TRAVELS

ไปเยี่ยมบ้านไร่ของในหลวง “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ”

ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง

โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ มีพื้นที่กว่า 250 ไร่ เดิมนั้นเป็นไร่ยูคาลิปตัส, ไร่สับปะรด และไร่อ้อย ในปี 2551 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานทรัพย์เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 120 ไร่ และกลางปี 2552 ได้ซื้อที่ดินพื้นที่ติดๆ กันเพิ่มอีก 130 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำให้เป็นโครงการตัวอย่างในการเกษตร โดยได้รวบรวมเอาพืชพรรณเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีมาเพาะปลูกไว้ และในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานหัวมันมาปลูกยังพื้นที่นี้ด้วย และพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ” และเปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 โดยวันที่ 1 สิงหาคม 2552 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความคืบหน้าของโครงการด้วยพระองค์เองอีกด้วย..

โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ก่อเกิดขึ้นจากการที่มีชาวบ้านได้นำหัวมันเทศมาถวาย เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนิน ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จึงรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปวางไว้ที่ตาชั่งในห้องทรงงานส่วนพระองค์ พอนานวันเข้าก็ทรงทอดพระเนตรเห็นหัวมันนั้นมีใบงอกขึ้นมา จึงทรงรับสั่งว่า “ไม่มีดิน ไม่มีนํ้า มันก็ยังงอกได้” ดังนั้น จึงทรงรับสั่งให้นำหัวมันไปเพาะไว้ยังเรือนเพาะชำ และจัดหาที่ดินเพื่อทำเป็นพื้นที่ทดลองทางด้านการเกษตรต่างๆ นั่นเอง

สำหรับพาหนะในการเดินทางครั้งนี้ เป็นรถครอบครัวเอนกประสงค์รุ่นล่าสุด All New Toyota Innova Crysta 2.8V AT ที่ได้รับการปรับโฉมใหม่ทั้งหมด ให้รูปลักษณ์ที่ดูหรูหราและเพียบพร้อมไปด้วยระบบความปลอดภัยต่างๆ อย่างครบครัน โดยมาพร้อมกับเครื่องยนต์ดีเซล รหัส 1GD-FTV ความจุ 2800 ซีซี ให้พละกำลัง 174 แรงม้า และแรงบิด 360 นิวตั้น-เมตร ที่ 1200-3400 รอบต่อวินาที เพียงพอที่จะพาผมและทีมงานโลดแล่นไปในทุกเส้นทางอย่างสบายๆ ทีเดียว

ตัวรถออกแบบได้สวยงามสะดุดตาดีทีเดียว ตั้งแต่กระจังด้านหน้าที่มีขนาดใหญ่ พร้อมคาดด้วยเส้นแถบที่ลากยาวไปจรดกับไฟหน้าทั้งสองข้างแบบ Projector ที่ออกแบบรูปโคมให้เรียวยาวดูคมเข้มมากขึ้น และมาพร้อมไฟ Daytime Running Light แบบ LED ตํ่าลงไปเป็นชุดไฟเลี้ยวพร้อมไฟตัดหมอก ส่วนกระจกมองข้างเป็นแบบปรับและพับเก็บด้วยไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยวและไฟส่องสว่างที่ฝังไว้ด้านล่างของกรอบกระจกมองข้าง ซึ่งจะส่องสว่างอัตโนมัติเมื่อปลดล็อกประตู ส่วนชุดไฟท้ายก็ออกแบบได้เก๋ไก๋ทีเดียว โดยไฟเลี้ยวเป็นแบบสามเหลี่ยมยื่นต่อจากชุดไฟเบรกและไฟถอยคล้ายๆ รูปตัว L วางควํ่า ด้านบนกระจกท้ายออกแบบให้มีสปอยเลอร์พร้อมไฟเบรก ส่วนบนหลังคาเป็นเสาอากาศแบบครีบฉลาม ดูสปอร์ตและปราดเปรียวมากขึ้นด้วย

All New Toyota Innova Crysta 2.8V AT ใช้กุญแจแบบ Keyless Smart Entry สามารถเปิดประตูรถได้โดยการพกกุญแจไว้กับตัวและแตะที่ปุ่มบนมือจับเพื่อเปิดประตูรถได้เลย ส่วนการล็อกก็สามารถกดปุ่มบนมือจับเพื่อล็อกรถได้เช่นกันครับ หลังจากเปิดประตูรถและก้าวขึ้นนั่งประจำที่นั่งคนขับ ผมปรับเบาะให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งฝั่งคนขับนั้นปรับแบบไฟฟ้าได้ 8 ระดับ และเบาะทุกที่นั่งเป็นเบาะหนังทั้งหมด รวมทั้งเบาะเสริมสำหรับที่นั่งที่ 6 และ 7 ที่ออกแบบให้ปรับใช้งานหรือพับเก็บได้อย่างสะดวกแบบ One Touch Space Up ด้วยเช่นกัน ปีกเบาะที่นั่งคนขับและผู้โดยสารด้านข้าง โอบหุ้มกระชับลำตัวได้พอเหมาะพอดี ช่วยให้นั่งได้สบายมากขึ้น

คอนโซลด้านหน้าออกแบบได้เรียบง่ายและดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ยุ่งเหยิงจากปุ่มหรือแป้นควบคุมต่างๆ จนเกินไป คอนโซลหน้าออกแบบเป็นเส้นโค้งเรียวจากฝั่งคนขับไปจรดช่องแอร์ฝั่งคนนั่งข้างคนขับ ตรงกลางเป็นจอ LCD ระบบสัมผัส สำหรับปรับ การทำงานต่างๆ อาทิ ระบบนำทาง, วิทยุ, เครื่องเล่น DVD หรือการเชื่อมต่อแบบ Bluetooth เพื่อดูหนังและฟังเพลงผ่านลำโพง

ผมออกเดินทาง โดยมุ่งหน้าขึ้นทางด่วนกาญจนาภิเษก ออกไปยังถนนพระราม 2 การจราจรช่วงเที่ยงวันศุกร์เริ่มจะหนาแน่น โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะขนสินค้าจากภูมิภาคอื่นๆ มุ่งหน้าลงภาคใต้ แต่พวงมาลัยพาวเวอร์แบบ Rack and Penion ก็ช่วยผ่อน แรงเมื่อจำเป็นต้องลัดเลาะไปตามช่องจนเดินทางผ่านจุดวิกฤติออกถนนพระราม 2 ได้อย่างสวัสดิภาพหลังจากที่หลุดพ้นจากการจราจรที่ติดขัดออกมาได้ ผมเริ่มใช้ความเร็วได้มากขึ้น พละกำลัง 174 แรงม้าก็พาให้ตัวรถโลดแล่นไป ตามที่ใจหวัง ช่วงล่างเซ็ตอัพได้นุ่มและหนึบดีทีเดียว ไม่ออกอาการโยนหรือโคลงเมื่อต้องเข้าโค้ง ระบบเกียร์เป็นแบบปรับชิฟท์ได้จากคันเกียร์ ซึ่งเป็นระบบที่ผมค่อนข้างถูกใจ เพราะช่วยให้การขับขี่สนุกมากขึ้น รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนเกียร์เองเมื่อต้องการแรงฉุดที่มากขึ้น ในกรณีที่ขึ้นเขาหรือขึ้นทางชัน ซึ่งจะเรียกรอบเครื่องมาได้รวดเร็วมากกว่าการขับขี่แบบออโต้ปกตินั่นเอง ตลอดทั้งเส้นทางจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่จังหวัดเพชรบุรี และต่อเนื่องไปยังอำเภอท่ายาง เป็นถนนลาดยางราบเรียบ ความนุ่มนวลของช่วงล่างบวกกับความเย็นฉ่ำของเครื่องปรับอากาศ ก็ทำให้เพื่อนร่วมทางของผมผลอยหลับไปตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้

จากตัวอำเภอท่ายาง ผมใช้เส้นทางหมายเลข 3187 วิ่งเลียบคลองชลประทาน ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกันกับเส้นทางไปเขื่อนแก่งกระจานนั่นเอง แต่พอใกล้ๆ จะถึงเขื่อนเพชรหรือประมาณ 9 กิโลเมตรจากตลาดท่ายาง ผมเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานข้ามคลองชลประทานเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 3499 ขับต่อมาอีกประมาณ 250 เมตร ก็เลี้ยวขวาที่สะพานข้ามคลองอีกครั้ง ก่อนที่จะใช้เส้นทางหมายเลข 3175 มุ่งตรงสู่บ้านเขาลูกช้าง และเลี้ยวขวาตามเส้นทางไปประมาณ 400 เมตร จากนั้นผมเลี้ยวซ้ายอีกครั้งเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 4002 และขับไปจนถึงบ้านเขากระปุก ก่อนที่จะเลี้ยวขวาอีกครั้ง โดยที่สามแยกนี้จะมีพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ให้สังเกตได้ง่าย รวมทั้งตลอดเส้นทางจะมีป้ายบอกทางมายังโครงการชั่งหัวมันฯ อยู่เป็นระยะๆ ซึ่งสะดวกกับการเดินทางมากทีเดียวครับ รวมระยะทางจากตลาดท่ายางมาจนถึงที่ตั้งโครงการฯ ประมาณ 44 กิโลเมตรครับ

ตลอดเส้นทางจาดตลาดท่ายาง เป็นเส้นทางเลนส์คู่ รถวิ่งสวนทางกัน และมีทางโค้งอยู่หลายช่วง บางช่วงก็เป็นเขตห้ามแซง ซึ่งบางครั้งการเดินทางอาจจะติดขัดกับรถบรรทุกผลิตผลทางการเกษตรอยู่บ้าง ดังนั้นการตอบสนองของอัตราเร่งจึงมีความสำคัญสำหรับการเร่งแซงให้รวดเร็วฉับไว ซึ่ง All New Toyota Innova Crysta 2.8V AT สามารถเลือกโหมดการขับขี่ได้ทั้งแบบปกติสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป และเลือกโหมดขับขี่เพิ่มเติมได้อีก 2 แบบคือ ECO Mode และ Power Mode ก็ตามชื่อละครับ ECO ก็เหมาะสำหรับการขับขี่ที่ต้องการความประหยัด ไม่เน้นการเร่งแซงหรือใช้ความเร็วสูงมากนัก ส่วน Power ก็เป็นโหมดที่ต้องการเพิ่มพละกำลังในการนำพาตัวรถให้พุ่งไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วฉับไว ซึ่งเป็นโหมดที่ผมใช้บ่อยร่วมกับการปรับชิฟท์เกียร์เองแบบแมนนวล เมื่อต้องการเร่งแซง เพราะบางครั้งหรือหลายๆ ครั้ง อาจจะเป็นระยะทางที่ไม่ยาวมากนัก หรือมีรถราค่อนข้างขวักไขว่ จึงต้องใช้เวลาในการเร่งแซงที่สั้นที่สุดครับ และ All New Toyota Innova Crysta 2.8V AT ก็ตอบสนองการใช้งานในลักษณะนี้ได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว ปุ่มใช้งานก็อยู่ตรงคอลโซลกลางในตำแหน่งที่ตํ่าลงจากชุดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งใช้งานได้สะดวกดีทีเดียวครับ

เมื่อเข้าไปถึงที่ตั้งโครงการชั่งหัวมัน จะเจอกับแลนด์มาร์คแรกที่ตั้งโดดเด่นอยู่ตรงทางเข้าด้านหน่วยพิทักษ์ป่าหนองเสือ นั่นคือ ป้ายชื่อโครงการที่แขกไปใครมาจะต้องแวะเวียนมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันก่อนที่จะเข้าไปในตัวโครงการฯ ละครับ จากป้ายชื่อโครงการ ผมขับรถผ่านทางเข้าด้านหน้าตรงไปยังที่จอดรถ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพระตำหนักเรือนรับรอง ที่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขาติดๆ กับ อ่างเก็บนํ้าหนองเสือนั่นเองครับ

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ริมอ่างเก็บนํ้าหนองเสือ

ภายในโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ไม่อนุญาตให้รถส่วนบุคคลเข้ามาวิ่ง สำหรับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมนั้น สามารถใช้บริการรถรางนำเที่ยวของโครงการ ซึ่งมีบริการอยู่หลายๆ รอบต่อวัน หรือจะปั่นจักรยานบริการที่มีอยู่มากมายก็ได้เช่นกันครับ เมื่อเดินผ่านประตูเข้ามาแล้ว ด้านหน้าขวามือเป็นจุดลงทะเบียนขึ้นรถรางนำเที่ยว และเป็นพิพิธภัณฑ์ดินที่จัดแสดงส่วนประกอบของชั้นดินประเภทต่างๆ ติดๆ กันนั้น เป็นร้านโกลเด้นเพลซ ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์และผลผลิตต่างๆ จากโครงการหลวงทั่วประเทศ

พระตำหนักของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 “บ้านไร่ของพ่อ”

หลังจากที่ลงทะเบียนเพื่อขึ้นรถรางนำเที่ยวแล้ว ถ้ายังมีเวลาก่อนที่รถรางจะออก ก็สามารถเดินเลี่ยงออกไปทางด้านซ้ายมือตรงข้ามกับจุดลงทะเบียนประมาณ 50 เมตร ที่นั่นคือ “บ้านไร่ของพ่อ” หรือพระตำหนักของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมายังโครงการชั่งหัวมันฯ ซึ่งเป็นพระตำหนักที่ออกแบบเรียบง่าย พร้อมพระราชพาหนะที่ใช้ทรงงานจอดสงบนิ่งอยู่ใต้ถุนด้วย ก็ต้องเดินเข้าไปยังด้านใน ซึ่งเป็นอาคารวิดีทัศน์แนะนำโครงการชั่งหัวมันฯ ซึ่งจุดนี้ เป็นจุดขึ้นและลงรถรางนำเที่ยวด้วย จุดเด่นของรถรางนำเที่ยวคือ จะมีมัคคุเทศก์ประจำรถที่คอยให้ความรู้และแนะนำส่วนต่างๆ ของโครงการที่รถแล่นผ่านไปด้วย ในช่วงเช้าผมเลือกขึ้นรถรางเพื่อศึกษาส่วนต่างๆ แบบคร่าวๆ ก่อน จากนั้นก็ค่อยเลือกปั่นจักรยานเข้าไปถ่ายภาพยังส่วนต่างๆ ที่สนใจอีกรอบ การใช้งานจักรยาน ก็เพียงแค่ยื่นบัตรประชาชนให้กับเจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลอยู่ จากนั้นก็เลือกจักรยานที่เหมาะสมกับสรีระ แล้วก็ปั่นออกไปได้เลยครับ

มีจักรยานให้บริการปั่นเที่ยวชมในโครงการด้วย

ข้างๆ อาคารวิดีทัศน์นั้น เป็นท้องทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่กว่า 20 ต้น เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คของโครงการด้วย ซึ่งกังหันลมทั้งหมดนั้นนี้ผลิตไฟฟ้าได้ 50KW สำหรับจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยเป็นการหักกลบลบหนี้กับยอดค่าใช่จ่ายไฟฟ้าภายในโครงการฯ นั่นเอง ช่วงนี้ดอกราชพฤกษ์หรือดอกคูณ ออกดอกเหลืองอร่ามรอบๆ รั้วกั้นพื้นที่ของทุ่งกังหันลม ผมก็เดินวนหามุมที่เห็นกังหันลมและดอกคูณเมื่อยามต้องแสงแดดที่แผดจ้าดูสวยงามสดใสอิ่มตัวตัดกับสีนํ้าเงินของท้องฟ้า จนลืมไปว่าตัวเองไม่มีเครื่องป้องกันแดดอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นปลอกแขน, เสื้อคลุม, ร่ม หรือแม้แต่ครีมกันแดด หากจะถามว่าร้อนมั๊ย ..ตอบเลยว่า ..ไหม้ครับ..

กังหันลมผลิตไฟฟ้า

แม้แสงแดดจะแผดเผาแค่ไหน แต่ผมยังปั่นจักรยานไปยังจุดต่างๆ ภายในโครงการ ถัดออกไปจากทุ่งกังหันลมนั้น เป็นพื้นที่ของฟาร์มโคนม ซึ่งพระเอกของโซนนี้คือ “คุณตุ่ม” โคนมพระราชทานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพ่อพันธุ์หลักให้กับแม่พันธ์ุวัวนมภายในโครงการด้วย จนมัคคุเทศก์ประจำรถรางนำเที่ยวแซวติดตลกว่าแม่พันธ์ุวัวนมทั้งหลายในฟาร์ม ก็คือ “บรรดาเมียๆ” ของคุณตุ่มนั่นเอง

ฟาร์มวัวนมในโครงการฯ

“คุณตุ่ม” โคพ่อพันธ์ุพระราชทาน

ผมปั่นจักรยานตามเส้นทางริมรั้วโครงการไปเรื่อยๆ ข้างๆ เป็นแนวสวนยาง ถัดออกไปตรงทางโค้งเป็นโรงเรือนเพาะไส้เดือน และโรงปุ๋ยชีวภาพ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผืนดินอันแห้งแล้งกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เลยออกไปเป็นสระนํ้าสำรอง รอบๆ นั้นเป็นสวนมะนาวแป้น ฝั่งขวาเป็นแปลงมันเทศ ถัดออกไปเป็นแปลงหญ้าแฝกจากพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับหญ้าชนิดนี้ และเคยมีพระราชดำรัสว่า “..ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม..” จนเป็นที่มาของโครงการหญ้าแฝก หนึ่งในโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดินนั่นเอง

ถัดไปเล็กน้อยเป็นส่วนของงานพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจัดเป็นสวนหย่อมเล็กๆ สวยงามทีเดียว ด้านในมีโรงเรือนปลุกมะเขือเทศราชินี ซึ่งเป็นมะขื่อเทศลูกเล็กๆ ยาวรี หวานกรอบกว่ามะเขือเทศอื่นๆ ซึ่งคงจะคุ้นเคยกันดีในสลัด, ทานกันสดๆ หรือจะนำมาคั้นเป็นนํ้ามะเขือเทศก็ได้ครับ ประโยชน์ที่โดดเด่นคือมีสารไลโคทีน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งนั่นเอง รู้อย่างนี้แล้ว ก็จัดปายยยยย..

แปลงนาสาธิตปลูกข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์

แปลงมะเขือเทศราชินี

เจ้าหน้าที่ภายในโครงการ กำลังดายหญ้าให้ต้นกะเพรา

ตัดหญ้าในแปลงชะอม

ข้างทางซ้ายมือ มีต้นไม้เรียงรายเป็นแนวยาวอยู่หลายต้น ค้ำด้วยนั่งร้านรอบด้าน มัคคุเทศก์บอกว่า นั่นคือต้นชมพู่เพชร ผลไม้ชื่อดังประจำจังหวัดเพชรบุรี วันที่ไปนั้น ไม่มีผลให้ชิม เอ๊ย!! ให้เห็น เพราะเก็บไปแล้ว และรุ่นใหม่ก็เพิ่งจะแทงช่อดอกออกมาประปราย เลยเข้าไปด้านใน เจ้าหน้าที่ของโครงการกำลังดายหญ้าแปลงชะอมที่กำลังแทงช่ออ่อนออกมา ชวนให้นึกถึงไข่ทอดชะอมจิ้มกับนํ้าพริกกะปิ และข้าวสวยร้อนๆ อ่า..รู้สึกได้ยินเสียงท้องร้องจ๊อกๆ

แปลงรวบรวมพันธ์ุหญ้าแฝกจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ผลผลิตต่างๆ จากไร่ของพ่อ

ด้านขวาเป็นแปลงสับปะรดปลูกเป็นแนวยาว สับปะรดเป็นพืชพรรณที่ปลูกกันอยู่แล้วในย่านนี้ ซึ่งมีความโดดเด่นอยู่ที่พันธ์ุประจำถิ่นที่เรียกว่า “สับปะรดฉีกตา” ซึ่งสามารถแกะทานได้โดยไม่ต้องปอกเปลือก เพราะสับปะรดผลไม้ที่เราคุ้นเคยกันนั้น เวลาจะรับประทานจะต้องปอกเปลือกที่เป็นตาอยู่รอบตัวออกให้หมดเสียก่อน แต่สำหรับสับปะรดฉีกตานั้น สามารถแกะส่วนที่เป็นตานั้นออกมาได้เลย และแต่ละตานั้นจะมีเนื้อติดออกมา สามารถรับประทานได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องปอกเปลือก ซึ่งลดความยุ่งยากไปได้มากโขทีเดียว

แปลงสับปะรดฉีกตา ที่เพิ่งจะลงรุ่นใหม่

วนกลับมายังอาคารวิดีทัศน์อีกครั้ง ด้านหน้าจัดเป็นสวนผักและผลไม้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ก่อนเดินทางกลับออกไปนั่นเอง ผมและทีมงานเดินไปถ่ายภาพต่อยังจุดที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือสถานีบริการนํ้ามันที่ออกแบบได้สวยงาม ชวนให้นึกถึงสถานีรถไฟหัวหินขึ้นมาทันที โดยสถานีบริการนํ้ามันนี้มีไว้สำหรับบริการยานพาหนะที่ใช้งานอยู่ในโครงการฯ นั่นเอง จากนั้นผมเดินต่อไปยังเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ในด้านการฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้ริมอ่างเก็บนํ้าหนองเสือ ซึ่งจัดเป็นส่วนต่างๆ อาทิ ส่วนไม้มงคล 9 ชนิด, ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงและเรียนรู้วิถีป่าชุมชน และส่วนจำลองศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ต่างๆ มาไว้ให้ชมด้วย

ภายในพิพิธภัณฑ์ดิน ซึ่งเป็นศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วย มีการจัดแสดงชั้นดินและดินแบบต่างๆ ให้ชมด้วย

สถานีบริการนํ้ามันสำหรับยานพาหนะในโครงการฯ ออกแบบได้เก๋ไก๋สวยงาม

ผมกลับออกมาจากโครงการชั่งหัวมันตามแนวพระราชดำริ ด้วยความอิ่มเอิบ และซาบซึ้งในพระวิริยะอุตสาหะของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายในการคิดค้น ทดลอง และพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อให้ประชาชนของพระองค์ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทรงเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิตที่สมถะตามวิถีพอเพียง ซึ่งสัมผัสได้อย่างชัดเจนจากบ้านของพ่อที่สร้างขึ้นมาอย่างเรียบง่ายนั่นเอง

แสงแดดที่แผดจ้าในตอนกลางวันเริ่มอ่อนแรงลงทุกขณะ ไฟหน้าแบบ Projector สาดส่องนำทางสว่างไสวพาเรากลับไปยังที่พัก ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนสิรินาถราชินีในท้องที่อำเภอปราณบุรี ในเช้าวันใหม่ แล้วพบกันฉบับ หน้า
…………………….
..สวัสดีครับ

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทาง : การเดินทางไปโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงสาย 35 จากพระราม 2 วิ่งตรงสู่แยกวังมะนาว เลี้ยวซ้ายที่แยกวังมะนาวไปตัวจังหวัดเพชรบุรี ต่อเนื่องมาจนถึงตัวอำเภอท่ายาง จากอำเภอท่ายางใช้เส้นทางหมายเลข 3187 วิ่งเลียบคลองชลประทานประมาณ 9 กิโลเมตรจากตลาดท่ายาง เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานข้ามคลองชลประทานเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 3499 ขับต่อมาอีกประมาณ 250 เมตร เลี้ยวขวาที่สะพานข้ามคลองอีกครั้ง ก่อนที่จะใช้เส้นทางหมายเลข 3175 มุ่งตรงสู่บ้านเขาลูกช้าง และเลี้ยวขวาตามเส้นทางไปประมาณ 400 เมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายอีกครั้งเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 4002 และขับไปจนถึงบ้านเขากระปุก ก่อนที่จะเลี้ยวขวาเพื่อตรงเข้าไปยังโครงการฯ โดยตลอดเส้นทางจะมีป้ายบอกทางมายังโครงการชั่งหัวมันฯ อยู่เป็นระยะๆ รวมระยะทางจากตลาดท่ายางมาจนถึงที่ตั้งโครงการฯ ประมาณ 44 กิโลเมตร


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตามบทความ ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/