BASIC

Easy Ways to Improve Sport Photography

กีฬาเป็นหนึ่งในชนิดของการถ่ายภาพที่หลายคนชื่นชอบ ซึ่งบางครั้งอาจมาจากการเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพลูกทำกิจกรรมกีฬาที่โรงเรียนหรือเพื่อนๆ ที่รวมตัวกันเล่นกีฬาแล้วจึงต่อเนื่องมาเป็นความชอบโดยพยายามหาโอกาสถ่ายภาพกีฬาในโอกาสต่างๆ อย่างไรก็ตามเนื่องจากกีฬาเป็นสิ่งที่มีการเคลื่อนที่หรือการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลารวมทั้งยังรวดเร็วด้วย ดังนั้นจึงความท้าทายรวมทั้งความสนุกที่ทำให้หลายคนชื่นชอบการถ่ายภาพลักษณะนี้ หากเริ่มต้นถ่ายภาพกีฬาแล้วรู้สึกว่าภาพที่ออกมายังไม่น่าพอใจนัก ต่อไปนี้คือคำแนะนำจากนักถ่ายภาพกีฬาที่มีผลงานลงใน Sports Iluustrated และ ESPN ที่จะช่วยปรับปรุงภาพกีฬาให้ดีขึ้น

เรียนรู้กับกีฬา
แน่นอนว่ากีฬาหลายๆ อย่างเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วว่าเล่นอย่างไรมีรูปแบบอย่างไร แต่กับกีฬาใหม่ๆ ที่จะไปถ่ายภาพซึ่งอาจไม่คุ้นเคยหรือแค่เคยเห็นในข่าวกีฬาโดยที่ไม่ได้ดูอย่างจริงจัง การเรียนรู้เกี่ยวกับกีฬานั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการถ่ายภาพกีฬาคือการคาดการณ์แอ็คชั่นที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะได้ภาพที่ยอดเยี่ยมในการหยุดแอ็กชั่นที่เกิดขึ้นแล้วผ่านทันทีทันใดไปด้วยการยกกล้องขึ้นเล็งแล้วถ่ายภาพ หรือเล็งกล้องตามแล้วกดชัตเตอร์ไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อถึงช่วงจังหวะสำคัญอาจกดชัตเตอร์ไม่ลงเพราะบัฟเฟอร์ของกล้องเต็ม ซึ่งหมายความว่านักถ่ายภาพจะต้องมีความพร้อมสำหรับการถ่ายภาพไม่แตกต่างกับนักกีฬาที่กำลังแข่งขันอยู่ในสนาม ซึ่งการเข้าใจถึงการเล่นและรูปแบบที่เกิดขึ้นในกีฬานั้นจะช่วยให้มีความพร้อมสำหรับการถ่ายภาพได้ เพราะจะสามารถคาดการณ์ถึงเหตุการณ์หรือจุดที่เกิดขึ้นต่อไปได้ นอกจากการเรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบของกีฬาว่าเล่นอย่างไร การเรียนรู้ในขณะถ่ายภาพถึงรูปแบบการเล่นของทีมหรือนักกีฬาที่กำลังเล่นอยู่เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นจึงควรให้ความสนใจกับแนวโน้มหรือท่าทางที่นักกีฬามักจะทำตลอดการแข่งขันด้วย

ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล, เทนนิส, มอเตอร์สปอร์ต, ชกมวย กีฬาทุกชนิดล้วนแต่เหมือนกันที่การหาข้อมูลและเข้าใจถึงกีฬานั้นๆ จะช่วยยกระดับภาพถ่ายได้ รวมไปถึงยังช่วยให้สามารถถ่ายภาพในช่วงจังหวะที่สำคัญเพียงไม่กี่ภาพแทนการถ่ายภาพในลักษณะเหวี่ยงแหแล้วหวังว่าจะได้รับภาพที่ดี แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องไม่ดีในการถ่ายภาพจำนวนมาก แต่การบันทึกภาพโดยหยุดในช่วงจังหวะสำคัญที่ต้องการจะเพิ่มความสนุกและความมั่นใจในการได้ภาพที่ดีได้มากขึ้นโดยลดการกดชัตเตอร์ลง

ปุ่มโฟกัสหลังกล้อง
เมื่อซื้อกล้องใหม่การทำงานเกี่ยวกับระบบโฟกัสที่ถูกเซ็ตมาจากผู้ผลิตก็คือโฟกัสโดยกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเพื่อโฟกัส ซึ่งเป็นรูปแบบการโฟกัสที่ดีและคุ้นเคยของนักถ่ายภาพ รวมทั้งยังเป็นรูปแบบที่นักถ่ายภาพส่วนใหญ่ใช้กัน แต่นักถ่ายภาพบางคนอาจไม่รู้ว่ามีอีกวิธีโฟกัสที่แตกต่างออกไปด้วยการใช้ปุ่มโฟกัสด้านหลังกล้องหรือปุ่ม AF-ON ซึ่งจะอยู่บริเวณนิ้วโป้งเมือจับถือกล้อง โดยถึงแม้กล้องบางรุ่นจะไม่มีปุ่มนี้มาให้ก็มักจะสามารถปรับคัสตอมฟังก์ชั่นเพื่อให้ใช้ปุ่มหลังกล้องเพื่อทำหน้าที่เดียวกันได้ เมื่อใช้ระบบออโตโฟกัสนักถ่ายภาพกีฬาที่มีประสบการณ์จำนวนมากจะปรับตั้งการทำงานของกล้องโดยไม่ให้ปุ่มชัตเตอร์ทำหน้าที่โฟกัสแค่ใช้เพื่อล็อกค่าแสงและบันทึกภาพเท่านั้น แต่จะใช้ปุ่มโฟกัสหลังกล้องเพื่อควบคุมการโฟกัสภาพแทน

นักถ่ายภาพบางคนอาจสงสัยว่าทำไมจะต้องใช้ปุ่มโฟกัสหลังกล้องแทนปุ่มชัตเตอร์ที่คุ้นเคย เป็นธรรมชาติ และสามารถควบคุมการโฟกัสได้ด้วยนิ้วเดียว คำตอบสั้นๆ ต่อข้อสงสัยนี้จากนักถ่ายภาพกีฬาที่ใช้ปุ่มโฟกัสหลังกล้องคือให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า แต่จริงๆ ยังมีหลายเหตุผลที่เปลี่ยนการโฟกัสของกล้องไปที่ปุ่มนี้ อย่างแรกคือการใช้ปุ่มชัตเตอร์เพื่อโฟกัสเมื่อถ่ายภาพกีฬาหรือแอ็คชั่นอาจทำให้เกิดการกดชัตเตอร์ลงไป บันทึกภาพโดยไม่ตั้งใจได้ซึ่งอาจทำให้พลาดจังหวะสำคัญที่จะเกิดขึ้นตามมาหรือแม้แต่รบกวนสมาธิของตัวนักถ่ายภาพเองในขณะกำลังเล็งกล้องตามวัตถุ การใช้ปุ่มโฟกัสหลังกล้องจึงทำให้มั่นใจได้ว่ากล้องบันทึกภาพเมื่อนักถ่ายภาพต้องการเท่านั้น นอกจากนี้ในการถ่ายภาพกีฬาอาจจะมีทั้งช่วงจังหวะที่ใช้ระบบออโตโฟกัสหรือไม่ใช้ ซึ่งการใช้ปุ่มโฟกัสหลังกล้องจะช่วยได้เมื่อต้องการโฟกัสแมนนวลทันทีกับเลนส์ที่โฟกัสแมนนวลได้ตลอดเวลาหรือแม้แต่การโฟกัสล่วงหน้าในบางตำแหน่งที่คาดว่าวัตถุจะเข้ามา โดยที่เมื่อกดปุ่มชัตเตอร์จะไม่มีผลต่อระยะโฟกัสที่ปรับไว้

เล่าเรื่องราว
สิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างนักถ่ายภาพที่ทำงานให้ Getty Image (เอเจนซี่ภาพกีฬา) และ SportIllustrated ไม่ใช่อุปกรณ์ที่ใช้ เพราะนักถ่ายภาพหลายคนสามารถใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงไม่ว่าจะเป็นกล้องที่มีทั้งระบบออโตโฟกัสรวดเร็วและการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงได้เหมือนนักถ่ายภาพเหล่านั้น หรือไม่ใช่เพราะนักถ่ายภาพเหล่านั้นได้ถ่ายภาพกีฬาใหญ่ๆ เพราะนักกีฬาดังๆ ที่มีชื่อเสียงไม่ได้ช่วยให้ได้ภาพที่ดี แต่ 2 สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้นักถ่ายภาพเหล่านี้จากคนอื่นคือทักษะและการเล่าเรื่องราวในภาพ ซึ่งอาจต้องการประสบการณ์ในการถ่ายภาพกีฬาควบคู่ไปกับการฝึกฝน หากนักถ่ายภาพมีอุปกรณ์ถ่ายภาพที่ดีและสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่วรวมทั้งรู้จักกีฬาที่ถ่ายภาพเป็นอย่างดี นักถ่ายภาพอาจจะสามารถได้ภาพกีฬาที่ดี 9 ภาพใน 10 ภาพที่ถ่ายหากมีการเตรียมการล่วงหน้าและทุกสิ่งเป็นไปตามที่คิด แต่การบอกเล่าเรื่องราวในภาพเป็นอีกสิ่งหนึ่ง โดยหากลองดูใน Sport Illustrated’s Top 100 Sports Photos of All Time จะพบว่ามากกว่าครึ่งของภาพเหล่านั้นเป็นภาพที่เล่าเรื่อง นักถ่ายภาพกีฬาที่เก่งจะรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการแข่งขันต่างๆ รู้ว่าใครเป็นคนสำคัญ รู้จักถึงแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น และให้ความสนใจกับทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสนามโดยอาจเป็นคนดูที่แต่งตัวบางแบบหรือดูตลกที่สามารถรวมเข้ามาไว้ในภาพได้ หรือครอบครัวนักกีฬาที่กำลังดู หรืออดีตโค้ช หรือคนสำคัญที่เข้ามาดูการแข่งขัน ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงควรมีรายการไว้ในหัวถึงภาพที่ควรถ่ายในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อนำเสนอภาพนั้น ซึ่งหากเกิดขึ้นและทำได้ก็จะได้ภาพที่บอกเรื่องราวได้

หยุดดูภาพในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะ
ไม่ใช่เรื่องผิดที่นักถ่ายภาพจะดูภาพที่ถ่ายไปแล้วบนจอ LCD หลังกล้อง แต่อย่างไรก็ตามในบางช่วงเวลาอาจไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะแน่นอนว่านักถ่ายภาพจะไม่ดูภาพในขณะที่ยังคงมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอยู่ แต่นอกจากนี้นักถ่ายภาพก็ไม่ควรดูภาพทันทีหลังกดชัตเตอร์หรือมีแอ็คชั่นเกิดขึ้นแล้วด้วย เพราะนักถ่ายภาพควรเตรียมพร้อมเสมอสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดหมาย แม้ว่าจะได้ภาพที่คิดว่าดีแล้วก็ตาม นักถ่ายภาพจึงควรรอให้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมจึงกดดูภาพที่หลังกล้อง นอกจากนี้เมื่อบันทึกภาพที่ในช่วงจังหวะที่คิดว่าน่าอัศจรรย์ได้ อย่าให้ความตื่นเต้นนั้นทำให้ต้องหยุดโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่อาจได้ภาพที่ดีกว่าด้วยการก้มลงดูที่ด้านหลังกล้อง

อย่างไรก็ตามการดูภาพก็เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายภาพกีฬาด้วยจุดประสงค์บางอย่าง เช่นเพื่อเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะอินเตอร์เน็ต หนังสือ หรือเป็นการภาพในลักษณะงานอีเว้นต์เพื่อตรวจดูว่าภาพที่ถ่ายมีความครอบคลุมตามที่ต้องการหรือไม่ โดยนักถ่ายภาพกีฬาส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีดูภาพเร็วๆ เป็นช่วงๆ ของเหตุการณ์เพื่อดูการครอบคลุมของภาพที่ถ่ายไปแล้ว

เป็นนักวิจารณ์
หากภาพที่ออกมาไม่ดีก็ควรยอมรับในสิ่งนั้นไม่ว่าจะใช้ความพยายามมากแค่ไหน หรือหากหลุดโฟกัสก็ไม่มีข้ออ้างว่าเพียงนิดเดียว หรือเมื่อไม่เห็นฟุตบอลในภาพก็ไม่ควรมีข้อแก้ตัวใดๆ ว่าลูกบอลอยู่ตรงนั้นจริงๆ เพียงแค่ถูกบัง หากยิ่งยอมรับว่าภาพที่ถ่ายออกมาไม่ดีเร็วเท่าใด ก็จะทำให้นักถ่ายภาพพยายามหาเหตุผลที่ทำให้ภาพไม่ดีและพยายามถ่ายภาพให้ดีขึ้นเร็วเท่านั้น โดยไม่เพียงยอมรับการวิจารณ์หรือติจากคนอื่นที่ดูภาพเท่านั้น แต่ยังควรวิจารณ์ภาพถ่ายของตัวเองด้วยว่าเพราะอะไรจึงทำให้ภาพออกมาไม่ดี หรือสิ่งใดที่ขาดไปในภาพ

ถ่ายภาพ และถ่ายภาพให้มากขึ้น
นี่คือความจริงในการถ่ายภาพทุกอย่าง เพราะนักถ่ายภาพไม่สามารถทำได้ดีขึ้นหากไม่ทำ ถ่ายภาพให้มากและรับคำวิจารณืหรือพิจารณาภาพให้มาก แล้วแก้ไขข้อผิดพลาด จากนั้นก็ถ่ายภาพอีก นอกจากนี้นักถ่ายภาพควรท้าทายตัวเองเช่นการดูแนวภาพกีฬาที่ชอบแล้วตั้งเป้าหมายที่จะถ่ายภาพในลักษณะนั้น รวมไปถึงลองหาวิธีการใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องรวมยอมรับว่าจะต้องเกิดความผิดพลาดหรือผิดหวังจากสิ่งที่ทำเสมอในการถ่ายภาพ เพราะการถ่ายภาพกีฬาและแอ็คชั่นแม้จะทำให้เกิดความสนุกและท้าทายแต่ก็สามารถทำให้เกิดความผิดหวังได้เช่นเดียวกัน

เสี่ยงอย่างฉลาด
เมื่อดูภาพกีฬาที่ยอดเยี่ยมหลายๆ ภาพ นักถ่ายภาพอาจสงสัยว่าผู้ถ่ายภาพทำอย่างไรเพื่อให้ได้ภาพนี้ หมายถึงว่าสามารถรู้ได้อย่างไรว่าจะเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่สำคัญขึ้นในขณที่เวลากำลังหมด คำตอบก็คือผู้ที่ถ่ายภาพนั้นไม่รู้ แต่พวกเขาอาจจะเสี่ยงหรือเดาล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งการทำอย่างนี้ก็ไม่ต่างกับนักพนันที่มีทั้งเลือกถูกและเลือกผิด โดยนักพนันที่เลือกผิดจะนำตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งที่คิดว่าที่หวังว่าจะเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น แม้ว่าจะต้องแลกกับการสูญเสียโอกาสได้ภาพอื่นที่สำคัญ เช่นนักถ่ายภาพบางคนอาจเลือกที่จะนั่งอยู่ในตำแหน่งหนึ่งเพียงจุดเดียวเพื่อหวังว่าจะเกิดเหตุการบางอย่างขึ้นในบริเวณนั้น เช่นบริเวณใกล้ประตูฝั่งใดฝั่งหนึ่งในการถ่ายภาพฟุตบอลเพื่อหวังภาพการทำประตู ซึ่งจะทำให้พลาดโอกาสในการถ่ายภาพอื่นๆ เพื่อบอกเเรื่องราวในการแข่งขันนั้นอย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่ต่างกับการเป็นนักพนันที่เลือกผิด แต่นักถ่ายภาพที่เป็นนักพนันที่ฉลาดจะให้ความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมาก พวกเขาจะรู้ว่าต้องถ่ายภาพอะไรในวันนั้น พวกเขารู้ถึงประโยชน์ของการเล่าเรื่องและผลลัพธ์ที่ได้จากการภาพ รู้ว่าใครเป็นผู้เล่นสำคัญ รู้แนวโน้นหรือรูปแบบการเล่น โดยนักถ่ายภาพที่เป็นนักพนันที่ดีจะประเมินถึงความเสี่ยงกับโอกาสแล้วจึงตัดสินใจในช่วงเวลานั้นว่าควรที่จะยอมพลาดบางภาพเพื่อมีโอกาสจะได้ภาพบางภาพหรือไม่ ซึ่งทำให้ดูเหมือนนักถ่ายภาพเหล่านี้โชคดีที่อยู่ถูกที่ถูกเวลา

ออกห่างจากนักถ่ายภาพคนอื่น
หากถ่ายภาพกีฬาในสถานที่หรือสถานการณ์ที่สามารถเคลื่อนที่ไปรอบๆ สนามกีฬาหรือสถานที่จัดการแข่งขันได้ ก็ควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ ลองหามุมที่ไม่มีนักถ่ายภาพคนอื่น มีบางคำแนะนำให้ถ่ายภาพในมุมสูงหรือไม่ก็มุมต่ำ เพราะคนไม่อยากดูภาพในระดับสายตาปกติ เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นโดยมองจากความสูงไม่กี่ฟุตจากพื้นเป็นอย่างไร นอกจากนี้อย่าลืมลองถ่ายภาพที่มีทั้งความแน่นหรือมุมกว้างเข้าไปภาพที่ถ่ายในมุมสูงหรือต่ำกว่าปกติ

ถ่ายภาพให้แน่น และครอปให้แน่นขึ้น
วิธีการที่บรรณาธิการภาพกีฬาที่เก่งๆ ทั่วโลกทำซึ่งควรนำไปใช้คือ พยายามถ่ายภาพให้แน่น แล้วครอบภาพให้แน่นขึ้นภายหลัง, ตัดส่วนประกอบรอบข้างที่รกและดึงดูความสนใจออกไปเพื่อดึงความสนใจผู้ดูภาพไปที่แอ็คชั่นของนักกีฬา, ควรสร้างความรู้สึกในภาพว่านักกีฬาในภาพมีความสำคัญและมีขนาดใหญ่กว่าสิ่งอื่น อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับกฏหรือคำแนะนำในการถ่ายภาพอื่นๆ ที่การทำตรงกันข้ามกับคำแนะนำนี้ในบางครั้งก็สามารถสร้างความน่าสนใจหรือภาพที่ดีได้ แต่การถ่ายภาพให้แน่นก็ยังเป็นคำแนะนำพื้นฐานง่ายๆ ที่ดีและควรคิดไว้เสมอเมื่อถ่ายภาพและปรับภาพหลังถ่าย

อย่าหยุดเมื่อเสียงนกหวีดดัง
โค้ชจะบอกนักกีฬาว่าอย่าหยุดเล่นจนกระทั่งเสียงนกหวีดดัง เช่นเดียวกับนักถ่ายภาพที่ควรถ่ายภาพจนกระท่วเสียงนกหวีดดังเช่นเดียวกัน รวมทั้งยีงควรถ่ายภาพต่อไปเมื่อหมดเวลาการแข่งขันแล้วด้วย เพราะเป็นช่วงเวลาที่จะทำให้นักถ่ายภาพได้ภาพที่มีอารมณ์ของความดีใจ การฉลอง และความผิดหวัง โดยในช่วงเวลานี้ทั้งโค้ชและนักกีฬาจะปลดปล่อยอารมณ์ออกมาซึ่งบางครั้งอาจบ่งบอกถึงการแข่งขันนั้นได้มากกว่าภาพการเล่นแต่ละภาพ นอกจากนี้อย่าหยุดถ่ายภาพเมื่อมีการหยุดระหว่างการแข่งขันหรือเสียงนกหวีดจากกรรมการดังให้หยุด โดยคิดว่าผู้เล่นในสนามจะหยุดทันที รวมไปถึงหลังมีการทำคะแนนได้ในแต่ละครั้งเพราะนักกีฬาอาจแสดงท่าทางที่สร้างความน่าสนใจในภาพได้อย่างท่าทางการแสดงความดีใจหรือสะใจ ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงควรเตรียมพร้อมเสมอและมองหาสิ่งที่จะสร้างคสามน่าสนใจแม้หลังช่วงที่ดูเหมือนทุกอย่างจะจบไปแล้วในแต่ละคะแนน หรือแต่ละเกม

ใบหน้าเป็นสิ่งสำคัญ
แม้จะเป็นภาพที่เน้นแอ็คชั่นหรือการกระทำที่เกิดขึ้น แต่ใบหน้าของนักกีฬาก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันในภาพกีฬา เพราะใบหน้าแสดงความเป็นบุคคลนั้นในภาพ รวมทั้งเป็นการเชื่อมผู้ดูภาพเข้ากับเหตุการที่คนนักกีฬามีส่วนร่วมด้วย แต่จะมีภาพกีฬาหรือแอ็คชั่นที่ยอดเยี่ยมมากมายที่ถ่ายโดยไม่เห็นหน้าของนักกีฬา แต่ลองคิดดูว่าหากเห็นใบหน้าภาพนั้นจะดีขึ้นอีกหรือไม่ หรือผู้ถ่ายภาพนั้นอาจจะรู้สึกชอบมากกว่าหากเห็นใบหน้า

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic