SPECIAL ARTICLE

Canon EOS R Settings EP.4 : การปรับตั้งกล้อง EOS R สำหรับงานบันทึกวิดีโอ

CANON EOS R ออกแบบระบบบันทึกวีดีโอให้ใช้งานง่ายและคล่องตัว โดยวางปุ่มบันทึก (REC) ไว้ด้านบนตัวกล้อง ใกล้กับแป้นควบคุมด้านหน้า โดยเป็นปุ่มนูนขึ้นมาชัดเจน จึงกดได้สะดวก ไม่ทำให้กล้องสั่นไหวเมื่อกดบันทึกหรือหยุดบันทึก และวางอยู่ในตำแหน่งที่นิ้วชี้จะไม่ไปโดนได้ง่ายๆ

การเข้าระบบวีดีโอใน EOS R คุณจะต้องกดปุ่ม MODE บนตัวกล้อง จากนั้นให้กดปุ่ม INFO ด้านหลังตัวกล้อง(หรือแตะหน้าจอ LCD ที่สัญลักษณ์ INFO) กล้องจะสวิทช์หน้าจอจากโหมดบันทึกภาพนิ่ง เป็นโหมดบันทึกวีดิโอ โดยบนหน้าจอ LCD จะแสดงระบบวิดีโอ 5 โหมดด้วยกัน คือ Scene Intelligent Auto, โหมดวีดีโอ P, TV, AV, M และโหมดปรับเลือกเองและบันทึกไว้ (CUSTOM) อีก 3 ช่อง คือ C1, C2และ C3

คุณสามารถเลือกโหมดที่ต้องการใช้ได้ง่ายๆ โดยแตะหน้าจอ LCD ไปที่โหมดนั้นๆ เลย กล้องจะปรับเข้าโหมดบันทึกวีดีโอตามที่ต้องการทันที นอกจากจะดูการปรับตั้งที่จอ LCD ด้านหลังตัวกล้องแล้ว ยังสามารถดูผลการปรับตั้งหน้าจากจอ LCD ด้านบนตัวกล้องได้ โดยใช้ร่วมกับแป้นควบคุม และปุ่ม SET ในการปรับเลือก

เมื่อเข้าระบบ MOVIE เมนูของ EOS R จะปรับเมนู SHOOT (รูปกล้องสีแดง) เป็นเมนูสำหรับการบันทึกวิดีโอ ไม่ปนกับเมนูของภาพนิ่ง โดยแยกเป็น 4 แท็บ

Movie rec quality เป็นเมนูเลือกคุณภาพของไฟล์วิดีโอ โดยจะเลือกคุณภาพไฟล์ได้ 3 ระดับ คือ 4K, FULL HD และ HD ถ้าปรับเลือกระบบวีดีโอเป็น PAL สำหรับการใช้งานในบ้านเรา เมนูเลือกคุณภาพวิดีโอก็จะปรับเลือกได้ 10 แบบคือ 4K/25p(ALL-I), 4K/25p(IPB), FHD 50p (ALL-I), FHD 50p(IPB), FHD25p(ALL-I), FHD 25p(IPB), FHD25p(IPB LIGHT บีบอัดข้อมูลสูงขึ้น), HD/50p(ALL-I), HD/50p(IPB) และ HD/25p(IPB)

ความแตกต่างของ ALL-I กับ IPB ก็คือ ALL-I จะบีบอัดข้อมูลในแต่ละเฟรมแล้วบันทึกทุกเฟรมด้วยภาพจริงตามเฟรมเรทนั้นๆ ข้อมูลจะมีขนาดใหญ่กว่า IPB เกือบ 3 เท่าตัว แต่มีข้อดี คือ สะดวกและง่ายต่อการตัดต่อมากกว่า โดยเฉพาะการตัดแบบเฟรมต่อเฟรม เนื่องจากทุกเฟรมเป็นภาพจริง เครื่องจึงไม่ต้องคำนวณ ประมวลผลเฟรมที่ต้องใช้เหมือน IPB จึงสามารถใช้สเปคคอมพิวเตอร์ที่ตํ่ากว่าการตัดต่อด้วยไฟล์ IPB

ไฟล์ IPB จะเป็นการบันทึกภาพจริง สลับการจำลองภาพ โดยแยกส่วนที่มีข้อมูลซํ้าออก โดยจะเก็บข้อมูลในส่วนของพิกเซลที่มีความเปลี่ยนแปลงไว้ในเฟรมต่อๆไป เพื่อลดปริมาณข้อมูลให้น้อยลง เป็นการบีบอัดข้อมูลเพื่อให้มีขนาดไฟล์เล็กลงกว่า ALL-I ถึง 3 เท่าตัว แต่ยังได้คุณภาพดี เพียงแต่จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีสเปคสูงในการตัดต่อ และคุณภาพจะด้อยกว่า ALL-I เล็กน้อย

24.00p สำหรับการบันทึกวิดีโอที่ต้องการให้ความรู้สึกเหมือนภาพยนตร์ EOS R สามารถเลือกเฟรมเรทที่ 24p ได้ โดยเปิดใช้งานที่เมนูนี้ เมื่อเปิดใช้แล้ว การตั้งคุณภาพในเมนู Movie rec size จะมี 4 ตัวเลือกให้ปรับตั้ง คือ 4K/24p(ALL-I), 4K/24p (IPB), FHD/24p(ALL-I), FHD/24p(IPB)

High Frame Rate ในโหมดนี้ของ EOS R กล้องจะบันทึกด้วยความเร็ว 100 fps แล้วเล่นกลับด้วยความเร็ว 25 fps จึงได้ภาพ Slow motion ที่ช้าลง 4 เท่า โดยจะได้คุณภาพในระดับ HD 1280X720 ด้วยไฟล์แบบ ALL-I สำหรับการตัดต่อโดยระบบ Movie Servo AF จะไม่ทำงาน ระบบกันสั่นทรอนิกส์จะไม่ทำงาน และไม่บันทึกเสียง

เมื่อเปิดใช้ระบบนี้ก่อนกดปุ่มบันทึกวิดีโอ คุณจะต้องแตะปุ่มลั่นชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งให้กล้องหาโฟกัสก่อน จากนั้นจึงกดปุ่มบันทึกวิดีโอได้เลย หลังจากกดปุ่มบันทึกแล้ว กล้องจะไม่โฟกัสติดตามวัตถุให้ จะคงโฟกัสอยู่ที่ตำแหน่งเดิม

Movie cropping เป็นฟังก์ชั่นของกล้อง EOS R ออกแบบให้คุณสามารถครอปภาพก่อนบันทึกได้ โดยในโหมดนี้จะไม่สามารถเลือกคุณภาพ 4K หรือ FHD/50p ได้ จะต้องเลือกคุณภาพและเฟรมเรท ที่ FHD/25p หรือ HD/50p, HD/25p เท่านั้น โดยสามารถบันทึกได้ทั้งไฟล์ ALL-I และ IPB

ฟังก์ชันนี้เหมาะสำหรับใช้งานในกรณีเลนส์ที่ใช้อยู่ทางยาวโฟกัสไม่สูงพอ ทำให้ภาพหลวมเกินไป เมื่อเปิดใช้ Movie cropping จะเพิ่มทางยาวโฟกัสของเลนส์ได้อีกประมาณ 1.7 เท่า ทำให้ได้ภาพที่มีองค์ประกอบดีขึ้น ภาพดูแน่นขึ้น โดยไม่ลดคุณภาพแต่อย่างใด

ส่วนในหมวด 4K กล้องจะทำการครอปภาพที่ 1.7X โดยอัตโนมัติ ทางยาวโฟกัสของเลนส์จะคูณด้วย 1.7

Movie digital IS เป็นฟังก์ชั่นที่กล้องจะเปิดการทำงานของระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบอิเล็กทรอนิกส์ ปรับเลือกได้ 2 ระดับ คือ เปิดการทำงาน (Enable) และโหมด Enhanced โดยเมื่อเปิดการทำงานกล้องจะครอปภาพจากปกติเพื่อให้ระบบกันสั่นอิเล็กทรอนิกส์ ในหน่วยประมวลผลทำงานชดเชยการสั่นไหวของภาพ ส่วนโหมด Enhanced กล้องจะครอปภาพมากขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการลดการสั่นไหวจะสูงขึ้น โดยสามารถถือกล้องบันทึกด้วยมือเปล่า ภาพก็ยังดูนิ่งมาก ระบบ Movie digital IS รองรับการบันทึกทั้ง 4K และ Full HD โดยในการใช้งานร่วมกับระบบ 4K กล้องจะครอปภาพเพิ่มเติมจากปกติ (1.7x crop) ฟังก์ชั่นนี้ใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างมาก หากคุณไม่มีอุปกรณ์เสริม เช่น Gimbal ต้องถือด้วยมือแล้วอาจต้องเดินพร้อมบันทึกภาพ ภาพที่ได้จะนิ่งกว่าอย่างชัดเจน

Time–lapse movie EOS R ออกแบบให้คุณสามารถบันทึกวิดีโอ Time–lapse ได้ง่ายๆ และให้คุณภาพสูงโดยสามารถเลือกคุณภาพได้ 2 ระดับ คือ 4K และ Full HD โดยเมื่อเลือกคุณภาพแล้ว ก็ปรับเมนูที่ Interval เพื่อตั้งเว้นช่วงเวลาการบันทึกในแต่ละเฟรม เช่น ตั้งเว้นช่วงเวลาที่ 3 วินาทีต่อเฟรม กล้องก็จะบันทึก (ด้วยชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์) 3 วินาทีต่อ 1 เฟรม อย่างต่อเนื่อง โดยคุณจะต้องตั้งจำนวนช็อตที่บันทึก เช่น 300 ภาพ , 400 ภาพ เป็นต้น โดยกล้องจะคำนวณเวลาที่ต้องใช้ในการบันทึกภาพทั้งหมดให้ทราบ และคำนวณเวลาของวิดีโอ Time-lapse ให้ด้วย คุณสามารถปรับตั้งค่าแสงอัตโนมัติว่า จะให้ค่าแสงเท่าเฟรมแรกตลอด หรือ ให้กล้องวัดแสงใหม่ทุกเฟรมก็ได้ เมื่อปรับตั้งแสร็จแล้ว ก็ปรับไปที่โหมดวิดีโอ แล้วกดปุ่มบันทึกวิดีโอ กล้องก็จะบันทึกภาพด้วยจำนวนภาพและเว้นช่วงตามที่คุณตั้งไว้ เสร็จแล้วจะรวมเป็นไฟล์วิดีโอ Time-lapse ให้อัตโนมัติ ใช้งานง่ายและคล่องตัวมาก


ISO speed setting ในการใช้กล้อง EOS R บันทึกวิดีโอคุณสามารถปรับตั้งช่วงความไวแสง (ISO) ได้ว่าจะให้กล้องทำงานที่ความไวแสงตํ่าสุด สูงสุดเท่าใด และ ISO Auto จะตั้งให้ทำงานที่ความไวแสงตํ่าสุดเท่าใด สูงสุดเท่าใด แนะนำว่าควรปรับตั้งก่อนใช้งาน โดยความไวแสงสูงสุดควรจะเป็น ISO ที่คุณยังพอใจคุณภาพอยู่ เช่น ISO 6400 ยังพอใจคุณภาพ ก็ตั้ง ISO AUTO ที่ 100-6400 เป็นต้น นอกจากนั้นยังสามารถแยกปรับช่วงความไวแสงระหว่าง 4K กับ FULL HD (หรือ HD) ได้

AV 1/8-stop incr. นี่คือฟังก์ชั่นที่ดีมากของ EOS R เมื่อเปิดใช้งานการปรับรูรับแสงจะเป็นแบบละเอียดถึงขั้นละ 1/8 สตอป เมื่อปรับเปลี่ยนแสงบนภาพวิดีโอจะไม่วูบวาบเหมือนการปรับขั้นละ 1/3 สตอป ทำให้ภาพดูนุ่มนวล สบายตา

Canon Log settings EOS R สามารถบันทึก Canon Log ได้ โดยถ้าเลือกเปิดใช้ในโหมด 8 บิต จะสามารถบันทึกลง SD CARD ในตัวกล้องได้ แต่ถ้าเปิดใช้ที่ 10 บิต จะต้องบันทึกด้วยอุปกรณ์บันทึกภายนอกผ่านพอร์ต HDMI เนื่องจากเป็นไฟล์ที่มีบิตเรทสูงมาก ให้คุณภาพเยี่ยมยอด เมื่อผ่านขั้นตอนการ Grading สี

(Click Link ชมวิดีโอการปรับตั้งและใช้งานโหมดวิดีโอ)

กล้อง EOS R เลนส์ Canon RF 50mm f/1.2L USM ; 1/125sec f/1.2, Mode : M, ISO100


การบันทึกวิดีโอ

บันทึกวิดีโอในโหมด Auto exposure การบันทึกวิดีโอในโหมดออโต้ทำได้สะดวก โดยมีขั้นตอนดังนี้

กดปุ่ม Mode แล้วปรับแป้นควบคุมไปที่ AUTO (หรือแตะหน้าจอที่สัญลักษณ์ AUTO) ปรับโฟกัสที่ซับเจกต์ โดยเล็งไปยังซับเจกต์แล้วรอให้กล้องโฟกัสก่อน จากนั้นจึงกดปุ่มบันทึกวิดีโอ กล้องจะปรับโฟกัสต่อเนื่อง หากซับเจกต์ยังอยู่ในพื้นที่โฟกัส โดยหากมีคนในภาพ ระบบตรวจจับใบหน้าจะทำงานและโฟกัสติดตามใบหน้าต่อเนื่อง แต่ถ้าไม่มีคนในภาพ คุณสามารถแตะเลือกจุดโฟกัสบนหน้าจอ LCD ได้ กล้องจะปรับการทำงานเป็น Object Tracking แทน
**แนะนำให้ใช้จอ LCD ด้านหลังตัวกล้องในการดูภาพแทนการมองผ่านช่องมอง EVF เพราะสามารถเปลี่ยนจุดโฟกัสด้วยการแตะหน้าจอ หรือใช้วิธีลากนิ้วบนหน้าจอ (Drag AF) เพื่อเลื่อนจุดโฟกัสตามการเคลื่อนที่ของซับเจกต์ได้
**กล้องบันทึกเสียงด้วยไมโครโฟนในตัว โดยคุณสามารถหยุดบันทึกได้โดยกดปุ่มบันทึกวิดีโอซํ้าลงไป

บันทึกวิดีโอด้วยโหมด TV (Shutter Piority AE) ในโหมดนี้คุณจะสามารถเลือกความเร็วชัตเตอร์สูงหรือต่ำได้ตามต้องการ โดยกล้องจะปรับรูรับแสงและความไวแสงให้อัตโนมัติ ภาพวิดีโอที่จะคมชัดได้นั้นแต่ละเฟรมของการบันทึกจะต้องคมชัด ดังนั้นโหมด TV จึงเหมาะกับการเลือกความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะสมกับความเร็วในการเคลื่อนที่ของซับเจกต์ โดยปล่อยให้กล้องจัดการกับเรื่องคุมค่าแสงที่เหมาะสมให้อัตโนมัติด้วยการปรับความไวแสง และรูรับแสง

บันทึกวิดีโอด้วยโหมด AV (Aperture Piority AE) การบันทึกวิดีโอในโหมดนี้ คุณจะสามารถเลือกขนาดรูรับแสงได้ โดยกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์และความไวแสงให้อัตโนมัติ โหมดนี้จะเหมาะกับภาพที่คุณต้องการเน้นชัดลึก ชัดตื้น ในการใช้งานแนะนำว่าไม่ควรปรับรูรับแสงด้วยแป้นควบคุมบนตัวกล้องเพราะมีเสียงดัง ซึ่งอาจจะติดเข้าไปในคลิป และเมื่อตั้งระดับการปรับละเอียดขึ้นเป็น 1/8 สตอป การปรับด้วยทัชสกรีนแล้วคลิ๊กที่ปุ่มเพิ่มลดรูรับแสงบนหน้าจอ LCD จะให้ผลดีกว่า ทั้งความเงียบ ความนุ่มนวล ราบเรียบ ต่อเนื่องในการปรับ ถ้าภาพสว่างหรือมืดเกินไป คุณสามารถชดเชยแสงได้โดยแตะหน้าจอที่สัญลักษณ์ +/- แล้ว กดปุ่มบวก ลบ บนหน้าจอเพื่อเพิ่มความสว่างหรือลดความสว่างได้ทันทีขณะบันทึก

บันทึกวิดีโอด้วยโหมด M (Manual AF) เป็นโหมดบันทึกวิดีโอที่มืออาชีพส่วนใหญ่ใช้ เพราะช่างภาพสามารถควบคุมค่าแสงด้วยตนเอง ตัดปัญหาเรื่องค่าแสงบนภาพเปลี่ยนวูบวาบ เมื่อแพนกล้องหรือเปลี่ยนมุมภาพ การปรับความเร็วชัตเตอร์ก่อนบันทึกทำได้โดยแตะหน้าจอที่ความเร็วชัตเตอร์ กล้องจะแสดงแถบความเร็วชัตเตอร์ คุณสามารถใช้นิ้วลากไปซ้ายหรือขวาเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการได้เลย รูรับแสงและความไวแสงก็เช่นกัน แตะบนหน้าจอแล้วลากนิ้วเลือกค่าที่ต้องการได้เลย เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของความสว่างบนภาพทันที เมื่อได้ค่าแสงเหมาะสมจึงจะพร้อมบันทึก แต่การปรับค่าต่างๆ ขณะบันทึก จะไม่สามารถสไลด์นิ้วบนแถบสเกลได้เมื่อกดบันทึกวิดีโอ ต้องไปที่ช่องความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง หรือความไวแสง แล้วแตะบนหน้าจอ จากนั้นจึงแตะเพิ่มลดจากสัญลักษณ์ บวก ลบ ที่แสดงไว้

(Click Link ชมวิดีโอการใช้งานโหมดบันทึกวิดีโอ)

กล้อง EOS R เลนส์ Canon RF 24-105mm f/4L IS USM ; 2.5sec f/8, Mode : Av, ISO100