BASIC

How to Photograph Kid

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพเด็กซึ่งมีทั้งเรื่องทางเทคนิคการถ่ายภาพรวมทั้งเทคนิคทางจิตวิทยาที่สามารถนำไปใช้ได้ตั้งแต่ผู้เริ่มต้นถ่ายภาพที่อาจยังไม่มีประสบการณ์ถ่ายภาพมากนัก แต่แน่นอนว่าเมื่อซื้อกล้องมาแล้วหนึ่งในวัตถุที่ผู้เป็นพ่อหรือแม่อยากถ่ายภาพคือลูกของตนเอง และอยากให้ภาพนั้นออกมาดูดี โดยหลายคำแนะนำไม่ได้จำกัดว่าจะต้องใช้กล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ถ่ายภาพ แต่สามารถใช้ไม่ว่าจะเป็นกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลหรือแม้แต่สมาร์ทโฟน

ทำให้คุ้นเคยกับกล้อง
แม้แต่ผู้ใหญ่เองเมื่อมีกล้องถ่ายภาพเล็งมาก็ยังทำให้รู้สึกอึดอัด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กจะแสดงท่าทางไม่เป็นธรรมชาติเมื่อเล็งกล้องไปยังพวกเขา ดังนั้นเมื่อถ่ายภาพเด็กนักถ่ายภาพจึงควรใช้เวลาและมีความอดทน ซึ่งการยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพบ่อยๆ ก็จะทำให้พวกเขาคุ้นเคยขึ้น แล้วหลังจากนั้นก็จะลืมไปว่ามีกล้องอยู่ตรงนั้นและกำลังถูกถ่ายภาพอยู่ซึ่งจะทำให้ได้ภาพที่เป็นธรรมชาติ สิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่ที่อยากได้ภาพสวยๆ และมีคุณภาพสูงของลูกคือควรมีกล้องอยู่กับตัวเสมอดังนั้นจึงควรพยายามทำให้มีนํ้าหนักเบาและเล็กที่สุด โดยลืมขาตั้งกล้องและการเปลี่ยนเลนส์ไปได้เลยเมื่อออกไปท่องเที่ยวพร้อมลูก แล้วเน้นกับการใช้อุปกรณ์จำนวนน้อยแทน

โฟกัสที่ตา
ควรปรับเลือกจุดโฟกัสที่จะโฟกัสไปยังตาของเด็กเมื่อใช้โหมดบันทึกภาพที่สามารถเลือกพื้นที่โฟกัสเองได้ซึ่งจะให้ความเร็วในการถ่ายภาพมากกว่าการเลือกใช้กรอบโฟกัสกลางภาพแล้วล็อกโฟกัสแม้กรอบโฟกัสกลางภาพจะมีความแม่นยำกว่าก็ตาม โดยหากเด็กที่ถ่ายภาพไม่ได้หันหน้ามาทางกล้องตรงๆ ก็ควรโฟกัสยังจุดที่ใกล้ตามากที่สุด เพราะตาเป็นสิ่งที่จะต้องมีความคมชัดสูงสุดเนื่องจากเป็นสิ่งที่ดึงดูดสายตาของผู้ดูภาพและทำให้ภาพดูน่าสนใจ หากอยากให้ตาของเด็กที่ถ่ายภาพมีความโดดเด่นมากขึ้นควรพยายามให้เกิดประกายในดวงตา ซึ่งวิธีหนึ่งที่รับประกันถึงสิ่งนี้ได้คือการให้แสงตกบนใบหน้าของเด็กเพื่อทำให้ดวงตามีชีวิตชีวามากขึ้น

ถ่ายภาพที่ระดับเดียวกับเด็ก
คำแนะนำง่ายๆ ที่จะช่วยให้ภาพเด็กดูดีขึ้นมาทันที คือการพยายามที่จะถ่ายภาพเด็กในระดับตาของพวกเขา ไม่ว่าจะต้องย่อตัวลง หรือนอนกับพื้นก็ตาม โดยหากถ่ายภาพเด็กมากกว่าหนึ่งคนควรถ่ายภาพในระดับความสูงเดียวกับเด็กที่สูงที่สุดนอกจากว่าเด็กจะมีความสูงแตกต่างกันมาก นอกจากนี้นักถ่ายภาพยังสามารถสร้างมุมมองที่แปลกตาในการเพิ่มขนาดของเด็กในภาพให้ดูใหญากว่าปกติได้ด้วยการถ่ายภาพในมุมตํ่ากว่าระดับสายตาของเด็กแล้วถ่ายภาพโดยเงยกล้องขึ้น เพราะภาพที่น่าสนใจมักเป็นภาพที่แสดงให้ผู้ดูภาพเห็นในสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน หรือบางสิ่งจากมุมที่ไม่ใช่มุมมองปกติ

ถ่ายภาพทุกสิ่ง
เมื่อถ่ายภาพเด็กอย่าลดกล้องลงในขณะที่กำลังเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเป่าเทียนวันเกิดหรือขณะเปิดกล่องของขวัญ แต่ควรถ่ายภาพในช่วงจังหวะเวลานั้นให้มาก เพราะในช่วงเวลาลักษณะนี้เด็กมักจะแสดงลักษณะหรือตัวตนจริงๆ ของพวกเขาออกมา ซึ่งจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับพ่อแม่เมื่อเวลาผ่านไป รวมไปถึงควรถ่ายภาพ Candid เก็บไว้ด้วยเสมอนอกจากการถ่ายภาพเมื่อมีเหตุการสำคัญอย่างการแสดงบนเวที เล่นกีฬา หรือเมื่อท่องเที่ยว

ทำให้ใบหน้าเป็นส่วนสว่างที่สุดของภาพ
แม้คำแนะนำนี้อาจไม่ใช่สำหรับทุกสถานการณ์ แต่ก็ใช้ได้ดรกับสถานการณ์ส่วนใหญ่ ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงควรพยายามและทำให้แน่ใจว่าใบหน้าของเด็กคือส่วนที่สว่างที่สุดของภาพ ซึ่งอาจทำได้ด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการขยับตัวเองจนมุมภ่ายภาพมีกำแพงหรือผนังสีเข้มเป็นฉากหลังของเด็กแทนท้องฟ้าที่สว่างจนเป็นสีขาวไม่มีรายละเอียด หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรเลือกฉากหลังที่มีความสว่างน้อยกว่าใบหน้าของเด็ก ซึ่งเมื่อบันทึกภาพอาจใช้วิธีวัดแสงที่ใบหน้าของเด็กแล้วปรับค่าบันทึกภาพหรือชดเชยแสงจนกระทั่งใบหน้ามีความสว่าง

ถ่ายภาพในลักษณะแอบถ่าย
หากมีเวลาถ่ายภาพไม่มากจนทำให้เด็กที่ถูกถ่ายภาพมีความคุ้นเคยกับกล้อง ลองใช้วิธีถ่ายภาพในลักษณะเหมือนแอบถ่ายภาพกับเด็กๆ หรือถ่ายภาพโดยไม่ได้ยกกล้องขึ้นมาที่ระดับสายตา โดยดูภาพแบบ Live View ที่จอ LCD ด้านหลังกล้องแทนโดยพลิกจอ LCD ด้านหลังขึ้นเพื่อช่วยให้ดูภาพได้ถนัดขึ้นหากใช้กล้องที่สามารถปรับจอ LCD ได้ โดยการถือกล้องในระดับอกในระยะห่างจากเด็กสักหน่อยพร้อมกับพูดคุยกับเด็กไปด้วยจะทำให้เด็กที่มองมายังนักถ่ายภาพเหมือนกำลังมองมาที่กล้อง

ให้เด็กเห็นหน้าของนักถ่ายภาพ
คำแนะนำนี้ไม่ต่างกับด้านบน เพราะการมีวัตถุสีดำขนาดใหญ่บังหน้านักถ่ายภาพอยู่อาจไม่ใช่วิธีที่ดีในการทำให้การตอบสนองของเด็กเป็นธรรมชาติ ดังนั้นควรลองถ่ายภาพโดยที่กล้องอยู่ในตำแหน่งตํ่ากว่าใบหน้าเล็กน้อย ซึ่งบางครั้งเด็กที่กำลังถ่ายภาพอาจสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแสดงอารมณ์นั้นออกมาซึ่งจะทำให้ได้ภาพที่ดี

เลือกฉากหลังเรียบๆ
โดยปกติแล้วเสื้อผ้าที่เด็กใส่มักเต็มไปด้วยสีสันหรือเป็นเสื้อที่มีลวดลายต่างๆ จึงควรพยายามเลือกใช้ฉากหลังที่ไม่มีความรกและระวังว่าจะไม่มีกิ่งไม้หรือเสาไฟฟ้าโผล่เข้ามาซ้อนในตัวเด็กที่ฉากหลัง

ตาของเด็กในภาพ
หากมีเด็กสองคนในภาพ หนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยเพิ่มความน่าสนใจหรือเรื่องราวในภาพได้คือให้เด็กที่มีอายุมากกว่ามองไปยังเด็กที่อายุน้อยกว่า เพราะจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในภาพได้มากกว่าการที่เด็กทังสองคนมองมายังกล้อง หรือหากมีเด็กที่อายุมากสองคนในภาพควรลองให้เด็กทั้งสองคนมองไปยังเด็กที่เล็กกว่า อย่างไรก็ตามควรให้ศีรษะของเด็กอยู่ใกล้กันซึ่งอาจต้องให้เด็กที่สูงกว่าย่อตัวลงสักหน่อย

โหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง
หากกล้องที่ใช้มีโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องที่เร็ว ควรใช้โหมดนี้เมื่อถ่ายภาพเด็ก โดยเฉพาะเมื่อถ่ายภาพโดยใช้สองคำแนะนำข้างต้นที่ไม่ได้ยกกล้องขึ้นมาแนบกับตาซึ่งมักจะทำให้มีภาพที่เสียจำนวนมากเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้ภาพที่ดีมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการถ่ายภาพดิจิตอลซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกลัวที่จะถ่ายภาพจำนวนมากหากอยากได้ภาพที่พิเศษในช่วงเวลานั้น เนื่องจากการถ่ายภาพเด็กเป็นหนึ่งในวัตถุที่คาดเดาไม่ได้และเคลื่อนที่รวดเร็ว ดังนั้นการถ่ายภาพจำนวนมากจึงเป็นหนึ่งในวิธีเพิ่มโอกาสได้ภาพที่ดีมากขึ้น และควรคัดภาพที่ไม่ต้องการออกหลังจากโหลดภาพทั้งหมดลงคอมพิวเตอร์แล้ว เพื่อป้องกันการลบภาพที่ดีทิ้งไป

อย่ากลัวที่จะครอปภาพ
การครอปในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำในคอมพิวเตอร์หลังถ่ายภาพ แต่เป็นการครอปตั้งแต่ถ่ายภาพ โดยอย่ากลัวที่จะตัดบางส่วนของลำตัวหรือใบหน้าของเด็กที่ถ่ายภาพออกจากเฟรมหากจะช่วยให้สายตาของผู้ดูภาพไปสู่สิ่งที่สำคัญในภาพได้ สำหรับผู้เริ่มถ่ายภาพรวมทั้งพ่อแม่ที่ถ่ายภาพลูกตัวเองที่มักจจะถ่ายภาพโดยรวมส่วนเท้าหรือพื้นเข้าไปในภาพด้วยอาจรู้สึกแปลกที่จะตัดส่วนขาออกในภาพ แต่ด้วยการครอปภาพอย่างเหมาะสมนักถ่ายภาพจะสามารถเติมเต็มภาพมากกว่าสิ่งที่หายไปได้โดยเฉพาะเมื่อถ่ายภาพภาพเด็ก ดังนั้นเมื่อถ่ายภาพเด็กอย่ากลัวที่จะเข้าไปใกล้ให้มากขึ้นหรือปรับซูมไปที่ทางยาวโฟกัสมากขึ้นเพื่อครอปบางส่วนของร่างกายออก หรือแม้แต่จะถ่ายภาพเน้นใบหน้าจนเกือบเต็มเฟรม

หาแสงที่ดี
นี่คือคำแนะนำที่สามารถใช้ได้กับการถ่ายภาพทุกสิ่ง โดยกับการถ่ายภาพเด็กวิธีง่ายๆ ก็คือการพยายามใช้แสงธรรมชาติให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งหมายถึงหากเป็นการถ่ายภาพในอาคารหรือในห้องควรให้เด็กอยู่ใก้ลกับหน้าต่าง หรืออาจปิดไฟในห้องหากเป็นการถ่ายภาพในช่วงเวลากลางวันที่มีแสงมาก อย่างไรก็ตามหากเป็นการถ่ายภาพ Candid ก็อาจไม่สามารถให้เด็กอยู่ใก้ลกับหน้าต่างที่มีแสงที่ดีได้เสมอไป ซึ่งวิธีแก้ไขคือการบอกให้เด็กหรือพาเด็กไปยังตำแหน่งที่มีแสงที่ดีกว่าแล้วถ่ายภาพก็จะช่วยให้ได้ภาพที่น่าพอใจกว่าการถ่ายภาพในสภาพแสงที่ไม่ดี

คำว่าแสงที่ดีสามารถหมายถึงแสงที่น่าสนใจได้ด้วย ดังนั้นจึงควรสังเกตดูแสงซึ่งอาจผ่านเข้าในในช่องเล็กๆ บนพื้นที่ที่มืดซึ่งสามารถใช้เพื่อสร้างความเด่นให้กับเด็กได้ ซึ่งกับการถ่ายภาพในแสงลักษณะนี้การใช้โหมดบันทึกภาพแมนนวลของกล้องจะสามารถช่วยป้องกันความผิดพลาดในเรื่องการวัดแสงได้เพื่อเน้นส่วนที่ได้รับแสงและฉากหลังที่มืดกว่าเป็นสีดำหรือสีเข้ม หรือหากใช้โหมดบันทึกภาพอัตโนมัติถ่ายภาพ ก็อาจใช้การชดเชยแสงช่วยโดยการปรับชดเชยแสงให้อันเดอร์จนได้ภาพที่ต้องการ

อย่างไรก็ตามแสงธรรมชาติในบางช่วงเวลาจะทำให้มีเงาที่แข็งซึ่งปกติแล้วแสงที่แข็งมักเป็นช่วงกลางวันหรือตอนที่แสงจากดวงอาทิตย์มีความแรงอยู่เหนือศีรษะ หากเลี่ยงการถ่ายภาพกลางแจ้งในสถานการณ์แสงลักษณะนี้ไม่ได้ก็ควรให้เด็กวิ่งเล่นอยู่ในบริเวณใต้เงาของต้นไม้ซึ่งจะทำให้แสงมีความนุ่มขึ้นและให้ภาพที่ดีกว่า

พูดคุยกับเด็ก
นี่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเมื่อถ่ายภาพผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีที่ดีกับเด็กยเพื่อช่วยให้ได้ภาพที่ดีขึ้นด้วยโดยเฉพาะกับเด็กเล็ก โดยควรลองถามคำถามพวกเขาแล้วรอจนพวกเขาเริ่มตอบคำถามจึงยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพหรืออาจจะถ่ายภาพขณะที่กล้องอยู่ในระดับเอวหรืออก เมื่อเด็กพูดหรือคิดพวกเขาจะหันเหความสนใจไปจากกล้องซึ่งจะทำให้สามารถถ่ายภาพที่ดูเป็นธรรมชาติ หรืออาจเป็นภาพเด็กที่ดูเบื่อจริงๆ

เวลาเป็นสิ่งสำคัญ
ผู้ที่เป็นพ่อหรือแม่จะรู้ว่าเมื่อใดที่เด็กจะมีความสุขหรืออารมณ์ดีที่สุด ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงมีประโยชน์เมื่อถ่ายภาพลูกตนเองเท่านั้น แต่ยังใช้กับเด็กในวัยเดียวกันได้ด้วย เช่นหลังตื่นจากการนอน หลังการทานอาหารว่าง หรือในขณะเล่นของเล่นโปรด ดังนั้นจึงควรเลือกเวลาถ่ายภาพให้เหมาะสมเพื่อจะสามารถบันทึกภาพเด็กที่ดูมีความสุขอย่างเป็นธรรมชาติได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกให้ยิ้ม นอกจากนี้การที่เด็กสนใจของเล่นหรือกิจกรรมบางอย่างอยู่จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ Candid เด็กที่กำลังสนุกได้โดยไม่สนใจกล้อง

ไม่จำเป็นต้องยิ้ม
การบอกให้ยิ้มหรือคำพูดต่างๆ ที่เมื่อพูดออกมาแล้วดูเหมือนยิ้มไม่ควรอยู่ในหัวของนักถ่ายภาพ หากเด็กที่ถ่ายภาพไม่ยิ้มแย้มก็ไม่ต้องกังวลแต่ควรถ่ายภาพต่อไป เพราะควรแสดงภาพของเด็กที่ดูเป็นปกติของเขาไม่ใช่ในแบบที่ถูกบอกให้ดูฝืนยิ้มด้วยคำพูดต่างๆ แต่หากอยากได้ภาพเด็กที่ยิ้มแย้มจริงๆ นักถ่ายภาพก็ควรทำให้พวกเขายิ้มโดยการพูดคุยถึงสิ่งที่เด็กๆ ชอบไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ขนม รายการโทรทัศน์ที่พวกเขาชื่นชอบ หรือแม้แต่พูดเรื่องตลกให้หัวเราะ

ใช้องค์ประกออบภาพให้มีประโยชน์
องค์ประกอบภาพเป็นส่วนสำคัญของภาพโดยมีคำแแนะนำเกี่ยวกับองค์ประกอบภาพมากมายให้ใช้ รวมทั้งทำในสิ่งตรงกันข้าม โดยวิธีง่ายๆ ในการจัดองค์ประกอบภาพให้น่าสนใจเมื่อถ่ายภาพเด็กก็ไม่แตกต่างจากเมื่อถ่ายภาพอื่นคือการไม่วางตำแหน่งของเด็กไว้ที่กลางภาพ ซึ่งหากจะชี้ให้ชัดเจนก็คือใช้กฏสามส่วนในการจัดองค์ประกอบภาพหรือวางตำแหน่งเด็กในภาพไว้บนเส้นที่ตัดกันเพื่อแบ่งเฟรมเป็นสามส่วน

มีผู้ช่วย
หากเป็นไปได้ควรหาผู้ช่วยโดยให้ยืนอยู่ด้านหลังตัวนักถ่ายภาพ ในระดับเดียวกับนักถ่ายภาพหรือระดับสายตาของเด็ก ซึ่งหากเป็นการถ่ายภาพเด็กที่ไม่ใช่ลูกของตนเองการให้แม่หรือของเด็กยืนหรือหมอบอยู่หลังตัวนักถ่ายภาพและให้พวกเขาเรียกชื่อเด็ก พูดบางอย่างที่สนุก ทำให้เกิดเสียง หรือสิ่งที่จะทำให้เกิดความสนใจจะเป็นสิ่งที่ช่วยได้ในการถ่ายภาพ

เปลี่ยนมุมมอง
นอกจากการก้มหรือย่อตัวลงเพื่อถ่ายภาพในระดับสายตาของเด็กแล้ว เพื่อสร้างความแตกต่างและความหลากหลายให้กับภาพนักถ่ายภาพก็ควรใช้มุมถ่ายภาพที่แตกต่างจากปกติด้วย เช่นการถ่ายภาพเด็กจากมุมสูงจะช่วยสร้างความน่าสนใจจากเพอร์สเปกทีฟของภาพโดยเฉพาะภาพเด็กเล็กที่นอนหงายจากมุมสูง ซึ่งหากกล้องที่ใช้สามารถปรับเอียงจอ LCD ได้จะช่วยให้ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น โดยนอกจากเฉพาะเด็กแล้วอาจมีบางส่วนของร่างกายผู้เป็นแม่หรือพ่ออยู่ในภาพด้วยซึ่งจะเป็นการเพิ่มเรื่องราวในภาพมากขึ้น

ใช้สเกล
นอกจากใช้มุมมองที่หลากหลายถ่ายภาพแล้ว การถ่ายภาพโดยที่เด็กมีขนาดเล็กในภาพหรือเล็กเมื่อเทียบกับสิ่งของอื่นในภาพจะสร้างความสนุกและความน่าสนใจให้แก่ภาพได้ ซึ่งวิธีการถ่ายภาพลักษณะนี้สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการให้เด็กอยู่บนโซฟาขนาดใหญ่, ให้เด็กใส่รองเท้าของผู้ใหญ่ หรือถอยหลังออกให้มากขึ้นเพื่อถ่ายภาพจากระยะไกลขึ้นโดยมีวัตถุขนาดใหญ่เป็นฉากหลัง

เข้าใกล้มากขึ้น
คำแนะนำนี้มักถูกใช้กับการถ่ายภาพหลายประเภท และเป็นหนึ่งสิ่งที่สามารถสร้างความแตกต่างระหว่างภาพที่ดีกับภาพที่ยอดเยี่ยมได้ เมื่อถ่ายภาพเด็กถ้าไม่จำเป็นที่จะต้องซูมก็ไม่ควรไปแตะต้องวงแหวนซูม แต่ควรซูมด้วยการเดินแทนเพื่อทำให้เข้าใกล้พอที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กได้ ดังนั้นหากครั้งต่อไปที่ถ่ายภาพแทนการทำให้ขนาดของเด็กที่ปรากฏในภาพแตกต่างกันด้วยการซูม ลองใช้วิธีขยับเข้าใกล้ให้มากขึ้นแล้วจะเห็นถึงความแตกต่างที่ปรากฏ แต่อย่างไรก็ตามหากเลนส์ที่ใช้เป็นช่วงมุมกว้างหรือทางยาวโฟกัสน้อยกว่า 35 มม. เมื่อขยับเข้าไปถ่ายภาพในระยะใกล้ควรเลี่ยงการวางตำแหน่งของเด็กไว้ที่ขอบภาพเพื่อเลี่ยงดิสทอร์ชั่นจากเลนส์

ไม่ต้องเห็นหน้าเสมอไป
นักถ่ายภาพไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพเด็กจากด้านหน้าหรือด้านข้างเสมอไป ควรถ่ายภาพโดยมีภาพที่หลากหลายขึ้นอย่างภาพที่เด็กกำลังวิ่งออกจากกล้องหรือถ่ายภาพจากด้านหลังด้วย หรือแม้แต่ภาพเด็กที่มีบางสิ่งอย่างหนังสือหรือแก้วนํ้าบังใบหน้า เพราะบางครั้งภาพที่ไม่เห็นใบหน้าก็สามารถเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลในภาพได้

โฟกัสที่บางส่วนของร่างกาย
แม้ภาพมือของเด็กเล็กที่เกาะนิ้วพ่อหรือแม่มักเป็นภาพที่ถ่ายกันมากสำหรับเด็กเล็กในช่วงแรกเกิด แต่ก็ยังเป็นภาพที่ดี นอกจากนี้อย่างกลัวที่จะครอปบางส่วนออกและโฟกัสไปที่มือ ตา หรือเท้า หรือส่วนอื่นของร่างกายที่จะทำให้รู้สึกถึงความน่ารักของเด็กได้ นอกจากนี้การรวมเอามือของพ่อหรือแม่ รวมทั้งวัตถุหรือสิ่งของต่างๆ เข้ามาในภาพจะช่วยแสดงถึงขนาดที่เล็กของอวัยวะนั้นของเด็กซึ่งเป็นการเสริมเรื่องราวในภาพได้

สร้างมิติความลึกในภาพ
นี่คือสิ่งที่ใช้สร้างความน่าสนใจในภาพได้ทุกประเภทรวมทั้งเมื่อถ่ายภาพเด็กด้วย การมีมิติความลึกจากฉากหน้าและฉากหลังจะช่วยสร้างเรื่องราวในภาพได้ ซึ่งนักถ่ายภาพสามารถทำได้โดยการถ่ายภาพผ่านสิ่งที่เป็นฉากหน้า เช่นถ่ายภาพในมุมตํ่าโดยมีหญ้าเป็นฉากหน้าเมื่อเด็กกำลังเล่นในสนามโดยที่โฟกัสไปยังเด็ก นอกจากนี้อีกวิธีที่ใช้สร้างความลึกในภาพคือการใช้บางส่วนของร่างกายผู้อื่นเป็นฉากหน้า เช่นขาของบางคนเมื่อถ่ายภาพเด็กเล็กและอยู่ที่พื้นซึ่งไม่เพียงเป็นการเพิ่มเพอร์สเปคทีฟเพื่อให้รู้ถึงขนาดของเด็กเท่านั้นก็ยังอาจช่วยเสริมเรื่องราวในภาพด้วย รวมไปถึงยังเป็นการสร้างกรอบในภาพเพื่อให้ตาของผู้ดูภาพมองไปยังเด็ก

อย่างไรก็ตามเทคนิคนี้จะต้องใช้ร่วมกับรูรับแสงที่ค่อนข้างกว้างหรือเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงเพื่อให้ฉากหน้าและฉากหลังเบลอซึ่งจะทำให้ผู้ดูภาพโฟกัสไปที่วัตถุหลัก นอกจากนี้การสร้างมิติด้วยฉากหน้าที่เบลอแล้ว นักถ่ายภาพยังสามารถทำให้ผู้ดูภาพรู้สึกถึงความลึกและสนไจที่วัตถุหลักด้วยฉากหน้าที่ได้รับแสงแตกต่างจากวัตถุหลักหรือเป็นเงาดำได้ด้วย

เล่ามากกว่าหนึ่งเรื่องราว
หนึ่งในวิธีที่สร้างความน่าสนใจในภาพได้พร้อมกับการบอกเล่าเรื่องราวในภาพคือการถ่ายทอดสองเรื่องราวในภาพซึ่งจะทำให้ผู้ดูภาพอยู่กับภาพนั้นนานขึ้นเพราะมีมากกว่าเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในภาพเดียว และหากสองเหตุการณ์ในภาพมีความเกี่ยวข้องกันก็จะยิ่งส่งผลดีต่อภาพมากขึ้น ครั้งต่อไปที่ถ่ายภาพเด็กกำลังเล่นของเล่นหลังจากถ่ายภาพแล้วลองถอยหลังออกให้ห่างมากขึ้นเพื่อดูว่าจะสามารถเพิ่มเรื่องราวอะไรลงไปในภาพได้บ้าง เช่นอาจจะเป็นภาพแม่กำลังเตรียมอาหารอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กันเมื่อถ่ายภาพในบ้าน หรือเด็กคนอื่นที่กำลังทำกิจกรรมอื่นอยู่

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic