BASIC

Advantages and Disadvantage 0f High Resolution Camera

หากจะมองไปถึงจุดเริ่มต้นของกล้องถ่ายภาพในฟอร์แมต 35 มม. ที่มีความละเอียดสูงจนโดดเด่นกว่ารุ่นอื่นในตลาดคงต้องเริ่มต้นที่ Nikon D800 ที่มีความละเอียด 36 ล้านพิกเซลซึ่งออกมาในปี 2012 ในขณะที่กล้องที่มีความละเอียดสูงจากผู้ผลิตรายอื่นจะอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านพิกเซล แต่หลังจากนั้นก็มีกล้องที่มีความละเอียดสูงกว่า 30 ล้านพิกเซลตามออกมาอย่าง Sony A7R หรือ Canon EOS 5DS/5DS R ที่มีความละเอียดระดับ 50 ล้านพิกเซล

ทำให้จนกระทั่งปัจจุบันนักถ่ายภาพจะมีทางเลือกมากมายสำหรับกล้องที่มีความละเอียดสูงเกินกว่า 30 ล้านพิกเซล ในขณะที่ความละเอียดระดับ 20 ล้านพิกเซลเป็นความละเอียดมาตรฐานทั่วไปของกล้อง จนอาจทำให้นักถ่ายภาพที่ใช้กล้องที่มีความละเอียดในระดับสิบกว่าล้านพิกเซลเริ่มคันไม้คันมือที่จะอยากขยับความละเอียดของกล้องที่ใช้เพิ่มขึ้นโดยอาจมองข้ามไปยังกล้องที่มีความละเอียดสูงระดับ 40 ถึง 50 ล้านพิกเซลแทนความละเอียดระดับ 20-30 กว่าล้านพิกเซลไปเลย แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมากับกล้องความละเอียดสูงคือคุณภาพของภาพที่สูงขึ้นจากรายละเอียดที่มีขึ้นของภาพตามจำนวนพิกเซล แต่สิ่งหนึ่งที่นักถ่ายภาพบางส่วนอาจคิดไม่ถึงก็คือ เหรียญย่อมมีสองด้าน ดังนั้นพร้อมกับข้อดีต่างๆ ที่มีพร้อมกับความละเอียดที่มากขึ้น ก็ย่อมมีข้อเสียในบางด้านที่ตามมาด้วย ดังนั้นการรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของกล้องความละเอียดสูงเมื่อเทียบกับกล้องความละเอียดตํ่าซึ่งหมายถึงกล้องฟูลเฟรมที่มีจำนวนพิกเซลน้อยกว่า จึงอาจช่วยในการพิจารณาเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อกล้องได้เหมาะสมขึ้น

ภาพ : โบว์ชัวว์ SONY A7lll

ข้อดีของกล้องความละเอียดสูง

ข้อดีหลักที่สุดของกล้องที่มีความละเอียดสูงและเป็นเหตุผลหลักให้นักถ่ายภาพเลือกเปลี่ยนเป็นกล้องความละเอียดสูงคือขนาดภาพที่ใหญ่ขึ้นซึ่งทำให้สามารถนำไปปรินต์ภาพในขนาดใหญ่กว่ากล้องความละเอียดตํ่ากว่าได้ หรือแสดงรายละเอียดขนาดเล็กที่มีความซับซ้อนของภาพบนจอทีวี/มอนิเตอร์ความละเอียดสูงหรือบนเวบไซต์ จากทั้งจอทีวี 4K ซึ่งมีความละเอียดเทียบเท่ากับ 8.3 ล้านพิกเซลและจอมอนิเตอร์ซึ่งกำลังกลายเป็นความอุปกรณ์มาตรฐานตามบ้านหรือจอทีวี 8K ซึ่งมีความละเอียด 33.2 ล้านพิกเซลที่เริ่มมีเข้ามาเป็นทางเลือกทำให้เห็นถึงแนวทางของเทคโนโลยีในอนาคตที่ต้องการกล้องความละเอียดสูงอย่างชัดเจนเมื่อแผนกเครื่องไฟฟ้าแสดงทีวี 4K จะมีการโหลดฟุตเทตพิเศษที่บันทึกด้วยกล้องความละเอียดสูงเพื่อแสดงรายละเอียดเล็กๆ ที่มีความซับซ้อนซึ่งทีวี 4K สามารถแสดงได้ และขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของภาพและฟุตเทตที่ได้จากกล้องความละเอียดสูงโดยอัตโนมัติ

ภาพ : โบว์ชัวว์ SONY A7lll

ประโยชน์ต่อมาของกล้องความละเอียดสูงคือ Down-Sampling ซึ่งเป็นเทคนิคการรีไซส์ที่บางครั้งเรียกว่า Resampling โดยมีพื้นฐานในการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อลดไดเมนชั่นของพิกเซล โดยการ Down-Sampling มีประโยชน์หลายด้าน เพราะส่งผลในการลดสัญญาณรบกวนหรือ Noise และช่วยปกปิดความผิดพลาดในการโฟกัสที่เกิดขึ้นเล็กน้อยได้ หรืออาจบอกได้ว่ากล้องความละเอียดสูงอาจไม่ได้หมายถึงการมีสัญญาณรบกวนในภาพ แต่เมื่อต้องถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย แล้วมีการลดขนาดภาพลงเพื่อปรินต์ในขนาดเดียวกับกล้องความละเอียดตํ่ากว่า สัญญาณรบกวนก็จะลดลงตามไปด้วย

ประโยชน์อีกด้านของกล้องความละเอียดสูงคือ มีทางออกในการครอปภาพมากขึ้น เพราะแม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ควรทำก็ตาม แต่บางครั้งการครอปภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อเน้นวัตถุหลักในภาพจากสิ่งรอบข้าง อย่างภาพสัตว์ป่าหรือภาพกีฬา เพราะนักถ่ายภาพเริ่มต้นด้วยพิกเซลจำนวนมหาศาล จึงทำให้สามารถครอปพื้นที่ของภาพออกมากโดยที่ยังคงเหลือความละเอียดที่สูงในภาพสุดท้ายสำหรับการปรินต์ภาพหรือแสดงภาพคุณภาพสูงได้

จุดด้อยของกล้องความละเอียดสูง

อย่างไรก็ตามยังมีอีกด้านของกล้องความละเอียดสูงซึ่งเป็นจุดด้อยที่นักถ่ายภาพอาจคิดไม่ถึง แต่อาจสร้างความรู้สึกไม่ดีแก่นักถ่ายภาพได้ โดยปัญหาแรกที่นักถ่ายภาพต้องเจอเมื่อเปลี่ยนมาใช้กล้องที่มีความละเอียดสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสูงกว่ากล้องเดิมสองถึงสามเท่าคือ ภาพที่มีจำนวนพิกเซลมากขึ้นและมีขนาดไฟล์โดยรวมใหญ่ขึ้นไม่เพียงต้องการพื้นที่เก็บภาพในการ์ดบันทึกภาพ ฮาร์ดดิสก์ในคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สำรองข้อมูลมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องการกำลังในการโปรเซสส์ไฟล์มากขึ้นด้วย ซึ่งหมายถึงการที่นักถ่ายภาพต้องการคอมพิวเตอร์ที่สามารถรับมือกับไฟล์ภาพขนาดใหญ่ในระดับความเร็วที่ยอมรับได้

ข้อด้อยต่อมาของกล้องความละเอียดสูงเกี่ยวข้องกับการจำกัดความเร็วในการถ่ายภาพและบัฟเฟอร์ของกล้อง เพราะมี Bandwidth และข้อมูลจำนวนมากที่หน่วยประมวลผลภาพต้องจัดการในแต่ละครั้ง

นอกจากนี้กล้องความละเอียดสูงยังต้องการเลนส์คุณภาพสูงที่มีกำลังแยกขยายรายละเอียดได้สูง จึงอาจทำให้เลนส์เดิมที่เคยใช้ไม่สามารถรองรับการใช้งานร่วมด้วยได้ และหากต้องการความคมชัดในระดับพิกเซลเมื่อขยายภาพขึ้นมาดูที่ขนาด 100 เปอร์เซ็นต์นักถ่ายภาพก็จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการโฟกัสรวมไปถึงการสั่นไหว เพราะไม่อย่างนั้นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะแสดงอย่างชัดเจน

ภาพ : โบว์ชัวว์ SONY A7lll

ตัวอย่างลักษณะการถ่ายภาพที่ควรใช้กล้องความละเอียดสูง

  • ภาพทิวทัศน์ เนื่องจากสามารถให้ภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อการปรินต์ภาพขนาดใหญ่กว่าได้โดยที่มีรายละเอียดของภาพมาก ทำให้กล้องความละเอียดสูงจึงมักเป็นทางเลือกของนักถ่ายภาพทิวทัศน์
  • ภาพสถาปัตยกรรม ด้วยเหตุผลเดียวกับภาพทิวทัศน์ทั้งในเรื่องขนาดภาพปรินต์และรายละเอียดในภาพทำให้กล้องความละเอียดสูงเป็นทางเลือกของนักถ่ายภาพลักษณะนี้
  • ภาพมาโคร เนื่องจากภาพมาโครมักเป็นการถ่ายภาพโดยติดกล้องบนขาตั้งกล้อง พยายามควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ ในภาพ และไม่ได้ต้องการความเร็วสูงในการถ่ายภาพต่อเนื่อง รวมทั้งกล้องถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงยังสามารถให้ประโยชน์ในเรื่องการครอปภาพได้เมื่อต้องการ
  • ภาพสตูดิโอ เพราะเป็นการถ่ายภาพที่อยู่ภายใต้การควบคุมทุกด้าน และยังต้องการคุณภาพสูงสุดเพื่อการปรินต์ภาพ กล้องความละเอียดสูงจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

ข้อดีและข้อเสียของกล้องความละเอียดตํ่ากว่า

สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าคือ กล้องความละเอียดตํ่าในที่นี้คือกล้องใช้เซ็นเซอร์ฟูลเฟรมที่มีความละเอียดมาตรฐานทั่วไปในช่วงก่อนหน้านี้ โดยมีความละเอียดในระดับสิบกว่าล้านพิกเซล หรือกล้องรุ่นใหม่ๆ ที่มีความละเอียดระดับ 20 ล้านพิกเซล โดยกล้องเหล่านี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นเดียวกับกล้องความละเอียดสูง ซึ่งข้อดีของกล้องอาจเป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการของนักถ่ายภาพบางคนหรือการถ่ายภาพบางลักษณะ

ข้อดีแรกของกล้องที่มีความละเอียดตํ่ากว่าคือขนาดไฟล์ที่เล็กกว่าซึ่งจะทำให้ปรับภาพในขั้นตอน Post Process ง่ายกว่าและเร็วกว่า ทำให้ยังสามารถพึ่งพาคอมพิวเตอร์กับฮาร์ดแวร์เครื่องเดิมได้ หรือแม้แต่โน๊ตบุ๊กนํ้าหนักเบาที่สเปกไม่สูงก็อาจสามารถรองรับการจัดการไฟล์ได้ และด้วยขนาดไฟล์ที่เล็กกว่าก็ทำให้พื้นที่เก็บข้อมูลโดยรวมน้อยกว่าด้วยไม่ว่าจะเป็นการ์ดบันทึกภาพหรือพื้นที่สำหรับแบ็กอัพข้อมูลทั้งฮาร์ดดิสก์หรือออนไลน์

ข้อดีต่อมาด้วยความละเอียดของภาพที่ต่ำกว่าทำให้ไม่จำเป็นต้องรีไซส์หรือ Down-Sampling ก็ทำให้ได้ภาพที่ดูสะอาดจากสัญญาณรบกวนอย่างที่เป็น ทำให้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความเร็วในการโปรเซสส์ภาพเพื่อส่งภาพต่อให้กับผู้อื่น นอกจากนี้ด้วยขนาดไฟล์ที่เล็กกว่าจึงทำให้กล้องมักมีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงกว่าให้ใช้สำหรับสถานการณ์ที่ต้องการอย่างการถ่ายภาพกีฬาหรือสัตว์ป่า ซึ่งต้องการความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสำหรับการไม่พลาดบางช่วงจังหวะที่เกิดขึ้น

ข้อดีสุดท้ายของกล้องความละเอียดตํ่ากว่าคือยังมีพื้นที่เล็กน้อยให้สำหรับความผิดพลาดจากการโฟกัสและกำลังแยกขยายของเลนส์ที่ตํ่ากว่า โดยการโฟกัสพลาดเล็กน้อยอาจไม่ถูกสังเกตเห็นในภาพ และหากเลนส์ไม่ได้มีกำลังแยกขยายรายละเอียดที่สูงมาก นักถ่ายภาพก็จะไม่เห็นในภาพ ดังนั้นนักถ่ายภาพที่ทำงานโดยที่ลูกค้าไม่ต้องการภาพความละเอียดสูงมากๆ กล้องที่มีพิกเซลขนาดใหญ่กว่าหรือความละเอียดน้อยกว่าจึงสามารถให้ประโยชน์ได้มากกว่า

ในส่วนของข้อเสียกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพความละเอียดตํ่ากว่าจะเปลี่ยนมาเป็นภาพที่มีพิกเซลน้อยกว่า ซึ่งหมายถึงการเริ่มต้นด้วยพิกเซลในการทำสิ่งต่างๆ น้อยกว่า ทำให้หากจำเป็นต้องครอปพื้นที่ของภาพออกมาก็จะหมายถึงการสูญเสียความละเอียดของภาพไปมากกว่า และทำให้ภาพมีขนาดเล็กกว่าด้วย

นอกจากนี้ความละเอียดที่น้อยกว่ายังหมายถึงข้อจำกัดในการรีไซส์หรือ Down-Sampling รวมทั้งข้อจำกัดในเรื่องขนาดไฟล์ที่ Output ออกมาด้วย ซึ่งส่งผลต่อขนาดภาพที่แสดงบนจอหรือปรินต์ โดยแม้จะมีซอฟต์แวร์ที่สามารถช่วย Up-Sample ภาพได้ แต่ก็ไม่สามารถสร้างรายละเอียดของภาพได้มากนัด

การถ่ายภาพที่เหมาะกับกล้องความละเอียดต่ำกว่า

  • ภาพกีฬาและสัตว์ป่า ที่ต้องการความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องต่อวินาทีสูงเพื่อการบันทึกแอ็กชั่นที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ความเร็วกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าความละเอียดที่สูงกว่า
  • ภาพแต่งงาน ลูกค้าของนักถ่ายภาพกลุ่มนี้อาจไม่ได้ต้องการภาพที่มีความละเอียดสูงมาก แต่ความเร็วในการปรับภาพหลังการถ่ายเพื่อการส่งภาพที่เร็วแก่ลูกค้าอาจเป็นที่ต้องการมากกว่า รวมทั้งการถ่ายภาพแต่งงานยังเป็นการถ่ายภาพที่ต้องใช้มือถือกล้องถ่ายภาพ ซึ่งกล้องที่มีความละเอียดตํ่ากว่าจะยอมให้เกิดความผิดพลาดจากการใช้มือถือกล้องถ่ายภาพได้มากกว่า
  • ภาพสารคดี, ท่องเที่ยว และ Street ความละเอียดสูงมักไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายภาพสารคดี ท่องเที่ยง และ Street รวมทั้งขนาดไฟล์ที่เล็กกว่ายังทำให้สามารถจัดการได้ง่ายและรวดเร็วกว่า

ขนาดภาพที่ปรินต์ได้

โดยทั่วไปแล้วความละเอียดของกล้องเป็นปัจจัยสำคัญของเรื่องนี้ เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วยิ่งภาพมีความละเอียดสูงกว่าก็จะสามารถปรินต์ภาพได้ขนาดใหญ่กว่า คุณภาพในการปรินต์ภาพดิจิตอลถูกกำหนดโดยจำนวนพิกเซลต่อหนึ่งตารางนิ้วหรือ PPI โดยภาพปรินต์คุณภาพสูงที่มีรายละเอียดของภาพในระดับที่ดีปกติแล้วมักเป็นการปรินต์ที่ความละเอียด 300 PPI ดังนั้นขนาดของภาพที่สามารถปรินต์ได้จึงเป็นการคำนวนโดยการนำขนาดความกว้าง และความสูงของภาพมาหารด้วยจำนวน PPI เช่นภาพที่มีความละเอียด 50.6 ล้านพิกเซลจากกล้อง Canon EOS 5Ds คือ 8,688 x 5,792 หากต้องการนำมาปรินต์เป็นภาพคุณภาพสูง 300 PPI ที่เต็มไปด้วยรายละเอียด

ขนาดภาพสูงสุดที่สามารถปรินต์ได้คือ 28.9 x 19.3 นิ้ว จากตัวเลข 8,688 หารด้วย 300 ได้ 28.9 และ 5,792 หารด้วย 300 ได้ 19.3 ซึ่งจริงๆ แล้วนักถ่ายภาพสามารถปรินต์ภาพจากกล้อง EOS 5Ds ขนาดใหญ่กว่านี้ก็ได้แต่จะต้องลดความละเอียดในการปรินต์หรือ PPI ลง หรืออาจใช้วิธีการที่ซับซ้อนขึ้นเพื่อเพิ่มความละเอียดให้สูงขึ้น ดังนั้นผลในด้านนี้ที่สรุปได้สั้นๆ ก็คือยิ่งกล้องมีความละเอียดมากขึ้นก็สามารถปรินต์ภาพขนาดใหญ่มากขึ้น

ความละเอียดสูงกว่า 3 เท่าไม่ใช่การปรินต์ภาพใหญ่ขึ้น 3 เท่า

ตอนที่ Nikon ทำกล้อง DSLR รุ่น D800 ความละเอียด 36.3 ล้านพิกเซลซึ่งเป็นกล้องที่มีความละเอียดสูงมากในช่วงเวลานั้นออกมาแทนที่ D700 ที่มีความละเอียด 12.1 ล้านพิกเซล ซึ่งเป็นความละเอียดที่สูงกว่าถึง 3 เท่า นักถ่ายภาพบางส่วนอยากอัพเกรดจาก D700 เป็น D800 เพราะความเข้าใจว่าสามารถปรินต์ภาพได้ใหญ่กว่า 3 เท่า เนื่องจากจำนวนพิกเซลบันทึกภาพมีมากกว่า 3 เท่า แต่จริงๆ แล้วตัวเลขขนาดภาพทั้งแนวนอนและแนวตั้งไม่ได้มีความแตกต่างกันขนาดนั้น เนื่องจากความละเอียดของเซ็นเซอร์มาจากจำนวนพิกเซลแนวนอนคูณกับจำนวนพิกเซลแนวตั้ง โดยความละเอียด 12.1 ล้านพิกเซลของ D700 มาจาก 4,256 x 2,832 ส่วนความละเอียด 36.3 ล้านพิกเซลของ D800 มาจาก 7,360 x 4,912 ซึ่งหมายความว่าเมื่อปริ้นต์ภาพด้วยความละเอียด 300 PPI ภาพจาก D700 สามารถปรินต์ได้ขนาดใหญ่สุด 14.2 x 9.4 นิ้ว ส่วน D800 ปรินต์ได้สูงสุดขนาด 24.5 x 16.4 นิ้วหรือใหญ่ขึ้นประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ปรินต์ภาพได้ใหญ่ขึ้น 3 เท่า

แต่หากต้องการปรินค์ภาพที่มี PPI เท่ากันในขนาดใหญ่ขึ้น 2 เท่าจะต้องใช้กล้องที่มีความละเอียดสูงขึ้น 4 เท่า หรือกล้องความละเอียด 48.4 ล้านพิกเซลเพื่อปรินต์ภาพขนาดใหญ่กว่ากล้องความละเอียด 12.1 ล้านพิกเซล 2 เท่า ดังนั้นหากใครที่ยังใช้ D700 อยู่คงต้องเปลี่ยนกล้องเป็น EOS 5Ds ที่มีความละเอียด 50.6 ล้านพิกเซล ซึ่งภาพมีขนาด 8,688 x 5,792

ขนาดเซ็นเซอร์ ขนาดพิกเซล และความแตกต่างเรื่องความละเอียด

อย่างที่นักถ่ายภาพทุกคนรู้ว่าเซ็นเซอร์ภาพคือหัวใจสำคัญของกล้องถ่ายภาพ โดยสิ่งที่สำคัญของเซ็นเซอร์คือขนาดของเซ็นเซอร์และพิกเซลในเซ็นเซอร์ นักถ่ายภาพอาจเห็นกล้องสองรุ่นที่มีความละเอียดเท่ากันหรือใกล้เคียงกันแต่มีขนาดของเซ็นเซอร์ที่ต่างกันอย่าง Nikon D7100 ที่มีความละเอียด 24 ล้านพิกเซลเท่ากับ D750 แต่หากดูไปที่ทางกายภาพหรือขนาดของเซ็นเซอร์ในกล้องทั้งสองรุ่นจะเห็นความแตกต่างว่า Nikon D7100 มีเซ็นเซอร์ขนาด 23.5 x 15.6 มม. ขณะที่เซ็นเซอร์ใน D750 มีขนาด 35.9 x 24.0 มม. ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า 52 เปอร์เซ็นต์หรือมีพื้นที่ใหญ่กว่า 2.3 เท่า

จากขนาดที่ต่างกันของเซ็นเซอร์ทำให้แม้จะมีขนาดภาพใกล้เคียงกันคือ 6,000 x 4000 ใน D7100 และ 6,016 x 4,016 ใน D750 แต่ลักษณะทางกายภาพของพิกเซลใน D750 มีขนาดใหญ่กว่า 52 เปอร์เซ็นต์หรือใหญ่กว่า 1.52 เท่า หรือหากนำความกว้างของเซ็นเซอร์หารด้วยความกว้างของภาพเพื่อหาขนาดของพิกเซลกแต่ละพิกเซล ขนาดพิกเซลของ D7100 จาก 23.5 หารด้วย 6,000 คือ 3.92 µm แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น 35.9 หารโดย 6,016 จะได้ขนาดพิกเซล 5.97 µm ของ D750

หากสงสัยว่าขนาดของพิกเซลที่แตกต่างกันส่งผลต่อภาพอย่างไร สิ่งแรกที่สำคัญคือพิกเซลขนาดใหญ่กว่าจะสามารถเก็บแสงได้มากกว่าพิกเซลขนาดเล็กกว่า ซึ่งจะเปลี่ยนมาเป็นคุณภาพของภาพที่ดีกว่าและรับมือกับสัญญาณรบกวนในแต่ละพิกเซลได้ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามมีบางเรื่องที่นักถ่ายภาพควรรู้เกี่ยวกับสิ่งนี้มีความแตกต่างกันน้อยในสภาพแสงที่มาก (ความไวแสงตํ่า) หากถ่ายภาพใกล้เคียงกับ ISO เริ่มต้นของกล้องอย่าง ISO 100-400 โดยปกติแล้วจะมีความแตกต่างเล็กน้อยในด้านสัญญาณรบกวนระหว่างพิกเซลสำหรับพิกเซลที่มีขนาดต่างกันไม่เกิน 2 เท่า อย่างในกรณีของ D7100 และ D750 จะให้ภาพที่ไม่มีสัญญาณรบกวนตั้งแต่ ISO 100-400 เหมือนกัน แต่จะสังเกตความแตกต่างได้ที่ความไวแสงสูงขึ้นตั้งแต่ ISO 800 ซึ่ง D750 จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ดังนั้นพิกเซลที่ใหญ่กว่าจึงเหมาะสำหรับสภาพแสงน้อยที่มักใช้ความไวแสงสูงกว่ามากกว่า

หากขนาดเซ็นเซอร์เท่ากันแต่ความละเอียดต่างกัน พิกเซลที่เล็กกว่าไม่จำเป็นต้องแสดงสัญญาณรบกวนมากกว่า เซ็นเซอร์ที่มีความละเอียดมากกว่าหมายถึงการที่สามรถปรินต์ภาพได้ขนาดใหญ่กว่า และเนื่องจากตามปกติจะไม่มีการประเมินสัญญาณรบกวนโดยยึดพื้นฐานจากต่อพิกเซล แต่จะวัดที่ขนาดภาพปรินต์ที่เท่ากัน ดังนั้นจึงต้องมีการปรินต์ภาพในขนาดที่เท่ากันเพื่อประเมินสัญญาณรบกวนจากเซ็นเซอร์ที่มีความละเอียดแตกต่างกัน เช่น Nikon D750 มีความละเอียด 24.3 ล้านพิกเซล ในขณะที่ D810 มีเซ็นเซอร์ 36.3 ล้านพิกเซล เนื่องจาก D810 มีความละเอียดมากกว่าขนาดพิกเซลจึงเล็กกว่า D750 หรือขนาด 4.88 µm ต่อ 5.97 µm ซึ่งหมายถึงการเห็นสัญญาณรบกวนมากกว่าเมื่อซูมดูที่ขนาด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากปรินต์ภาพจากทั้งสองกล้องในขนาดเท่ากันก็จะต้องมีการ Resize จาก D810 ให้เท่ากับขนาดปรินต์ของ D750 โดยการลดความละเอียด 36.3 ล้านพิกเซลเป็น 24.3 ล้านพิกเซล ซึ่งที่ขนาดปรินต์เท่ากันจะอาจจะแสดงสัญญาณรบกวนที่ไม่แตกต่างกัน

และด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้ไม่สามารถเทียบภาพจากสมาร์ทโฟนที่มีความละเอียด 40 ล้านพิกเซลกับภาพจากกล้องฟลูเฟรมที่มีความละเอียด 40 ล้านพิกเซลได้ เพราะมีขนาดเซ็นเซอร์ภาพที่แตกต่างกันมาก แม้จะมีจำนวนพิกเซลเท่ากันก็ตาม แม้จะสามารถปรินต์ภาพในขนาดที่ใหญ่เท่ากันได้ก็ตาม แต่กล้องฟลูเฟรมจะให้ภาพปรินต์คุณภาพดีกว่าพร้อมด้วยรายละเอียดที่มากกว่า

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic