นอกจากทักษะและประสบการณ์แล้ว ในการถ่ายภาพกีฬา สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการได้ภาพที่คมชัด จังหวะดี และสวยงาม คือการรู้จักกล้องและปรับตั้งอุปกรณ์ในมือให้ตอบสนองการทำงานของเราให้ดีที่สุด
ปรับระบบโฟกัสที่ AF-C
ในการถ่ายภาพกีฬา ภาพแอคชั่น ที่ซับเจกต์เคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่ง เปลี่ยนระยะห่างจากกล้องตลอด เราไม่สามารถใช้ระบบโฟกัสแบบ AF-S (ONE SHOT ในกล้องแคนนอน) ได้ เพราะเมื่อกล้องโฟกัสได้ กว่าที่คุณจะกดปุ่มลั่นชัตเตอร์ ซับเจกต์จะไม่อยู่ที่ตำแหน่งเดิมแล้ว ภาพจะหลุดโฟกัสแน่นอน ดังนั้นจะต้องปรับระบบโฟกัสเป็น AF-C เท่านั้น (AI SERVO ในกล้องแคนนอน) เพื่อให้กล้องโฟกัสติดตามซับเจกต์ต่อเนื่อง ภาพจะอยู่ในโฟกัสเมื่อลั่นชัตเตอร์
เลือกพื้นที่โฟกัสให้เหมาะสม
การใช้โฟกัสแบบกว้าง (Wide Area) กล้องมีโอกาสจะโฟกัสผิดตำแหน่งได้ง่าย เพราะพื้นที่การหาโฟกัสกว้างเกินไป ในขณะที่การใช้โฟกัสแบบจุดเดียว (Single Point AF) พื้นที่โฟกัสก็จะเล็กเกินไป ทำให้การติดตามภาพโดยรักษาตำแหน่งกรอบโฟกัสให้อยู่ที่ซับเจกต์ตลอดทำได้ยากมาก โอกาสที่โฟกัสจะหลุดจึงมีมากเช่นกัน ดังนั้นสำหรับนักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์น้อย การใช้พื้นที่โฟกัสแบบโซนจึงเหมาะกว่า เพราะเจาะจงพื้นที่การโฟกัสได้ แต่ยังกว้างพอที่จะติดตามซับเจกต์ได้แม่นยำต่อเนื่อง
ในกล้องระดับโปรและเซมิโปรหลายรุ่น ผู้ใช้จะสามารถเลือกตำแหน่งจุดโฟกัสหลักภายใน Zone AF ได้ ว่าจะให้ทำงานที่จุดกลางก่อนหรือวัตถุที่อยู่ใกล้ก่อน (เลือกจากจุดโฟกัสบริเวณวัตถุที่อยู่ใกล้) หากเลือกจุดกลางก่อน กล้องจะพยายามใช้จุดกลางของ Zone AF ทำงานก่อน หากหาโฟกัสไม่ได้จึงจะใช้จุดข้างเคียง แนะนำให้เลือกที่จุดกลางครับ เพราะเมื่อเราเคลื่อนกล้องตาม เรามักจะวางซับเจกต์ไว้กลางพื้นที่โซน กล้องจะหาโฟกัสได้แม่นยำกว่า
แต่สำหรับนักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์สูงมักจะเลือกใช้โฟกัสแบบจุดเดียวที่สามารถตั้ง Wrap Around ได้ โดยโฟกัสจะทำงานที่จุดโฟกัสหลัก แต่ถ้าจุดหลักโฟกัสไม่ได้จึงจะใช้จุดโฟกัสอื่นๆ ที่อยู่รอบจุดหลักในการทำงาน การทำงานจึงแม่นยำกว่าแบบ Zone เพียงแต่การเคลื่อนกล้องติดตามภาพจะยากกว่า เพราะต้องให้จุดโฟกัสที่มีขนาดเล็กอยู่ที่ตำแหน่งซับเจกต์ตลอด
หน้าจอของกล้อง Canon ในการเลือกพื้นที่โฟกัส ซึ่งกล้องจะโฟกัสด้วยจุดกลางแต่จะใช้จุดรอบๆ เมื่อจุดหลักโฟกัสไม่ได้
หน้าจอกล้อง Fujifilm ในการเลือกพื้นที่โฟกัส
หน้าจอกล้อง Sony ในการเลือกพื้นที่โฟกัส
หน้าจอกล้อง Nikon
ตั้งระบบ Release / Focus Priority ของ AF-C
ฟังก์ชั่นนี้จะเป็นตัวสั่งการทำงานของโหมด AF-S และ AF-C ว่าจะให้กล้องลั่นชัตเตอร์ได้ตลอดเวลา หรือจะต้องโฟกัสให้ได้ก่อนจึงจะบันทึกภาพได้ แนะนำว่าในโหมด AF-C จะต้องไปที่ Release เท่านั้น เพื่อให้กดชัตเตอร์ได้แม้ภาพจะยังไม่อยู่ในโฟกัส มิเช่นนั้นชัตเตอร์จะไม่ทำงาน (ได้ภาพเบลอหลุดโฟกัสเล็กน้อยดีกว่าไม่ได้ภาพเลย) การถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชั่นนั้น ทุกครั้งที่กดปุ่มลั่นชัตเตอร์ กล้องต้องบันทึกทุกช็อต (ไม่ต้องรอให้โฟกัสได้ก่อน ชัตเตอร์จึงจะทำงาน)
หน้าจอกล้องCanon / หน้าจอกล้อง Sony
หน้าจอกล้อง Fujifilm / หน้าจอกล้อง Nikon
ตั้ง AF Track Sensitivity ให้เหมาะกับรูปแบบแอคชัน
ฟังก์ชั่นนี้จะมีอยู่ในกล้องระดับเซมิโปรและโปร (รุ่นเล็กมักจะไม่มี) ใช้เพื่อตั้งระดับการตอบสนองของโฟกัสเมื่อมีวัตถุเคลื่อนมาบังซับเจกต์หลัก กล้องมักจะตั้งมาที่ค่ากลางๆ คือระดับ 3 (จาก 5 ระดับ) หากต้องการให้กล้องล็อกที่ซับเจกต์หลัก ไม่เปลี่ยนไปโฟกัสวัตถุที่บัง ให้ตั้งการตอบสนองช้า กล้องจะ Lock on ที่ซับเจกต์หลัก จนวัตถุนั้นเคลื่อนผ่านไปโฟกัสจะไม่หลุด แต่ถ้าเป็นภาพแอคชั่นที่เราอาจเปลี่ยนซับเจกต์ตลอดเวลา แนะนำให้ตั้งที่ตอบสนองเร็วๆ หรือซับเจกต์ที่โผล่เข้ามาในเฟรมแบบฉับพลันโดยไม่มีโอกาสเคลื่อนกล้องตามซับเจกต์ก่อนก็ควรตั้ง AF Track Sensitivity ที่ตอบสนองเร็ว
และสำหรับกล้องที่มีฟังก์ชั่น Speed Tracking เลือกความเร็วในการโฟกัสได้ ให้ตั้งที่ FAST เพื่อให้กล้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนความเร็วของวัตถุอย่างฉับพลันได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับการถ่ายภาพแอคชั่นที่ซับเจกต์เคลื่อนที่เปลี่ยนทิศทาง เปลี่ยนความเร็วตลอด
หน้าจอกล้อง Sony / หน้าจอกล้อง Fujifilm / หน้าจอกล้อง Nikon
หน้าจอกล้อง Canon EOS 5DS R แสดงการปรับเลือก AF Track Sensitivity ที่ละเอียด
ตั้งระบบถ่ายต่อเนื่อง (Drive) ที่ความเร็วสูงสุด
ในการถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชัน ควรตั้งระบบ Drive ไปที่ต่อเนื่องความเร็วสูงสุด เพื่อให้สามารถลั่นชัตเตอร์ต่อเนื่องได้ด้วยความเร็วสูง โดยกล้องยังโฟกัสติดตามซับเจกต์อยู่ตลอด โอกาสได้ภาพที่มีแอคชั่นดีๆ จะมีมากกว่าการถ่ายแบบทีละภาพ (Single) ยิ่งกล้องที่ถ่ายต่อเนื่องได้เร็วก็จะมีโอกาสได้จังหวะที่ดีมากขึ้น
ปิดการแสดงภาพอัตโนมัติหลังบันทึก (Auto Review)
การเปิดระบบแสดงภาพหลังบันทึก กล้องจะแสดงภาพบนหน้าจอ LCD (และในช่องมองภาพ EVF ของกล้องมิเรอร์เลส) ทุกครั้งที่ลั่นชัตเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รบกวนการมองภาพและการเคลื่อนกล้องติดตามซับเจกต์อย่างมาก รวมทั้งจะลดประสิทธิภาพในการ Tracking ของระบบโฟกัส ดังนั้นแนะนำให้ปิดการแสดงภาพหลังบันทึกเสมอ
เลือกเลนส์ที่โฟกัสเร็วและล็อกช่วงโฟกัสเสมอ
เลนส์แต่ละรุ่น ประสิทธิภาพในการโฟกัสจะไม่เหมือนกัน เลนส์รุ่นเก่าๆ มักจะใช้ระบบโฟกัสที่ต้องขับเคลื่อนชุดเลนส์ขนาดใหญ่ และมักใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพต่ำ จึงโฟกัสช้า ตอบสนองช้า ทำให้กล้องหาโฟกัสไม่ทัน เลนส์รุ่นใหม่ๆ จะมีความเร็วในการโฟกัสสูงกว่า(เป็นส่วนใหญ่) ด้วยการออกแบบชุดโฟกัสที่เล็กและเบา กินกำลังมอเตอร์น้อย ซึ่งแม้แต่เลนส์ซูมราคาประหยัดหลายๆ รุ่นก็โฟกัสได้เร็วเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชั่น
เลนส์เทเลโฟโต้หรือเทเลซูมระดับโปร มักจะมีสวิทช์ล็อกช่วงโฟกัสได้ 2 ช่วง คือ Full และ Limit เช่น Full (ตั้งแต่อินฟินิตี้ถึงใกล้สุด) Limit (เช่น ตั้งแต่ 3 เมตรถึงอินฟินิตี้) เราควร Limit ให้เลนส์ทำงานเฉพาะช่วงที่เราใช้งาน ถ้าคุณไม่ได้ถ่ายซับเจกต์ใกล้กว่า 3 เมตร การล็อกช่วงโฟกัสจะทำให้เลนส์โฟกัสได้เร็วขึ้น เพราะรอบหมุนของวงแหวนโฟกัสจะแคบลงกว่าปกติเกินเท่าตัว เมื่อโฟกัสหลุด มันจะแทรคกลับมาจะซับเจกต์ได้เร็วขึ้น
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
ขอบคุณครับ
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่