ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง
นอกจากโครงการที่ถือกำเนิดมาจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้ว ยังมีโครงการอีกหลายๆ โครงการ ที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทั้งสองพระองค์มักจะเสด็จทรงงานคู่กันอยู่เสมอๆ และถือกำเนิดขึ้นเป็น “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ” ที่มีอยู่ทั่วประเทศเช่นกัน โดยเป็นสถานที่ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้เสริมจากงานประจำ รวมทั้งเป็นการฝึกอาชีพ สร้างความชำนาญในงานฝีมือ จนสามารถประกอบเป็นอาชีพหลักเลี้ยงตัวเองได้เป็นอย่างดี
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ ที่ผมและทีมงานได้เดินทางไปเยือนในครั้งนี้ คือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร จุดเริ่มต้นของศูนย์ฯ แห่งนี้ มาจากสาเหตุที่บริเวณบ้านกุดนาขาม และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นบริเวณที่ทำการเพาะปลูกได้ค่อนข้างยาก จากเหตุนํ้าท่วมหลากในฤดูฝน และนํ้าขาดแคลนในฤดูแล้ง จึงขอพระราชทานอ่างเก็บนํ้าจากในหลวง รัชกาลที่ 9 และสร้างอ่างเก็บนํ้าขึ้นที่ห้วยนกเค้า ห่างจากบ้านกุดนาขามออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร และในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จมาเปิดอ่างเก็บนํ้านี้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งถือเป็นแหล่งนํ้ากินนํ้าใช้ที่สำคัญของชาวกุดนาขามและพื้นที่ใกล้เคียงในปัจจุบัน
วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2525 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านกุดนาม และทรงมีพระราชดำริให้ราษฎรปลูกต้นไม้เพื่อรักษาป่า ซึ่งชาวบ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านก็พร้อมใจกันถวายที่ดินสาธารณะของหมู่บ้านจำนวน 43 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา สำหรับจัดตั้งเป็นโครงการป่ารักนํ้า รวมทั้งราษฎรชาวบ้านบ้านกุดนาขามได้ช่วยกันเสียสละแรงงานด้วยการ ปลูกต้นไม้โตเร็วเพิ่มขึ้นจากป่าไม้ที่มีอยู่เดิม
จากนั้นวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโครงการป่ารักนํ้าอีกครั้ง และทรงมีพระราชดำริที่จะให้บ้านกุดนาขามเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง จึงทรงให้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น ณ บ้านกุดนาขามแห่งนี้ โดยมีพระราชเสาวนีย์ให้ พันเอก เรวัต บุญทับ (ยศในขณะนั้น) รองสมุหราชองครักษ์ เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2526 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อรับพระราชนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นที่บ้านกุดนาขาม และซื้อที่ดินจำนวน 50 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์ แต่เมื่อชาวบ้านทราบข่าว ต่างก็น้อมเกล้าถวายที่ดินจำนวน 50 ไร่ โดยไม่ขอรับพระราชทานค่าตอบแทนใดๆ นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม” นั่นเองครับ
ผมและน้องทีมงาน เดินทางไปยังศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขามด้วยรถครอบครัวเอนกประสงค์รุ่นล่าสุด Toyota Innova Crysta 2.8V AT ที่ได้รับการปรับโฉมใหม่ให้รูปลักษณ์ที่ดูหรูหรามากขึ้น และเพียบพร้อมไปด้วยระบบความปลอดภัยต่างๆ อย่างครบครัน โดยตัวรถออกแบบได้สวยงามสะดุดตาตั้งแต่กระจังด้านหน้าที่มีขนาดใหญ่ พร้อมคาดด้วยเส้นแถบที่ลากยาวไปจรดกับไฟหน้าแบบ Projector ทั้ง สองข้างที่ออกแบบรูปโคมให้เรียวยาวดูคมเข้มมากขึ้น และมาพร้อมไฟ Daytime Running Light แบบ LED ตํ่าลงไปเป็นชุดไฟเลี้ยวพร้อมไฟตัดหมอก ส่วนกระจกมองข้างเป็นแบบปรับและพับเก็บด้วยไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยวและไฟส่องสว่างที่ฝังไว้ด้านล่างของกรอบกระจกมองข้าง ซึ่งจะส่องสว่างอัตโนมัติเมื่อปลดล็อกประตู ส่วนชุดไฟท้ายก็ออกแบบใหม่หมดเช่นเดียวกัน โดยไฟเลี้ยวเป็นแบบสามเหลี่ยมรูปตัว L วางควํ่ายื่นต่อจากชุดไฟเบรกและไฟถอย ด้านบนกระจกท้ายออกแบบให้มีสปอยเลอร์พร้อมไฟเบรก ส่วนบนหลังคาเป็นเสาอากาศแบบครีบฉลาม ทำให้รถแลดูสปอร์ตและปราดเปรียวมากขึ้น
Toyota Innova Crysta 2.8V AT มาพร้อมกับเครื่องยนต์ดีเซล รหัส 1GD-FTV ความจุ 2800 ซีซี ให้พละกำลัง 174 แรงม้า และแรงบิด 360 นิวตั้นเมตร ที่ 1200-3400 รอบต่อวินาที เพียงพอที่จะพาผมและทีมงานโลดแล่นไปในทุกเส้นทางอย่างสบายๆ ทีเดียว และใช้กุญแจแบบ Keyless Smart Entry สามารถเปิดประตูรถได้โดยการพกกุญแจไว้กับตัว และแตะที่ปุ่มบนมือจับเพื่อเปิดประตูรถได้เลย ส่วนการล็อกก็สามารถกดปุ่มบนมือจับเพื่อล็อกรถได้เช่นกันครับ
เบาะทุกที่นั่งเป็นเบาะหนังทั้งหมด รวมทั้งเบาะเสริมสำหรับที่นั่งที่ 6 และ 7 ที่ออกแบบให้ปรับใช้งานหรือพับเก็บได้อย่างสะดวก แบบ One Touch Space Up ด้วยเช่นกัน ที่นั่งฝั่งคนขับนั้นปรับแบบไฟฟ้า ได้ 8 ระดับ ปีกเบาะที่นั่งทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านข้างโอบหุ้มกระชับลำตัวได้พอเหมาะพอดี ช่วยให้นั่งได้สบายมากขึ้น
ที่นั่งแถวกลางเป็นแบบ Captain Seat แยกฝั่งซ้าย-ขวา สามารถปรับเลื่อนเดินหน้า หรือถอยหลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาได้ รวมทั้งปรับเอนสำหรับการพักผ่อนเมื่อยามเดินทางไกลๆ ได้เป็นอย่างดี ตัวเบาะออกแบบให้โอบกระชับกับลำตัว เช่นเดียวกับที่นั่งด้านหน้า ช่วยให้นั่งสบายมากขึ้นด้วย
คอนโซลด้านหน้าออกแบบได้เรียบง่ายและดูเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเป็นเส้นโค้งเรียวจากฝั่งคนขับไปจรดช่องแอร์ฝั่งคนนั่งข้างคนขับ ตรงกลางเป็นจอ LCD ระบบสัมผัส สำหรับปรับการทำงานต่างๆ อาทิ ระบบนำทาง, วิทยุ, เครื่องเล่น DVD หรือการเชื่อมต่อ แบบ Bluetooth เพื่อดูหนังและฟังเพลงผ่านลำโพงของตัวรถนั่นเอง ซึ่งตอบสนองการใช้งานได้ดีทีเดียวครับ
การตอบสนองของอัตราเร่ง ในยามที่ต้องการเร่งแซงนั้นทำได้ดีเช่นกันครับ จากทางเลี่ยงเมืองอุดรธานี มุ่งตรงไปยังอำเภอเจริญศิลป์นั้น ส่วนใหญ่เป็นถนนสองเลนวิ่งสวนทางกัน บางช่วงก็มีรถใช้ถนนกันเยอะทำให้การเร่งแซงลำบากอยู่บ้าง แต่ Toyota Innova Crysta 2.8V AT มีโหมดการขับขี่ให้ใช้งานได้ 2 แบบจากการขับขี่ปกติ คือ ECO Mode และ Power Mode สำหรับการขับขี่แบบปกติ ผมจะใช้แบบ ECO Mode ซึ่งเหมาะสำหรับการขับขี่ที่ต้องการความประหยัด ไม่เน้นการเร่งแซง หรือใช้ความเร็วสูงมากนัก ส่วน Power Mode นั้นเป็นโหมดที่ต้องการเพิ่มพละกำลังในการนำพาตัวรถให้พุ่งไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วฉับไว ซึ่งเป็นโหมดที่ผมใช้บ่อยร่วมกับการปรับชิฟท์เกียร์เองแบบแมนนวล เมื่อต้องการเร่งแซง และต้องใช้เวลาในการเร่งแซงให้สั้นที่สุดครับ ซึ่ง Toyota Innova Crysta 2.8V AT ก็ตอบสนองการใช้งานในลักษณะนี้ได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว สำหรับปุ่มใช้งานทั้ง 2 โหมดนั้น ก็อยู่ตรงคอลโซลกลางในตำแหน่งที่ถัดลงจากชุดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งใช้งานได้สะดวกดีทีเดียวครับ
“สวัสดีคะ มาจากไหนกันค๊ะ” เสียงเจ้าหน้าที่ดูแลอาคารแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทักมา เมื่อเราก้าวเท้าเข้าไปยังอาคารที่อยู่ตรงข้ามที่จอดรถนั่นเอง หลังจากที่แจ้งความประสงค์ไป เจ้าหน้าที่ก็บอกให้รอหัวหน้าศูนย์ เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ รวมทั้งไปเยี่ยมชมและถ่ายภาพภายในศูนย์ต่างๆ ที่มีอยู่ 18 แผนกด้วยกัน
ร้อยโท ประทีป ภูศรีฐาน หัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม ได้กรุณาเป็นไกด์กิติมศักดิ์ และให้ข้อมูลความเป็นมา และการฝึกอาชีพต่างๆ ของศูนย์ฯ โดยเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์เรียกสั้นๆ ว่าหัวหน้า เล่าให้เราฟังว่า ศูนย์แห่งนี้ มีความโดดเด่นในด้านผลิตเครื่องปั้น และเซรามิกต่างๆ ซึ่งมีอาจารย์ผู้สอนที่ทุ่มเททั้งแรงกายและความรู้ ถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ที่เป็นชาวบ้านแบบไม่หวงวิชากันเลยทีเดียว
“แถวๆ นี้ มีดินที่เหมาะสำหรับปั้นเหรอครับ ทำไมถึงโดดเด่นในด้านปั้น” ผมถามหัวหน้าศูนย์ฯ “มีด้วยครับ แล้วก็สั่งมาจากแถวๆ นครพนมด้วย” หัวหน้าศูนย์ฯ ตอบผมกลับมา พร้อมแนะนำอาคารที่เป็นแผนกต่างๆ ทั้ง 18 แผนกภายในศูนย์ฯ “เดี๋ยวผมจะพาเดินดูแผนกต่างๆ ครับ แล้วค่อยมาถ่ายภาพกันอีกทีก็ได้”
อาคารแรกที่อยู่ข้างๆ อาคารแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เรานั่งคุยกันนั่นเอง เป็นแผนกเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งมีทั้งการปั้นแบบแป้นหมุนเล็กๆ สำหรับงานชิ้นเล็กที่สามารถหมุนแป้นได้เอง หรือใช้มอเตอร์ช่วยหมุนได้ และแป้นขนาดใหญ่ สำหรับชิ้นงานใหญ่ๆ ซึ่งจะต้องมีคนช่วยหมุนอีกแรง
ช่างปั้นกำลังขึ้นรูปแจกันอย่างประณีต
ภาพโคลสอัพที่ทำให้เห็นถึงความประณีตในการขึ้นรูปกระถางประดับที่ละเอียดและสวยงาม
แป้นหมุนใหญ่นั้น ใช้วิธีหมุนโดยการใช้เท้ายันขอบแป้น เพื่อให้หมุนตามความเร็วที่ต้องการ ผมลองจับๆ หมุนๆ ดู หนักมากครับ ต้องออกแรงเยอะมากถึงจะหมุนได้ มิน่าละ ถึงต้องใช้เท้าช่วยหมุน คุณครูผู้สอนบอกกับผมว่า แป้นต้องมีความมั่นคง และหมุนได้อย่างสมําเสมอ มีความมั่นคง ไม่โยกคลอน จึงจะทำให้ชิ้นงานได้รูปที่สวยงาม และแป้นใหญ่นี้ เป็นการปั้นงานชิ้นใหญ่ๆ อย่างพวกโถแจกันขนาดใหญ่นั้น ไม่ได้เป็นการปั้นครั้งเดียวเสร็จทั้งใบ แต่เป็นการปั้นทีละส่วน และเอามาต่อเชื่อมกันให้เต็มใบในภายหลัง
วิธีนี้ช่างปั้นจะต้องคอยวัดขนาดและความกว้างของแต่ละส่วนให้เชื่อมต่อกันได้พอดิบพอดี ซึ่งจะได้แจกันใบใหญ่ที่สวยงามนั่นเองครับ ต้องชมฝีมือและความ ชำนาญของช่างปั้นที่เก็บเกี่ยวประสปการณ์ จนทำให้สร้างสรรค์ชิ้นงานที่สวยงามอวดสายตาผู้ชม ซึ่งผมเองยังคิดว่าแจกันแบบนี้ เค้าปั้นทั้งใบทีเดียวจบเหมือนใบเล็กที่เห็นกันทั่วไปครับ
นอกจากจะมีการปั้นแจกันแล้วก็ยังมีรูปหล่อที่ปั้นแบบอิสระอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่ได้หลังเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต และวางโชว์พร้อมจำหน่ายภายในศูนย์ฯ
ถัดไปเป็นส่วนปั้นแบบอิสระ ซึ่งเป็นชิ้นงานที่ช่างปั้นจะปั้นตามแบบที่ต้องการเองทั้งหมด ส่วนมากจะเป็นตุ๊กตาประดับตัวเล็กๆ ครับ ข้างๆ กันเป็นงานปั้นแบบหล่อแบบ ซึ่งส่วนงานนี้ ครูผู้สอนจะปั้นแม่แบบออกมาก่อน จากนั้นจะนำแม่แบบนี้ไปทำแม่พิมพ์ แล้วให้ช่างหล่อชิ้นงานออกมาอีกครั้ง ก่อนที่จะนำมาตกแต่งให้สวยงามต่อไปครับ
อีกหนึ่งอาคารที่อยู่ติดๆ กันนั้น เป็นอาคารสำหรับงานลงสี ซึ่งเป็นแผนกที่ทำเอาผมอึ้งไปกับฝีมือของช่างเขียนที่บรรจงแต่งแต้มลวดลายต่างๆ ลงไปบนเครื่องปั้น ในช่วงที่เราไปถึงนั้น ช่างกำลังระบายสีภาพข้าราชการสองท่านที่กำลังจะเกษียณอายุราชการลงบน โถเครื่องปั้น ซึ่งจากฝีมือที่สัมผัสได้นั้น ต้องขอบอกว่า “ขั้นเทพ”
จริงๆ ช่างสีวาดภาพข้าราชการที่มาสั่งชิ้นงานจากภาพถ่ายตัวอย่าง ซึ่งมีความเหมือนไม่ผิดเพี้ยนเลยจริงๆ ครับ หัวหน้าประทีปแจงให้เราฟังว่า ราคาของชิ้นงานจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายด้วย ถ้าหากว่าเป็นสีพื้นๆ ก็จะมีราคาย่อมเยาลง แต่ถ้าหากว่าจะต้องลงลวดลายหมดทั้งใบ ราคาก็จะสูงขึ้น ซึ่งก็มีตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่นครับ
ช่างวาดที่กำลังใจจดใจจ่อกับงานที่ถูกออเดอร์จากลูกค้า
ขั้นตอนการวาดลวดลายลงบนเครื่องปั้นที่ดูประณีตและใช้เวลามากทีเดียวครับ
ผลงานการวาดที่ถูกวาดอย่างเอาใจใส่อย่างประณีต
หัวหน้าประทีปพาเราเดินข้ามไปอีกหนึ่งอาคาร ซึ่งเป็นแผนกดอกไม้ประดิษฐ์ที่กำลังทำงานกันอย่างขมักเขม้น ซึ่งแบ่งงานกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการทำกลับดอก การเข้าช่อ ถัดจากแผนกดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นอาคารแผนกปักผ้า ที่เป็นอีกหนึ่งแผนกที่ทำให้ผมอึ้งและทึ่งกับฝีไม้ลายมือของช่างปัก ที่ต้องใช้ความพยายามความอดทนในการปักสอดเข้มร้อยด้ายลงไปทีละนิด ทีละนิด กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง “ชิ้นนึง ใช้เวลานานมั๊ยครับ” ผมถามช่างปัก “3 เดือนคะ” นั่นคือเครื่องการันตีถึงความละเอียด ความละเมียดของชิ้นงานที่ต้องใช้ ความอดทนสูงจริงๆ ครับ ถัดจากงานปักผ้า ก็เป็นงานแกะสลักไม้ ที่มีผลงานวางโชว์อยู่หลายๆ ชิ้นด้วยกัน
การปักลายผ้าที่ใช้สำหรับทำชุดโขน ต้องเรียกว่าประณีตและต้องใช้ความอดทนมากๆ ครับ
ลายไทยในภาพเป็นการปักจากวัตสดุที่สั่งจากต่างประเทศซึ่งสวยงามมากๆ ครับ
การปักลายผ้าที่ใช้เวลาร่วมๆ สอง-สามเดือน ที่กว่าจะได้ลวดลายสวยงามมาสักผืนครับ
“เดี๋ยวเราไปดูช่างปักชุดโขนประวัติศาสตร์ที่จะใส่แสดงในงานถวายพระเพลิง พระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ในเดือนตุลาคม กัน” หัวหน้าประทีปชวนเราเดินข้ามไปยังอาคารข้างๆ กัน ตัวอาคารเป็นห้องโล่งๆ พร้อมห้องกระจกอีกด้านหนึ่งของอาคาร ภายในห้องกระจกนั้น มีช่างปักกำลังมุ่งมั่นทำงานของตัวอย่างตั้งอกตั้งใจ
“งานนี้เป็นงานด่วน ต้องทำให้ทันพระราชพิธีครับ” ช่างปักแต่ละคนต่างก็ปักส่วน ต่างๆ ของชุดโขนที่ประดับดิ้นทองลวดลายสวยงาม “ดิ้นทองพวกนี้สั่งมาจากเมืองนอก และค่อนข้างมีปฏิกิริยาไวกับเหงื่อ ซึ่งจะทำให้สีของดิ้นทองเปลี่ยนไป จึงต้องทำงานในห้องแอร์คะ” ช่างปักแจงให้เราฟังถึงความแตกต่างของช่างที่นี่ กับช่างในอาคารอื่นๆ ที่เป็นแบบเปิดโล่ง
ความประณีตที่ถูกปักลงบนผ้าที่จะใช้ทำชุดโขนที่จะใส่แสดงในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเดือนตุลาคมนี้ครับ
“เดี๋ยวไปนั่งพักที่บ้านผมก่อนนะครับ” หัวหน้าประทีปบอกเรา หลังจากที่เดินลุยอากาศอันร้อนระอุมาจนเกือบๆ จะครบทุกอาคาร ถึงแม้ว่าภายในศูนย์จะเต็มไปด้วยต้นไม้มากมายก็ตาม แต่เสื้อของผมยังชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อ ภายใต้ถุนบ้านไม้ ซึ่งเป็นบ้านพักของหัวหน้าประทีป สายลมพัดโชยมาอ่อนๆ และนํ้าเย็นชื่นใจ ช่วยให้คลายร้อนลงไปมากโขทีเดียว รอบๆ บ้านเต็มไปด้วยพืชผัก และไม้ผลหลายชนิด
“กล้วยนั่นนะ ทานได้นะครับ” หัวหน้าชี้ไปที่กล้วยนํ้าว้าเครือหนึ่งที่แขวนอยู่บนขื่อ ไม่ต้องรอให้ชวนรอบสอง ผมเดินไปดึงมาหนึ่งลูก ยังไม่งอมมากนักแต่ก็หวานอร่อยดีทีเดียว หมดลูกแรก ลูกสองก็ตามมา “เปลือกก็โยนไปที่โคนต้นไม้นั่นแหละนะ” หัวหน้าประทีปแจ้งมา ครับ..เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่ดีเยี่ยมทีเดียว
ข้างๆ บ้านพักหัวหน้าประทีปยังมีบ่อนํ้าเล็กๆ อยู่บ่อหนึ่ง “เลี้ยงกุ้งไว้” หัวหน้าประทีปบอกมา “ผมอยากมีบ้านแบบนี้มั่งจัง” น้องทีมงานเอ่ยขึ้นมา ก็แน่ละครับ บรรยากาศกลางสวนแบบนี้ ขวาก็ผลไม้ ซ้ายก็ผัก มีให้เก็บไปทำกับข้าวได้โดยไม่ต้องจ่ายสักบาท อยากจะกินอะไร ก็ปลูกไว้ได้ เดี๋ยวสักพักก็ได้ผลผลิตเองละ จริงๆ ก็…น่าอิจฉาหัวหน้าประทีปอยู่เหมือนกันนะครับ…แฮ่..
หลังจากพักหายเหนื่อยกันแล้ว หัวหน้าประทีปพาเราเดินไปตามถนนที่วนรอบศูนย์ ข้างๆ มีพื้นที่ที่กำลังปรับเพื่อใช้งาน “ตรงนี้ปลูกหม่อนสำหรับเลี้ยงไหมครับ ตอนนี้ยังเล็กๆ อยู่ เป็นอีกหนึ่งโครงการฝึกอาชีพให้ชาวบ้าน โรงเลี้ยงก็สร้างรอไว้แล้ว อยู่ตรงโน้นครับ” หัวหน้าพูดพร้อมชี้มือไปยังโรงเรือนที่เพิ่งจะสร้างเสร็จ ซึ่งจะใช้เป็นโรงเลี้ยงไหม เมื่อต้นหม่อนโตพอที่จะเป็นอาหารของตัวไหมได้
ถัดไปเป็นแปลงปลูกหม่อนเหมือนกัน แต่เป็นแบบหม่อนเบอรี่ หรือ Mulberry หรือหม่อนแบบกินผลนั่นเอง ซึ่งเจ้า Mulberry ที่ว่าเนี่ย มีคุณประโยชน์มากมายทีเดียวครับ อาทิ ช่วยดับร้อน, บำรุงหัวใจ, ช่วยทำให้เส้นประสาทตาดีขึ้น, เป็นยาแก้ท้องผูก, ช่วยบำรุงตับและไต รวมทั้งช่วยลดระดับนํ้าตาลในเลือดได้ด้วยครับ นี่เป็นเพียงสรรพคุณส่วนหนึ่งเท่านั้น จริงๆ แล้ว ยังมีอีกยาวเหยียดเลยละครับ
ถัดจากแปลง Mulberry เป็นเรือนทรงไทยที่เป็นส่วนทรงงานของทั้งสองพระองค์เมื่อเสด็จมาที่นี่ด้วย รอบๆ เป็นศาลาหลังเล็กที่มีภาพพระราชกรณียกิจจัดแสดงอยู่ด้วย ถัดไปเล็กน้อย เป็นแผนกทอผ้าและตัดเย็บ “กี่ทอผ้า” ในยุคอดีตที่มีโครงสร้างเป็นไม้ ถูกปรับเปลี่ยนเป็นโครงเหล็กให้เข้ากับยุคสมัย แต่อุปกรณ์บางอย่าง เช่น ไม้สำหรับม้วนผ้า ก็ยังคงเป็นไม้อยู่เช่นเดิมครับ
กี่ทอผ้าที่เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นโครงสร้างที่ทำจากไม้ก็เปลี่ยนเป็นโครงเหล็กที่แข็งแรงขึ้น แต่ในการทอก็ยังต้องใช้ความสามารถและเวลาในการทอมาเหมือนเดิม ซึ่งแสดงถึงความอดทนมากๆ กว่าจะได้ผ้าอันสวยงามแต่ละผืน
ออกจากศูนย์ เราขับรถตามเส้นทางเล็กๆ ด้านหลังศูนย์ไปยังอ่างเก็บนํ้าห้วยนกเค้า อ่างเก็บนํ้าที่พ่อสร้างให้ชาวชุมชน และเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดด้วยพระองค์เอง เมื่อปี 2527 เพื่อเอื้อประโยชน์ สำหรับการดำรงชีวิตในทุกๆ ฤดู ไม่ว่าจะร้อน ฝน หรือหนาว ก็ไม่ต้องฝากชีวิตไว้กับฤดูกาลเหมือนเช่นอดีต
เส้นทางลูกรังค่อนข้างขรุขระ แต่ช่วงล่างและระบบกันสะเทือนช่วยซับแรงนั้นไว้ ช่วยให้ผมและทีมงานยังคงนั่งกันอย่างสบายๆ ไม่กระเด้งกระดอนไปตามหลุมบ่อของถนน เบาะตำแหน่งคนขับยังปรับได้ด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนระดับและตำแหน่งของเบาะนั่งให้เหมาะสมกับลักษณะของการขับขี่ได้อย่างสะดวกในทุกๆ สภาพเส้นทางอีกด้วย
ทริปหน้านั้น เราจะเดินทางไปยังโครงการชลประทาน อ่างเก็บนํ้าบึงโขงหลง ในเขตอำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ พื้นที่ชุ่มนํ้าอันดับหนึ่งของภาคอีสาน อีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริที่เอื้อประโยชน์ให้กับชุมชนที่อยู่รายรอบได้มากมาย
..แล้วพบกันฉบับหน้า สวัสดีครับ…
เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
การเดินทางไป : ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าไปยังจังหวัดสระบุรี จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 2 ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดขอนแก่น ไปยังจังหวัดอุดรธานี จากนั้นใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง และออกไปยังเส้นทางหมายเลข 22 หรือถนนนิตโย ผ่านอำเภอหนองหาน ไปจนถึงอำเภอสว่างแดนดิน จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปยังเส้นทางหมายเลข 2280 ไปยังอำเภอเจริญศิลป์ ขับผ่านตัวอำเภอเจริญศิลป์ ประมาณ 4 กิโลเมตร ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 2379 อีก 4 กิโลเมตร ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ บ้านกุดนาขามจะอยู่ด้านขวามือ
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
ติดตามบทความ ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/