบนครับ หอบใช้ได้ ฮ่าาา
เส้นทางการเดินจากบ่อกลางไปบ่อบนที่เดินได้อย่างสะดวก
เส้นทางในการเดินขึ้นค่อนข้างเดินง่าย (สำหรับผมนะ) มีความลาดเอียงช่วงต้นๆ จากบ่อล่างไปบ่อกลางเท่านั้น จากบ่อกลางไปบ่อบนค่อนข้างเดินง่าย เส้นทางมีร่มไม้ปกคลุมตลอดทาง ไม่ร้อนเท่าไหร่ สภาพแวดล้อมโดยรอบบังไพรค่อนข้างร่ม มีลมทะเลพัดเข้ามาบ้าง แต่ละบังไพรสามารถเข้าได้ 5-7 คนกำลังดีครับ ในส่วนของระยะจากบ่อถึงจุดตั้งกล้องค่อนข้างใกล้ ระยะเลนส์ที่เหมาะจะเป็นระยะ 70-300mm, 100-400mm, 100-500mm, 150-500 หรือ 600mm ไม่ควรเกิน 500mm เพราะหางของนกแซวสวรรค์จะล้นเฟรมครับ แต่ถ้าจะถ่ายนกอื่นที่มีขนาดเล็กก็สามารถใช้เลนส์ซุปเปอร์เทเลได้เลย หรือถ้าหากมีแต่เลนส์ระยะ 500mm ขึ้นไป ก็มีอีกทางเลือก คือการนำบังไพรที่ทางผู้ดูแลเตรียมไว้ให้ โดยการเคลื่อนให้ออกห่างจากบ่อไปได้อีกครับ
บังไพรชั่วคราว (บ่อบน) สามารถรับช่างภาพได้ 5-7 คน มีลักษณะปิดหน้า-หลังได้ดีมาก อากาศถ่ายเทดี ไม่ร้อนจนเกินไป
ภายในบังไพรมีเก้าอี้เตรียมไว้ให้เสร็จสรรพ หรือใครจะนำไปเองก็ได้ และอากาศภายในถ่ายเทได้ดี มีลมทะเลพัดเข้ามาเป็นระยะ
บังไพรที่เตรียมไว้สำหรับผู้ที่ใช้เลนส์ทีมีระยะไกล
หลังจากที่เรามาถึงบ่อบน พี่ปอมก็อธิบายกฎกติกามารยาทในการเข้าบังไพรให้เสร็จสรรพ ซึ่งเป็นกฎกติกาที่ผมชอบมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ว่าห้าม Feed หรือให้อาหารนกนั่นเอง เพราะนกจะตีกัน โดยเฉพาะนกประจำถิ่นที่จะลงบ่อถี่กว่าปรกติและจะคอยไล่นกอพยพที่มีความกลัวอยู่แล้ว แล้วโอกาสในการได้ภาพนกอพยพของเราจะน้อยลง และอีกอย่าง มันจะทำให้นกเคยชินกับการให้อาหาร พอพฤติกรรมนี้ติดตัวไป เมื่อนกบินไปพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่พื้นที่สำหรับถ่ายภาพอย่างเกาะกวาง นกก็อาจจะคุ้นคน เข้าใกล้คน และอาจเกิดอันตรายก็ได้
ป้ายแจ้งเตือนชัดเจนดีมากครับ ซึ่งผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่จะต้องทำตามอย่างเคร่งครัดครับ
หลังจากที่จัดแจงกางขาตั้งประกอบกล้องเสร็จเรียบร้อย เราต่างก็นั่งรอกันเงียบๆ และนั่งได้สักพัก นกตัวแรกที่แวะมาทักทายคือนกเขนน้อยไซบีเรียครับ อาการเหมือนจะคุ้นคนมาก เพราะเขากระโดดเข้าใกล้บังไพร และดูเหมือนจะไม่กลัวมนุษย์สองคนนี้เลย หลังจากนั้นไม่นานก็เป็นทีของนกแต้วแล้วธรรมดาครับ ซึ่งเราเห็นเขาบินผ่านหน้าเราไปตั้งแต่เราเดินขึ้นมาที่บ่อแล้ว โดยปรกติของนกแต้วแล้วธรรมดาแล้ว ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เขาอพยพขึ้นมาทำรังวางไข่ครับ ซึ่งพฤติกรรมจะแตกต่างกันกับแซวสวรรค์หางดำที่เราตามหา เพราะรายนี้จะต้องอพยพกลับขึ้นเหนือ เฉกเช่นเดียวกันกับนกจับแมลงหลายๆ ชนิดที่อพยพกลับเป็นชุดท้ายๆ อย่างนกจับแมลงตะโพกเหลืองก็อยู่ในกลุ่มท้ายๆ ที่ทำการอพยพกลับครับ และเวลาในการพักค้างแรมก็พอๆ กันทั้งนกจับแมลงและนกแซวสวรรค์หางดำครับ คือราวๆ 2-3 สัปดาห์เท่านั้น (ไม่มีงานวิจัยอ้างอิง ระยะเวลาดังกล่าวเกิดจากการเก็บข้อมูลของนักถ่ายภาพแต่ละปี)
นกเขนน้อยไซบีเรีย (Siberian Blue Robin)
นกแต้วแล้วธรรมดา (Blue winged Pitta) นกอพยพเข้ามาทำรังวางไข่ในฤดูฝน
นกแต้วแล้วธรรมดา (Blue winged Pitta)
หลังจากที่เรานั่งกันสักพักใหญ่ๆ ก็เริ่มรู้สึกได้ว่าวันนี้มันไม่ใช่วันของเรา เพราะนกที่ลงมักจะเป็นนกที่พบเห็นได้ง่ายอย่างนกกางเขนบ้าน นกแซงแซว นกอีแพรด นกปรอด และตัวที่ลงบ่อประจำไม่ทำให้เราเหงาก็เห็นจะเป็นเจ้านกเขนน้อยไซบีเรียกับเจ้าแต้วแล้วธรรมดานี่แหละครับ หากใครชอบแต้วแล้วธรรมดาแล้วอยากปั้นช็อตสวยๆ ก็ไม่ควรพลาดเลยครับ เพราะ Background ที่นี่ค่อนข้างสวย และเจ้าแต้วแล้วเองก็ใช้พื้นที่ได้คุ้มมาก เรียกได้ว่าเดินกันทุกตารางนิ้วเลยทีเดียว นอกจากแต้วแล้วธรรมดาแล้วก็ยังมีรายงานการเข้ามาใช้พื้นที่ของแต้วแล้วนางฟ้า หรือ นกแต้วแล้วพันธุ์จีน (Fairy Pitta) ด้วย หากแต่ว่าปีนี้ยังไม่มีรายงานการเข้ามาครับ ส่วนนกอีกชนิดที่เข้ามาใช้พื้นที่ก็คือนกกระเต็นแดง (Ruddy Kingfisher) ครับ ผมเห็นภาพจากช่างภาพท่านอื่นผมรู้สึกชอบมากๆ และนี่เป็นอีกหนึ่งตัวที่พาให้ผมมาที่นี่ครับ
นกแซงแซวหางปลา (Black Drongo)
นกแซงแซวหางปลา (Black Drongo) แม้จะเป็นนกที่หลายคนคิดว่าธรรมดาและพบเห็นได้เป็นประจำ หากลองถ่ายเล่นกับแสงแล้ว เราก็สามารถถ่ายได้โดยไม่เบื่อเลยครับ
นกจับแมลงตัวเมียสักสายพันธุ์หละครับ ผมต้องยอมรับอย่างจริงจังเลยว่าผมไม่กล้าระบุจริงๆ เพราะตัวเมียของนกจับแมลงมักจะมีลักษณะที่คล้ายกันมากๆ เรียกได้ว่าแทบแยกไม่ออกเลยก็ว่าได้ครับ หากใครมีทริกในการแยกชนิดง่ายๆ ก็สามารถแนะนำได้นะครับ (พิมพ์แนะนำได้ที่คอมเมนต์เพจได้เลยครับ จักขอบพระคุณยิ่ง)
บ่อน้ำในสภาพแสงเวลาบ่ายถึงใกล้ค่ำ บ่อนี้จะยังมีแสงสว่างไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน และเป็นมุมย้อนแสงในช่วงบ่ายไปถึงค่ำ แสงพื้นหลังจะเป็นโบเก้สวยมาก
นกจับแมลงตะโพกเหลือง (ตัวผู้) Yellow rumped Flycatcher
เรารอจนถึง 16.00 น. ก็มีนกจับแมลงตะโพกเหลืองแวะเข้ามา แต่เป็นการแวะที่ค่อนข้างระแวงมากครับ เกาะกิ่งสูงเลย ไม่ลงบ่อสักที และวันนี้ทั้งวันจะเจอกับเหตุการณ์นี้ครับ คือนกอพยพหรือนกตัวแลจริงๆ จะไม่ค่อยลงบ่อเท่าไหร่นัก นกแซวสวรรค์หางดำก็เช่นกัน หลังจากที่เรารอมานานมากแล้ว แสงก็เริ่มใกล้จะหมด เราพิจารณากันแล้วว่า จะลงไปเฝ้าที่บ่อลางดู และควรตัดสินใจด้วยความรวดเร็ว เพราะบ่อล่างจะอยู่บังเหลี่ยมเขา แสงจะหมดเร็วกว่าบ่อข้างบน พอเราลงความเห็นดังนั้นเราก็รีบเก็บอุปกรณ์ลงมาที่บ่อล่างครับ รอไปสักพัก นกเป้าหมายที่เราตามหาก็บินมาลงบ่อพอดี เรียกได้ว่ารอไม่นานครับ นกแซวสวรรค์หางดำตัวผู้วัยรุ่น (หางยังสั้นอยู่) ตัวหนึ่งบินผ่านหน้าบังไพรไป แล้วไปเกาะที่เปลเถาวัลย์ระยะกำลังดีครับ เลนส์ 200-500mm ถ่ายได้ระยะดีมากๆ ตัวนกรวมหางไม่ขาดไม่เกิน ตัวนี้มากินน้ำอยู่นานครับ เรียกได้ว่าถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอเลยทีเดียว
นกแซวสวรรค์หางดำ (Japanese Paradise flycatcher) พระเอกของทริปนี้ครับ
นกแซวสวรรค์หางดำ (Japanese Paradise flycatcher) พฤติกรรมหลังการโฉบลงไปกินน้ำ เขาจะสลับหันหน้าหลังให้เราได้ถ่ายครับ ซึ่งดีมากๆ เพราะเราจะได้ภาพครบทั้งสองมุมครับ
นกแซวสวรรค์หางดำ (Japanese Paradise flycatcher) ตัวนี้อยู่นานมาก และเปลี่ยนกิ่งเกาะไปเรื่อยๆ ทำให้เราได้ภาพที่มีมุมหลากหลายดีมากครับ
หลังจากที่เขากินน้ำจนเพียงพอแล้วเขาก็บินกลับขึ้นไปป่าด้านบน ปล่อยให้เรารอความหวังไปอีกสักระยะ ความหวังที่ว่าคือความหวังที่จะได้เจอตัวหางยาวกับเขาบ้าง จนแล้วจนเล่า แสงหมด จำใจต้องจากครับ วันนี้ไม่ใช่วันของเราครับ เราเก็บอุปกรณ์กลับเข้าฝั่งประมาณ 18.00 น. เรียกได้ว่าแสงสุดท้ายเลยทีเดียว ระหว่างอยู่บนเรือเราก็ได้พูดคุยกับพี่ปอมครับ โดยข้อมูลที่ว่าเราแห้วในครั้งนี้ พี่ปอมจะได้บอกเพื่อนๆ นักถ่ายนกว่า ทำใจด้วยนะครับ ไม่รู้ว่านกเขาจะออกจากพื้นที่ไปหรือยัง
จะว่าไปแล้ว การเดินทางตามหานกของเราในทริปนี้ก็ไม่มีอะไรสูญเปล่าครับ เพราะนี่เป็นครั้งแรกของผมที่ขึ้นเกาะตามถ่ายนกตัวแล และแน่นอนครับ อะไรที่เราพึ่งเจอเป็นครั้งแรก มันจะสวยงามเสมอครับ ขอบคุณมิตรภาพดีๆ และขอให้ผู้อ่านมีความสุขกับการได้กดชัตเตอร์นะครับ แล้วเจอกันใหม่ครับ
แอดน้องเล็ก (โย)
Leave feedback about this