DISTORTION
เป็นความบกพร่องอย่างหนึ่งของเลนส์ที่นักถ่ายภาพน่าจะพอรู้จักกันบ้าง แต่บางท่านอาจยังไม่ทราบว่าดิสทอร์ชันหรือความบิดเบี้ยวของภาพนั้นเป็นอย่างไร มีกี่รูปแบบ ส่งผลอะไรต่อภาพ และจะแก้ปัญหาเรื่องดิททอร์ชันในภาพอย่างไร
แน่นอนว่าผู้ผลิตเลนส์หลายรายได้พยายามแก้ปัญหาเรื่องดิสทอร์ชันให้เหลือน้อยที่สุด แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจกว่าก็คือผู้ผลิตเลนส์ระดับชั้นนำหลายรายไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องดิสทอร์ชัน เพราะเห็นว่ามันสามารถปรับแก้จากตัวกล้องได้ในเมนูการปรับแก้ความคลาดอัตโนมัติ (Lens Aberration Correction) ซึ่งมีในกล้องรุ่นใหม่ๆ ทุกตัว สามารถปรับแก้ความคลาดสี อาการขอบภาพมืด และปรับแก้ดิสทอร์ชันได้ ทำให้ผู้ผลิตเลนส์หันไปใส่ใจกับเรื่องอื่น เช่น ความคมชัด การควบคุมแฟลร์ และระบบโฟกัส มากกว่าที่จะมาให้ความสำคัญกับเรื่อง ดิสทอร์ชัน เลนส์หลายๆ รุ่นในปัจจุบันแม้กระทั่งเลนส์โปรที่เป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียว เช่น 85mm f/1.4 ก็ยังมีดิสทอร์ชันที่มากราวๆ กับเลนส์ซูม ซึ่งมันจะปรากฏเป็นปัญหากับการถ่ายภาพหลายรูปแบบด้วยไฟล์ RAW ทำให้ช่างภาพต้องเสียเวลามาปรับแก้จากซอฟท์แวร์
DISTORTION
คือความบิดเบี้ยวของภาพที่ทำให้เส้นตรงในภาพไม่แสดงผลเป็นเส้นตรงบนภาพที่ถ่ายออกมา ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนกับเส้นตรงที่อยู่ใกล้ขอบภาพ จะมีการบิดเบี้ยวเป็นเส้นโค้ง ยิ่งมีดิสทอร์ชันมาก เส้นตรงใกล้ขอบภาพก็จะโค้งมาก ส่วนเส้นที่อยู่ใกล้กลางภาพจะเห็นความบิดเบี้ยวน้อยลงจนดูเป็นเส้นตรงปกติ (ดูจากภาพด้านบน) ภาพที่จะเห็นปัญหาของดิสทอร์ชันได้ชัดเจนคือภาพแนวสถาปัตยกรรม ที่เส้นของอาคาร เสา คานจะบิดเบี้ยวเป็นเส้นโค้ง ซึ่งความบิดเบี้ยวไม่ได้เกิดเฉพาะเส้นตรงเท่านั้น มันทำให้รูปทรงของวัตถุนั้นๆ ผิดไปด้วย
ดิสทอร์ชันมี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ ความบิดเบี้ยวของเส้นแบบโค้งออกจากภาพ (Barrel Distortion) ความบิดเบี้ยวของเส้นแบบโค้งเข้าในภาพ (Pincushion Distortion) และความบิดเบี้ยวแบบทรงหนวด (Mustache Distortion)
ความบิดเบี้ยวของเส้นแบบโค้งออกจากภาพ (Barrel Distortion) จะทำให้เส้นตรงใกล้ขอบภาพจะโค้งออกจากภาพแบบโป่งกลาง มักจะเกิดกับเลนส์ช่วงมุมกว้างมากกว่าเลนส์ช่วงนอร์มอลหรือช่วงเทเลโฟโต้ เลนส์ยิ่งกว้างมากก็จะเป็นมาก และเลนส์ซูมจะมีปัญหาเรื่อง Barrel Distortion มากกว่าเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียว (เลนส์เดี่ยวหรือเลนส์ฟิกซ์)
ความบิดเบี้ยวของเส้นแบบโค้งเข้าในภาพ (Pincushion Distortion) จะทำให้เส้นตรงใกล้ขอบภาพทั้งสี่ด้านจะโค้งเข้าในภาพแบบคอดกลางคล้ายหมอนอิง มักจะเกิดกับเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้มากกว่าเลนส์มุมกว้าง ส่วนเลนส์ซูมจะเกิดกับเลนส์เทเลซูมมากกว่า แต่เลนส์นอร์มอลซูมที่มีช่วงซูมมุมกว้างถึงเทเล มักจะเกิดดิสทอร์ชันแบบนี้ที่ช่วงนอร์มอลจนถึงเทเล ส่วนช่วงซูมต้นมักจะเป็นแบบโค้งออก
ความบิดเบี้ยวของเส้นแบบทรงหนวด (Mustache Distortion) ดิสทอร์ชันแบบนี้เห็นได้น้อยมากในเลนส์ถ่ายภาพ เส้นตรงที่ขอบภาพจะโค้งเข้าบริเวณส่วนกลางของเส้นแต่บริเวณใกล้ขอบภาพเส้นกลับบิดเบี้ยวเป็นแบบโค้งออก ทำให้เส้นตรงนั้นมีทั้งโค้งเข้าและโค้งออก ดูคล้ายทรงของหนวด เลนส์ที่เกิดดิสทอร์ชันแบบนี้ชัดเจนคือ SAMYANG 14mm f/2.8 IF ED AS ซึ่งเป็นเลนส์มุมกว้างมากแบบแมนนวลโฟกัส ดิสทอร์ชันแบบนี้ปรับแก้ค่อนข้างยาก และไม่สามารถปรับแก้จากตัวกล้องได้
การวัดค่าดิสทอร์ชันที่ใช้กันในการทดสอบเลนส์นั้นจะใช้ตามสูตร Didtortion (%) = I x100 / L ( I คือระยะทางของจุดกึ่งกลางเส้นตรงที่บิดเบี้ยวออกไปถึงแนวเส้นตรงที่ลากจากขอบด้านหนึ่งมาอีกด้านหนึ่ง ส่วนค่า L คือความกว้างของภาพนั้น) เช่น ถ้าด้านกว้างของภาพที่ถ่ายขยายขึ้นมาเป็น 100 ซม. ค่า I วัดได้ 4 ซม. เอามาใส่ในสูตรนี้จะได้ 4 x100 / 100 = 4%. ซึ่งนับเป็นดิสทอร์ชันที่ค่อนข้างสูง โดยค่าดิสทอร์ชันที่อยู่ในระดับค่อนข้างดีไม่ควรเกิน 2%
ภาพที่ไม่มีดิสทอร์ชัน เส้นตรงใกล้ขอบภาพในทุกแกนจะยังคงเป็นเส้นตรงไม่มีการบิดเบี้ยว
ตึกที่เอียงลู่เข้ากลางภาพแบบนี้ไม่ใช่ดิสทอร์ชันนะครับ มันคือคุณสมบัติของเลนส์มุมกว้าง เลนส์ทุกตัวเป็นเหมือนกันหมดแม้กระทั่งเลนส์ที่เคลมว่า Zero Distortion
เราสามารถปรับแก้ความบิดเบี้ยวของเส้นจากซอฟท์แวร์ทั้งหลาย แต่สิ่งที่จะเสียไปจากการปรับมีสองอย่างคือพื้นที่บางส่วนในภาพจะหายไปเมื่อดึงเส้นให้ตรง ทำให้ความกว้างของภาพลดลง และอีกเรื่องคือบริเวณที่มีการดึงเส้นให้ยืดตรง ความคมชัดบริเวณนั้นจะลดลงเพราะพื้นที่ในบริเวณนั้นถูกยืดออก ทำให้คุณภาพของภาพลดลง
ดังนั้นถ้าคุณเป็นนักถ่ายภาพที่เน้นความถูกต้องของเส้นตรงในบริเวณใกล้ขอบภาพควรเลือกเลนส์ที่มีการปรับแก้เรื่องดิสทอร์ชันมาดีตั้งแต่ระบบออพติคของเลนส์ ไม่ใช่หวังพึ่งซอฟท์แวร์หรือการปรับแก้อัตโนมัติจากตัวกล้อง เลนส์เหล่านี้มักจะเป็นเลนส์ไวด์ที่ระบุว่า Zero Disatortion (เช่นเลนส์มุมกว้างของ LAOWA) ส่วนเลนส์ทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 50 มม. ขึ้นไป เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวมักจะมีดิสทอร์ชันน้อยกว่าเลนส์ซูม
เราสามารถทดสอบได้ว่าเลนส์ตัวนั้นมีดิสทอร์ชันมากน้อยเพียงใดโดยติดเลนส์เข้ากับกล้อง จากนั้นปิดระบบปรับแก้ความคลาดอัตโนมัติของกล้อง มองภาพในช่องมอง เล็งหาวัตถุที่มีเส้นตรงเช่น ขอบผนังบ้าน แล้วเลื่อนให้เส้นนั้นอยู่ใกล้ขอบภาพ ดูว่าเส้นยังเป็นเส้นตรงอยู่หรือไม่ ถ้าเป็นเลนส์ซูมลองปรับซูมแล้วดูผลแต่ละช่วง ซึ่งอาจเห็นดิสทอร์ชันได้ทั้งแบบโค้งเข้า และโค้งออกในเลนส์ตัวเดียว ลองดูว่าความบิดเบี้ยวที่คุณเห็นนั้น ยอมรับได้มั๊ย ถ้าไม่ได้ก็คงต้องหาเลนส์รุ่นอื่นแทน
แต่ถ้าคุณเป็นนักถ่ายภาพทั่วๆ ไป ไม่ใช่สาย Architecture ก็อย่าซีเรียสกับเรื่องดิสทอร์ชันมากนัก เพราะมันไม่ได้เป็นผลเสียร้ายแรงต่อภาพแต่อย่างใดครับ
เรื่อง : อิสระ เสมือนโพธิ์
Leave feedback about this