BASIC

Do & Don’t with Manual Mode

โหมดบันทึกภาพแมนนวลเป็นทางเลือกที่ดีเมื่อนักถ่ายภาพต้องการที่จะควบคุมทั้งระยะชัดในภาพและความเบลอจากการเคลื่อนที่เนื่องจากนักถ่ายภาพสามารถปรับตั้งรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ได้เอง  แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่เริ่มถ่ายภาพอาจจะรู้สึกกลัวที่จะใช้โหมดบันทึกภาพนี้ในช่วงแรกๆ ซึ่งต่อไปนี้คือคำแนะนำถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเมื่อใช้โหมดบันทึกภาพแมนนวลเพื่อช่วยให้ใช้โหมดบันทึกภาพนี้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

dd3

Do : ดูค่าการวัดแสง
แม้จะเรียกว่าโหมดแมนนวลหรือปรับตั้งค่าเอง แต่นักถ่ายภาพก็ยังไม่สามารถจะทำทุกสิ่งได้ด้วยตนเองทั้งหมดเมื่อจะปรับตั้งค่าบันทึกภาพ ดังนั้นกล้องจึงมีค่าหรือสเกลการวัดแสงมาเพื่อเป็นตัวช่วยแก่นักถ่ายภาพ

ค่าหรือสเกลวัดแสงนี้จะมาในหลากหลายรูปแบบแต่มักจะแสดงช่วงของค่าการบันทึกภาพ 2-3 สตอปทั้งด้านมากและน้อยกว่าค่าที่กล้องคิดว่าถูกต้อง โดยหากค่ารูรับแสง, ความเร็วชัตเตอร์ และความไวแสงสูงถูกปรับตั้งจนอยู่นอกเหนือค่าที่สเกลวัดแสงแสดงกล้องก็จะแสดงถึงทิศทางของค่าที่เกิดความผิดพลาด เช่น กล้องแสดงว่าภาพจะรับแสงอันเดอร์โดยแสดงระดับบนสเกลวัดแสงที่ลบหรือตำแหน่งสุดท้ายในด้านลบ นักถ่ายภาพก็จะต้องเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้น, เพิ่มระยะเวลาบันทึกภาพให้นานขึ้น หรือปรับความไวแสงให้สูงขึ้น หรืออาจจะต้องทำหลายสิ่งรวมกันเพื่อให้ระดับค่าบันทึกภาพกลับมาอยู่ในช่วงที่แสดงบนสเกล

Do : หาค่าที่เหมาะสม
เมื่อใช้โหมดบันทึกภาพแรกๆ นักถ่ายภาพส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่มักจะปรับรูรับแสงแคบมากเพื่อให้ทุกสิ่งในภาพมีความคมชัด หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมากเพื่อหยุดทุกการเคลื่อนไหวในภาพ ซึ่งแม้ว่าสิ่งนี้เหมาะสมในบางสถานการณ์ แต่ภาพที่ออกมาจะดูเหมือนๆ กัน และยังทำให้หากสภาพแสงไม่มากนักถ่ายภาพต้องปรับความไวแสงให้สูงขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มสัญญาณรบกวนในภาพ

แทนที่จะทำอย่างข้างต้นควรคิดก่อนว่าระยะชัดเท่าใดที่ต้องการในภาพ และความเร็วชัตเตอร์เท่าใดที่เพียงพอจะทำให้วัตถุมีความคมชัดหรือไม่ทำให้ภาพเบลอจากการสั่นไหวของกล้องที่ใช้มือถือถ่ายภาพ ซึ่งด้วยสิ่งนี้จะทำให้นักถ่ายภาพปรับความไวแสงได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

Do : ปรับค่าใหม่เมื่อสภาพแสงเปลี่ยน
เมื่อนักถ่ายภาพปรับตั้งรูรับแสง, ความเร็วชัตเตอร์ และความไวแสงเอง นักถ่ายภาพจะต้องสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงของแสงตลอดเวลา และปรับตั้งค่าของกล้องตามแสงที่เปลี่ยน โดยการดูที่สเกลวัดแสงของกล้องซึ่งเมื่อระดับบนสเกลวัดแสงเปลี่ยนตามความสว่างในภาพก็จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนค่าบันทึกภาพตาม

dd4

Don’t : ลืมคิดถึงความสว่างของวัตถุ
เมื่อถ่ายภาพวัตถุที่มีความสว่างมากหรือมืดมากในโหมดบันทึกภาพอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ นักถ่ายภาพจะใช้การชดเชยแสงเพื่อความมั่นใจว่ามีการใช้ค่าบันทึกภาพที่ถูกต้อง แต่เมื่อถ่ายภาพด้วยโหมดบันทึกภาพแมนนวลนักถ่ายภาพจำเป็นจะต้องปรับตั้งค่าบันทึกภาพด้วยการเลือกค่าที่ต้องการเอง โดยกับวัตถุที่มีความสว่างมากนักถ่ายภาพอาจจะต้องมีการปรับค่าบันทึกภาพจนระดับที่แสดงบนสเกลวัดแสงไปอยู่ในด้านโอเวอร์หรือบวกเพื่อแสดงว่ากล้องมีการรับภาพโอเวอร์กว่าค่าที่กล้องคิดว่าถูกต้อง ขณะที่กับวัตถุที่มีความมืดมากอาจจำเป็นต้องปรับตั้งเพื่อให้ระดับบนสเกลวัดแสงอยู่ในด้านอันเดอร์หรือลบ

Don’t : ใช้แค่ระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่ Evaluative/Matrix/Multi-Pattern
ข้อดีของโหมดบันทึกภาพแมนนวลคือนักถ่ายภาพสามารถควบคุมความสว่างของภาพได้เองทั้งหมด ซึ่งการใช้ระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลาง (Centre Weight) หรือระบบวัดแสงเฉพาะจุดแทนระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่สารพัดประโยชน์อย่าง Evaluative, Matrix หรือ Multi-Pattern จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์

โดยระบบวัดแสงเฉพาะจุดจะมีประโยชน์เป็นพิเศษเนื่องจากช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถวัดค่าบันทึกภาพที่ต้องการได้ด้วยการอ่านค่าแสงในส่วนเล็กๆ ของภาพที่เป็นโทนกลาง เพียงเล็งพื้นที่วัดแสงเฉพาะจุดไปยังวัตถุแล้วกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเพื่อให้ระบบวัดแสงทำงาน จากนั้นก็ปรับค่าบันทึกภาพจนกระทั่งระดับบนสเกลวัดแสงแสดงว่าค่าบันทึกภาพถูกต้อง

ซึ่งด้วยวิธีการนี้จะทำให้แสงในภาพคงที่ แต่นักถ่ายภาพก็ยังคงสามารถปรับค่าบันทึกภาพให้แตกต่างจากค่ากลางบนสเกลวัดแสงที่แสดงได้ เพื่อที่จะทำให้ค่าบันทึกภาพเหมาะกับวัตถุหลักในภาพ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรจำก็คือ ความสว่างของวัตถุมีผลต่อระบบวัดแสงเฉพาะจุดเช่นเดียวกับระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่

dd6

Do : ควบคุมความไวแสง
มี 3 องค์ประกอบในการควบคุมค่าบันทึกภาพคือ ความเร็วชัตเตอร์, รูรับแสง และความไวแสงหรือ ISO ในสถานการณ์ที่สภาพแสงเปลี่ยนไปมาการเลือกใช้การทำงานปรับความไวแสงอัตโนมัติจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากเพราะกล้องจะปรับตั้งค่าความไวแสงที่เหมาะสมกับรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ที่ถูกปรับตั้งไว้ แต่อย่างไรก็ตามกล้องจะมีการปรับความไวแสงตามการคำนวณว่าจะให้ค่าบันทึกภาพที่ถูกต้อง ดังนั้นหากนักถ่ายภาพต้องการให้ภาพสว่างขึ้นหรือมืดลงก็จะต้องปรับความไวแสงด้วยตนเอง

นอกจากนี้เมื่อนักถ่ายภาพใช้การทำงานปรับความไวแสงอัตโนมัติก็ควรมีการตรวจสอบว่าสามารถปรับตั้งค่าความไวแสงสูงสุดที่กล้องจะปรับอัตโนมัติให้ได้หรือไม่เพื่อป้องกันการใช้ความไวแสงสูงจนทำให้เกิดสัญญาณรบกวนในภาพหรือเป็นการควบคุมการใช้ความไวแสงสูงในสภาพแสงที่น้อย

Don’t : กลัวที่จะปรับค่าแตกต่างจากสเกลวัดแสง
เช่นเดียวกับโหมดบันทึกภาพอื่นที่หากในภาพมีวัตถุที่สว่างกว่าหรือมืดกว่าปกติ นักถ่ายภาพจะต้องเปลี่ยนการปรับตั้งค่าบันทึกภาพด้วยการทำให้ระดับบนสเกลวัดแสงอยู่ที่ด้านใดด้านหนึ่งแทนตรงกลาง เนื่องจากค่าการปรับตั้งที่กล้องคิดว่าถูกนั้นผิด

และเช่นเดียวกันที่หากนักถ่ายภาพต้องการให้ภาพสว่างขึ้นหรือมืดลงกว่าความจริง ก็เพียงแค่ปรับค่าบันทึกภาพเพื่อเลื่อนระดับวัดแสงบนสเกลไปยังระดับการบันทึกภาพโอเวอร์หรืออันเดอร์ที่ต้องการ

 

แปล/เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ