ADVANCE

Candid Expo Exposure

กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปนานแล้วล่ะครับสำหรับงานโชว์รถทั้งหลายที่ใกล้จะกลายร่างเป็นงานโชว์น้องๆ เข้าไปทุกที แถมนี่ยังเป็นเรื่องสำคัญที่บรรดาผู้เข้าแสดงงานเขายอมกันไม่ได้เสียด้วย เพราะนี่เป็นแรงดึงดูดสำคัญอันจะชักชวนให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าชมงานและชมรถกันอย่างคับคั่ง ส่วนจำนวนกล้องและเลนส์พร้อมอุปกรณ์อลังการนั้นไม่ต้องพูดถึง ดูเหมือนว่าจะเป็นรองก็เฉพาะแค่งานแสดงสินค้ากล้องเท่านั้นละกระมัง?

ผมเองก็ใช่ว่าจะสันทัดกรณีการถ่ายภาพน้องๆ พริตตี้สวยสาวสักเท่าไหร่ ใครที่พอจะรู้จักผมอยู่บ้างต่างก็ประหลาดใจเมื่อวันนึงก็กลับมีภาพทำนองนี้ของตัวเองออกมาเสนอหน้ากับเขาด้วย ปกติแล้วก็เป็นคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีรถยนต์อยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน มีงานทีไรก็ไปเดินด้อมๆ มองๆ อยู่เสมอ ในขณะเดียวกันก็สังเกตสังกาเรื่องการถ่ายภาพไปด้วยว่าถ้าเป็นเรื่องของการถ่ายภาพแล้วมันควรจะอะไรยังไงในสถานการณ์สภาวะแวดล้อมแบบนี้บ้าง ?

น้องๆ พริตตี้นั้นไม่ต้องพูดถึง เท่าที่สังเกตดูพวกเธอต่างก็เป็นมืออาชีพในเรื่องนี้กันอยู่แล้ว กล้องมาเมื่อไหร่เป็นต้องฉีกยิ้มหวานจ๋อยกันได้ทุกขณะ จะต้องโดนแสงแฟลชเข้าไปกี่ร้อยกี่พันครั้งก็ไม่หวั่น เรื่องนี้ก็น่าเห็นใจอยู่เหมือนกัน ผมว่านอกจากภาระในการดูแลเรื่องความงามแล้วก็คงต้องให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลรักษาดวงตาที่เกิดมาเพื่อสู้แสงแฟลชอยู่ไม่น้อย…ชีวิตยังไม่สิ้นก็ดิ้นกันต่อไป

คงมีหลายท่าน (ซึ่งผมคิดว่าเป็นส่วนใหญ่) สำหรับการอยู่หลังกล้องที่เข้าร่วมชมงานเพื่อวัตถุประสงค์ในการถ่ายภาพพริตตี้สาวสวยเป็นการเฉพาะ หลายท่านก็ถ่ายภาพอย่างเอาจริงเอาจัง ในขณะที่หลายท่านก็ฝึกปรือฝีมือการถ่ายภาพบุคคล ความหลากหลายในอุปกรณ์ทำให้ผมทึ่งอยู่พอสมควรเพราะเคยเห็นหลายท่านเอาจริงเอาจังมากเสียจนต้องมีผู้ช่วยมาคอยถืออุปกรณ์เสริมเยอะแยะไปหมด

แต่ก็คงมีหลายๆ ท่านอยากจะถ่ายภาพแบบสบายตัวกันบ้าง กล้องตัวเลนส์ตัวจบ ไม่ต้องไปแก่งแย่งตำแหน่งดีๆ กับตากล้องอีกเยอะแยะมากมาย โดยเฉพาะในจังหวะที่มีการโชว์โฉมพริตตี้แบบเป็นกลุ่มซึ่งด้านหน้าพวกเธอจะเต็มไปด้วยกล้อง เลนส์ แฟลช และกองทัพคนหลังกล้องที่ดูราวกับการทำข่าวนางงามในเวทีประกวดใหญ่นั่นเลยทีเดียว

ถ้าคุณคิดแบบนั้นก็ลองมาดูวิธีของผมบ้างครับ กล้องตัวเลนส์ตัว แฟลชไม่ต้อง รีแฟลกซ์ไม่มี ส่องไกลในแบบ Candid สถานเดียว

6หากเราอยู่ที่ด้านหน้าก็จะได้ภาพแบบที่มีแสงตรงๆ ตามปกติทั่วไป ในขณะที่หากเราย้ายมาด้านข้างก็จะได้แสงกึ่งๆ ริมไลท์ช่วยเพิ่มมิติให้กับตัวแบบได้ด้วย กล้อง Canon EOS 6D, Lens Tamron SP AF70-300mm F/4-5.6 Di VC US

แสง  เมื่อจะถ่ายภาพเราก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของแสงเข้าไว้ก่อน งานแสดงรถยนต์หรือแสดงสินค้าแบบนี้มักจะอัดแสงไฟสปอตไลท์กันลงมาหนักๆ เพื่อให้สินค้าโดดเด่นสะดุดตา ไม่ผิดเลยครับสำหรับการมองด้วยตาเปล่าแล้วทุกอย่างจะสว่างไสวสวยงามกับแสงลักษณะนี้ แต่สำหรับการถ่ายภาพนิ่งแล้วละก็แสงแบบนี้จะสร้าง “เงา” แข็งๆ บนใบหน้าซึ่งมันจะลดความงดงามลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ ช่างภาพจึงต้องใช้แฟลชพร้อมอุปกรณ์เสริมตั้งแต่พื้นๆ ไปจนถึงระดับมโหระทึกเพื่อเปิดเงาเหล่านั้น จะอลังการขนาดไหนก็ว่ากันไปตามถนัด

งานนี้ผมไม่ใช้แฟลช ดังนั้นจึงต้องหาวิธีดึงเอาประโยชน์จากแสงและสิ่งแวดล้อมลักษณะนี้มาใช้  หลีกเลี่ยงจุดอ่อนของมันออกไป และที่สำคัญก็คือไม่มีการกำกับสั่งการใดๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างเป็นเรื่องของมุมมอง จังหวะ และก็โชคชะตาที่อยู่ร่วมกล้องกันในวันนั้น …เราไม่สั่งการคนอื่น แต่ต้องสั่งการตัวเองในการเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ในจุดที่แสงจะส่งผลดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นคือสิ่งที่คุณต้องท่องเอาไว้ให้ขึ้นใจ เพราะผมคิดว่ามันเป็นหัวใจอีกหนึ่งห้องของการถ่ายภาพแบบนี้เลยทีเดียว ดังนั้นหากมีภาพในคอลัมน์นี้ที่น้องๆ มองกล้องส่ง Eye Contact มาละก็ ขอให้รู้เลยครับว่าเป็นเรื่องของ “จังหวะ” จากการรอคอยเท่านั้น

Reflex แวดล้อม  เมื่อแสงลงมาแรง การสะท้อนกลับก็จะแรงพอใช้อยู่เหมือนกัน เทคนิคหนึ่งที่เรามักจะใช้ในการถ่ายภาพบุคคลอยู่เสมอก็คือการใช้แผ่นสะท้อนแสงหรือ Reflex เพื่อช่วยเปิดเงาบนใบหน้าของตัวแบบ ผมอยากให้คุณลองสังเกตดูครับว่าจริงๆ แล้วในงานแบบนี้มี Reflex อยู่ทั่วไปหมด ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือพริตตี้ที่อยู่ตามเค้าน์เตอร์ก็จะมีตัวเค้านเตอร์เองนั่นแหละที่จะช่วยสะท้อนแสงขึ้นมาเปิดเงาบนใบหน้าให้ คุณต้องเลือกมุมที่มันจะส่งผลในเรื่องนี้ให้ดีที่สุด หรือบางท่านก็อาจจะยืนอยู่ด้านข้างของรถ ตัวรถก็จะทำหน้าที่นี้ให้เหมือนกัน ทั้งนี้ก็อยู่ที่สีรถด้วยอีกนั่นแหละว่าจะสะท้อนแสงสีอะไรกลับมาบนตัวแบบบ้าง ในกรณีนี้ถ้าคุณให้พริตตี้ยืนหันหลังให้ตัวรถก็จะไม่ค่อยได้ประโยชน์มากนัก แต่ถ้าระหว่างคุณกับพริตตี้มีตัวรถกั้นอยู่ ฝากระโปรงรถก็จะช่วยทำหน้าที่เป็น Reflex ให้คุณได้ อะไรประมาณนี้

Focus Spot Light นอกจากจะมีสปอตไลท์ที่ทำหน้าที่ให้แสงทั่วไปของบูธแล้ว จะมีสปอตไลท์อีกประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการส่องแสงไฮไลท์ลงมาที่ตัวรถโดยตรงซึ่งก็จะทำให้บริเวณนั้นมีความสว่างมากเป็นพิเศษ และก็แน่นอนครับว่าตรงตำแหน่งนั้นมักจะมีน้องพริตตี้ยืนประจำการในแอ๊คชั่นเท่ๆ อยู่ด้วยเสมอ คุณก็ต้องเคลื่อนตัวหาตำแหน่งไปเพื่อให้องศาหน้ากล้องอยู่ในมุมที่แสงดูดี องค์ประกอบภาพดูดี วัดแสงปรับตั้งค่าเอาไว้ ลองถ่ายภาพแล้วก็รอจังหวะที่ดีที่สุด คุณอาจต้องรอนานหน่อยครับถ้าส่องมาจากระยะไกล เพราะจะมีผู้คนเคลื่อนตัดหน้ากล้องอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อสบช่องแล้วภาพสวยๆ ก็จะเป็นของคุณแน่ และถ้าโชคดีมากพอก็จะได้ Eye Contact แบบที่ไม่ต้องไปแย่งชิงกับคนอื่นซะด้วย

ข้อดีอีกอย่างของการถ่ายภาพจากระยะไกลก็คือคุณมีโอกาสที่จะได้ภาพในสีหน้าสบายๆ เป็นธรรมชาติเสียด้วยนะครับ มันก็เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมนุษย์รู้ว่าไม่ได้มีกล้องมาเล็งอยู่ตรงหน้าแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเก็กหน้าเยอะแยะ ซึ่งในความเห็นของผมแล้วพริตตี้หลายๆ ท่านกับสีหน้าแบบเป็นธรรมชาตินี่แหละสวยน่ารักมากกว่าเสียอีก

Group-1
A : ไฟสปอตไลท์จากด้านบนนี่แหละครับที่จะทำให้เกิดเงาบนใบหน้าได้ น้องพริตตี้ทีทำผมในลักษณะที่เอื้อต่อการเกิดเงาบนใบหน้าก็อาจจะเป็นอุปสรรคกับวิธีของเราอยู่สักหน่อย ซึ่งโดยทั่วไปก็จะใช้แฟลชเปิดเงากันนั่นเอง กล้อง Canon EOS 6D, Lens : Tamron SP AF70-300mm. F/4-5.6 Di VC USD, @300mm, f/5.6, 1/90Sec., ISO 800

B : น้องคนนี้นั่งอยู่ที่เค้าน์เตอร์สีขาวซึ่งมันช่วยสะท้อนแสงขึ้นมาช่วยเปิดเงาบนใบหน้าได้ สังเกตดูจากเงาสะท้อนในดวงตาครับ กล้อง Canon EOS 6D, Lens Tamron SP AF70-300mm F/4-5.6 Di VC USD, @300mm., f/5.6, 1/90Sec., ISO 640

C : คุณน้องท่านนี้ยืนอยู่ในตำแหน่งแสงไฟสปอตไลท์โฟกัสจากด้านบน ผมยืนห่างออกมาเกือบสิบเมตรเห็นจะได้ กดไปหลายภาพแต่ภาพนี้เป็นจังหวะที่น้องเขามองมาทางกล้องพอดีกล้อง Canon EOS 6D, Lens Tamron SP AF70-300mm F/4-5.6 Di VC USD, @300mm., f/5.6, 1/125Sec., ISO 800

Rim Light บางทีอาจจะเป็นเพราะเรามัวแต่สนใจอยู่กับการถ่ายภาพด้านหน้านี่แหละครับก็เลยอาจจะทำให้ไม่ทันมองเห็นว่ามันมีทิศทางอื่นที่ให้แสงสวยๆ ได้เหมือนกัน อย่างเช่นแสงประเภท “ริมไลท์” ที่จะช่วยขับเน้นโครงร่างของตัวแบบซึ่งเรามักจะไม่ค่อยได้เห็นในภาพถ่ายแนวนี้สักเท่าไหร่นัก อันที่จริงแล้วแสงที่ส่องลักษณะนี้มีอยู่ตลอดเวลาทั่วไปหมดนั่นแหละครับ น้องๆ พริตตี้เองก็ไม่ได้รู้ถึงเรื่องนี้หรอก มีก็แต่เรานี่แหละที่จะต้องเคลื่อนตัวเองเพื่อหมุนไปหามุมแสงที่ว่านี้ บางทีมันอาจจะอยู่ด้านข้าง ด้านหลัง ซึ่งต้องอาศัยแข้งขาของเราเดินหาดู หรือบางทีเราอาจจะต้องไปรออยู่ในมุมนั้นล่วงหน้าแล้วรอจังหวะให้น้องพริตตี้เดินมาเข้าตำแหน่งตรงนั้น พอได้จังหวะก็กดเลย ถ้าจะเล่นมุมแสงแนวนี้ก็ต้องสังเกตด้านหลังด้วยครับว่าอย่าให้มันสว่างเป็นแสงขาว เพราะไม่อย่างนั้นแล้วริมไลท์ก็จะถูกกลืนหายไปหมด ฉากหลังควรจะต้องเข้มๆ สักหน่อยถึงจะดี

Back-lit Light อันนี้ก็อาจจะคล้ายๆ แสงริมไลท์ แต่คราวนี้จะเน้นไปที่เรื่องของ “เส้นผม” โดยเฉพาะแสงบางดวงในบูธก็จะอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างต่ำเพื่อยิงแสงขนานพื้นเข้ามาในบูธ หากว่าระหว่างเรากับแสงนั้นมีน้องพริตตี้อยู่ระหว่างกลาง เราก็เบี่ยงมุมกล้องให้ส่วนศรีษะของน้องเขาอยู่ในตำแหน่งที่บังดวงไฟ ซึ่งก็จะเกิดแสงไฮไลท์เน้นที่เส้นผมดูสวยงาม และปกติน้องๆ เขาก็จะทำผมกันมาสวยเช้งอยู่แล้ว แถมด้วยผมที่เป็นสีสันที่เมื่อโดนแสงไฟแบบย้อนทิศทางเข้าหน้ากล้องแบบนี้เข้าไปแล้วมันก็จะยิ่งดูดีเข้าไปใหญ่เลย อันนั้นก็จะเป็นแบบบังแหล่งแสงมิดโดยปล่อยให้แสงส่องลอดมาตามเส้นผมเท่านั้น

อีกแบบนึงสำหรับมุมภาพชนิดนี้ก็คือปล่อยให้มีแหล่งแสงสว่างจ้าเข้าหากล้องโดยตรงแต่หมิ่นๆ กับตัวแบบสักหน่อย เป็นที่รู้กันครับว่าโดยปกติแล้วสายตาของคนดูภาพมักจะถูกดึงเข้าไปที่ส่วนสว่างที่สุดของภาพก่อน เราก็ใช้แหล่งแสงสว่างๆ นี่แหละเป็นตัวดึงสายตาก่อนเลย แต่ก็ต้องระวังสักนิดนึงนะครับ เพราะถ้าถ่ายภาพแบบนี้นานเกินไปก็อาจจะทำให้สายตาพร่ามัวได้เหมือนกัน

Group-2D : ตำแหน่งการยืนแบบนี้จะช่วยให้แสงตกกระทบที่ฝากระโปรงรถสะท้อนขึ้นมาช่วยเปิดเงาบนใบหน้าได้เช่นกัน กล้อง Canon EOS 6D, Lens Tamron SP AF70-300mm F/4-5.6 Di VC USD, @300mm., f/5.6, 1/90Sec., ISO 800

E : เปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นประโยชน์ด้วยการใช้แหล่งแสงจ้าดึงสายตาเข้าหาตัวแบบ ภาพลักษณะนี้ได้อารมณ์ของแสงสีเวทีดีอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ควรจะถ่ายภาพแบบนี้นานเกินไป เพราะอาจทำอันตรายต่อสายตาของเราได้ กล้อง Canon EOS 6D, Lens Tamron SP AF70-300mm F/4-5.6 Di VC USD, @300mm., f/5.6, 1/90Sec., ISO 800

F : โดยภาษาพูดแล้วเราอาจจะเรียกแสงลักษณะนี้ว่า “แสงหยอด” ซึ่งมันช่วยทำให้ตัวแบบดูโดดเด่นได้ดี ภาพนี้ทำให้เราเห็นสีหน้าอันเป็นธรรมชาติในอีกมุมหนึ่งด้วยประโยชน์จากการถ่ายภาพในระยะไกลแบบ Candid กล้อง Canon EOS 6D • Tamron SP AF70-300mm F/4-5.6 Di VC USD • @300mm • F/5.6 • 1/90 • ISO 800

G : เมื่อด้านหลังของส่วนศรีษะมีแสงส่องเข้ามาโดยตรงก็จะช่วยทำให้เกิดแสงริมไลท์ที่ส่วนโครงใบหน้าและมีแสงไฮไลท์ที่เส้นผม ซึ่งผมว่ามันทำให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจดี กล้อง Canon EOS 6D, Lens Tamron SP AF70-300mm F/4-5.6 Di VC USD, @300mm., f/5.6, 1/90Sec., ISO 800

ทั้งหมดนั่นคือวิธีการและเทคนิคอย่างคร่าวๆ ในการใช้ประโยชน์จากแหล่งแสงลักษณะนี้ครับ บางทีเราอาจจะพะวงกับการใช้แฟลชมากเกินไปจนไม่ได้วิเคราะห์ลักษณะของแสงในสภาพแวดล้อมให้ดีเสียก่อน ผมคิดว่าจริงๆ แล้วนั่นควรจะเป็นขั้นตอนที่เราควรจะทำเป็นอันดับแรกเสียด้วยซ้ำไป ซึ่งบางทีเราอาจจะไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอะไรให้มากมายเลยก็ยังได้

อย่างไรก็ตามที่ผมเอามาเล่าให้ฟังนี้มิใช่จะต่อต้านการใช้อุปกรณ์เสริมใดๆ นะครับ เป็นเพียงประสบการณ์ในอีกแง่มุมหนึ่งที่จะบอกเล่าให้คุณฟังว่าเราก็สามารถถ่ายภาพสวยๆ ได้เหมือนกันแม้ว่าจะมีแค่อุปกรณ์ระดับพื้นฐาน แต่ต้องอาศัยวิธีคิดและก็มุมมองแบบช่างภาพกันให้เยอะสักหน่อย

ผมแนะนำว่าเมื่อไปถึงสถานที่นั้นๆ แล้วขอให้คุณใช้เวลาสักนิดเพื่อวิเคราะห์ถึงสภาพแสงแวดล้อมเสียก่อน ตอบตัวเองให้ได้ว่าที่นี่มีอะไร ขาดอะไร ควรเสริมอะไร มองหาแหล่งแสงที่มีแล้วคิดดูว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้บ้าง ข้อดีคืออะไร ข้อเสียคืออะไร และอย่าลืมว่าควรต้องขยันเคลื่อนย้ายตัวเองเพื่อมุมภาพและมุมแสงด้วยสายตาของการถ่ายภาพจริงๆ เพราะในจุดที่เราคาดไม่ถึงก็มักจะมีสิ่งที่คาดไม่ถึงซ่อนอยู่ด้วยเหมือนกัน

เห็นไหมครับว่าหากเรารู้จักใช้มุมมองของแสงให้เกิดประโยชน์ เคลื่อนไหวตัวเองให้ไปอยู่ในตำแหน่งแสงดีๆ วิเคราะห์สภาพแสงรอบด้านให้ออกแล้วดึงประโยชน์จากมันขึ้นมาให้ได้คุณก็มีโอกาสที่จะได้ภาพดีๆ โดยที่ไม่ต้องเบียดเสียดเยียดยัดอยู่กับมุมด้านหน้าในสไตล์มหาชนเสมอไป ในทางกลับกันมันอาจจะยิ่งทำให้คุณมีภาพจากมุมที่แตกต่างจากของคนอื่นๆ ที่เกือบๆ จะร้อยเปอร์เซนต์ต้องเป็นภาพด้านหน้าหรือไม่ก็ภาพหน้าตรง ซึ่งแน่ละครับว่าภาพหน้าตรงนั้นปลอดภัยต่อการถ่ายภาพแบบนี้แน่ แต่ก็ใช่ว่าภาพซึ่งต่างจากมุมหน้าตรงจะถ่ายให้สวยไม่ได้นี่นา เผลอๆ มันอาจจะเป็นมุมที่ดีกว่าหน้าตรงด้วยซ้ำไป

เคล็ดลับสุดท้ายที่จะทิ้งเอาไว้ให้ก็คือ อย่ามัวแต่ตะลึงกับความสวยของน้องพริตตี้จนไม่อาจจะละสายตาจากดวงหน้างามๆ นั้นไปได้เสียล่ะ เพราะมันจะทำให้มุมมองในการวิเคราะห์แสงของคุณลดประสิทธิภาพลงไปเยอะเลยเชียวนะ

… เป็นตากล้องก็ต้องสู้สายตาสยบมารให้ได้ครับ ฮ่าๆ.

เรื่อง/ภาพ : ปิยะฉัตร แกหลง